แมลง

(เปลี่ยนทางจาก Insect)

แมลง เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำแนกออกเป็นไฟลัมต่าง ๆ ได้ 18 กลุ่ม มีลักษณะสำคัญคือมีลำตัวเป็นปล้อง ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 หรือ 3 ส่วน สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ลำตัวทั้งสองด้านซ้ายขวามีความเหมือนและมีขนาดเท่ากัน มีเปลือกห่อหุ้มลำตัวด้วยสารไคติน (Chitinous Exoskeleton) ไม่มีขน หายใจแบบใช้เหงือกหรือใช้รูหายใจ มีวัฎจักรวงจรชีวิตในการเจริญเติบโตแบบไข่ มีการลอกคราบเป็นบางครั้งแล้วสร้างผนังหรือเปลือกห่อหุ้มลำตัวใหม่ มีรยางค์เป็นคู่และเป็นปล้อง ส่วนใหญ่นักกีฏวิทยามักใช้รยางค์ในการแบ่งเพศผู้เพศเมียของแมลง

แมลง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 396–0Ma ดีโวเนียนยุคปลาย-ปัจจุบัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Hexapoda
Hexapoda
ชั้น: แมลง
Insecta
Linnaeus, 1758
ชั้นย่อย

มีอวัยวะภายในที่มีท่อทางเดินอาหารเป็นท่อยาวตลอดจากปากไปถึงทวารหนัก ระบบเลือดเป็นแบบเปิดและมีท่อเลือดอยู่ทางด้านสันหลังเหนือระบบทางเดินอาหาร มีระบบประสาทที่ประกอบไปด้วยสมองอยู่เหนือท่ออาหาร มีเส้นประสาทขนาดใหญ่หนึ่งคู่เชื่อมต่อจากสมอง มีการรวมตัวเป็นระยะก่อเกิดเป็นปมประสาท เส้นประสาทขนาดใหญ่ของแมลง จะอยู่ทางด้านล่างของลำตัวใต้ท่ออาหาร มีกล้ามเนื้อแบบเรียบอยู่ตามลำตัว[1]

มีการหายใจแบบใช้ท่ออากาศ ซึ่งจะติดต่อผ่านเข้าออกข้างลำตัวทางรูหายใจ มีอก 2 คู่ มีท้อง 18 คู่ โดยมีปล้องละ 1 คู่ ขับถ่ายของเสียจากร่างกายทางท่อขับถ่าย มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะและรูปร่างเพื่อการเจริญเติบโตจากตัวอ่อนที่ฟักจากไข่จนกลายเป็นตัวโตเต็มวัย

วิวัฒนาการ

แก้

ในสมัยยุคดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน แมลงจัดเป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการวิวัฒนาการเพื่อการดำรงชีวิต ในขณะที่สัตว์ชนิดอื่น ๆ จำนวนมากต้องสูญพันธ์ไปเรื่อย ๆ จนหมดไปจากโลก ตรงกันข้ามกับแมลงที่มีการดำรงชีวิตและการแพร่พันธุ์กระจายไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกแห่ง ซึ่งอาศัยลักษณะพิเศษหลายอย่างของแมลงเช่นโครงสร้างทางกายวิภาคศาสตร์ที่มีขนาดเล็ก ไม่ต้องการอาหารจำนวนมาก สามารถหลบภัยและอาศัยในถิ่นที่อยู่ได้ทุกประเภท มีปีกที่ช่วยให้บินได้ไกล ช่วยทำให้แมลงบินอพยพหลบหนีภัยได้ง่าย หาแหล่งอาหารได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถหาแหล่งที่อยู่อาศัยและผสมพันธุ์ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นทะเล ภูเขาหรือทะเลทราย ไม่เป็นอุปสรรคต่อแมลงเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากแมลงสามารถปรับสภาพการดำรงชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีวิวัฒนาการดัดแปลงให้อวัยวะบางส่วนในร่างกายทำงานได้อย่างเหมาะสมเช่น ขาคู่ด้านหน้าของตั๊กแตนตำข้าวที่วิวัฒนาการดัดแปลงให้สามารถใช้จับเหยื่อได้เป็นอย่างดี

ลักษณะทั่วไป

แก้
 
ลักษณะทั่วไปของแมลงที่ประกอบด้วยส่วนหัว, ส่วนอก, ส่วนท้อง

ลักษณะทั่วไปของแมลงคือมีลำตัวยาวหรือค่อนข้างยาว ลำตัวทั้งสองด้านซ้ายขวามีลักษณะเหมือนกันและเท่ากัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหัว (head) , ส่วนอก (thorax) และส่วนตัว (abdomen) โดยลักษณะของอวัยวะส่วนหัวประกอบไปด้วยตา หนวดและปาก กะโหลกศีรษะมีรอยต่อหรือเส้น ใช้สำหรับแบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่

หัว ประกอบไปด้วนส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้[2]

  • ส่วนหัว ประกอบไปด้วยสันกะโหลก (Vertex) คือบริเวณพื้นที่ตั้งแต่ส่วนหัวของแมลง นับตั้งแต่พื้นที่ส่วนที่อยู่ระหว่างตาทั้งสองข้างไปจนถึงด้านหลังของตา
  • ส่วนหน้า (Frons) คือบริเวณพื้นที่ที่อยู่ทางด้านหน้าของกะโหลกศีรษะของแมลง อยู่ระหว่างเส้นรูปตัว Y ที่มีลักษณะเป็นตัว Y กลับหัว ในบริเวณพื้นที่ส่วนนี้เรียกว่า "เส้นทับกะโหลกศีรษะ"
  • ส่วนริมฝีปากบน (Clypeus) คือบริเวณพื้นที่ระหว่างส่วนหน้ากับริมฝีปากส่วนบน ในส่วนนี้จะมีเส้น frontoclypeal suture เป็นตัวแบ่งออกจากส่วนหน้า
  • ส่วนแก้ม (Gena) คือพื้นที่ทางด้านข้างของกะโหลกใต้ตารวม
  • ส่วนฐานกะโหลก (Occiput) คือบริเวณพื้นที่ทางด้านหลังของกะโหลกศีรษะของแมลง ซึ่งพื้นที่ตรงจุดนี้จะแยกออกจากสันกะโหลกและแก้มอย่างชัดเจน ในส่วนนี้จะมีเส้น occipital suture เป็นเส้นแบ่ง
  • ส่วนฐานกะโหลกทางส่วนหลัง (Post Occiput) คือบริเวณพื้นที่ส่วนที่เชื่อมติดกับลำคอ และแยกออกมาจากฐานกะโหลก โดยมีเส้น post occipital suture เป็นเส้นแบ่ง

ตา ตาของแมลงมีอยู่ 2 ชนิดคือตาแบบรวมและตาเดี่ยว ตาแบบรวมของแมลงจะมี 2 ตา แต่ตาเดี่ยวจะมีจำนวนตาที่แตกต่างกันออกไปตามแมลงแต่ละชนิด และมักจะปรากฏอยู่ในแมลงทั้งในช่วงระยะฝักตัวเป็นตัวหนอน เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แมลงแต่ละชนิดจะมีตาที่ไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่มักจะมีตาเดี่ยว 3 ตาเรียงติดต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมเหนือศีรษะ อยู่ระหว่างตารวมทั้งสองข้าง แต่ในแมลงบางชนิดก็อาจจะไม่พบว่ามีตาเดี่ยวรวมอยู่ด้วย

หนวด หนวดของแมลงจะมีอยู่ 2 เส้น ใช้สำหรับสัมผัสและดมกลิ่ม ส่วนมากหนวดของแมลงมักจะอยู่ระหว่างตารวมหรืออยู่ต่ำกว่าตารวมเพียงเล็กน้อย สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระ เพราะหนวดทั้ง 2 เส้นจะติดอยู่กับศีรษะของแมลงตรงช่องหนวด โดยมีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ เป็นตัวเชื่อมติดกันเอาไว้

