เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4
เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 เป็นบุตรีคนรองสุดท้องของพระยาพิพิธสมบัติ (ทองสุก สุขสถิตย์) ผู้สำเร็จราชการเมืองตราด มีมารดาเป็นชาวจังหวัดตราด คุณตาชื่อ “หยง” เป็นจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายที่เมืองตราด คุณยายชื่อ “อิ่ม” เป็นคนพื้นเพเมืองตราด
เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 | |
---|---|
เกิด | จันทร์ สยาม |
เสียชีวิต | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 สยาม |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
บุตร | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ |
บิดามารดา | พระยาพิพิธสมบัติ (ทองสุก) ชาวเมืองตราด (ธิดาหยง เศรษฐีจีนฮกเกี้ยน และอิ่ม) |
เมื่อพระยาพิพิธสมบัติถึงแก่อนิจกรรมในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บุตรชายคนหนึ่งของพระยาพิพิธสมบัติได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตราดสืบต่อจากบิดา ท่านเจ้าเมืองคนใหม่นี้ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาถ” และพระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาถนี้เองที่เป็นผู้ชักชวนให้เจ้าจอมมารดาจันทร์ สุขสถิตย์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัยรุ่นสาวมีรูปโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วเมืองตราด ให้เข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบรมมหาราชวัง จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณชุบเลี้ยงให้เป็นพระสนมเอก พระราชทานเครื่องยศพานทองคำ เครื่องใช้สอยทองคำ หีบทองลงยาราชาวดี กับได้เบี้ยหวัดเงินปี ปีละ 10 ชั่ง
เจ้าจอมมารดาจันทร์ สุขสถิตย์ ได้รับราชการสนองคุณพระกรุณา ฯ ถวายพระประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสิ้น 4 พระองค์ คือ
- พระองค์ที่ 1 คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา นราธิราชบุตรี ประสูติ ณ วันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช 1214 ตรงกับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 สิ้นพระชนม์ด้วยโบราณโรคที่วังสามเสน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 พระชันษา 55 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2449 ในระหว่างพระชนม์ชีพ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงรับราชการสนองคุณพระกรุณาฯ ถวายพระประสูติกาลพระราชโอรสเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล แต่สิ้นพระชนม์เสียในวันประสูติ
- พระองค์ที่ 2 คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงมัณยาภาธรประสูติ ณ วันพุธ ขึ้นห้าค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล ฉศก ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 สิ้นพระชนม์เมื่อวันจันทร์ แรมสามค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีระกา พุทธศักราช 2428 พระชันษา 32 ปี ที่วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกศกุดั่นใหญ่ ตั้งเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ แรมสิบสองค่ำ เดือนแปด ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 พ.ศ. 2429 พระอังคารแห่ไปลอยน้ำที่หน้าวัดยานนาวา พระอัฐิแห่อัญเชิญไปไว้ที่วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช
- พระองค์ที่ 3 คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายศุขสวัสดี ประสูติ ณ วันศุกร์ ขึ้นเก้าค่ำ เดือนสี่ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2398 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2467 สิริพระชันษาได้ 69 ปี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม พระนามกรมว่า “กรมหลวงอดิศรอุดมเดช” และทรงเป็นองค์ต้นราชสกุล “ศุขสวัสดิ์”
- พระองค์ที่ 4 คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายเกษมศรีศุภโยค ประสูติ ณ วันจันทร์ เดือนเก้า แรมสิบสองค่ำ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช 1219 ตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2400 สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักวังสามเสน เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 สิริพระชันษา 49 ปี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม พระนามกรมว่า “กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ” และทรงเป็นองค์ต้นราชสกุล “เกษมศรี”
ในระหว่างการรับราชการในพระบรมมหาราชวังเพื่อสนองคุณพระกรุณานั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยในเรื่องศิลปะการแสดง โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดละครแสดงโดยสตรีล้วนขึ้นเป็นครั้งแรก และยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทพระราชนิพนธ์ไปเล่นได้ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ทำประกาศว่าด้วย ละครผู้หญิง พ.ศ. 2398 อนุญาตให้เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละครผู้หญิงขึ้นได้ แต่ได้ขอจำกัดสิทธิ์บางประการไว้สำหรับละครหลวง เช่น รัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา พานทอง หีบทอง ซึ่งใช้เป็นเครื่องยศ เครื่องประโคมแตรสังข์ และห้ามมิให้บังคับผู้ที่ไม่สมัครใจเล่นละครให้ได้รับความเดือดร้อน เจ้าจอมมารดาจันทร์ สุขสถิตย์ จึงได้ตั้งโรงละครขึ้นคณะหนึ่งในพระบรมมหาราชวังเพื่อสนองพระบรมราโชบายนี้ ทำการฝึกซ้อม และจัดแสดงจนเป็นที่รู้จัก ซึ่งตัวละครจากโรงละครของเจ้าจอมมารดาจันทร์ สุขสถิตย์ นี้ ต่อมาได้เป็นครูหัดละครให้โรงละครอื่น ๆ ต่อไปอีกหลายคน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมมารดาจันทร์ ได้ย้ายออกมาอยู่กับพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี ที่วังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ฐานะทางยศศักดิ์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมเนียมสำหรับเจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อน คือ เครื่องยศหีบหมากทองลงยาราชาวดีก็เปลี่ยนเป็นหีบทองเกลี้ยง นามก็เรียกว่า “จันทร์ เจ้าจอมมารดา” แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามอย่างเดิมกับบ่งรัชกาลไว้ท้ายว่า “เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4”
ในปัจฉิมวัย ท่านได้ป่วยเป็นโรคชรามาตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 ได้รับพระราชทานหมอหลวงไปรักษาอาการแต่หาคลายไม่ ครั้นถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน เวลาบ่ายห้าโมงก็ถึงแก่กรรม [1]
อ้างอิง
แก้- กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547.
- “วชิรญาณ เล่ม1 ฉบับที่ 1 จ.ศ. 1246 และพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ กับประวัติเจ้าจอมมารดาจันทร์ในรัชกาลที่ 4.” อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางสายหยุด ตะเวทีกุล. กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., 2541.
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวง. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพ ครบ 200 ปี. กรุงเทพมหานคร : most.go.th, 2549. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2549, จาก http://www.most.go.th/200year/king200year.htm เก็บถาวร 2008-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน