จังหวัดคานางาวะ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
จังหวัดคานางาวะ (ญี่ปุ่น: 神奈川県; โรมาจิ: Kanagawa-ken) เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคคันโต บนเกาะฮนชูของประเทศญี่ปุ่น[1] จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น (9,058,094 คน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2015) และมีพื้นที่ 2,415 ตารางกิโลเมตร (932 ตารางไมล์) จังหวัดคานางาวะติดกับโตเกียวทางทิศเหนือ จังหวัดยามานาชิทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และจังหวัดชิซูโอกะทางทิศตะวันตก
จังหวัดคานางาวะ 神奈川県 | |
---|---|
การถอดเสียงภาษาญี่ปุ่น | |
• ญี่ปุ่น | 神奈川県 |
• โรมาจิ | Kanagawa-ken |
พิกัด: 35°26′51.03″N 139°38′32.44″E / 35.4475083°N 139.6423444°E | |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
ภูมิภาค | คันโต |
เกาะ | ฮนชู |
เมืองหลวง | โยโกฮามะ |
เขตการปกครอง | อำเภอ: 6, เทศบาล: 33 |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ยูจิ คูโรอิวะ (黒岩祐治, ตั้งแต่เมษายน ค.ศ. 2011) |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 2,415.83 ตร.กม. (932.76 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 43 ของประเทศ |
ประชากร (1 ตุลาคม ค.ศ. 2015) | |
• ทั้งหมด | 9,058,094 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 2 ของประเทศ |
• ความหนาแน่น | 3,770 คน/ตร.กม. (9,800 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส ISO 3166 | JP-14 |
สัญลักษณ์ | |
• ต้นไม้ | แปะก๊วย (Ginkgo biloba) |
• ดอกไม้ | Golden-rayed lily (Lilium auratum) |
• สัตว์ปีก | Common gull (Larus canus) |
เว็บไซต์ | www |
โยโกฮามะเป็นเมืองหลวง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด และเป็นนครที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ เมืองใหญ่อื่น ๆ ในจังหวัด เช่น คาวาซากิ ซางามิฮาระ และฟูจิซาวะ[2] จังหวัดคานางาวะตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของประเทศ ติดกับอ่าวโตเกียวและอ่าวซางามิ โดยมีคาบสมุทรมิอูระคั่นกลางอ่าวทั้งสอง ฝั่งตรงข้ามของอ่าวโตเกียวเป็นที่ตั้งของจังหวัดชิบะ อยู่บนคาบสมุทรโบโซ จังหวัดคานางาวะเป็นส่วนหนึ่งของเขตมหานครโตเกียวและปริมณฑล ซึ่งเป็นเขตมหานครและปริมณฑลที่มีประชากรมากที่สุดในโลก โดยมีโยโกฮามะและนครอีกหลายแห่งที่เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ และเป็นชานเมืองทางใต้ของโตเกียว จังหวัดคานางาวะเคยเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคคามากูระ โดยเป็นช่วงที่คามากูระเป็นเมืองหลวงโดยพฤตินัย เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นที่ตั้งของรัฐบาลโชกุนคามากูระ ตั้งแต่ ค.ศ. 1185 ถึง 1333 จังหวัดคานางาวะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในภูมิภาคโตเกียว โดยมีคามากูระและฮาโกเนะเป็นสองจุดหมายหลักที่เป็นที่นิยม
ประวัติศาสตร์
แก้จังหวัดคานางาวะปรากฏเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 800 ปีก่อน โดยนักรบซามูไรที่ชื่อ มินาโมโตะ โยริโตโมะ ได้เลือกเมืองคามากูระเป็นที่ตั้งกองกำลังของเขา และหลังจากนั้นต่อมาอีกประมาณ 150 ปี เมืองคามากูระได้เป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ ศูนย์กลางทางการเมืองจะอยู่ที่ เคียวโตะ และ นาระ มาตลอด ในปี 1192 โยริโตโมะได้เป็นโชกุนคนแรก (ผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจทางทหาร) และอำนาจในการปกครองต่าง ๆ ก็เปลี่ยนมือจากขุนนางมาเป็นซามูไร เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสังคมศักดินาในประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลาถัดมานั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น คือ เริ่มต้นมีการเผยแพร่ศาสนาเซ็น และศาสนาพุทธนิกายอื่น ๆ ขึ้น และมีวิวัฒนาการด้านศิลปะและวรรณคดี
ในศตวรรษที่ 17 เมืองหลวงย้ายไปยังเมืองเอโดะแทน (เมืองโตเกียวในปัจจุบัน) ที่ซึ่งโชกุนตระกูลโทกูงาวะได้ตั้งรัฐบาลทหารของตนขึ้น และมีนโยบายเรื่องการปิดประเทศอย่างเข้มงวด ระหว่างสมัยเอโดะ ได้สร้างทางด่วนสายโทไกโด (เชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองเอโดะกับเกียวโต) ขึ้น ทำให้คานางาวะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างตะวันออก-ตะวันตกของญี่ปุ่น โชกุนตระกูลโทกูงาวะปกครองประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 300 ปี
โยโกฮามะเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดประเทศอีกครั้ง เมื่อปี 1853 กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาปรากฏตัวขึ้นที่หมู่บ้านอูรางะ พลเรือจัตวา แมทธิว เพอร์รี ได้กดดันให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ และตามมาด้วยการลงนามสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีและการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ท่าเรือโยโกฮามะเปิดขึ้นเมื่อปี 1859 ได้เปลี่ยนจากหมู่บ้านชาวเลเล็ก ๆ มาเป็นจุดกำเนิดของญี่ปุ่นสมัยใหม่ ในทันทีที่เปิดท่าเรือได้เปิดทำการ บริษัทต่างชาติมากกว่า 100 แห่งได้เข้ามาเปิดทำการในโยโกฮามะ ทำให้จำนวนชาวต่างชาติในโยโกฮามะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จนสามารถนับได้ว่ามีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ที่โยโกฮามะเกินกว่าครึ่งหนึ่งของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น วิวัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ของตะวันตกจะส่งผ่านเข้ามายังญี่ปุ่นโดยผ่านโยโกฮามะเป็นด่านแรก ทั้งโทรเลขและรถไฟก็มีจุดกำเนิดมาจากโยโกฮามะ และแม้แต่ไอศกรีม เบียร์ และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกก็ได้รับการกล่าวขานว่าเกิดขึ้นที่โยโกฮามะด้วย
ใน ค.ศ. 1923 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่ภูมิภาคคันโต รวมทั้งคานางาวะและโตเกียว แมกนิจูด 7.9 เฉพาะในจังหวัดคานางาวะมีผู้เสียชีวิต 30,000 คน และมีบ้านเรือนถูกทำลายถึง 230,700 ครัวเรือน หรือเทียบได้ถึง 86 % ของทั้งหมด
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโตก็ได้ทำลายพื้นที่อุตสาหกรรมรอบ ๆ อ่าวโตเกียวในคาวาซากิและโยโกฮามะ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1900 ด้วย อย่างไรก็ตาม ภายหลังแผ่นดินไหว อุตสาหกรรมในโยโกฮามะก็ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง แม้ว่าเมืองโยโกฮามะจะรุ่งเรือง แต่ว่าก็ถูกกระทบกระเทือนอีกครั้งจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 6,000 คน และผู้บาดเจ็บเกือบ 580,000 คน จากการโจมตีทางอากาศที่ โตเกียว คาวาซากิ โยโกฮามะ และบริเวณรอบนอกเมืองเหล่านั้น ภายหลังสงครามเสร็จสิ้นลง การปฏิรูปประชาธิปไตยต่าง ๆ ก็ได้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์หลังสงครามที่ยังไม่มั่นคง เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเสรี การปฏิรูปการครอบครองที่ดิน การสลายตัวของกลุ่มบริษัททางการเงิน การเริ่มต้นระบบการศึกษาภาคบังคับ แบบ 6-3 ปี เป็นต้น ในช่วงนี้ มีการเติบโตอย่างฉับพลันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ รวมทั้งทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการถางทางมาสู่พัฒนาการปัจจุบันของญี่ปุ่น แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรง ซึ่งตามมาพร้อมกับปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำ จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้แล้ว
ภูมิศาสตร์
แก้จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างเล็ก ตั้งอยู่บนขอบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบคันโต[3] กั้นระหว่างโตเกียวที่อยู่ทางทิศเหนือ เชิงเขาภูเขาไฟฟูจิทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อ่าวซางามิทางทิศใต้[3] และอ่าวโตเกียวทางทิศตะวันออก พื้นที่ด้านตะวันออกของจังหวัดค่อนข้างราบเรียบและมีความเป็นเมืองสูง เช่น เมืองท่าขนาดใหญ่อย่างโยโกฮามะและคาวาซากิ
พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณคาบสมุทรมิอูระมีความเป็นเมืองน้อย โดยมีเมืองโบราณคามากูระ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวัดและศาลเจ้าตั้งอยู่หลายแห่ง ส่วนพื้นที่ทางตะวันตกที่ติดกับจังหวัดยามานาชิและจังหวัดชิซูโอกะนั้น[4] มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา ประกอบด้วยสถานที่พักตากอากาศหลายแห่ง เช่น ที่เมืองโอดาวาระ และฮาโกเนะ ขนาดจังหวัดคานางาวะ มีความยาวจากเหนือจรดใต้ 60 กิโลเมตร และมีความยาวจากตะวันออกจรดตะวันตก 80 กิโลเมตร มีพื้นที่บนบกประมาณ 2,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพียงแค่ 0.64% ของพื้นที่บนบกของประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด[4] ดังนั้นคานางาวะจึงจัดได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 5 ของญี่ปุ่น
จากข้อมูลเมื่อ 1 เมษายน ค.ศ. 2012 ร้อยละ 23 ของพื้นที่บนบกของจังหวัดถูกกำหนดให้เป็นอุทยานธรรมชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติฟูจิ-ฮาโกเนะ-อิซุ, กึ่งอุทยานแห่งชาติทันซาวะ-โอยามะ, และอุทยานธรรมชาติของจังหวัด ได้แก่ จินบะซางามิโกะ มานาซูรุฮันโต โอกูยูงาวาระ และทันซาวะ-โอยามะ[5]
ภูมิประเทศของจังหวัดประกอบไปด้วยพื้นที่ที่แตกต่างกันสามส่วน พื้นที่ทางตะวันตกมีลักษณะเป็นภูเขา ประกอบด้วยเทือกเขาทันซาวะและภูเขาไฟฮาโกเนะ พื้นที่ทางตะวันออกเป็นเนินเขา ประกอบด้วยเนินเขาทามะและคาบสมุทรมิอูระ พื้นที่ตอนกลาง ซึ่งล้อมรอบเนินเขาทามะและคาบสมุทรมิอูระ ประกอบด้วยพื้นที่ต่ำรอบ ๆ แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำซางามิ แม่น้ำซาไก แม่น้ำสึรูมิ และแม่น้ำทามะ[4]
จังหวัดคานางาวะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของภูมิภาคคันโต และมีอากาศกำลังสบายเนื่องจากมีกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกไหลผ่าน ในเมืองโยโกฮามะซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนรวม 1,440 มิลลิเมตร
