โรงเรียนศรีสงครามวิทยา

(เปลี่ยนทางจาก ศูนย์ศิลป์สิรินธร)

โรงเรียนศรีสงครามวิทยา (อังกฤษ: Srisongkram Wittaya School; อักษรย่อ: ศ.ส.ว. — SSW) เรียกย่อ ๆ ว่า ศรีสงคราม เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหศึกษา เปิดสอนในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น - มัธยมศึกษาตอนปลายและเป็นโรงเรียนประจำอำเภอวังสะพุง สหวิทยาเขตวังภูผา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 19 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนตั้งอยู่เลขที่ 494 หมู่ที่ 11 ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 210 (อุดรธานี-เมืองเลย) กม.ที่ 117 ตำบลศรีสงคราม อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาอันดับที่ 3 ของจังหวัดเลย รองจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย และโรงเรียนเลยพิทยาคม นอกจากนี้โรงเรียนศรีสงครามวิทยายังเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในด้านศิลปะเป็นอย่างมาก ครูสังคม ทองมีและครูศิลปะ รวมถึงทีมงานทำให้ให้นักเรียนได้รับรางวัลจากการประกวดและแสดงผลงานในระดับชาติและระดับนานาชาติมากกว่าแปดพันรางวัล จนโรงเรียนได้รับอนุมัติงบประมาณในการสร้างศูนย์ศิลป์สิรินธร ซึ่งเป็นศูนย์ศิลป์ครบวงจรระดับมัธยมศึกษาแห่งแรกของไทย

โรงเรียนศรีสงครามวิทยา
Srisongkram Wittaya School
ที่ตั้ง
เลขที่ 494 หมู่ที่ 11 ถนนอุดรธานี-เมืองเลย ต.ศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย 42130
ข้อมูล
ชื่ออื่นศ.ส.ว. / SSW
ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญทนฺโตเสฏโฐ มนุสฺ เสสุ
(ในหมู่มนุษย์ผู้ฝึกดีแล้วประเสริฐสุด)
สถาปนา1 เมษายน พ.ศ. 2514 (52 ปี)
ผู้ก่อตั้งกรมวิสามัญศึกษา
หน่วยงานกำกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19
กระทรวงศึกษาธิการ
รหัส1042520475
ผู้อำนวยการนายจักรพงศ์ แถลงกัณฑ์
จำนวนนักเรียน3,300 คน
(ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565)[1]
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
จีนภาษาจีน
สี████ ม่วง-ขาว
เพลงมาร์ชโรงเรียนศรีสงครามวิทยา
อำลาซำแม่นาง
เว็บไซต์http://www.srisongkram.ac.th

ประวัติ แก้

โรงเรียนศรีสงครามวิทยา ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2514 ณ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ชื่อว่า "ป่าซำแม่นาง" มีเนื้อที่ทั้งหมด 105 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา[2] ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุมอบให้ กรมวิสามัญศึกษา (เดิมคือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมสามัญศึกษา และปัจจุบันเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เป็นผู้ใช้สอย ส่วนงานราชการจังหวัดเลย ร่วมกับทางอำเภอวังสะพุง ได้รับมอบหมายดำเนินการก่อตั้งโรงเรียน และชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อว่า โรงเรียนศรีสงครามวิทยา ตามชื่อหลวงศรีสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยท่านแรก โดยมีนายสุเมธ กัปโก ครูโท โรงเรียนสโมสรวิทยาลัย จังหวัดเลย เป็นครูใหญ่คนแรก เริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2514 ประเภทสหศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 2 ห้องเรียน มีนักเรียน 90 คน และเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในปีการศึกษา 2519 ในระยะแรกใช้อาคารเรียนของโรงเรียนชุมชนวังสะพุงทำการสอน และย้ายมาเรียน ณ สถานที่ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2515 นับจากวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2514 ที่เป็นวันประกาศจัดตั้งโรงเรียนศรีสงครามวิทยาลัยเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันรวมเวลากว่า 52 ปี แล้ว จากภูเขารกร้างทางทิศตะวันออกของอำเภอวังสะพุง มีแหล่งน้ำซับที่ไม่เคยเหือดแห้งนามว่า ซำแม่นาง แห่งนี้ ก็พัฒนาขึ้นมาโดยลำดับ จวบจนปัจจุบันได้กลายเป็นอุทธยานการศึกษาที่สำคัญยิ่งของจังหวัดเลย ผลิตลูกศิษย์เข้าสู่สังคมอย่างมีคุณภาพรุ่นแล้วรุ่นเล่า[3]

ผู้อำนวยการสุเมธ กัปโก ได้นำพาคณะครูหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงในขณะนั้น ที่ทยอยเข้ามาบรรจุที่โรงเรียนแห่งนี้ พร้อมลูกศิษย์และทุกสรรพกำลังที่มีในโรงเรียนและชุมชนในอำเภอวังสะพุง พัฒนาสถานศึกษาแห่งนี้ให้เจริญรุดหน้า พร้อมให้การศึกษาแก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว จากอาคารเรียนเพียงครึ่งหลังในปีแรก ได้เร่งรัดจนมีอาคารเรียนแบบถาวรถึง 4 หลัง มีอาคารชั่วคราว 6 หลัง อาคารปฏิบัติการ 2 หลัง หอประชุมใหญ่ หนึ่งหลัง และมีจำนวนนักเรียนมากถึง 2,000 คน ในระยะเวลาเพียง 10 ปี หลังการก่อตั้ง นับว่าเป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งด้านอาคารสถานที่และคุณภาพการศึกษา เป็นการวางรากฐานที่ดีเยี่ยมเพื่อต่อยอดการพัฒนาสถานศึกษาแห่งนี้สืบไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนศรีสงครามวิทยามีผลงานที่โดดเด่นทางด้านศิลปะจากการทุ่มเทของครูสังคม ทองมีและครูศิลปะในทีมงานทำให้ให้นักเรียนได้รับรางวัลจากการประกวดและแสดงผลงานในระดับชาติและระดับนานาชาติมากกว่าแปดพันรางวัล ส่งผลให้ได้รับการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างศูนย์ศิลปะเด็กแบบครบวงจรในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ชื่อว่า ศูนย์ศิลป์สิรินธร เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน นับว่าเป็นเกียรติประวัติอันสูงยิ่งของโรงเรียน จากนั้นภูมิทัศน์ของโรงเรียนเปลี่ยนไป เมื่อมีศูนย์ศิลป์สิรินธรอันสวยงาม แทรกอยู่ในธรรมชาติของเงาไม้อันร่มรื่น ทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนศรีสงครามวิทยาลัย เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นหนึ่งในโปรแกรมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยเรื่อยมา

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งของโรงเรียนศรีสงครามวิทยาอีกประการหนึ่ง นั่นคือการได้รับการคัดเลือกจากชุมชนให้เข้าสู่โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน ที่เป็นโครงการเด่นทางการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลในสมัยนั้น จาการทุ่มเททุกสรรพกำลังที่มีของโรงเรียนศรีสงครามวิทยา ส่งผลให้โรงเรียนได้รับการประเมิน ผ่านเกณฑ์ดีเยี่ยมแบบไม่มีเงื่อนไขเข้าเป็น “โรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน” ได้รับการตรวจเยี่ยม รับรอง จาก นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2548 และนี่คือจุดเริ่มต้นของการจัดการศึกษายุคใหม่ ที่จะส่งผลดีมายังนักเรียนทุกคน

การพัฒนาทางด้านการศึกษาใดๆก็ตามของโรงเรียนศรีสงครามวิทยาทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต คงไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาและได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากทุกภาคส่วนจึงจะทำให้สำเร็จลงได้ อาทิ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนศรีสงครามวิทยา สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศรีสงครามวิทยา บริษัทเอพีฮอนด้าและห้างหุ้นส่วนพัฒนชัยยนต์ – ปืน วิทูรย์กรุ๊บ จำกัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเทศบาลและตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย บริษัทสยามมิชชิลิน มาเก็ตติ้ง แอนด์เซลล์ มูลนิธิพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก มูลนิธิสุรัตน์ เจียมจิตเพื่อสวัสดิการครูและนักเรียน มูลนิธิโคว้น่ำเซ้งเพื่อสวัสดิการครูและนักเรียน มูลนิธิโรงเรียนศรีสงครามวิทยาลัยเพื่อสวัสดิการครู และนักเรียน รวมทั้งชุมชนอำเภอวังสะพุงทั้งหมด

นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป โรงเรียนศรีสงครามวิทยาแห่งนี้ ได้ยกระดับคุณภาพการศึกษานั่นคือการเข้าสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) ที่มีเป้าหมายอยู่ที่นักเรียนจะต้อง เป็นเลิศวิชาการ สื่อสารสองภาษา ล้ำหน้าทางความคิด ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ และร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก เป็นที่ตั้งดังปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนที่ว่า "ทัณโต เสฐโฐ มนุสเสสุ" (ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกดีแล้วประเสริฐสุด)

ปีการศึกษา 2565 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเลย หนองบัวลำภู ได้แต่งตั้งให้ นายจักรพงษ์ แถลงกัณฑ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสันติวิทยาสรรพ์ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทน นายกมล เสนานุช ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการที่โรงเรียนเลยพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ณ ปัจจุบัน โรงเรียนศรีสงครามวิทยา มีอาคารเรียน 6 อาคาร อาคารปฏิบัติการ 3 หลัง อาคารชั่วคราว 3 หลัง อาคารโสตทัศนศึกษา 1 หลัง หอประชุมใหญ่ชั้นเดียว 1 หลัง และหอประชุมใหญ่ 2 ชั้น 1 หลัง มีนักเรียน 3,300 คน[4] เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาอันดับที่ 3 ของจังหวัดเลย รองจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย และโรงเรียนเลยพิทยาคม

ข้อมูลทั่วไป แก้

ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดแผนการจัดชั้นเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 14:14:12/12:12:12 รวม 76 ห้องเรียน มีครูและบุคลากรทางการศึกษารวม 147 คน [5] นักเรียน 3,046 คน [6] มีอาคารเรียนถาวร 6 หลัง สถานภาพสำคัญที่หน่วยงานต้นสังกัด คือ กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดภารกิจ ให้ดำเนินการอย่างมีมาตรฐานคุณภาพ

ปัจจุบัน โรงเรียนศรีสงครามวิทยาเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World Class Standard School)

แผนการเรียน แก้

โรงเรียนศรีสงครามวิทยาเปิดสอนในแผนการเรียนดังต่อไปนี้

มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 - ม.3)
แผนการทั่วไป ทั่วไป 10 ห้องเรียน จำนวนที่รับ
ทั่วไป ทั่วไป 10 ห้องเรียน โครงการของโรงเรียน 400 คน
แผนการเรียนพิเศษ ทั่วไป 2 ห้องเรียน จำนวนที่รับ
วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ SC
1 ห้องเรียน โครงการพิเศษของโรงเรียน 40 คน
English Program EP
1 ห้องเรียน โครงการพิเศษของโรงเรียน 40 คน
รวม 12 ห้องเรียน 480 คน
มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 - ม.6)
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ชื่อย่อ จำนวนห้องเรียน หมายเหตุ จำนวนที่รับ
วิทยาศาสตร์ วิทย์ 6 ห้องเรียน 240 คน
วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ SC 1 ห้องเรียน โครงการพิเศษของโรงเรียน 40 คน
วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทย์-คณิต 5 ห้องเรียน โครงการของ โรงเรียน 200 คน
คณิต คณิต 4 ห้องเรียน 160 คน
ภาษาศาสตร์ คณิต-ภาษา 3 ห้องเรียน โครงการของ โรงเรียน 120 คน
ศิลป์ คณิต-ศิลป์ 1 ห้องเรียน โครงการของ โรงเรียน 40 คน
รวม 10 ห้องเรียน 400 คน

