พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี (18 กันยายน พ.ศ. 2395 - 13 กันยายน พ.ศ. 2449) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 และเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติกาลพระราชบุตร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ18 กันยายน พ.ศ. 2395
สิ้นพระชนม์13 กันยายน พ.ศ. 2449 (53 ปี)
พระสวามีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบุตรสมเด็จเจ้าฟ้าชายไม่มีพระนาม
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4

แต่เมื่อมีพระประสูติกาล พระราชบุตรพระองค์นั้นก็ได้สิ้นพระชนม์ไปอย่างกะทันหันภายในเวลาอันสั้น พระองค์เจ้าทักษิณชาทรงเสียพระทัยยิ่งนักจนสูญเสียพระจริตในเวลาต่อมา และมิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้ต่อไป ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยตลอดชีพตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 ที่ตำหนักของกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ[1]

พระประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ประสูติเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1214 ตรงกับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 เป็นพระราชธิดาลำดับที่หกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4 (สกุลเดิม สุขสถิตย์) ธิดาของพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข สุขสถิตย์) เจ้าเมืองตราด พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดี และพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค[2]

พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่ประสูติหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีแรก จึงทรงเป็นหนึ่งในกลุ่มราชธิดาที่พระราชบิดาทรงมีพระเมตตาสนิทเสน่หาเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงอบรมเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง มักตามพระทัยและมิเข้มงวดดังรัชกาลก่อน ๆ[3] พระองค์จึงได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า นราธิราชบุตรี ซึ่งมีพระราชธิดาเพียงสามพระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนาม โดยอีกสองพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดาในเจ้าจอมมารดาแพ และพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง [4] นอกจากนี้พระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกันโดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี[5]

ทั้งนี้พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่พระราชบิดาทรงโปรดปรานและยกย่องมากเป็นพิเศษพระองค์หนึ่ง ดังปรากฏในความตอนหนึ่งว่า[6]

"...เมื่อพระชันษาได้ ๓ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีสักเลกพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ แต่กรมพระสัสดีกลับเอาเลกไปสักไว้กับพระอภัยสุรินทร์ เจ้ากรมพลฝ่ายขวา เป็นเหตุให้ทรงขัดเคืองพระทัยมาก ถึงแก่ทรงออกเป็นประกาศตักเตือนเจ้านาย ข้าราชการ และพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งอย่างเคร่งครัด มิให้ผิดไปจากรับสั่ง..."

ทรงประสบอุบัติเหตุ

แก้

เมื่อมีพระชันษาราว 5-7 ปี พระองค์ได้ประสบอุบัติเหตุขณะโดยเสด็จพระราชบิดา พร้อมกับพระพี่น้อง อีก 3 พระองค์คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าโสมาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง[7] แต่เมื่อรถม้าพระที่นั่งเข้ามาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรีใกล้ทางเลี้ยวไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าได้ตื่นเสียงแตรเสียงกลอง ทำให้รั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่งรถพระที่นั่งจึงเสียการทรงตัวแล้วพลิกคว่ำลง[7] จากอุปัทวเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บทุกพระองค์ ดังปรากฏดังนี้[7]

“...ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง... แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว...อาการน่ากลัวมาก โลหิตไหล ไม่หยุด สักชั่วทุ่มหนึ่งต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตกเป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้น ให้ชักกระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น...”

และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตเลขาเล่าพระอาการประชวรของพระองค์เจ้าทักษิณชาให้เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี ความว่า[8]

“...ทักษิณชา ลูกข้าค่อยยังชั่วแล้ว แต่ยังเดินไม่ได้ กับบางเวลาข้างเท้าและขาข้างดีอยู่นั้นสั่นระทุกไป เขาว่าเป็นเพราะเทพจรไม่เสมอกันทั้งสองข้าง ๆ หนึ่งเป็นแผลใหญ่อยู่จนเทพจรเดินไม่สะดวกจึงกลับมาลงเดินข้างหนึ่งแรงไปกว่าข้างหนึ่ง การก็จะไม่เป็นอะไรดอก เมื่อแผลหายแล้วอาการก็ปกติ...”

