เบเกอรี่มิวสิค
เบเกอรี่มิวสิก (Bakery Music) เป็นสังกัดค่ายเพลงที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2537 โดยผู้ก่อตั้งอย่าง บอย โกสิยพงษ์, กมล สุโกศล แคลปป์, สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ และ สาลินี ปันยารชุน มีผลงานอัลบั้มแรกของค่ายอย่าง โมเดิร์นด็อก ที่ได้รับความสำเร็จอย่างสูงในฐานะค่ายเพลงแห่งใหม่ ศิลปินที่มีชื่อเสียงของค่าย ได้แก่ โมเดิร์นด็อก, บอย โกสิยพงษ์, โจอี้ บอย, กรู๊ฟไรเดอร์สและอีกมากมาย เคยประสบกับภาวะการขาดทุนระยะหนึ่งก่อนจะถูกควบรวมเข้ากับค่ายเพลงสากลอย่าง บีเอ็มจี และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของค่ายเพลง โซนี่ มิวสิก ในปัจจุบัน
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2537 |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | บอย โกสิยพงษ์ กมล สุโกศล แคลปป์ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ สาลินี ปันยารชุน |
ผลิตภัณฑ์ | ดนตรี การบันเทิง |
บริษัทในเครือ | Dojo City EZ’ Baked Bakery Classic Bakery International Dobe Music Production Crunch Records Bloomingdale Records |
เว็บไซต์ | bakerymusic.com (ไทย) sonymusic.co.th (ไทย) |
จุดเริ่มต้นของเบเกอรี่มิวสิก
แก้สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์
แก้จุดเริ่มต้นของเบเกอรี่มิวสิก เริ่มจาก สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ หรือซี เป็นนักรีมิกซ์จากสไมล์ เรดิโอ ที่เริ่มโปรเจ็กต์ Z-Myx กับค่ายมูเซอร์ ของ จิก – ประภาส ชลศรานนท์ ด้วยคำแนะนำจากเอื้อง –สาลินี ปันยารชุน จนได้รู้จักและร่วมงานกับ สุกี้ - กมล สุโกศล แคลปป์ ซึ่งเข้ามารับหน้าที่เป็นซาวเอ็นจิเนียร์ ต่อมาได้รู้จักกับ บอย – ชีวิน โกสิยพงษ์ โดยการแนะนำของ ป็อป – ไพรัช นลินทรางกูร สมเกียรติขอให้บอยช่วยเขียนเพลงใหม่ให้ และทำงานด้วยกันเรื่อยมาจนถึงอัลบั้มชุด Volume 10 ของสมเกียรติ และเกิดการรวมตัวเป็นบริษัทโปรดักชันเฮ้าส์รับทำเพลงโฆษณา
กมล สุโกศล แคลปป์
แก้สุกี้ หรือ กมล สุโกศล แคลปป์ ชายหนุ่มลูกครึ่งที่จบการศึกษาด้านซาวด์เอนจิเนียร์จากต่างประเทศ สร้างชื่อจากการเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวง ทีเคโอ ในสังกัด คีตา เรคคอร์ดส ก่อนจะได้รับการติดต่อจากโมเดิร์นด็อก วงดนตรีระดับอุดมศึกษาที่เป็นแชมป์วงสตริงจากเวที โค้กมิวสิกอะวอร์ดส์ และเกิดความคิดว่า จะทำเป็นค่ายเพลง และเกิดเป็นเบเกอรี่มิวสิกในที่สุด
บอย โกสิยพงษ์
แก้ก่อนที่อัลบั้มแรกของโมเดิร์นด็อกจะเป็นรูปเป็นร่าง ป๊อด – ธนชัย อุชชิน นักร้องนำของวงก็มีโอกาสได้ร้องเพลง “ลมหายใจ” ในอัลบั้ม Volume 10 ของสมเกียรติและกลายเป็นเพลงดัง ซึ่งเพลงนี้เขียนโดยนักแต่งเพลงหน้าใหม่ในสมัยนั้น คือ บอย โกสิยพงษ์
