ความตาย

การสูญเสียชีวิตอย่างถาวร
(เปลี่ยนทางจาก สวรรคต)

ความตาย หรือ การเสียชีวิต เป็นการสิ้นสุดการทำหน้าที่ทางชีวภาพอันคงไว้ซึ่งสิ่งมีชีวิต ปรากฏการณ์สามัญที่นำมาซึ่งความตาย ได้แก่ โรคชรา การถูกล่า ทุพโภชนาการ โรคภัย อัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ฆาตกรรม ความอดอยาก การขาดน้ำ และอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บภายในร่างกาย[1] ร่างกายหรือศพของสิ่งมีชีวิตจะเริ่มเน่าสลายไม่นานหลังเสียชีวิต ความตายถือว่าเป็นโอกาสที่เศร้าหรือไม่น่ายินดีโอกาสหนึ่ง สาเหตุมาจากความผูกพันหรือความรักที่มีต่อบุคคลผู้เสียชีวิตนั้น หรือการกลัวความตาย โรคกลัวศพ ความกังวลใจ ความเศร้าโศก ความเจ็บปวดทางจิต ภาวะซึมเศร้า ความเห็นอกเห็นใจ ความสงสาร หรือความโดดเดี่ยว

ภาพกะโหลกศีรษะมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย
สลายมนุษย์ศพในออสเตรเลียตะวันตก, 1905.

สาเหตุการตายที่พบบ่อยที่สุดคือโรคหัวใจ ตามมาด้วยโรคหลอดเลือดสมอง และโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง และลำดับที่สามคือภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนล่าง[2]

การแข่งขัน การคัดเลือกโดยธรรมชาติ และการสูญพันธุ์

แก้

การตายเป็นกระบวนการสำคัญของ ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากได้ มีความเสี่ยงที่จะตายสูง หรือขยายพันธุ์ได้น้อย ทำให้ยีนส์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้นๆ ลดจำนวนลง ซึ่งยีนส์ที่อ่อนแอจะนำไปสู่การลดจำนวนลงอย่างมาก ของประชากรสิ่งมีชีวิตนั้นๆ อันนำไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด ซึ่งความสามารถในการแพร่พันธุ์มีบทบาทอย่างมาก ในการคงอยู่ของสิ่งมีชีวิต โดยสิ่งมีชีวิตที่อายุสั้นแต่สามารถแพร่พันธุ์ได้มาก มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์น้อยกว่า สิ่งมีชีวิตที่อายุยืนแต่ขยายพันธุ์ได้น้อย

การสูญพันธุ์ คือ การหยุดชะงักของการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตสปีชี่ส์นั้นๆ และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจะลดลง ช่วงเวลาของการสูญพันธุ์มักหมายถึง สิ่งมีชีวิตตัวสุดท้ายของสปีชีส์นั้นตาย ซึ่งความสามารถในการแพร่พันธุ์อาจสูญไปก่อนที่สูญพันธุ์ก็ได้ แต่เนื่องจากว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีจำนวนที่มาก และขนาดค่อนข้างกว้าง การจะระบุว่าสิ่งมีชีวิตใดสูญพันธุ์แล้ว อาจมีความผิดพลาดได้ ในบางกรณีมีการพบสิ่งมีชีวิตที่ประกาศว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว หลังจากที่มันไม่พบเห็นมาเป็นเวลานาน

วิวัฒนาการทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ซึ่งสามารถเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า ส่วนสายพันธุ์ที่อ่อนแอจะไม่สามมารถดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ ต้องสูญพันธุ์ไป อย่างเช่น ยีราฟกับต้นไม้ที่เป็นอาหารของมัน ต้นไม้วิวัฒนาการตัวเองให้สูงขึ้น และมีหนามแหลมคม เพื่อป้องกันการถูกกินจากยีราฟ ในขณะเดียวกันยีราฟส่วนหนึ่งวิวัฒนาการตัวเอง ให้มีคอที่ยาวขึ้นและมีลิ้นที่ยาวหลบหลีกหนามได้ กระบวนการวิวัฒนาการนี้เกิดขึ้นอย่างยาวนาน สิ่งมีชีวิตที่พัฒนาแปลกแยกออกไปจากรูปแบบเดิม เรียกว่า การกลายพันธุ์ (mutation) ซึ่งเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับสิ่งมีชีวิต ยีราฟสายพันธุ์คอยาวจะได้เปรียบ ในการกินต้นไม้พันธุ์นี้ ส่วนยีราฟสายพันธุ์คอสั้นที่เสียเปรียบจะเริ่มลดจำนวนลง เมื่อกระบวนการนี้ผ่านไปเป็นเวลานานๆ ต้นไม้ยิ่งสูงขึ้น ยีราฟสายพันธุ์คอยาวยิ่งยืดคอตาม ส่วนยีราฟคอสั้นก็ลดจำนวนลงจนสูญพันธุ์ในที่สุด

การตายทางการแพทย์

แก้

ทางการแพทย์ถือว่าบุคคลเสียชีวิตแล้วโดยวัดจากคลื่นสมอง แม้ว่ายังมีการหายใจ หรือหัวใจยังเต้นอยู่ แต่มีนักวิทยาศาสตร์ที่พยายาม อธิบายในประเด็นที่ซับซ้อนกว่านั้น ดอกเตอร์เชอร์วิน นูแลนด์ (Dr. Sherwin Nuland) ได้ตั้งประเด็นว่า สาเหตุของความตายเกิดขึ้นจากการตายของเซลล์ เดิมทีนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง หากว่าเนื้อเยื่อสมองและเนื้อเยื่อหัวใจ เสียหายอย่างหนักอันเนื่องมาจาก การขาดออกซิเจนประมาณ 4-5 นาที และยังไม่ได้รับการกู้ชีวิตคืนในช่วงเวลานั้น หรือทำให้หัวใจเต้นอีกครั้งในช่วงเวลาถัดมาเล็กน้อย

แต่จากการศึกษาเนื่อเยื่อหัวใจที่ขาดออกซิเจนด้วยกล้องจุลทรรศน์ (microscope) พบว่าหลังจากขาดออกซิเจนไปถึง 1 ชั่วโมง ยังไม่พบว่าเซลล์เนื้อเยื่อหัวใจตาย เซลล์เนื้อเยื่อหัวใจที่ขาดเลือดหล่อเลี้ยงจะตายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งค้านกับความเชื่อเดิมที่ว่าหากขาดออกซิเจน 4-5 นาทีก็จะหมดโอกาสรอด แต่อันที่จริงแพทย์ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนเกิน 5 นาทีได้ ถึงแม้ว่าเซลล์เนื่อเยื่อหัวใจจะยังไม่ตายก็ตาม

เพื่อหานิยามของการตายที่สมบูรณ์ นักวิจัยได้พยายามมองลึกเข้าไปถึงระดับเซลล์ โดยดูที่ไมโทคอนเดรีย ซึ่งเป็นอวัยวะของเซลล์ มีหน้าที่ในการสร้างพลังงานให้เซลล์ และควบคุมกระบวนการอะพอพโทซิส (apoptosis) ซึ่งเป็นระบบควบคุมการตายของเซลล์ที่ผิดปกติโดยไมโทคอนเดรีย เป็นระบบที่ร่างกายพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันมะเร็ง (cancer)

การตายระดับเซลล์

แก้

อะพอพโทซิส (Apoptosis) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เสียหายเกินกว่าที่จะซ่อมแซมได้ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อไวรัส อยู่ในสภาวะขาดสารอาหารอย่างหนัก DNA เสียหายจากกัมมันตภาพรังสี หรือสารมีพิษ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะไปกระตุ้น กระบวนการอะพอพโทซิสให้เริ่มทำงาน กระบวนการอะพอพโทซิสอาจเกิดขึ้นได้เองจากภายในเซลล์ หรือจากเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือจากส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน กระบวนการอะพอพโทซิสจะไปทำลายเซลล์ที่เสียหาย เพื่อป้องกันการดูดสารอาหารของเซลล์นั้นๆ หรือป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์ที่ติดเชื้อ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการป้องกันมะเร็ง

ถ้าเซลล์ไม่มีกระบวนการอะพอพโทซิส เซลล์ทีผิดปกติจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่องๆ จนกลายเป็นเนื้องอก (tumour) กระบวนการอะพอพโทซิสจึงมีส่วนสำคัญ ในการควบคุมสมดุลของร่างกาย การตายของเซลล์ต้องสัมพันธุ์กับการเพิ่มจำนวนของเซลล์ เซลล์ที่ติดเชื้อหรือผิดปกติจะต้องถูกแทนที่ด้วยเซลล์ใหม่

การชันสูตรศพ

แก้
 
ภาพวาดการชันสูตรศพ

การชันสูตรพลิกศพ (Autopsy) เป็นกระบวนการทางการแพทย์ ที่จะสำรวจศพของมนุษย์เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง โดยจะระบุเหตุผลของสาเหตุการตาย ซึ่งจะต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ การชันสูตรมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการสืบสวนเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม หรือการพิสูจน์ศพที่มีการตายที่ผิดปกติ หรือสงสัยว่าตายอย่างผิดปกติ เพราะการตายหลายสาเหตุ ถูกจัดฉากให้ดูเหมือนการตายตามธรรมชาติ หรือภาวะโรคประประจำตัว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการฆาตกรรม

การชันสูตรยังเป็นการยืนยันการตาย อันมีสาเหตุมาจากการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์ได้อีกด้วย ในกรณีที่แพทย์ประมาทเลินเล่อ เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หากไม่มีการชันสูตรศพ ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นความผิดของแพทย์ผู้รักษา การชันสูตรสามารถเปิดเผยถึงเหตุการณ์ ที่ไม่คาดคิด ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์อีกด้วย

ความเชื่อทางศาสนา

แก้

ศาสนาพุทธ

แก้
 
ภวจักรในศาสนาพุทธที่กล่าวถึงสังสารวัฏ

ศาสนาพุทธเชื่อว่ามนุษย์ประกอบไปด้วยสองส่วน จิตและกายหยาบ เมื่อกายหยาบได้สูญสิ้นไปจากโลกปัจจุบันแล้ว จิตจะวนเวียนเป็นวัฏจักร เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นวัฏสงสารไม่มีสิ้นสุด การจะหลุดพ้นวงจรนี้มีเพียงสร้างบุญกุศลให้ถึงพร้อมเท่านั้น จากความเชื่อนี้ทำให้ในงานพิธีศพของชาวพุทธในไทยที่นอกจากการแสดงความอาลัยผ่านพวงหรีด ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ตาย เพื่อเสริมแรงบุญหวังให้ผู้วายชนม์ได้ไปภพภูมิที่ดี ขณะเดียวกันพิธีกรรมเกี่ยวกับศพหลากหลายสิ่งสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ตายได้เดินทางโดยสะดวก ไม่ว่าจะเงินปากผี อาบน้ำศพ และอีกหลายพิธีที่มีความเชื่อแฝงมา

แต่ใช่ว่าพิธีกรรมงานศพเหล่านี้จะมีเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่คนจากเท่านั้น กลับมีคำสอนที่คนอยู่ต้องเรียนรู้และปลงกับกิเลสต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว อย่างเช่นพิธีอาบน้ำศพ เป็นการสอนให้ญาติผู้ตายได้เข้าใจถึงสัจธรรมของมนุษย์ที่ต้องพบกับความตาย ควรหมั่นเตือนสติตนเองให้รู้ถึงคุณค่าของชีวิต[3]

ศาสนาคริสต์

แก้

ศาสนาคริสต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีบาปติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด หรือที่เรียกกันว่า บาปกำเนิด เป็นบาปที่ตกทอดกันมาตั้งแต่มนุษย์คู่แรกคืออดัมและอีฟที่กัดผลแอปเปิ้ลแห่งความรู้แจ้ง ทำให้ทั้งสองต้องออกจากสวนอีเดนไป จากจุดเริ่มต้นส่วนนี้เป็นคำสอนสำคัญที่ช่วยให้ชาวคริสต์มองการตายเป็นการกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า สู่การเป็นนิรันดร์ที่แท้จริง

ฉะนั้นแล้วงานพิธีศพในศาสนาคริสต์จึงมีความเรียบง่ายและมองความตายเป็นการจากเพียงชั่วคราวก่อนที่จะไปพบกันอีกครั้งในอาณาจักรของพระเจ้า ภายในงานมีรูปไม้กางเขน เทียน 1 คู่และแจกันดอกไม้วางไว้ด้านศีรษะของศพ ทั้งยังมีภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์พร้อมกิ่งไม้ตามหลักศาสนาคริสต์ เพื่อให้ผู้มาเคารพศพใช้พรมศพเล็กน้อย โดยพิธีจะตั้งไว้ประมาณ 3-7(3,5,7) วัน ก่อนจะเข้าสู่พิธีฝังศพ ในส่วนของชาวพุทธที่ไปร่วมงานของทางศาสนาคริสต์สามารถวางพวงหรีดและเคารพด้วยการคำนับได้[3]

ศาสนาอิสลาม

แก้

คำสอนที่สะท้อนคติความเชื่อของชาวมุสลิมที่มีความเชื่อว่า พระเจ้าทรงกำหนดมนุษย์และกำหนดวันเกิด วันตายไว้ให้แล้ว ชีวิตของคนนั้นมีเพียงครั้งเดียว เมื่อตายไปแล้วไม่กลับมาอีก แต่การตายนั้นมิใช่การสูญสลายหายไป เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมนุษย์ทุกคนจะได้เยือนโลกทั้งสาม โดยตามหลักศาสนาที่มีบอกกล่าวไว้ว่ามนุษย์ต้องได้พบกับโลกทั้งสาม ดุนยา อาลัมบัรซัค และอาคิเราะฮ์

