คำถามเยอรมัน (เยอรมัน: Deutsche Frage; อังกฤษ: German Question) คือประเด็นการอภิปรายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติ พ.ศ. 2391 ถึงวิธีการที่ดีที่สุดในการรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany)[1] โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2358 ถึง พ.ศ. 2409 รัฐอิสระซึ่งใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดภายในสมาพันธรัฐเยอรมันได้ถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว และเสนอวิธีแก้ไขออกเป็นสองแนวทางคือ

  • มหาประเทศเยอรมัน (Großdeutsche Lösung) เสนอให้รวมเอาประชาชนผู้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดไว้ภายใต้รัฐเดียว (รวมประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดเป็นประเทศอันหนึ่งอันเดียว) ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนโดยจักรวรรดิออสเตรียและกลุ่มผู้สนับสนุนของออสเตรีย
  • อนุประเทศเยอรมัน (Kleindeutsche Lösung) เสนอให้รวมเพียงรัฐเยอรมันทางเหนือและไม่รวมออสเตรียเข้ามาด้วย ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนโดยราชอาณาจักรปรัสเซีย
แผนที่ทวีปยุโรปตอนกลางราวปี พ.ศ. 2363 แสดงอาณาเขตของราชอาณาจักรปรัสเซีย (สีน้ำเงิน) จักรวรรดิออสเตรีย (สีเหลือง) และบรรดารัฐเยอรมันอิสระ (สีเทา) โดยเส้นสีแดงคือเส้นเขตแดนของสมาพันธรัฐเยอรมัน; ทั้งปรัสเซียและออสเตรียปกครองดินแดนที่อยู่นอกสหพันธรัฐ

แนวทางแก้ไขดังกล่าวยังถูกอ้างถึงในชื่อรัฐที่แนวทางนั้นเสนอให้ตั้งขึ้นคือ เยอรมนีใหญ่ หรือ กรอสส์ดอยท์ชลันด์ (Großdeutschland) และ เยอรมนีน้อย หรือ ไคลน์ดอยท์ชลันด์ (Kleindeutschland) ซึ่งทั้งสองแนวทางคือส่วนหนึ่งของกระแสชาตินิยมเยอรมันที่กำลังเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมเอาขบวนการเคลื่อนไหวร่วมสมัยในลักษณะเดียวกันเข้ามาด้วย เช่น การรวมชาติอิตาลีโดยราชวงศ์ซาวอย และการปฏิวัติเซอร์เบียเพื่อเอกราช ที่ต้องการจะก่อตั้งรัฐชาติซึ่งรวบรวมผู้คนที่มีเชื้อชาติและภาษาร่วมกันเข้าไว้ด้วยกัน

พื้นเพ แก้

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่มีประเทศเยอรมนีที่จะกล่าวถึงได้อย่างเหมาะสมและชัดเจน ด้วยเหตุที่ชาวเยอรมันตั้งรกรากอยู่ในราชอาณาจักร แกรนด์ดัชชี ดัชชี และราชรัฐจำนวนมากมาย ซึ่งแต่ละแห่งก็มีอำนาจอธิปไตยและกลไกการปกครองของรัฐที่แยกเป็นอิสระจากกัน ดังนั้นจึงมีกระแสความรู้สึกของความเป็นชาติเปรียบเสมือนกับคลื่นใต้น้ำที่ต้องการจะรวมชาวเยอรมันทั้งมวลไว้ภายใต้รัฐอันหนึ่งเดียวและปกครองโดยประมุขของชาติเพียงองค์เดียว

— นิวยอร์กไทมส์ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2409[2]

ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2349 จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งฮับส์บูร์ก สละราชสมบัติและยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จากความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่งในสงครามนโปเลียน จึงเท่ากับเป็นการสิ้นสุดลงของจักรวรรดิแบบหลวม ๆ ซึ่งรวมดินแดนเยอรมนีให้เป็นปึกแผ่นมาหลายร้อยปี จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมีสถานะเป็นรัฐชาติโดยแท้จริง แม้ว่าชื่อที่่ใช้เรียกขานในภายหลังจะเพิ่มคำว่า แห่งชาติเยอรมัน เข้าไปด้วยก็ตาม ทั้งนี้ผู้ปกครองของจักรวรรดิต้องเผชิญกับปัญหาการสูญเสียพระราชอำนาจการปกครองให้แก่รัฐของจักรวรรดิตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ผลของสงครามสามสิบปียังส่งผลต่อพระราชอำนาจของจักรพรรดิอย่างร้ายแรง ทั้งยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างรัฐทรงอำนาจในยุโรปสองรัฐคือ ราชอาณาจักรฮับส์บูร์ก (ในฐานะรัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดในจักรวรรดิ) และบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย ซึ่งขยายอาณาเขตของตนเกิดกว่าอาณาเขตของจักรวรรดิ ในขณะเดียวกันนั้นเองนครรัฐขนาดเล็กจำนวนมากภายในจักรวรรดิก็กระจัดกระจายกันออกไป จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงมีนครรัฐขนาดเล็กมากกว่า 1,800 แห่ง และแต่ละแห่งปกครองแยกจากกันอย่างอิสระ

ปรากฏการณ์ซึ่งแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็นสองส่วนนี้ถึงจุดสูงสุดครั้งแรกเมื่อสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรียปะทุขึ้น และดำเนินเรื่อยมายาวนานกว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสและการรุกรานยุโรปของนโปเลียน โดยหลังจากที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายลง ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจึงได้สถาปนาจักรวรรดิออสเตรียขึ้นบนดินแดนของราชอาณาจักรฮับส์บูร์เดิมและยังคงสถานะจักรวรรดิเอาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2358 พฤติการณ์สุดท้าย (the Final Act) ของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้สถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมันขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐชาติ แต่เป็นสมาคมของรัฐอธิปไตยในดินแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เดิม

ในการถกเถียงถึงปัญหานี้ มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความเห็นชอบของแต่ละแนวทาง แต่ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดก็คือศาสนา ทั้งนี้ด้วยเหตุที่แนวทางมหาประเทศเยอรมันจะเสริมสร้างสถานะอันโดดเด่นและสำคัญแก่ออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศคาทอลิกและเป็นรัฐเยอรมันที่ทรงอำนาจมากที่สุดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ชาวคริสต์ฝ่ายโรมันคาทอลิกและรัฐซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับออสเตรียมักจะสนับสนุนแนวทางนี้ ในขณะที่การรวมเยอรมนีให้เป็นปึกแผ่นโดยปรัสเซียภายใต้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น เป็นตัวเลือกที่รัฐเยอรมันทางตอนเหนือซึ่งเป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์พึงพอใจกว่า นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความซับซ้อนก็คือการที่จักรวรรดิออสเตรียรวมเอาชนชาติอื่น (ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูด) ไว้ภายใต้การปกครองของตนจำนวนมาก เช่น ชาวฮังการี ชาวโรมาเนีย ชาวโครแอต และชาวเช็ก ส่งผลให้ออสเตรียไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมเป็นประเทศเยอรมนีอันหนึ่งอันเดียว หากตนต้องสละดินแดนที่ไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดเหล่านี้ไป

การปฏิวัติเดือนมีนาคม แก้

 
การประชุมสมัชชาแห่งชาติเยอรมันสมัยแรก ณ โบสถ์เซ็นต์พอล แฟรงเฟิร์ต พ.ศ. 2391 - 2392

