สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.; อังกฤษ: National Vaccine Institute: NVI) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานอื่นใด แต่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศไทย ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (กวช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีไทยเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และกฎหมายอื่น
National Vaccine Institute | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555 |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักรไทย |
สำนักงานใหญ่ | อาคาร 4 ชั้น 5 ตึกสถาบันบำราศนราดูร เลขที่ 38 ซอยติวานนท์ 14 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11100 |
งบประมาณต่อปี | 52,967,400 บาท [1] |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
ต้นสังกัดหน่วยงาน | [[กระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย)|]] |
เว็บไซต์ | http://www.nvi.go.th |
ประวัติโดยย่อ
แก้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นฐานรองรับการลงทุนและการสนับสนุนของภาครัฐ และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชนให้บรรลุเป้าประสงค์โดยเร็ว โดยกำหนดให้เป็นหน่วยงานกลางที่มีความสามารถและคล่องตัวเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างครบวงจร
ความสำคัญของการผลิตวัคซีนภายในประเทศ
ด้วยเหตุที่วัคซีนมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ จึงเป็นการสมควรที่ประเทศจะสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนที่จำเป็นในปริมาณเพียงพอที่จะใช้ป้องกันโรคแก่ประชาชนในปัจจุบันและอนาคต โดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างกว้างขวางของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนของประเทศในระยะยาว หากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เอง นอกจากจะลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ยังมีโอกาสส่งออกวัคซีนที่มีศักยภาพการผลิตภายในประเทศ นำรายได้เข้าประเทศได้อีกด้วย
สถาบันวัคซีนแห่งชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555[3] โดยพัฒนามาจาก สำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตามคำสั่งกรมควบคุมโรค ที่ 266/2550 ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2550 และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตามคำสั่งกรมควบคุมโรค ที่ 1243/2553 ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยมีประธานกรรมการคนแรกได้แก่ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ต่อมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เปิดสำนักงานใหม่ ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560[4]
ประวัติ
แก้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (พ.ศ. 2545)
แก้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบายในด้านการพัฒนางานวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำสั่งตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 857/2545 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2545 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกในการจัดประชุม และประสานติดตามงานตามมติคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งสิ้น 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตวัคซีนในประเทศ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน และคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
สำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (พ.ศ. 2550)
แก้ต่อมาคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการทั้งสี่คณะ ได้จัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2548 และได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2548 ประกาศเป็น "นโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ" โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่มีความสามารถและคล่องตัว ทำหน้าที่ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนอย่างครบวงจร คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงมอบหมายให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติหารือกับประธานและเลขานุการอนุกรรมการทั้งสี่คณะ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างเบื้องต้นของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... เสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาปรับแก้ในหลายมาตรา และให้เร่งนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
จนวันที่ 24 มกราคม 2550 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2550 ให้ฝ่ายเลขานุการประสานงานเพื่อจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข โดยให้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน และจัดให้มีบุคลากรที่เหมาะสมทำงานเต็มเวลา มีที่ตั้งสำนักงานภายในกระทรวงสาธารณสุข และจัดหางบประมาณให้สำหรับปีงบประมาณ 2550-2551 ให้เร่งดำเนินการ และรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งต่อไปภายในเวลา 1 เดือน และให้สำนักงานฯ ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติสถาบันวัคซีนแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป กรมควบคุมโรคจึงมีคำสั่งที่ 266/2550 เรื่องตั้งสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เป็นการภายใน สังกัดกรมควบคุมโรค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2550 โดยมีสถานที่ตั้ง ณ อาคาร 4 ชั้น 2 กรมควบคุมโรค
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (พ.ศ. 2553)
แก้ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศ โดยการยกร่างพระราชบัญญัติสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. .... อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า การเสนอกฎหมายโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติมักจะใช้ระยะเวลาพิจารณาจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศไม่ทันต่อสถานการณ์และสภาพปัญหา คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงมีมติให้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. .... และให้มีการจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประสานพหุภาคี ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ตลอดจนบริหารจัดการการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา
กรมควบคุมโรคจึงจัดพิธีเปิดป้าย “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ขึ้น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน ทั้งนี้ได้จัดพิธีลงนามในโครงการความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรคและมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาวัคซีนเดงกี่ด้วย
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
แก้เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติขึ้นเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วย องค์การมหาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2555” โดยให้เป็น"สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)" เรียกโดยย่อว่า "สวช" และชื่อภาษาอังกฤษว่า "National Vaccine Institute (Public Organization)" เรียกโดยย่อว่า "NVI" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางด้านวัคซีนที่มีความเป็นอิสระและคล่องตัวในการดำเนินงาน ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีน เพื่อให้มีเพียงพอที่จะใช้ ภายในประเทศไม่ว่าในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งทำหน้าที่บริหารจัดการและประสานความร่วมมือ กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์พัฒนาข้อมูล และสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านวัคซีน รวมทั้งให้บริการทางวิชาการและฝึกอบรมเพื่อการพัฒนา บุคลากรด้านวัคซีน
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (พ.ศ. 2561)
แก้ต่อมาเมื่อมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในราชกิจจานุเบกษา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันวัคซีนแห่งชาติ" โดยตัดคำว่า "องค์การมหาชน" ออกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 และมาตรา 53 ให้พระราชกฤษฎีกาจัดต้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2555 เป็นอันยกเลิก โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติมีบทบาทและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
วัตถุประสงค์การจัดตั้ง
แก้1) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ
2) ส่งเสริม สนับสนุน หรือดำเนินการให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต และการกระจายวัคซีนให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ สำหรับที่จะใช้ทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉิน
3) บริหารจัดการเพื่อการบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ
4) สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ สถาบัน การศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ หรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีน
5) เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการข้อมูลและความรู้เชิงบูรณาการ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย เศรษฐกิจ และวิชาการเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อให้บริการทางวิชาการ พัฒนาข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านวัคซีน
6) ส่งเสริม สนับสนุน หรือดำเนินการให้มีการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของประเทศ
พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
แก้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติเพื่อให้มีการพัฒนาและมีความมั่นคงด้านวัคซีน โดยมีวัคซีนที่ได้มาตรฐานและมีปริมาณเพียงพออันจะเป็นประโยชน์ต่อการสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา เรียกว่า “พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561”
พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้วัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้แก่ประชาชนและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคสู่คน ทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีกลไกที่เป็นระบบในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การจัดหา และการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยมีคณะกรรมการ ที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มีองค์กรและคณะกรรมการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการด้านวัคซีนมีความเป็นเอกภาพ มีความต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ควบคุมได้ด้วยวัคซีนให้อยู่ในเขตจำกัด ให้น้อยที่สุดหรือหมดไปจากประเทศไทย อันจะนาไปสู่การพึ่งตนเองและ ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ
คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ
แก้ตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ประกาศให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ” หรือ กวช. ประกอบด้วย
ลำดับ | ชื่อ-นามสกุล / ตำแหน่ง | ตำแหน่งในคณะกรรมการ |
---|---|---|
1 | นายกรัฐมนตรีไทย | ประธานกรรมการ |
2 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข | รองประธานกรรมการ |
3 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | กรรมการ |
4 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม | กรรมการ |
5 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | กรรมการ |
6 | ปลัดกระทรวงการคลัง | กรรมการ |
7 | ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | กรรมการ |
8 | ปลัดกระทรวงสาธารณสุข | กรรมการ |
9 | เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา | กรรมการ |
10 | อธิบดีกรมควบคุมโรค | กรรมการ |
11 | ประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ | กรรมการ |
12 | ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย | กรรมการ |
13 | ผู้ทรงคุณวุฒิ | กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน |
14 | ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ | กรรมการและเลขานุการ |
หน้าที่และอำนาจ
แก้ตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ประกาศให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
1) เสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ
2) ออกระเบียบเกี่ยวกับการให้ทุน การส่งเสริม การสนับสนุน หรือการให้ความร่วมมือ เพื่อให้การวิจัย การพัฒนา การผลิต การบริหารจัดการ การจัดหา และการกระจายวัคซีน รวมทั้ง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ประชาชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายและ แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ
3) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อการวิจัย การผลิต การจำหน่าย และ การกระจายวัคซีนภายในประเทศหรือการจำหน่ายวัคซีนให้แก่องค์กรหรือประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพเป็นประเทศคู่ค้า
4) กำหนดกรอบงบประมาณสำหรับใช้ในการดำเนินการตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
5) เสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคอันเกิดจากการดำเนินงาน ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ รวมทั้งเสนอแนะให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจัดทำ แก้ไขเพิ่มเติม หรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อผลักดันการดำเนินงานด้านวัคซีน
รายนามประธานกรรมการบริหาร
แก้- นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ 28 พฤษภาคม 2556 - 20 สิงหาคม 2558[5]
- นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ 31 พฤษภาคม 2559 - ปัจจุบัน
อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอน 71 ก หน้า 18, 98 และ 142 17 กันยายน พ.ศ. 2561
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2555 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอน 75 ก หน้า 1-17 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-09. สืบค้นเมื่อ 2018-11-22.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2018-12-13.