วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ เป็นอาจารย์ ดาราและอดีตนักกิจกรรมชาวไทย ในวัยหนุ่มเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแสดงละครล้อการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาถูกจำคุกสองปีก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2521 ต่อมาเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับจีน ก่อนเป็นดาราและพิธีกรในเวลาต่อมา

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
ชื่อเกิดวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
เกิด29 มกราคม พ.ศ. 2492 (75 ปี)
ที่เกิดจังหวัดพระนคร ประเทศไทย
อาชีพอาจารย์

ประวัติ แก้

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแซ่ตั้ง จบการมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส จบการศึกษามหาวิทยาลัยจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เอกประวัติศาสตร์) ระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้นเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อปี พ.ศ. 2519 วิโรจน์คือ 1 ใน 2 นักศึกษาที่แสดงละครล้อการเมืองที่ต่อมาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (อีก 1 คนนั้นคือ อภินันท์ บัวหภักดี) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ต่อมา

หลังจากเหตุการณ์นี้ได้ถูกจองจำในเรือนจำถึง 2 ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2521 จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมาสู่อิสรภาพ จากนั้นจึงเดินทางไปภาคใต้ หาเลี้ยงชีพด้วยการร้องเพลงในสถานบันเทิงต่าง ๆ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2526 จะเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านภาษาจีน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยใช้เวลาศึกษาอยู่นาน 5 ปี[1]

หลังจากนั้นแล้ว ได้เป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับจีนหรือภูมิปัญญาจีนตามสถานศึกษาต่าง ๆ จนมาถึงปัจจุบัน

วิโรจน์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางครั้งแรกจากการเป็นพิธีกรภาคสนามจากรายการ ตามไปดู ทางช่อง 9[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นนักแสดงในบทประกอบจากภาพยนตร์และละครเรื่องต่าง ๆ อาทิ หงส์เหนือมังกร พ.ศ. 2543, สุริโยไท พ.ศ. 2544, มังกรเดียวดาย (ภาคต่อหงส์เหนือมังกร) พ.ศ. 2547, หมวยอินเตอร์ พ.ศ. 2551, มงกุฎดอกส้ม พ.ศ. 2554, หงส์เหนือมังกร พ.ศ. 2560 และในการถ่ายทอดพิธีเปิดและพิธีปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เป็นผู้ถ่ายทอดสัญญาณในประเทศไทย ก็รับหน้าที่ผู้บรรยายร่วมด้วย

งานการเมือง แก้

ในเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-พ.ศ. 2551 ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 เป็นผู้กำกับการแสดง "งิ้วธรรมศาสตร์" ที่เป็นการแสดงงิ้วล้อการเมืองระหว่างการชุมนุม ซึ่งเป็นที่ฮือฮาและกล่าวขานถึงอีกด้วย[2]

เคยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะได้รับการเลือกมาป็นลำดับที่ 27 ได้คะแนน 11,438 คะแนน

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 9[3]

เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไทยแห่งแรกที่ทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ผลงาน แก้

ละครโทรทัศน์ แก้

ปี พ.ศ. เรื่อง ออกอากาศ รับบทเป็น หมายเหตุ
2542 เสน่ห์นางงิ้ว ช่อง 3 ซินแส
สามี ช่อง 3
2543 หงส์เหนือมังกร ช่อง 5 หลงไป่หมิง
2546 เล่ห์ลับสลับร่าง ช่อง 3 หมอดูอมเพชร รับเชิญ
2547 มังกรเดียวดาย ช่อง 5 หลงไป่หมิง
2551 โบตั๋นกลีบสุดท้าย ช่อง 3 อาซุ่น
หมวยอินเตอร์ ช่อง 7
2553 มงกุฎดอกส้ม ช่อง 3 อาจิว
2554 ดอกส้มสีทอง ช่อง 3 อาจิว
2555 กี่เพ้า ช่อง 3 อาจารย์ทำพิธีหมิงซุน
2556 สามี ช่อง 3 กู๋พงษ์ รับเชิญ
2557 ชิงรักหักสวาท ช่อง 8 ซินแสเทียน
2560 หงส์เหนือมังกร ช่อง 7 เจ็กตง รับเชิญ
2563 My Husband in Law
อกเกือบหักแอบรักคุณสามี
ช่อง 3 ซินแส รับเชิญ
2564 คู่แค้นแสนรัก ช่อง 7 ซินแส รับเชิญ
2565 พิษรักรอยอดีต (REVENGE) ช่องวัน หมอเหลียง รับเชิญ

ภาพยนตร์ แก้

  • สุริโยไท (2544)

อ้างอิง แก้

  1. [https://web.archive.org/web/20060301095749/http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000081307 เก็บถาวร 2006-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ภาษาจีน กุญแจทองแห่งชีวิตวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ จากผู้จัดการออนไลน์]
  2. "เขาเล่าว่า ..งิ้วธรรมศาสตร์แสดงเมื่อไร! รัฐบาลจบ เมื่อนั้น!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-09. สืบค้นเมื่อ 2010-10-19.
  3. เปิดรายชื่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย 61 ปชป. 44 ภท. 5 รักประเทศไทย 4 ชทพ.4 ชพน.2 จากมติชน เก็บถาวร 2011-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน