การ์ตูนไทย
การ์ตูนไทย ในยุคเริ่มต้น(ช่วงก่อนเข้าสู่ปีพุทธศักราช 2500ต้นๆ)เกิดจากการนำนิทานแนวพื้นบ้าน ผี และเรื่องแนวจักรๆ วงศ์ๆ มาวาดเป็นนิยายภาพในราคาเล่มละหนึ่งสตางค์ก่อนจะมีการนำนวนิยาย เรื่องอ่านเล่นในยุคนั้นๆที่ได้รับความนิยมมาเขียนเป็นการ์ตูนและมีการสร้างตัวละครออริจินอล รึ นิยายภาพเรื่องยาวที่ได้รับความนิยม โดยมีนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นหลายๆท่าน เช่น จุก เบี้ยวสกุลเป็นหัวแถว ผลงานของเหล่านักวาดในยุคนี้(ที่หลายๆคนเรียกว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนไทย)จะได้อิทธิพลมาจากทางตะวันตก[1]
ต่อมาหนังสือการ์ตูนแนวตลกสั้น ๆ ในลักษณะของการ์ตูนแก๊กขำขัน เริ่มได้รับความนิยมขึ้นมาจนครองตลาด เช่น เบบี้ ,หนูจ๋า, ขายหัวเราะ และ มหาสนุก[2]
ก่อนที่การ์ตูนจากญี่ปุ่น หรือ Manga จะเข้ามาในประเทศไทย ทำให้การ์ตูนไทยรุ่นใหม่ๆได้รับอิทธิพลจากมังงะมาจนปัจจุบัน เริ่มในช่วงต้นๆของยุค'90[3] โดยนิตยสารการ์ตูนไทยในแนวมังงะยุคบุกเบิกได้แก่ ไทยคอมมิค (Thai Comics) ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และ เอ.คอมมิค (a.comix)จาก ธีรดา หรือ งานการ์ตูนไทยจากแผนก cartoon thai studio ของ สยามอินเตอร์คอมมิค[4]ในปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียไปจนถึงตลาดหนังสืออีบุ้คได้เข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางเผยแพร่ผลงานการ์ตูนไทยอย่างหลากหลาย[5]
ประวัติ
แก้ยุคแรก
แก้ประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยมีรากเหง้าจากการเข้ามาของวิทยาการเขียนภาพแบบตะวันตก ซึ่งขรัวอินโข่ง จิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้นำมาใช้เป็นคนแรกในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังลักษณะเหมือนจริงแต่ยังจัดอยู่ในหมวดหมู่ศิลปะกรรมไม่นับว่าเป็นการ์ตูน[6] กระทั่งต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการผลิตนิตยสาร , วารสาร และ หนังสือพิมพ์ตามอย่างชาวตะวันตกและยังได้ทรงแปลคำว่า "การ์ตูน" เป็นภาษาไทยว่า "ภาพล้อ"[7] จนมีการเขียนภาพล้อหรือการ์ตูนการเมืองในไทยอย่างนิยมแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะแนวการ์ตูนล้อการเมือง ยุคนี้ได้มีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกเกิดขึ้น คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น)[8] รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดการ์ตูนลักษณะนี้มาก ดังปรากฏหลักฐานว่า มีภาพวาดฝีพระหัตถ์ล้อเหล่าเสนาบดีและข้าราชบริพารในพระองค์อยู่เสมอๆ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย
ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนซบเซาลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้นักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นมากขึ้น จึงมีนักเขียนการ์ตูนดังๆ เกิดขึ้นในยุคนี้หลายคน อาทิ สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้นำเรื่องสังข์ทองมาวาดเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทย ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และเจ้าของตัวการ์ตูน "ขุนหมื่น" ซึ่งดัดแปลงมาจากตัวการ์ตูนตะวันตก เช่นป๊อบอาย โดยเป็นตัวตลกแทรกอยู่ในการ์ตูนจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องต่างๆที่ท่านเขียน ต่อมานักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ จึงสร้างการ์ตูนตัวเด่นๆของตัวเองขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้ยังมีนักเขียนการ์ตูนแนวเดียวกับ สวัสดิ์ จุฑะรพ คนอื่นๆ เช่น วิตต์ สุทธิเสถียร, จำนงค์ รอดอริ หรือฉันท์ สุวรรณบุณย์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กเป็นคนแรกของประเทศไทย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การ์ตูนไทยซบเซาลง[9]จากภัยสงครามร่วมกับวงการหนังสือในช่วงยุคนั้น เมื่อสิ้นสงครามแล้ว วงการการ์ตูนไทยจึงฟื้นตัวอีกครั้ง ในยุคนี้ปรากฏนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของฉายา "ราชาการ์ตูนไทย" ซึ่งวาดทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนการเมือง ในยุคเดียวกันนี้ก็มีนักวาดภาพประกอบผู้โด่งดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ เหม เวชกรที่เริ่มต้นวาดนิยายภาพ ราชาธิราช ลงในหนังสือพิมพ์
พ.ศ. 2495 ได้มีการ์ตูนสำหรับเด็กเกิดขึ้นเป็นเล่มแรก คือ หนังสือการ์ตูน "ตุ๊กตา" อันเป็นผลงานของพิมล กาฬสีห์[10] มีตัวการ์ตูนอย่าง หนูไก่, หนูนิด, หนูหน่อย และหนูแจ๋ว และประสบความสำเร็จอย่างมาก (เลิกออกประมาณ พ.ศ. 2530 เนื่องจากพิมล กาฬสีห์ เสียชีวิต) หลังจากนั้นจึงมีการ์ตูนสำหรับเด็กออกมาอีกหลายเล่ม เช่น การ์ตูน "หนูจ๋า" ของ จุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) ซึ่งเริ่มวางแผงเล่มแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2500 และที่ได้รับความนิยมตามมาอีกเล่มก็คือการ์ตูน "เบบี้" ของ วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ ซึ่งเริ่มวางแผงฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504[11] ที่โด่งดังจนมีการนำตัวละครในหนังสือชุดนี้ไปผลิตเป็นหนังโฆษณา หนังสือทั้งสองเล่มนี้อยู่ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ที่จะตีพิมพ์ต่อเนื่องมาอีกกว่า 50 ปี เป็นต้นแบบให้กับการ์ตูนยอดนิยมอีกสองหัวเช่น ขายหัวเราะ,มหาสนุก ในเวลาต่อมา
นักเขียนอีกท่านที่มีชื่อเสียงร่วมสมัยได้แก่ พ.บางพลี (หรือ วีระกุล ทองน้อยเจ้าของผลงานเรื่อง อัศวินสายฟ้า และศรีธนญชัย), ราช เลอสรวงผู้วาด สิงห์ดำ[12]และ จุก เบี้ยวสกุลวาด เจ้าชายผมทอง ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้ส่วนมากจะนิยมวาดการ์ตูนเรื่องยาวกันเป็นสิบๆเล่ม นับว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนไทยอีกช่วงหนึ่ง[13] หลังจากนั้นอีกหลายปีจึงเกิดหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กที่แฝงสาระและยืนยงบนแผงอีกเล่มหนึ่งก็คือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งมี ทาร์ซานกับเจ้าจุ่น เป็นตัวการ์ตูนชูโรง ผู้วาดและจัดทำ ก็คือ รงค์ หรือ รงค์ ประภาสโนบล ส่วนนักเขียนการ์ตูนนิยายภาพที่สร้างชื่อเสียงในชัยพฤกษ์การ์ตูน ก็เช่น เตรียม ชาชุมพร ที่เขียนเรื่อง "เพื่อน" โอม รัชเวทย์, สมชาย ปานประชา, พล พิทยาสกุล, เฉลิม อัคภู หรือแม้แต่ อุดม แต้พานิช ศิลปินชื่อดังก็เคยวาดการ์ตูนหารายได้กับทางนิตยสารหัวนี้[14] [15]
