เปลือกหอย หรือ ฝาหอย หรือ กาบหอย คือ สสารที่เป็นของแข็งที่ห่อหุ้มลำตัวภายนอกของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในไฟลัมมอลลัสคา หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า หอย มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ซึ่งหอยจะใช้เป็นเครื่องอำพรางอันตรายจากสัตว์อื่น เป็นสัญลักษณ์สื่อสารระหว่างกัน และช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ[1]

เปลือกหอยนานาชนิด

เปลือกหอยเป็นสิ่งที่ติดตัวกับหอยมานับตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนและฟักออกมาจากไข่ โดยไม่ต้องลอกคราบเหมือนสัตว์ในไฟลัมอาร์โธพอดหรือ ครัสเตเชียน โดยขนาดจะใหญ่ขึ้นมาตามขนาดของตัวหอย[2]

เปลือกหอยประกอบด้วยสารจำพวกแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นสารอื่น ๆ เช่น แคลเซียมฟอสเฟต, แมกนีเซียมคาร์บอเนต, แมกนีเซียมฟอสเฟต, แมกนีเซียมซิลิเกต, โปรตีนประเภทคอนไคโอลิน เปลือกหอยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ

ลักษณะ

แก้
  • ชั้นนอกสุด เรียกว่า ชั้นผิวนอก (Periostracum layer) ประกอบด้วยสารส่วนใหญ่เป็นโปรตีนประเภทคอนไคโอลิน เป็นชั้นที่บางและหลุดง่าย ซึ่งจะสังเกตได้จากหอยที่ตายแล้วและเปลือกที่ถูกทิ้งอยู่ตามชายหาด หรือหอยที่ยังมีชีวิตแต่เปลือกถูกคลื่นซัดหรือทรายขัดสี เปลือกชั้นนี้อาจหลุดหายไปจนไม่เหลือให้เห็น
  • ชั้นกลาง เรียก ชั้นผนึกแคลเซียม (Prismatic layer) ประกอบด้วยผลึกรูปต่าง ๆ กันของสารประกอบแคลเซียมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของแคลไซต์ เป็นชั้นที่หนาและแข็งแรงที่สุด
  • ชั้นในสุด เรียก ชั้นมุก (Nacreous layer) ประกอบด้วยผนึกรูปต่าง ๆ กันของสารประกอบแคลเซียมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของอะราโกไนต์ เป็นชั้นที่เรียบมีความหนาบางแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของหอย ทำให้เปลือกมีสีขาวขุ่นและเป็นมันแวววาวแตกต่างกัน

เปลือกหอยมีรูปร่างของเปลือกไม่เหมือนกัน แตกต่างออกไปตามแต่ละชั้น, อันดับ, วงศ์, สกุล และชนิด เช่น หอยแปดเกล็ด หรือ ลิ่นทะเล มีเปลือกขนาดเล็กจำนวน 8 แผ่น เรียงซ้อนเหลื่อมกันคล้ายกระเบื้องมุงหลังคาจากหัวถึงท้ายตัว ส่วนหอยฝาชีโบราณมีเปลือกรูปคล้ายฝาชี ส่วนที่เป็นยอดแหลมเยื้องไปทางด้านหน้า

สีของเปลือกหอยได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมและอาหารที่หอยกินเข้าไป สีบนเปลือกหอยเกิดจากเม็ดสี ซึ่งเม็ดสีนั้นได้จากอาหารที่หอยกินเข้าไป เม็ดสีแต่ละชนิดต่างก็ให้สีสันแตกต่างกันไป เช่น เม็ดสีคาโรทีนอยด์ ให้สีเหลืองถึงส้ม, เมลานินให้สีน้ำตาลถึงดำ, อินดิกอยด์ให้สีน้ำเงินและแดง, พอร์ไฟรินให้สีแดง สีม่วงในเปลือกหอยม่วง เกิดจากการที่กินแมงกะพรุนเรือใบที่มีสีน้ำเงินม่วงเป็นอาหาร

ลายบนเปลือกจะถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการสร้างเปลือก โดยที่เม็ดสีจะเคลื่อนตัวไปตามเนื้อเยื่อสร้างเปลือกตลอดเวลา ถ้าเม็ดสีแสดงผลจะทำให้เปลือกมีสีสันไปตามเม็ดสีนั้น แต่ถ้าเม็ดสีมีการแสดงผลเป็นช่วง ๆ ผลที่ได้จะมีลักษณะคล้ายกับการทำงานของเครื่องพิมพ์ภาพ ก่อให้เกิดสีสันและลวดลายต่าง ๆ [3]

หอยเปลือกเดี่ยว

แก้
 
ลักษณะของหอยเปลือกเดี่ยว

หอยเปลือกเดี่ยว มีเปลือกติดต่อเป็นชิ้นเดียวกัน ส่วนมากเปลือกจะมีลักษณะเวียนเป็นเกลียวรอบแกนกลางที่เรียกว่า แกนเปลือก หอยเริ่มสร้างเปลือกจากจุดยอดก่อน เปลือกที่เวียนไปครบ 1 รอบ เรียกว่า 1 วงเกลียว วงเกลียวแรกมีขนาดเล็กที่สุด วงเกลียวต่อ ๆ มามีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับเนื่องจากตัวหอยมีขนาดโตขึ้น วงเกลียวสุดท้าย หรือ วงเกลียวตัว มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีช่องเปลือก อันเป็นบริเวณที่หอยยื่นหัวและตีนออกมาและเป็นทางให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกด้วย ระหว่างวงเกลียวมีรอยต่อเห็นเป็นร่อง เรียก รอยต่อวงเกลียว ส่วนใหญ่วงเกลียวของเปลือกหอยมักเวียนไปทางขวาในทิศทางเดียวกับการหมุนของเข็มนาฬิกา เรียกว่า เวียนขวา มีน้อยตัวที่เวียนไปทางซ้าย เรียกว่า เวียนซ้าย

การดูลักษณะของเปลือกหอยว่ามีวงเกลียวเวียนขวาหรือเวียนซ้าย มีหลักในการดูโดยวิธีหงายให้เห็นช่องเปลือกและหันจุดยอดของเปลือกหอยชี้ออกนอกตัวผู้ถือ หากช่องเปลือกอยู่ทางด้านขวามือผู้ถือ เปลือกหอยนั้นเวียนขวา ถ้าอยู่ทางด้านซ้ายมือเปลือกหอยนั้นเวียนซ้าย

ผิวด้านนอกของเปลือกหอยอาจเรียบเป็นมันหรือเป็นลายมิติ เช่น มีหนาม, ตุ่มสันแหลม, ร่อง หรือสันป้าน ซึ่งอาจอยู่ในแนวแกน หรือในแนวเวียนก้นหอย ช่องเปลือกอาจมีรูปกลม รีหรือแคบยาวตามแต่ชนิดของหอย มีขอบด้านนอกช่องเปลือก และขอบด้านในช่องเปลือก ซึ่งเชื่อมต่อกับแกนเปลือก หอยส่วนมากมีฝาปิด ลักษณะเป็นแผ่น สำหรับปิดช่องเปลือก ฝาปิดนี้นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรูหรือสิ่งสกปรกจากภายนอกแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้ความชื้นระเหยออกจากตัวมากเกินไป ในหอยบางชนิดมีช่องแกนเปลือก ซึ่งอยู่ระหว่างวงเกลียวสุดท้ายกับขอบด้านในของช่องเปลือกจากจุดยอดของเปลือกลงมาถึงวงเกลียวทุกวงเกลียวเว้นวงเกลียวสุดท้าย เรียกว่า ก้นหอย ช่วงนี้มีความยาวแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของหอย

การวัดขนาดของเปลือกหอยเปลือกเดี่ยวนิยมวัดจากจุดยอดมาถึงปลายสุดของวงเกลียวสุดท้าย ถือเป็นความยาวของเปลือกช่วงกว้างที่สุดของวงเกลียวถือเป็นความกว้างของเปลือก โดยใช้หน่วยเป็นมิลลิเมตร หอยเปลือกเดี่ยวโดยทั่วไปอาจมีขนาดยาวตั้งแต่ 2-3 มิลลิเมตร ไปจนถึง 500 มิลลิเมตร กว้างตั้งแต่ 2 มิลลิเมตรไปจนถึง 300 มิลลิเมตร ในหอยสังข์ยักษ์ออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นหอยเปลือกเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

หอยเปลือกคู่

แก้
 
ลักษณะของเปลือกหอยเปลือกคู่

หอยเปลือกคู่ มีเปลือกเป็นกาบ 2 กาบประกบเข้ากันและเปิดปิดได้คล้ายบานพับ เปลือกทั้ง 2 ข้าง อาจมีรูปร่างเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน เปลือกอาจมีรูปกลม, รี, สามเหลี่ยม หรือรูปอื่น ๆ ก็ได้

หอยจะสร้างเปลือกบริเวณขั้วเปลือก ขึ้นก่อนแล้วสร้างเปลือกเป็นวงขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เปลือกทั้ง 2 ข้างยึดติดกันด้วยเอ็นยึด ซึ่งเป็นสารจำพวกโปรตีน บริเวณที่ยึดติดกันเรียก บานพับ ส่วนใหญ่บริเวณนี้มักมีแง่สบเปลือก ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันไปแล้วแต่วงศ์ของหอย เช่น หอยแครงมีแง่สบเปลือกขนาดเล็กไล่เลี่ยกันเรียงเป็นแถว, หอยกระปุกมีแง่สบเปลือกแง่กลาง สั้นกว่าแง่สบเปลือกแง่ข้าง, หอยปิดและเปิดเปลือกโดยอาศัยกล้ามเนื้อยึดเปลือก ซึ่งอาจมีกล้ามเนื้อมัดเดียว เช่น หอยพัด หรือ หอยเชลล์ หรือมีกล้ามเนื้อ 2 มัด เช่น หอยแครง, หอยลาย รอยกล้ามเนื้อยึดเปลือก เหล่านี้ได้เห็นได้ทางด้านในของเปลือกเมื่อกล้ามเนื้อหลุดไปแล้ว นอกจากนี้ ยังเห็นรอยอันเกิดจากแนวของแผ่นเนื้อที่ยึดติดกับเปลือกอันเป็นแนวเกือบขนานกับขอบเปลือก เรียก รอยแนวแผ่นเนื้อ ผิวด้านนอกของเปลือกหอยกาบคู่บางพวกเรียบเป็นมัน บางพวกมีหนาม, สัน และร่อง ซึ่งมีลักษณะเป็นแนวรัศมีหรือแนวขนานกับขอบเปลือก บริเวณด้านข้างขั้วเปลือกของหอยบางพวก เช่น หอยพัด มีแผ่นลักษณะเป็นปีกแผ่ออกไป

เมื่อดูหอยเปลือกคู่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้านที่เป็นช่องปากถือเป็นด้านหน้า ส่วนด้านที่มีทางน้ำเข้า-ออกและรูก้นถือเป็นด้านท้าย หากดูเปลือกหอยทางด้านในเพียงอย่างเดียว ด้านที่มีบานพับและขั้วเปลือกถือเป็นด้านบน ส่วนด้านที่อยู่ตรงข้ามซึ่งเป็นขอบเปลือกถือเป็นด้านล่าง สำหรับการดูด้านหน้ากับด้านท้ายให้สังเกตรอยเว้าแนวแผ่นเนื้อ หากอยู่ด้านไหนให้ถือว่าเป็นด้านท้าย ส่วนด้านตรงข้ามถือเป็นด้านหน้า นอกจากนี้ ยังอาจสังเกตได้จากจะงอยเปลือก ถ้าชี้ไปทางด้านไหนให้ถือว่าเป็นด้านหน้า ทั้งนี้ ยกเว้นหอยบางชนิด เช่น หอยเสียบ ที่จะงอยเปลือกชี้กลับตรงกันข้าม เป็นต้น

ส่วนการดูเปลือกหอยว่าเป็นกาบซ้ายหรือกาบขวานั้นให้ถือเปลือกหอยโดยเอาขั้วเปลือกไว้ด้านบน หันปลายด้านชี้ออกนอกตัวผู้ถือ เปลือกที่อยู่ทางขวามือเป็นกาบขวา เปลือกที่อยู่ทางซ้ายมือเป็นกาบซ้าย การวัดความยาวของเปลือกให้วัดระหว่างปลายด้านหน้าถึงด้านท้ายสุด ส่วนความสูงนั้นวัดจากด้านบนสุดของขั้วเปลือกถึงขอบเปลือกด้านล่างสุด

ระยะระหว่างความโค้งของผิวนอกสุดของเปลือกทั้ง 2 กาบ คือ ความหนา หอยกาบคู่ที่โตเต็มที่โดยทั่วไปมีขนาดความยาวของเปลือกไม่เกิน 10 เซนติเมตร ยกเว้นบางชนิดที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น หอยมือเสือ อาจวัดความยาวได้มากกว่า 1 เมตร ซึ่งถือเป็นหอยเปลือกคู่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

หอยงาช้าง

แก้

หอยงาช้าง มีลักษณะระหว่างหอยเปลือกเดี่ยวและหอยเปลือกคู่ คือมีเปลือกเป็นชิ้นเดียวกัน รูปร่างเป็นแท่งกลม โคนใหญ่ ปลายเรียวเล็ก งอนคล้ายงาช้าง ภายในกลวงมีช่องเปิดทั้ง 2 ด้าน มีแผ่นขูดในช่องปากเหมือนหอยเปลือกเดียว แต่มีหัวและตีนยื่นออกมาจากส่วนโคนซึ่งลักษณะหัว, เท้า และลำตัวเหมือนหอยเปลือกคู่

หอยงวงช้าง

แก้
 
ลักษณะภายในของเปลือกหอยงวงช้าง

เปลือกของหอยงวงช้าง มีลักษณะแตกต่างไปจากหอยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมีลักษณะเปลือกต่อเป็นชิ้นเดียวกัน ม้วนเป็นวงในแนวราบ หรือเรียกว่า เวียนก้อนหอยแนวราบ เปลือกที่สร้างขึ้นก่อนหรือวงแรก ๆ จะถูกคลุมไว้ด้วยเปลือกที่สร้างขึ้นภายหลัง ภายในเปลือกมีผนังกั้นตามขวาง แบ่งช่องว่างภายในเปลือกออกเป็นห้อง แต่ละห้องเชื่อมต่อถึงกันด้วยท่อ ห้องภายในช่องเปลือกเหล่านี้เคยเป็นที่อยู่ของตัวหอยตั้งแต่หอยมีขนาดเล็ก เมื่อตัวโตขึ้นหอยก็จะสร้างเปลือกให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และตัวหอยจะย้ายออกมาอยู่ในห้องนอกสุด เปลือกหอยงวงช้างหนาและแข็งแรง เปลือกด้านนอกมีลายเป็นเส้นสีน้ำตาลบนพื้นขาว ด้านในเป็นสีมุก เมื่อวัดเส้นผ่านศูนย์กลางจากขอบเปลือกที่กว้างที่สุดบางตัวอาจยาวถึง 30 เซนติเมตร จัดเป็นหอยที่มีขนาดใหญ่จำพวกหนึ่ง[4]

ประโยชน์และความสัมพันธ์กับมนุษย์

แก้
 
เปลือกหอยสังข์รดน้ำในอินเดียที่ผ่านการแกะสลักและเจียระไนมาแล้ว ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ

มนุษย์ใช้ประโยชน์และผูกพันกับเปลือกหอยมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีหลักฐานทางโบราณคดีว่า มนุษย์ได้ใช้เปลือกหอยมาทำเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่บดทำเป็นปูนเพื่อการก่อสร้าง จนเกิดเป็นความเชื่อและปกรณัมต่าง ๆ เช่น เทพปกรณัมกรีกเชื่อว่า เทพีอะโฟรไดต์กำเนิดมาจากเปลือกหอยหรือฟองน้ำ[5], ชาวฮินดูเชื่อว่า หอยสังข์ในพระกรของพระวิษณุเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล จึงนิยมใช้ในงานพิธีและประเพณีต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยสังข์ตัวที่เวียนขวาที่หาได้ยาก,[6] ในนิทานพื้นบ้านของเกาะชวาและชาวไทยมีเรื่อง ทารกที่เกิดมาในเปลือกหอยสังข์สีทอง เป็นต้น[7] นอกจากนี้แล้ว ในยุคที่ยังไม่มีเงินในรูปแบบของเหรียญ หรือธนบัตรใช้เช่นในปัจจุบัน เปลือกหอยบางชนิด เช่น หอยเบี้ย ก็เป็นสิ่งใช้แทนเงิน จนเกิดข้อสันนิษฐานว่า คำว่า "เบี้ย" ในภาษาไทย ที่หมายถึง เงินตรา เพี้ยนมาจากคำว่า "รูปิยะ" หรือ "รูปี" อันเป็นสกุลเงินที่ใช้กันในอินเดียตั้งแต่ยุคพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน และยังใช้ทำเป็นเครื่องรางทางไสยศาสตร์อีกด้วย[8]เปลือกหอยนางรม, เปลือกหอยพิมพการัง, เปลือกหอยตาวัว, เปลือกหอยจุ๊บแจง, เปลือกหอยมุก และเปลือกหอยสังข์หนาม[9]

นอกจากนี้แล้ว เปลือกหอยยังใช้ทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงาม และเก็บสะสม บางชิ้น บางชนิด บางลักษณะที่หายาก เช่น เปลือกหอยเบี้ยที่มีลักษณะของเปลือกส่วนปลายข้างหนึ่งโค้งงอเหมือนงวงช้าง เรียกว่า "โรทสเตท" มีการตั้งมูลค่าไว้สูงถึง 25 ล้านบาท นับเป็นเปลือกหอยที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก และลักษณะที่สวยงามต่าง ๆ ของเปลือกหอยยังเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของมนุษย์อีกจำนวนมากมาย[8]

อ้างอิง

แก้
  1. "เปลือกหอยคืออะไร ทำไมมีหลายสี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-19. สืบค้นเมื่อ 2012-04-11.
  2. ความลับใต้เปลือกหอย, รายการนักสำรวจ ทางช่อง 3: อาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม 2552
  3. "เปลือกหอยและสีสัน?". คมชัดลึก. 8 December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-08. สืบค้นเมื่อ 8 December 2014.
  4. เปลือกหอย จากราชบัณฑิตยสถาน
  5. BOTTICELLI, Sandro
  6. "หอยสังข์เวียนขวา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-07. สืบค้นเมื่อ 2012-04-11.
  7. จอม ปัทมคันธิน. แฟนหอยพันธุ์แท้. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ชบาเงิน, 2555. 185 หน้า. หน้า 108. ISBN 978-616904682-0
  8. 8.0 8.1 คอลัมน์ Aqua Pets โดย จอม สมหวัง ปัทมคันธิน "สุดยอดแฟนพันธุ์แท้เปลือกหอย 2 สมัย" หน้า 107 นิตยสาร Aquarium Biz Vo.1 issue 6 ฉบับเดือนธันวาคม 2010
  9. เปลือกหอยแครง, "เรื่องน่ารู้". คอลัมน์ หน้า 28 เกษตร: เดลินิวส์ฉบับที่ 23,129 ประจำวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 แรม 13 ค่ำ เดือน 2 ปีมะโรง

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้