ภักดี แสนทวีสุข
ภักดี แสนทวีสุข หรือ ต่าย ขายหัวเราะ นักเขียนการ์ตูนไทยสังกัดสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการบุกเบิกหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะและมหาสนุก และเป็นเจ้าของผลงานชุด "ปังปอนด์" ในปัจจุบัน[1]
ภักดี แสนทวีสุข | |
---|---|
เกิด | 13 ตุลาคม พ.ศ. 2503 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นามปากกา | ต่าย ขายหัวเราะ |
อาชีพ | นักเขียน จิตรกร |
สัญชาติ | ไทย |
ช่วงปีที่ทำงาน | พ.ศ. 2522 - ปัจจุบัน |
ประวัติ
แก้ภักดี แสนทวีสุข เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นสุดท้ายที่ระดับประกาศนียบัตรวีชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกการโฆษณา จากวิทยาลัยการพาณิชย์พระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2522
ขณะที่ภักดีกำลังเรียนอยู่ชั้น ปวช. ปี 2 เขาได้นำต้นฉบับการ์ตูนมาเสนอต่อ บ.ก.วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการหนังสือในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น หลังจากพิจารณาผลงานอยู่ 2 วันแล้ว บ.ก. วิธิต จึงได้รับภักดีเข้าทำงานเขียนการ์ตูนในหนังสือการ์ตูน ขายหัวเราะ มหาสนุก ในปลายปี พ.ศ. 2522 ทันที[1] นอกจากนี้เขายังได้เขียนนิยายภาพลงในหนังสือ หลายรส ซึ่งเป็นของบรรลือสาส์นเช่นกันอยู่ระยะหนึ่งด้วย
หลังจากที่ภักดีเรียนจบแล้ว เขายังได้เข้าทำงานอยู่ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 ปี พร้อมๆ กับการเขียนการ์ตูนในขายหัวเราะ-มหาสนุกด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 บ.ก.วิธิตจึงเรียกให้เขามาทำงานด้านการ์ตูนเต็มต้ว โดยให้รับตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ ดูแลหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะมหาสนุก และรับหน้าที่เขียนปกมหาสนุกในบางฉบับสลับกับนักเขียนการ์ตูนคนอื่นด้วยจนถึงปัจจุบัน
ภักดีเผยโฉมเจ้าเด็กผมสามเส้น ปังปอนด์ และเจ้าเด็กผมสองเส้น นินจา เป็นครั้งแรกในนิตยสารการ์ตูน "มหาสนุก" เมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด หลังจากนั้น 12 ปีก็มีการหยิบเอาการ์ตูนปังปอนด์มาทำเป็นแอนิเมชั่นออกฉายทางโทรทัศน์ช่อง 3 อ.ส.ม.ท.
ภักดีมีภรรยาชื่อ อุดมพร แสนทวีสุข หรือกุ้ง มีลูกชาย 2 คน คือ ภัทรกร แสนทวีสุข (ปังปอนด์) และ สมาธิ แสนทวีสุข (นินจา) ซึ่งภักดีได้เอามาใช้เป็นชื่อตัวละครหลักในการ์ตูนชุด ไอ้ตัวเล็ก อันเป็นการ์ตูนเรื่องสั้นที่ชุดได้รับความนิยมมากที่สุดของภักดีในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้มอบปริญญาเทคโนโลยีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย) ให้แก่ภักดี แสนทวีสุขด้วย[2]
ตัวการ์ตูนของภักดี แสนทวีสุข
แก้ตัวละครของภักดีเองนั้น ปรากฏอยู่ในรูปของผู้ชายไว้ผมรองทรง ใส่เสื้อยืดลายอักษร "ต" ระบายสีแดงอยู่ครึ่งบน ส่วนครึ่งล่างเป็นสีขาว มักใช้ชื่อว่า ต่าย, ภักดู หรือ เต่ย เห่ยสกุล เป็นต้น (มาจากการเอาชื่อจริงของตนมาดัดแปลง) ในการ์ตูนชุดสองเกลอและไอ้ตัวเล็กยุคแรกๆ นั้น ตัวละครของต่ายจะดูผอมสูงแบบชายไทยมาตรฐาน ขณะที่ในการ์ตูนสามช่องจบนั้น ตัวละครมักจะมีสัดส่วนที่เล็กลงและดูหนากว่า ในระยะหลังๆ ภักดีมักเขียนตัวเองให้ดูอ้วนและลงพุงไปตามวัยของตนเองทั้งในการ์ตูนชุดไอ้ตัวเล็กและในการ์ตูนสามช่องจบ ครั้งหนึ่ง เขาได้เปิดเผยว่าได้รับแนวทางในการเขียนการ์ตูนต่างๆมาจากประสบการณ์ของตัวเองและผู้คนรอบข้าง[3]
นอกจากนี้เขายังเคยเขียนการ์ตูนล้อการเมืองโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และมุ่งเน้นไปที่นายกรัฐมนตรีเป็นหลัก[1] ครั้งหนึ่ง เขาเคยแสดงความเห็นกับทางหนังสือพิมพ์มติชนรายวันว่า หากเขามีโอกาสเขียนบทละคร เขามีความปรารถนาที่จะกล่าวถึง ผู้นำ ที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์เข้าหาตนฝ่ายเดียว หากแต่ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ[1]
ตัวการ์ตูนซึ่งเป็นที่จดจำ
แก้ตัวการ์ตูนของภักดีซึ่งเป็นที่จดจำของผู้อ่านส่วนมากอยู่ในการ์ตูนชุดไอ้ตัวเล็ก (ปังปอนด์)
- ปังปอนด์ เด็กชายผมสามเส้น
- นินจา น้องชายของปังปอนด์ มีผม 2 เส้น
- พี่มิ้งค์ หลานสาวของต่าย แต่นับถือพ่อต่ายและแม่กุ้งเหมือนพ่อแม่ตัวเอง (อยู่ในไอ้ตัวเล็กระยะแรก ๆและโผล่มาในเวลาปัจจุบันตั้งแต่ตอน return of พี่มิ้งค์)
- หูตูบ สุนัขที่ชอบมาเล่นกับปังปอนด์ตอนเด็กๆ (อยู่ในไอ้ตัวเล็กระยะแรก ๆ)
- เจ้าบิ๊ก สุนัขพันธุ์เจแปนนิส สปิทส์(ในแอนิเมชันบอกว่าเป็นพันธุ์บางแก้ว) สัตว์เลี้ยงของปังปอนด์
- แม่กุ้ง ภรรยาของต่าย (ในไอ้ตัวเล็ก แม่กุ้งจะเป็นผอมสูง ไว้ผมยาว ส่วนในการ์ตูนสามช่องจบ แม่กุ้งจะเป็นผู้หญิงอ้วนไว้ผมหยิก ชอบใส่เสื้อลายจุด)
- หน่อง เพื่อนของต่าย (จากเรื่องสองเกลอ)
ผลงาน
แก้- ไอ้ตัวเล็ก - ผลงานสร้างชื่อของภักดี แสนทวีสุข (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "ปังปอนด์" และมี "ไอ้ตัวเล็ก" อยู่ข้างบน)
- ไอ้แมลงสาบแมน - การ์ตูนล้อเลียนภาพยนตร์เรื่องไอ้แมลงวัน พระเอกเป็นฮีโร่ในคราบของมนุษย์แมลงสาบ
- เดือน คึ่ง ดวง - การ์ตูนเรื่องเก่าเรื่องแรกที่มี นพพล โกมารชุน และ ภักดี แสนทวีสุข มาเลียนดารานางแบบเมาเป็นตัวการ์ตูน ในปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2527
- สองเกลอ - การ์ตูนเรื่องสั้นว่าด้วยเรื่องราวของสองสหาย ต่ายกับหน่อง (จนถึง พ.ศ. 2534)
- บอกอทะลุโลก - เป็นการ์ตูนที่มีบอกอวิติ๊ด (ชื่อเรียกของวิธิต อุตสาหจิตในการ์ตูน) เป็นตัวเอก เนื้อหาล้อเลียนเหตุการณ์ต่างๆ (จนถึง พ.ศ. 2544)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ออกแบบประเทศไทย. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ปีที่ 34 ฉบับที่ 12231. วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554. ISSN 1686-8188. หน้า 11
- ↑ "บัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.พระนคร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-05. สืบค้นเมื่อ 2010-11-18.
- ↑ 'ขายหัวเราะ แฮพพลิเคชั่น' ตำนานใหม่ความฮาสามัญประจำบ้าน. กรุงเทพธุรกิจ. ปีที่ 24 ฉบับที่ 8379. วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554. ISSN 1685537X. หน้า 28
- หนังสือการ์ตูนไอ้ตัวเล็ก ฉบับที่ 110
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- บทสัมภาษณ์ภักดี แสนทวีสุข จาก nationejob.com
- ประวัติของภักดี แสนทวีสุข จาก vithita.com