ชักพระ

ประเพณีในทางภาคใต้ ประเทศไทย

ประเพณีชักพระ ประเพณีลากพระ หรือ ประเพณีแห่พระ เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาซึ่งพบมากในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นประเพณีที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่รอบเมืองในวันหลังวันออกพรรษา ถือเป็นการจำลองเหตุการณ์ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยการอัญเชิญพระพุทธรูป ขึ้นประดิษฐานบนเรือพระแล้วชักลากไปในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญ มีการแห่เรือพระ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ เรือพระบก สำหรับแห่ทางบก และเรือพระน้ำ สำหรับแห่ทางน้ำ โดยเรือจะมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

ประเพณีชักพระ
ซ้าย : ประเพณีชักพระที่คลองชักพระ บริเวณวัดช่างเหล็ก ขวา : เรือพนมพระในประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จัดขึ้นโดยพบมากในภาคใต้ของประเทศไทย
การถือปฏิบัติอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่รอบเมือง
วันที่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ความถี่เทศกาลประจำปี

ประวัติ แก้

สันนิษฐานว่า ประเพณีชักพระน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียตามศาสนาพราหมณ์ ซึ่งนิยมนำเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การแห่เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระนารายณ์ เป็นต้น พุทธศาสนิกชนจึงนำแนวคิดนี้มาดัดแปลงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่เล่ากันว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว

พระพุทธองค์เสด็จมาถึงประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนได้ราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลาน์ ต่างมารอรับเสด็จพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ แต่ก็ไม่สามารถส่งได้ทันใจจึงต้องโยนบ้าง ปาบ้าง เหตุการณ์นี้จึงเกิดประเพณี ห่อต้ม หรือ ห่อปัด จากนั้นได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบก แห่ไปยังที่ประทับของพระองค์ ภายหลังจึงมีประเพณีเช่นนี้สืบต่อกันมาในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11[1]

จากบันทึกของอี้จิง ภิกษุชาวจีน ซึ่งจาริกผ่านคาบสมุทรมลายู เมื่อ พ.ศ. 1214–1238 ได้เห็นประเพณีนี้ที่เมืองโฮลิง (ตันมาลิงหรือตามพรลิงค์) จึงเชื่อว่าประเพณีชักพระน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย[2] โดยบันทึกไว้ว่า

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งมีคนแห่แหนนำมาจากวัดโดยประดิษฐานบนรถหรือบนแคร่มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่แวดล้อมมา มีการตีกลองและบรรเลงดนตรีต่าง ๆ มีการถวายของหอมดอกไม้และถือธงชนิดต่าง ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด พระพุทธรูปเสด็จไปสู่หมู่บ้านด้วยวิธีดังกล่าวนี้ภายใต้เพดานกว้างขวาง

ในสมัยอยุธยาปรากฏในเรื่องประทวนตราให้แก่พระครูอินทโมฬี คณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุงใน พ.ศ. 2242 ว่า "แลราชการเมืองซึ่งเป็นพำนัดแก่ขุนหมื่นกรมคณะป่าแก้ว มีหน้าที่เมืองเส้นหนึ่งพระราชพิธีตรุศสารท แลงานลากพระ เจ้าเมืองจะได้เบียดเสียดเอาข้าพระไปใช้ราชการนอกนั้นหามิได้" ส่วนในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีระบุถึงผู้ตีกลอง ว่า "ขุนรันไภรีถือศักดินา 200 พนักงานตีกลองแห่พระ" ตำแหน่งนี้มีมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชครั้งรัชกาลที่ 2 ว่า "ขุนรันไภรีถือศักดินา 200 พนักงาน ตีกลอง แห่พระ"

ขั้นตอน แก้

 
ชุดแต่งตัวสำหรับการลากเรือพระ ในประเพณีชักพระที่คลองชักพระ กรุงเทพมหานคร

ก่อนถึงวันชักพระจะมี การคุมพระ ที่วัด คือ จะตีตะโพนหรือกลองเพลก่อนจะถึงวันชักพระประมาณ 10–15 วัน เพื่อเป็นการเตือนชาวบ้านว่าจะมีการชักพระ หลังจากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเรือ ถ้าเป็นการชักพระทางบก จะมีการจัดเตรียมขบวนผู้คนที่จะชักพระ ชุดแต่งตัวสำหรับการลากเรือพระ หรือมีการฟ้อนรำหน้าเรือพระ หากเป็นการชักพระทางน้ำ ชาวบ้านจะเตรียมตัวตกแต่งเรือพาย สรรหาฝีพาย และเตรียมเครื่องแต่งตัว

การชักพระจะเริ่มตอนเช้าตรู่ของวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 และเริ่มชักพระเป็นวันแรก ประชาชนจะเดินทางไปวัด เพื่อนำภัตตาหารไปใส่บาตร หลังจากที่พระฉันภัตตาหารเสร็จ ชาวบ้านจะนิมนต์พระภิกษุในวัดขึ้นนั่งประจำเรือพระ แล้วชาวบ้านจะช่วยกันลากเรือพระ ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ หากเป็นทางน้ำจะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการชักพระทางบก จะใช้คนเดินลาก ซึ่งก่อนถึงช่วงเวลาเพล เรือพระที่ลาก จะมาถึงที่ชุมนุมเรือพระ ทั้งการชักพระทางบกและการชักพระทางน้ำ เพื่อให้ประชาชนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณร ที่ชุมนุมเรือพระจึงคับคั่งไปด้วยประชาชน

สถานที่จัด แก้

การชักพระทางน้ำที่โด่งดังและมีชื่อเสียงอยู่ที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อำเภอพุนพินและอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นต้น[3] งานที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย จากรัฐเปรัก ร่วมกันชักลากเรือพระรวมถึงส่งเรือร่วมงาน[4]

ประเพณีชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันยังคงมีในหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน อำเภอเวียงสระ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ส่วนอำเภออื่น ๆ แม้ไม่ได้มีการจัดงานประเพณีชักพระในอำเภอ แต่ล้วนมีส่วนร่วมในงานประเพณีชักพระทั้งสิ้น เช่น ส่งเรือพระเข้าร่วมงานประเพณีชักพระที่ทางอำเภอเมืองจัดขึ้น[5]

ในกรุงเทพมหานครมีการจัดงานประเพณีชักพระหรือในปัจจุบันเรียกว่า งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ จัดในช่วงวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 มีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสู่พระมณฑป ณ วัดนางชี เขตภาษีเจริญ ใช้เส้นทางคลองด่าน ผ่านคลองบางกอกใหญ่ เข้าคลองชักพระ และสิ้นสุดที่สำนักงานเขตตลิ่งชัน[6]

เรือพระ แก้

 
เรือพระ

เรือพระมีวิวัฒนาการมาจากหนวน ซึ่งมีไม้ท่อนสองท่อนใหญ่ ส่วนหัวและท้ายมีรูปลักษณ์คล้ายเรือ วางเคียงกันมีระยะห่างประมาณ 15 เมตร สำหรับวางกระบะไม้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ไม้แผ่นเรียบด้านล่างและตีกั้นรอบ ๆ ทั้งสี่ด้านเพื่อบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ ใช้สัตว์ชักลาก ต่อมามีการใช้ล้อเลื่อน ทำรถสำหรับบุษบกซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อชักลาก[7]

ทางบกบุษบกจะตั้งอยู่บนพาหนะ ทำเป็นรูปเรือหรือพญานาคเรียกกันว่า นมพระ (พนมพระ) หากเป็นทางน้ำเรียก เรือพระ คือการเอาเรือหลายลำมาเทียบเรียงขนานผูกติดกันเป็นแพขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งอย่างปราสาทมณฑปวิจิตรงดงาม แห่แหนมีเครื่องดนตรีประโคมไปตามทางน้ำ ทำให้เกิดประเพณีการละเล่นตามมา เช่น การเล่นเพลงเรือ การประชันปืด (ตะโพน) การประชันโพน(กลอง) การแข่งเรือ และการประกวดประชันอื่น ๆ ตลอดจนการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในงานประเพณีเป็นต้น[8]

ปัจจุบันเรือพระส่วนใหญ่นิยมใช้รถกระบะ ตกแต่งด้วยโฟมแกะสลักเป็นลวดลายไทย สีสันสวยงามมาก

อ้างอิง แก้

  1. "ประเพณีชักพระ". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-21. สืบค้นเมื่อ 2021-11-21.
  2. พงศ์ไพบูลย์, สุธิวงศ์ (2529). สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 8. p. 3153.
  3. "ประเพณีลากพระ (Traditional Lak Phra)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  4. "แห่ทำบุญคึกคักทั่วไทย วันออกพรรษา มาเลย์ร่วมชักพระเบตง". แนวหน้า.
  5. พระมหาฐิติพงศ์ชูจิตต. "บทบาทของพระสงฆ์ต่อการมีส่วนร่วมในการสงวนรักษา ประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 17.
  6. "กทม.สืบสาน "ประเพณีชักพระ" เก่าแก่แต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์". สยามรัฐออนไลน์.
  7. ในชีวิตไทยปักษ์ใต้. วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช. 2519. p. 16.
  8. สถาพร คงขุนทศ. (2536). ประเพณีชักพระ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.