วิธิต อุตสาหจิต

บรรณาธิการหนังสือการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์น ผู้ก่อตั้งนิตยสารขายหัวเราะและมหาสนุก และผู

วิธิต อุตสาหจิต (อักษรโรมัน: Vithit Utsahajit) บรรณาธิการหนังสือการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์น ผู้ก่อตั้งนิตยสารขายหัวเราะและมหาสนุก และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ผีหัวขาด เขายังเป็นผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติเป็นผู้แรกในประเทศไทย มีผู้ให้สมญานามแก่เขาว่า “ราชาแห่งการ์ตูนไทย” ในยุคปัจจุบัน แฟนการ์ตูนบรรลือสาส์นรู้จักกันดีในนาม “บ.ก.วิติ๊ด”

วิธิต อุตสาหจิต
ไฟล์:Vithit Utsahajit.jpg
บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นิตยสารขายหัวเราะ
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2516
บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นิตยสารมหาสนุก
เริ่มดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2518
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2496 (อายุ 70 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย

ประวัติ แก้ไข

วิธิต อุตสาหจิต เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นบุตรของนายบันลือ อุตสาหจิต เจ้าของและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ลำดับที่ 1 กับนางกนกวรรณ อุตสาหจิต จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2498 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสตรีจุลนาค ต่อมาย้ายไปเรียนต่อสายวิชาชีพจนได้วุฒิประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ (ปวช.) จากโรงเรียนพณิชยพระนคร ช่วงนี้เองที่วิธิตมีโอกาสได้เรียนรู้ และเข้าไปฝึกงานด้านฟิล์ม โดยเข้าฝึกงานกองถ่ายภาพยนตร์ ก่อนจะไปตัดสินใจไปเรียนการทำภาพยนตร์ที่ London Film School ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาระดับ Diploma of Higher Education (DipHE)

ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว วิธิตจึงรับช่วงต่อธุรกิจจากบิดา เพื่อรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจโรงพิมพ์ และหนังสือขายมุขในเครือบรรลือสาส์นช่วงประมาณปี 2520

วิธิตกับภาพยนตร์ไทย แก้ไข

วิธิตเริ่มงานภาพยนตร์ในฐานะผู้กำกับเรื่อง “ผีหัวขาด” ให้กับบริษัทศรีสยามภาพยนตร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มบรรลือสาส์นในปี พ.ศ. 2523 โดยภาพยนตร์นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เศรษฐา ศิระฉายา เป็นต้น ผีหัวขาดประสบความสำเร็จอย่างสูงจากรายได้การฉายหนังกว่า 5 ล้านบาท และร่วมผลิตหนังอื่นๆ เกือบ 20 เรื่องแต่ต้องใช้ทุนสูง ประกอบกับการที่วิธิตได้พบประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจหลายอย่าง ทำให้เขาหันหลังให้กับวงการบันเทิงอย่างสิ้นเชิง และกลับมามุ่งเน้นพัฒนาการทำหนังสือการ์ตูนและกิจการโรงพิมพ์ อันเป็นกิจการหลักของครอบครัวอย่างเต็มตัว

อนึ่ง วิธิตเคยมีโอกาสร่วมงานในคณะถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ดเรื่อง “เดียร์ฮันเตอร์” ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จนทางฮอลลีวูดสนใจจะดึงตัวเขาไปร่วมงานที่สหรัฐอเมริกา แต่เขาได้ปฏิเสธไป ซึ่งวิธิตกล่าวในภายหลังว่า "...ไม่เสียใจที่เลือกทิ้งโอกาสนั่น เพราะวันนี้ผมมีความสุขกับปัจจุบัน[1]

วิธิตกับการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์น แก้ไข

 
ปกนิตยสารมหาสนุกมีจุดเด่นที่การนำเอาคาแร็คเตอร์ของวิธิตมาล้อเลียนกับกระแสต่างๆ ในสังคมอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งก็จะมีการเขียนภาพล้อของครอบครัววิธิตลงไปด้วย ในภาพนี้คือปกนิตยสารมหาสนุก ฉบับที่ 929 ประจำวันที่ 14-21 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งวาดล้อวิธิตกับภาพยนตร์ "องค์บาก 2" ภาพปกโดย สุพล เมนาคม (ต้อม)

วิธิตชื่นชอบงานเขียนการ์ตูน ลายเส้น และคลุกคลีอยู่กับงานโรงพิมพ์ของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะมีอายุได้ 18 ปี เขาจึงได้เขียนการ์ตูนแนวสามช่องจบ (หรือการ์ตูนแก๊ก) และออกหนังสือการ์ตูนของตัวเองฉบับแรกชื่อ ขายหัวเราะ ด้วยเห็นโอกาสในตลาดที่มีการ์ตูนแนวนี้อยู่น้อยมาก และด้วยความเชื่อที่ว่าแนวขายหัวเราะสามารถขายได้

เมื่อขายหัวเราะประสบความสำเร็จ วิธิตจึงออกหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่แนวเดียวกับขายหัวเราะ แต่เน้นเจาะตลาดครอบครัว ชื่อ มหาสนุก ในปี พ.ศ. 2518 และได้รับความนิยมมากตลอดจนถึงทุกวันนี้ ภายหลังจึงได้ออกการ์ตูนชุดมินิซีรีส์ของนักเขียนคนดังๆ ในบรรลือสาส์น เช่น ปังปอนด์ บ้าครบสูตร สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ เรียกข้าว่าพญายม คนอลเวง หนูหิ่นอินเตอร์ เป็นต้น เพื่อรวมเล่มชุดผลงานการ์ตูนเรื่องสั้นของนักเขียนการ์ตูนในเครือ เช่น นิค ต้อม ต่าย เฟน เอ๊าะ ซึ่งบางเล่มก็ได้พัฒนาไปเป็นหนังสือการ์ตูนของนักเขียนเจ้าของผลงานเองแต่ละคนในเวลาต่อมา

ต่อมาในปี 2554 บรรลือสาส์นได้ทำการเปิดตัว ขายหัวเราะ แฮพพลิเคชั่น (Kai Hua Roh Happlication) สำหรับดาวน์โหลดอีแม็กกาซีน โดยใช้ได้กับแท็บเล็ต และโทรศัพท์อัจฉริยะในระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์อีกด้วย[2]

ชีวิตครอบครัว แก้ไข

วิธิตสมรสกับโชติกา อุตสาหจิต (นก) มีบุตร 5 คน เป็นหญิง 3 คน ชาย 2 คน (สามคนสุดท้ายเป็นแฝด) มีรายนามดังนี้

  • พิมพ์พิชา อุตสาหจิต (นิว)
  • ภาดารี อุตสาหจิต (นาว)
  • ภีมเดช อุตสาหจิต (เนม)
  • ภีมธัช อุตสาหจิต (น็อบ)
  • ภีมนิดา อุตสาหจิต (แนตตี้)

ดูเพิ่ม แก้ไข

อ้างอิง แก้ไข

  1. วิธิต อุตสาหจิต ขายหัวเราะ บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Positioning ฉบับเดือนกรกฎาคม 2547
  2. "บันลือกรุ๊ป" ทุ่มลงทุน 10 ล้าน จับขายหัวเราะทำอีแมกกาซีน. กรุงเทพธุรกิจ. ปีที่ 24 ฉบับที่ 8378. วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554. ISSN 1685537X. หน้า 8

แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข