ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง

ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง (จีน: 五丈原之战) เป็นสงครามระหว่างรัฐจ๊กก๊กกับวุยก๊กในปี ค.ศ. 234 ในยุคสามก๊กของจีน ยุทธการนี้เป็นการบุกขึ้นเหนือครั้งที่ห้าและถือเป็นครั้งสุดท้ายที่นำโดยจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กเพื่อโจมตีรัฐวุยก๊ก[3] จูกัดเหลียงล้มป่วยและเสียชีวิตระหว่างการตั้งคุมเชิงระหว่างทั้งสองฝ่าย จ๊กก๊กจึงจำต้องล่าถอยกลับไป

ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง
ส่วนหนึ่งของ การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ห้า

ภาพวาดจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กฉบับตีพิมพ์ในยุคราชงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์ที่หุ่นไม้ของจูกัดเหลียงหลอกสุมาอี้ให้ตกใจกลัวและหนีไป
วันที่ป. มีนาคม – ตุลาคม ค.ศ. 234[1]
สถานที่34°21′0.000″N 107°22′59.999″E / 34.35000000°N 107.38333306°E / 34.35000000; 107.38333306
ผล สรุปไม่ได้ ฝ่ายจ๊กก๊กล่าถอย
คู่สงคราม
วุยก๊ก จ๊กก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สุมาอี้ จูกัดเหลียง
กำลัง
ไม่ทราบ 60,000 นาย[2]
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้างตั้งอยู่ในประเทศจีน
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง
ที่ตั้งในประเทศจีน
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง
อักษรจีนตัวเต็ม五丈原之戰
อักษรจีนตัวย่อ五丈原之战
การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงเพื่อรบกับวุยก๊กครั้งที่ 4 และครั้ง 5

ภูมิหลัง แก้

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงนำทัพจีกก๊กมากกว่า 60,000 นายออกทางหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) และตั้งค่ายอยูทางฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) ใกล้กับอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[4] จูกัดเหลียงกังวลอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการขาดแคลนเสบียงของกองทัพเพราะเสบียงมักไม่ส่งไปถึงแนวหน้าได้ทันเวลาเนื่องจากความยากลำบากในการขนส่งตามเส้นทาง จูกัดเหลียงจึงใช้นโยบายถุนเถียนเพื่อสร้างแหล่งเสบียงแห่งใหม่ โดยการสั่งให้กำลังทหารไปปลูกพืชผลทางฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโหรวมกับราษฎรที่อาศัยในพื้นที่ จูกัดเหลียงยังสั่งห้ามไม่ให้ทหารแย่งชืงพืชผลของราษฎรอีกด้วย[5]

โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทรงกังวลจึงให้ขุนพลจีนล่งนำทหารราบและทหารม้ารวม 20,000 นายไปยังกวนต๋ง (關中 กวานจง) ไปสมทบกับสุมาอี้ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ (大都督 ต้าตูตู) ของทัพวุยก๊กในภูมิภาค เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้ต้องการตั้งค่ายอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห แต่สุมาอี้กล่าวว่า "ราษฏรจำนวนมากรวมตัวอยู่ที่ฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโห ที่นั่นจะกลายเป็นตำแหน่งที่มีการรบดุเดือดเป็นแน่" สุมาอี้จึงนำกำลังทหารข้ามแม่น้ำมาตั้งค่ายโดยมีแม่น้ำอยู่ด้านหลัง สุมาอี้กล่าวว่า "หากจูกัดเหลียงกล้าพอ จะต้องเคลื่อนกำลังออกจากอำเภอบุกอง (武功縣 อู่กงเซี่ยน; ทางตะวันออกของอำเภอเหมย์ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และมุ่งหน้าไปทางตะวันออกตามแนวภูเขา แต่หากเขาเคลื่อนกำลังไปทางตะวันตกไปยังทุ่งราบอู่จ้าง (五丈原 อู่จ้าง-ยฺเหวียน) เราก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป"[6]

ยุทธการ แก้

การปะทะกันในช่วงต้น แก้

เมื่อจูกัดเหลียงมาถึงแม่น้ำอุยโห กองหน้าที่นำโดยเมิ่ง เยี่ยน (孟琰) ได้ข้ามแม่น้ำไปตั้งค่ายที่ปลายน้ำด้านตะวันออกของแม่น้ำบุกอง (武功水 อู่กงฉุ่ย)[7] สุมาอี้นำทหารม้า 10,000 นายเข้าโจมตีกองหน้า จูกัดเหลียงให้ทหารสร้างสะพานจากไม้ไผ่และสั่งให้ยิงเกาทัณฑ์ใส่ทหารม้า[7] สุมาอี้เห็นสะพานที่สร้างเสร็จแล้วจึงล่าถอยทันที [8][9][10]

เมื่อสุมาอี้นำกำลังทาหรมาตั่งมั่นอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห กุยห้วยโน้มน้าวให้เคลื่อนกำลังไปยังที่ราบทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเพราะกุยห้วยคาดการณ์ว่าจูกัดเหลียงพยายามจะยึดทุ่งราบ เมื่อนายทหารคนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย[11] กุยห้วยจึงว่า "หากจูกัดเหลียงข้ามแม่น้ำอุยโหและยึดทุ่งราบได้ กำลังทหารของเขาก็จะสามารถเข้าถึงภูเขาทางเหนือได้ หากพวกเขาสกัดเส้นทางผ่านภูเขา จะทำให้ราษฎรที่อาศัยในภูมิภาคเกิดความกวาดกลัวและตื่นตระหนัก ซึ่งไม่เป็นประโยนช์ต่อรัฐของเราเลย"[12] สุมาอี้เห็นด้วยกับกุยห้วยจึงส่งกุยห้วยไปยึดทุ่งราบ ขณะที่กุยห้วยและทหารสร้างค่ายอยู่บนทุ่งราบก็ถูกทัพจ๊กก๊กโจมตี แต่กุยห้วยก็สามารถขับไล่ทัพจ๊กก๊กไปได้[13]

จูกัดเหลียงเคลื่อนกำลังไปยังทุ่งราบอู่จ้างและเตรียมจะข้ามไปยังฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห สุมาอี้่ส่งโจว ตาง (周當) ไปประจำอยู่ทีี่หยางซุ่ย (陽遂; พื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำอุยโห อยู่ในอำเภอเหมย์และอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และล่อให้จูกัดเหลียงเข้าโจมตีัตน แต่จูกัดเหลียงไม่เคลื่อนกำลังเป็นเวลาหลายวัน สุมาอี้กล่าวว่า "จูกัดเหลียงต้องการยึดทุ่งราบอู่จ้างและจะไม่รุดหน้าไปยังหยางซุ่ย เจตนาของเขาชัดเจน" แล้วสุมาอี้จึงส่งอ้าวจุ๋น (胡遵 หู จุน) และกุยห้วยไปป้องกันหยางซุ่ย หลายวันต่อมากุยห้วยได้รับข่าวว่าจูกัดเหลียงกำลังวางแผนที่จะโจมตีทางตะวันตก เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการเสริมกำลังป้องกันในพื้นที่นั้น กุยห้วยเป็นคนเดียวที่มองว่านี่เป็นอุบาย และแท้จริงจูกัดเหลียงวางแผนจะโจมตีหยางซุ่ย ปรากฏว่าการคาดการณ์ของกุยห้วยถูกต้องเมื่อทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีหยางซุ่ยตอนกลางคืน แต่กุยห้วยก็ได้เตรียมการป้องกันไว้ก่อนแล้ว ทัพจ๊กก๊กจึงยึดหยางซุ่ยไม่สำเร็จ จูกัดเหลียงไม่สามารถรุดหน้าต่อไปได้จึงถอยกลับไปยังทุ่งราบอู่จ้าง[14][15]

คืนหนึ่งสุมาอี้เห็นดาวดวงหนึ่งตกลงไปยังบริเวณค่ายจ๊กก๊กจึงทำนายว่าจูกัดเหลียงจะพ่ายแพ้ สุมาอี้ออกคำสั่งลอบโจมตีที่หลังค่ายทัพจ๊กก๊ก ทหารจ๊กก๊กถูกสังหาร 500 นาย ที่ยอมจำนน 600 นาย และปศุสัตว์ในทัพจ๊กก๊กมากกว่า 1,000 ตัวถูกทัพวุยก๊กยึดไป[16]

การคุมเชิง แก้

ในช่วงเวลานั้น ราชสำนักวุยก๊กเห็นว่าเนื่องจากทัพจ๊กก๊กยกมาจากไกลจากฐานที่มั่นในเมืองฮันต๋งจึงไม่น่าจะสามารถรบในอาณาเขตของวุยก๊กได้ในระยะยาว จูกัดเหลียงกังวลว่าตนจะไม่สามารถได้เปรียบในการศึกเนื่องจากการขาดแคลนเสบียง จึงแบ่งกำลังทหารและวางรากฐานของการตั้งมั่นระยะยาว ให้ทหารทำนาร่วมกับราษฎรตลอดแนวแม่น้ำอุยโห ราษฎรและทหารร่วมมือกันเป็นอย่างดีและไม่ขัดแย้งกัน[17] ในขณะเดียวกัน โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กมีรับสั่งให้สุมาอี้งดการปะทะกับข้าศึกและรอโอกาสโจมตี จูกัดเหลียงพยายามลวงให้สุมาอี้ออกมารบ แต่สุมาอี้ยังคงตั้งมั่นอยู่ในค่ายตามรับสั่งของโจยอย[18] จูกัดเหลียงเข้าใจได้ว่าสุมาอี้กำลังพยายามจะเอาชนะทัพจ๊กก๊กด้วยสงครามพร่ากำลัง จูกัดเหลียงจึงใช้ระบบถุนเถียนต่อมาเพื่อรักษาทัพจ๊กก๊กไว้

วันหนึ่ง จูกัดเหลียงส่งเสื้อผ้าสตรีไปให้สุมาอี้เพื่อยั่วยุให้สุมาอี้ออกมารบ สุมาอี้รู้สึกโกรธและต้องการโจมตีจูกัดเหลียง แต่โจยอยทรงปฏิเสธความต้องการนั้นและมีรับสั่งให้สุมาอี้ยังคงตั้งมั่นอยู่ในค่าย โจยอยยังพระราชทานคทาอาญาสิทธิ์ (สัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของจักรพรรดิ) ให้ซินผีและส่งซินผีไปยังทุ่งราบอู่จ้างเพื่อจับตาดูสุมาอี้ เมื่อจูกัดเหลียงยั่วยุสุมาอี้อีกครั้ง สุมาอี้ต้องการโจมตีข้าศึก แต่ซินผีใช้คทาอาญาสิทธิ์ในการสั่งสุมาอี้ให้คงตั่งมั่นอยู่ในค่าย[19]

เมื่อเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กทราบข่าวเรื่องที่ซินผีอยู่ในค่ายของสุมาอี้ จึงบอกกับจูกัดเหลียงว่า "ซินผีมาพร้อมกับคทาอาญาสิทธิ์ ข้าศึกคงจะไม่ออกมาจากค่าย (เพื่อโจมตีเรา)" จูกัดเหลียงตอบว่า "สุมาอี้ไม่ต้องการรบกับเราตั้งแต่แรกแล้ว เจตนาที่แท้จริงของเขาในการขอพระราชทานราชานุญาตให้โจมตีเรานั้นแท้จริงแล้วก็เพื่อแสดงออกต่อกำลังทหารของตนว่าตนกระตือรือร้นที่จะรบและเตรียมพร้อมรบแล้ว ขุนพลที่อยู่ไกลออกไปในสนามรบไม่จำไปต้องทำตามคำสั่งของนาย หาก (สุมาอี้) สามารถเอาชนะเราได้ แล้วเหตุใดยังต้องขอพระราชทานราชานุญาตจากจักรพรรดิที่ห่างออกไปหลายพันลี้ (จากที่นี่) อีกเล่า"[20]

เมื่อสุมาหูเขียนจดหมายถึงสุมาอี้ถามถึงสถานการณ์ที่ทุ่งราบอู่จ้าง สุมาอี้ตอบว่า "จูกัดเหลียงมีความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่ แต่เขามองโอกาสพลาด เขามีสติปัญญาแต่ไม่เด็ดขาด เขามักนำกองกำลังในยุทธการแม้ว่าเขาจะไม่มีอำนาจเหนือพวกเขามากนัก แม้ว่าเขามีกำลังพล 100,000 นายภายใต้การบังคับบัญชาของเขา แต่เขาก็ติดกับข้าเข้าแล้ว และข้าจะเอาชนะเขาได้อย่างแน่นอน"[21]

ระหว่างการคุมเชิงกัน สุมาอี้ถามทูตที่จูกัดเหลียงส่งมาพบตนว่า "ความเป็นอยู่ของจูกัดเหลียงเป็นอย่างไรบ้าง กินข้าวได้มากเท่าใด (ต่อวัน)" ทูตตอบว่า "กินได้สามถึงสี่เชิง (升)" แล้วสุมาอี้จึงถามเกี่ยวกับกิจวัตรในแต่ละวันของจูกัดเหลียง ทูตตอบว่าจูกัดเหลียงจัดการงานแทบทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่การลงโทษทหารที่มีความผิดต้องโทษโบย 20 ครั้งขึ้นไป สุมาอี้จึงกล่าวว่า "จูกัดขงเบ้งจะมีชีวิตอยู่ได้นานสักเท่าใดกันเชียว เขากำลังจะตายในไม่ช้า"[22]

ขณะเดียวกัน สุมาอี้ก็กลับเป็นฝ่ายยั่วยุจูกัดเหลียงบ้าง สุมาอี้สั่งให้คน 2,000 คนส่งเสียงโห่ร้องจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณนั้น จูกัดเหลียงจึงส่งคนไปสืบว่าผู้คนโห่ร้องเรื่องอะไร สายสืบกลับมารายงานว่า "ทูตของง่อมาถึงบอกว่าจะยอมสวามิภักดิ์" จูกัดเหลียงพูดว่า "ง่อจะไม่สวามิภักดิ์ สุมาอี้เป็นคนเฒ่าที่จะมีอายุ 60 ปีในเร็ว ๆ นี้ ยังจำเป็นต้องใช้อุบายเช่นนี้อีกหรือ"[23]

การเสียชีวิตของจูกัดเหลียงและการล่าถอยของทัพจ๊กก๊ก แก้

 
ภาพวาดในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กฉบับที่ตีพิมพ์ในยุคราชวงศ์ชิง แสดงภาพโคยนตร์และม้าเลื่อน (木牛流馬 มู่หนิวหลิวหม่า) ที่ทัพจ๊กก๊กใช้ในการขนส่งเสบียง

ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายนถึง 10 ตุลาคม ค.ศ. 234[a] จูกัดเหลียงล้มป่วยลงอย่างหนักและอาการก็แย่ลงทุกวัน เมื่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กทรงทราบเรื่องนี้จึงทรงส่งลิฮก (李福 หลี่ ฝู) ไปยังทุ่งราบอู่จ้างเพื่อถามเรื่องผู้สืบทอดอำนาจ จูกัดเหลียงตอบว่าเจียวอ้วนสามารถสืบทอดอำนาจต่อจากตนและบิฮุยก็สามารถสืบทอดอำนาจต่อจากเจียวอ้วน เมื่อลิฮกถามเกี่ยวกับผู้สืบทอดอำนาจถัดจากบิฮุย จูกัดเหลียงกลับไม่ตอบ ลิฮกจึงกลับไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก ก่อนที่จูกัดเหลียงจะเสียชีวิตได้มอบคำสั่งลับกับเอียวหงี บิฮุย และเกียงอุยให้นำทัพจ๊กก๊กล่าถอยหลังการเสียชีวิตของตน โดยให้อุยเอี๋ยนทำหน้าที่ป้องกันด้านหลังแล้วถัดมาจึงเป็นเกียงอุย หากอุยเอี๋ยนปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง ให้พวกเขาล่าถอยไปโดยไม่ต้องมีอุยเอี๋ยน เมื่อจูกัดเหลียงเสียชีวิต ข่าวการเสียชีวิตของเขาก็ถูกปิดเป็นความลับ[25]

หลังการคุมเชิงกันมากกว่า 100 วัน สุมาอี้ก็ได้ยินจากราษฎรว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตจากอาการป่วย ทัพจ๊กก๊กเผาค่ายและล่าถอยไป สุมาอี้จึงนำทัพวุยก๊กไล่ตาม เอียวหงีผู้ช่วยของจูกัดเหลียงสั่งให้ทหารจ๊กก๊กตีกลองศึกและตั้งกระบวนทัพเพื่อต้านข้าศึก สุมาอี้ไม่รุดหน้าเข้าไปเพราะเห็นว่าทัพจ๊กก๊กเตรียมการรับมืออย่างดี เอียวหงีจึงล่าถอยไป[26]

อีกไม่กี่วันต่อมา สุมาอี้ไปสำรวจค่ายของฝ่ายจ๊กก๊กที่ยังเหลืออยู่ เก็บได้แผนที่ เอกสาร และเสบียงจำนวนมาก สุมาจึงสรุปได้ว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตแล้วจริง ๆ และกล่าวว่า "เขาเป็นผู้มากความสามารถที่หาได้ยากในแผ่นดิน" ซินผียังสงสัยว่าจูกัดเหลียงเสียชีิวิตจริงหรือไม่ แต่สุมาอี้พูดว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกองทัพคือเอกสาร กำลังพล ม้า และเสบียง [จูกัดเหลียง]กลับละทิ้งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คนที่เสียอวัยวะสำคัญทั้งห้าไปจะยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เราควรเร่งไล่ตาม[ข้าศึก]" พื้นดินในกวนต๋ง (關中 กวานจง) เต็มไปด้วยต้นโคกกระสุน สุมาอี้จึงส่งทหาร 2,000 นายสวมรองเท้าไม้พื้นแบนเพื่อถางเส้นทางก่อนที่จะทัพหลักจะรุดหน้า เมื่อสุมาอี้ไปไปถึงชะงันโผ (赤岸 ชื่ออ้าน) ก็ได้รับการยืนยันว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตแล้ว สุมาอี้ถามราษฎรที่อาศัยอยู่ที่นั่น เหล่าราษฎรบอกสุมาอี้ว่ามีคำกล่าวที่มีชื่อเสียงเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "จูกัดคนตายหลอกจ้งต๋า[b]คนเป็น" สุมาอี้ได้ยินดังนั้นก็หัวเราะและพูดว่า "ข้าสามารถคาดเดาความคิดคนเป็นได้ แต่ไม่อาจคาดเดาความคิดคนตายได้"[27]

ผลสืบเนื่อง แก้

ความขัดแย้งระหว่างอุยเอี๋ยนและเอียวหงี แก้

อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กตกใจที่ทัพจ๊กก๊กล่าถอย "เพราะความตายของคนผู้เดียว" จึงรวบรวมทหารในหน่วยของตนและยกกลับไปยังจ๊กก๊ก ล่วงหน้ากองกำลังหลักที่นำโดยเอียวหงี บิฮุย เกียงอุย และคนอื่น ๆ ระหว่างการล่าถอย อุยเอี๋ยนสั่งทหารให้เผาสะพานเลียบเขาที่นำทางกลับไปยังจ๊กก๊ก[28]

อุยเอี๋ยนและเอียวหงีต่างก็เขียนฎีกาส่งไปถึงราชสำนักจ๊กก๊ก กล่าวหากันและกันในข้อหากบฏ ฎีกาของทั้งคู่มาถึงเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กในวันเดียวกัน เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กตรัสถามความเห็นจากเสนาบดีตั๋งอุ๋นและเจียวอ้วน ทั้งคู่ให้ความเห็นเข้าข้างเอียวหงีและแสดงความสงสัยต่อการกระทำของอุยเอี๋ยน ในขณะเดียวกัน เอียวหงีสั่งทหารของตนให้ตัดไม้มาซ่อมแซมสะพานเลียบเขา กำลังทหารของเอียวหงีเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อไล่ตามอุยเอี๋ยน อุยเอี๋ยนมาถึงหุบเขาทางใต้และสั่งทหารของตนให้โจมตีเอียวหงี เอียวหงีส่งอองเป๋งไปต้านอุยเอี๋ยน อองเป๋งตะโกนใส่อุยเอี๋ยนว่า "นายท่าน[จูกัดเหลียง]เพิ่งจะสิ้นบุญร่างยังไม่ทันเย็น ท่านกล้าทำการเช่นนี้ได้อย่างไร!" ทหารของอุยเอี๋ยนตระหนักว่าอุยเอี๋ยนผู้บังคับบัญชาของพวกตนเป็๋นฝ่ายผิดจึงละทิ้งอุยเอี๋ยนไป[29]

อุยเอี๋ยนเหลือเพียงบุตรชายและผู้ติดตามเพียงไม่กี่คน ทั้งหมดหนีไปยังเมืองฮันต๋ง เอียวหงีสั่งม้าต้ายให้ไล่ตาม ม้าต้ายตามทันอุยเอี๋ยนและตัดศีรษะอุยเอี๋ยนนำกลับมาและโยนลงต่อหน้าเอียวหงี เอียวหงีจึงเหยียบบนศีรษะของอุยเอี๋ยนและพูดว่า "ไอ้ไพร่ชั้นต่ำ! ยังจะทำชั่วได้อีกไหม" สมาชิกในครอบครัวของอุยเอี๋ยนและญาติสนิทล้วนถูกประหารชีวิต ก่อนการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน เจียวอ้วนนำหน่วยทหารราชองครักษ์ออกจากเซงโต๋เพื่อจัดการกับข้อพิพาท เดินทางมาได้ราว 10 ลี้ [ประมาณ 5 กิโลเมตร] ก็ทราบข่าวการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน จึงทูลแจ้งเรื่องนี้เมื่อกลับมายังเซงโต๋[30]

ผลกระทบระยะยาว แก้

หลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง เจียวอ้วนได้สืบทอดตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี แต่เจียวอ้วนมีความสนใจในด้านราชการภายในมากกว่าการขยายทางการทหาร การเสียชีวิตของจูกัดเหลียงจึงเป็นการยุติภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ต่อวุยก๊ก และต่อมาไม่นานราชสำนักวุยก๊กก็เริ่มพัฒนาโครงการโยธาด้วยความทะเยอทะยาน

ความสำเร็จและความโดดเด่นของสุมาอี้ในยุทธการกับจ๊กก๊กได้ปูทางให้สุมาเอี๋ยนผู้หลานชายได้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นในเวลาต่อมา ซึ่งจะกลายเป็นการสิ้นสุดของยุคสามก๊กในที่สุด

หมายเหตุ แก้

  1. จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าจูกัดเหลียงล้มป่วยและเสียชีวิตในเดือน 8 ของศักราชเจี้ยนซิงปีที่ 12 ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน[24] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายนถึง 10 ตุลาคม ค.ศ. 234 ในปฏิทินกริกอเรียน
  2. "จ้งต๋า" เป็นชื่อรองของสุมาอี้

อ้างอิง แก้

  1. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
  2. Sawyer (2010), p. 131
  3. Killigrew, John (1999). "Zhuge Liang and the Northern Campaign of 228-234". Early Modern China. 5 (1): 55–91.
  4. Sawyer (2010), p. 131
  5. (亮每患糧不繼,使己志不申,是以分兵屯田,為乆駐之基。耕者雜於渭濵居民之間,而百姓安堵,軍無私焉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  6. (天子憂之,遣征蜀護軍秦朗督步騎二萬,受帝節度。諸將欲住渭北以待之,帝曰:「百姓積聚皆在渭南,此必爭之地也。」遂引軍而濟,背水為壘。因謂諸將曰:「亮若勇者,當出武功,依山而東。若西上五丈原,則諸軍無事矣。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  7. 7.0 7.1 Li, Daoyuan. Shuijing Zhu  (ภาษาจีน). Vol. 18 – โดยทาง Wikisource.
  8. (是以諸葛亮《表》云:臣遣虎步監孟琰,據武功水東,司馬懿因水長攻琰營,臣作竹橋,越水射之,橋成馳去。) ฉุ่ยจิงจู้ เล่มที่ 18.
  9. (《諸葛亮集》曰:亮上事曰,臣先進孟琰據武功水東,司馬懿因水以二十日出騎萬人來攻琰營,臣作車橋,賊見橋垂成,便引兵退。)ไท่ผิงยฺวี่หล่าน เล่มที่ 73.
  10. บันทึกทั้งสองเขียนโดยตัวจูกัดเหลียงเอง
  11. (青龍二年,諸葛亮出斜谷,並田于蘭坑。是時司馬宣王屯渭南;淮策亮必爭北原,宜先據之,議者多謂不然。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  12. (淮曰:「若亮跨渭登原,連兵北山,隔絕隴道,搖盪民、夷,此非國之利也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  13. (宣王善之,淮遂屯北原。塹壘未成,蜀兵大至,淮逆擊之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  14. (亮果上原,將北渡渭,帝遣將軍周當屯陽遂以餌之。數日,亮不動。帝曰:「亮欲爭原而不向陽遂,此意可知也。」遣將軍胡遵、雍州剌史郭淮共備陽遂,與亮會于積石。臨原而戰,亮不得進,還于五丈原。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  15. (後數日,亮盛兵西行,諸將皆謂欲攻西圍,淮獨以為此見形於西,欲使官兵重應之,必攻陽遂耳。其夜果攻陽遂,有備不得上。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  16. (會有長星墜亮之壘,帝知其必敗,遣奇兵掎亮之後,斬五百餘級,獲生口千餘,降者六百餘人。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  17. (亮以前者數出,皆以運糧不繼,使己志不伸,乃分兵屯田為久駐之基,耕者雜於渭濱居民之間,而百姓安堵,軍無私焉。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
  18. (時朝廷以亮僑軍遠寇,利在急戰,每命帝持重,以候其變。亮數挑戰,帝不出, ...) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  19. (... 因遺帝巾幗婦人之飾。帝怒,表請決戰,天子不許,乃遣骨鯁臣衞尉辛毗杖節為軍師以制之。後亮復來挑戰,帝將出兵以應之,毗杖節立軍門,帝乃止。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  20. (初,蜀將姜維聞毗來,謂亮曰:「辛毗杖節而至,賊不復出矣。」亮曰:「彼本無戰心,所以固請者,以示武於其衆耳。將在軍,君命有所不受,苟能制吾,豈千里而請戰邪!」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  21. (帝弟孚書問軍事,帝復書曰:「亮志大而不見機,多謀而少決,好兵而無權,雖提卒十萬,已墮吾畫中,破之必矣。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  22. (先是,亮使至,帝問曰:「諸葛公起居何如,食可幾米?」對曰:「三四升。」次問政事,曰:「二十罰已上皆自省覽。」帝既而告人曰:「諸葛孔明其能久乎!」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  23. (宣王使二千餘人,就軍營東南角,大聲稱萬歲。亮使問之,答曰:「吳朝有使至,請降。」亮謂曰:「計吳朝必無降法。卿是六十老翁,何煩詭誑如此。」)ทงเตี่ยน เล่มที่ 150.
  24. (相持百餘日。其年八月,亮疾病,卒于軍,時年五十四。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  25. (秋,亮病困,密與長史楊儀、司馬費禕、護軍姜維等作身歿之後退軍節度,令延斷後,姜維次之;若延或不從命,軍便自發。亮適卒,祕不發喪, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  26. (與之對壘百餘日,會亮病卒,諸將燒營遁走,百姓奔告,帝出兵追之。亮長史楊儀反旗鳴皷,若將距帝者。帝以窮寇不之逼,於是楊儀結陣而去。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  27. (經日,乃行其營壘,觀其遺事,獲其圖書、糧穀甚衆。帝審其必死,曰:「天下奇才也。」辛毗以為尚未可知。帝曰:「軍家所重,軍書密計、兵馬糧穀,今皆棄之,豈有人捐其五藏而可以生乎?宜急追之。」關中多蒺蔾,帝使軍士二千人著軟材平底木屐前行,蒺蔾悉著屐,然後馬步俱進。追到赤岸,乃知亮死審問。時百姓為之諺曰:「死諸葛走生仲達。」帝聞而笑曰:「吾便料生,不便料死故也。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  28. (延曰:「丞相雖亡,吾自見在。府親官屬便可將喪還葬,吾自當率諸軍擊賊,云何以一人死廢天下之事邪?且魏延何人,當為楊儀所部勒,作斷後將乎!」因與禕共作行留部分,令禕手書與己連名,告下諸將。禕紿延曰:「當為君還解楊長史,長史文吏,稀更軍事,必不違命也。」禕出門馳馬而去,延尋悔,追之已不及矣。延遣人覘儀等,遂使欲案亮成規,諸營相次引軍還。延大怒,纔儀未發,率所領徑先南歸,所過燒絕閣道。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  29. (延、儀各相表叛逆,一日之中,羽檄交至。後主以問侍中董允、留府長史蔣琬,琬、允咸保儀疑延。儀等槎山通道,晝夜兼行,亦繼延後。 ... 延先至,據南谷口,遣兵逆擊儀等,儀等令何平在前禦延。平叱延先登曰:「公亡,身尚未寒,汝輩何敢乃爾!」延士衆知曲在延,莫為用命,軍皆散。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  30. (延獨與其子數人逃亡,奔漢中。儀遣馬岱追斬之,致首於儀,儀起自踏之,曰:「庸奴!復能作惡不?」遂夷延三族。 ... 初,蔣琬率宿衞諸營赴難北行,行數十里,延死問至,乃旋。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.

บรรณานุกรม แก้