บอย ยังเป็นคนที่ตั้งชื่อ เบเกอรี่มิวสิก ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาต้องการชื่อที่ฟังดูถ่อมตัว ฟังแล้วรู้สึกถึงความเป็นโฮมเมด และเป็นชื่อที่คุ้นหูได้ง่าย รวมทั้ง การที่ค่ายตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ ซึ่งมีร้านเบเกอรี่ตั้งอยู่หลายร้าน ชื่อดังกล่าวจึงถูกเลือกขึ้นมาตั้งเป็นชื่อค่าย
สาลินี ปันยารชุน
แก้ผู้หญิงคนเดียวในบรรดาผู้ก่อตั้งค่าย รับหน้าที่เป็นฝ่ายการจัดการทั่วไป ทั้งด้านธุรการ, การตลาดและโปรโมชั่น นอกเหนือจากการเป็นดีเจ ระยะหลัง เข้าไปดูแลการจัดการศิลปินด้วย
หลังจากความสำเร็จของอัลบั้มชุดแรกของค่าย พวกเขาออกมินิอัลบั้มของศิลปินหน้าใหม่ โจอี้ บอย ด้วยดนตรีฮิปฮอปในแบบแร็กก้ามัฟฟิน และซิงเกิลแรก “รักคุณเข้าแล้ว” ของ บอย โกสิยพงษ์ ตามออกมา และประสบความสำเร็จเช่นเดิม ทำให้เบเกอรี่มิวสิกกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่สร้างกระแสให้เกิดค่ายเพลงเล็ก ๆ ขึ้นเกือบร้อยบริษัท และเกิดเป็นยุคอัลเทอร์เนทีฟเฟื่องฟูในที่สุด
เหตุการณ์ต่าง ๆ ของเบเกอรี่มิวสิก
แก้โมเดิร์นด็อก ศิลปินกลุ่มแรกของค่าย
แก้โมเดิร์นด็อก ทำอัลบั้มแรกของตนเองโดยมีกมล สุโกศล แคลปป์ เป็นโปรดิวเซอร์ให้ ออกวางแผงเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2537 โดยมีเพลง “บุษบา” และ “...ก่อน” ที่กลายเป็นเพลงโด่งดัง และสร้างชื่อให้คนฟังรู้จักทั้งชื่อวงและชื่อค่าย โมเดิร์นด็อกกลายเป็นศิลปินในดวงใจของนักร้องนักดนตรีรุ่นหลังจวบจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับเบเกอรี่มิวสิก ที่กลายเป็นกระแสให้เกิดค่ายเล็กค่ายน้อยจำนวนมากที่ถือกำเนิดขึ้นตามมา
ฤดูที่แตกต่าง
แก้หลังจากซิงเกิลแรกอย่าง รักคุณเข้าแล้ว โด่งดังพอสมควร เพลงดังตลอดกาลเพลงถัดมาของเบเกอรี่มิวสิกคือ ฤดูที่แตกต่าง หรือ “Seasons Change” ที่ร้องโดย นภ พรชำนิ และทำให้บอยทำซิงเกิลรีมิกซ์ 7 เวอร์ชันของเพลงนี้ออกวางแผง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของวงการเพลงไทยอีกเช่นกันที่มีการออกซิงเกิลในรูปแบบการรีมิกซ์
ความแปลกใหม่ของวงการ
แก้ตลอดช่วง 3-4 ปีแรกของการผลิตอัลบั้ม เบเกอรี่มิวสิกปั้นศิลปินหน้าใหม่พร้อมด้วยแนวเพลงใหม่ ๆ ให้กับวงการเพลงไทยอย่างไม่ขาด ไม่ว่าจะเป็น โจอี้ บอย เจ้าของฉายาแร็ปจรวดที่สร้างฮิปฮอปที่มีความเป็นไทยรายแรก, อรอรีย์ จุฬารัตน์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นราชินีกรันจ์หญิงคนเดียวของเมืองไทยในเวลาต่อมา โยคีเพลย์บอย อินดี้ป็อปกับท่าเต้นยียวนอันเป็นเอกลักษณ์, พอส ที่โด่งดังมาก ๆ กับเพลง “ที่ว่าง” ขณะที่ โซลอาฟเตอร์ซิกซ์ จากเพลง “ก้อนหินละเมอ”, ทีฟอร์ทรี จากเพลง “ลมหนาว” รวมทั้งโปรเจ็กต์ เบเกอรี่แซมเพลอร์ ที่เป็นต้นกำเนิดของวงร็อคดังแห่งยุคอย่าง ซิลลี่ฟูลส์
ล้านตลับครั้งแรก
แก้โจอี้ บอย สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ให้กับค่ายเล็ก ๆ ด้วยยอดขาย 1 ล้านตลับของอัลบั้ม ‘Fun Fun Fun’ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2539
ขณะที่ปลายปี สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน ส่งผลกระทบต่อเบเกอรี่ฯ จนต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็เป็นปีที่เอื้อง สาลินี ทำงานกับเบเกอรี่เป็นปีสุดท้าย ด้วยเหตุผลด้านความเห็นที่ไม่ตรงกัน
กำเนิดโดโจ ซิตี้
แก้หลังเกิดภาวะวิกฤติทางด้านการเงิน ปี พ.ศ. 2541 เบเกอรี่มิวสิกตัดสินใจหาทางออกด้วยการเปิดบริษัทจัดจำหน่ายขึ้นเอง ชื่อ แท็กซี่ ดิสตริบิวชั่น และออกผลงานเพลงที่อิงตลาดมากขึ้น ด้วยการส่งศิลปินกลุ่ม พีโอพี ที่นำโดย นภ พรชำนิ ออกมาวางตลาด และเปิดสังกัดย่อย โดโจ ซิตี้ เน้นตลาดวัยรุ่น ประเดิมด้วยศิลปินหญิงดูโอ นีซ ซึ่งเป็นซีดีอัลบั้มแรกของประเทศไทยที่มีการออกแบบให้เป็น Enhanced CD นอกจากนี้ ยังเปิดธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์เพิ่มเติม นั่นคือ นิตยสารแคตช์ (Katch) และมังงะแคตช์ (Manga Katch) นั่นเอง
การควบรวมกิจการกับบีเอ็มจี
แก้ในปี พ.ศ. 2543 เบเกอรี่มิวสิกประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก ในที่สุด ผู้บริหารของค่ายตัดสินใจควบรวมกิจการกับ บีเอ็มจี เอนเตอร์เทนเมนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชียแปซิฟิค จนทำให้เกิดการปรับตัวด้านวิสัยทัศน์ มีการนำเพลงออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น และนำเพลงจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย โดยที่เบเกอรี่มิวสิกยังคงเป็นผู้ควบคุมแนวทางและคุณภาพของเพลงเช่นเดิม บวกกับความเข้าใจในตัวศิลปินของผู้บริหาร ทำให้แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นก็ไม่ทำให้ภาพพจน์ของค่ายเสียไปมากนัก
เบเกอรี่ เดอะคอนเสิร์ต
แก้นับเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการเพลงไทย ที่มีคลื่นวิทยุร่วมจัดคอนเสิร์ตเฉพาะให้กับค่ายเพลงค่ายเดียว โดยรวมเกือบทุกศิลปินที่เคยออกผลงานกับเบเกอรี่มิวสิกตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงวันจัดคอนเสิร์ต คลื่น 104.5 แฟตเรดิโอ คลื่นวิทยุในเครือคลิกเรดิโอ จัดคอนเสิร์ตดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ได้รับความสนใจจากแฟนเพลงอย่างล้นหลาม และมีการแสดงบนเวทีที่ยาวนานหลายชั่วโมง
นอกจากนี้ คอนเสิร์ตครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของวง พรู และนักร้องนำที่ชื่อ กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือน้อย น้องชายของสุกี้ - กมล สุโกศล แคลปป์ เจ้าของค่ายเบเกอรี่มิวสิกอีกด้วย
การควบรวมบริษัทหนที่สอง
แก้หลังจากบริษัทแม่ของ BMG Entertainment ได้ควบรวมกิจการกับ Sony Music Entertainment มีการใช้เวลาในการทำความตกลงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเกี่ยวกับรูปแบบการควบรวม เนื่องจาก Sony Music ในไทยตอนนั้นคือบริษัท Sony Music BEC-TERO Entertainment ซึ่งเป็นการควบรวมกันอยู่ก่อนแล้วระหว่าง 2 บริษัทกับทาง TERO Ent.
