สายสมร
"สายสมร" หรือต่อมาคือ "สรรเสริญพระนารายณ์" เป็นเพลงมโหรีไทยสมัยอาณาจักรอยุธยาที่ปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2234 เป็นบันทึกของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 ในนาม "A Siamies Song" (เพลงสยาม) ถือเป็นโน้ตเพลงที่เก่าแก่อีกเพลงหนึ่งของประเทศไทย[1] นอกจากนี้นีกอลา แฌร์แวซ (Nicolas Gervaise) นักบวชชาวฝรั่งเศส ผู้เคยเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกเพลงไทยเพลงหนึ่งชื่อ "สุดใจ" (Sout-Chai) ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) เมื่อ พ.ศ. 2231[2]
แม้จะได้รับการบันทึกโน้ตอย่างสากล แต่ก็ไม่ปรากฏที่มาหรือชื่อเสียงเรียงนามของเพลงนี้ โดยชื่อ "สายสมร" ก็นำมาจากเนื้อร้องที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "Say Samon..." เป็นภาษาไทยที่ถูกถอดเป็นอักษรโรมัน[1][3][4][5] โดยบันทึกอย่างหยาบเป็นทำนองเดียว ไม่มีเสียงประสาน เข้าใจว่าคงบันทึกจากเสียงร้อง เพราะมีการบันทึกเนื้อเพลงควบคู่ไปตัวโน้ต[1] พบข้อบกพร่องในการบันทึกโน้ต หรือเป็นโน้ตที่วิ่นแหว่ง และมีแนวโน้มว่าคงเป็นบางส่วนของทั้งเพลงเท่านั้น[4] แต่ก็ถือเป็นการบันทึกทำนองที่พิถีพิถันที่จะทำให้เนื้อร้องเข้าทำนองมากกว่าเพลง "สุดใจ"[5] เนื้อเพลงที่ถูกบันทึกเป็นอักษรโรมันนั้นมีการถอดออกมาหลายสำนวน เช่น[2]
สายสมรเอย | ลูกประคำซ้อนเสื้อ |
ขอแนบเนื้อฉะอ้อน | เคียงที่นอนในเอย |
เพลงนี้ก็เจ้าเอยเพลงใด | เพลงระบำหรือเจ้าเอยเจ้าใต้ |
เพลงนี้ก็เท่าเอย | เพลงซอนะเอย พี่เอย |
หวังละจะเชยจะเยื้องก้าวย่าง | นางช่างจะเลี้ยว จะเดินเอย |
เนื้อเพลง "สายสมร" โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงถอดเอาไว้ ความว่า[6]
สาย สมร เอย | เลี้ยว ประคอง สร เสื้อ |
ขอแนบ เนื้อ ฉอ้อน | ข่วน เดี๋ยว เหนื่อย |
เพลง นี้ ขอ เจ้า | เพลง ระบำ หรือ ไฉน เจ้า ไถ่ |
เพลง นี้ ขอ เจ้า | เพลง สาว น้อย |
เผย หวัง แล เชย ข้อง ของ | นาง ช่าง เฉลียว ระ เดิร เอย |
ธีรพงศ์ เรืองขำ สันนิษฐานว่าเพลง "สายสมร" คือเพลงมโหรีบรรเลงขับกล่อมพระมหากษัตริย์ในเขตพระราชฐานชั้นในดังที่ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า "หกทุ่มเบิกเสภาดนตรี" ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้เวลาในการปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยมีพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นชาวตะวันตกเพียงคนเดียวที่ร่วมอยู่ในการนั้น เป็นคนที่ชำนาญการใช้ภาษาต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสติดต่อกับราชทูตฝรั่งเศสได้โดยตรง เขาอาจเป็นผู้ถอดเสียงเพลง "สายสมร" ให้ลา ลูแบร์บันทึก และเข้าใจว่า "สายสมร" ในที่นี้น่าจะหมายถึงพระอัครมเหสีที่สวรรคตไปแล้วของสมเด็จพระนารายณ์[2] ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวินิจฉัยว่าเพลง "สายสมร" หาใช่เพลงสรรเสริญพระบารมี เพราะเนื้อหาบ่งในเชิงสังวาสมากกว่า[7] ขณะที่ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ให้ความเห็นว่า งานเขียนของลา ลูแบร์ อาจเขียนขึ้นจาก "ความแปลกประหลาด" ที่ชาวตะวันตกมองคนนอกยุโรป จึงสร้างเนื้อเพลงมาประกอบเท่านั้น เพลงนี้จึงอาจไม่มีอยู่จริง เพราะ "...โน้ตเพลงสายสมรออกจะเป็นการบันทึกที่เลอะเทอะหาแก่นสารอะไรไม่ได้"[8] สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ที่ให้ข้อมูลว่า "[เพลงสายสมร]...