การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 9[1] จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ผลคือชัยชนะของพรรคสหประชาไทยที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกประภาส จารุเสถียร ที่ได้ 75 ที่นั่งจากทั้งหมด 219 ที่นั่ง แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคิดเป็น 49.2%[2] หลังการเลือกตั้ง ส.ส. อิสระ 30 คนจากทั้งหมด 72 คนเข้าร่วมกับพรรคสหประชาไทย ทำให้พรรคสหประชาไทยมีที่นั่งทั้งหมด 105 ที่นั่ง แต่ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่ 110 ที่นั่ง ขณะที่ ส.ส. 24 คนตั้งพรรคอิสระ
| ||||||||||||||||||||||
ทั้งหมด 219 ที่นั่งในรัฐสภาไทย ต้องการ 110 ที่นั่งจึงเป็นฝ่ายข้างมาก | ||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ผู้ใช้สิทธิ | 49.1% | |||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||
|
สืบเนื่องมาจากการที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กระทำการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ได้ประกาศให้รัฐธรรมนูญ, รัฐสภาและพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นอันสิ้นสุดลง และได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยมี นายทวี บุณยเกตุ เป็นประธาน สภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จและนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ในยุคที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 นอกจากนั้น ยังได้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2511 จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศกำหนดวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 180 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งขึ้นภายใน 240 วัน
จากนั้นได้มีการจดทะเบียนก่อตั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้คนตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้งมาอย่างยาวนานถึง 11 ปีเต็มด้วยกัน
ซึ่งมีผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมด 1,522 คน จากทั้งหมด 12 พรรคการเมือง และไม่สังกัดพรรคการเมืองใด โดยที่มีจำนวน ส.ส.ได้ทั้งหมด 219 คน
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาหนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งโดยตรง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้แทนทั้งหมด 219 คน มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 14,820,180 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 7,285,832 คน คิดเป็นร้อยละ 49.10 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดระนอง คิดเป็นร้อยละ 73.95 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และจังหวัดพระนครมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.66
ผลการเลือกตั้ง พรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกมาเป็นที่หนึ่ง โดยได้ ส.ส.ทั้งหมด 76 คน ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.ทั้งหมด 57 คน พรรคแนวประชาธิปไตย 7 คน พรรคแนวร่วมเศรษฐกร 4 คน พรรคประชาชน 2 คน พรรคสัมมาชีพ-ช่วยชาวนา และพรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคละ 1 คน ไม่สังกัดพรรค 71 คน[3] แต่การเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร คือ จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พรรคประชาธิปัตย์สามารถได้ ส.ส.ทั้งหมด เป็นจำนวน 21 คน[4] ทำให้เป็นแกนหลักในการเป็นพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคอื่นและผู้สมัครอิสระรวมกันเป็น ส.ส.ทั้งหมด 90 คน
ในวันที่ 7 มีนาคม ปีเดียวกัน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อนึ่ง การเลือกตั้งในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองของนักการเมืองหน้าใหม่หลายคนในขณะนั้น ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในเวลาต่อมา เช่น นายชวน หลีกภัย ส.ส.จากจังหวัดตรัง, นายพิชัย รัตตกุล, นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ส.ส.จากจังหวัดพระนคร และนายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จากจังหวัดชลบุรี เป็นต้น[5] [6]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2539. ศูนย์บริการข้อมูลและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. 1996. pp. 5–7.
- ↑ Thailand Inter-Parliamentary Union
- ↑ "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-12-07. สืบค้นเมื่อ 2020-05-05.
- ↑ "ประวัติพรรคประชาธิปัตย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-15. สืบค้นเมื่อ 2012-06-26.
- ↑ หน้า 122, กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ISBN 978-974-228-070-3
- ↑ โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ 5 ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544