ในที่สุด เมื่อเกิดการควบรวมจึงทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่ชื่อ Sony BMG Music Entertainment และอีกไม่นานนักทางโซนี่ก็ได้ทำการซื้อหุ้นอีกครึ่งนึงคืออีก 50% ของทาง BMG ทำให้ Sony ได้กลับมาถือหุ้นบริษัททั้งหมด 100% เหมือนเดิม ทำให้ก่อนหน้านี้ที่ชื่อบริษัท Sony BMG Music Entertainment เปลี่ยนกลับเป็น Sony Music Entertainment ดั่งเดิม โดยทาง TERO Entertainment ได้ทำการถอนหุ้นออกไป ทำให้ Bakery Music ก็กลายเป็นหนึ่งในค่ายย่อยของ Sony Music โดยปริยายและในตอนนั้นเองผู้บริหารชุดเดิมของ Bakery Music อย่าง สุกี้ และบอย ได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารเพราะเกิดปัญหากันด้านข้อตกลงเงื่อนไขของทาง Sony ที่เสนอให้ เช่นเงื่อนไขข้อที่ว่า ลิขสิทธ์เพลงทั้งหมดของ Bakery Music จะต้องตกมาเป็นของ Sony ทั้งหมด และอีกหลาย ๆ เงื่อนไข จึงได้ทยอยกันลาออกจากการเป็นผู้บริหาร ส่วนสมเกียรติได้อยู่ช่วยบริหารอยู่พักหนึ่ง ก่อนภายหลังได้ตัดสินใจลาออกเช่นกัน โดยบอยและสุกี้ได้ออกไปก่อตั้งค่ายใหม่ในเครือ Sony ชื่อว่า LOVEiS Entertainment. และสุกี้ได้หันไปทำอีกหนึ่งธุรกิจเป็นรายการทีวี
10 ปีเบเกอรี่มิวสิก
แก้ในช่วงเวลาที่เบเกอรี่มิวสิกดำเนินกิจการมาจนครบปีที่สิบ มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการจัดคอนเสิร์ตใหญ่หลายรายการ โดยเฉพาะคอนเสิร์ตใหญ่ของ บอย โกสิยพงษ์ ในช่วงที่ออกอัลบั้มชุด 'Million Way To Love Part I' ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งบัตรของทั้งสองรอบถูกจัดจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว และคอนเสิร์ต "B.Day Bakery Music Independent Day" ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของเบเกอรี่มิวสิก ที่รวบรวมศิลปินของค่ายเอาไว้มากที่สุด จัดขึ้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพมหานคร และศูนย์การค้า เซ็นทรัล แอร์พอร์ต พลาซา จังหวัดเชียงใหม่
ศิลปินที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนั้น คือ บีไฟว์ ประกอบด้วย กลุ่มศิลปินเลือดใหม่ของเบเกอรี่มิวสิกอย่าง เบน – ชลาทิศ ตันติวุฒ, คิว – สุวีระ บุญรอด, โต๋ - ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร, เค้ก - อุทัย นิรัติกุลชัย, มาเรียม อัลคาลาลี่ ออกอัลบั้มชุด Event ซึ่งเป็นนำเพลงต่าง ๆ ของเบเกอรี่มิวสิกมาเรียบเรียงใหม่ในสไตล์ของบีไฟว์ เป็นอีกอัลบั้มหนึ่งที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร
มีการจัดทำนิตยสารเฉพาะกิจชื่อ 375 องศาฟาเรนไฮน์ ซึ่งเป็นนิตยสารที่รวบรวมเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับเบเกอรี่มิวสิก ตั้งแต่ก่อตั้งจนกระทั่งปีที่สิบ (ปี ค.ศ. 1994-2004) จัดทำโดยทีมงานอะเดย์ พิมพ์ออกจำหน่ายเป็นจำนวน 10 เล่มเป็นเวลา 10 เดือน เริ่มวางจำหน่ายในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2547 ในราคาเล่มละ 100 บาท
เบเกอรี่มิวสิกในปัจจุบัน
แก้หลังจาก เบเกอรี่มิวสิก อยู่ภายใต้การบริหารงานของโซนี่ มิวสิก โอเปอเรติ้ง (ประเทศไทย) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารชุดเดิม คือ บอย โกสิยพงษ์ และกมล สุโกศล แคลปป์ ตัดสินใจลาออก ส่วน สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ยังคงอยู่ช่วยดูแลอยู่ระยะหนึ่ง ขณะที่เบเกอรี่มิวสิกก็ยังคงออกผลงานเป็นระยะ ๆ โดยมีศิลปินที่ยังคงติดสัญญาตั้งแต่ก่อนควบรวมกิจการทยอยออกอัลบั้มจวบจนปัจจุบัน เช่น เครสเชนโด้, โต๋ – ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร, เบน – ชลาทิศ ตันติวุฒ และ เค้ก – อุทัย ปุญญมันต์
ปัจจุบัน บอย โกสิยพงษ์ เป็นเจ้าของค่ายเพลง เลิฟอีส, สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ยังคงมีงานเพลงออกมาบ้างประปราย ขณะที่กมล สุโกศล แคลปป์ หันไปทำรายการโทรทัศน์ประเภทเรียลลิตีโชว์แทน
ช่วงเวลาของเบเกอรี่มิวสิค
แก้ช่วงก่อตั้งค่ายเพลง Bakery Music (พ.ศ. 2535-2540)
แก้หลังจากสาเร็จการศึกษาในด้าน Music Business จาก University of California at Los Angeles (UCLA) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบอย โกสิยพงษ์ ได้เดินทางกลับประเทศไทยและได้ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนคือ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์, สาลิณี ปันยารชุน และ กมล สุโกศล แคลปป์ ตั้งบริษัทขึ้นในปี พ.ศ. 2535 รับทำเพลงทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงโฆษณา จนกระทั่งบอย โกสิยพงษ์และเพื่อนมีโอกาสทำเพลงให้กับวงดนตรีของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อวงว่า “โมเดิร์นด็อก” เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทำเพลง บอย โกสิยพงษ์และเพื่อน รวมทั้งวง โมเดิร์นด็อกมีความเห็นตรงกันว่าจะไม่ขายงานผ่านค่ายเพลงแต่จะดำเนินการทางด้านการตลาดเองและนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของบริษัทเบเกอรี่มิวสิค
ช่วงมรสุมทางเศษฐกิจ (พ.ศ. 2541-2542)
แก้ความมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของเบเกอรี่มิวสิคนอกจากจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการเพลงดังที่กล่าวไปแล้วยังส่งผลให้ระบบการทำงานของเบเกอรี่มิวสิคต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ความขัดแย้งระหว่างการให้น้าหนักระหว่าง “ศิลปะ” และ “ธุรกิจ” ทำให้สาลินี ปันยารชุน หนึ่งในผู้ก่อตั้งเบเกอรี่มิวสิคลาออกและถอนหุ้น ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนั้นจนรัฐบาลต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทใน ปี พ.ศ. 2540 ส่งผลให้ค่ายเพลงจำนวนมากปิดตัวไป ด้วยแนวคิดของเบเกอรี่มิวสิคที่ให้ความสำคัญของศิลปะมากกว่าธุรกิจมาตั้งแต่ต้น จึงทำให้ไม่สามารถต้านทานกระแสเศรษฐกิจตกตํ่าได้ ท้ายที่สุดเบเกอรี่มิวสิคมีบัญชีติดลบถึง 60 ล้านบาท
ช่วงร่วมทุนกับบริษัท BMG (พ.ศ. 2543-2547)
แก้วิธีการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของเบเกอรี่มิวสิค คือการหาบริษัทใหญ่มาร่วมทุนนั่นก็คือบริษัท BMG ซึ่งเป็นค่ายเพลงระดับโลกในปี พ.ศ. 2543 บริษัท BMG เป็นบริษัทสาขาของ กลุ่ม Bertsmann ซี่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงพิมพ์ในประเทศเยอรมันมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาพัฒนาเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีแนวทางการทาธุรกิจโดยการร่วมทุนกับบริษัทต่าง ๆ บริษัท BMG หรือในชื่อเต็มว่า Bertelsmann Music Group เป็นบริษัทสาขาของ Bertsmann ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องดนตรีโดยเฉพาะ สำนักงานใหญ่ของ BMG อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาและมีสำนักงานย่อยใน 25 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย เบเกอรี่มิวสิคจึงจำเป็นต้องปรับวิธีการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น รวมไปถึงการลดขนาดองค์กรเพื่อประคับประคองบริษัทให้อยู่รอด
หลังจากบอย โกสิยพงษ์และเพื่อนอีกสองคนที่เป็นคณะผู้บริหารและผู้ก่อตั้งเบเกอรี่ลาออกสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ เปลี่ยนไปทางานเพลงให้กับศิลปินในวงการ ส่วนกมล สุโกศล แคลปป์เปลี่ยนไปผลิตงานด้านโทรทัศน์ มีเพียงบอย โกสิยพงษ์ที่ยังคงมุ่งมั่นทำค่ายเพลงอีกครั้ง โดยค่ายเพลงใหม่ของบอย โกสิยพงษ์มีชื่อว่า เลิฟอีส เป็นค่ายเพลงขนาดเล็กเหมือนค่ายเบเกอรี่ ในยุคเริ่มแรก แต่มีระบบการจัดการในรูปแบบสหกรณ์ซึ่งบอย โกสิยพงษ์ได้แนวคิดนี้มาจากคริสต์ศาสนาที่เขาศรัทธา[1]
เกร็ดประวัติ
แก้- ชื่อของค่ายก่อนที่จะมาลงตัวที่ “เบเกอรี่มิวสิก” คือ “ชอร์นเบิร์ก” จากการเสนอของ บอย โกสิยพงษ์ และ “บอมบ์สควอด” (Bomb Squad) จากการเสนอของสุกี้ โดย บอมบ์สควอด เป็นชื่อทีมโปรดักชั่นของวงแร็ปที่ชื่อ Public Enemy
- เพลงประกอบการเดินแบบของ Fly Now คือผลงานแรก ๆ ของเบเกอรี่มิวสิก โปรดักชั่น
- เบเกอรี่มิวสิกเป็นค่ายแรกที่ริเริ่มการติดสติกเกอร์บนปกเทป ซึ่งเริ่มตั้งอัลบั้มแรกของโมเดิร์นด็อก โดยที่ศิลปินในค่ายจะมาช่วยกันแปะสติ๊กเกอร์
- บอย โกสิยพงษ์ และ สาลินี ปันยารชุน เคยได้รับการยกย่องจากนิตยสารเทรนดี้แมน (Trendy Man) ให้เป็น 2 ใน 50 Most Powerful People ในช่วงปี 2540
- หลังจากสาลินี ปันยารชุน ออกไป เธอได้ไปตั้งค่ายเพลงขึ้นใหม่ ชื่อ เฮ้าส์ออฟฟัน (House of Fun)
- กฤษดา สุโกศล แคลปป์ แม้จะเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องนำวงพรู แต่ความจริงนั้น เขาเคยร้องเพลงให้กับอัลบั้ม "Rhythm & BOYd" อัลบั้มชุดแรกของ บอย โกสิยพงษ์ มาก่อน
ค่ายเพลงย่อย
แก้อีซี่เบก (EZ’ Baked) ในช่วงหนึ่งของเบเกอรี่มิวสิก เคยจัดให้อัลบั้มที่มีเพลงฟังสบายที่ไม่ใช่แนวตลาด ให้ออกในสังกัดชื่อดังกล่าว เช่น ธีร์ ไชยเดช, ทีฟอร์ทรี และ พนัส วิวัฒน์พนชาติ
เบเกอรี่ อินเตอร์เนชันแนล (Bakery International) ค่ายเพลงสากลในเครือเบเกอรี่มิวสิก ศิลปินในค่าย เช่น เอเจ (A-Jay) , นิวตัน (Newton) , Rio & Mars, Art Garfunkel, Alex E, Bliss และ Beverley Knight
เบเกอรี่ คลาสสิก (Bakery Classic) ค่ายเพลงย่อยที่เน้นนำเพลงอมตะมาทำใหม่ ศิลปินในค่ายนี้ ได้แก่ กมลา สุโกศล
โดโจ ซิตี้ (Dojo City) ค่ายเพลงย่อยที่มุ่งเน้นสร้างศิลปินวัยรุ่นเพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก และช่วยพยุงสถานะทางการเงินให้กับเบเกอรี่มิวสิกไว้ได้อย่างดี มีศิลปินวัยรุ่นที่มีชื่อเสียงหลายกลุ่ม ได้แก่ ไทรอัมพ์ส คิงดอม, นีซ, เอช, ออย ช็อคกิ้งพิ้งค์ และ มิสเตอร์ซิสเตอร์
ครันช์เรคคอร์ดส (Crunch Records) ค่ายเพลงย่อยที่ดูแลโดย ธานินทร์ ช.สรพงษ์ มีศิลปินในสังกัด คือ บีน และ พาวเวอร์แพท
บลูมมิ่งเดล เรคคอร์ดส (Bloomingdale Records) เป็นค่ายเพลงย่อยที่ตั้งขึ้นเป็นออกอัลบั้มรวมเพลงจากค่ายอินดี้ต่าง ๆ แต่ออกอัลบั้มมาเพียงชุดเดียว คืออัลบั้ม "Indy Hits Chart" ในปี พ.ศ. 2544 ก่อนจะยุบตัวไป
โด๊บมิวสิก (Dobe Music Production) ไม่เชิงเป็นค่ายเพลง แต่เป็นกลุ่มโปรดักชั่นที่ก่อตั้งขึ้นโดย นภ พรชำนิ และเพื่อน มีผลงานออกมา 3 อัลบั้มและ 1 อีพี
อัลบั้ม
แก้อัลบั้มเต็ม
แก้2537
แก้- โมเดิร์นด็อก - เสริมสุขภาพ
2538
แก้- บอย โกสิยพงษ์ - Rhythm & Boyd
- มิสเตอร์ซี - Zequence
- ซีเปีย - Two Eggs
- โจอี้ บอย - Joey Boy
- อรอรีย์ - Natural High
- พนัส วิวัฒน์พนชาติ - ฝันให้ไกล ไปให้ถึง (อีซี่เบก)
- ธีร์ ไชยเดช - Why? (อีซี่เบก)
2539
แก้- Bakery Samplers
- ซิลลี่ ฟูลส์ - Silly Fools (ภายหลังแยกเป็นอีพีอัลบั้ม)
- สโตนโซล - Stone Soul (ภายหลังแยกเป็นอีพีอัลบั้ม)
- วิเศษนิยม - วิเศษนิยม (ภายหลังแยกเป็นอีพีอัลบั้ม)
- บอย โกสิยพงษ์ - Simplified
- โจอี้ บอย - Joey Men
- พอส - Push (Me) Again
- โซลอาฟเตอร์ซิกซ์ - Soul After Six
- โยคีเพลย์บอย - โยคีเพลย์บอย
- ทีฟอร์ทรี - Base on The True Story (อีซี่เบก)
- สายชล ระดมกิจ - A Touch of the Innocent
2540
แก้- Bakery on Vacation
- Visionary The Positive Traveler
- โมเดิร์นด็อก - Back Catalog
- โมเดิร์นด็อก - คาเฟ่
- ทีฟอร์ทรี - Clear
- คริสติน มารี นีเวล - Again
- โจอี้ บอย - Fun Fun Fun
- โจอี้ บอย - Fun Fun Fun 1,000,000
- โจอี้ บอย - Joey's Hits Part 1
2541
แก้- Bakery Rare Grooves
- Bakery Rare Grooves 2
- Bakery Daydreaming
- พอส - Evo & Nova
- ทีฟอร์ทรี - Three
- โจอี้ บอย - Bangkok
- สายชล ระดมกิจ - Portrait of The Innocent
- ธีร์ ไชยเดช - There
- อรอรีย์ - Peel
- รัดเกล้า อามระดิษ - Request
- นีซ - Niece (โดโจ ซิตี้)
2542
แก้- Made in Dojo City The Greatest Hits From The Fantastic Girls of Dojo City (โดโจ ซิตี้)
- พอส - Mild
- โจอี้ บอย - Tourist ตัวฤทธิ์
- ธีร์ ไชยเดช - Story
- ริค วชิรปิลันธิ์ - ปฐม
- โหน่ง พิมพ์ลักษณ์ - Possible!
- พีโอพี - Party of the Period
- พิกซิล - Vision
- คริสติน มารี นีเวล - Kinetic Kristin (โดโจ ซิตี้)
- เอช - Project H (โดโจ ซิตี้)
- ไทรอัมส์คิงดอม - Triumphs Kingdom (โดโจ ซิตี้)
- ไทรอัมส์คิงดอม - Triumphs Kingdom 1.1 (โดโจ ซิตี้)
- ไทรอัมส์คิงดอม - Twice TK - X' Mas Kingdom Version (โดโจ ซิตี้)
2543
แก้- Bakery Y2gether
- Made in Dojo City 2 Dojo Acoustics (โดโจ ซิตี้)
- Made in Dojo City 3 Dojo Acoustics (โดโจ ซิตี้)
- มิสเตอร์ซี - Return to Retro
- มิสเตอร์ซี - Mr.Z's Visitor Sa Called Remixer
- พอส - Rewind 1996 - 2000
- โจ้ อัมรินทร์ - Simply Me
- โหน่ง พิมพ์ลักษณ์ - Inspired
- ธีร์ ไชยเดช - Past
- พีโอพี - P.O.P
- พีโอพี - In The Room
- โยคีเพลย์บอย - YKPB
- เดอะซัน - ถนนพระอาทิตย์
- พาวเวอร์แพท - Power Pat (ครันช์ เรคคอร์ดส)
- บีน - นับหน้าถือตา (ครันช์ เรคคอร์ดส)
- นาเดีย - Welcome Sweet Morning
- ไทรอัมส์คิงดอม - Twice TK Common Version (โดโจ ซิตี้)
- เอช - H2oh! (โดโจ ซิตี้)
- นีซ - Merci Merci (โดโจ ซิตี้)
- ออย ช็อคกิ้งพิ้งค์ - Oil Shocking Pink (โดโจ ซิตี้)
2544
แก้- The Balance of B Sides
- โมเดิร์นด็อก - Love Me Love My Life
- นาเดีย - Resources To Keep My Life Vital
- รัดเกล้า อามระดิษ - Relax
- กรู๊ฟไรเดอร์ส - Discovery
- ไทรอัมส์คิงดอม - TK Vision (โดโจ ซิตี้)
- เอช - H's Hits (โดโจ ซิตี้)
- พรู - Pru
- พรู - S.E. (Special Edition)
2545
แก้- Bakery Love is Forever
- Bakery Version Acoustique
- Happy Bakery's Party People
- Indy Hits Chart (บลูมมิ่งเดล เรคคอร์ดส)
- บอย โกสิยพงษ์ - Songs From Different Scenes
- โซลอาฟเตอร์ซิกซ์ - The Rhythm
- โยคีเพลย์บอย - Love Trend
- ธีร์ ไชยเดช - After Break
- กรู๊ฟไรเดอร์ส - Discovery 2
- ฟลัวร์ - Flure
- มิสเตอร์ซิสเตอร์ - Mr.Sister (โดโจ ซิตี้)
2546
แก้- Bakery Sound Revisited
- New Remixers of The Year
- Re-Baked A tribute of Bakery Music's Song Book
- กมลา สุโกศล - Selections
- บอย โกสิยพงษ์ - Songs From Different Scenes 2
- บอย โกสิยพงษ์ - Million Ways to Love Part 1
- โยคี เพลย์บอย - The Greatest Grandfather Hits
- โซลอาฟเตอร์ซิกซ์ - Mellow Moods
- ฟลัวร์ - Poplife
- พีโอพี - S
2547
แก้- T-Hop
- Million Ways to Dobe ตื่นเถิดชาวไทย (โด๊บ มิวสิค โปรดักชั่น)
- บอย โกสิยพงษ์ - Songs From Different Scenes 3
