พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

(เปลี่ยนทางจาก พูนทรัพย์ นพวงศ์)

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ไกรยง; 12 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558) เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์[1] เป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นครูโรงเรียนเบญจมราชาลัย, โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย, โรงเรียนสายปัญญา และโรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์


พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

พูนทรัพย์ในปี 2474
เกิดพูนทรัพย์ ไกรยง
12 ตุลาคม พ.ศ. 2453
เสียชีวิต23 ตุลาคม พ.ศ. 2558 (105 ปี)
การศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ.บ.)
มหาวิทยาลัยมิชิแกน (ศษ.ม.)
อาชีพอาจารย์
คู่สมรสหม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์
บิดามารดาฮันส ไกเยอร์
เจียม ไกรยง

ประวัติ

แก้

พูนทรัพย์เกิดในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จังหวัดพระนคร มีชื่อแต่เดิมว่าหนู[2] เป็นบุตรีของฮันส์ ไกเยอร์ (เยอรมัน: Hans Geyer) นักธุรกิจชาวเยอรมัน กับเจียม ไกรยง ข้าหลวงในพระราชวังสวนสุนันทา ขณะอายุ 3 ปีครึ่ง บิดามารดาได้นำไปถวายตัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับพระราชทานชื่อ “พูนทรัพย์” แต่เนื่องจากยังเล็กมาก จึงทรงฝากให้สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรทรงเลี้ยงดูไปก่อน โดยโปรดให้นอนหน้าพระแท่นบรรทม จากนั้นได้เจริญวัยอยู่ในพระราชวังพญาไท เป็นเวลานานถึง 20 ปี

จากการอุปการะเลี้ยงดูอย่างดี ทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีกิริยาวาจา เรียบร้อย และสง่างาม พูนทรัพย์มีแววเฉลียวฉลาดตั้งแต่วัยเด็ก สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรจึงทรงสนับสนุนให้ได้เรียนที่โรงเรียนราชินี เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำเร็จเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก และได้รับราชการในสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้รับทุนบาเบอร์ประเทศสหรัฐไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แล้วจึงโอนมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการทุนธนชาตคนแรก และธนาคารนครหลวงไทย

ชีวิตครอบครัว

แก้

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ได้สมรสกับศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งแม้จะไม่มีบุตร-ธิดา แต่ท่านทั้งสองก็ครองชีวิตคู่ด้วยความสุขสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างของคู่ชีวิตที่รักใคร่กลมเกลียวกันมายาวนานกว่า 50 ปี ทั้งยังช่วยเหลือ สนับสนุนซึ่งกันและกันในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติร่วมกันมาโดยตลอด

ก่อตั้งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แก้

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ยังเป็นผู้ที่มองการณ์ไกลด้านการศึกษา โดยในระหว่างที่เข้ารับราชการอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฝึกหัดครูระดับปริญญา จึงริเริ่มให้มีแผนกครุศาสตร์เป็นแผนกเล็กๆ ในคณะอักษรศาสตร์ และได้พยายามบุกเบิกให้ก้าวหน้าจนยกระดับขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรก และเป็นคณบดีหญิงคนแรกของประเทศไทยด้วย และได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนานถึง 14 ปี อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาพยาบาลศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อผลิตครูและผู้บริหารงานด้นการพยาบาลให้แก่กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ท่านยังก่อตั้งแผนกจิตวิทยาและแผนกพลศึกษา (คณะจิตวิทยา และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ในปัจจุบัน) ขึ้นในคณะครุศาสตร์ และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่ผ่านท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ เป็นทั้งครูและกัลยาณมิตรของลูกศิษย์ลูกหา เป็นนักวิชาการและนักการศึกษาที่อุทิศตนตามอุดมคติของครุฐานนิยธรรม เป็นผู้นำและต้นแบบของนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ซึ่งตลอดชีวิตการรับราชการที่ผ่านมาได้ทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญาอย่างเต็มที่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานอันมั่นคงให้การศึกษาของประเทศโดยรวม

อุทิศตัวเพื่อสังคม

แก้

นอกเหนือจากงานราชการแล้ว ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ยังปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือสังคมอีกหลายด้าน อาทิ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิกตเวทิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานคณะผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและนายกสโมสรซอนต้า กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่งวงวิชาการ การศึกษา การพัฒนาเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนการยกสถานภาพสตรีไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความห่วงใยในการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ท่านได้เป็นประธานกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็ได้มีมติประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยถือเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมวิชาการเรื่อง การใช้ภาษาไทย ที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2505

และด้วยจิตใจที่มีแต่ให้และระลึกถึงสังคมส่วนรวมตลอดเวลา ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ได้มอบที่ดินชายทะเลหาดแสงจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง จำนวน 2 ไร่ 54.3 ตารางวา ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในกิจการของคณะครุศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์บริการวิชาการ จิรายุ-พูนทรัพย์” ภายใต้การดูแลของคณะครุศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2549 ได้ถวายที่ดินและบ้านที่ตนพำนักแก่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะครุศาสตร์และกรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้

หลังจากเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ยังมีกุศลจิต ช่วยเหลือสังคมโดยเป็นนายกสโมสร ประธานมูลนิธิ และผู้ก่อตั้งที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ สภาการศึกษาแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ทุนธนชาติ ธนาคารนครหลวงไทย ฯลฯ ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความเสียสละโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทำให้ผลงานแห่งชีวิตที่ผ่านมาของท่านผู้หญิงเป็นที่ปรากฏชัดในระดับชาติและนานาชาติมาต่อเนื่องยาวนาน จนได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นปูชนียาจารย์คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะบุคคลที่ทำประโยชน์แก่การศึกษาของชาติอย่างสูงยิ่งในการตัดงาน ครอบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์คุโณปการต่อชาติอย่างมากมาย รัฐบาลจึงได้มีมติยกย่องท่านให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552 อีกด้วย

ถึงแก่อนิจกรรม

แก้

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558 สิริอายุได้ 105 ปี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม พร้อมฉัตรเบญจาตั้งเป็นเกียรติยศประกอบศพ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 17.00 น. ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ศาสตราจารย์พูนพิศ อมาตยกุล)
  2. สดุภณ จังกาจิตต์ (2016). "ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา". ประวัติครู 16 มกราคม 2559. Secretariat Office of the Teachers' Council of Thailand. pp. 9–21. ISBN 978-616-7746-31-9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-18. สืบค้นเมื่อ 21 November 2019.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๘๒ ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๙
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๑๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๓๐, ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๙

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้