สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (เกิด 27 ธันวาคม พ.ศ. 2497) เป็น นักการเมืองและตำรวจชาวไทย ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน), อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 17, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 10 ของประเทศไทย และเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก, อดีตอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ[1], อดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อดีตที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[2], อดีตราชองครักษ์พิเศษ [3]
สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง | |
---|---|
สมยศ ในปี พ.ศ. 2562 | |
นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 – 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 (7 ปี 356 วัน) | |
ก่อนหน้า | วรวีร์ มะกูดี |
ถัดไป | นวลพรรณ ล่ำซำ |
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ | |
ดำรงตำแหน่ง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2561 | |
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 30 กันยายน พ.ศ. 2558 | |
ก่อนหน้า | พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ (รักษาราชการแทน) |
ถัดไป | พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 27 ธันวาคม พ.ศ. 2497 อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | พจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง |
บุตร | พ.ต.ต. รชต พุ่มพันธุ์ม่วง ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | สำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
ประจำการ | พ.ศ. 2518–2558 |
ยศ | พลตำรวจเอก |
ประวัติ
แก้พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มีชื่อเล่นชื่อ อ๊อด เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายสาน และนางสมบัติ พุ่มพันธุ์ม่วง[4] จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนท่าเรือ "นิตยานุกูล" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.4) เข้าเรียนที่โรงเรียนพรตพิทยพยัต เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 15 (ตท.15) ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 31 (นรต.31) จบปริญญาตรีสาขา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง จบปริญญาโท รัฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยปูนา จากอินเดีย จบปริญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เขามีน้องชาย 1 คน ชื่อ พลตำรวจตรี ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
พลตำรวจเอก ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นอดีตนายตำรวจติดตาม มนตรี พงษ์พานิช ซึ่งต่อมาได้แนะนำให้เขารู้จักกับ เนวิน ชิดชอบ จนได้รับการสนับสนุนทางการเมือง เขายังเป็นลูกน้อง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และเพื่อนร่วมงาน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เขายังมีความสัมพันธ์อันดีกับ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และ วิชัย ศรีวัฒนประภา[5]
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ พจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ มีบุตรด้วยกัน 2 คน ได้แก่ นางสาว ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และ พันตำรวจตรี รชต พุ่มพันธุ์ม่วง สารวัตรปฎิบัติงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานกำลังพล[6]
ราชการตำรวจ
แก้พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รับราชการตำรวจครั้งแรก ในตำแหน่ง รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกรมตำรวจดังต่อไปนี้
- 16 ธันวาคม พ.ศ. 2532 - รองผู้กำกับการ (ทำหน้าที่นายตำรวจปฏิบัติราชการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) สำนักงานกำลังพล
- 1 มีนาคม พ.ศ. 2538 - ผู้กำกับการกองวิชาการ
- 25 ตุลาคม พ.ศ. 2539 - รองผู้บังคับการชุดตรวจงานอำนวยการ ส่วนตรวจราชการ 1 สำนักงานจเรตำรวจ
- 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 - รองผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 - รองผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง 1
- 14 ตุลาคม พ.ศ. 2542 - ผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - ผู้บังคับการ กองแผนงาน 2
- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 - ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานแผนงานและงบประมาณ
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 - ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 - รองจเรตำรวจแห่งชาติ
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย)
- 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 - ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน)
- 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - จเรตำรวจแห่งชาติ (สบ 8)
- 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 - ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 - ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ในส่วนของภาคสังคม เป็นอดีตกรรมการองค์กรสวนสัตว์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนท่าเรือ นิตยานุกูล[7]
คดีพันธมิตรฯ
แก้พลตำรวจเอกสมยศ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาได้ยื่นขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ชายชุดดำ
แก้วันที่ 11 กันยายน 2557 เขานำแถลงข่าวตำรวจจับกุมกลุ่มคนชุดดำที่ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 10 เมษายน 2553 จำนวน 5 คน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม ผู้ต้องหารับสารภาพ และว่ายังมีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 2 คน พลตำรวจเอกสมยศว่า "ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มีคำถามจากสังคมมาโดยตลอดว่าชายชุดดำมีจริงหรือไม่ วันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่ามีจริง" ต่อมา วันที่ 14 ตุลาคม 2557 ผู้ต้องหา 5 คนกลับคำรับสารภาพ ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง และทนต่อการถูกทำร้ายร่างกายไม่ไหวจึงยอมรับสารภาพ[8]
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
แก้วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ที่กองบัญชาการกองทัพบก คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้ประชุมเพื่อแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.สมยศ เพียงคนเดียวซึ่งคณะกรรมการ ก.ต.ช. ก็ลงมติเลือก พล.ต.อ.สมยศ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นับเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 10 ของประเทศไทย
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557 พลตำรวจเอกสมยศได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 122/2557
วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลตำรวจเอกสมยศเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่[9] โดยเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2558 เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรกที่จบการศึกษาปริญญาเอก
ในปี พ.ศ. 2561 เขากล่าวตอนหนึ่งว่า อาชีพตำรวจนี่ถือว่าเป็นไซด์ไลน์ อาชีพหลัก ๆ ผมคือทำธุรกิจหรือเป็นนักลงทุนในหุ้น และได้คบหาเป็นเพื่อนกับ กำพล วิริยะเทพสุกรณ์ ผู้กระทำผิดกฎหมายค้ามนุษย์ โดยเคยยืมเงินกว่า 300 ล้านบาท[10]
นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ
แก้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 17 ปรากฏว่า พลตำรวจเอกสมยศ ซึ่งมีเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ให้การสนับสนุน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ด้วยคะแนนทั้งสิ้น 62 เสียง จากทั้งหมด 72 เสียง เอาชนะชาญวิทย์ ผลชีวิน คู่แข่งคนสำคัญที่ได้เพียง 4 เสียง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[11]
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[12]
- พ.ศ. 2545 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[13]
อ้างอิง
แก้- ↑ อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ
- ↑ ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ
- ↑ ราชองครักษ์พิเศษ
- ↑ ชีวประวัติ สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
- ↑ คอนเนกชั่นลึก 'พล.ต.อ.สมยศ'ร่วมหุ้นธุรกิจกลุ่ม'วิไลลักษณ์'ผู้บริจาคเงิน'เพื่อไทย'
- ↑ 64 ลูกชาย ‘สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ ขึ้นสารวัตร
- ↑ "ฐานข้อมูลประวัติการทำงาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-17. สืบค้นเมื่อ 2014-08-21.
- ↑ เป็นเรื่อง! "ชุดดำพลิกลิ้น" แฉถูกซ้อมให้รับสารภาพ ทนายโร่ร้องขอความเป็นธรรม
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เล่ม ๑๓๑ ตอน ๑๘๓ หน้า ๒ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗
- ↑ คำต่อคำ 'สมยศ' แจงปมยืมเงินเสี่ยกำพล300ล. เรื่องหุ้นผมนิยมมาก อาชีพตำรวจแค่ไซด์ไลน์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า ๗ เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข, ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า ๒๐ เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข, ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2020-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า ๑๗๕ เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๖ ข, ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕
ก่อนหน้า | สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
วรวีร์ มะกูดี | นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2567) |
นวลพรรณ ล่ำซำ | ||
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ |
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 - 30 กันยายน พ.ศ. 2558) |
พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา |