ก้านกล้วย
ก้านกล้วย เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแนวผจญภัยของไทยในปี พ.ศ. 2549 เรื่องราวเกี่ยวกับสยามในสมัยอยุธยา เล่าเรื่องราวของช้างไทยที่พเนจรไปจากแม่ของตนและได้รับตำแหน่งเป็นช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างจากนิยายเรื่อง เจ้าพระยาปราบหงสาวดี โดย อริยา จินตพานิชการ ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปี เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ในปี พ.ศ. 2551 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาในชื่อ The Blue Elephant ในวันที่ 2 กันยายน และเข้าฉายในอินเดียในชื่อ Jumbo ในวันที่ 25 ธันวาคม
ก้านกล้วย | |
---|---|
![]() ใบปิดประชาสัมพันธ์ | |
กำกับ | คมภิญญ์ เข็มกำเนิด |
เขียนบท | อัมราพร แผ่นดินทอง จรูญ ปรปักษ์ประลัย |
สร้างจาก | เจ้าพระยาปราบหงสาวดี โดย อริยา จินตพานิชการ |
อำนวยการสร้าง | อัจฉรา กิจกัญจนาสน์ |
นักแสดงนำ | จุรี โอศิริ รอง เค้ามูลคดี เทพ โพธิ์งาม ชาญณรงค์ ขันทีท้าว |
ตัดต่อ | พรสวรรค์ ศรีบุญวงษ์ |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล |
วันฉาย | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 |
ความยาว | 104 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทุนสร้าง | 150 ล้านบาท |
ทำเงิน | 196 ล้านบาท[1] |
ต่อจากนี้ | ก้านกล้วย 2 |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยคมภิญญ์ เข็มกำเนิด ซึ่งเคยไปศึกษาการทำแอนิเมชันที่สหรัฐและเคยทำภาพเคลื่อนไหวร่วมกับดิสนีย์และบลูสกาย สตูดิโอส์ ในภาพยนตร์แอนิเมชันอย่างทาร์ซาน, ไอซ์ เอจ และแอตแลนติส[2] ผลิตโดยกันตนา แอนิเมชัน เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติเรื่องแรกของไทย และเป็นภาพยนตร์ของไทยลำดับต้น ๆ ต่อจากสุดสาคร ภาพยนตร์แอนิเมชันแนวเซล โดยปยุต เงากระจ่าง ในปี พ.ศ. 2522 ภาคต่อของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ก้านกล้วย 2 [เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกช้างแฝดของก้านกล้วย และการโจมตีอีกครั้งของหงสาวดี ทำให้ตัวละครต้องเลือกทางระหว่ายอยู่ร่วมกับครอบครัวหรือรบกับพม่า] ซีรีส์แอนิเมชันทางโทรทัศน์เรื่อง ก้านกล้วยผจญภัยผลิตโดย กัญจนาแอนิเมชันสตูดิโอ ออกอากาศทาง BBTV ช่อง 7
เนื้อเรื่อง แก้
ก้านกล้วย เป็นลูกช้างสีฟ้ารูปงาม อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่งในประเทศไทย กับแสงดา แม่ของเขา ก้านกล้วยไม่เคยเห็นหน้าพ่อ เนื่องจากพ่อของเขาเป็นช้างศึกแห่งกองทัพอยุธยานาม ภูผา ซึ่งถูกงวงแดง ช้างขุนศึกพม่าร่างมหึมาฆ่าตายในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ก้านกล้วยถูกเพื่อนช้างในโขลงล้อเลียนว่าเป็น "ลูกไม่มีพ่อ" ทำให้ก้านกล้วยน้อยใจอยู่เป็นประจำ
วันหนึ่ง ก้านกล้วยรู้สึกสงสัยเกี่ยวกับพ่อของเขา ก้านกล้วยจึงถามแสงดา แม่ของเขา ว่าพ่อเป็นใคร และอยู่ที่ใด แสงดาได้บอกแก่ลูกชายว่า พ่อของเขาถูกมนุษย์จับตัวไปเป็นช้างศึกก่อนที่ก้านกล้วยจะเกิดเสียอีก เมื่อแสงดางีบหลับไป ก้านกล้วยจึงแอบหนีแม่มาสำรวจค่ายทหารพม่าเพื่อตามหาพ่อของเขา ก้านกล้วยมาพบงวงแดง ณ เต็นท์แห่งหนึ่ง ก้านกล้วยถามงวงแดงเกี่ยวกับพ่อของเขา แต่งวงแดงปฏิเสธที่จะตอบคำถามและพยายามฆ่าก้านกล้วย แต่พระนเรศวรทรงช่วยก้านกล้วยไว้ และทรงผูกมิตรไมตรีกับเขา
ก้านกล้วยหลบหนีทหารจากค่ายพม่ามาพบกับชบาแก้ว ช้างสาวสีชมพูวัยเดียวกับก้านกล้วย ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ชบาแก้วได้พาก้านกล้วยไปอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านหินขาวกับเธอและคุณตามะหูด ควาญช้างชาวอยุธยา ผู้เปรียบเสมือนบิดาบุญธรรมของเธอ ก้านกล้วยได้พบกับจิ๊ดริด นกพิราบสื่อสารแห่งอาณาจักรอยุธยา ก้านกล้วยสอบถามจิ๊ดริดเกี่ยวกับที่พำนักของพ่อของเขา จิ๊ดริดจึงแนะนำให้เขาฝึกฝนทักษะการต่อสู้โดยมะหูด เพื่อที่เขาจะได้มีสิทธิ์เป็นช้างศึก เข้าพระราชวัง โดยบอกว่า ภูผาเป็นช้างศึก ซึ่งควรจะอยู่ในวัง
เมื่อก้านกล้วยเติบใหญ่เป็นช้างหนุ่มรูปงามผู้ทรงพละกำลัง คุณตามะหูดได้พาเขาไปรับคัดเลือกเป็นช้างศึกแห่งกรุงศรีอยุธยา และได้เป็นช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รับบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยาไชยานุภาพ" ก้านกล้วยได้พบแสงดาอีกครั้ง ต่อมา ก้านกล้วยได้พาแสงดาและจิ๊ดริดเข้าไปตามหาภูผาในหอเทพกุญชร แต่กลับพบช้างเฒ่านาม สิงขร สิงขรเล่าความในอดีตว่า ในสงครามคราวเสียกรุงฯนั้น ตนเกือบถูกงวงแดงปลิดชีพ แต่ทว่าภูผาได้สละชีวิตช่วยตนไว้ ก้านกล้วยและแสงดาพอได้ทราบก็เสียใจมาก แสงดาหวังจะพาก้านกล้วยหนีไปกับตนเพราะไม่อยากให้ลูกต้องพบชะตากรรมเช่นเดียวกับพ่อ แต่ด้วยคำแนะนำของสิงขร ก้านกล้วยจึงตัดสินใจออกรบเพื่อฝากตำแหน่งวีรชนไว้กับสยามดังเช่นภูผาผู้เป็นบิดา
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำกองกำลังนักรบหนึ่งแสนคน ออกจากกรุงศรีอยุธยา สู่สนามรบ ณ ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี กองทัพอยุธยาได้เข้าประจันหน้ากับกองทัพหงสาวดี ซึ่งมีกำลังพลสองแสนสี่หมื่นคน ก้านกล้วยได้นำทัพออกสู้อย่างเต็มที่ ล้มช้างฝ่ายศัตรูได้เกือบหมด เมื่อถูกล้อมรอบด้วยกองทัพข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตรัสเชิญมังกยอชวา พระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ผู้ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพหงสาวดี ซึ่งทรงช้างงวงแดง เข้าทำยุทธหัตถีกับพระองค์ งวงแดงพอต่อสู้ได้สักพักก็ทราบทันทีว่าก้านกล้วยเป็นลูกชายของภูผา และพยายามจะสังหารเขา จนก้านกล้วยเริ่มเสียแรง หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงฟันพระอังสะขวาของพระมหาอุปราชาจนสิ้นพระชนม์แล้ว ก้านกล้วยได้อาศัยจังหวะนี้ยันโคนต้นพุทราสามารถล้มงวงแดงได้สำเร็จ อยุธยาจึงเป็นฝ่ายชนะ และได้รับเอกราชคืนจากหงสาวดี
หลังจากสงครามยุทธหัตถี ก้านกล้วยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี" ช้างทรงคู่บารมีของพระองค์ จากนั้น ผู้คนอาณาจักรอยุธยา ก็อาศัยอยู่อย่างสงบสุข ไม่ถูกพม่ารุกราน ส่วนก้านกล้วยนั้น ได้มีช้างคู่สมรสคือ ชบาแก้ว เพื่อนสนิทในวัยเด็ก และอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
งานพากย์ แก้
ภาพยนตร์ | พ.ศ. 2549 |
---|---|
ตัวละคร | ให้เสียงพากย์ไทย |
ก้านกล้วย | อัญญาฤทธิ์ พิทักษ์ติกุล (วัยเด็ก) ภูริ หิรัญพฤกษ์ (วัยหนุ่ม) |
ชบาแก้ว | นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ (วัยเด็ก) วรัทยา นิลคูหา (วัยสาว) |
จิ๊ดริด | พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์ |
แสงดา | นันทนา บุญ-หลง |
พังนวล | จุรี โอศิริ |
คุณตามะหูด | สุเทพ โพธิ์งาม |
สิงขร | รอง เค้ามูลคดี |
งวงแดง | เอกชัย พงศ์สมัย |
นายกองพม่า | ชาญณรงค์ ขันทีท้าว |
หัวหมู่พม่า | วสันต์ พัดทอง |
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช | บุญชลิด โชคดีภูษิต (วัยเด็ก) สุเมธ องอาจ (วัยหนุ่ม) |
พระมหาอุปราชา | สราวุธ เจริญลาภ (วัยเด็ก) กลศ อัทธเสรี (วัยหนุ่ม) |
มะโรง | ฤทธิเดช ฤทธิชุ |
มะโหนก | เจริญพร อ่อนละม้าย |
เสริม | วิยะดา จิตมะหิมา |
บักอึด | พุทธิพันธ์ พรเลิศ |
ทหารพม่า | ธงชัย คะใจ |
องอาจ เจียมเจริญพรกุล | |
ธีระวัฒน์ ทองจิตติ |
การเปิดตัวและรางวัล แก้
การเปิดตัวของภาพยนตร์
ก้านกล้วย ได้รับการเปิดตัวในรูปแบบดีวีดีที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 โดยใช้ชื่อในเวอร์ชันอเมริกันคือ The Blue Elephant
บริษัทเพอร์เซ็ปต์พิคเจอร์คอมพานีของอินเดีย ได้ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์และเปิดตัวในเวอร์ชันภาษาฮินดีโดยใช้ชื่อ Jumbo ซึ่งนักแสดงอินเดียชื่อ อักษัย กุมาร เป็นผู้ให้เสียงพากย์ตัวเอกของเรื่องที่ใช้ชื่อในเวอร์ชันนี้ว่า จัมโบ้[3]
รางวัล
- ภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย ได้รับรางวัล Best Feature Film จากการประกวดแอนิเมชัน AniMadrid 2006 ที่ประเทศสเปน
- ภาพยนตร์เกียรติยศแห่งปี, ภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งปี ที่ทำรายได้สูงสุด, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2549
อ้างอิง แก้
- ↑ [boxofficemojo\khankluay boxofficemojo\khankluay].
{{cite web}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help); ตรวจสอบค่า|url=
(help) - ↑ "คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้นำหนัง "ก้านกล้วย"". Positioning Magazine. 10 กุมภาพันธ์ 2548. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "Akshay Kumar's Jumbo is actually a Thai film", ScreenIndia; retrieved 2008-12-13
แหล่งข้อมูลอื่น แก้
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2021-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ เก็บถาวร 2006-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข่าวจาก modernine เก็บถาวร 2006-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย (ขับร้องโดย แอ๊ด คาราบาว) เก็บถาวร 2010-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ไทย)
- ก้านกล้วย (2006) ที่สยามโซน