ทิเชียน
ทิเซียโน เวเชลลี หรือ เวตเชลลิโอ (อิตาลี: Tiziano Vecelli, Tiziano Vecellio; ออกเสียง: [titˈtsjaːno veˈtʃɛlljo]; ป. 1488/90[1] – 27 สิงหาคม ค.ศ. 1576)[2] หรือที่รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษว่า ทิเชียน หรือ ทิชัน (อังกฤษ: Titian; /ˈtɪʃən/ tish-ən) เป็นจิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคนสำคัญของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีความสำคัญทางการเขียนภาพสีน้ำมัน ทิเชียนเป็นจิตรกรผู้นำของศิลปะเรอเนซองส์ของตระกูลการเขียนแบบเวนิส ทิเชียนเกิดที่พิเว ดี คาดอเร (Pieve di Cadore) ใกล้เมืองเบลลูโน ในสาธารณรัฐเวนิส จึงรู้จักกันในนามว่า “ดา คอเดเร” ตามเมืองเกิดด้วย
ทิเชียน | |
---|---|
เกิด | Tiziano Vecellio ป. 1488/90 พิเว ดี คาดอเร, สาธารณรัฐเวนิส |
เสียชีวิต | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1576 เวนิส, สาธารณรัฐเวนิส | (87–88 ปี)
สัญชาติ | เวนิส |
อาชีพ | ศิลปินสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี |
ลายมือชื่อ | |
ทิเชียน เป็นจิตรกรที่มีความสามารถหลายด้าน ผู้เขียนได้ทั้งภาพเหมือนและภาพภูมิทัศน์อันเป็นสองลักษณะที่ทำให้มีชื่อเสียง และการเขียนตำนานเทพ และศิลปะคริสต์ศาสนา ถ้าทิเชียนเสียชีวิตเมื่ออายุได้เพียง 40 ปีก็ยังถือเป็นจิตรกรที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น แต่ทิเชียนก็อยู่ต่อมาอีก 50 ปีในขณะที่เปลี่ยนแปลงวิธีเขียนภาพจากเดิมไปเป็นอย่างมาก นักวิจารณ์บางคนไม่เชื่อว่างานที่สร้างเมื่อสมัยต้นและสมัยปลายของทิเชียนเป็นงานของจิตรกรคนเดียวกัน ลักษณะที่ทำให้ทราบว่าเป็นคนเดียวกันคือความสนใจอย่างลึกซึ้งในการใช้สี งานในสมัยหลังแม้จะไม่ใช้สีสดและเรืองอย่างสมัยแรก แต่ฝีแปรงที่พริ้วที่แฝงให้เห็นความที่จะเป็นสีต่าง ๆ เพียงเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก
ชีวิตเบื้องต้น
แก้วันเกิดจริงของทิเชียนไม่เป็นที่ทราบแน่นอน ในจดหมายที่เขียนถึงพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนเมื่ออายุมากขึ้นทิเทียนก็อ้างว่าเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1477 ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้[3] นักเขียนผู้อื่นผู้ร่วมสมัยกับทิเทียนกล่าวว่าเกิดราวระหว่าง ค.ศ. 1473 ถึง ค.ศ. 1482 แต่นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ. 1490 มากที่สุด ทิเชียนเป็นลูกคนโตในบรรดาพี่น้องสี่คนของเกรกอริโอ เวเชลลิ ผู้เป็นมีทหารและสมาชิกสภาผู้มีชื่อเสียงและภรรยาลูเชีย พ่อของทิเชียนเป็นหัวหน้าผู้ดูแลปราสาทของเมืองพิเอเวดิคาดอเร และบริหารเหมืองตามท้องถิ่นให้กับเจ้าของ[4] ญาติของทิเทียนหลายคนรวมทั้งปู่เป็นนายทะเบียน ครอบครัวของทิเชียนมาจากครอบครัวที่มีหลักฐานที่มีหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่ปกครองโดยเวนิส