- โมเดิร์นด็อก - แดดส่อง
- บีไฟว์ - Event
- เครสเชนโด้ - Crescendo
- บอย ตรัย - My Diary Original Soundtrack
2548
แก้- โยคี เพลย์บอย - The Greatest Grandfather Hits 1 - 2
- โจอี้ บอย - The Greatest Beats 1994 - 2000
- มิสเตอร์ซี - The Greatest Tunes 1993 - 2005
- นภ พรชำนิ - The Greatest Beginning 1994 - 2005
- นภ พรชำนิ - A Man of Smiles A-Side Album (โด๊บ มิวสิค โปรดักชั่น)
- นภ พรชำนิ - A Man of Smiles B-Side album (โด๊บ มิวสิค โปรดักชั่น)
- เครสเชนโด้ - Second Chance
- พรู - Zero
- ฟลัวร์ - Vanilla
- เบน ชลาทิศ - Ben Chalatit
2549
แก้- เบน ชลาทิศ - Impression
- บอย ตรัย - บุคคลที่ 3
- เค้ก อุทัย - The Missing Pieces
- โบ สุรัตนาวี - Beginning
2550
แก้- ฟลัวร์ - Tales
- โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ - Living in C Major
2551
แก้- เครสเชนโด้ - Four Days
- โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ - Munk?
2552
แก้- เครสเชนโด้ - Light
2555
แก้- ธีร์ ไชยเดช - Recoloured
คอนเสิร์ต
แก้- Dog On Stage World Tour ของโมเดิร์นด็อก ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ณ เอ็มบีเค ฮอลล์ มาบุญครองเซ็นเตอร์
- Hennessy Rhythm Discovery Live ของบอย โกสิยพงษ์ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ที่เอ็มบีเค ฮอลล์ มาบุญครองเซ็นเตอร์
- Fantasy TK รวมศิลปินค่ายโดโจ ซิตี้ ใน สิงหาคม พ.ศ. 2542
- Bakery The Concert รวมศิลปินเบเกอรี่มิวสิค ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี
- The Story of My Life ของนภ พรชำนิ ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- Million Ways To Love Part I Live! ของบอย โกสิยพงษ์ ในวันที่ 5-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี
- Zsee Concert ของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ในวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ณ ศูนย์การแสดงสินค้านานาชาติ ไบเทค บางนา
- An Era Has Been Completed ของพีโอพี ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2547 ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี
- Maximize Mellow Moment with Soul After Six ของโซลอาฟเตอร์ซิกซ์ ในวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ณ บีอีซีเทโรฮอลล์ สวนลุมไนท์บาซาร์
- Sad Song Says So Much ของตรัย ภูมิรัตน ในวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- B5 Event The Concert Live ของบีไฟว์ ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2547 ณ บีอีซีเทโรฮอลล์ สวนลุมไนท์บาซาร์
- B.Day Bakery Music Independent Day รวมศิลปินเบเกอรี่มิวสิค ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก
- B.Day Bakery Music Independent Day รวมศิลปินเบเกอรี่มิวสิค ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา แอร์พอร์ตพลาซ่า จ.เชียงใหม่
นิตยสาร
แก้- Katch (โดโจ ซิตี้)
- Manga Katch (โดโจ ซิตี้)
- 375°F
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- บทความ “10 ปีของเบเกอรี่มิวสิก” ใน Sanook.com (Link)
- นิตยสาร 375 องศาฟาเรนไฮน์ เล่ม 1 – 10, เจ้าของ บริษัท เบเกอรี่มิวสิก จำกัด
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Bakery Musicเก็บถาวร 2020-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- Bakery Musicเก็บถาวร 2009-07-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ของค่ายเพลง โซนี่ มิวสิก