วีระชัย วีระเมธีกุล

วีระชัย วีระเมธีกุล (เกิด 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2510) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

วีระชัย วีระเมธีกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดำรงตำแหน่ง
6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554
นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้าดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
ถัดไปปลอดประสพ สุรัสวดี
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553
นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้าสุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุทิน คลังแสง
ถัดไปองอาจ คล้ามไพบูลย์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 (56 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองไทยรักไทย (2541—2549)
ประชาธิปัตย์ (2551—ปัจจุบัน)
คู่สมรสทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ (หย่า)

ประวัติ แก้

วีระชัย วีระเมธีกุล หรือ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล เกิดวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 เป็นบุตรของนายสุชัย กับนางสุมาลี วีระเมธีกุล จบการศึกษา BSBA จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2528 ปีถัดมา (พ.ศ. 2529) จบการศึกษา MBA จากมหาวิทยาลัยคลาร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2537 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก บัญชีดุษฎีบัณฑิต จาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงาน แก้

การรับราชการ แก้

หลังจบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านบัญชีดุษฎีบัณฑิต ดร.วีระชัยได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานในปี พ.ศ. 2533 โดยเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในขณะเดียวกันก็ยังได้รับเกียรติ เชิญให้เข้าเป็นอาจารย์สอนพิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิเช่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาคธุรกิจเอกชน แก้

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือไม่กี่ปี ก็ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2537 เพื่อเข้าไปทำงานในภาคเอกชน ประกอบกับเป็นเวลาเดียวกันที่ นายสุชัย วีระเมธีกุล บิดาของเขา ซึ่งเป็นนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศจีน ได้รับการชักชวนให้ไปร่วมลงทุนในกิจการธนาคาร และสถาบันการเงินในช่วงที่ประเทศจีนกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านเศรษฐกิจ ที่จีนมุ่งหวังจะปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้น ดร.วีระชัย จึงเข้าไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ในธนาคาร TM International ตามลำดับ และสุดท้ายมาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคาร Business Development Bank

ทำงานทางการเมือง แก้

เริ่มเข้าวงการ แก้

ดร.วีระชัย เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี พ.ศ. 2543 โดยการเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 มีโอกาสได้ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในปี พ.ศ. 2544 จนถึง พ.ศ. 2546 เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน และเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ

สมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แก้

ดร.วีระชัย ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แต่บทบาทการทำงานของ ดร.วีระชัย ในกระทรวงต่างๆ ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งจะเป็นการทำงานเบื้องหลัง ทั้งการประสานงาน และการบริหารภายใน จึงมิได้โดดเด่นเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนมากนัก แต่ก็เป็นที่ไว้วางใจของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ทำงานด้วยอย่างมาก เช่น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ถึงขั้นมอบหมายงานสำคัญให้ดำเนินการอยู่เสมอ โดยเฉพาะงานวิชาการ

สมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ แก้

เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดร. วีระชัย จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเคยทำงานในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย จนทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนหลายครั้งถึงความเป็นมืออาชีพของเขา แต่ยังคงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ดร.วีระชัยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง จนเป็นที่กล่าวกันว่าเพียงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่กลับมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือรัฐมนตรีหลายๆ คน

การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แก้

ดร.วีระชัย ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในคณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ 1 โดยดูแลงานด้านเศรษฐกิจกับการบริหารจัดการ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้ดูแลความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑล และมักถูกใช้งานไปแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับจีนหลายครั้งโดยเฉพาะเรื่องการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ต่อมาในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี [1] โดยในช่วงดำรงตำแหน่งต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเรียกความเชื่อมั่นเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยจากผลกระทบของรังสีที่รั่วไหลกลับสู่สังคมไทย เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิระเบิด

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[2] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กระทั่งการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดิมและได้รับเลือกตั้งอีกสมัยกระทั่งวันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 นายวีระชัยได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อนาย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนาย ไชยยศ จิรเมธากร เลื่อนขึ้นมาทำหน้าที่แทน[3]

ตำแหน่งสำคัญต่างๆ แก้

  • รองประธานกรรมการธนาคาร Business Development Bank ประเทศจีน
  • พ.ศ. 2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ
  • พ.ศ. 2544 และพ.ศ. 2546 รองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน
  • พ.ศ. 2544 และพ.ศ. 2546 รองประธานคนที่หนึ่ง คณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ
  • พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2553 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • พ.ศ. 2562 ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี (รวม ๑๘ ราย) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอน พิเศษ 72ง วันที่ 8 มิถุนายน 2553
  2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
  3. "วีระชัย วีระเมธีกุล" ลาออกจาก "ส.ส.ปชป." อีกราย
  4. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกต้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 8 พฤษภาคม 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2019-05-10.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๒, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๙, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

แหล่งข้อมูลอื่น แก้


ก่อนหน้า วีระชัย วีระเมธีกุล ถัดไป
สุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุพล ฟองงาม
   
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม. 59)
(20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553)
  องอาจ คล้ามไพบูลย์


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ครม. 59)
(6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554)
  ปลอดประสพ สุรัสวดี