การชันสูตรพลิกศพ
การชันสูตรพลิกศพ (อังกฤษ: Autopsy) คือการตรวจพิสูจน์เพื่อดูสภาพศพแต่เพียงภายนอก ค้นหาสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตายว่าผู้ตายคือใคร ตายเมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย สงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดที่ทำให้เกิดการตายตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 129 ความว่า "ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล"[1] ซึ่งตามกฎหมายมีความมุ่งหมายให้แพทย์และพนักงานสอบสวนดำเนินการตรวจสอบในสถานที่พบศพ ยกเว้นแต่ว่าการชันสูตรพลิกศพ เพื่อตรวจดูสภาพศพในสถานที่เกิดเหตุนั้น อาจเป็นเหตุทำให้การจราจรติดขัดมาก อาจกลายเป็นสถานที่อุดจาตาจากสภาพศพ หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนทั่วไป แพทย์และพนักงานสอบสวนย่อมมีสิทธิ์ที่จะสามารถเคลื่อนย้ายศพ เพื่อนำไปทำการชันสูตรพลิกศพยังสถานที่อื่นที่เหมาะสมได้
การชันสูตรพลิกศพ | |
---|---|
การแทรกแซง | |
บทเรียนกายวิภาคของนายแพทย์ตึลป์, (1632) โดย แร็มบรันต์ | |
ICD-9-CM | 89.8 |
MeSH | D001344 |
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ความว่า "เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย"[2] อาจเห็นได้ว่าสภาพการจราจรในปัจจุบันก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางด้านจราจรเป็นจำนวนมาก เกือบทุกรายที่ประสบอุบัติเหตุจะเสียชีวิต จึงจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนย้ายศพจากสถานที่เกิดเหตุเพื่อไปทำการชันสูตรพลิกศพและตรวจสอบสาเหตุการตายในสถานที่อื่นเช่น สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งก็มักจะเป็นสถานที่ที่ใช้ในการผ่าศพนั่นเอง
ประวัติ
แก้การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากนัก เท่าที่ปรากฏหลักฐานที่สามารถสืบค้นและตรวจสอบได้ในประเทศไทย สามารถเรียงลำดับตามเหตุการณ์ตามประวัติของการชันสูตรพลิกศพ โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี ร.ศ.116 หรือ พ.ศ. 2440 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 มาตรา 47 ข้อ 1 ซึ่งมีข้อความว่า "ถ้าผู้ถูกกระทำร้ายจะทำการชันสูตรบาดแผลของตน เพื่อเป็นหลักฐานในทางความก็ตามหรือพรรคพวกผู้ตาย จะขอให้ชันสูตรศพเพื่อเป็นหลักฐานในเหตุความตายนั้นก็ตาม ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ ที่จะทำการชันสูตรตามวิธีที่บังคับไว้ในกฎหมาย ถ้าการชันสูตรนั้นจะมาทำยังที่ว่าการอำเภอไม่ได้ กรมการอำเภอ ก็ต้องไปชันสูตรให้ถึงที่" ต่อมาภายหลังปี พ.ศ. 2441 หลังจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศใช้ได้เพียง 1 ปี กรมพลตระเวนซึ่งต่อมาคือกรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ซึ่งมีเจ้ากรมคนแรกคือ นายอีริก เจ ลอว์สัน ชาวอังกฤษ ได้มองเห็นความสำคัญของการมีสถานที่รักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เจ็บป่วย พร้อมกับช่วยชันสูตรบาดแผล และชันสูตรศพ เพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่าง ๆ ในด้านของตำรวจ จึงได้จัดตั้งสถานพยาบาลของตำรวจขึ้นที่ ตำบลพลับพลาไชย มีชื่อเรียกว่า "โรงพยาบาลวัดโคก"หรือโรงพยาบาลกลาง ในปัจจุบัน มีนายแพทย์ชาวต่างประเทศหลายคนมาช่วยดำเนินการ[3]
ต่อมาจึงมีนายแพทย์ชาวไทยที่สำเร็จวิชาแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชมาร่วมงานด้วย เช่น ร.ต.อ.ขุนแพทย์พลตระเวน หรือหลวงบริบาลเวชกิจ และ ร.ต.อ.ขุนเจนพยาบาล หรือ พ.ต.ท.หลวงเจนพยาบาล เป็นต้น ต่อมาประเทศไทยในปี พ.ศ. 2457 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติชันสูตรศพ พ.ศ. 2457 และในปี พ.ศ. 2479 ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2478 เรื่องการชันสูตรพลิกศพ ให้อยู่ในมาตรา 148 ถึงมาตรา 156
ปี พ.ศ. 2496 กรมตำรวจได้จัดตั้ง "ฝ่ายนิติเวชวิทยา" ขึ้นเป็นแห่งแรกในโรงพยาบาลกรมตำรวจ เพื่อทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ต่อมาปี พ.ศ. 2503 ได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกองแพทย์ กรมตำรวจ ออกเป็น 4 แผนก โรงพยาบาลตำรวจเป็นแผนกหนึ่งของกองแพทย์ แบ่งออกเป็น 13 แผนกวิชา ฝ่ายนิติเวชวิทยาได้เปลี่ยนฐานะเป็น "แผนกวิชานิติเวชวิทยา " และสร้างตึก "ตวงสิทธิ์อนุสรณ์" เป็นที่ทำงานของฝ่ายนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจในปี พ.ศ. 2506 พร้อมกับจัดตั้งกรมตำรวจสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นที่ทำงานใหม่ของฝ่ายนิติเวชวิทยา โดยไม่ขึ้นตรงกับหน่วยงานใดในปี พ.ศ. 2515
ปี พ.ศ. 2523 แผนกนิติเวชวิทยาปรับฐานะขึ้นเป็น "กองบังคับการ" เป็นหนึ่งในสี่ของกองบังคับการในสังกัดสำนักงานแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ ใช้ชื่อว่า "สถาบันนิติเวชวิทยา" ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 35/2523 เป็นองค์กรรับผิดชอบงานนิติเวชศาสตร์ของประเทศไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน[4]
การชันสูตรพลิกศพ
แก้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้แบ่งแย่งการชันสูตรพลิกศพออกจากการผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์อย่างชัดเจน คือแพทย์ผู้ทำการผ่าตรวจพิสูจน์ศพ จะสามารถกระทำการผ่าศพได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้ชันสูตรศพ มีความเห็นสมควรให้ผ่าพิสูจน์ศพ รวมทั้งการส่งชิ้นเนื้อของศพให้นิติพยาธิแพทย์ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์
ในกรณีที่แพทย์และพนักงานสอบสวนไปทำการชันสูตร ณ สถานที่พบศพ แพทย์และพนักงานสอบสวนต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำและก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการตรวจหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงาน ผู้ทำหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย แพทย์สามารถใช้การตรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อสำหรับเป็นข้อมูลที่ช่วยประกอบการผ่าศพ เพื่อที่จะสันนิษฐานพฤติการณ์ตายได้ใกล้เคียงขึ้นดังคำว่า "การผ่าศพทางนิติพยาธิวิทยาเริ่มตั้งแต่ที่เกิดเหตุ" แต่ถ้าเจ้าพนักงานสอบสวนทำการชันสูตรศพในเบื้องต้นและรู้สาเหตุการตายแล้ว รวมทั้งพอใจต่อผลของการพิสูจน์ศพในสถานที่เกิดเหตุ ให้ถือว่าการชันสูตรพลิกศพนั้น เสร็จสิ้นตามกฎหมาย[3]
การชันสูตรพลิกศพในไทย
แก้การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย เป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพเว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย" ซึ่งการตายโดยผิดธรรมชาติคือ การตาย 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้[5]
- การฆ่าตัวตาย
- การถูกผู้อื่นทำให้ตาย
- การถูกสัตว์ทำร้ายตาย
- การตายโดยอุบัติเหตุ
- การตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
ส่วนการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ได้แก่การตายที่อยู่ในระหว่างควบคุมหรือขัง หรือกักขัง หรือจำคุก หรือคุมตัวของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือคำพิพากษา หรือตามคำสั่งของศาลแล้วแต่กรณี ไม่ว่าการตายนั้นจะเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ หรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าพนักงานผู้ควบคุมว่า เกี่ยวข้องกับการตายหรือไม่เพียงใด
วิธีการชันสูตรพลิกศพ
แก้วิธีการชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย มีด้วยกัน 2 วิธี คือ การชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่าและการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ สำหรับการการชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่าคือ การตรวจสภาพภายนอกของศพ ดูเพศ อายุ เชื้อชาติ สิ่งของติดตัว ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่าผู้ตายคือใคร ดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของศพภายหลังตาย เพื่อประมาณเวลาตาย ดูลักษณะบาดแผลที่ปรากฏเพื่อสันนิษฐานสาเหตุของการตายการตรวจ ดังกล่าวจะต้องพลิกศพดูทั้งด้านหน้าและด้านหลังของศพ จึงใช้คำว่า "พลิกศพ"[6]
การตรวจสอบด้วยการผ่าศพ
แก้ส่วนการชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ เป็นการกระทำเมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อหาสาเหตุการตาย ในกรณีที่การพลิกศพไม่สามารถบ่งบอกสาเหตุการตายได้ชัดเจน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา มาตรา 151 บัญญัติว่า "ในเมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพเพื่อแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพ หรือบางส่วนไปยังแพทย์ หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้" การผ่าศพเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุการตาย สามารถตอบปัญหา และข้อสงสัยจากการพลิกศพได้เช่น เมื่อพลิกศพพบบาดแผลเป็นรูลึกเข้าไปในร่างกาย รูลึกนี้อาจเกิดจากกระสุนปืน หรือตะปูขนาดใหญ่ก็ได้ การผ่าศพจะทำให้ทราบว่าบาดแผลนั้นเกิดจากอาวุธหรือวัตถุอะไร และยังทำให้ทราบต่อไปว่าอาวุธหรือวัตถุนั้น ถูกอวัยวะสำคัญอะไรจึงทำให้ตาย หรือในกรณีที่การพลิกศพไม่พบบาดแผลปรากฏภายนอกให้เห็น การผ่าศพจะบอกได้ว่า การตายเกิดจากตับแตก ม้ามแตก ฯลฯ อันเป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เส้นโลหิตในสมองแตก ฯลฯ อันเป็นโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา เป็นต้น
การผ่าศพ นอกจากจะใช้วิธีผ่าศพตรวจดูด้วยตาเปล่า (อังกฤษ: Gross Examination) แล้ว ยังรวมถึงการตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (อังกฤษ: Microscopic Examination) อีกด้วยอย่างไรก็ตาม การผ่าศพไม่สามารถกระทำได้ในกรณีผู้ตายเป็นอิสลามิกชน เนื่องจากหลักการของศาสนาอิสลามมีว่า "มนุษย์ทุกคนที่พระองค์อัลลอย์ทรงสร้างมานั้นเป็นสิทธิของพระองค์ มุสลิมจึงเป็นสิทธิของพระผู้เป็นเจ้า ต้องรักษาไว้ในสภาพเดิมทุกประการ หมายถึงศพอยู่ในสภาพใดก็ให้อยู่ในสภาพนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดตัด หรือทำลายศพโดยเด็ดขาด"[7] การยกเว้นผ่าศพชาวไทยอิสลามนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือที่ มท 387/2500 ลงวันที่ 31 มกราคม 2500 มีข้อความว่า "ขอให้งดเว้น การผ่าศพชาวไทยอิสลามที่ถูกฆาตกรรมแทงตาย ยิงตายหรือโดยอุบัติเหตุ หรือถึงแก่กรรมโดยมิได้ปรากฏเหตุ" และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพฉบับที่ 3 พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ข้อ 319 มีข้อความว่า "การชันสูตรพลิกศพ ผู้ที่เป็นชาวไทยอิสลาม ถ้าจะต้องทำการดังกล่าวในวรรคก่อน ก็ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการผ่าศพ ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการผิดต่อลัทธิศาสนาอิสลาม"
ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยยังแยกการชันสูตรพลิกศพกับการผ่าศพออกจากกันคือ ระบุว่าจะทำการผ่าศพต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้ชันสูตรเห็นควรส่งศพ หรือชิ้นส่วนของศพให้แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทำการผ่าศพหรือแยกธาตุ ถ้าเจ้าพนักงานเห็นว่าการชันสูตรพอรู้สาเหตุการตายแล้ว ถือว่าการชันสูตรศพรายนั้นเสร็จสิ้นแล้วตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่วิชานิติเวชศาสตร์ในปัจจุบัน ถือว่าการชันสูตรพลิกศพแต่เพียงอย่างเดียวมักไม่เพียงพอ นิติพยาธิแพทย์ควรพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่าจะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่อาจไม่จำเป็นต้องผ่าศพ
การตรวจสอบด้วยการพลิกศพ
แก้การชันสูตรพลิกศพคือการตรวจดูศพแต่เพียงภายนอก ซึ่งกฎหมายมีความมุ่งหมายให้ดำเนินการในสถานที่พบศพ ยกเว้นแต่ว่าการดูในสถานที่นั้นอาจจะทำให้การจราจรติดขัดมาก หรืออาจจะเป็นที่อุดจาด หรืออาจเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไป ก็สามารถเคลื่อนย้ายไปทำยังสถานที่อื่นที่เหมาะสมได้ เห็นได้ว่าสภาพการจราจรในปัจจุบันทำให้อุบัติเหตุจราจรเกือบทุกรายต้องย้ายศพไปตรวจยังที่อื่นซึ่งก็มักจะเป็นสถานที่ผ่าศพนั่นเอง เมื่อแพทย์และพนักงานสอบสวนไปทำการชันสูตร ณ ที่พบศพ แพทย์และพนักงานสอบสวนต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการตรวจหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย
ผู้มีอำนาจหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพ
แก้ตามพระราชบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ปี พ.ศ. 2542 กำหนดให้พนักงานสอบสวนภายในประเทศไทยคือเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการในการรับแจ้งเรื่องเมื่อมีผู้ตาย รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการติดต่อ ติดตามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งอาจจะเป็นแพทย์นิติเวชร่วมในการชันสูตรพลิกศพ หรือในบางครั้งอาจจะมีพนักงานอัยการและพนักงานฝายปกครองร่วมในการชันสูตรพลิกศพด้วยก็ได้ แล้วแต่กรณี
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ระบุว่า "ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวง สาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที " ดังนั้นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ได้แก่[8]
- พนักงานสอบสวน
- แพทย์ได้แก่
- นิติเวชแพทย์
- แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ
- แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
- แพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชน หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้น ทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข
แพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต้องมีใบชันสูตรบาดแผล ต้องแจ้งตำรวจ ตำรวจส่งใบชันสูตรมาให้ มีชื่อของผู้ป่วยระบุชื่อของสถานีตำรวจชัดเจน ได้รับอันตรายอย่างไรเกิดเหตุวันไหน มีการลงชื่อของสารวัตรผู้รับผิดชอบคดี ด้านหลังจะเป็นใบชันสูตรบาดแผลของโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลไหนก็ได้ ที่มีแพทย์ทางนิติเวชดูแลอยู่ ถึงแม้ไม่มีแพทย์นิติเวชก็มีแพทย์ธรรมดาดูแลอยู่ สามารถเขียนรายงานใบชันสูตรให้แก่พนักงานสอบสวนได้[9]
แพทย์ทางนิติเวชจะมีประจำที่โรงพยาบาลศิริราชตลอด 24 ชั่วโมง สามารถไปถึงยังสถานที่ที่เกิดเหตุได้ตลอดเวลาเมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในบางครั้งอาจมีแพทย์ฝึกหัดร่วมในการชันสูตรพลิกศพด้วย เพื่อให้มีความรู้ ความชำนาญ ใบชันสูตรเกี่ยวข้องกับแพทย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้านเรียกว่า Police System เป็นระบบตำรวจ แพทย์ทางนิติเวชในเมืองไทยมีประมาณ 50 คน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แพทย์ทั่ว ๆไปในการร่วมชันสูตรพลิกศพด้วย หากแพทย์มีใบชันสูตรศพมาด้วย แพทย์ก็จะติดต่อพนักงานสอบสวนเพื่อทำงานและเขียนให้พนักงานสอบสวนเช่นสอบถามว่าหากมีการข่มขืนกระทำชำเรา ปรากฏอย่างนี้ยืนยันได้หรือไม่ว่า เป็นการร่วมประเวณีที่ชัดเจนหรือเป็นการที่พนักงานสอบสวนติดต่อแผนกชันสูตรศพ
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว ต้องเขียนรายงานการชันสูตรพลิกศพ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระบุสาเหตุการตายเบื้องต้นของผู้ตาย โดยแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ ต้องมีหน้าที่ต้องส่งรายงานการชันสูตรพลิกศพให้พนักงานสอบสวนภายใน 7 วัน รวมทั้งสรุปข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ เช่น สาเหตุการตาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ตายคือใคร ตาย ณ ที่ใด ตายเมื่อใด เป็นต้น และสามารถขอขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ๆ ละ ไม่เกิน 30 วัน สำหรับพนักงานสอบสวน มีหน้าที่ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง มีหน้าที่ออกใบมรณะบัตรรับรองการตายให้แก่ญาติผู้ตาย
เหตุที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
แก้เหตุสำคัญที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ เพื่อค้นหาสาเหตุของผู้ตาย ได้แก่ผู้ตายตายโดยผิดธรรมชาติได้แก่ การฆ่าตัวตาย เช่น ผูกคอตาย, กระโดดตึกตาย, ยิงตัวตาย เป็นต้น หรือการที่ถูกผู้อื่นกระทำให้ตาย การตายโดยถูกสัตว์ทำร้ายตาย เช่น การตายโดยถูกเสือขบกัด, การตายโดยถูกช้างกระทืบตาย รวมทั้งการตายโดยอุบัติเหตุหรือตายโดยยังมิปรากฏเหตุ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ทั้งนี้เหตุที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย นอกเหนือจากการตายโดยผิดธรรมชาติแล้ว ผู้ตายที่ตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานเช่น ผู้ตายถูกควบคุมตัวในระหว่างการสืบสวนสอบสวน หรือกักขังโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนหรือสอบสวน ทั้งนี้ยกเว้นการตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพเพื่อค้นหาสาเหตุของการตาย[10]
วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ
แก้วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพกรณีตายโดยผิดธรรมชาติ เมื่อแพทย์นิติเวชได้รับแจ้งเหตุกรณีฆ่าตัวตาย การชันสูตรพลิกศพจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ตายตายเพราะฆ่าตัวเอง ไม่ใช่ถูกผู้อื่นฆ่า และแม้เป็นการฆ่าตัวตายจริง ผลการชันสูตรพลิกศพอาจแสดงให้เห็นพฤติการณ์ของการตายว่า มีความเกี่ยวข้องกับผู้อื่นและสามารถนำผู้ที่เกี่ยวข้องไปลงโทษทางอาญาได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 292 เอาผิดแก่ผู้ปฏิบัติทารุณแก่คนที่ต้องพึ่งอาศัยตนเพื่อให้บุคคลนั้นฆ่าตัวเอง หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 293 เอาผิดแก่คนที่ช่วยหรือยุยงเด็ก หรือคนที่จิตใจไม่ปกติให้ฆ่าตัวเอง
กรณีถูกผู้อื่นทำให้ตาย หมายถึงกรณีที่การตายเกิดจากการกระทำของผู้อื่น ไม่ว่ากระทำโดยเจตนาฆ่า หรือไม่มีเจตนาฆ่า หรือโดยประมาท หรือแม้มิได้กระทำโดยประมาทก็เข้ากรณีนี้ เช่น ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถยนต์ในระยะกระชั้นชิด โดยผู้ขับขี่มิได้ประมาท การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบถึงสาเหตุการตายโดยแน่ชัดว่า เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดอาญาอย่างไร หรือบางครั้งมีการขับรถชนแล้วหลบหนีแต่ถ้ามีการเก็บวัตถุพยานต่างๆ จากผู้ตาย หรือผู้บาดเจ็บ ซึ่งได้แก่ สีของรถคันที่ชนอาจติดที่บาดแผลผู้ตาย ,เลือดของผู้ตายอาจติดอยู่ที่บริเวณกันชนหรือดอกยางของรถคันที่ชน ทำให้ตำรวจสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการเชื่อมโยงเหตุการณ์ในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ส่วนในกรณีถูกสัตว์ทำร้าย หมายถึงการตายที่เป็นผลโดยตรงจากการถูกสัตว์ทำร้าย เช่น ถูกงูกัด ถูกช้างเหยียบ การชันสูตรพลิกศพจะทำให้รู้ว่าการตายนั้นถูกสัตว์กระทำโดยตรง ไม่ใช่เป็นการบาดเจ็บจากการกระทำของมนุษย์
การตายโดยอุบัติเหตุ หมายถึงการตายที่เกิดจากเหตุอันเกิดขึ้นอย่างไม่คาดหมาย เช่น ตกน้ำตาย ฟ้าผ่าตาย การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบว่า การตายเกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านั้นจริงๆ ซึ่งมิได้เกิดจากการกระทำผิดทางอาญา และการตายโดยยังมิปรากฏเหตุ หมายถึงการตายที่ยังไม่ทราบว่าเกิดจากสิ่งใด การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบว่า ผู้ตาย ตายเพราะเหตุใด และเหตุที่ทำให้ตายเกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดอาญา หรือไม่
สถานที่ชันสูตรพลิกศพ
แก้สถานที่ชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย หากพิจารณาตามกฎหมายแล้ว กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ทำการชันสูตร ณ สถานที่ที่พบศพ โดยเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ ส่วนแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรศพนั้นได้แก่ แพทย์ตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 150 กำหนดไว้ ได้แก่ นิติเวชแพทย์ , แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ , นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด , หรือแพทย์อาสาสมัครที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข หลังจากได้มีการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นแล้ว หากยังหาสาเหตุการตายไม่ได้ หรือไม่ชัดแจ้ง จะส่งศพให้แพทย์ทำการผ่าศพตรวจโดยละเอียดได้ (ตาม ป.วิ อาญา ม.151) ณ สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชเช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น สำหรับต่างจังหวัดอาจส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ,โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ในแต่ละภูมิภาค หรือโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีแพทย์นิติเวชประจำอยู่เป็นต้น การนำศพไปชันสูตร ณ โรงพยาบาล มักเป็นการดำเนินการโดยอนุโลม เช่น แพทย์ไม่สะดวกในการเดินทางไปชันสูตรในพื้นที่ที่เกิดเหตุ หรือเป็นการเคลื่อนย้ายศพมาชันสูตรเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ศพเพื่อหาวัตถุแปลกปลอมภายใน ในกรณีเสียชีวิตจากท้องที่อื่นแล้วนำศพมาทิ้งไว้ จะต้องประสานความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุด้วย แต่พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพยังคงถือเป็นเจ้าหน้าที่หลักผู้รับผิดชอบในการชันสูตรศพนั้น
พื้นที่การชันสูตรพลิกศพ
แก้ในการชันสูตรพลิกศพในกรุงเทพมหานคร ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้แพทย์ประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมานิติเวชแพทย์ผู้ทำการตรวจและชันสูตรพลิกศพ ได้มีการประชุมและแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบในการชันสูตรพลิกศพ เพื่อเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาแก่หน่วยงานการศึกษาของรัฐ สำหรับพื้นที่ บก.น. 1 บางส่วน ให้แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวชิรพยาบาลและ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่วมกันผู้รับผิดชอบ พื้นที่ บก.น. 5 บางส่วน ให้แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ และพื้นที่ บก.น. 7, 8, และ 9 แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับพื้นที่ที่เหลือ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ หากพนักงานสอบสวนในแต่ละพื้นที่มีความจำเป็นต้องให้นิติเวชแพทย์ประจำสถาบันนิติเวชวิทยาเป็นผู้ร่วมชันสูตร ก็สามารถดำเนินการได้ และในกรณีที่มีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองร่วมในการชันสูตรพลิกศพด้วยนั้น ตารางการปฏิบัติงานของอัยการในกรุงเทพมหานครอยู่ที่อัยการสูงสุด ส่วนตารางการปฏิบัติงานของพนักงานฝ่ายปกครอง อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย
สำหรับพื้นที่ในต่างจังหวัด พื้นที่การชันสูตรพลิกศพจะถูกแบ่งเขตโดยการขึ้นทะเบียนเป็นตารางการปฏิบัติงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดกำหนด และในกรณีที่มีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองร่วมในการชันสูตรพลิกศพด้วยนั้น ตารางการปฏิบัติงานของอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง ก็ขึ้นอยู่กับเขตจังหวัดในความดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ - ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 129 การชันสูตรพลิกศพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-29. สืบค้นเมื่อ 2009-02-10.
- ↑ มาตรา 148 การชันสูตรพลิกศพ, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, รศ.พ.ต.อ หญิง นัยนา เกิดวิชัย, สำนักพิมพ์นิตินัย, 2550
- ↑ 3.0 3.1 การชันสูตรพลิกศพ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พล.ต.ต.เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2547, หน้า 3
- ↑ ประวัติสถาบันนิติเวชวิทยา นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 2
- ↑ "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ - กรณีใดจึงจะต้องทำการชันสูตรพลิกศพ?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-29. สืบค้นเมื่อ 2009-02-10.
- ↑ "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ - การชันสูตรพลิกศพจะต้องผ่าศพ?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-29. สืบค้นเมื่อ 2009-02-10.
- ↑ ความกระจ่างเกี่ยวกับการผ่าศพชาวไทยอิสลาม, หนังสือสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ สฬ 223/2541, วันที่ 12 ตุลาคม 2541
- ↑ มาตรา 150 การชันสูตรพลิกศพ, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, รศ.พ.ต.อ หญิง นัยนา เกิดวิชัย, สำนักพิมพ์นิตินัย, 2550
- ↑ การชันสูตรพลิกศพของแพทย์นิติเวช เอกสารประกอบการบรรยายหลักสูตรปลัดอำเภอผู้ที่ได้รับคัดเลือกฯ รุ่นที่ 1/2547 วันที่ 27 ก.ค. 2547 ณ โรงเรียนปลัดอำเภอ วิทยาลัยการปกครอง , ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.สมชาย ผลเอี่ยมเอก, โรงพยาบาลศิริราช
- ↑ "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ - ชันสูตรพลิกศพไปเพื่ออะไร?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-29. สืบค้นเมื่อ 2009-02-10.