เมื่อมีอายุได้ราว 10 ถึง 12 ปีทิเชียนและน้องชายผู้ที่อาจจะติดตามมาภายหลังถูกส่งตัวไปหาลุงที่เวนิสเพื่อเข้าไปฝึกงานกับช่างเขียน เซบาสเตียน ซุคคาโตผู้เป็นจิตรกรที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงผู้อาจจะเป็นเพื่อนของครอบครัว ผู้ที่ต่อมาจัดการให้สองพี่น้องไปฝึกงานกับเจ็นทิเล เบลลินีจิตรกรผู้มีอายุ และต่อมาก็ไปฝึกงานกับจิโอวานนี เบลลินี น้องชายของเจ็นทิเล[4] ในขณะนั้นพี่น้องเบลลินี โดยเฉพาะจิโอวานนีเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงของเวนิส ทิเชียนก็รวมกลุ่มศิลปินรุ่นๆ เดียวกันในเวนิสซึ่งรวมทั้ง จิโอวานนิ พาลมา ดา เซรินาลตา, ลอเร็นโซ ลอตโต (Lorenzo Lotto) , เซบาสเตียน เดล พิออมโบ (Sebastiano del Piombo) , และจอร์โจ ดา คาสเตลฟรังโค (Giorgio da Castelfranco) หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า จอร์โจเน ฟรานเชสโค เวเชลโล น้องของทิเชียนต่อมาก็เป็นจิตรกรผู้มีชื่อพอตัวของเวนิส
เชื่อกันว่าจิตรกรรมฝาผนังเฮอร์คิวลีสที่วังโมโรซินี (Morosini Palace) เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่สุด ของทิเทียน และอีกชิ้นหนึ่งคือ“พระแม่มารีและพระบุตร” [1] ซึ่งเป็นแบบเบลลินีที่เรียกกันว่า “มาดอนน่ายิบซี” (Gypsy Madonna) ที่เวียนนา และ “การประกาศของพระแม่มารี” (Visitation of Mary and Elizabeth) ที่คอนแวนต์ซานอันเดรียปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เวนิส
ทิเทียนเป็นผู้ช่วยของจอร์โจเนแต่นักวิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยเห็นว่างานของทิเทียนมีฝีมือดีกว่าเช่นงานจิตรกรรมฝาผนัง (ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว) ที่ทั้งสองคนทำให้ฟอนดาชิโอ เดอิ เทเดสชิ และความสัมพันธ์ระหว่างจิตรกรทั้งสองคนก็ออกจะเหมือนเป็นคู่แข่งกันมากกว่า การแยกงานของจิตรกรสองคนนี้ในสมัยนี้เป็นเรื่องที่ยังโต้แย้งกันระหว่างนักวิชาการ และในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีงานหลายชิ้นแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นงานของจอร์โจเนกลับมาเชื่อกันว่าเป็นของทิเชียน แต่ไม่มีงานของทิเชียนที่เปลี่ยนกลับไปเป็นของจอร์โจเน งานชิ้นแรกๆ ที่สุดของทิเชียนเป็นภาพ “พระเยซูปางทรมาน” (Ecce Homo) [2]ที่วัดซานรอคโค (Chiesa di San Rocco) เป็นภาพที่ก่อนหน้านั้นเชื่อกันว่าเป็นงานเขียนโดยจอร์โจเน
ช่างเขียนสองคนนี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นผู้นำในการเขียนภาพแบบ “สมัยใหม่” (arte moderna) ซึ่งเป็นการเขียนที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม และไม่เน้นความสมมาตรอย่างเช่นที่พบในงานของเจ็นทิเล เบลลินี
ระหว่างปี ค.ศ. 1507 ถึงปี ค.ศ. 1508 จอร์โจเนได้รับสัญญาจากรัฐให้เขียนจิตรกรรมฝาผนังภายนอกหอพ่อค้าเยอรมัน (Fondaco dei Tedeschi) [3] ทิเชียนและมอร์โต ดา เฟลเตร (Morto da Feltre) ก็ทำงานชิ้นนี้ด้วย งานชิ้นนี้ยังมีเหลืออยู่บ้างแต่เป็นของจอร์โจเน งานของทิเชียนและจอร์โจเนเป็นที่ทราบเพราะงานสลักโลหะของฟอนทานา หลังจากจอร์โจเนเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1510 ทิเชียนก็ยังคงเขียนภาพแบบจอร์โจเนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็เริ่มวิวัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นการใช้ฝีแปรงที่แสดงความรู้สึกมากขึ้น
