ดร.นิสิต สินธุไพร (เกิด 12 มีนาคม พ.ศ. 2499) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นปช. และผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด

นิสิต สินธุไพร
ไฟล์:Nisit3.jpg
นิสิต ในปี พ.ศ. 2543
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 มีนาคม พ.ศ. 2499 (68 ปี)
พรรคการเมืองความหวังใหม่ (2533—2545)
ไทยรักไทย (2545—2550)
พลังประชาชน (2550—2551)
เพื่อไทย (2557—ปัจจุบัน)

ประวัติ แก้

นิสิต สินธุไพร เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2499[1] เป็นชาวบ้านโนนชัยศรี ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของนายใส และนางผาด สินธุไพร มีน้องสาวคือ จุรีพร สินธุไพร[2]

นิสิตสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสังคมศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม โดยขณะศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปนายกองค์การนิสิตนักศึกษา, ระดับปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และได้รับประกาศนียบัตรวิชาการเมืองการปกครองชั้นสูง จาก สถาบันพระปกเกล้า

นิสิตเป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยรับราชการครู และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการศึกษามากมาย เช่น คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้นำครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ก่อนผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมือง

นิสิต สมรสกับ เอมอร สินธุไพร มีบุตรสาวสองคนได้แก่นางสาว จิราพร สินธุไพร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นางสาวชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จังหวัดร้อยเอ็ด

งานการเมือง แก้

นิสิตได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 ภายใต้สังกัดพรรคความหวังใหม่ ซึ่งต่อมาถูกยุบรวมกับ พรรคไทยรักไทย โดยสามารถเอาชนะเจ้าของพื้นที่เก่าอย่าง ชัชวาลย์ ชมภูแดง ต่อมาได้รับเลือกให้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2548 สังกัด พรรคไทยรักไทย ในขณะนั้นนิสิตเป็นผู้ริเริ่มนำเสนอ โครงการอาจสามารถโมเดล หรือโมเดลแก้จนใน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด จนนำไปสู่การลงพื้นที่ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทุกภาคส่วน โดยมีนักการทูตจากหลายประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ ได้มีการถ่ายทำรายการเรียลลิตี้โชว์ปฏิบัติการแก้จนออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก แต่โครงการไม่ได้รับการสานต่อเนื่องจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 โครงการนี้จึงถูกพับไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งภายใต้สังกัด พรรคพลังประชาชน ซึ่งนิสิตดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ต่อมานิสิตถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี โดยเป็นหนึ่งในสมาชิก บ้านเลขที่ 109 จากคดียุบพรรคพลังประชาชน หลังพ้นจากการตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปีพ.ศ. 2557 สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ

นิสิตเคยถูกจำคุกในคดี เหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่ม นปช. เมษายน พ.ศ. 2552 ในศาลชั้นต้น ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558 ต่อมาใน วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558 เขาได้รับการประกันตัวในวงเงิน 8 แสนบาท เขาถูกจำคุกอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 ตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในคดีดังล่าว และไม่ได้รับการประกันตัว

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 39[3] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้

นิสิต สินธุไพร ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 3 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคความหวังใหม่พรรคไทยรักไทย
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคไทยรักไทย
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคพลังประชาชน

การเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดง แก้

หลังการรัฐประหารในปี 2549 นิสิต สินธุไพร เริ่มเคลื่อนไหวในฐานะประธานกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ โดยเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง คมช. ตลอดระยะเวลาการรัฐประหาร จากนั้นเป็นแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ นปก. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นอกจากนี้ยังเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน นปช. ซึ่งเน้นให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชน ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการทาง "เปิดปมสู่ปฏิรูป" ร่วมกับนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ และนายพิพัฒนชัย ไพบูลย์ ทางพีซทีวี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. นายนิสิต สินธุไพร
  2. "จุรีพร สินธุไพร" ลงสมัครนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ในนามอิสระ ได้หมายเลข 4
  3. เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๑, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๗, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