ไม่สะดวกกับการขับร้อง และท่วงทำนองก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นเพลงตะวันออกแต่อย่างใด"[5]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงฟื้นฟูศิลปวิทยาการใน พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา พระองค์โปรดเพลง "สายสมร" และจัดไว้อยู่ในตับเพลงอรชร เพราะมีต้นเค้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่ปรากฏเนื้อหรือทำนองเพลง[2] ในเพลงยาวที่บรรยายบรรยากาศการเล่นเพลงมโหรีที่บ้านของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ระบุว่ามีการเล่นเพลง "สายสมร" ร่วมด้วย[9] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดให้อยู่ในเพลงประเภทมโหรีที่ผิดเพี้ยนไปมาก[2] และเข้าใจว่าเพลง "สายสมร" นี้ น่าจะเป็นเพลงเดียวกันกับเพลงที่ซีมง เดอ ลา ลูแบร์บันทึกไว้[10] ครั้นเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2440 ทรงสนพระทัยเพลง "สายสมร" ที่ถูกบันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์ จึงโปรดเกล้าให้กัปตันไมเคิล ฟุสโก หัวหน้าวงดุริยางค์กองทัพเรือ เรียบเรียงเป็นทำนองเปียโน แล้วพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า "สรรเสริญพระนารายณ์" ใน พ.ศ. 2442[2][3] ต่อมาพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) นำเพลงมาเรียบเรียงใหม่บรรเลงโดยวงออร์เคสตรา เนื้อร้องโดยนาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร (สวาท นิยมธรรม) ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (พ.ศ. 2484) และตั้งชื่อเพลงว่า "ศรีอยุธยา"[3]
ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการบรรเลงเพลง "สรรเสริญพระนารายณ์" โดยวงดุริยางค์ทหารบก พร้อมกับเพลง "สรรเสริญเสือป่า" และ "พญาโศกลอยลม" โดยบรรเลงเมื่อพระบรมโกศได้ประดิษฐานอยู่บนพระมหาพิชัยราชรถ แล้วเคลื่อนริ้วขบวนสู่พระเมรุมาศในท้องสนามหลวง[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 "เปิดโน้ตเพลง 'สายสมร' ยุคอยุธยา เก่าสุดในไทย ที่มาเพลงบรรเลงขณะยาตราริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ 26 ต.ค.นี้". มติชนออนไลน์. 23 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 ธีรพงศ์ เรืองขำ (26 ตุลาคม 2560). "การข้ามมหานทีสีทันดรของ 'สายสมร' : จากราชสำนักแวร์ซายส์สู่พระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9". The Standard. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.0 3.1 3.2 สุกรี เจริญสุข (25 สิงหาคม 2562). "อาศรมมิวสิก : เพลงสายสมรกับสุดใจ ฟื้นชีวิตวิญญาณเพลงที่บ้านราชทูตวิชาเยนทร์". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 4.0 4.1 อติภพ ภัทรเดชไพศาล (6 ธันวาคม 2559). "หลักฐานเพลงสยามในปารีสเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว : รูปเงาแห่งเสียง". สยามรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 5.2 "บทเพลงที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุของ ลา ลูแบร์ เพลงสายสมร และเพลงสุดใจ". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. 28 กุมภาพันธ์ 2555. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ อติภพ ภัทรเดชไพศาล. เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 26
- ↑ "เพลงสรรเสริญพระนารายณ์". สนุกดอตคอม. 16 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (22 กันยายน 2559). "ดนตรีในรัฐที่โน้ตเพลงที่เก่าที่สุดของตนเอง เป็นแค่เรื่องพาฝัน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ อติภพ ภัทรเดชไพศาล. เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 23
- ↑ อติภพ ภัทรเดชไพศาล. เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 24