มาในยุคต่อจาก ชัยพฤกษ์การ์ตูน กลุ่มนักวาดการ์ตูนระดับแนวหน้า 5 ท่าน มารวมกลุ่มกันใหม่ชื่อว่า กลุ่มเบญจรงค์ เปิดเป็นสำนักงานเล็กๆแถวสี่แยกเสือป่า ถนนเจริญกรุง โดยมี เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวทย์, สมชาย ปานประชา, พล พิทยาสกุล, เฉลิม อัคภู ทำหนังสือการ์ตูนรายเดือนขึ้นมาชื่อว่า "เพื่อนการ์ตูน" อยู่ในตลาดได้พักใหญ่ก็ปิดตัวลง ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ก็มีกลุ่มทำงานเล็กๆกลุ่มหนึ่ง รุ่นไล่เลี่ยกันกับ กลุ่มเบญจรงค์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสำนักพิมพ์คุณภาพผลิตหนังสือสำหรับเด็กมากมายนั่นคือ สำนักพิมพ์ห้องเรียนโดย ศิวโรจน์ คุณเล็ก เป็นกำลังสำคัญตั้งแต่ยุคต้นๆ[16]
ก่อนที่ตลาดการ์ตูนเมืองไทยจะถูกการ์ตูนแปลจากญี่ปุ่นในยุคที่ยังไม่มีการขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง จากหลายๆเจ้ารุกตลาดอย่างหนัก[17] ทำให้งานการ์ตูนฝีมือชาวไทยค่อยๆหายไปจากแผงอย่างเงียบๆ นักวาดฝีมือดีค่อยๆอำลาวงการไปทำงานในสายอื่น หลายๆสำนักพิมพ์เริ่มหันมาจัดทำการ์ตูนแปลจากญี่ปุ่นเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างน้อย ไม่ต้องมีการขอลิขสิทธ์[18] ลงทุนแต่ค่าแปลกับค่าพิมพ์เท่านั้น ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นยึดแผงในไทยนานอยู่หลายปี[19][20]
หลังจากนั้น การ์ตูนไทยได้ปรับตัวเองไปเป็นความบันเทิงราคาไม่แพงที่พอให้ผู้มีรายได้น้อยหาซื้ออ่านได้โดยพิมพ์ลงบนกระดาษบรูฟราคาถูก จนเข้าสู่ยุคของ "การ์ตูนเล่มละบาท" แนวเรื่องของการ์ตูนเล่มละบาท ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางเรื่องชีวิต, เรื่องผี, เรื่องตลก, นิทาน, เพศ โดยเฉพาะเรื่องแนว "ผี" เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคนิยมอ่านอย่างมาก เป็นความตื่นเต้นแบบง่ายๆที่ใกล้ชิดชาวบ้านมาโดยตลอด มีหลายสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานแนวนี้ เช่น สำนักพิมพ์สากล,สุภา,บางกอกสาส์น, สำนักพิมพ์สามดาว ฯลฯ นับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปยังวงการการ์ตูนในยุคต่อมา นักเขียนการ์ตูนยุคนั้นเช่น นักรบ รุ่งแก้ว, รุ่ง เจ้าเก่า, ชายชล ชีวิน, แมวเหมียว, ราตรี, น้อย ดาวพระศุกร์, ดาวเหนือ, เพลิน, เทพบุตร, มารุต เสกสิทธิ์, นอม เป็นต้น[21]
โดยบางครั้งก็ได้นักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนหน้านั้น เช่น จุก เบี้ยวสกุล ช่วยเขียนปกให้ เพื่อช่วยดึงดูดนักอ่านอีกทาง การ์ตูนเเนวนี้ได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นอย่างมากในยุคหนึ่ง จนทำให้คำว่า"การ์ตูนเล่มละบาท" เป็นชื่อเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสไตล์การ์ตูนที่มีความเฉพาะตัว การ์ตูนแนวเล่มละบาทยังนับเป็นที่ฝึกฝนฝีมือของนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ที่อยากจะเข้าวงการ ,นักเรียนศิลปะที่ต้องการหารายได้ในระหว่างเรียนหนังสือ มีหลายๆท่านกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนคุณภาพระดับแนวหน้าของเมืองไทยในเวลาต่อมาอย่าง ชัยยันต์ สุยะเวช (ตาโปน)หรือ แม้แต่ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ก็เคยเขียนเล่มละบาทขายในช่วงวัยรุ่น[22]ทว่าด้วยความมักง่ายของสำนักพิมพ์ รึ นักวาดบางส่วน ที่จับแพะชนแกะรับซื้อผลงานที่เขียนลงบนกระดาษไขเพื่อประหยัดต้นทุนการทำเพลทในยุคนั้น ทำให้มีการลอกต้นฉบับส่งขาย บางส่วนก็ไม่พิถีพิถันในการแต่งเรื่อง รึ การวาด หมายจะเอาเงินอย่างเดียวไม่แคร์ว่าคนอ่านจะสนุกไปด้วยรึไม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเมื่อต้องเจอกับงานสุกเอาเผากินที่ไม่มีคุณภาพบ่อยๆ จนยอดจำหน่ายของเล่มละบาทค่อยๆหดตัวลงตามกาลเวลา[23]
ยุคปัจจุบัน
แก้วงการนักวาดการ์ตูนในเมืองไทยเริ่มพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากถูกการ์ตูนญี่ปุ่นในรูปแบบไม่มีลิขสิทธ์เข้ามาครองตลาดการ์ตูนไทยอยู่หลายปี นักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ได้ซึมซับการ์ตูนแนวมังงะจนเกิดการ์ตูนแนวนี้ขึ้นมาอย่างแพร่หลายในตลาด มีหลายสำนักพิมพ์ที่เป็นหัวหอกสำคัญ สร้างสรรค์หนังสือการ์ตูนไทยในแนวมังงะ เช่น นิตยสาร ไทยคอมมิค(Thai Comics) [24][25]ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ[26] ที่บุกเบิกสร้างสรรค์งานการ์ตูนไทยแบบสากลในช่วงต้นๆยุค'90 จนต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า21ปี มีนักเขียนที่สร้างชื่อกับหนังสือการ์ตูนหัวนี้หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์,จักรพันธ์ ห้วยเพชร,วรา เตมียพันธ์ุ,สำราญ จารุกุลวนิชย์,อเบศ ลิ้มละมัย,วิรัตน์ ยืนยงพัฒนากิจ,รัตนะ สาทิส ฯลฯ
หรือ นิตยสารยุคไล่เลี่ยกันเช่น a.comix จาก ส.น.พ.ธีรดา ที่มีผลงานของ ชัยยันต์ สุยะเวช,วัชระ ส่งสมบูรณ์,ชัยพร พานิชย์รุทติวงศ์ฯลฯ[27]
การถือกำเนิดของนิตยสารการ์ตูนไทยร่วมสมัยหลายๆเล่ม ส่งผลให้เหล่านักวาดรึคนรุ่นใหม่ที่มีใจอยากจะเข้าวงการได้มีสถานที่กับเวทีแสดงผลงานมากขึ้น ต่างกับในยุคก่อนที่การ์ตูนไทยจะจำกัดวงอยู่แค่ในฝั่งของการ์ตูนเล่มละบาท รึ การ์ตูนตลกขำขัน การตอบรับของผู้อ่านก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อวงการการ์ตูนในไทยเริ่มปรับตัวสู่รูปแบบลิขสิทธ์เต็มตัวในช่วงต้นๆุของยุค 1990[28]
ส่วนการ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าแพร่หลายในตลาดวงกว้างและได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศก็คือ ขายหัวเราะ-มหาสนุก[29] ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งแนวทางการ์ตูนจะเป็นการ์ตูนประเภทการ์ตูนแก๊กและการ์ตูนเรื่องสั้นจบในตอนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปังปอนด์ ของ ภักดี แสนทวีสุข,หนูหิ่น อินเตอร์ ของ ผดุง ไกรศรี ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพัฒนาการ์ตูนไทยรูปแบบคอมมิคและนักเขียนรุ่นใหม่ๆขึ้นมาโดยสำนักพิมพ์หลายๆเจ้าที่สนับสนุนงานสไตล์นี้ เช่น Cartoon Thai Studio[30] จากสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ ไปจนถึง เนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์ ตลาดของการ์ตูนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่และมักนิยมแทรกงานลงในนิตยสารการ์ตูนที่ได้รับลิขสิทธ์มาจากทางญี่ปุ่น เช่น BOOM หรือ C-Kids และมีการ์ตูนที่ได้รับความนิยมเช่น มีดที่ 13,อภัยมณี ซาก้า,Executionalในส่วนของการ์ตูนนิยายภาพไทยแบบดั้งเดิมยังคงมีผู้จัดพิมพ์ออกมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะอิงกับตลาดระดับล่าง เช่นการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งปรับตัวมาขายในราคาเล่มละห้าบาท
ค่าย B.Boyd.CG ในเครือเบเกอรี่มิวสิค(โดโจ ซิตี้) ที่ลงมาบุกเบิกวงการหนังสือและอนิเมชั่นด้วยนิตยสาร เช่น Katch รึ Manga Katch มีการ์ตูนในเครืออย่าง Joe The Sea-Cret Agent,ฮีชีอิท เป็นต้น[31] ในระหว่างช่วงยุค '90-'2000 กว่าๆ[32] จะมีนิตยสารการ์ตูนไทย จากหลายๆสำนักพิมพ์หลายๆค่ายออกมาวางแผงกันอย่างต่อเนื่อง แม้หลายๆหัวจะวางตลาดกันได้ไม่ยาวนานนักแต่ก็สร้างความคึกคักและความเคลื่อนไหวให้วงการได้เสมอ และก็ได้มีนักวาดรุ่นใหม่บางส่วนที่วาดการ์ตูนขายเองในรูปแบบหนังสือการ์ตูนทำมือ หรือ โดจินชิ ตามแบบญี่ปุ่นโดยวางขายรึจำหน่ายตามงานการ์ตูน บางส่วนก็ส่งผลงานแจ้งเกิดกับสำนักพิมพ์ที่เปิดรับงานการ์ตูนของคนไทย เช่น NED ,สยามอินเตอร์คอมิกส์ ,Comic Quest,บงกช พับลิชชิ่ง, วิบูลย์กิจ,บูรพัฒน์,ฯลฯ สื่ออินเทอร์เน็ตเองก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาฝีมือโดยอาศัยแลกภาพกันติชมวิจารณ์ผ่านเว็บบอร์ด หรือสร้างเว็บไซต์แสดงผลงานรวมกันเป็นคอมมุนิตี้ จนมีศิลปิน CG artist ผุดขึ้นมามากมายในวงการ
ต่อมาจึงเกิดการ์ตูนความรู้ในรูปแบบคอมมิคสี่สีขึ้น เช่น บริษัท Eq.Plus ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังเยาวชน และประสบความสำเร็จด้วยการ์ตูนชุด ลา ฟลอร่า โรงเรียนป่วนก๊วนเจ้าหญิง[33] [34]จนมีส.น.พ.ที่ผลิตหนังสือในแนวทางนี้ออกมามากมายในท้องตลาดเป็นผลดีต่อวงการ ทำให้มีงานรองรับบรรดานักวาดการ์ตูน-นักเขียนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงสำนักพิมพ์เช่น Punica ที่เน้นแนวทางไปยังการ์ตูนแนวเขย่าขวัญผสมแฟนตาซี อย่าง การิน ปริศนาคดีอาถรรพ์[35]
อีกช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดของการ์ตูนไทย คือการ์ตูนที่ไม่เป็นแนวตลาดซึ่งพัฒนาแยกมาออกจากการ์ตูนแนวมังงะอีกที มีลักษณะของการเน้นแนวความคิดมากขึ้น แนวเรื่องก็ซับซ้อนขึ้น ที่เรียกกันเล่นๆว่า "การ์ตูนแนว" จนมีความนิยมของคนอ่านในแนวทางนี้ขึ้นเรื่อยๆ เช่น นิตยสาร Let's Comics ในเครือของสตาร์พิกส์[36] และอีกหลายๆเล่มในท้องตลาด มีนักเขียนหลายคนที่มีชื่อเสียงในแนวทางนี้ เช่น วีระชัย ดวงพลา,วิศุทธิ์ พรนิมิตร,ทรงศีล ทิวสมบุญฯลฯ
ปัจจุบันการเข้ามาของ Platform การ์ตูนแบบonline เช่น Line Web Toon,Comico ไปจนถึง Wecomics มีส่วนช่วยให้บรรดานักเขียนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่มีเวทีสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้มีการเปิดโรงเรียนสอนวาดรูปการ์ตูนสไตล์ร่วมสมัยกันมากขึ้น หรือการวางขายหนังสือทำมือและผลงานตามงานการ์ตูนในปัจจุบันที่มีจัดกันอย่างสม่ำเสมอในกรุงเทพและตามต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่, ขอนแก่น ไปจนถึงโลกโซเชียลแบบ Facebook หรือตลาดการ์ตูนออนไลน์แบบ อีบุ้ค เช่น Meb ก็ทำให้เหล่านักวาด-นักเขียนชาวไทยหลากหลายรุ่นหลากหลายแนว สามารถส่งผลงานเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง[37][38]
ภาพยนตร์การ์ตูนไทย
แก้สุดสาคร ถือได้ว่าเป็น ภาพยนตร์การ์ตูนไทยเรื่องแรกที่มีการผลิตเพื่อฉายในโรงด้วยฝีมือของ ปยุต เงากระจ่าง ก่อนที่จะเว้นช่วงไปนานเป็นสิบๆปี จนมี ก้านกล้วย ภาพยนตร์อนิเมชั่นสามมิติจาก บ.กันตนา และงานแนวสองมิติเช่น ประวัติพระพุทธเจ้าจาก มีเดียสแตนดาร์ด และ นาค จากทาง B.Boyd.CG ตามมาด้วย ยักษ์ (ภาพยนตร์),เอคโค่ จิ๋วก้องโลก,คุณทองแดง ดิ อินสไปเรชั่นส์,อนันตา แอนิเมชั่น,9 ศาสตรา,ครุฑ มหายุทธ์ หิมพานต์,นักรบมนตรา ตำนานแปดดวงจันทร์ ด้านฟากฝั่งโทรทัศน์ก็มีอนิเมชั่นฉายลงทีวีอย่างต่อเนื่อง เช่น ปังปอนด์,แดรคคูล่าต๊อก,รามเกียรติ์ มินิแอนิเมชั่น,เชลล์ดอน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังได้ติงถึงแอนิเมชันของไทยว่า ยังไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องของการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างเร็วเกินไปในฉากแอ็คชั่น[39]
การตอบรับ
แก้ในปัจจุบัน การ์ตูนไทยนับเป็นสื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง รวมทั้ง มีนักเขียนการ์ตูนไทยหลายราย และ หนังสือการ์ตูนหลายเล่มที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างชื่อเสียงได้ในต่างแดน อาทิเช่น การ์ตูนชุด มหากาพย์กู้แผ่นดิน ,สตรีทบอลสะท้านฟ้า,เรื่องมีอยู่ว่า,แว่วกริ่งกังสดาล,บุ้คบิ้ค,Before Becoming Buddhaฯลฯ ที่ได้รับรางวัล International Manga Award จากทางญี่ปุ่น,การิน ปริศนาคดีอาถรรพ์ จากทาง Punicaที่ประสบความสำเร็จในตลาดหนังสือของมาเลเซีย[40] หนังสือการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จอย่าง ปังปอนด์ และ หนูหิ่น อินเตอร์ ถูกนำมาสร้างเป็น อนิเมชั่นและหนังคนแสดง ไปจนถึง 13 เกมสยอง ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนเรื่องสั้น 13 Quiz Show ใน รวมเรื่องสั้นจิตหลุด ที่ต่อมาได้รีเมคเป็นหนังฮอลลีวูดชื่อ 13 Sins,อภัยมณี ซาก้าที่ได้รับการซื้อไปแปลใน ฝรั่งเศส
นักวาดและศิลปินเช่น วิศุทธิ์ พรนิมิตรเจ้าของผลงานชุด มะม่วง ที่ไปสร้างชื่อในญี่ปุ่น,สกาล ศรีสุวรรณ CGอารต์ติสมือฉมังที่ได้ร่วมงานกับ Stan Lee วาดนิยายภาพ Romeo&Juliet: The War ในสหรัฐอเมริกา[41] เป็นต้น
วีรวิชญ์ ธนพงศ์ทวีวุฒิ ซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูนไทยเจ้าของนามปากกา ปีกนกบูรพา ได้ให้สัมภาษณ์กับทางมติชนว่า ปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของวงการการ์ตูนไทยดีกว่าที่มีอยู่เดิมเป็นอย่างมาก โดยเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2553 - 2554 ซึ่งมีการจ้างงานและจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ภาพพจน์ของนักเขียนการ์ตูนไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ก่อนที่กลุ่มนักเขียนการ์ตูนได้ร่วมกันช่วยยกระดับให้ดีขึ้นในเวลาต่อมา[42]
ด้านนักพากย์การ์ตูนดัง นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ หรือที่รู้จักกันดีในฉายาน้าต๋อย เซมเบ้ ได้แสดงข้อคิดเห็นว่านักวาดการ์ตูนไทยต่างมีฝีมือระดับนานาชาติ หากแต่ยังคงมีอุปสรรคในเรื่องของเงินทุน และช่องทางในการเผยแพร่[43] กระทั่งในเวลาต่อมา การ์ตูนไทยเป็นที่โดดเด่นสำหรับนานาประเทศมากขึ้น[44] [45] โดยมีการ์ตูนไทยหลายเรื่องที่ได้รับรางวัลการ์ตูนระดับนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่นแทบทุกปี[46][47][48]
อ้างอิง
แก้- จุลศักดิ์ อมรเวช,ตำนานการ์ตูน สำนักพิมพ์แสงดาว (2544) ISBN 974-7344-41-6
- นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic.ISBN 9786169012863
- PAT STUDIO ,1970 Heroes Never Die สำนักพิมพ์ Animate Group.ISBN 974-93214-7-2
- น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ,100ปีการ์ตูนไทย จากสยามคลาสสิกสู่ไทยโมเดริน์.มติชน กุมภาพันธ์ 2556.ISBN 978-02-1062-7.
- วินทร์ เลียววาริณ ,โลกใบที่สองของโม นวนิยายภาพรีไซเคิล.อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ 2549 ISBN 9749239482
- วินทร์ เลียววาริณ ,เดินไปให้สุดฝัน รวมบทความศิลปะกึ่งอัตชีวประวัติ.อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ 2551 ISBN 9789741376827
- นิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ 6 ฉบับที่ 7 พ.ศ.2526
- นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 66 ปีที่ 6 สิงหาคม 2533
- นิตยสารสารคดี no.376 June 2016
- นิตยสาร a day ฉบับที่ 98 ตุลาคม 2008
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ เขียนถึง จุก เบี้ยวสกุล น.250-265,โลกใบที่สองของโม นวนิยายภาพรีไซเคิล.อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ 2549 ISBN 9749239482
- ↑ จุลศักดิ์ อมรเวช,ตำนานการ์ตูน สำนักพิมพ์แสงดาว 2544 ISBN 974-7344-41-6.น.583-619
- ↑ นิรวาณ คุระทอง,คอลัมน์ Lets List:9ปีย้อนดู9นิตยสารการ์ตูนไทยร่วมสมัย, Let'S Comic ฉบับครบรอบ 9 ปี ก้าวไปด้วยกัน,กันยายน 2559 หน้า 172-179
- ↑ นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863.น.81-120
- ↑ พาชม 'นิทรรศการหนังสือ การ์ตูนไทย ไฉไล กว่าที่คิด'
- ↑ หนังสือ ต่อคิดสานฝัน"ศรีบูรพา",มีนาคม 2548 น.182
- ↑ 2460
- ↑ เปล่งไตรปิ่น
- ↑ สงครามโลก:2
- ↑ 2495-2499
- ↑ 2500-2506
- ↑ สิงห์ดำ
- ↑ นิตยสารนิยายภาพในยุคนั้นบางส่วน
- ↑ Fact เกร็ดชีวิต "โน้ต อุดม แต้พานิช", ต้นฉบับจากเว็บ udomteam พ.ศ.2543, เผยแพร่:2 กุมภาพันธ์ 2558
- ↑ 2513
- ↑ จุลศักดิ์ อมรเวช ,ตำนานการ์ตูน สำนักพิมพ์แสงดาว 2544 ISBN 974-7344-41-6.น.553-559
- ↑ Comic Quest.Issue.14 Sep/2002,"บันทึกปูมหลังของการเข้ามาของฉบับลิขสิทธ์" น.29-34
- ↑ PAT STUDIO ,1970 Heroes Never Die สำนักพิมพ์ Animate GroupISBN 974-93214-7-2.น.75-80
- ↑ 2521-2525
- ↑ "2527-2530 บ้านการ์ตูนไทยหอสมุดวังท่าพระ".
- ↑ "สารคดีการ์ตูนผีเล่มละบาท".
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ ,เดินไปให้สุดฝัน รวมบทความศิลปะกึ่งอัตชีวประวัติ หน้า 61-123.อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ 2551 ISBN 9789741376827
- ↑ จุลศักดิ์ อมรเวช ,ตำนานการ์ตูน สำนักพิมพ์แสงดาว 2544 ISBN 974-7344-41-6.น.607-619
- ↑ นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863 น.122-168
- ↑ ตัวอย่างไทยคอมิค ฉบับที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2535
- ↑ เพจบ้านการ์ตูนไทย 2535
- ↑ นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863 น.170-182
- ↑ ยุคลิขสิทธ์
- ↑ นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863 น.236-266
- ↑ คุยกับCartoon Thai Studio
- ↑ ข้อมูลค่าย B.Boyd
- ↑ นิตยสารการ์ตูนไทยร่วมสมัย 1989-2007
- ↑ บ้านการ์ตูนไทย2552
- ↑ ข่าวอีคิวพลัส
- ↑ [หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ปีที่ 34 ฉบับที่ 12026. วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554. ISSN 1686-8188. หน้า 24]
- ↑ นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863.น.368-378
- ↑ 2561-2562 บ้านการ์ตูนไทย
- ↑ ‘บรรลือสาส์น’ ผนึกกำลัง ‘เมพ’ (MEB) ขยายฐานการ์ตูนไทย ส่งสามซีรี่ส์ดัง สาวดอกไม้ฯ,ไอ้แมงสาบ,กระบี่หยามยุทธภพสู่อีบุ๊ค
- ↑ พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์. รู้แล้ว! แอนิเมชันไทย...ปัญหาใหญ่อยู่ที่การเคลื่อนไหว?. คมชัดลึก. ปีที่ 11 ฉบับที่ 4007. วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555. ISSN 16851390. หน้า 20
- ↑ นิตยสารสารคดี no.376 June 2016."การินจอมเวทย์การ์ตูนไทย" น.108-111
- ↑ Onlinestation
- ↑ กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ปีที่ 34 ฉบับที่ 12335. วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2554. หน้า 14
- ↑ การ์ตูนไทยไปถึงไหนแล้ว? EP.2 เจาะลึกถึงแก่น...เหตุใดการ์ตูนไทยไม่บูม! - ไทยรัฐ
- ↑ นิรวาณ คุระทอง,Let's List :รวมงานก่อนจะดังของนักเขียนไทย,Let's Comic No.25 พฤษภาคม 2556
- ↑ "plotterรวมงานก่อนจะดังของคนไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-02. สืบค้นเมื่อ 2023-04-07.
- ↑ "การ์ตูนไทย กำลังผงาด เตะตาจนญี่ปุ่นต้องหันกลับมามอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-04.
- ↑ รายนามนักเขียนไทยบางส่วนที่ได้รับรางวัล International Manga Award
- ↑ นักเขียนการ์ตูนไทย ผู้เนรมิตพระพุทธเจ้ามุมมองใหม่ คว้ารางวัลระดับโลก
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เพจบ้านการ์ตูนไทยหอสมุดวังท่าพระ พ.ศ.2460-2562 Time Line ของวงการ 1917 - 2019
- ตำนานการ์ตูนไทย เก็บถาวร 2007-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตัดตอนจากหนังสือ ตำนานการ์ตูน ของ จุลศักดิ์ อมรเวช