เมื่อเราเกิดขึ้นมาจะอยู่ใน ดุนยา ซึ่งเป็นโลกชั่วคราวที่ใช้อาศัยชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่ง หากเมื่อเราเสียชีวิตลงแล้วจักเข้าสู่โลกของชีวิตในหลุมฝังศพที่เรียกว่า ‘อาลัมบัรซัค’ ซึ่งการเข้าสู่โลกที่สองนี้ผู้ตายไม่อาจพกสิ่งของใดติดตัวมาโลกที่สองนี้ได้เว้นแต่เพียงความดี 3 ประการตามหลักศาสนาอิสลาม และความดีอื่น ๆ ที่เคยกระทำไว้ในดุนยา เพื่อรอวันพิพากษาหรือ วันกิยามะฮ์ ว่าได้อยู่ส่วนใดของโลกอาคิเราะฮ์ ที่จะมี 2 ส่วนคือสวรรค์และนรก

จากคติคำสอนในศาสนาอิสลามทำให้พิธีศพมีความเรียบง่ายและรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเพียง 1 วัน ทำให้บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความสำรวมและร่วมแรงร่วมใจกันในการร่วมพิธีส่งศพ โดยพิธีตามหลักศาสนาจะมี 4 ขั้นตอน เริ่มจากการอาบน้ำศพ ห่อศพด้วยผ้ากะฝั่น บางแห่งอาจจะให้ผู้ตายสวมชุดละหมาดสีขาวก่อนจะห่อด้วยผ้าทับไปอีกชั้น แล้วค่อยเคลื่อนศพไปมัสยิด โดยจะมีญาติและครอบครัวมาร่วมกันขอพรและละหมาดอุทิศให้ผู้จากโลกนี้ไป ก่อนจะเคลื่อนศพไปที่สุสานหรือที่เรียกว่า กุโบร์ แล้วนำศพลงหลุมที่ขุดเตรียมไว้ โดยให้ศพนอนตะแคงหันหน้าไปทางกะบะฮ์ที่กรุงเมกกะฮ์ในประเทศซาอุดิอาระเบีย (ในประเทศไทยคือทิศตะวันตก) แล้วจึงปักเครื่องหมายบนหลุมเพื่อไม่ให้ใครเผลอมาเหยียบ[3]

การพลีชีพ

แก้

มาทีร์ (martyr) หมายถึง พวกที่ยอมพลีชีพหรือทนการทรมานเพื่อความเชื่อของตน ซึ่งในความหมายนี้จะแตกต่างกันไปตามความเชื่อ สำหรับพวกคริสเตียน มาทีร์จะหมายถึงผู้บริสุทธิ์ที่ถูกล่าสังหาร ในช่วงสมัยจักรวรรดิโรมัน พวกนี้ไม่ได้ยอมพลีชีพ แต่ถูกประหารชีวิต ส่วนในความเชื่อของมุสลิม มาทีร์จะหมายรวมไปถึงผู้ที่ยอมตายเพื่อดินแดนศักดิสิทธิ์

มาทีร์ในปัจจุบัน อาจจะมาจากความเชื่อที่ถูกฝังลึก แม้ว่าจะเป็นความเชื่อที่ผิดในมุมมองของคนทั่วไป เช่น ลัทธิการก่อการร้ายสากล นักรบอัลไกด้าจัดได้ว่าเป็นมาทีร์เช่นกัน และสามารถแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของตนเป็นที่ประจักษ์ชัด และเป็นภัยคุกคามของโลกในรูปแบบใหม่มาแล้ว อันได้แก่ ระเบิดพลีชีพ นักรบพลีชีพ ฯลฯ เหตุการณ์การก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุด ที่ทำให้มีการตายอย่างมากเหตุการณ์หนึ่ง คือ เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 หรือ 9/11

โทษประหารชีวิต

แก้
 
ภาพการประหารชีวิต ด้วยเครื่องหักคอ

การประหารชีวิต (Death Penalty) เป็นโทษที่มีมาช้านานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมอาชญากรรม หรือคู่แข่งทางการเมือง หรือควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สั่นคลอนอำนาจของผู้นำ โดยใช้ความรุนแรงเป็นมาตรการสำคัญในการรักษาอำนาจ ในประเทศที่กำลังพัฒนาจะยังพบเห็นมาตรการนี้ใช้อยู่ แต่บางประเทศก็ใช้เฉพาะช่วงเวลาคับขัน เช่น ในภาวะสงคราม แต่ละประเทศกำหนดโทษที่มีความรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตต่างกันไป เช่น จีน ถือว่าการค้ามนุษย์เป็นคอรัปชั่นที่ไม่สามารถให้อภัยได้ มีโทษถึงประหารชีวิต ในบางประเทศ สำหรับทหารแล้ว การหนีทหาร หรือความหวาดกลัว หรือขัดขืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา อาจมีโทษถึงประหารชีวิตได้เช่นกัน

ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้ว เริ่มที่จะทำการลดการใช้โทษประหารชีวิตลง เพราะเห็นความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน และการประหารชีวิตมักเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ และบ่อยครั้งที่มีการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์

การฆ่าตัวตาย

แก้
สถิติประเทศที่มีการฆ่าตัวตาย ในอัตรา 100,000 คนต่อปี
ประเทศ ปี ผู้ชาย ผู้หญิง
  ลิทัวเนีย 2005 68.1 12.9
  เบลารุส 2003 63.3 10.3
  รัสเซีย 2004 61.6 10.7
  คาซัคสถาน 2003 51.0 8.9
  สโลวีเนีย 2003 45.0 12.0
  ฮังการี 2003 44.9 12.0
  ลัตเวีย 2004 42.9 8.5
  ญี่ปุ่น 2004 35.6 12.8
  ยูเครน 2004 43.0 7.3499

การฆ่าตัวตาย หมายถึง พฤติกรรมการพยายามปลิดชีวิตตนเอง สำหรับมนุษย์อาจเกิดมาจากภาวะความเสียใจอย่างมาก เช่นสูญเสียคนรัก หรือภาวะความเครียดที่ไม่สามารถหาทางออกได้ จึงคิดสั้นโดยการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา การฆ่าตัวตายของมนุษย์ถือเป็นปัญหาสังคม

จากประวัติศาสตร์ในอดีต การฆ่าตัวตายเป็นค่านิยมที่ได้รับการยอมรับมาก่อน เช่น ในสมัยซามูไรของญี่ปุ่น การรักษาศักดิ์ศรีด้วยการฆ่าตัวตาย ถือว่าดีกว่าอยู่อย่างไร้ค่า

นอกจากมนุษย์แล้วนักชีววิทยาพยายามศึกษา พฤติกรรมการฆ่าตัวตายในสัตว์ ในบางกรณีสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงไว้ มักมีความรู้สึกที่ผูกพันอย่างมาก เมื่อเจ้าของเสียชีวิตไป มันก็ปฏิเสธที่จะกินอาหาร แล้วหิวตายตามเจ้านายมันไป ยังมีกรณีของสุนัขที่เติบโตมาด้วยกัน เจ้าของเลี้ยงเลี้ยงสุนัข 2 สายพันธุ์ไว้ด้วยกัน มันเติบโตและวิ่งเล่นมาด้วยกันตลอด วันหนึ่งสุนัขตัวหนึ่งตายลงอย่างกะทันหันเนื่องจากถูกรถชน เจ้าของจึงฝังไว้ที่สวน สุนัขอีกตัวที่เหลือก็เปลี่ยนพฤติกรรมทันที จากที่เคยร่าเริงมันกลับปฏิเสธอาหาร และคอยเฝ้าอยู่บริเวณที่เจ้านาย ฝังสุนัขอีกตัวไว้ พอตกกลางคืนก็จะหอนตลอดเวลา ไม่กี่วันต่อมาสุนัขอีกตัวก็ตายลง

แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ปักใจเชื่อนัก เพราะสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อยู่รอดมาได้ในโลก และสัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องดิ้นรน เพื่อเอาตัวรอดอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่ในกรณีของสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีภัยคุกคามชีวิตด้านอื่น และกินดีอยู่ดีทุกวันอาจพัฒนาความรู้สึก ให้มีระดับที่สูงขึ้นจนใกล้เคียงกับมนุษย์ ความเสียใจจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในสัตว์ได้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Zimmerman, Leda (19 October 2010). "Must all organisms age and die?". Massachusetts Institute of Technology School of Engineering. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2010. สืบค้นเมื่อ 5 February 2012.
  2. "The top 10 causes of death". WHO. June 2011. สืบค้นเมื่อ 16 October 2012.
  3. 3.0 3.1 3.2 หรีดมาลา (2021-07-12). "โลกหลังความตาย ความเชื่อที่ฝังรากในพิธีกรรมของศาสนา". WreathMala (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).

คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2545). ราชาศัพท์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. ISBN 974-9545-50-8. หน้า 151-152.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้