พระเจ้าช้างเผือก (ภาพยนตร์)
พระเจ้าช้างเผือก (อังกฤษ: The King of the White Elephant) เป็นภาพยนตร์ไทยขาวดำ ในระบบ 35 มม.[1] บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ ให้เสียงเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2483 เพื่อส่งไปประกวดรางวัลสันติภาพเพื่อรางวัลโนเบิล (Noble Prize for Peace) ที่สหรัฐอเมริกา ออกฉายเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกันที่ ศาลาเฉลิมกรุง สิงคโปร์ และ นิวยอร์ก อำนวยการสร้างและเขียนบทโดย ปรีดี พนมยงค์ กำกับโดย สันธ์ วสุธาร กำกับภาพโดย ประสาท สุขุม
พระเจ้าช้างเผือก | |
---|---|
โปสเตอร์แบบแรก | |
กำกับ | สันธ์ วสุธาร |
ผู้ช่วยผู้กำกับ | หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ใจ สุวรรณทัต |
เขียนบท | ปรีดี พนมยงค์ |
อำนวยการสร้าง | ปรีดี พนมยงค์ |
นักแสดงนำ | เรณู กฤตยากร สุวัฒน์ นิลเสน หลวงศรีสุรางค์ ไพริน นิลเสน นิตย์ มหากนก ประดับ รบิลวงศ์ ไววิทย์ ว.พิทักษ์ หลวงสมัครนันทพล ประสาน ศิริพิเดช มาลัย รักประจิตต์ |
กำกับภาพ | ประสาท สุขุม |
ตัดต่อ | บำรุง แนวพนิช |
ดนตรีประกอบ | พระเจนดุริยางค์ |
ผู้จัดจำหน่าย | ปรีดี โปรดักชั่น |
วันฉาย | 4 เมษายน พ.ศ. 2484 |
ความยาว | 100 นาที 53 นาที (ตัดต่อเมื่อ พ.ศ. 2512) |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | อังกฤษ |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
เรื่องของสงครามระหว่างเจ้ากรุงอโยธยา กับ เจ้ากรุงหงสาวดี ที่เกิดขึ้นจากความโลภของกษัตริย์เพียงองค์เดียวทำให้เดือดร้อนไพร่ฟ้าทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงเรื่องเดียวที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ถือได้ว่าเป็นช้างเผือกด้วยความที่หามาได้ยากเย็นแสนเข็ญ และคุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง สร้างสรรค์โดยบุคคลสำคัญระดับผู้นำของชาติ[2]คือ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม ร่วมด้วยบุคลากรชั้นยอดของวงการภาพยนตร์ไทย
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นโดยบุคคลสำคัญของบ้านเมือง คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม คุณค่าในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้มีมากมาย นอกจากจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของไทย ในวงวรรณกรรม และภาพยนตร์ที่ชูประเด็นสันติภาพ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของมนุษยชาติแล้ว ในแง่ความเป็นศิลปะภาพยนตร์ ได้ก้าวข้ามพรมแดนแห่งความสมจริงไปสู่แก่นแกนความคิด ผสานจินตนการของผู้ประพันธ์ และอำนวยการสร้าง กล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นสำคัญที่ชูหลักสันติธรรมให้สูง ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์[3][4]
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้นำกลับมาฉายใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2496 และนำมาจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เมื่อปี พ.ศ. 2548
เนื้อเรื่องย่อ
แก้เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง
ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์
พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน
ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน
พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร
การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม
กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้
เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย
กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"
ตัวละคร
แก้- พระเจ้าจักรา กษัตริย์อโยธยา แสดงโดย เรณู กฤตยากร
- พระเจ้าหงสา แสดงโดย ประดับ รบิลวงศ์
- สมุทราชมณเฑียรแห่งอโยธยา แสดงโดย สุวัฒน์ นิลเสน
- สมุหกลาโหมแห่งอโยธยา แสดงโดย หลวงศรีสุรางค์
- เรณู (ธิดาสมุหราชมณเฑียร) แสดงโดย ไพริน นิลเสน
- เจ้าเมืองกาญจนบุรี แสดงโดย นิตย์ มหากนก
- พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดี แสดงโดย ไววิทย์ ว.พิทักษ์
- อัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี แสดงโดย หลวงสมัครนันทพล
- สมุหราชมณเฑียรหงสา แสดงโดย ประสาน ศิริพิเดช
- องครักษ์ของอัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี แสดงโดย มาลัย รักประจิตต์
ทีมงานสร้าง
แก้- อำนวยการสร้าง - ปรีดี พนมยงค์
- บทภาพยนตร์ - ปรีดี พนมยงค์
- ถ่ายภาพ - ประสาท สุขุม A.S.C.
- บันทึกเสียง - ชาญ บุนนาค
- ตัดต่อ - บำรุง แนวพนิช
- กำกับดนตรี - พระเจนดุริยางค์
- กำกับศิลป์ - หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์
- บทเจรจา - แดง คุณะดิลก
- กำกับโขลงช้าง - เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์
- ที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีและเครื่องแต่งกาย - พระยาเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล)
- ผู้กำกับการแสดง - สันห์ วสุธาร
- ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง - หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, ใจ สุวรรณทัต
ประวัติการสร้างและการจัดฉาย
แก้พระเจ้าช้างเผือกเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทางนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ประสงค์ให้เป็นภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ความเป็นชาติรัฐของไทยในช่วงเวลานั้น เพื่อปลุกใจให้คนไทยรักชาติ เนื่องจากภาวะของประเทศที่ใกล้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับบุญบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ไทย พระเจ้าช้างเผือก หรือ พระเจ้าจักรา กษัตริย์ไทย กระทำยุทธหัตถีชนะพระเจ้าหงสา ฯ กษัตริย์พม่า ซึ่งเป็นเรื่องราวที่คาบเกี่ยวในประวัติศาสตร์ไทยถึง 2 รัชกาล คือ รัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถ่ายทำที่โรงถ่ายไทยฟิล์ม, ทุ่งมหาเมฆ และจังหวัดแพร่ ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจำนวนมากซึ่งสละเวลาช่วยท่านผู้ประศาสน์การโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
การถ่ายภาพขาว-ดำ ได้อย่างยอดเยี่ยมของ ประสาท สุขุม A.S.C. โดยเฉพาะการถ่ายภาพช้างจากเบื้องล่างเพื่อให้ได้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นเทคนิคที่กำลังนิยมใช้ในหนังทุนสูงของฮอลลีวูด โดยทีมงานขุดหลุมให้ช่างภาพลงไปตั้งกล้องมุมเงย ถ่ายภาพช้างเดินข้ามผ่านหลุมไป เป็นต้น
การสร้างดนตรีเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดอีกอย่างหนึ่งได้แก่ เพลง ศรีอยุธยา ซึ่งกระหึ่มด้วยวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากร โดย ศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานและควบคุมวง มี 3 ส่วน ได้แก่
- ส่วนที่หนึ่ง เพลงเอกและไตเติ้ลประจำเรื่อง คือ ศรีอยุธยา (ทำนองเก่า "สายสมร" สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งลาลูแบร์บันทึกไว้เป็นโน้ตดนตรี)[5]
- ส่วนที่สอง เพลงที่ใช้บรรเลงระหว่างฉากใช้เพลงคลาสสิกเป็นท่อนๆ หลายบทเพลงด้วยกัน เพลงประกอบเสียง ใช้เครื่องดนตรีบางชิ้น เช่น เปิงมางคอก มโหรทึก ปี่กลอง
- ส่วนที่สาม เพลงที่ใช้อารมณ์ในแต่ละฉากเป็นสำคัญเช่นเดียวกับหนังฮอลลีวูดยุคนั้น ไม่ใช่เพลงประกอบภาพเสียทีเดียว แต่เป็นภาพประกอบเพลง[6]
นอกจากนี้ งานดุริยางค์สากล กรมศิลปากรได้นำเพลงศรีอยุธยาและเพลงไทยในภาพยนตร์มาเรียบเรียงเป็นเพลงเรื่อง ประกอบด้วยสายสมร, ขับไม้บัณเฑาวะว์, อโยธยาคู่ฟ้า ใช้บรรเลงในการแสดงคอนเสิร์ตและรายการโทรทัศน์ [7] [8]
ต้นฉบับเดิมที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกันที่ ศาลาเฉลิมกรุง สิงคโปร์ และ นิวยอร์ก เป็นภาพยนตร์ไทยพูดด้วยภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ต่างชาติได้รู้จัก ใช้ทุนสร้างสูง มีฉากที่ยิ่งใหญ่ เช่น การนำช้างกว่า 150 เชือกเข้าสู่ฉากคล้องช้าง และฉากยุทธหัตถี โดยได้รักความร่วมมือเอื้อเฟื้อจัดหาช้างโดยไม่คิดมูลค่าจากเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เป็นต้น แต่การฉายที่สหรัฐอเมริกากลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ฉายได้เพียง 7 วันเท่านั้นก็ยกเลิก เนื่องจากไม่มีคนดู
ฟิล์มต้นฉบับเรื่องนี้สูญหายไปจากประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากอาคารเก็บฟิล์มของโรงถ่ายภาพยนตร์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ ถูกระเบิดไฟไหม้ทั้งหมด แต่ยังคงมีสำเนาต้นฉบับหลงเหลืออยู่ที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน กรุงวอชิงตัน และที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ในประเทศสวีเดน[9]
27 ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2523 มีการจัดฉายพิเศษซึ่งเป็นการกลับมาของภาพยนตร์อีกครั้งที่ สยามสมาคม (ติดกับโรงภาพยนตร์ที่เคยเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ต้นถนนอโศก แยกจากถนนสุขุมวิท) แต่คาดว่าเป็นสำเนา 16 มม.คนละฉบับกับที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน เพราะไตเติ้ลคนละแบบและความยาวที่แตกต่างกันมากเกือบครึ่งหนึ่งของต้นฉบับเดิม[10]
ปัจจุบัน ฟิล์มภาพยนตร์ ยังเก็บและรักษาไว้อยู่ที่ หอภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ และนำออกฉายบ่อยครั้งทั้งในประเทศและส่งออกไปฉายที่ต่างประเทศ[11]
ต้นปี พ.ศ. 2544 ได้กลับมาฉายอีกครั้งและมีการผลิตวีซีดีออกจำหน่ายในโครงการ "หนังไทยรักชาติ" ของบริษัท สหมงคลฟิล์ม จำกัด พร้อมกับเรื่องอื่นในแนวเดียวกัน เช่น มหาราชดำ (พ.ศ. 2522), ขุนศึก (พ.ศ. 2495), พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ (พ.ศ. 2518), ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ (พ.ศ. 2543) เป็นต้น
หอภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมกับบริษัท เทคนิคัลเลอร์ [12] ได้บูรณะฟิล์มภาพยนตร์ และจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เมื่อ พ.ศ. 2548 [13][14]
พระเจ้าช้างเผือกได้ถูกฉายทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ในรายการแกะกล่องหนังไทย ทางทีวีไทย[15]
ปี พ.ศ. 2554 หอภาพยนตร์ฉลองครบรอบ 70 ปี พระเจ้าช้างเผือก การออกฉายภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก หอภาพยนตร์ฯ จึงเลือกวันสวนสนามเสรีไทย ในการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่และความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมทั้งเปิดฉายภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกเวอร์ชันพากย์ไทยเป็นครั้งแรก วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์[16][17]
หนังสือ
แก้บทภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกถูกจัดพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม ใช้ชื่อหนังสือว่า "The King of The White Elephant by Pridi Banomyong" พิมพ์ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดย Prasit Lulitananda เป็นผู้พิมพ์โฆษณา[18]ต่อมาจึงได้มีการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2533 และจัดพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2542 [19]
พระเจ้าช้างเผือก เป็นงานเขียนเชิงนวนิยายเล่มแรกและเล่มเดียวของนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นนวนิยายไทยเล่มแรกที่เขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ[19]
การตอบรับจากสังคม
แก้ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกหลังจากการออกฉายในครั้งแรก ถูกวิจารณ์อย่างแรงจากผู้ชมบางส่วน รวมถึงนักวิจารณ์ชาวตะวันตกว่า "เป็นผลงานของนักทำหนังสมัครเล่นที่พยายามจะพูดถึงเรื่องราวระดับมนุษยชาติ การถ่ายทำก็เลียนแบบหนังมหากาพย์ของอเมริกัน" แต่ต่อมาหลังการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า เปี่ยมไปด้วยคุณค่าอย่างหลากหลายทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมและคุณธรรม และต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติมอบรางวัลเฟลลินี (The Fellini Silver Medal Award) เหรียญเงินเพื่อเชิดชูเกียรติผู้กำกับและองค์กรสร้างสรรค์ผลงานอนุรักษ์ศิลปะภาพยนตร์ให้แก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร[20]
ในเนื้อเรื่องมีคำพูด การแสดงออก และการกระทำของตัวละครที่อาจไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนไทยหรือไม่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์หลายประการ เช่น การยึดถือปฏิทินสุริยคติให้ปีหนึ่งมี 365 วัน สนธิสัญญาและพิธีการทูตระหว่างประเทศเกี่ยวกับสงคราม การกล่าวถึงเส้นเขตแดนที่แน่นอนระหว่างอยุธยาและหงสา การดำเนินเรื่องโดยสมุหราชมณเฑียรเป็นตัวละครสำคัญ การยืนเข้าเฝ้า การประท้วง (หรือ strike ตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ) รวมถึงทฤษฎีที่ว่าคนไทยมาจากเทือกเขายูนนาน ฯลฯ ด้วยเหตุที่ว่าต้นฉบับเรื่องนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารแก่ชาวต่างชาติเป็นสำคัญ โดยมีผู้เขียนประพันธ์เรื่องนี้ขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[19]
การบูรณะฟิล์มภาพยนตร์
