ประเสริฐ สุดบรรทัด

พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด เป็นอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี 4 สมัย

ประเสริฐ สุดบรรทัด
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
20 กุมภาพันธ์ 2491 – 25 มีนาคม 2492
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449
อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เสียชีวิต3 สิงหาคม พ.ศ. 2523 (73 ปี)
พรรคการเมืองธรรมสังคม
คู่สมรสพูนศรี สุดบรรทัด

ประวัติ แก้

ประเสริฐ สุดบรรทัด เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ที่ตำบลอุทัย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบิดาชื่อ ผ่อง มารดาชื่อ บ่วง เขาเคยบวชเป็นเณรอยู่ที่วัดขุนทราย จนอายุได้ 16 ปี จึงเข้าไปเรียนที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงได้บวชเป็นพระอยู่ถึง 3 พรรษา และสอบได้นักธรรมโท จากนั้นจึงออกไปเรียนโรงเรียนนายดาบ “รุ่นปี 2473”

หลังจากจบการศึกษาแล้ว เขาได้เข้ารับราชการทหารไปประจำอยู่ที่จังหวัดลำปาง และได้สมรสกับ น.ส.พูนศรี เนตรงาม ชาวจังหวัดลำพูน ภรรยานายประเสริฐ ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 10

การทำงาน แก้

หลังปลดประจำการจากทหารในปี พ.ศ. 2475 ประเสริฐได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และเปิดโรงเรียนราษฎร์ชื่อ "โรงเรียนประเสริฐวิทยา" ขึ้นในปีเดียวกันที่ป้อมปราบศัตรูพ่าย และได้เข้าเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น เคยเป็นทั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพ และสมาชิกสภาจังหวัดพระนคร ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ยังเรียนไม่ทันจบก็ถูกเรียกตัวกลับเข้าเป็นทหารอีกครั้งเพื่อไปรบในสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา

ประเสริฐ ได้รับการเลื่อนยศทางทหารจากนายร้อยตรีจนได้เป็นนายร้อยเอก ในปี พ.ศ. 2487 ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 3 กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี จนกระทั่งเขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มกราคม พ.ศ. 2489 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 และชนะได้เป็นผู้แทนราษฎร และได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และได้รับเลือกตั้งอีกในครั้งต่อมาคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491 และในคราวนี้เขาได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร[1] และเป็นที่รู้จักจากการห้ามตำรวจไม่ให้จับสมาชิกกลางสภาซึ่งอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นคือ พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ โดยเป็นการห้ามตำรวจไม่ให้จับกุม พันโท พโยม จุฬานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี

ในปี พ.ศ. 2492 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี[2] และให้สั่งราชการกระทรวงคมนาคม ครั้นถึงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2493 ท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐบาลชุดที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี[3][4]

ในปี พ.ศ. 2495 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาได้ขัดแย้งกับพันเอก ประมาณ อดิเรกสาร จนถึงขั้นที่ย้ายมาลงสมัคร ส.ส.แข่งกัน และประเสริฐ แพ้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น จึงได้ประกาศวางมือทางการเมือง จนถึงปี พ.ศ. 2511 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสนับสนุนภรรยาคือ นางพูนศรี สุดบรรทัด ลงแข่งขันที่จังหวัดสระบุรี และก็สามารถชนะเอาที่นั่งคืนมาได้ ประเสริฐจึงกลับมาลงเลือกตั้งเองอีกครั้งในปี 2518 และก็ชนะได้เข้าสภาฯ

ถึงแก่อนิจกรรม แก้

พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด ได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2523 และมีงานพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถาน วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523

สถานที่ แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทน (นายเกษม บุญศรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ร้อยเอก ประเสริฐ สุดบรรทัด เป็นรองประธานสภาผู้ปทนราษฎร)
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๖ ราย)
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (จำนวน ๗ ราย)
  4. [1]
  5. ยุคพัฒนา : จุดเปลี่ยนของเกวียน
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๒, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ[ลิงก์เสีย], เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๙, ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๙๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๘