โสกันต์

แก้

ครั้นเมื่อทรงมีพระชันษาสมควรแก่การโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระดำริเห็นว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ทรงมีพระนามและพระเกียรติยศปรากฏกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น ๆ ด้วยรู้จักมักคุ้นเป็นที่นับถือกันในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อย ตลอดจนกงสุลนานาประเทศก็นับถือมาเฝ้าแหนไต่ถามอยู่เนือง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์เป็นพิธีใหญ่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในปี พ.ศ. 2405[9]

เมื่อโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดให้ปีละ 10 ชั่ง เงินเดือนเดือนละ 3 ตำลึง[9]

เข้ารับราชการฝ่ายใน การประชวร และสิ้นพระชนม์

แก้
 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในรัชกาล ด้วยทรงสนิทสนมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และเป็นมเหสีที่พระราชสวามีทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ทั้งยังสร้างความโสมนัสเมื่อทรงพระครรภ์ เพราะพระราชบุตรที่จะประสูติในภายหน้าจะเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล

จนเมื่อประสูติพระราชบุตรเป็นพระราชโอรส เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2415[10] แต่หลังจากนั้นเพียงแปดชั่วโมง ความโสมนัสกลับเป็นทุกข์โทมนัสอันใหญ่หลวงที่เจ้าฟ้าพระราชกุมารสิ้นพระชนม์ลง พระองค์เจ้าทักษิณชามิอาจปลงพระทัยเชื่อว่าพระราชกุมารที่ดูแข็งแรงเมื่อแรกประสูติจะสิ้นพระชนม์ในเวลาอันสั้น[11]

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนพระทัยแก่พระองค์เจ้าทักษิณชาอย่างมาก พระองค์ประชวรและไม่รับรู้สรรพสิ่งรอบข้างด้วยมีพระสัญญาที่ฝังแน่นแต่เรื่องราวของพระราชโอรสและทรงอยู่ในโลกส่วนพระองค์ มิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้อีกต่อไป[9]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเวียงในนฤบาลสร้างพระตำหนักพิเศษให้พระองค์เจ้าทักษิณชาพักผ่อนแต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น[12] ภายหลังจึงเสด็จไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ณ วังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[12] และย้ายไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาอีกพระองค์หนึ่ง ณ วังตำบลสามเสน

พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา ประชวรสิ้นพระชนม์ที่พระตำหนักวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 เวลา 3 ยามเศษ สิริพระชันษาได้ 53 ปี 360 วัน เวลาบ่ายวันต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช เสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานแต่งพระศพแล้วอัญเชิญลงพระลองใน ตั้งบนแว่นฟ้า 2 ชั้น ประกอบโกศมณฑป แวดล้อมด้วยเครื่องสูง พระเจ้าน้องยาเธอที่เสด็จมาร่วมพิธีร่วมกันทอดผ้าไตร พระสงฆ์มีพระธรรมเจดีย์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธาน สวดสดับปกรณ์แล้วถวายอนุโมทนา และโปรดให้พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 1 เดือน[13]

การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2450[12]

พระกรณียกิจ

แก้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่และภาษาอังกฤษ ทรงเปิดโอกาสให้พระราชบุตรทั้งหลายคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศทั้งหญิงชาย[14]

โดยเฉพาะเหล่าราชธิดารุ่นใหญ่ คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี มักทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนินออกสมาคมเช่นการต้อนรับแขกเมือง ดังที่เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษประจำเมืองสิงคโปร์ซึ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2411 โดยเขาได้บันทึกเกี่ยวกับการออกสมาคมของราชธิดารุ่นใหญ่ ดังนี้[14]

“...พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง ๓ พระองค์ ที่มีพระชนมายุสูงกว่า [สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์] ก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ [ให้ดำ] ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ ขณะเมื่อท่านเจ้าเมือง [เซอร์แฮรี ออด] เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์หญิงและพระองค์ชาย ได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์...”

พระอิสริยยศ

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าทักษิณชา
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
  • 18 กันยายน พ.ศ. 2395 — 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 — 13 กันยายน พ.ศ. 2449 : พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. ข่าวสิ้นพระชนม์
  2. สมบัติ พลายน้อย, หน้า 294-295
  3. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 111
  4. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, หน้า 31
  5. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, "พระราชพิธีถวายโถข้าวยาคู[ลิงก์เสีย]", สกุลไทย, ฉบับที่ 2652, ปีที่ 51, 16 สิงหาคม 2548
  6. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 111
  7. 7.0 7.1 7.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 112-113
  8. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 113-114
  9. 9.0 9.1 9.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 114
  10. ส.พลายน้อย, หน้า 331
  11. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 116
  12. 12.0 12.1 12.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 117
  13. "ข่าวสิ้นพระชนม์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 (26): 646. 23 กันยายน ร.ศ. 125. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  14. 14.0 14.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 115
บรรณานุกรม
  • จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. สมเด็จพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕. [ม.ป.ท.] : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2546. ISBN 974-322-964-7
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555. 360 หน้า
  • สมบัติ พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554. 368 หน้า
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 69. ISBN 978-974-417-594-6

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้