โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี

โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี (อังกฤษ: Benchamarachuthit Chanthaburi School; อักษรย่อ: บ.จ., B.J.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 (จันทบุรี และตราด) มีนักเรียนประมาณเกือบ 3000 คน โดยชื่อโรงเรียนเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

โรงเรียนเบญจมราชูทิศ
จังหวัดจันทบุรี
Benchamarachuthit Chanthaburi School
ตราสัญลักษณ์โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี
ที่ตั้ง
เลขที่ 10 หมู่ 1 ถนนศรียานุสรณ์ ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 22000
ข้อมูล
ชื่ออื่นบ.จ. / B.J.
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล ขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญปญฺญา นรานํ รตฺนํ
(ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน)
สถาปนา6 กันยายน พ.ศ. 2454
(112 ปี 233 วัน)
ผู้ก่อตั้งพระวิภาชวิทยาสิทธิ์, ขุนชำนิอนุสรณ์
หน่วยงานกำกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 (จันทบุรีและตราด)
รหัส1012220101
ผู้อำนวยการว่าที่ร้อยตรี สมชาย ริมคีรี
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษา
จำนวนนักเรียน2,888 คน (2565)[1]
สี███ ฟ้า
███ เหลือง
เพลงมาร์ชเบญจมราชูทิศ จันทบุรี
สังกัดสพฐ.
ต้นไม้ต้นแก้ว
เว็บไซต์http://www.bj.ac.th

ประวัติ แก้

การศึกษาของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2454 – 2455 ได้แบ่งชั้นเรียนวิสามัญ ออกเป็น 9 ชั้น คือ ชั้นมูล 3 ชั้น ชั้นประถม 3 ชั้น และชั้นมัธยม 3 ชั้น ขณะนั้นจังหวัดจันทบุรีมีโรงเรียนวัดจันทนารามแห่งเดียวที่เปิดสอนชั้นสูงสุดคือ ประโยคประถม (ป.3) ผู้ที่จบประโยคประถมแล้วถ้าต้องการศึกษาต่อชั้นมัธยม ต้องไปศึกษา ที่ กรุงเทพฯ

ต้นปี พ.ศ. 2454 ขุนวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ธรรมการมณฑลจันทบุรี (ภายหลังได้เลื่อนเป็น พระวิภาชวิทยาสิทธิ์) และครูพูล (ขาว) ผู้ช่วยข้าหลวงธรรมการมณฑลจันทบุรี (ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนชำนิอนุสรณ์ ตำแหน่งธรรมการจังหวัดจันทบุรี) ได้ร่วมกันพิจารณาหาที่ตั้งโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลจันทบุรี (มณฑลจันทบุรี ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด) เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า วัดจันทนารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำ มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม การเดินทางต้องลงเรือ ส่วนวัดกลาง อยู่บนเนินสูง น้ำไม่ท่วม นักเรียนสัญจรไปมาสะดวก ทั้งมีบริเวณกว้างขวาง และในขณะนั้นวัดกลางเป็นวัดร้าง มีพระภิกษุรูปเดียว มีศาลาการเปรียญ 1 หลัง กุฏิ 3 หลัง ซึ่งพระภิกษุอาศัยอยู่ 1 หลัง กุฏิอีก 2 หลัง สามารถใช้เป็นอาคารเรียนชั่วคราวได้ เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำมณฑลต่อไป

กลางปี พ.ศ. 2454 ทางราชการได้ส่งครูมาให้ 2 คน คือ ครูพูล (ดำ) และครูกัลป์ ธรรมการมณฑลจึงสั่งโอนนักเรียนประถม 15 คน จากวัดจันทนาราม มาเรียนที่ศาลาการเปรียญวัดกลาง เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2454 และประกาศรับนักเรียนชาย หญิง เข้าเรียนชั้นมูล 1 ที่ศาลาการเปรียญด้วย ต้นปี พ.ศ. 2455 ได้เลื่อนนักเรียนที่สอบไล่ได้ประโยคประถมเป็นนักเรียนฝึกหัดมณฑลจันทบุรี โดยเรียนที่กุฏิร้าง 1 หลัง และให้นักเรียนที่สอบได้ประถมปีที่ 2 ของวัดจันทนาราม มาเรียนประโยคประถมที่วัดกลางโดยเรียนที่กุฏิร้างอีก 1 หลัง พระราชทานนาม “เบญจมราชูทิศ”

ปี พ.ศ. 2455 ข้าราชการในมณฑลจันทบุรี ได้พร้อมใจกัน บริจาคเงินสร้างอาคารเรียนหลังแรกเพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยอาคารหลังนี้ สร้างเป็นเรือนปั้นหยาชั้นเดียว 6 ห้องเรียน ยาว 12 วา 2 ศอก กว้าง 6 วา มีมุขและระเบียง 3 ด้าน ตัวไม้ใช้ไม้ตะเคียนล้วน ส่วนพื้นและเครื่องบนใช้ไม้ยางบ้าง ตัวอาคารทาสีฟ้าและมีรางน้ำรอบ การทำได้ทำอย่างประณีตงดงามแน่นหนาถาวรทุกประการ (ที่ตั้งอยู่บริเวณอาคาร9ในปัจจุบัน ทางเข้าออก อยู่ด้านถนนเบญจมราชูทิศ) เมื่อสร้างเสร็จเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แล้วจึงขอพระราชทานนามโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานว่า “เบญจมราชูทิศ” และเนื่องจากในปีนี้กระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา เป็นชั้นประถม 3 ชั้น และมัธยม 8 ชั้น ชั้นมูลไม่มี ดังนั้นที่โรงเรียนวัดจันทนารามคงให้สอนเพียง ชั้น ป.1 – ป.3 ผู้ที่ประสงค์จะเรียนชั้นมัธยมต้องมาเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑล (ชาย)

ครั้นวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2456 วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สวรรคตวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 24.45 น. หรืออาจนับเป็นวันที่ 23 ตุลาคม เวลา 0.45 น.) จึงได้จัดการทำพิธีเปิดโรงเรียนโดย ขุนวิภาชวิทยาสิทธ์ ธรรมการมณฑลจันทบุรี อ่านรายงานการก่อสร้างสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลจันทบุรี พระยาตรังคภูมาภิบาล (ถนอม บุณยเกตุ) ประธานในพิธีกล่าวคำประกาศเปิดนาม และประกอบพิธีเปิดนามโรงเรียน เมื่อจัดงานฉลองและบำเพ็ญกุศลแล้วจึงเริ่มการสอนแก่นักเรียนในนามโรงเรียน “เบญจมราชูทิศ” ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2456 เป็นต้นมา โดยได้ใช้ชื่อโรงเรียนทางราชการตามลำดับจากอดีตถึงปัจจุบันดังนี้

  • พ.ศ. 2456 – พ.ศ. 2461 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ มณฑลจันทบุรี
  • พ.ศ. 2462 – พ.ศ. 2473 โรงเรียนประจำมณฑลจันทบุรี “เบญจมราชูทิศ”
  • พ.ศ. 2474 – พ.ศ. 2494 โรงเรียนประจำจังหวัดจันทบุรี “เบญจมราชูทิศ”
  • พ.ศ. 2495 – พ.ศ. 2503 โรงเรียนจันทบุรี “เบญจมราชูทิศ”
  • พ.ศ. 2503 – ปัจจุบัน โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี

โรงเรียนเบญจมราชูทิศในปัจจุบัน แก้

โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ 22 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่เลขที่ 10 ถนนศรียานุสรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนสองระดับคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) รับเฉพาะนักเรียนชายจำนวน 15 ห้องเรียน (ชายล้วน) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) รับทั้งนักเรียนชายและหญิง จำนวน 48 ห้องเรียน การจัดการเรียนการสอนแบ่งโครงสร้างการเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาโครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่ความเลิศ (ห้องเรียนพิเศษ) และกลุ่มวิชาทั่วไป (ห้องเรียนปกติ) โดยมีนโยบายในการพัฒนาการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่น ซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ได้ปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เพียงพอเหมาะสมกับสภาพของโรงเรียน จัดบรรยากาศห้องเรียน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอาคารเรียนให้สะอาดร่มรื่น สวยงาม เพื่อเป็นแหล่งแห่งการเรียนรู้ได้ทุกเวลาสถานที่ ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความสามารถทางวิชาการ ความรัก ความผูกพัน ศรัทธา เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าโรงเรียนคือ บ้านที่สอง ของนักเรียนทุกคน ในปี พ.ศ. 2556 โรงเรียนเบญจมราชูทิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนห้อง 10 ห้องเรียนรับนักเรียนหญิงจำนวน 5 ห้องเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวนห้อง 16 ห้องเรียน (โครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่ความเลิศ จำนวน 7 ห้องเรียน)

อาคารสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน แก้

อาคารเรียน ประกอบด้วย อาคารจำนวน 10 หลัง ได้แก่ อาคาร 1 , อาคาร 2 , อาคาร 3 , อาคาร 4 (อาคารเกษตร) , อาคาร 5 (อาคารคอมพิวเตอร์) , อาคาร 6 (หอประชุมหลังเก่า "พาณิชย์เจริญ") , อาคาร 7 (อาคารศิลปะ) , อาคาร 8 (อาคารดุริยางค์สากล) , อาคาร 9 , อาคาร 11 และ อาคาร 12 ซึ่งใช้เป็นห้องเรียนวิชาต่างๆ และจัดเป็นห้องศูนย์พัฒนาวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ห้องสมุดกาญจนาภิเษก ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องจริยธรรม ห้องภาษาไทย ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องแนะแนว ห้องพักครู ฯลฯ

อาคารประกอบ โรงฝึกงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 5 หลัง คือ โรงฝึกงานช่างยนต์, ช่างโลหะ, ศิลปศึกษา ห้องนาฏศิลป์​, อาคารชั่วคราวและดุริยางค์สากล อาคารต่างๆ ประกอบด้วยอาคารหอประชุม เรือนพยาบาล ห้องพักครู บ้านพักภารโรง และห้องน้ำห้องส้วม

สนามกีฬา ประกอบด้วย สนามบาสเกตบอล สนามฟุตบอล สนามตะกร้อและสนามวอลเลย์บอล

บริเวณโรงเรียน บริเวณต่างๆภายในโรงเรียนได้จัดสภาพให้สวยงาม สะอาดร่มรื่น เริ่มตั้งแต่รั้วโรงเรียน ประตูโรงเรียน ศาลาไทย ศาลพระภูมิ หอพระพุทธรูป สวนห้าตอ สนามโรงเรียน สวนหย่อม ลานพระบรมรูปและสวนพันธุ์ไม้ไทยในวรรณคดี

หลักสูตรการเรียนการสอน[2] แก้

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แก้

โครงการห้องเรียนพิเศษ แก้

  • โครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ
    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (Mathematics Science and English Excellent Program ; MSEP) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (60 คน)
    • ห้องเรียนพิเศษการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (English for Integrated Studies Program ; EISP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
    • ห้องเรียนพิเศษเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology Program ; ICTP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment ; SMTE) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)

โครงการห้องเรียนปกติ แก้

  • ห้องเรียนปกติ ระดับชั้นละ 5 ห้อง (200 คน)

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แก้

โครงการห้องเรียนพิเศษ แก้

  • โครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ
    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (Mathematics Science and English Excellent Program ; MSEP) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (60 คน)
    • ห้องเรียนพิเศษการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (English for Integrated Studies Program ; EISP) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (72 คน)
    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment ; SMTE) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
    • ห้องเรียนพิเศษเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology Program ; ICTP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
    • ห้องเรียนพิเศษภาษาจีน และภาษาอังกฤษ (Chinese and English Program ; CEP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)

โครงการห้องเรียนปกติ แก้

  • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
    • ห้องเรียนสาธารณสุข ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)
    • ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ (IT) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
    • ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ (Graphic) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
    • ห้องเรียนพาณิชยกรรม ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
    • ห้องเรียนทัศนศิลป์/ดนตรีไทย ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
    • ห้องเรียนดุริยางค์สากล/ขับร้องประสานเสียง ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
    • ห้องเรียนการงานอาชีพ ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
  • แผนการเรียนศิลปศาสตร์ และคณิตศาสตร์
    • ห้องเรียนศิลป์-คำนวณ ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)