แก้ในปี พ.ศ. 2550 มูลนิธิหนังไทย ร่วมกับ เทคนิคคัลเลอร์ (ประเทศไทย) และหอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้บูรณะฟิล์มภาพยนตร์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัล พร้อมกับภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัล พร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง เรือนแพ ปี พ.ศ. 2504 ด้วยการสนับสนุนของ บริษัท เทคนิคคัลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ได้เลือกให้บูรณะฟิล์มใหม่อีกครั้ง เมื่อบูรณะฟิล์มภาพยนตร์สำเร็จ พร้อมที่จะส่งมอบคืนแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติแล้วทำพิธีส่งมอบฟิล์มคืนแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่จังหวัดภูเก็ต แล้วนำมาผลิตเป็นวีซีดีและดีวีดี ในปัจจุบัน
ดีวีดี
แก้หอภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมกับบริษัท เทคนิคัลเลอร์ ได้บูรณะฟิล์มภาพยนตร์ และจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เมื่อ พ.ศ. 2548 ระบบเสียงภาษาอังกฤษและบรรยายภาษาไทย แปลบทบรรยายไทยโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา
ดีวีดีภาพยนตร์ มีสองแผ่น สองรูปแบบ แผ่นแรกเป็นฉบับเต็มที่ฉายทั่วไป ความยาว 100 นาที พร้อมเมนูเฉพาะดูหนัง,บรรยายภาษาไทย และ เลือกฉาก เท่านั้น ส่วนแผ่นที่สองเป็นฉบับตัดต่อที่ฉายในอเมริกาและต่างประเทศ ความยาว 52 นาที พร้อมเมนู ดูหนัง, บรรยายภาษาไทย, เลือกฉาก และของเสริม ได้แก่ ภาพหลักฉากการถ่ายทำ, ภาพนิ่งจากภาพยนตร์, โปสการ์ด โปสเตอร์ และงานออกแบบ, แนะนำภาพยนตร์โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ บางคำจาก ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์
ดีวีดีภาพยนตร์เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2548[21]
ในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีแบบแผ่นเดียวในฉบับ 70 ปีพระเจ้าช้างเผือก มีความยาว 95 นาที มีเมนูเพิ่มใหม่ให้เลือกฟังเวอร์ชันพากย์ไทยได้
อ้างอิง
แก้- ↑ พระเจ้าช้างเผือก (The King of the White)
- ↑ "พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2007-06-22.
- ↑ จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับที่ 5. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิลพ์ (๑๙๗๗), 2554. 32 หน้า. หน้า 15. ISBN 2228-9402 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: length
- ↑ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นสำคัญที่ชูหลักสันติธรรม[ลิงก์เสีย]
- ↑ หนังสือประกอบวีดิทัศน์ พระเจ้าช้างเผือก หอภาพยนตร์ชาติ (องค์การมหาชน),2554 หน้า 26
- ↑ พระเจ้าช้างเผือก THE KING OF THE WHITE ELEPHANT อมตะศิลป์สันติภาพ[ลิงก์เสีย]
- ↑ สูจิบัตรการบรรเลงดนตรีของวงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร ณ สังคีตศาลา ภายในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
- ↑ รายการเพลงของกรมศิลปากร ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม และ บทรายการเพลงสุขใจ ไทยทีวีสีช่อง 3
- ↑ สงครามโลก ฟิล์มต้นฉบับเรื่องนี้สูญหายไปจากประเทศไทย
- ↑ หนังสือประกอบวีดิทัศน์พระเจ้าช้างเผือก หน้า 35 ,41
- ↑ โครงการจัดงานฉลอง 60 ปี ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ, ๒๕๔๔.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
- ↑ First two films chosen for restoration - Bangkok Post, June 23, 2005[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-01.
- ↑ แกะกล่องหนังไทย : พระเจ้าช้างเผือก (28 ส.ค. 53)[ลิงก์เสีย]
- ↑ ๗๐ ปี พระเจ้าช้างเผือก ภาพยนตร์แห่งสันติภาพเหนือกาลเวลา[ลิงก์เสีย]
- ↑ งานฉลองครบรอบ ๗๐ ปี พระเจ้าช้างเผือก
- ↑ Pridi Banomyong. The King of the White Elephant. Pra Chan Road, Thailand : The University of Moral & Political Sciences Printing Press, 10-4-2484. 154 หน้า.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 ปรีดี พนมยงค์. พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธนธัช, 2542. 114 หน้า. ISBN 974-7833-37-9
- ↑ วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์. "วันพระเจ้าช้างเผือก". นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 หน้า 26
- ↑ "เปิดตัว DVD พระเจ้าช้างเผือก ของ ปรีดี พนมยงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-03. สืบค้นเมื่อ 2011-04-30.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พระเจ้าช้างเผือกจากสยามโซน
- พระเจ้าช้างเผือก : ช้างเผือกของหนังไทย
- พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก เก็บถาวร 2010-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The King of the White Elephant ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส