ศรีธนญชัย เป็นนิทานพื้นบ้านที่รู้จักกันแพร่หลายของไทย มีตัวเอกของเรื่องคือศรีธนญชัยที่มีภาพลักษณ์เจ้าปัญญา ฉลาดแกมโกง และเป็นตัวตลก[1]

วรรณกรรมเรื่องศรีธนญชัยมีลักษณะเป็นมุขปาฐะหรือเรื่องเล่าของชาวบ้าน ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิด สมัยที่แต่งและผู้แต่ง ต่อมาแพร่หลายในราชสำนักของกรุงเทพฯ ปรากฏในประเทศไทยมากมายหลายสำนวน ทั้งแต่งเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง จากการศึกษาของกัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2521 ปรากฏว่ามีไม่น้อยกว่า 24 สำนวน ในทุกภาคของประเทศไทย ฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่ซึ่งพระปฏิเวทวิศิษฐ์ (สาย เลขยานนท์) มอบให้แก่หอสมุดแห่งชาติ เป็นฉบับที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากมีเหตุการณ์ตั้งแต่กำเนิดศรีธนญชัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ ครบถ้วน จนถึงจุดจบของศรีธนญชัย ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอสมิธ (น่าจะพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2411–2453)

อย่างไรก็ดีหากวิเคราะห์จากเนื้อหาของเรื่องที่มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศโดยเฉพาะโปรตุเกส ฮอลันดา และฝรั่งเศส ก็มีความเป็นไปได้ว่าเรื่องศรีธนญชัยแต่งขึ้นหลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นสมัยที่ชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาครั้งแรก[2]

นอกจากนั้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีนิทานพื้นบ้านเนื้อเรื่องแบบเดียวกัน อย่างในกัมพูชาและเวียดนามใช้ชื่อว่า ธนัญชัย หรือ เธฺมยชย ในลาวเรียกว่า เชียงเมี่ยง ในอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ เรียกว่า อาบูนาวัซ (Abu Nawas) ในฟิลิปปินส์เรียกว่า ฮวน ปูซอง (Juan Pusong)[3] และในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า จ้อเกอะโด่[4]

อ้างอิง แก้

  1. อัญมาศ ภู่เพชร. "นิทานเรื่องศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัย" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์.
  2. สันธิกร วรวรรณ. "นัยทางการเมืองในวรรณกรรมเรื่อง "ศรีธนญชัย"" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย.
  3. กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์. "การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องศรีธนญชัยฉบับต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย.
  4. หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง (31 มีนาคม 2564). "แลมรดกโลก : เรื่องเล่า "ศรีธนญชัย" ฉบับกะเหรี่ยง ที่มีชื่อว่า "จ้อ เกอะ โด่"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)