หม่อมยิ่ง
หม่อมยิ่ง พระนามเดิม พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา (21 มกราคม พ.ศ. 2395 — พ.ศ. 2429) เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ
หม่อมยิ่ง | |
---|---|
เกิด | พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา 21 มกราคม พ.ศ. 2395 พระบรมมหาราชวัง อาณาจักรสยาม |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2429 (ราว 36 ปี) พระบรมมหาราชวัง อาณาจักรสยาม |
คู่สมรส | โต |
บุตร | หนึ่งคน |
บิดามารดา | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาแพ |
พิพากษาลงโทษฐาน | มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับสามัญชนในพระบรมมหาราชวัง (2429)[1] |
บทลงโทษ | ริบราชบาต, จำคุก, ถอดพระอิสริยยศ |
รายละเอียด | |
ประเทศ | สยาม |
จำคุกที่ | พระบรมมหาราชวัง |
พ.ศ. 2429 พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และออกพระนามว่า หม่อมยิ่ง แทน หลังมีเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากทรงตั้งครรภ์กับอดีตพระภิกษุที่เคยเข้ามาบิณฑบาตในวัดพระศรีรัตนศาสดารามหลังที่ทุกคนในวังเข้าใจว่าทรงประชวรเป็นโรคท้องมาน ภายหลังพระองค์ถูกจำสนม (คุกฝ่ายใน) จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ภายในปีเดียวกัน
พระประวัติ
แก้พระชนม์ชีพช่วงต้น
แก้หม่อมยิ่ง หรือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ประสูติเมื่อวันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2395 เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สามในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ (สกุลเดิม ธรรมสโรช) พระชนกนาถทรงเรียกว่า แม่หนูใหญ่[2] พระนาม ยิ่งเยาวลักษณ์ มีความหมายว่า หญิงผู้มีลักษณะงาม[3] ส่วนชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่[4] หรือ เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง[4] มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมมารดา ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา ด้วยความที่เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์แรกที่ประสูติในเศวตฉัตร จึงปรากฏในโคลงสี่สุภาพพระนามพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ 4 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า[5]
ที่สามศุภลักษณล้ำ | ธิดา ท่านนา | |
นามยิ่งเยาวลักษณา | เรศแฮ | |
อีกทักษิณาวัฏกุมา- | ราที่ สี่แฮ | |
สุดสิ้นพระชนม์สั้น | แต่เบื้องยังเยาว์ | |
— พระนามพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ 4 |
พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า "อรรคราชสุดา" แปลว่า บุตรสาวคนแรกของพระราชา[3] ซึ่งมีพระราชธิดาเพียง 3 พระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระองค์ โดยอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรีในเจ้าจอมมารดาจันทร์ และพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดาในเจ้าจอมมารดาเที่ยง[6] นอกจากนี้พระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกันโดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี[7] ซึ่งถือเป็นกลุ่มพระราชธิดาที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระราชบิดามากกว่าพระราชธิดาพระองค์อื่น[8]
เมื่อมีพระชันษาราว 5-7 ปี พระองค์ได้ประสบอุบัติเหตุขณะโดยเสด็จพระราชบิดา พร้อมกับพระพี่น้องอีกสามพระองค์คือ พระองค์เจ้าทักษิณชา, พระองค์เจ้าโสมาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง[9] แต่เมื่อรถม้าพระที่นั่งเข้ามาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรีใกล้ทางเลี้ยวไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าได้ตื่นเสียงแตรเสียงกลอง ทำให้รั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่งรถพระที่นั่งจึงเสียการทรงตัวแล้วพลิกคว่ำลง[9] จากอุปัทวเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บทุกพระองค์ ดังปรากฏดังนี้[9]
“...ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง... แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว...”
