เตรียม ชาชุมพร (15 พฤษภาคม พ.ศ. 249524 มกราคม พ.ศ. 2533) นักเขียนการ์ตูนฝีมือระดับแนวหน้าของไทย ผู้มีผลงานอันโดดเด่นอยู่จากลายเส้นและบรรยากาศแบบไทยๆ ในงานเขียนต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานภาพประกอบแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ

เตรียม ชาชุมพร
เกิด15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495
จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย
เสียชีวิต24 มกราคม พ.ศ. 2533 (37 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกามานพ แก้วสนิท
อาชีพนักเขียน จิตรกร
สัญชาติไทย ไทย
ช่วงปีที่ทำงานพ.ศ. 2520 - 2533

ประวัติ แก้

เตรียม ชาชุมพร เกิดที่บ้านหนองหวาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบ้านหนองหวาย แล้วไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3)

ระหว่างที่เรียนในช่วงปลาย ม.ศ. 3 เตรียมก็ได้รู้จักกับจุลศักดิ์ อมรเวช (หรือ จุก เบี้ยวสกุล) นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ที่เขาเรียนอยู่ จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของจุก เบี้ยวสกุล กระทั่งเมื่อจบ ม.ศ.3 แล้ว เตรียมจึงทำงานเป็นครูผู้ช่วยสอน และสอบได้วาดเขียนโท โดยเขาสอนหนังสือและเขียนการ์ตูนไปด้วย เมื่อฝีมือใช้ได้ จุก เบี้ยวสกุล จึงนำงานการ์ตูนของเตรียมไปเสนอให้ทีมงานหนังสือการ์ตูน "ท้อปป๊อป" ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนแนวนิยายภาพพิจารณาตีพิมพ์ เตรียม ชาชุมพร จึงได้เปิดตัวครั้งแรกในหนังสือ "ท้อปป๊อป" ด้วยเรื่อง "มังกรผยอง" นิยายภาพแนวเรื่องจีนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานั้น แต่ได้ลงพิมพ์เพียงตอนเดียวเท่านั้น เนื่องจาก "ท้อปป๊อป" ได้ปิดตัวเองลงในเวลาต่อมา

หลังจากสอนหนังสืออยู่ 2 ปี เตรียมก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และนำผลงานของเขาไปเสนอต่อ อ.วิริยะ สิริสิงห ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดทำนิตยสาร “ชัยพฤกษ์ ฉบับวิทยาศาสตร์” ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช อ.วิริยะ จึงมอบหมายให้เตรียมเขียนนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ โดยอาศัยการ์ตูนคอมมิคของต่างประเทศเป็นต้นแบบ และใช้นามปากกาว่า “ตรี นาถภพ” ต่อมา ณรงค์ ประภาสะโนบล (รงค์) จึงได้ดึงตัวไปช่วยงานที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” และ “ตู๊นตูน” ซึ่งเป็นหนังสือในเครือสำนักพิมพ์เดียวกัน ที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” แห่งนี้เองที่ศักยภาพของเตรียมได้เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ ทำให้ฝีมือของเตรียมก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการนักวาดการ์ตูนในยุคนั้น

การทำงาน แก้

 
ภาพตัวละครในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม 1 ผลงานการวาดของเตรียม ชาชุมพร

ต่อมาเมื่อนิยายภาพเรื่อง “เพื่อน” ได้ตีพิมพ์ใน "ชัยพฤกษ์การ์ตูน" (นิยายภาพเรื่องนี้เตรียมเขียนโดยใช้ชื่อ-นามสกุลจริง) ชื่อเสียงของเตรียมก็ยิ่งเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยนิยายภาพชุดนี้มีเค้าโครงมาจากเรื่องสั้นชื่อ “รุ่นกระทง” ของ “มน เมธี” เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายชาวชนบทกับเด็กหญิงชาวกรุงที่มีโอกาสได้รู้จักกัน และได้ใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ร่วมกันท่องไปในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของท้องไร่ท้องนา ก่อนจะจากกันในท้ายที่สุด จุดเด่นของนิยายภาพชุดนี้คือบรรยากาศชนบทที่เตรียมรังสรรค์ได้อย่างงดงามชวนประทับใจจากประสบการณ์ที่อยู่ในชนบทมาตั้งแต่วัยเด็ก และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาในเวลาต่อมา โดยเฉพาะช่วงปี 2520 - 2521 นับเป็นยุคทองของเตรียมอย่างแท้จริง งานของเขาไปปรากฏอยู่ในหนังสือการ์ตูนมากมายหลายหัวไม่เว้นแม้แต่บนปกการ์ตูนเล่มละบาท ที่สำนักพิมพ์หวังขายชื่อของ "เตรียม ชาชุมพร" ตามกระแสนิยม

ในระยะหลัง งานของเตรียมเริ่มพัฒนาไปสู่นิยายภาพแนวสะท้อนสังคม โดยเตรียมนำเรื่องราวที่เขียนมาจากข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับคนยากจนสุดชายขอบของสังคมเมือง ชะตากรรมอันน่าสลดใจ และความไร้มนุษยธรรมที่กลายเป็นข่าวแทบไม่เว้นวัน มีข้อสังเกตว่า เตรียมใกล้ชิดอยู่กับการงานของมูลนิธิเด็ก และบรรดาอาสาสมัครผู้ทำงานเพื่อสังคม ดังนั้น ข้อมูลของเขาหรือผู้ให้ข้อมูลแก่เขาจึงมาจากคนทำงานกลุ่มนี้ ทั้งนี้ นิยายภาพของเตรียม 4 เรื่องในแนวนี้ ได้แก่ "ยายจ๋า", "ตากับหลาน", "เพื่อนบ้านใหม่" และ "ตุ๊กตาขาด้วน" ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม และได้รับการยกย่องจากคณะผู้วิจัยของ สกว. ให้เป็นหนึ่งใน 100 ชื่อเรื่องหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน

จากผลงานอันโดดเด่นในการสะท้อนภาพชีวิตชนบทได้อย่างน่าประทับใจนี่เอง ทำให้เตรียมได้รับเลือกให้เป็นผู้วาดภาพประกอบในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชุด มานี-มานะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม 1 และภาพประกอบใน "เรื่องสั้นชุดชีวิตชนบท" ซึ่งเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านสำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ของกรมวิชาการ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยองค์การค้าของคุรุสภา เนื้อหาเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตอันรื่นเริงสดใสของบรรดาเด็กๆ ในชนบทภาคใต้ จากปลายปากกาของ "มานพ แก้วสนิท" นักเขียนผู้ถนัดเรื่องราวชีวิตชนบทเป็นพิเศษ

เตรียม ชาชุมพร เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถประจำทางปรับอากาศพุ่งชนเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2533 รวมอายุได้ 37 ปี

อ้างอิง แก้

  • จุลศักดิ์ อมรเวช. 63 จาก 'จุก เบี้ยสกุล' ถึง 'เตรียม ชาชุมพร' ใน ตำนานการ์ตูน. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แสงดาว, 2544. หน้า 484 - 491.
  • เตรียม ชาชุมพร Link

แหล่งข้อมูลอื่น แก้