นาก
นากใหญ่ธรรมดา (Lutra lutra)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Mustelidae
วงศ์ย่อย: Lutrinae
Bonaparte, 1838[1]
สกุล[1]

ที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่

  • Aonyx – นากเล็ก, นากไร้เล็บ
  • Enhydra – นากทะเล
  • Hydrictis – นากคอจุด
  • Lontra – นากแม่น้ำ
  • Lutra – นากใหญ่
  • Lutrogale
  • Pteronura – นากยักษ์

ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว[2] [3]

นาก (ไทยถิ่นเหนือ: บ้วน) เป็นสัตว์อยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์กินเนื้อ ในวงศ์ใหญ่ Mustelidae อันเป็นวงศ์เดียวกับวีเซลหรือเพียงพอน แต่นากจัดอยู่ในวงศ์ย่อย Lutrinae มีทั้งหมด 6 สกุล (ดูในตาราง) [1]

เป็นสัตว์บกที่สามารถว่ายน้ำและหากินในน้ำได้อย่างคล่องแคล่วมาก มีรูปร่างโดยรวมหัวสั้นและกว้างแบน หูมีขนาดเล็กซ่อนอยู่ใต้ขน นิ้วตีนทั้ง 4 ข้างมีพังผืดคล้ายตีนเป็ด ขนลำตัวสีน้ำตาลอมเทา มี 2 ชั้น ชั้นในละเอียด ชั้นนอกหยาบ ขาหลังใหญ่และแข็งแรงกว่า ขาหน้า ใช้ว่ายน้ำร่วมกับหาง มีฟันแหลมและแข็งแรง มีหนวดยาวใช้เป็นอวัยวะจับการเคลื่อนไหวของสิ่งที่อยู่ใต้น้ำและใช้เป็นประสาทสัมผัสเมื่อเวลาอยู่ในน้ำ ไล่จับปลาและสัตว์น้ำเล็ก ๆ เป็นอาหาร ในบางชนิดอาจกินสัตว์จำพวกอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ด้วย ออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ขุดรูอยู่ริมตลิ่งใช้เป็นรังสำหรับอาศัยและเลี้ยงดูลูก

นากจึงเป็นสัตว์ที่มีที่อยู่ในธรรมชาติใกล้กับแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ หลากหลายประเภท เช่น บึง, ทะเลสาบ, ลำธาร, ป่าชายเลน แม้แต่พื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ เช่น ท้องร่องในสวนผลไม้, นาข้าว หรือนากุ้ง เป็นต้น พบได้ทั่วโลก โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุด คือ นากยักษ์ (Pteronura brasiliensis) พบในลุ่มแม่น้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ บางชนิดพบในทะเล คือ นากทะเล (Enhydra lutris) ที่สามารถนอนหงายท้องบนผิวน้ำทะเลและเอาหินทุบเปลือกหอยกินเป็นอาหารได้ด้วย

นากมีความสำคัญต่อมนุษย์ คือ ในอดีตมีการล่าเพื่อเอาหนังและขนทำเป็นเสื้อขนสัตว์ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปมีการล่าอย่างหนัก ทำให้นากหลายชนิดเกือบสูญพันธุ์ ซึ่งเสื้อขนสัตว์ 1 ตัว ต้องใช้ขนของนากมากถึง 40 ตัว จนทำให้ใกล้สูญพันธุ์ กระทั่งในปี ค.ศ. 1975 ทางกองทุนสัตว์ป่าโลก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการค้าหนังนาก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้นากได้รับความคุ้มครอง แต่กระนั้นในบางพื้นที่ก็ยังคงมีการลักลอบกันอยู่[4]

นากที่พบในประเทศไทย

แก้

สำหรับในประเทศไทยพบนากทั้งหมด 4 ชนิด คือ

โดยทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด[5]

พฤติกรรมและอุปนิสัย

แก้

นาก เป็นสัตว์ที่มีความปราดเปรียวคล่องแคล่วว่องไวมาก ทั้งบนบกและในน้ำ เมื่อเวลาดำน้ำจมูกจะสามารถปิดได้เพื่อป้องกันน้ำเข้า นากสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 60 ฟุต และกลั้นหายใจได้นานถึง 4 นาที ขณะที่ว่ายน้ำและดำน้ำ นากจะใช้วิธีเคลื่อนที่ด้วยการบิดตัวไปมาของลำตัวและหาง อีกทั้งนากสามารถยืนและเดินด้วย 2 เท้าหลังได้ด้วยเป็นระยะทางสั้น ๆ

นากหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน นากจะเดินทางเพื่อหากินได้ไกลถึง 20 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น โดยปกติแล้ว นากจะกินสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นหลัก แต่ก็สามารถล่าสัตว์บกขนาดใหญ่ เช่น เป็ด, ไก่, นกกระทา, กระต่าย เป็นอาหารได้ด้วย จึงมักเป็นศัตรูต่อมนุษย์ โดยเฉพาะผู้มีอาชีพเป็นเกษตรกร

ในเวลากลางคืน นากจะนอนหลับอยู่ในรูที่ขุดไว้ริมตลิ่ง หรือนอนตามซอกโคนต้นไม้หรือบางครั้งอาจจะขึ้นมานอนบนพื้นเปล่า ๆ ริมตลิ่งได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก นากให้กำเนิดลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ละครอกจะมีลูกประมาณ 3 ตัว จะออกลูกในรังที่อยู่ตามกอหญ้าหรือพืชน้ำต่าง ๆ ที่มีความสูงและรก โดยเฉพาะใต้ตลิ่งที่มีรากของต้นไม้ใหญ่ยึดไว้และมีทางเข้าออกใต้น้ำได้ จะเป็นที่ ๆ ทำรังอย่างดีที่สุด ลูกนากที่เกิดใหม่จะมีขนสีดำเป็นแววมัน และจะอาศัยอยู่ในรังประมาณ 5 สัปดาห์ โดยแม่นากจะนอนกกลูกเพื่อให้ความอบอุ่นอยู่เสมอ ส่วนนากตัวผู้ซึ่งเป็นพ่อ จะทำหน้าที่คอยส่งอาหารและดูแลความปลอดภัยให้ ลูกนากจะออกจากรังเมื่ออายุได้ 6–7 สัปดาห์ แต่จะยังอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ แม้จะว่ายน้ำได้เลย แต่ก็ไม่คล่องแคล่ว จึงต้องได้พ่อและแม่คอยสอนให้ ลูกนากเมื่อสัมผัสน้ำครั้งแรก จะไม่ค่อยกล้าลงน้ำ พ่อและแม่นากจึงต้องหลอกล่อเพื่อให้ลง และสอนว่ายน้ำให้

นากเป็นสัตว์ที่ร่าเริง และขี้เล่นมาก มีพฤติกรรมชอบเล่นสนุกอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะการลื่นไถลลงมาตามทางลาดชันริมตลิ่ง เหมือนสไลเดอร์ในสวนน้ำ โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นปีนตลิ่งครั้งละตัว แล้วใช้ 2 ตีนหลังผลักตัวเองแบบนอนหงายท้องราบหรือท้องคว่ำให้ไถลลงมา นอกจากนี้แล้วเมื่อเวลาเดินทาง นากบางครั้งก็จะใช้วิธีนี้เพื่อให้เร็วขึ้นด้วย

นอกจากนี้แล้ว นากยังมีพฤติกรรมที่ชอบคลุกตัวเองเข้ากับมูลของตัวเอง เพื่อให้มีกลิ่นประจำตัวติดตัวไปตลอดในฝูง เป็นการแสดงตนและประกาศอาณาเขต กองมูลของนากมักจะมีเศษชิ้นส่วนของปลา เช่น ก้าง, เกล็ด หรือเปลือกหอยที่ย่อยไม่หมดปะปนอยู่ด้วย ขณะที่นากเล็กเล็บสั้นเมื่อถ่ายแล้ว มักจะใช้หางตีให้กระจาย มูลของนากเล็กเล็บสั้นจึงมักจะกระจายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไม่อยู่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนนากชนิดอื่น

จากความขี้เล่นและฉลาดของนาก นากจึงเป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงให้เชื่องและนำมาแสดงโชว์ได้ตามสวนสัตว์หรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ เช่นเดียวกับ โลมา หรือ แมวน้ำ ผู้ที่เคยเลี้ยงนากไว้เป็นสัตว์เลี้ยงต่างบอกกันว่า นากเป็นสัตว์ที่ซุกซน ขี้เล่น และเชื่องต่อผู้เลี้ยงมาก มีความเฉลียวฉลาดไม่แพ้สุนัขเลยทีเดียว แต่มีข้อเสีย คือ มีกลิ่นตัวที่เหม็นมาก และชอบส่งเสียงดังหนวกหู[4]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "Lutrinae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. Malatesta, A. & Willemsen, G. F.: Algarolutra g.n. established for a fossil otter of the Sardinia island. Geologica Romana 25: 285-286 (1986)
  3. Willemsen, G. F.: A revision of the Pliocene and Quaternary Lutrinae from Europe. Scripta Geologica vol 101 (1992).
  4. 4.0 4.1 นาก หน้า 114-118, "สัตว์สวยป่างาม" (ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, สิงหาคม 2518)
  5. สัตว์ป่าคุ้มครอง