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์เมื่อวันที่ 16-18 มีนาคม ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการจัดกระบวนแห่สมโภชและเครื่องเล่นมากมายดุจพระราชพิธีโสกันต์ใหญ่[10]
พระราชธิดารุ่นใหญ่
แก้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่และภาษาอังกฤษ ทรงเปิดโอกาสให้พระราชบุตรทั้งหลายคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศทั้งหญิงชาย[11] แอนนา ลีโอโนเวนส์ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง ประทับใจกับพระสิริโฉม พระฉวีอันงาม พระวรกายสมส่วนแบบบาง และแววพระเนตรนิ่งสงบของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ในพระชันษา 10 ปี[12]
และเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักใกล้เสด็จสวรรคต พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้เข้าเฝ้าถวายการรับใช้พระชนกนาถที่พระที่นั่งภานุมาศจำรูญโดยตลอด ทั้งพยุงพระองค์ไปถ่ายพระบังคน คอยประคองพระชนกนาถเมื่อประชวรพระวาโย และคอยรับพระบรมราชโองการต่าง ๆ เช่น ไปเบิกเงินพระคลังข้างที่ ถวายพระราชโอรสที่บวชเณรในเวลานั้นจำนวน 7 พระองค์ คนละสิบชั่ง หรือเสด็จออกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อทูลพระอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สำหรับแต่งพระโอสถถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น[13] ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระธำมรงค์เพชร ที่ถอดเป็นเข็มกลัด และกลัดคอได้ แก่พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์และพระองค์เจ้าโสมาวดีคนละวง และพระราชทานพระราชมรดกที่ตกทอดมาแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ได้แก่ อ่างทองแดงใหญ่ ตู้กระจกทาสีเขียวใบใหญ่สมัยกรุงเก่า และโถลายตุ๊กตาจีนสมัยกรุงเก่า โดยพระราชธิดาทั้งสามพระองค์คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี ใช้วิธีจับสลากเพื่อแบ่งพระราชมรดก โดยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์จับสลากได้อ่างทองแดงใหญ่[13]
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็คอยถวายงานพัดจนกระทั่งพระชนกนาถเสด็จสวรรคตในคืนนั้น[13] สอดคล้องเอกสารของแอนนา ลีโอโนเวนส์ที่บันทึกไว้ว่า "...นอกจากโปรดให้ตามเสด็จแล้ว ในจดหมายเหตุต่าง ๆ ก็มีบันทึกไว้ว่าพระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์ยังเป็นลูกสาวที่ปรนนิบัติพัดวีตราบจนพระบิดาสวรรคต"[12]
กรณีอื้อฉาว
แก้พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์เมื่อพระชันษา 35-36 ปี ได้ประสบเรื่องอื้อฉาว เนื่องจากทรงพบรักพระภิกษุชื่อโต (วัย 28 ปี) บุตรนายสินกับอำแดงพึ่ง ซึ่งพบกันครั้งแรกเมื่อพระโตเข้ามาบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง[14] ต่อมาพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงบวชนายเปล่งเป็นพระที่วัดราชประดิษฐ์ ซึ่งเป็นวัดที่พระโตจำพรรษาอยู่ พระองค์สั่งให้เผือก (วัย 43 ปี) บ่าวในพระองค์ (ซึ่งต่อมาได้เสียกับโตด้วยอีกคน) จัดสำรับส่งพระโต พระเปล่ง และพระฉัดที่วัดดังกล่าว เมื่อพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทำบุญเรือน พระโตก็เข้ามาสวดมนต์ และฉันอาหารสองครั้ง หลังจากนั้นพระโตจึงส่งรูปของตนให้เผือกส่งต่อไปยังพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็ส่งรูปของพระองค์แก่พระโตรูปหนึ่งด้วย[15] แต่ต่อมาพระโตถูกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ขับออกจากวัดราชประดิษฐ์เพราะมีสันดานประจบสอพลอเจ้านายพระองค์หนึ่ง พระโตจึงไปจำวัดที่วัดบุรณศิริมาตยารามแทน แต่พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็ยังทรงอุปถัมภ์พระรูปนี้ไม่ขาด[14] ต่อมาพระโตจะลาสิกขา จึงส่งจดหมายแก่พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ เนื้อหาคือขอให้เจ้านายฝ่ายในพระองค์นี้อุปถัมภ์เขาต่อไป จึงทรงเช่าตึกแถวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ แถบถนนเจริญกรุงให้ทิดโตพำนัก พร้อมประทานทรัพย์สินให้อีกจำนวนหนึ่ง[16] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนี ทรงส่งหนังสือเตือนพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ว่าทรงเลี้ยงดูนายโตจนเกินงามจะถูกคนครหา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์จึงส่งหนังสือตอบกลับไปว่า จะไม่เลี้ยงดูนายโตแล้ว เช่นเดียวกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ พระขนิษฐภคินีทีทรงเตือนเรื่องไม่ให้เลี้ยงดูนายโต เพราะชื่อเสียงจะมัวหมอง โดยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงปฏิเสธว่าไม่ชอบนายโต เพราะเป็นแค่ข้าพระ และรูปพรรณหน้าตาไม่ดีเอาเสียเลย[17] หลังงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร นายโตแต่งกายเป็นหญิงลักลอบขึ้นเรือนพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ คืนนั้นทั้งสองได้เสียกัน และประทานทรัพย์สินบางอย่างแก่โตติดตัวออกไปด้วย[14]
ทิดโตได้ปลอมตัวเป็นหญิงและลอบปีนเข้าหาพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท จนเกิดเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงมีครรภ์ แรกเริ่มชาววังโจษกันว่าพระองค์หญิงประชวรด้วยโรคท้องมาน[4] ภายในคงมีแต่โลหิตและ "ตะพาบน้ำ" สามตัวในท้อง ตามคำกล่าวอ้างของพระองค์[18] เล่ากันว่าเจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ขอให้พระองค์หญิงเปิดพระภูษาเพื่อดูพระนาภี เมื่อเจ้าจอมมารดาเปี่ยมเห็นเช่นนั้นจึงทูลว่า "ขอประทานโทษเถอะนะเพคะ มองดูแล้วเหมือนกับคนท้องไม่มีผิด" พระองค์หญิงก็ทรงตอบว่า "ก็ดูเถอะค่ะ โรคเวรโรคกรรมอะไรก็ไม่รู้"[4] พระองค์พยายามทำแท้งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ นายโตเองก็จัดหาหยูกยามาให้แท้งแต่ก็ไม่สำเร็จ และพยายามออกไปคลอดลูกนอกพระบรมมหาราชวังแต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน[19]
ไม่นานหลังจากนั้นพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงพระประชวร มีโลหิตไหลออกมา จึงตามหมอมาขย่มท้องเพื่อเอาก้อนในพระนาภีออก เมื่อก้อนนั้นหลุดออกมาก็มีเสียงดัง "อ๊อบ" ทุกคนเข้าใจว่าเป็นตะพาบจริง ๆ แต่เมื่อทารกจะตายจึงร้องไห้เสียงดังขึ้น พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็เอามือปิดปากอุดปากเด็ก เรื่องลับจึงแดงขึ้นมา[18] แม้พระองค์หญิงจะอ้างว่าสุบินเห็นคนขี่ม้าขาวเหาะมาที่หน้าต่างบอกว่าจะมาอยู่ด้วย ตั้งแต่นั้นจึงทรงครรภ์ก็ตาม[18] ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2429) บันทึกไว้ว่า[20][21]
เกิดเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชาย ที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้นเอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
เวลา ๑๐ ทุ่ม สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช กรมหลวงเทวะวงศ์ได้ออกไปเมืองเพชรบุรี นำความนี้ออกไปกราบบังคมทูลพระกรุณา
ส่วนการภายใน กรมหมื่นอดิศรได้สืบสาวชำระ ได้ตัวอีเผือกบ่าวพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ชักสื่อ แลอ้ายโตผู้ล่วงพระราชอาญามาถาม ได้ความว่ารักใคร่กันมา แลยังเป็นภิกษุอยู่ในวัดราชประดิษฐ์ จนอ้ายโตสึกมา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้หาตึกให้อยู่ที่ถนนเจริญกรุง แล้วลอบปีนเข้าไปในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เข้าไปนอนอยู่กับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ๔ คราว คราวละ ๒ คืนบ้าง ได้มีเรื่องราวโดยพิสดาร
ขณะที่บันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 บันทึกเนื้อหาไว้ว่า[22]