โดยแม่น้ำทามะเป็นแนวแบ่งอาณาเขตบางส่วนระหว่างคานางาวะและโตเกียว แม่น้ำซางามิไหลผ่านตอนกลางของจังหวัด และแม่น้ำซากาวะไหลผ่านบริเวณที่ราบเล็ก ๆ ทางด้านตะวันตกของจังหวัด เรียกว่า ที่ราบซากาวะ ซึ่งอยู่ระหว่างภูเขาไฟฮาโกเนะทางทิศตะวันตก และเนินเขาโออิโซะทางทิศตะวันออก และไหลลงสู่อ่าวซางามิ[3]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้จังหวัดคานางาวะประกอบด้วยเขตการปกครองต่าง ๆ ได้แก่ 19 นคร 6 อำเภอ 13 เมือง และ 1 หมู่บ้าน ดังนี้
นคร
แก้- คามากูระ (ญี่ปุ่น: 鎌倉市; โรมาจิ: Kamakura-shi)
- คาวาซากิ (ญี่ปุ่น: 川崎市; โรมาจิ: Kawasaki-shi)
- ชิงาซากิ (ญี่ปุ่น: 茅ヶ崎市; โรมาจิ: Chigasaki-shi)
- ซางามิฮาระ (ญี่ปุ่น: 相模原市; โรมาจิ: Sagamihara-shi)
- ซามะ (ญี่ปุ่น: 座間市; โรมาจิ: Zama-shi)
- ซูชิ (ญี่ปุ่น: 逗子市; โรมาจิ: Zushi-shi)
- ฟูจิซาวะ (ญี่ปุ่น: 藤沢市; โรมาจิ: Fujisawa-shi)
- มินามิอาชิงาระ (ญี่ปุ่น: 南足柄市; โรมาจิ: Minamiashigara-shi)
- มิอูระ (ญี่ปุ่น: 三浦市; โรมาจิ: Miura-shi)
- ยามาโตะ (ญี่ปุ่น: 大和市; โรมาจิ: Yamato-shi)
- โยโกซูกะ (ญี่ปุ่น: 横須賀市; โรมาจิ: Yokosuka-shi)
- โยโกฮามะ (ญี่ปุ่น: 横浜市; โรมาจิ: Yokohama-shi) (เมืองหลวง)
- อัตสึงิ (ญี่ปุ่น: 厚木市; โรมาจิ: Atsugi-shi)
- อิเซฮาระ (ญี่ปุ่น: 伊勢原市; โรมาจิ: Isehara-shi)
- อายาเซะ (ญี่ปุ่น: 綾瀬市; โรมาจิ: Ayase-shi)
- เอบินะ (ญี่ปุ่น: 海老名市; โรมาจิ: Ebina-shi)
- โอดาวาระ (ญี่ปุ่น: 小田原市; โรมาจิ: Odawara-shi)
- ฮาดาโนะ (ญี่ปุ่น: 秦野市; โรมาจิ: Hadano-shi)
- ฮิรัตสึกะ (ญี่ปุ่น: 平塚市; โรมาจิ: Hiratsuka-shi)
เมืองและหมู่บ้าน
แก้เมืองและหมู่บ้านแบ่งตามอำเภอ ดังนี้
สภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิต
แก้จำนวนประชากรของจังหวัดคานางาวะได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากการไหลเข้าของผู้คนที่อาศัยอยู่ในโตเกียวและผู้ที่ต้องการหาที่พักอาศัย เป็นผลทำให้จังหวัดคานางาวะเติบโตขึ้นเป็นเมืองใหญ่อย่างฉับพลัน และขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย เช่น ถนน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สภาพการดำรงชีวิตของชาวคานางาวะจึงสะดวกสบายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัญหาสำคัญสำหรับชาวคานางาวะด้วย เช่น ปัญหาจราจรที่รุนแรง และการเสื่อมของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงดูเด็ก นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีมานี้ยังมีการตรวจวัดแผ่นดินไหวอ่อน ๆ ได้ และมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นได้ในแถบภาคโทไก
เนื่องจากการลดลงของจำนวนประชากรเด็กและประชากรที่ย้ายที่อยู่อาศัยมายังเขตปริมณฑลลดน้อยลง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าภายหลังจากจำนวนประชากรขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วจะถึงยุคของผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าการขยายตัวและการเจริญเติบโตของเขตเมืองจะค่อย ๆ ลดลง เป็นผลให้ทางจังหวัดได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองให้มีคุณภาพแทน ดังนั้น แผนพัฒนาเมืองคานางาวะจึงให้ความสนใจกับโครงการหลายโครงการ เช่น การพัฒนาตัวเมืองโยโกฮามะใหม่ เป็นต้น
ประชากร