แผนการเรียนพิเศษของโรงเรียนศรีสงครามวิทยา แก้

  • โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) EP เฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ (Science Program) เฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
  • โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Science Program-SC) เฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

กิจกรรมโรงเรียน แก้

กีฬาสี อินทนิลเกมส์ แก้

โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จะมีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในหรือกีฬาสีในช่วงต้นเดือนพฤษจิกายนของทุกปี ปีละ 2 วัน โดยแบ่งคณะสีทั้งหมด 6 คณะสีคือ

โดยมีเป้าหมายคือ ให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างการแข็งแรงตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมกีฬาภายใน ซึ่งในปีปัจจุบันได้จัดเป็นครั้งที่ 53

รายนามผู้บริหารสถานศึกษา แก้

 
ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนศรีสงครามวิทยา
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1 นายสุเมธ กัปโก พ.ศ. 2514 - 2529
2 นายสมหวัง คณิตประเสริฐ พ.ศ. 2529 - 2532
3 นายแพง ทองปลิว พ.ศ. 2532 - 2539
4 นายฉลอง บาลลา พ.ศ. 2535 - 2539
5 นายสุเทพ ทิพรส พ.ศ. 2539 - 2540
6 นายโยง จันทรากุลนนท์ พ.ศ. 2540 - 2543
7 นายธวัชชัย ศรีภูมิสวัสดิ์ พ.ศ. 2543 - 2553
8 นายยงยุทธ ทิพรส พ.ศ. 2554 - 2556
9 นายจิระศักดิ์ ชัยชนะทรัพย์ พ.ศ. 2556 - 2561
10 นายกมล เสนานุช พ.ศ. 2561 - 2565
11 นายจักรพงศ์ แถลงกัณฑ์ พ.ศ.2565 - ปัจจุบัน

เกียรติประวัติ แก้

1. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานพิธีเปิดศูนย์ศิลป์สิรินธร

2. เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ปี 2547 ระดับทอง

3. โรงเรียนในฝันของอำเภอวังสะพุง ตามโครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน ของ กระทรวงศึกษาธิการ

4. ได้รับรางวัลพระราชทานโรงเรียนขนาดกลาง

5. ได้รับรางวัลพระราชทานโรงเรียนขนาดใหญ่

6. ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (Eric) จังหวัดเลย

7. เป็นศูนย์แนะแนวประจำจังหวัดเลย แห่งที่ 2

8. เป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ปี 2517 - ปัจจุบัน

10. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเปิดชมรมทูบรนัมเบอร์วันและศูนย์เพื่อนใจทูบีนัมเบอร์วัน ปี 2562 [7]

ศูนย์ศิลป์สิรินธร แก้

ศูนย์ศิลป์สิรินธร (Princess Maha Chakri Sirindhorn Art Centre) เกิดขึ้นด้วยความคิดริเริ่มของ ครูสอนศิลปะ ครูสังคม ทองมี คุณครูศิลปะแห่งโรงเรียนศรีสงครามวิทยา ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นแหล่งผลิตผลงานทางศิลปะของนักเรียนที่มีคุณภาพ และสร้างชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก กว่าที่ศูนย์ศิลป์ฯแห่งนี้จะก่อกำเนิดอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้นั้น ครูสังคม ต้องใช้เวลาต่อสู้ถึง 20 ปี เริ่มด้วยการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องศิลปะในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ เรื่องของการส่งผลงานของเด็กๆ เข้าร่วมการประกวดต่างๆ จนได้รับรางวัลมากมายรวมทั้งการต่อสู้ในหลักการ เพื่อให้รัฐบาลผ่านงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งก็ใช้เวลาอีก 3 ปีเต็ม

 
งานศิลปะที่จัดแสดงในศูนย์ศิลป์

"ศูนย์ศิลป์สิรินธร" เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มก่อสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2536 ด้วยเงินงบประมาณ 11 ล้านบาท ด้วยความมุ่งหวังที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็ก ๆ และผู้รักศิลปะในพื้นที่แถบภาคอีสานได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ เพื่อเสริมความรู้ที่นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนในตำรา ศูนย์ศิลป์สิรินธรแห่งนี้จัดสร้างบนเนื้อที่ทั้งหมด6ไร่ ในบริเวณโรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อาณาบริเวณโดยรอบแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติของสวนป่าตัวสถาปัตยกรรมได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด โดยฝีมือการออกแบบของบริษัทแปลน อาร์คิเต็ค จำกัด

อาคารทั้งสี่หลังของศูนย์ศิลป์ฯออกแบบเป็นรูปทรงเรียบง่าย ทว่าแฝงไว้ด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์อย่างเต็มเปี่ยมมองดูคล้ายกับงานประติมากรรมที่ช่วยประดับประดาให้สวนป่าโดยรอบมีความงดงาม อาคารแต่ละหลังมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไปตามลักษณะของการใช้สอย ทุกอาคารมีส่วนเชื่อมโยงถึงกันด้วยทางเดินที่เปรียบเสมือนแกนเชื่อมระหว่างอาคาร ถ้าหากมีการสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อกิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถสร้างต่อกันไปตลอดในแนวเดียวกัน

อาคารหลังที่หนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์ศิลปะเด็กและเยาวชนซึ่งภายในเป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินเด็กนับตั้งแต่ยุคที่ครูสังคมได้ไปบุกเบิกเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 ชิ้นงานที่จัดแสดงนั้นคัดเลือกจากเด็กๆนับพันคนที่เคยสร้างชื่อเสียงไว้ จัดเป็นนิทรรศการถาวรเพื่อเป็นเครื่องหมายเตือนใจคนไทยและคนท้องถิ่นถึงความสามารถของเด็กไทย เพื่อบอกกล่าวความเป็นมาของการเรียนการสอนศิลปะของสถานศึกษาแห่งนี้ อาคารหลังที่สอง จัดเป็นห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆ และผู้สนใจ โดยการจัดแสดงก็จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี ในอาคารหลังที่สามเป็นห้องประชุมสัมมนา อภิปราย บรรยายและการให้ความรู้เรื่องศิลปะเด็กและจัดอบรมครูศิลปะโดยเครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ภายในอาคารและการตกแต่งก็ได้ความร่วมมือมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา เป็นผู้สนับสนุน ดังนั้น อาคารแห่งนี้จึงมีชื่อตามผู้สนับสนุน ส่วนอาคารสุดท้ายอาคารหลังที่สี่ได้จัดเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่องานศิลปะ หรือใช้ทำกิจกรรมการอบรมหรือการประชุมที่มีภาคปฏิบัติ

อ้างอิง แก้

  1. "จำนวนนักเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-12. สืบค้นเมื่อ 2018-02-25.
  2. ข้อมูลพื้นฐาน โรงเรียนศรีสงครามวิทยา
  3. "ประวัติโรงเรียนศรีสงครามวิทยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2017-09-25.
  4. "นักเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-12. สืบค้นเมื่อ 2018-02-25.
  5. https://data.bopp-obec.info/emis/schooldata-view_techer.php?School_ID=1042520475&Area_CODE=101719
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-12. สืบค้นเมื่อ 2018-02-25.
  7. ทูลกระหม่อมหญิงฯ ทรงเปิดชมรม[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้