พรสวรรค์ของทิเชียนในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังจะเห็นได้จากงานเขียนในปี ค.ศ. 1511 ที่วัดคาร์เมไลท์ที่ปาดัว และที่สคูโอลาเดลซานโต งานบางส่วนยังหลงเหลืออยู่บ้างรวมทั้ง “การพบกันที่ประตูทอง” (Meeting at the Golden Gate) , ฉากสามฉากจากชีวิตของนักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว, “การฆาตกรรมของหญิงสาวโดยสามี” (Murder of a Young Woman by Her Husband) , “เด็กกล่าวเป็นพยานในความบริสุทธิ์ของแม่” (A Child Testifying to Its Mother's Innocence) และ “นักบุญรักษาชายหนุ่มแขนหัก” (The Saint Healing the Young Man with a Broken Limb)
เมื่อปี ค.ศ. 1512 ทิเชียนย้ายกลับไปเวนิสจากปาดัว และในปี ค.ศ. 1513 ก็ได้รับใบอนุญาตจากหอพ่อค้าเยอรมัน และได้เป็นหัวหน้างานของรัฐบาลที่มีหน้าที่บริหารการเขียนภาพต่อจากที่จิโอวานนี เบลลินีที่ทำค้างไว้ภายในวังของดยุก ทิเชียนตั้งสติวดิโอบนแกรนด์คาแนลที่ซานซามูเอล แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากใบอนุญาตนี้จนกระทั่งหลังจากที่เบลลินีเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1516 ใบอนุญาตนี้ทำให้ทิเชียนได้รับเงินรายได้ปีละ 20 คราวน์และได้รับยกเว้นจากภาษีบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเขียนภาพเหมือนของดยุกของเวนิสเป็นจำนวนเงิน 8 คราวน์ต่อภาพ ทิเชียนเขียนด้วยกันทั้งหมด 5 ภาพ
ผลงาน
แก้จอร์โจเนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1510 และเจ็นทิเล เบลลินีผู้มีอายุมากแล้วในปี ค.ศ. 1516 ทำให้ทิเชียนไม่มีคู่แข่งในการเขียนภาพแบบเวนิส หลังจากนั้นก็เป็นช่างเขียนที่ไม่มีใครมีชื่อเสียงเท่าเทียมได้อยู่หกสิบปี ในปี ค.ศ. 1516ทิเทียนก็ได้รับเงินบำนาญจากเซเน็ท
ระหว่างปี ค.ศ. 1516 ถึงปี ค.ศ. 1530 เป็นช่วงเวลาที่ทิเทียนประสพความสำเร็จในวิธีการเขียน เริ่มแยกจากอิทธิพลของจอร์โจเนมาเป็นลักษณะการเขียนของทิเชียนเอง นอกจากนั้นก็ยังเลือกงานที่สลับซับซ้อนมากขึ้นและชิ้นใหญ่ขึ้น
ในปี ค.ศ. 1518 ทิเทียนเขียนฉากแท่นบูชาเอก “อัสสัมชัญของพระแม่มารี” ที่บาซิลิคา ดิ ซานตา มาเรีย กลอริโอซา เดอิ ฟราริ (Basilica di Santa Maria Gloriosa dei Frari) ที่ถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอก งานเขียนชิ้นเด่นนี้เป็นงานเขียนขนาดใหญ่ซึ่งไม่เคยทำกันมาก่อนในอิตาลึ
โครงสร้างของภาพแบ่งเป็นสองหรือสามฉากที่รวมกันในภาพเดียวกันที่ทืเชียนนำไปใช้ในการเขียนภาพที่ซานโดเมนนิโคที่อันโคนาในปี ค.ศ. 1520, เบรสเชีย ในปี ค.ศ. 1522 และซานนิโคโล ในปี ค.ศ. 1523 แต่ละครั้งที่เขียนคุณภาพการเขียนก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดก็ถึงจุดที่เป็นสูตรคลาสสิกเช่นในภาพเขียน “พระแม่มารีเปซาโร” (ค.ศ. 1518-1526) ที่ซานตา มาเรีย กลอริโอซา เดอิ ฟราริ ที่เวนิส งานเขียนชิ้นนี้ของทิเชียนอาจจะเป็นงานเขียนชิ้นที่ศึกษากันมากที่สุด
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทิเชียนมีชื่อเสียงมากที่สุดและงานของทิเชียนก็เป็นที่ต้องการจากผู้จ้าง ในปี ค.ศ. 1530 ทิเชียนเขียน “ความตายของนักบุญปีเตอร์ผู้พลีชีพ” (The Death of St. Peter Martyr) เดิมอยู่ที่วัดโดมินิกันบาซิลิกาดิซานซานิโปโลแต่ถูกทำลายโดยลูกระเบิดของออสเตรียในปี ค.ศ. 1867 ที่เหลือยู่ก็เพียงรูปที่สลักบนโลหะซึ่งแสดงถึงความรุนแรงของเนื้อหาของภาพและการวาดภูมิทัศน์ ที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ใหญ่ที่ให้เพื่มความเป็นาฏกรรมของภาพมากขึ้นและทำให้ภาพเริ่มออกไปทางบาโรก
ขณะเดียวกันทิเชียนก็ยังเขียนภาพขนาดเล็กเช่นพระแม่มารีซึ่งเป็นภาพท่ามกลางภูมิทัศน์ที่สวยงาม หรือภาพ “พระแม่มารีกับกระต่าย” (Virgin with the Rabbit) และภาพ “การบรรจุพระเยซู” (Entombment) ในช่วงเวลานี้ทิเชียนก็เริ่มเขียนภาพจากตำนานเทพขนาดใหญ่สำหรับเป็นงานสะสมของอัลฟองโซ เดสเต (Alfonso d'Este) ที่เฟอร์รารา เช่นภาพ “Bacchanals” และ “บาคคัสและอาริอาดเน” (Bacchus and Ariadne) ซึ่งอาจจะเป็นงานที่ไม่ใช่งานเขียนเกี่ยวกับศาสนาที่ดีที่สุดในสมัยเรอเนซองต์[5] นอกจากนั้นทิเชียนก็ยังเขียนภาพครึ่งตัวของสตรีซึ่งอาจจะเป็นสตรีในราชสำนัก เช่นภาพ “Flora” และ “สตรีในห้องอาบน้ำ” (The Young Woman at Her Toilet)
ในปี ค.ศ. 1525 ทิเชียนแต่งงานกับซิซิเลียซึ่งทำให้พอมโพนิโอลูกคนแรกเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทิเชียนกับซิซิเลียมีลูกด้วยกันอีกสองคนหรืออาจจะสามรวมทั้งลูกคนโปรดของทิเชียนโอราซิโอ ผู้กลายมาเป็นผู้ช่วยของทิเชียนต่อมา ราวปี ค.ศ. 1526 ทิเชียนรู้จัก เปียโร อาเรติโน (Pietro Aretino) ซึ่งเป็นผู้ที่มีลักษณะที่ออกจะเป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้น ทิเชียนส่งภาพเหมือนของอาเรติโนไปให้กอนซากา ดยุกแห่งมานตัว
ในปี ค.ศ. 1530ซิซิเลียเสียชีวิตจากการคลอดลูกสาว ลาวิเนีย ทิเชียนกับลูกสามคนย้ายบ้านและทิเชียนเรียกออร์ซาน้องสาวจากคาดอเรให้มาช่วยดูแลครอบครัว คฤหาสน์ของทิเชียนอยู่ที่บินกรานเดซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้มีฐานะชานเมืองเวนิสพร้อมด้วยสวนและทิวทัศน์ไปทางมูราโน
สมัยรุ่งเรือง
แก้ในช่วงระยะเวลาต่อมาระหว่าง ค.ศ. 1530 ถึง ค.ศ. 1550 ทิเชียนก็วิวัฒนาการลักษณะการเขียนเช่นในภาพ “ความตายของนักบุญปีเตอร์ผู้พลีชีพ” ในขณะเดียวกันรัฐบาลเวนิสก็ไม่พอใจที่ทิเชียนละเลยงานเขียนที่วังดยุก และสั่งให้ทิเชียนคืนเงินที่ได้รับไปในปี ค.ศ. 1538 และหันไปจ้างพอร์เดโนเนคู่แข่งมาแทนตำแหน่งของทิเชียน แต่พอร์เดโนเนก็มาเสียชีวิตในปลายปีและทิเชียนผู้ขณะนั้นขยันขันแข็งกับการเขียนภาพ “ยุทธการแห่งคาโดเร” (Battle of Cadore) ก็ได้รับจ้างกลับมาใหม่ ฉากยุทธการนี้และงานเขียนสำคัญๆ ของจิตรกรเวนิสสูญเสียไปกับเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในวังดยุกแห่งเวนิส (Doge's Palace) ในปี ค.