ปาก ปากของแมลงมีหลายรูปแบบตามแต่ชนิดของแมลง แต่ปากแบบพื้นฐานคือปากแบบกัดกินเช่น ปากของตั๊กแตน ลักษณะปากแบบกัดกินจะมีริมฝีปากบนปิดส่วนประกอบอื่น ๆ ของปากเอาไว้ มีกรามเป็นอวัยวะที่มีลักษณะแข็งแรงสำหรับบดเคี้ยวอาหาร มีเส้นที่คล้ายกับหนวดยื่นออกมาจากปากข้างละ 2 เส้น คู่แรกคือ maxillary palps ซึ่งจะยึดติดแน่นอยู่กับฟัน และคู่ที่สองคือ labial palps ซึ่งจะยึดติดแน่นอยู่ที่ริมฝีปากล่าง และมีส่วนที่เหนือริมฝีปากบนขึ้นไป ซึ่งจะมีแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า clypeus สำหรับเป็นฐานยึดติดริมฝีปากส่วนบนเอาไว้

คอ คอของแมลงจะเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างหัวกับอก มีลักษณะอ่อนไม่แข็งเหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย ประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อแบบบาง ๆ และกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนอกของแมลง

อก อกของแมลงอยู่ระหว่างส่วนหัวและส่วนท้อง สามารถมองเห็นได้จากขาและปีกของแมลง เนื่องจากอกเป็นตำแหน่งที่ตั้งของอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของขาและปีก ประกอบไปด้วยปล้องจำนวน 3 ปล้องคืออกปล้องแรก, อกปล้องกลางและอกปล้องหลัง โดยปกติแล้วอกของแมลงส่วนใหญ่ในแต่ละปล้องจะมีขา 1 คู่ ตามธรรมชาติแล้วแมลงบางชนิดจะไม่มีขา เพราะขานั้นได้เสื่อมหายไป ตามปกติแล้วขาที่ยึดติดกับอกปล้องแรกคือขาคู่หน้า ส่วนขาที่ติดกับอกปล้องกลางคือขาคู่กลาง และขาที่ติดกับอกปล้องหลังคือขาคู่หลัง ในแมลงที่เจริญเติบโตเต็มที่ ส่วนใหญ่จะมีปีกติดอยู่ที่บริเวณอกปล้องกลางกับอกปล้องหลังอย่างละคู่ ปีกในส่วนอกปล้องแรกของแมลงทุกชนิดจะเรียกว่าปีกคู่หน้า และเรียกปีกของอกปล้องหลังว่าปีกคู่หลัง

ท้อง ท้องของแมลงตามปกติแล้วจะมีทั้งหมด 11 ปล้อง แต่ปล้องที่ 11 จะมีลักษณะที่เล็กมากจนมองเห็นได้ยากหรือมองแทบไม่เห็น ทำให้มองเห็นท้องของแมลงเพียงแค่ 10 ปล้องหรือไม่เกิน 10 ปล้องเท่านั้น แต่ก็ยังมีแมลงบางชนิดที่มีจำนวนปล้องท้องน้อยกว่านี้ แมลงส่วนใหญ่เมื่อเจริญเติบโตกลายเป็นตัวโตเต็มวัย จะไม่มีส่วนขาที่บริเวณท้อง ยกเว้นแต่ในตัวอ่อนของแมลงบางชนิดเช่น หนอนผีเสื้อขาเทียม ที่มีปล้องท้องลักษณะเป็นปล้องคู่ จำนวนปล้องท้องจะแตกต่างกันออกจากตามแต่ประเภทของตัวหนอน ปลายสุดของหางจะมีแพนหาง 1 คู่ ลักษณะคล้ายด้ายเส้นยาวหรือเป็นแผ่นบาง ๆ ใส ๆ พบได้ในตัวเต็มวัย ในเพศเมียจะมีอวัยวะสำหรับวางไข่ที่บริเวณปลายสุดของท้อง ลักษณะเป็นแผ่นหรือแท่งยาวปลายแหลม สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีรูหายใจอยู่ที่ทางด้านข้างท้องของแมลง