ในปี พ.ศ. 2381 นักเสรีนิยมและนักชาตินิยมชาวเยอรมันรวมตัวกันในการปฏิวัติและได้สถาปนารัฐสภาแฟรงเฟิร์ตขึ้น ซึ่งภายในสมัชชาดังกล่าวมีแนวร่วมเคลื่อนไหวที่สนับสนุนแนวทางมหาประเทศเยอรมัน เรียกร้องให้รวมดินแดนที่ชาวเยอรมันอาศัยอยู่ก่อตั้งเป็นรัฐชาติอันหนึ่งอันเดียวขึ้น โดยทั่วไปแล้วฝ่ายซ้ายในสมัชชาสนับสนุนแนวทางมหาประเทศซึ่งปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมกลางสนับสนุนแนวทางอนุประเทศ ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ฝ่ายมหาประเทศให้เหตุผลว่าออสเตรียเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นประเทศผู้นำในการรวมชาติเนื่องจากราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (ออสเตรีย) ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาเป็นระยะเวลากว่า 400 ปี อย่างไรก็ตามอาจมีประเด็นปัญหาที่ตามมากับข้อเสนอนี้ เนื่องจากดินแดนที่ออสเตรียปกครองอยู่นั้นส่วนมากเป็นดินแดนของชนชาติซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาหลัก เช่น ราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งมีอาณาเขตใหญ่ที่สุดและมีประชากรชาวสโลวัก ชาวโรมาเนีย และชาวโครแอตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีดินแดนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ราชอาณาจักรโบฮีเมียของชาวเช็ก จังหวัดกาลิเซียนของชาวโปแลนด์ ชาวรูซินซ์ และชาวยูเครน ดัชชีคาร์นิโอลาของชาวสโลวีน เช่นเดียวกับราชอาณาจักรลอมบาร์ดี-เวนีเชียและเตรนโตของชาวอิตาลี ที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองในพระมหากษัตริย์ทีโรลีน (เคาน์ตีทีโรล) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้รวมกันเป็นดินแดนส่วนมากของจักรวรรดิออสเตรีย ทั้งนี้ดินแดนดังกล่าว (ยกเว้นโบฮีเมีย คาร์นิโอลา และเตรนโต) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมัน เนื่องจากไม่เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศิกดิ์สิทธิ์มาก่อน อีกทั้งยังไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติเยอรมันอีกด้วย เห็นได้จากการที่นักการเมืองชาวเช็ก ฟรันจีเช็ก ปารักสกี ปฏิเสธขอเสนอการอยู่ใต้อาณัติของรัฐสภาแฟรงเฟิร์ตอย่างโจ่งแจ้ง โดยกล่าวว่าดินแดนของชาวสลาฟภายใต้จักรวรรดิฮับส์บูร์กนั้นไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการอภิปรายของปัญหาเยอรมัน ในทางกลับกันนายกรัฐมนตรีออสเตรีย เจ้าชายเฟลิกซ์แห่งชวาร์เซินแบร์ก ตรัสว่าการรวมชาติในฐานะจักรวรรดิฮับส์บูร์กอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้นคือแนวทางที่ยอมรับได้ เนื่องจากออสเตรียไม่ประสงค์ที่จะสละดินแดน (ที่ประชากรไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมัน) ในครอบครองของตน หรือแบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่เดิมเพื่อไปรวมกับจักรวรรดิทีมีแต่ชาวเยอรมันเท่านั้น

 
การขยายตัวของปรัสเซียภายในจักรวรรดิเยอรมันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2350 (สีน้ำเงิน): ดินแดนที่ได้รับเพิ่มเติมจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา พ.ศ. 2358 (สีเขียว), ดินแดนที่ได้รับเพิ่มเติมจากสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย พ.ศ. 2409 (สีฟ้าอ่อน) และดินแดนที่มาเข้าร่วมจักรรวรรดิเยอรมันในปี พ.ศ. 2414 หลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (สีเหลือง)

ดังนั้นสมาชิกส่วนหนึ่งของสมัชชา เช่น ปรัสเซียจึงสนับสนุนแนวทางอนุประเทศ ซึ่งไม่ได้รวมเอาจักรวรรดิออสเตรียและดินแดนใต้ปกครองอื่นเข้ามา โดยให้เหตุผลว่าปรัสเซียควรเป็นประเทศผู้นำในการรวมชาติเนื่องจากเป็นมหาอำนาจเดียวที่มีประชากรหลักในประเทศเป็นชาวเยอรมัน อย่างไรก็ดีร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใหม่ยังคงเปิดทางให้ออสเตรียสามารถเข้ามาร่วมได้ในภายหลัง โดยที่ไม่สามารถนำเอาดินแดนของชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ของชาวเยอรมันภายใต้การปกครองของตนมาร่วมด้วยได้ ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2392 รัฐสภาแฟรงเฟิร์ตจึงได้ทูลเชิญพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเยอรมัน แต่ทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ส่งผลให้การปฏิวัติประสบความล้มเหลว ในขณะที่ความพยายามหลายครั้งโดยเจ้าชายแห่งชวาร์เซินแบร์กในภายหลังก็ไม่สัมฤทธิ์ผลแต่ประการใด

สงครามกับออสเตรียและฝรั่งเศส แก้

ความพยายามทั้งหมดนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายของออสเตรียในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย พ.ศ. 2409 และหลังจากลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพปราก นายกรัฐมนตรีปรัสเซีย ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (ในขณะนั้นเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญในแวดวงการเมืองเยอรมัน) ได้ดำเนินการขับไล่ออสเตรียและรวบรวมบรรดารัฐเยอรมันต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้การนำของปรัสเซีย ในขณะที่อาณาเขตของราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็เริ่มสั่นคลอนเนื่องจากเกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติจากกลุ่มนักชาตินิยม ซึ่งออสเตรียแก้ไขปัญหานี้แบบผิวเผินด้วยข้อตกลงการประนีประนอมระหว่างออสเตรีย-ฮังการี พ.ศ. 2410

ในช่วงเดียวกัน บิสมาร์คได้จัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือขึ้นมากีดกันออสเตรียและราชอาณาจักรบาวาเรียทางใต้ที่เป็นพวกโรมันคาทอลิกไม่ให้มีบทบาทโดดเด่นในเยอรมนีที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์และมีเชื้อสายปรัสเซีย นอกจากนี้บิสมาร์คยังประสบความสำเร็จในการใช้สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียโน้มน้าวบรรดารัฐเยอรมันต่าง ๆ รวมถึงราชอาณาจักรบาวาเรียให้มาเข้าร่วมกับปรัสเซียในการต่อต้านจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง อย่างไรก็ตามออสเตรีย-ฮังการีไม่ได้เข้าร่วมสงครามครั้งนี้แต่อย่างใด หลังจากนั้นปรัสเซียได้รับชัยชนะภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนในที่สุดข้อถกเถียงถึงคำถามเยอรมันนี้ก็ได้ข้อยุติว่าแนวทาง อนุประเทศเยอรมัน ผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายในปี พ.ศ. 2414 บิสมาร์คยังได้ใช้อภิสิทธิ์ที่ปรัสเซียรบชนะในสงครามเป็นตัวช่วยให้คงความเป็นพันธมิตรกับบาวาเรียต่อไป และได้ประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นในที่สุด ซึ่งในรัฐใหม่นี้ปรัสเซียที่เป็นโปรเตสแตนท์ถือว่ามีอิทธิพลและบทบาทมากที่สุด ส่วนออสเตรีย-ฮังการีถูกกันออกไปแยกเป็นรัฐของตัวเองต่างหากจากจักรวรรดิเยอรมัน จึงสรุปได้ว่าประเทศเยอรมนีน้อยเป็นแนวทางที่ได้รับชัยชนะในข้อถกเถียงครั้งนี้

อิทธิพลในภายหลัง แก้

 
นายกรัฐมนตรีออสเตรียช่วง พ.ศ. 2477 - 2481 คูร์ท ชุชนิจก์ คัดค้านการบุกครองออสเตรียและผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิไรช์ที่สามของฮิตเลอร์อย่างมาก

แนวคิดที่ต้องการรวมเอาดินแดนของออสเตรีย (เฉพาะส่วนที่มีประชากรผู้พูดภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่) เข้ากับเยอรมนีเป็น เยอรมนีใหญ่ ยังคงปรากฎอยู่ในหมู่ประชาชนบางกลุ่มของทั้งสองประเทศ และได้รับการสนับสนุนขึ้นมาอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง และจากการล่มสลายของระบอบราชาธิปไตยในออสเตรีย-ฮังการีในปี พ.ศ. 2461 ที่ได้สถาปนารัฐหลงเหลือ (rump state) นามว่าสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรียขึ้นมา ผู้สนับสนุนพยายามผลักดันเยอรมันออสเตรียให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไวมาร์ อย่างไรก็ตามความพยายามนี้ถูกยับยั้งไว้ด้วยเงื่อนไขทั้งในสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล และสนธิสัญญาแวร์ซาย แม้พรรคการเมืองหลักของออสเตรียอย่างพรรคมหาประชาชนเยอรมัน (Greater German People's Party) และพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrats Party) จะสนับสนุนแนวคิดนี้ก็ตาม

ต่อมาระบอบ เอาสโทรฟาสชิสมุส (Austrofaschismus; ฟาสซิสต์ออสเตรีย) ของออสเตรียระหว่างปี พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2481 ได้มุ่งเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ของออสเตรียและต่อต้านการรวมออสเตรียเข้ากับจักรวรรดิไรช์ที่สาม เนื่องจากความเชื่อที่ว่าชาวออสเตรียคือ "ชาวเยอรมันผู้ดีกว่า"[3] นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีออสเตรีย คูร์ท ชุชนิจก์ ยังเรียกออสเตรียว่าเป็น "รัฐเยอรมันที่ดีกว่า" อีกด้วย แต่ชุชนิจก์กลับต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ออสเตรียสามารถดำรงเอกราชของตนไว้ได้ อย่างไรก็ตามนักชาตินิยมเยอรมันยังคงปรารถนาที่จะรวมชาวเยอรมันทั้งหมดไว้ภายใต้รัฐหนึ่งเดียวตามแนวทางมหาประเทศ

 
แนวเขตยึดครองในเยอรมนี พ.ศ. 2490 ส่วนดินแดนนอกแนวโอเดอร์-ไนเซอตกเป็นของโปแลนด์และเป็นเขตการควบคุมของโซเวียต รวมไปถึงรัฐใต้อารักขาซาร์ซึ่งแสดงด้วยพื้นที่สีขาว
 
บัตรลงคะแนนเสียง วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2481 โดยข้อความในบัตรมีความว่า "ท่านเห็นด้วยกับการรวมออสเตรียเข้ากับ จักรวรรดิไรซ์ เยอรมันเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2481 หรือไม่ และท่านลงคะแนนเสียงให้กับพรรคของผู้นำของเรา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือไม่" ซึ่งวงกลมวงใหญ่แสดงข้อความว่า "ใช่" ส่วนวงเล็กกว่าคือ "ไม่"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นชาวเยอรมันเชื้อสายออสเตรียแต่กำเนิด ประสบความสำเร็จในการรวมออสเตรียอันเป็นแผ่นดินเกิดเข้ากับเยอรมนีได้สำเร็จใน อันชลุสส์ ซึ่งเป็นความปรารถนาส่วนตัวของเขามาอย่างยาวนาน แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย แม้ว่าชาวเยอรมันและชาวออสเตรียต่างพากันสนับสนุนอย่างล้นหลามก็ตาม ทั้งนี้สถานการณ์ทางการเมืองในออสเตรียแตกต่างจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ค่อนข้างมาก โดยในช่วงปี พ.ศ. 2481 ออสเตรียตกอยู่ในเงามืดของความเป็นชาติมหาอำนาจในอดีตและมีสถานะด้อยกว่าเยอรมนีอย่างมาก ทั้งนี้หากกล่าวถึงแนวทางมหาประเทศเยอรมันในบริบทช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะเรียกรัฐที่รวมกันใหม่นี้ว่า กรอสส์ดอยท์เชสไรซ์ (Großdeutsches Reich; มหาจักรวรรดิไรซ์เยอรมัน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กรอสส์ดอยท์ชลันด์ (Großdeutschland; เยอรมนีใหญ่) ซึ่งในครั้งแรกเป็นชื่อที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการ แต่ต่อมาถูกใช้เป็นชื่อทางการในปี พ.ศ. 2486 และเช่นเดียวกับเยอรมนี (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ออสเตรีย และอาลซัส-ลอแรน มหาจักรวรรดิไรซ์ได้ผนวกรวมแกรนดัชชีลักเซมเบิร์ก ซูเดเทินลันด์ โบฮีเมียและโมราเวีย ดินแดนมีเมิล ดินแดนโปแลนด์ที่ถูกผนวกรวมเข้ากับนาซีเยอรมนี เสรีรัฐดันซิก และดินแดนของ "รัฐบาลทั่วไป" (ดินแดนโปแลนด์ที่ถูกกองทัพเยอรมันยึดครอง) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ

 
มหาจักรวรรดิไรซ์เยอรมัน พ.ศ. 2486

หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการรวมประเทศ แก้

การรวมประเทศกันระหว่างออสเตรียและเยอรมนีสิ้นสุดลงพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่สองและความพ่ายแพ้ของฝ่ายนาซีเยอรมนีในปี พ.ศ. 2488 ส่งผลให้ เยอรมนีใหญ่ ถูกแยกออกเป็นสามประเทศคือ เยอรมนีตะวันตก เยอรมนีตะวันออก และออสเตรีย โดยฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนี้เยอรมนียังสูญเสียอาณาเขตจำนวนมากหลังสงครามสิ้นสุดลง เช่น อาณาเขตส่วนมากของปรัสเซียในอดีต ซึ่งถูกผนวกคืนแก่โปแลนด์และบางส่วนถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในขณะที่ลักเซมเบิร์ก ดินแดนของชาวเช็ก (เช็กโกสโลวาเกีย) และดินแดนของชาวสโลวีเนีย (ยูโกสลาเวีย) ได้รับเอกราชคืนจากเยอรมนีในท้ายที่สุด[4]

ในช่วงแรกฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็นเขตยึดครองสี่ส่วน ตามมาด้วยการสถาปนารัฐชาติเยอรมันขึ้นมาสองรัฐ (เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก) ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็นที่มีการสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นมาในปี พ.ศ. 2504 ก่อนที่ท้ายที่สุดจะถูกทำลายลงในช่วงปี พ.ศ. 2532/2533 โดยหลังจากการก่อการกำเริบในเยอรมนีตะวันออก ค.ศ. 1953 วันหยุดราชการในสหพันธรัฐเยอรมนีถูกกำหนดไว้วันที่ 17 มิถุนายน และถูกตั้งชื่อว่า วันเอกภาพเยอรมัน (Day of German Unity) เพื่อย้ำเตือนชาวเยอรมันทุกคนว่า คำถามเยอรมันยังไม่ถูกตอบ (die offene Deutsche Frage) และเพื่อเรียกร้องให้มีการรวมประเทศขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

อาณาเขตในปัจจุบันของประเทศเยอรมนีหลังการรวมประเทศระหว่างเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกในปี พ.ศ. 2533 คือบทสรุปที่เทียบเคียงได้กับ แนวทางอนุประเทศ มากกว่า แนวทางมหาประเทศ โดยที่ออสเตรียมีสถานะเป็นรัฐเอกราชแยกจากกันต่างหาก ทั้งนี้ในปัจจุบันไม่ปรากฎแนวคิดที่ต้องการรวมประเทศเป็น เยอรมนีใหญ่ ขึ้นมาอีกครั้งในกลุ่มการเมืองกระแสหลักของทั้งในออสเตรียและเยอรมนี เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเชื่อมโยงอย่างมากกับจักรวรรดิไรซ์ที่สาม ซึ่งกลุ่มที่ยังคงมีแนวคิดเช่นนี้มักจะถูกเรียกว่าเป็นพวกนิยมฟาสซิสต์หรือพวกนีโอนาซี

อ้างอิง แก้

  1. Metternich and the German Question: States' Rights and Federal Duties, 1820-1834
  2. The Situation of Germany. (PDF) - The New York Times, July 1, 1866
  3. Birgit Ryschka (2008). "Constructing and Deconstructing National Identity: Dramatic Discourse in Tom Murphy's The Patriot Game and Felix Mitterer's In Der Löwengrube". Peter Lang. ISBN 9783631581117. สืบค้นเมื่อ 27 June 2014.
  4. Albert Einstein

แหล่งข้อมูลอื่น แก้