ศ. 1577 . “ยุทธการแห่งคาโดเร” เป็นภาพขนาดเท่าคนจริงที่แสดงฉากการศึกของบาโตโลเมโอ ดาวิอาโน (Bartolomeo d'Alviano) นายพลเวนิสที่กำลังจู่โจมข้าศึกที่ทั้งม้าทั้งคนต้องถอยร่นลงไปในลำน้ำ งานชิ้นนี้เป็นความพยายามในการเขียนฉากความวุ่นวายของการศึกและความเป็นวีรบุรุษของผู้อยู่ในภาพให้เท่าเทียมกับภาพ “ยุทธการแห่งคอนแสตนติน” (Battle of Constantine) โดย ราฟาเอล, “ยุทธการแห่งคาสซินา” (Battle of Cascina) โดย ไมเคิล แอนเจโล และ “ยุทธการอันเกียริ” (The Battle of Anghiari) โดย เลโอนาร์โด ดา วินชี (สองภาพหลังเขียนไม่เสร็จ) ที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ดีนักที่อุฟฟิซิและงานแกะโลหะฝีมือปานกลางโดยฟอนทานา ภาพ “Speech of the Marquis del Vasto” (มาดริด, ค.ศ. 1541) ก็ถูกทำลายบางส่วนในเพลิงไหม้ แต่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ทิเชียนสร้างงานชิ้นเอกหลายชิ้นที่จะเห็นได้จากภาพ “การนำเวอร์จินแมรีเข้าวัด” (Presentation of the Blessed Virgin) (เวนิส, ค.ศ. 1539) ซึ่งเป็นงานเขียนที่นิยมกันมากชิ้นหนึ่ง และงาน “พระเยซูปางทรมาน” (เวียนนา, ค.ศ. 1541) แม้ว่าภาพยุทธการจะเป็นงานที่สูญหายไปแต่ก็เป็นงานที่มีอิทธิพลต่อการเขียนแบบโบโลนยาและต่อปีเตอร์ พอล รูเบนส์มาก ทั้งในด้านการเขียนรายละเอียดและการเขียนความยุ่งเหยิงของเนื้อหาที่เห็นจากทหาร, ม้า, กลุ่มผู้คนที่วุ่นวายที่ตีนบันไดถือคบเพลิง และมีแถบปลิวสไวในท้องฟ้า
งานที่ไม่ค่อยดีนักในช่วงนี้คืองานที่โดมในวัดซานตามาเรียเดลลาซาลูเต (“ความตายของเอเบล”, “การสังเวยของเอบราฮัม”, “เดวิดและโกไลแอธ”) ฉากที่ทารุณเหล่านี้ต้องดูจากเบื้องล่าง—เช่นงานในชาเปลซิสติน —ซึ่งตามปกติแล้วเป็นสถานะการณ์ที่ออกจะลำบากสำหรับผู้ชม แต่จะอย่างไรก็ตามก็ยังเป็นงานที่มีผู้เลียนแบบรวมทั้งปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ผู้ใช้ระบบการเขียนในการสร้างงานบนเพดานสี่สิบเพดานสำหรับวัดเยซูอิดที่อันท์เวิร์พ
ในช่วงเวลานี้เช่นกันที่ทิเชียนมีโอกาสเดินทางไปกรุงโรม เป็นช่วงที่เริ่มเขียนภาพชุดวีนัสนอนเอนหลายภาพ (“วีนัสแห่งเออร์บิโน” และ “วีนัสและความรัก” ของอุฟฟิซิ และ “วีนัสกับคนเล่นออร์แกนและคิวปิด” ที่มาดริด) ที่แสดงให้เห็นปฏิกิริยาของทิเชียนต่อการได้เห็นงานประติมากรรมกรีกโรมันในโรม จอร์โจเน เริ่มเขียนภาพหัวเรื่องนี้แล้วในภาพที่เดรสเดนที่มาเขียนเสร็จโดยทิเชียนแต่แทนที่จะเป็นผ้าเดรพสีม่วงที่แทนภูมิทัศน์เปลี่ยนไปจากความกลมกลืนของสีที่ทำให้ความหมายของภาพเปลี่ยนไป
ตั้งแต่เริ่มอาชีพการเขียนภาพทิเชียนก็แสดงความสามารถในการเขียนภาพเหมือน เช่นในงาน “ความงาม” (La Bella ที่เป็นภาพเหมือนของอิสซาเบลลา กอนซากา ดัชเชสแห่งเออร์บิโนที่วังพิตติ) ทิเชียนเขียนภาพเหมือนของคนสำคัญๆ ทั้งเจ้านาย, ดยุก, นักบวช, ศิลปินด้วยกัน และนักประพันธ์ ซึ่งสารานุกรมคาทอลิกบรรยายว่า “ไม่มีจิตรกรผู้ใดที่มีความสำเร็จในการดึงเอาสิ่งต่างๆ ออกมาที่ทั้งบอกลักษณะและให้ความงามแก่ผู้เป็นแบบ” เมื่อเปรียบลักษณะจิตรกรรมภาพเหมือนทิเชียนกับแรมบรังด์ และ ดิเอโก เวลาสเควซ (Diego Velasquez) แล้วก็จะสรุปได้ว่างานของทิเชียนมีคุณลักษณะภายในจากแรมบรังด์และความชัดเจนเที่ยงตรงจากเวลาสเควซ
