ด้วง
แมลงปีกแข็ง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 318–0Ma ปลาย คาร์บอนิเฟอรัส – ปัจจุบัน
ด้วงกว่างเฮอร์คิวลิส (Dynastes hercules) เพศผู้จัดเป็นด้วงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในวงศ์ Dynastinae
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
ชั้นย่อย: Pterygota
ชั้นฐาน: Neoptera
อันดับใหญ่: Endopterygota
อันดับ: Coleoptera[1]
Linnaeus, 1758
อันดับย่อย

ด้วง หรือ แมลงปีกแข็ง (อังกฤษ: Beetle) จัดเป็นแมลงในอันดับ Coleoptera ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นอันดับย่อยอีก 5 อันดับ (ดูในตาราง) จัดเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตสมบูรณ์ คือ เป็น ไข่, หนอน, ดักแด้ และตัวเต็มวัย

ด้วง หรือ แมลงปีกแข็งนั้น นับเป็นแมลงที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก กล่าวคือ มีประมาณร้อยละ 40 ของแมลงที่มีอยู่ทั้งหมด (ประมาณ 400,000 ชนิด) มีลักษณะเด่นโดยรวม คือ ในวัยเต็มตัวจะมีปีก 2 คู่ โดยปีกคู่หน้าเป็นปีกที่มีความแข็งเท่ากันหรือเกือบเท่ากันตลอดทั้งแผ่น เรียกว่า Elytra ซึ่งมาจากภาษากรีกโบราณ (ἔλυτρον) ซึ่งหมายถึง แผ่น หรือ ปีก ส่วนปีกคู่หลังเป็นแผ่นปีกใหญ่ค่อนข้างโปร่งแสง เมื่อเวลาเกาะอยู่ปีกคู่หลังจะพับซ้อนกันอย่างมีระเบียบและซ่อนอยู่ภายใต้ปีกคู่หน้าอย่างมิดชิด และเมื่อต้องการบิน ปีกคู่หลังนี้จะกางออก โดยการเปิดกางออกของปีกคู่หน้าขึ้นก่อนที่จะเหยียดกางปีกคู่หลังนี้ออกมาบินอย่างรวดเร็ว เมื่อเวลาที่จะเกาะหรือคลาน จะหุบปีกโดยปีกคู่หน้าจะประกบกันสนิทเป็นเส้นตรงอยู่ตรงกลางลำตัว ปีกคู่หน้าจึงทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันตัวและปีกคู่หลัง ในขณะที่บินปีกคู่หน้านี้จะไม่ช่วยในการบินแต่จะช่วยในการทรงตัว อย่างไรก็ตาม จะมีด้วงบางชนิดที่ปีกคู่หน้าเชื่อมติดกัน จึงไม่สามารถบินได้ และบางชนิดก็มีปีกคู่หน้าเล็กหรือสั้นกว่าลำตัวมากจนไม่สามารถปิดส่วนท้องได้สนิท

กายวิภาค

แก้
  • ส่วนหัว มีตารวม 1 คู่ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีตาเดี่ยว 1–2 ตาด้วย มีหนวดโดยมากจะเป็น 11 ปล้อง ลักษณะแตกต่างกันตามวงศ์และแต่ละชนิด โดยหนวดแต่ละอย่างมีชื่อเรียกแตกต่างออกไป คือ หนวดปล้องฐาน, หนวดปล้องสอง, หนวดปล้องที่ 3–11 และแบ่งประเภทของหนวดออกได้ถึง 9 ประเภท ตามลักษณะต่าง ๆ ส่วนของปากประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ แต่ส่วนที่แข็งและมีพละกำลังมากที่สุด คือ กรามปาก ซึ่งในบางวงศ์ เช่น ด้วงคีม (Lucanidae) มีกรามปากที่มีลักษณะคล้ายคีมหรือกรรไกรขนาดใหญ่ยื่นยาวออกมา ใช้ในกรต่อสู้ป้องกันตัว และแย่งชิงเพศเมียเมื่อผสมพันธุ์ นอกจากนี้แล้วยังมีส่วนของริมฝีปากบน, ริมฝีปากล่างช่วยในการส่งผ่านอาหารเข้าปาก
  • ส่วนอก ส่วนอกของด้วงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ปล้อง คือ อกปล้องแรก ซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่ติดกับส่วนหัว เป็นส่วนอกปล้องเดียวที่สามารถมองเห็นได้จากด้านบน ในด้วงกว่าง (Dynastinae) เพศผู้หลายชนิดมีลักษณะเป็นแผ่นแข็งคล้ายเขายื่นยาวออกไป อาจมีแขนงเดียวหรือหลายแขนงก็ได้ ซึ่งอกปล้องแรกนี้มีความสำคัญในการอนุกรมวิธาน ซึ่งอกส่วนนี้อาจดูคล้ายส่วนหัวมาก แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นรอยต่อของส่วนหัวกับอกปล้องแรกนี้แยกจากกันชัดเจน, อกปล้องสอง และป้องสาม มักถูกปีกแข็งปิดคลุมด้านบนไว้ ส่วนของอกปล้องทั้ง 3 มีขาติดอยู่กับปล้องละ 1 คู่ อกปล้องกลาง หรืออกปล้องที่สอง มีปีกแข็งหรือปีกคู่หน้าติดอยู่ ตรงฐานปีกแข็งด้านบนมีแผ่นแข็งตรงกลางที่เป็นเหมือนจุดหมุมของปีกแข็งที่เรียกว่า สามเหลี่ยมฐานปีก ส่วนอกปล้องที่สาม มีปีกคู่ที่สอง ซึ่งโปร่งใสและบาง ใช้ในการบิน
  • ส่วนท้อง โดยปกติแล้วจะมี 7 ปล้อง แต่บางชนิดก็มี 8 ปล้อง ปล้องท้องแต่ละปล้องมีแผ่นแข็งแต่ละแผ่นคลุมไว้ทั้งด้านบน และด้านล่าง ส่วนของท้องมักถูกปีกแข็งคู่หน้าคลุมไว้จนมิด แต่บางครั้งก็มีส่วนปลายสุดโผล่ยื่นออกมา[3]

ด้วงกับมนุษย์

แก้
xpr
Scarabee
ในไฮเออโรกลีฟอียิปต์

ด้วงมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มานานแล้ว ศาสนาอียิปต์โบราณนับถือเทพเจ้าองค์หนึ่งชื่อ เคปรี (Khepri) ที่มีเศียรเป็นด้วงมูลสัตว์อียิปต์ (Scarabaeus sacer) โดยเชื่อว่า ดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนผ่านโลกมาได้ ก็ด้วยการกลิ้งมูลสัตว์ของด้วงชนิดนี้ ซึ่งมีอยู่มากมายในอียิปต์และแอฟริกาเหนือ ด้วยการเปรียบเอาดวงอาทิตย์เหมือนมูลสัตว์ที่ถูกด้วงชนิดนี้กลิ้งจนเป็นก้อนกลมนั่นเอง[4]

นอกจากนี้แล้ว ด้วงกว่างและด้วงคีมยังถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน เพราะความสนุกสนานในการใช้เขาต่อสู้กันของเพศผู้ ในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ล้านนา ที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน ด้วงกว่างชน (Xylotrupes gideon) มีการละเล่นกันอย่างหลากหลายจนกลายเป็นประเพณีหนึ่งในพื้นที่[5]

นอกจากนี้แล้ว ในเชิงของความสวยงาม แมลงทับ (Buprestidae) ซึ่งมีสีของปีกคู่หน้างดงามสวยงามมาก มักถูกใช้ทำเป็นเครื่องประดับชนิดต่าง ๆ[6] และหิ่งห้อย หรือ ทิ้งถ่วง (Lampyridae) ที่ตัวผู้สามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน ก็มักถูกนำไปเปรียบเปรยหรืออ้างอิงถึงต่าง ๆ เช่น Grave of the Fireflies เป็นแอนิเมชันของญี่ปุ่นที่สร้างเป็นภาพยนตร์ หรือมีการชมแสงของหิ่งห้อยในพื้นที่ต่าง ๆ [7]

อ้างอิง

แก้
  1. "Coleoptera Linnaeus, 1758, TSN: 109216". ITIS.gov (ภาษาอังกฤษ).
  2. Bouchard, P.; Bousquet, Y.; Davies, A.; Alonso-Zarazaga, M.; Lawrence, J.; Lyal, C.; Newton, A.; Reid, C.; Schmitt, M.; Ślipiński, A.; Smith, A. (2011). "Family-group names in Coleoptera (Insecta)". ZooKeys (88): 1–972. doi:10.3897/zookeys.88.807. PMC 3088472. PMID 21594053.
  3. พิสุทธิ์ เอกอำนวย. ด้วงปีกแข็ง แมลงลึกลับ กับเทนนิคการเพาะเลี้ยง เล่มที่ 1 ISBN 978-974-8132-25-9.
  4. ประสิทธิ์ วงษ์พรม; นิธิมา โรจนวงศ์ (2019). แมลงแห่งชีวิต: วิถีเรียนรู้จากทุ่งกุลาถึงป่าชุมชน (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.ร้อยเอ็ด). pp. 22–24. ISBN 978-616-93338-0-7.
  5. กว่าง : นักสู้แห่งขุนเขาหรือศึกชิงนาง....?
  6. "กลุ่มแมลงทับคืนถิ่นหนองบัวลำภู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-11. สืบค้นเมื่อ 2012-01-24.
  7. "หิ่งห้อย แมลงมหัศจรรย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-02. สืบค้นเมื่อ 2012-01-24.