นางอารมณ์ มีชัย อดีตครูชาวนครศรีธรรมราช นักต่อสู้การเมืองภาคประชาชน และเป็นผู้เข้าร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นางอารมณ์เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายเปลี่ยน และนางเพื่อม กาญจนโอภาส

อารมณ์ มีชัย
เกิด24 มิถุนายน พ.ศ. 2487
จังหวัดนครศรีธรรมราช
เสียชีวิต16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากนักต่อสู้การเมืองภาคประชาชน และเป็นผู้เข้าร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
บิดามารดานายเปลี่ยน กาญจนโอภาส
นางเพื่อม กาญจนโอภาส

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขา ศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2520 ปริญญาโท สาขา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2542

นางอารมณ์รับราชการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาโดยตลอดชีวิตราชการ โดยเริ่มอาชีพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 แม้ว่าฐานะทางบ้านอยู่ในขั้นร่ำรวย แต่ด้วยความที่ต้องการจะช่วยเหลือประชาชนคนยากคนจนให้อ่านออกเขียนได้เพื่อจะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมหลายแห่งใน จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยจากการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม จากการที่นางอารมณ์มีบทบาทในการนำชาวบ้านประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ทำให้ถูกย้ายเข้ามาสอนในกรุงเทพมหานครในช่วงปลายของการรับราชการครู แต่ก็ยังคงทำบทบาทการต่อสู้เพื่อความถูกต้องต่อไป รวมทั้งการขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2535 ด้วย

เคยลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำ จ.นครศรีธรรมราช ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคความหวังใหม่ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

จากบทบาทของความเป็นครูและความเป็นแม่ที่เข้มแข็ง ทำให้ได้รางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ สาขาผู้เสียสละและทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมปี พ.ศ. 2520 และยังเป็นครูต้นแบบด้านภาษาอังกฤษปี พ.ศ. 2540

นางอารมณ์ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยแพทย์ผู้รักษาบอกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 5 ปี แต่ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 นางอารมณ์ได้เข้าร่วมมาโดยตลอด โดยขึ้นเวทีปราศรัยอย่างตรงไปตรงมา จนเป็นขวัญใจของผู้ชุมนุมคนหนึ่ง โดยเรียกกันว่า "แม่อารมณ์" หรือ "ครูอารมณ์" แม้ร่างกายจะอ่อนแอเพราะต้องไปฉายแสงเป็นประจำทุกวันจันทร์

นางอารมณ์ปราศรัยเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551 จากนั้นจึงได้งดไปเพื่อรักษาตัว แต่ก่อนหน้านั้นในวันที่ 29 สิงหาคม นางอารมณ์เป็นผู้หนึ่งที่ชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลที่วังปารุสกวัน เพื่อทวงถามความเป็นธรรมที่ตำรวจบุกรื้อเวทีของผู้ชุมนุมที่สะพานมัฆวานในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน ซึ่งนางอารมณ์ได้ถูกแก๊สน้ำตายิงมาจากภายในกองบัญชาการจนทำให้ร่างกายทรุดหนักเข้าไปอีก

นางอารมณ์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในระยะสุดท้ายในเวลาประมาณ 4 ทุ่มเศษ ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี งานศพจัดขึ้นที่ศาลา 6 วัดโสมนัสราชวรวิหาร มีบุคคลสำคัญมาร่วมงานมากมาย เช่น แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์หลายคน, หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น

และได้รับพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2552

อ้างอิง แก้