งานเขียนภาพเหมือนที่มีชื่อก็ได้แก่ภาพเหมือนของพระสันตะปาปาพอลที่ 3 ที่ เนเปิลส์ หรืองานร่างพระสันตะปาปาพอลที่ 3 และหลานสองคน, the ภาพเหมือนของเปียโตร อาเรติโน ที่วังพิตติ, “เอเลนอราแห่งโปรตุเกส” (มาดริด) และภาพชุดของจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ภายในพิพิธภัณฑ์เดียวกัน, “ภาพเหมือนของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 และสุนัขเกรย์ฮาวนด์” (ค.ศ. 1533) และโดยเฉพาะ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 ที่มึลเบิร์ก” (ค.ศ. 1548) ภาพทรงม้าถือว่าเป็นซิมโฟนีของสีม่วงที่แสดงความความสมบูรณ์ที่สุดของลักษณะการวาดภาพเหมือน หลังจากเขียนภาพของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 เสร็จในปี ค.ศ. 1532 ที่โบโลนยาทิเชียนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเคานท์พาเลไทน์และอัศวินแห่งโกลเด็นสเปอร์ (knight of the Golden Spur) ลูกของทิเชียนก็ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางของจักรวรรดิในโอกาสเดียวกันซึ่งเป็นตำแหน่งที่เป็นเกียรติสูงสุดแก่ทิเชียน
ในด้านความสำเร็จในอาชีพในช่วงนี้ของทิเชียนก็เปรียบได้กับราฟาเอล, ไมเคิล แอนเจโล และต่อมาปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ในปี ค.ศ. 1540 ทิเชียนก็ได้รับเบี้ยบำนาญจากดาวาโลส มาควิส เดล วาสโต และเงินประจำปีอีก 200 คราวน์จากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ต่อมาเพิ่มเป็นสองเท่าจากพระคลังที่มิลาน นอกจากนั้นทิเชียนก็ยังมีรายได้ส่วนตัวจากการขายข้าวแก่คาโดเร
ทิเชียนมีวิลลาที่ชอบที่เนินมันซาซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าเป็นที่ที่ใช้ศึกษาภูมิทัศน์และความเปลี่ยนแปลงจากบรรยากาศ และที่เรียกกันเล่นๆ ว่าโรงสีของทิเชียนอยู่ที่โคลโลโทลาใกล้เบลลูโน[6]
ทิเชียนเดินทางไปกรุงโรมในปี ค.ศ. 1546 และได้รับสิทธิเสรีภาพเมืองซึ่งเป็นสิทธิพิเศษ—ผู้ที่ได้รับก่อนหน้านั้นคือไมเคิล แอนเจโล ในปี ค.ศ. 1537 ขณะเดียวกันทิเชียนก็อาจจะได้รับช่วงต่อจากจิตรกรเซบาสเตียน เดล พิออมโบ ผู้ได้รับตราจากพระสันตะปาปา ทิเชียนพร้อมที่จะยอมรับศีลบวชเพื่อจะได้รับตราแต่ก็มิได้มีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งถูกเรียกตัวจากเวนิสในปี ค.ศ. 1547 เพื่อเขียนภาพพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 และผู้อื่นในเอาก์สบวร์ค ต่อมาก็กลับไปอีกในปี ค.ศ. 1550 เพื่อวาดภาพเหมือนสำหรับพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน เพื่อส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษเพื่อการพิจารณาในการเป็นคู่
บั้นปลาย
แก้ในช่วงยี่สิบห้าปีสุดท้าย (ค.ศ. 1550-ค.ศ. 1576) ทิเชียนทำงานให้กับพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 เป็นส่วนใหญ่และเป็นจิตรกรภาพเหมือน และเริ่มเพิ่มการวิจารณ์งานตนเองมากขึ้นโดยพยายามทำงานที่ให้มีความ “สมบูรณ์ที่สุด” บางครั้งก็จะเก็บภาพไว้เป็นปีๆ และเวียนกลับไปต่อเติมครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ดีขึ้น และยังกลับไปเอาภาพเก่าที่เขียนโดยลูกศิษย์มาแต่งใหม่ซึ่งทำให้การบ่งว่าใครเป็นผู้เขียนทำได้ยาก นอกจากนั้นปัญหาการบ่งงานของทิเชียนยังทำให้ยากขึ้นเมื่องานถูกลอกเลียนกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่จนเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว
ทิเชียนมักจะพยายามแสวงหาสูตรการแก้ปัญหาต่างๆ ในการเขียนภาพ เมื่อพบวิธีแก้แล้วก็จะหาปัญหาใหม่ แต่จะอย่างไรก็ตามไม่มีงานใดที่จะเทียบอารมณ์และนาฏกรรมของงาน “พระเยซูสวมมงกุฏหนาม” (พิพิธภัณฑ์ลูฟร์) ที่แสดงความลึกลับ; หรือความเป็นเทพที่ไม่มีงานใดเท่าเทียมใน “การแสวงบุญของเอ็มมาอุส” และความเป็นวีระบุรุษและความยิ่งใหญ่ในงาน “ดยุกกริมานิศรัทธา” (วังดยุกแห่งเวนิส) และงาน “พระตรีเอกานุภาพ” ที่มาดริด
แต่ถ้าจะพิจารณาการใช้สีที่ดีแล้วก็จะเห็นได้จากภาพที่เขียนเมื่อมีอายุมากเช่น “ดัน” ที่เนเปิลส์และมาดริด, “เทพอันติโอพ” (Antiope) ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์, “การข่มขืนยูโรปา” ที่พิพิธภัณฑ์อิสซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ (บอสตัน) และอื่นๆ นอกจากนั้นทิเชียนก็ยังพยายามใช้เท็คนิคการใช้แสงเงาตัดกัน (chiaroscuro) ที่ได้ผลอย่างดีในการเขียนฉากกลางคืนในงาน “การพลีชีพของนักบุญลอเรนซ์” (วัดเยซูอิดที่เวนิส) และ “นักบุญเจอโรม” (พิพิธภัณฑ์ลูฟร์) ในการเขียนที่แสดงความเป็นจริงทิเชียนก็ยังมีความสามารถเช่นในงานเขียนภาพเหมือนของพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 หรือภาพของลัตวิเนียลูกสาว และภาพของตนเองหลายภาพซึ่งเป็นงานหนึ่งในจำนวนงานชิ้นเอกที่เขียน
ทิเชียนจัดการหมั้นลัตวิเนียลูกสาวที่เป็นแบบให้ทิเชียนเขียนหลายครั้งกับคอร์เนลิโอ ซาร์ซิเนลลิแห่งเซอร์ราวาลเล ลัตวิเนียเป็นผู้จัดการดูแลบ้านช่องหลังจากที่ออร์ซาเสียชีวิต การแต่งงานเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1554 แต่ลัตวิเนียมาเสียชีวิตจากการคลอดลูกเพียงไม่กี่ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1560
ทิเชียนปรากฏตัวที่การประชุมสภาบาทหลวงแห่งเทร้นต์ ในปี ค.ศ. 1555 ซึ่งมีภาพที่เขียนจากเหตุการณ์นี้ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในปี ค.ศ. 1556 อเรติโนเพื่อนของทิเชียนก็เสียชีวิตและในปี ค.ศ. 1570 จาโกโป ซานโซวีโน สถาปนิกและประติมากรผู้เป็นเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งก็เสียชีวิต ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1565 ทิเชียนเดินทางไปคาโดเรและออกแบบการตกแต่งวัดที่วัดที่ปิเอเว ที่ส่วนหนึ่งทำโดยลูกศิษย์ ภาพหนึ่งเป็นภาพการแปรรูปของพระเยซูและอีกภาพหนึ่ง “การประกาศของเทพ” (วัดซานซาลวาดอร์แห่งเวนิส) มีคำจารึก “Titianus fecit” ว่ากันว่าเป็นการประท้วงต่อการที่ถูกวิจารณ์
ทิเชียนก็ยังคงรับงานต่อจนวาระสุดท้าย และได้เลือกที่บรรจุศพเอาไว้ที่ชาเปลแห่งกางเขนที่วัดแห่งฟราน และใช้ภาพ “ปีเอต้า” แก่พระฟรานซิสคันในการแลกเปลี่ยนกับหลุมที่จะฝังซึ่งเป็นภาพที่มีตัวทิเชียนเองและลูกชายโอราซิโออยู่ในภาพ แต่งานนี้เป็นงานเขียนที่ยังเขียนไม่เสร็จ ต่อมาทิเชียนเปลี่ยนใจให้กลับไปบรรจุที่บ้านเกิดที่พิเอเว
ทิเชียนเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยแพร่หลายเมื่อมาเสียชีวิตด้วยกาฬโรคที่ระบาดในเวนิสเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1576 ทิเทียนเป็นผู้เดียวที่เป็นเหยื่อของโรคร้ายที่ได้รับการทำพิธีและฝังในวัดที่บาซิลิกาซานตามาเรีย กลอริโอซา เดอิ ฟราริ ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรง งาน “ปีเอต้า” มาเขียนเสร็จโดย ปาร์มาผู้ลูก (Palma the Younger) ทิเชียนนอนอยู่ไม่ไกลจากภาพเขียนที่มีชื่อเสียงของตนเอง “พระแม่มารีเปซาโร” หลุมศพของทิเชียนไม่มีเครื่องหมายจนกระทั่งต่อมาอีกนานเมื่อผู้ปกครองออสเตรียนจ้างอันโตนิโอ คาโนวา (Antonio Canova) ให้สร้างอนุสาวรีย์ใหญ่ให้
ไม่นานหลังจากการเสียชีวิตของทิเชียน โอซาริโอลูกชายก็เสียชีวิตด้วยโรคเดียวกัน คฤหาสน์ของทิเชียนถูกปล้นหลังจากนั้น
อ้างอิง
แก้- ↑ ดูข้างล่าง; โดยทั่วไปยอมรับปี ป. 1488/1490 แม้จะมีข้อขัดแย้งว่าเขามีชีวิตนานกว่า Getty Union Artist Name List และ Metropolitan Museum of Art timeline, retrieved 11 February 2009 ทั้งสองใช้ ป. ค.ศ. 1488 และใน When Was Titian Born? เก็บถาวร 2020-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สนับสนุน ค.ศ. 1477—ซึ่งไม่ใช่มุมมองทั่วไปในตอนนี้ Gould (pp. 264–66) ใช้หลักฐานโดยไม่สรุปปี Charles Hope ใน Jaffé (p. 11) พูดถึงเรื่องนี้ แล้วตั้งให้ "อยู่ในหรือก่อน ค.ศ. 1490" เช่นเดียวกันกับ (p. 201) "น่าจะใน ค.ศ. 1490 หรือก่อนหน้านั้นช่วงหนึ่ง" คำถามนี้ยังคงมีอยู่ในข้อโต้แย้งในการแบ่งผลงานระหว่างจอร์โจเนกับทิเชียนผู้เยาว์
- ↑ "Metropolitan Museum of Art timeline". Metmuseum.org. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
- ↑ Cecil Gould, The Sixteenth Century Italian Schools, National Gallery Catalogues, London 1975, ISBN 0-947645-22-5
- ↑ 4.0 4.1 David Jaffé (ed) , Titian, The National Gallery Company/Yale, London 2003, ISBN 1 857099036
- ↑ Catholic Encyclopedia
- ↑ R. F. Heath, “Life of Titan”, page 5.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Titian's paintings ภาพเขียนของทิเชียน (อังกฤษ)
- ทิเชียนที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเว็บ (อังกฤษ)
- Bell, Malcolm งานสมัยแรกของทิเทียน ที่ Internet Archive (อังกฤษ)
สมุดภาพ
แก้-
“ภาพเหมือนของเปียโตร อาเรติโน” (Pietro Aretino) (ราว ค.ศ. 1512)
-
“พระแม่มารีและพระบุตรและนักบุญแอ็กเนสและนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” (ราว ค.ศ. 1528) พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจอง, ประเทศฝรั่งเศส
-
“ชะลอร่างจากกางเขน” (ราว ค.ศ. 1559) พิพิธภัณฑ์ปราดา, ประเทศสเปน
-
“ซาโลเม” และพระเศียรนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์
-
“The fall of man” พิพิธภัณฑ์ปราดา, ประเทศสเปน ประเทศรัสเซีย