แก้จากการตรวจสอบเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 จังหวัดคานางาวะมีประชากร 9,029,996 คน คิดเป็น 6.6% จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กแต่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ทำให้มีความหนาแน่นของจำนวนประชากรต่อพื้นที่ถึง 3,437 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร จัดว่ามากเป็นอันดับ 2 รองจากโตเกียว
จำนวนประชากรของจังหวัดคานางาวะเติบโตขึ้นมากในช่วงก่อนและหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ลดลงในช่วงทศวรรษที่ 70 ในขณะที่จำนวนประชากรในช่วงอายุ 0 - 14 ปี ลดลง กลับปรากฏว่าจำนวนประชากรในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไปได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องจากจังหวัดคานางาวะตั้งอยู่ติดกับมหานครโตเกียวที่มีโครงสร้างทางธุรกิจขนาดมหึมา ทำให้อัตราส่วนจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองในช่วงกลางวันมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในช่วงกลางคืน
การขนส่ง
แก้จังหวัดคานางาวะ มีเครือข่ายการขนส่งจากการเดินทางทางอากาศส่วนมากไปสู่ จังหวัดคานางาวะ ไปผ่านที่ โตเกียว สนามบินระหว่างประเทศคือสนามบินนานาชาตินาริตะและสนามบินโทไกโด และยังมีรถไฟชิงกันเซ็ง รถไฟความเร็วสูงไปยัง โตเกียว นาโงยะ โอซากะ และเมืองหลักอื่น ๆ
การศึกษาและวัฒนธรรม
แก้เนื่องจากการก้าวหน้าของวิวัฒนาการและสังคมข้อมูลข่าวสาร ทำให้ความสนใจของชาวคานางาวะเกิดความแตกต่างกัน ทางจังหวัดคานางาวะเองก็เห็นว่าการเคารพต่อความสนใจ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นเดียวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกัน เพื่อที่จะอนุรักษ์ขนบประเพณีดั้งเดิมของคานางาวะเอาไว้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสอนเด็ก ๆ ให้โตขึ้นมาอย่างมีความสามารถเฉพาะตัว และมีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้สังคมปัจจุบันยังมีแนวโน้มว่า ผู้คนจะมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้และทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนไปตลอดชีวิตได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
การรับรองนักท่องเที่ยว
แก้เมืองคามากูระ มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพุทธศาสนิกชนมากมายและศาลเจ้าชินโต โยโกฮามะยังเป็นเขตที่มีคนจีนอาศัยอยู่กันมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (ใหญ่กว่าบริเวณที่คนจีนอยู่กันมาก ๆ ทั้งในโคเบะ และ นางาซากิ)
อ้างอิง
แก้- ↑ Nussbaum, Louis-Frédéric. (2005). "Kanagawa" in Japan Encyclopedia, p. 466, p. 466, ที่กูเกิล หนังสือ; "Kantō" in p. 479, p. 479, ที่กูเกิล หนังสือ.
- ↑ Nussbaum, "Yokohama" in pp. 1054–1055, p. 154, ที่กูเกิล หนังสือ.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Kanagawa terrain (ญี่ปุ่น)
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Overview of the prefectural geography (ญี่ปุ่น)
- ↑ "General overview of area figures for Natural Parks by prefecture" (PDF). Ministry of the Environment. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2012. สืบค้นเมื่อ 16 August 2012.
- http://jeducation.com/THAI/FRAME/frame.html เก็บถาวร 2007-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Kanagawa prefecture
- เว็บไซต์จังหวัดคานางาวะ (ญี่ปุ่น)
- คู่มือการท่องเที่ยว Kanagawa จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)