บ่ายสี่โมงเศษไปเฝ้าที่พระที่นั่ง แล้วเข้าไปเขียนหนังสือข้างในที่พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์กลับออกมาทุ่มหนึ่งอ่านหนังสือเรื่องหม่อมยิ่งที่องค์พระสวัสดิโสภณถือมา พิจารณาได้ความตลอดว่า อ้ายโตได้ปีนเข้าไปหาได้เสียกันที่ในวัง เข้าทางพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเข้าไปถึงสามครั้ง ครั้งแรกเข้าไปวันอาทิตย์ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีจอ ไม่ได้ค้าง 10 ทุ่มเศษกลับออกมา ครั้งที่สองเข้าไปเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา ไปถึงค้างอยู่สองวันจึงหายกลับออกมา ครั้งที่สามเข้าไปเมื่อกฐินค้างคืนหนึ่ง รวมเข้าไปในวังสามครั้ง (เขาถามไปว่าได้หลับนอนกันกี่ครั้ง ได้ความว่า คืนแรก 4 ที่สอง 2 ที่สาม 7 ที่สี่ 3 รวมด้วยกัน 16 ครั้ง)
ไม่กี่วันต่อมาเมื่อความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้เสด็จออกสั่งเรื่องความผิดในวังคราวนี้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 ความว่า[23]
“๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกทรงสั่งเรื่องคลอดลูก ว่าด้วยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์ อย่างนี้เป็นมหันตโทษ ควรริบราชบาตรเป็นหลวง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ลงพระราชอาญา ๙๐ ที ประหารชีวิต แต่ทรงพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง สำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอารามแลสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสร้างไว้ แลให้ยกโทษเฆี่ยน ๙๐ ประหารชีวิต ให้ออกจากยศบรรดาศักดิ์ลงเป็นหม่อม เอาท้ายชื่อคือเยาวลักษณ์อรรควรสุดาออกเสีย เรียกแต่หม่อมยิ่งคำเดียว...”
อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระกรุณาด้วยทรงเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน ประกอบกับก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชกระแสเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ความว่า "...ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์ และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสองพระองค์ด้วย..."[4] ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานอภัยโทษเฆี่ยน 90 ที (3 ยก) กับโทษประหารเสียด้วย แต่โปรดเกล้าให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์, อวิญญาณกทรัพย์ เข้าเป็นของหลวงสำหรับซ่อมแซมพระอารามและสิ่งก่อสร้างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ทั้งถอดยศพระองค์เจ้าให้เป็นหม่อมเรียกอย่างสามัญชน และให้จำสนม (คุกฝ่ายใน)[24] นอกจากนั้นให้ทำตามลูกขุนผู้พิจารณาปรับโทษ[25] ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 มีข้อความตอนหนึ่งว่า[26]
"เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จออกรับสั่งเรื่องหม่อมยิ่ง ซึ่งลูกขุนปรึกษาวางบทลงโทษ หม่อมยิ่ง อ้ายโต อีเผือก ผู้ล่วงพระราชอาญามีความผิดเป็นมหันตโทษ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง ให้ลงพระอาญา ๓ ยก ๙๐ ที เอาตัวไปประหารชีวิตอย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่างนั้น หม่อมยิ่งแลอีเผือกผู้ชักสื่อ ให้งดโทษประหารชีวิต นอกนั้นให้ทำตามลูกขุนปรับแล้วเสด็จขึ้น"
ส่วนทิดโต กล่าวกันว่าทิดโตพูดจาโอหังมาก จึงถูกตบด้วยกะลาทั้งขนซึ่งถือเป็นการลงโทษที่รุนแรงมาก และสุดท้ายก็ต้องรับโทษตามกฎมณเฑียรบาลทุกประการ[25] โดยการตัดศีรษะที่วัดพลับพลาไชย (ปัจจุบันคือบริเวณข้างธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพลับพลาไชย)[27]
หม่อมยิ่งถูกจำสนมและติดขื่อคาตามบทพระอัยการจนกระทั่งเสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ. 2429[27][28] (บ้างว่าสิ้นชีพในโทษปีกุน พ.ศ. 2430)[29] หลังจากนั้นจึงมีการฝังพระศพไว้ เจ้านายและชาววังออกพระนามหม่อมยิ่งว่า M.Y.[30] ก่อนการเสียชีวิตของหม่อมยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีความหม่นหมองในพระราชหฤทัยแม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วก็ตาม มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่ทรงระบายความทุกข์เกี่ยวความบาดหมางกับวังหน้า และมีข้อความส่วนหนึ่งกล่าวถึงหม่อมยิ่ง ความว่า "...เห็นท่านพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณ์ครั้งนี้ก็โซม [โทรม] มากทีเดียว กลัวหม่อมฉันจะเป็นบ้าง แต่จะเพียงนั้นหรือจะยิ่งกว่าก็ไม่ทราบ..."[25] อันแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ร้อนตรอมพระทัยของหม่อมยิ่ง รวมทั้งความไม่สบายพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินจากเหตุการณ์ครั้งนั้น[25]