การจัดอันดับของแมลง

แก้
 
แมลงหางดีด จัดอยู่ในอันดับ Collembola
 
ตั๊กแตน จัดอยู่ในอันดับ Orthoptera
 
แมลงปอ จัดอยู่ในอันดับ Odonata

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้จัดอันดับแบ่งแมลงให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการค้นหาและทำการศึกษาวิจัย โดยอาศัยลักษณะและโครงสร้างของสรีระร่างกายของแมลงเป็นหลักเช่น แมลงชนิดใดก็ตามที่มีลักษณะโครงสร้างของร่างกายบางอย่างเหมือนกัน ก็จัดไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน ถ้ามีความแตกต่างกันก็จัดไว้ในอีกหมวดหมู่ การจัดอันดับหมวดหมู่ของแมลงโดยอาศัยโครงสร้างของแมลงเป็นหลักนั้น สามารถชี้ให้เห็นแมลงในแต่ละหมวดหมู่นั้น มีความสัมพันธ์ มีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาแต่โบราณอย่างไร เนื่องจากแมลงหลายชนิดมีวิวัฒนาการที่เร็วและช้าสลับกันไป วิวัฒนาการที่แตกต่างกันนี้อาจทำให้วิวัฒนาการของแมลงบางหมวดหมู่สูงกว่าอีกหมวดหมู่หนึ่ง

การจัดอันดับหมวดหมู่ของแมลงในชั้น Insecta หรือ Hexapoda สามารถแบ่งออกเป็นชั้นย่อย ๆ ลดหลั่นตามลำดับ ซึ่งการแบ่งชั้นของแมลงออกเป็นอันดับต่าง ๆ มักนิยมใช้ลักษณะเฉพาะของโครงสร้างของปีก ปากและลักษณะเฉพาะพิเศษอื่น ๆ บางอย่างของแมลงเป็นตัวตัดสินใจ แมลงบางชนิดอาจแบ่งอันดับได้มาก 25-35 อันดับด้วยกัน แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การแบ่งอันดับต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย สามารถพบเห็นได้บ่อย ๆ มีประมาณ 28 อันดับด้วยกัน ดังนี้

  • Class Insecta จำแนกอันดับต่าง ๆ ได้ดังนี้
Subclass Apterygota จัดเป็นแมลงที่ไม่มีปีกและไม่มี metamorphosis ลอกคราบได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งหลังเป็นตัวเต็มวัย สืบพันธุ์โดยไม่มีการสัมผัสกันของเพศ การถ่ายน้ำเชื้อจากเพศผู้สู่เพศเมียเป็นแบบทางอ้อม
Order Collembola
- แมลงหางดีด
Order Diplure
- ตัวสองง่าม
Order Thysanure
- ตัวสามง่าม
Order Archeognatha
- ตัวสามง่ามป่า
Subclass Pterygota จัดเป็นแมลงที่อกปล้องกลาง อกปล้องหลังปล้องละคู่ แต่ในปีกของแมลงบางชนิดอาจจะมีการลดรูปลงได้จนกลายเป็นไม่มีปีก มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระหว่างการเจริญเติบโต ไม่มีการลอกคราบเมื่อเป็นตัวเต็มวัย การถ่ายน้ำเชื้อจากเพศผู้สู่เพศเมียโดยทางตรง แบ่งออกเป็น 2 Infraclass ดังนี้
Infraclass Palaeoptera แมลงในกลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะหุบพับปีกไปทางด้านหลังแนบกับลำตัวได้ ลักษณะของปีกจะกางอยู่ตลอดเวลา ในระยะตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในน้ำ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากตัวอ่อนจนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย
Order Ephemeroptera
- ตัวชีปะขาว
Order Odonata
- แมลงปอ, แมลงปอเข็ม
Infraclass Neoptera แมลงในกลุ่มนี้เป็นแมลงในกลุ่มส่วนที่เหลือทั้งหมด สามารถหุบพับปีกพักบนลำตัวได้

พฤติกรรม

แก้
 
แมลงชอบเข้าหาแสงสว่างในฤดูร้อน

แมลงหลายชนิดมีอวัยวะรับรู้สัมผัสที่ดีมาก บางครั้งอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าประสาทสัมผัสของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ผึ้งสามารถเห็นแสงสีในสเปกตรัมของรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต และผีเสื้อกลางคืนตัวผู้มีระบบประสาทรับกลิ่น ที่สามารถรับกลิ่นของฟีโรโมนจากตัวเมียได้เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร[6]: 96–105 

แมลงสังคมอย่างมดและผึ้ง เป็นตัวอย่างที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดของสัตว์สังคม พวกมันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่โดยแบ่งหน้าที่การงานกันอย่างเป็นระบบและเรียบร้อย บางครั้งอาณาจักรเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น superorganism ในภาษาไทยอาจเรียกได้ว่าแมลงวรรณะ

แมลงอนุรักษ์

แก้

ความสามารถในการปรับตัวได้ดี สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้ดีของสิ่งมีชีวิตในอันดับ Insecta หรือ Hexapoda ทำให้สิ่งมีชีวิตในกลุ่มของแมลงมีความหลากหลาย จำนวนชนิดมากกว่าในอันดับอื่นๆ และมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ความหลากหลายนั้นก็ทำให้แมลงบางชนิดสูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะหลายสาเหตุด้วยกัน จากความจำเพาะเจาะจงของพืชอาหารของแมลงชนิดนั้นลดน้อยหรือไม่มีในสภาพธรรมชาติ เนื่องจากความเสื่อมโทรมของป่าไม้ เช่น ผีเสื้อถุงทองที่มีพืชอาหารในระยะหนอนจากการกินกระเช้าสีดา อีกทั้งยังมีการลักลอบจับเป็นการค้า โดยเฉพาะแมลงที่มีความสวยงาม ได้แก่ กลุ่มผีเสื้อ และ กลุ่มด้วง

ชนิดแมลงอนุรักษ์ในประเทศไทย

แก้
  • แมลงที่มีการจับเพื่อการค้าสูง ซึ่งมีลักษณะสวยงาม ได้แก่ แมลงกลุ่มผีเสื้อ และแมลงกลุ่มด้วง ซึ่งผีเสื้อมีสีสันสวยงาม ส่วนด้วงมีเขาสวยงาม
  • แมลงที่หายาก ซึ่งดูจากพิพิธภัณฑ์แมลง ของกรมวิชาการเกษตร ที่เคยพบเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ต่อมาปัจจุบันไม่พบอีกเลย หรือพบน้อยมาก อันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
  • บัญชีรายชื่อในอนุสัญญา CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าซึ่งพืชป่า และสัตว์ป่าที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญานี้ที่มีรายชื่อแมลงที่พบในประเทศไทยด้วย จำนวน 3 รายการ คือ ผีเสื้อถุงทอง ผีเสื้อไกเซอร์ และผีเสื้อภูฐาน ดังนั้นในการกำหนดชนิดแมลงอนุรักษ์จึงได้กำหนดแมลงทั้ง 3 รายการนี้เข้าไปด้วย[7]

รายชื่อแมลงอนุรักษ์ในประเทศไทย

แก้

แมลงกลุ่มผีเสื้อ[8][9]

 
ผีเสื้อถุงทอง แมลงอนุรักษ์ ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญา CITES
  • ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก Actias maenas Doubleday
  • ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายหยัก Actias sinensis heterogyna Mell
  • ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง Actias rhodopneuma Rober
  • ผีเสื้อกลางคืนหางยาว Actias spp. ในประเทศไทยพบผีเสื้อกลางคืน (Moth) ชนิดนี้ 4 ชนิด ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง Actias maenas Doubleday,ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก A. Rhodopneuma Rober,ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง A. selene Hubner และผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายหยัก A. Senensis heterogyna Mell
  • ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง Actias selene Hubner
  • ผีเสื้อภูฐานหรือผีเสื้อเชียงดาว Bhutanitis spp. กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญา CITES ในประเทศไทยพบเฉพาะBhutanitis lidderdalei Atkinson
  • ผีเสื้อรักแร้ขาว Papilio protener euprotener Fruhstorfer
  • ผีเสื้อกลางคืนค้างคาว Lyssa zampa Butler
  • ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว Papilio palinurus Fabricius
  • ผีเสื้อไกเซอร์ Teinoppalpus spp. เป็นแมลงอนุรักษ์ ที่กำหนดไว้ในบัญชี หมายเลข 2 ของอนุสัญญา CITES ในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ ผีเสื้อไกเซอร์ Teinoppalpus imperialisimperatrix de' Niceville
  • ผีเสื้อนางพญา "Stichophthalma spp"

