วัดช่างเหล็ก (กรุงเทพมหานคร)

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดช่างเหล็ก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของคลองชักพระ ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

วัดช่างเหล็ก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดช่างเหล็ก, วัดปางเหล็ก
ที่ตั้งเลขที่ 161 ซอยฉิมพลี 1 ถนนฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อดำ
เจ้าอาวาสพระครูสังฆรักษ์วรท อภิวโร
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดช่างเหล็กเดิมชื่อ วัดปางเหล็ก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2323 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2330[1] แต่สันนิษฐานว่าวัดน่าจะเก่าแก่กว่านั้น ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปหินทรายหรือหลวงพ่อดำ และตำแหน่งของเขตพุทธาวาสของวัดที่ตั้งที่อยู่ห่างจากฝั่งคลองชักพระซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมมาก เชื่อว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา[2] ก่อนที่จะได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น รูปทรงอุโบสถที่อาจเก่าถึงรัชกาลที่ 1 และเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 2 องค์ที่หน้าอุโบสถ

ชื่อของวัดนั้นมาจากอาชีพของชาวบ้านรอบ ๆ วัดที่มีอาชีพตีเหล็ก โดยเฉพาะทำเคียวเกี่ยวข้าว เพราะฝีมือการตีเคียวเป็นที่เลื่องลือ[3]

วัดมีโรงเรียนปริยัติธรรมเปิดสอนเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2484 นอกจากนี้ยังได้ให้ที่ดินสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาขึ้นในที่วัดและจัดให้มีห้องสมุดประชาชนอีกด้วย

อาคารเสนาสนะ

แก้

อุโบสถสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2497 มีขนาด 7 ห้อง ด้านหน้ามีประตู 3 ช่อง ด้านหลัง 2 ช่อง หน้าบันด้านหน้าเป็นรูปเทวดาทรงครุฑ ด้านหลังเป็นเทวดาทรงหนุมาน ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีน้ำมัน เป็นรูปพุทธประวัติฝีมือช่างร่วมสมัย ใบเสมาเป็นหินแกรนิตสีเทาดำ มีกนกเอวเป็นเศียรนาค ยอดเป็นมงกุฎครอบ

วิหารอยู่ข้างอุโบสถเป็นอาคารทรงไทย หน้าบันเป็นภาพพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อดำ หรือ หลวงพ่อปราการ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอก ผู้คนนิยมมาบนบานศาลกล่าวหลวงพ่อดำ โดยเฉพาะไม่ให้ติดทหาร มีการแก้บนคือไข่ต้มและลิเก วิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส เช่น พระครูศีลขันธ์วิจารณ์ (ทองดี)

เจดีย์ทรงเครื่องย่อมุม 2 องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งอยู่ลานด้านหน้าวิหารและอุโบสถ และมีเจดีย์ทรงระฆัง 2 องค์ ขนาดใกล้เคียงกันอยู่ด้านหน้าวัดด้านริมคลองบางกอกน้อย อีกองค์หนึ่งอยู่ใกล้ปากคลองบางระมาด มณฑปพระพุทธบาทตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง[4]

รายนามเจ้าอาวาส

แก้
  • พระภิกษุเพิก
  • พระภิกษุบ่าย พ.ศ. 2451
  • พระครูศีลขันธ์วิจารณ์ (ทองดี) พ.ศ. 2481–2525
  • พระอธิการเอื้อน โอภาโส (โบ)
  • พระวินัยธรสมพิศ ชุตินทโร
  • พระครูเกษมจิตตานุยุต (สวง)
  • พระครูวิมล วัชรกิตติ (วิเชียร มหาวีโร)
  • พระครูสังฆรักษ์วรท อภิวโร (2560-ปัจจุบัน)

อ้างอิง

แก้
  1. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-21.
  2. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. "วัดโบราณในคลองบางระมาด." เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.
  3. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. หน้า 160.
  4. "วัดช่างเหล็ก". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.