ผลสืบเนื่อง
แก้หลังจากกรณีอันอื้อฉาวของหม่อมยิ่งเป็นต้นมานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกกฎมณเฑียรบาลใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยขึ้นอีก คือ พระที่จะมาเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ต้องเป็นพระธรรมกถึก ที่มีอายุเกิน 45 ปี และเจ้านายฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกมาฟังเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ ต้องเป็นสตรีสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40 ดังปรากฏข้อความในพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์และพระราชสำนักฝ่ายใน ความว่า[25]
"ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษาต่ำกว่ายี่สิบ [หมายถึงบวชไม่ถึง 20 ปี] ห้ามมิให้เข้าในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ส่วนฝ่ายหญิงอุบาสิกาผู้ใฝ่พระธรรมเพียงไรก็ตาม ถ้าอายุต่ำกว่า ๔๐ ปีแล้วไซร้ ห้ามมิให้ออกมาฟังเทศน์ ถืออุโบสถศีลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันขาด ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ อันเป็นวันที่ ๖๖๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน"
ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดชทรงแสดงความรับผิดชอบขอรับโทษกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงหละหลวมในหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวัง เพราะโตสามารถลักลอบปีนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เข้าไปสู่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทได้ถึงสี่ครั้ง[31]
มาเรีย ลอฟตัส หญิงต่างด้าวในสยาม เขียนหนังสือกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อหาระบุว่าไม่อยากให้พระเจ้าแผ่นดินประหารเจ้าหญิงพระองค์นี้ และขอรับบุตรของหม่อมยิ่งไปเลี้ยงเป็นบุตรของตนเอง รวมทั้งแสดงความเห็นว่าการลงโทษผู้หญิงตามธรรมเนียมไทยนั้นเป็นการกดขี่ผู้หญิงให้อยู่ตัวคนเดียว ทำเหมือนว่าผู้หญิงไม่มีชีวิตจิตใจ เจ้านายสยามตอบกลับความเห็นของนางว่าพระเจ้าแผ่นดินตัดสินโทษประหารโดยผ่านที่ปรึกษาในพระองค์ หาใช่ใช้เพียงอารมณ์ ส่วนเรื่องการกดขี่สตรีนั้นก็ตอบกลับว่า อยากให้เห็นใจว่าเจ้าหญิงไม่ควรได้ชายต่ำศักดิ์เป็นสามีเพราะไม่เหมาะสมและไม่ควรสนับสนุน และชายผู้นั้นเคยลักลอบเข้าพระบรมมหาราชวังจึงรับโทษประหารเพราะผิดกฎหมายสยาม ส่วนหม่อมยิ่งและบุตรไม่ได้รับโทษประหารแต่อย่างใด[31]
พระกรณียกิจ
แก้พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดารุ่นใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนินออกสมาคมเช่นการต้อนรับแขกเมือง ดังที่เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษประจำเมืองสิงคโปร์ซึ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2411 โดยเขาได้บันทึกเกี่ยวกับการออกสมาคมของราชธิดารุ่นใหญ่ ดังนี้[11]
“...พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง ๓ พระองค์ ที่มีพระชนมายุสูงกว่า [สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์] ก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ [ให้ดำ] ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ ขณะเมื่อท่านเจ้าเมือง [เซอร์แฮรี ออด] เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์หญิงและพระองค์ชาย ได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์...”
และกล่าวถึงพระจริยวัตรของพระองค์ ความว่า[8]
“...พระองค์เจ้าหญิงที่ทรงพระเจริญเป็นผู้ทรงเลี้ยงเครื่องดื่ม...”
พระเกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมพระยศของ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ (พ.ศ. 2395–2429) | |
---|---|
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท[32] |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า[32] |
การขานรับ | พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ |
พระอิสริยยศ
แก้- 21 มกราคม พ.ศ. 2395 — 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 — 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 : พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
- 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 — พ.ศ. 2429 : หม่อมยิ่ง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2425 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน) (เรียกคืน)
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของหม่อมยิ่ง | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 141
- ↑ โรม บุนนาค (16 พฤศจิกายน 2558). "รักข้ามกำแพงวัง-วัด!..พระองค์หญิงผู้ว้าเหว่ ออกนอกวังไปได้แค่วัด พูดกับชายต้องครองเพศบรรพชิต..เลยเป็นโรคท้องมาน!!". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-18. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.0 3.1 ไพกิจ คงเสรีภาพ (2553). พระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี : การวิเคราะห์โครงสร้างและความหมาย (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 133.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 123
- ↑ ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 144
- ↑ จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, สมเด็จพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕, กรุงเทพฯ:มติชน, 2546, หน้า 31 (ISBN 974-322-964-7)
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, "พระราชพิธีถวายโถข้าวยาคู[ลิงก์เสีย]", สกุลไทย, ฉบับที่ 2652, ปีที่ 51, 16 สิงหาคม 2548
- ↑ 8.0 8.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 121
- ↑ 9.0 9.1 9.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 112-113
- ↑ ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "โสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 11.0 11.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 115
- ↑ 12.0 12.1 "แหม่มแอนนา ปลื้ม "พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์" พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวงอย่างไรบ้าง". ศิลปวัฒนธรรม. 5 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 13.0 13.1 13.2 "เปิดเรื่องราวประวัติศาสตร์ จับสลากพระราชมรดก ในคืนสวรรคต ร.4". กระปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 14.0 14.1 14.2 ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 146
- ↑ ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 145
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, หน้า 410
- ↑ ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 148
- ↑ 18.0 18.1 18.2 ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 149
- ↑ ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 150
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 123-124
- ↑ เอนก นาวิกมูล, หน้า 113-114
- ↑ ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 147
- ↑ เอนก นาวิกมูล, หน้า 115
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 124
- ↑ 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 125
- ↑ เอนก นาวิกมูล, หน้า 118
- ↑ 27.0 27.1 เอนก นาวิกมูล, หน้า 127
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 126
- ↑ กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 51. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-14.
- ↑ เล็ก พงษ์สมัครไทย (30 ตุลาคม 2562). "รวมพระราชวงศ์ที่ทรงกระทำผิดต้องโทษประหาร และถูกถอดพระยศลงเป็น "หม่อม"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 31.0 31.1 ญาณินี ไพทยวัฒน์, หน้า 150-151
- ↑ 32.0 32.1 คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 22-23.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ประวัติเจ้าจอมมารดาแพ". ราชสกุลเกษมสันต์. 26 มกราคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-14. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
บรรณานุกรม
แก้- จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ : โชคชัยเทเวศร์, พ.ศ. 2535, 441 หน้า
- ญาณินี ไพทยวัฒน์ (8 มิถุนายน 2562). สอบคำให้การคดีหม่อมยิ่ง. วารสารประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, 360 หน้า
- เอนก นาวิกมูล. หญิงชาวสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2547, 264 หน้า