. เป็นผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งในประเทศไทยพบ 9 ชนิด คือ ผีเสื้อนางพญาพม่า Stichophthalma louisa Wood-Mason พบได้ที่ภาคเหนือของประเทศไทย ผีเสื้อนางพญาเขมร S. cambodia Hewitson พบได้ที่ภาคตะวันออกของประเทศ และผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ S. Godfreyi Rothschild พบได้ที่ภาคใต้ของประเทศไทย

  • ผีเสื้อถุงทอง Trodes spp. เป็นแมลงอนุรักษ์ ที่กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญา CITES ในประเทศไทยที่พบแล้วมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ผีเสื้อถุงทองป่าสูง Trodes helena Linnaeus, ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้ T. amphrysus Cramer

ผีเสื้อถุงทองธรรมดา T. aeacus Felder

  • ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ Meandrusa sciron Leech

แมลงกลุ่มด้วง[8][9]

  • ด้วงกว่างดาว Cheirotonus parryi Gray, วงศ์ Scarabaeidae เป็นด้วงขนาดใหญ่ ตัวผู้มีขาหน้ายาวสวยงาม ตัวเมียขาหน้าสั้น ด้วงชนิดนี้พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออก
  • ด้วงคีมยีราฟ Chadagnathus giraffa Fabricus, วงศ์ Lucanidae พบที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก ด้วงคีมหรือด้วงเขี้ยวกางในประเทศไทยมีหลายชนิดและมีรูปร่างแปลกสวยงามจึงมี การล่าจับกันมาก
  • ด้วงดินขอบทองแดง Mouhotia batesi Lewis , วงศ์ banboo

ด้วงดินที่มีขนาดใหญ่ ตัวสีดำ แต่ขอบบริเวณส่วนอกมีเหลือบเป็นสีทองแดง พบที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • ด้วงดินปีกแผ่น Mormolyce phyllodes Hegenb, วงศ์ banboo ด้วงดินที่มีปีกหน้าแบนบางเป็นแผ่นทำให้ดูสวยและแปลก เป็นแมลงที่หายาก พบเฉพาะภาคใต้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. บทปฏิบัติการกีฎวิทยาเบื้องต้น, ภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ. ดร.สาวิตรี มาไลยพันธุ์, สำนักพิมพ์รั้วเขียว, พ.ศ. 2538, หน้า 5
  2. บทปฏิบัติการกีฎวิทยาเบื้องต้น, ภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ. ดร.สาวิตรี มาไลยพันธุ์, สำนักพิมพ์รั้วเขียว, พ.ศ. 2538, หน้า 13-15
  3. Sroka, Günter; Staniczek, Arnold H.; Bechly (December 2014). "Revision of the giant pterygote insect Bojophlebia prokopi Kukalová-Peck 1985 (Hydropalaeoptera: Bojophlebiidae) from the Carboniferous of the Czech Republic, with the first cladistic analysis of fossil palaeopterous insects". Journal of Systematic Palaeontology. 13 (11): 963–982. doi:10.1080/14772019.2014.987958. สืบค้นเมื่อ 21 May 2019.
  4. Prokop, Jakub (2017). "Redefining the extinct orders Miomoptera & Hypoperlida as stem acercarian insects". BMC Evolutionary Biology. 17: 205. doi:10.1186/s12862-017-1039-3. PMC 5574135. PMID 28841819. สืบค้นเมื่อ 21 May 2017.
  5. Wipfler, B (February 2019). "Evolutionary history of Polyneoptera & its implications for our understanding of early winged insects". Proceedings of the National Academy of Sciences. 116 (8): 3024–3029. doi:10.1073/pnas.1817794116.
  6. Gullan, P.J.; Cranston, P.S. (2005). The Insects: An Outline of Entomology (3rd ed.). Oxford: Blackwell Publishing. ISBN 978-1-4051-1113-3.
  7. แมลงอนุรักษ์ในประเทศไทย www.ento.agri.kps.ku.ac.th
  8. 8.0 8.1 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๓๑ ก ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗
  9. 9.0 9.1 บัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
 
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Insect