ที่ราบคันโต
ที่ราบคันโต (ญี่ปุ่น: 関東平野; โรมาจิ: Kantō heiya) เป็นที่ราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น[1] ตั้งอยู่ในภูมิภาคคันโตตอนกลางของเกาะฮนชู มีพื้นที่ 17,000 ตารางกิโลเมตร[2] ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึงของโตเกียว จังหวัดไซตามะ จังหวัดคานางาวะ จังหวัดชิบะ จังหวัดกุมมะ จังหวัดโทจิงิ และจังหวัดอิบารากิ[3]
ภูมิศาสตร์
แก้ทางทิศเหนือติดกับที่ราบสูงอาบูกูมะ เทือกเขายามิโซะ เทือกเขาอาชิโอะ และแนวภูเขาไฟนาซุ ทางทิศตะวันตกติดกับเทือกเขาคันโต และทางทิศใต้ติดกับคาบสมุทรโบโซ เนินเขามิอูระ อ่าวโตเกียว และอ่าวซางามิ มีทะเลคาชิมะและหาดคูจูกูริอยู่ทางตะวันออกของที่ราบ แม่น้ำส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาทางตอนเหนือหรือทางตะวันตกก่อนที่จะไหลไปทางทิศตะวันออกหรือทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก อ่าวโตเกียว หรืออ่าวซางามิ ในตอนกลางของที่ราบมีแม่น้ำโทเนะไหลผ่าน ทางตอนเหนือมีแม่น้ำวาตาราเซะ แม่น้ำคินุ และทางตอนใต้มีแม่น้ำอารากาวะ แม่น้ำทามะ และแม่น้ำซางามิ ในบรรดาแม่น้ำดังกล่าว แม่น้ำโทเนะกินพื้นที่ครอบคลุมที่ราบน้ำท่วมถึงขนาดใหญ่ถึง 16,840 ตารางกิโลเมตร (6,500 ตารางไมล์) นับว่าเป็นบริเวณลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น[4]
ธรณีวิทยา
แก้ที่ราบคันโตเกิดจากกระบวนการก่อตัวเป็นแอ่งคันโตซึ่งมีต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคนีโอจีน กระบวนการนี้ทำให้เกิดการตกตะกอนในใจกลางของที่ราบคันโตและทำให้เกิดการยกตัวของภูเขาโดยรอบ เป็นผลให้ตะกอนจากภูเขาโดยรอบถูกทับถมอย่างหนาแน่น (สูงถึง 3,000 เมตร) และยกตัวขึ้นต่อไปเป็นเนินเขาและที่ราบสูงหลายแห่ง แต่การสะสมของชั้นตะกอนที่อ่อนทำให้ยากต่อการค้นหารอยเลื่อนที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ (มีรอยเลื่อนลึก 3000 เมตร ด้านล่างชั้นตะกอน) ตะกอนที่ถูกพัดพาโดยแม่น้ำได้ทับถมกันเป็นที่ดินและภูมิประเทศในช่วงปลายยุคโจมงถึงยุคยาโยอิตอนต้น (3,000 ปีที่ผ่านมา)
ภูมิอากาศ
แก้ที่ราบคันโตมีภูมิอากาศที่อบอุ่นแบบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ฤดูหนาวมีอากาศที่หนาวเย็นและมีอากาศร้อนในฤดูร้อน มีความแตกต่างอย่างมากของอุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาวภายในหนึ่งวัน ที่ราบคันโตมีแสงแดดค่อนข้างมากโดยเฉพาะทางตอนเหนือ เนื่องจากอิทธิพลของกระแสน้ำอุ่นที่ไหลไปตามชายฝั่งทำให้สภาพภูมิอากาศทางตอนใต้ของที่ราบนั้นอบอุ่น
ในฤดูร้อนจะมีปริมาณฝนตกมากเนื่องจากมรสุมและพายุไต้ฝุ่น นอกจากนี้ฟ้าร้องและเมฆฝนมักก่อตัวขึ้นในพื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือและตะวันตก ในช่วงก่อนเที่ยงและเมฆฝนเหล่านั้นจะเคลื่อนตัวไปยังที่ราบในช่วงบ่ายแก่ ๆ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองในตอนเย็น และอุณหภูมิของที่ราบจะเย็นขึ้นเมื่อแอนไทไซโคลนที่มาจากทะเลโอค็อตสค์ได้กลายเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมจากยามาเสะได้เข้าพัดมา
ในฤดูหนาวลมจากทะเลญี่ปุ่นจะถูกบังโดยเทือกเขามิคุนิจะทำให้เกิดหิมะตกตามแนวภูเขาในทางทิศเหนือ จะทำให้เหลือเพียงลมที่มีความชื้นต่ำพัดเข้ามาสู่ที่ราบ และในตลอดทั้งปีที่ราบคันโตทั้งหมด จะได้รับผลกระทบจากแสงอาทิตย์ได้ง่ายเนื่องจากท้องฟ้าโปร่ง แต่ลมที่มาจากทางเหนือนั้นจะทำให้อุณหภูมิลดลงสูงสุดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งอาจลดลงถึง -5 องศา ในฤดูหนาว แต่อุณหภูมิของกลางวันจะเพิ่มขึ้นมากถึง 7 ถึง 10 องศาเซลเซียส ในวันที่มีลมแห้งจากทางเหนืออุณหภูมิที่ร่างกายสัมผัสได้จะต่ำกว่าอุณหภูมิจริง
ที่ราบคันโตมักมีปริมาณไนเตรตและคลอไรด์ที่สูงมากในฤดูหนาว ซึ่งมีที่มาจากการเผาของเสียและอุตสาหกรรมในพื้นที่[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ "【スタディピア】関東地方". www.homemate-research-junior-high-school.com.
- ↑ "なぜ関東平野は広いのか? 日本人が意外と知らない驚きの日本列島史!". ダ・ヴィンチWeb (ภาษาญี่ปุ่น).
- ↑ Encyclopedia of Japan, Kōdansha
- ↑ Encyclopedia of Japan Tokyo, Kōdansha
- ↑ Kaneyasu, Naoki; Yoshikado, Hiroshi; Mizuno, Tateki; Sakamoto, Kazuhiko; Soufuku, Masataka (1 May 1999). "Chemical forms and sources of extremely high nitrate and chloride in winter aerosol pollution in the Kanto Plain of Japan". Atmospheric Environment (ภาษาอังกฤษ). pp. 1745–1756. doi:10.1016/S1352-2310(98)00396-3.