ทำเนียบผู้บริหาร แก้

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรีมีผู้บริหาร 28 ท่าน

ลำดับที่ รายนาม ตำแหน่ง เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 นายพูล (ไม่มีนามสกุล) ครูใหญ่ พ.ศ. 2454 พ.ศ. 2457
2 นายพร (ไม่มีนามสกุล) ครูใหญ่ พ.ศ. 2457 พ.ศ. 2458
3 นายภูน (ไม่มีนามสกุล) ครูใหญ่ พ.ศ. 2458 พ.ศ. 2459
4 ขุนสุทธิวาท (เล็ก) ครูใหญ่ พ.ศ. 2459 พ.ศ. 2460
5 นายเสน สุขะกาศี ครูใหญ่ พ.ศ. 2460 พ.ศ. 2463
6 ขุนอาจดรุณวุฒิ ครูใหญ่ พ.ศ. 2463 พ.ศ. 2466
7 ขุนจงจัดนิสสัย (สนิท ศตะกูรมะ) ครูใหญ่ พ.ศ. 2466 พ.ศ. 2471
8 ขุนอภิรมจรรยา (ชัย อภิชัยสิริ) ครูใหญ่ พ.ศ. 2471 พ.ศ. 2473
9 นายจรูญ แจ่มเจริญ ครูใหญ่ พ.ศ. 2473 พ.ศ. 2479
10 นายสุนันท์ ทศานนท์ ครูใหญ่ พ.ศ. 2479 พ.ศ. 2483
11 ขุนวรศาสนดรุณกิจ (ฝ้าย บุญเลี้ยง) ครูใหญ่ พ.ศ. 2483 พ.ศ. 2486
12 นายวิจิตร หิรัญรัศ ครูใหญ่ พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2487
13 นายพิษณุ ชัชวาลย์ปรีชา ครูใหญ่ พ.ศ. 2487 พ.ศ. 2493
14 นายบัญญัติ ศุภเสน ครูใหญ่ พ.ศ. 2493 พ.ศ. 2495
15 นายสอาด บุญสืบสาย ครูใหญ่ พ.ศ. 2495 พ.ศ. 2502
16 นายสุด น้ำหอม ครูใหญ่ พ.ศ. 2502 พ.ศ. 2504
17 นายชัยวัฒน์ วรรณรัตน์ ครูใหญ่ พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2507
นายชัยวัฒน์ วรรณรัตน์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2507 พ.ศ. 2519
นายชัยวัฒน์ วรรณรัตน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2525
18 นายบุญเปี่ยม เวชรักษ์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2528
19 นายเอก วรรณทอง ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2535
20 นายโสภณ ไทรเมฆ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2538
21 นายสุรพงศ์ ซื่อตรง ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2543
22 นายดุษฎี โทบุราณ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2551
23 นายมาโนช กล้องเจริญ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2556
24 นายวิลิศ สกุลรัตน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2561
25 นายศิริพงศ์ พงษ์ดี ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2561 พ.ศ. 2562
26 นายสุวรรณ ทวีผล ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564
27 นายเสนอ นวนกระโทก ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2565
28 ว่าที่ร้อยตรีสมชาย ริมคีรี ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2565 ปัจจุบัน

กีฬาสี แก้

ชื่อคณะสีของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรีนั้น เป็นชื่อของผู้มีคุณานัปการต่อโรงเรียน เช่น ผู้จัดหาที่ตั้งของโรงเรียน คุณครูใหญ่ เป็นต้น

  • ██ คณะวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ (สีเขียว) สดชื่นมีชีวิตชีวา
  • ██ คณะชำนิอนุสรณ์ (สีม่วง) พัฒนาเติมต่อ
  • ██ คณะพรพูลวิทย์ (สีชมพู) ก่อเกิดคุณธรรม
  • ██ คณะวรศาสนดรุณกิจ (สีน้ำเงิน) บำเพ็ญประโยชน์
  • ██ คณะพรพิษณุ (สีแดง) รุ่งโรจน์ด้วยพลกำลัง

ศิษย์เก่าเกียรติภูมิ[3] แก้

กรณีอื้อฉาว แก้

ในเดือนตุลาคม 2563 มีข่าวว่าโรงเรียนไล่นักเรียนออกเนื่องจากส่งผ่านสัญญาณต่อเนื่องสดปัญหาโรงเรียน[4] โดยก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม 2563 มีศิษย์เก่าจำนวนหนึ่งยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อผู้อำนวยการโรงเรียนให้นักเรียนมีเสรีภาพในการแสดงออก[5]

อ้างอิง แก้

  1. "จำนวนนักเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-03. สืบค้นเมื่อ 2023-06-03.
  2. "admission.bj.ac.th - รู้ก่อนเลือกแผนการเรียน". admission.bj.ac.th.
  3. "แผนพัฒนาการศึกษา-2566-2570 (อนุมัติเล่มรวม).pdf". Google Docs.
  4. "โรงเรียนดัง จ.จันทบุรี ไล่นักเรียนออก เหตุทำให้เสื่อมเสีย หลังไลฟ์สดวิจารณ์ปัญหาในร.ร." มติชนออนไลน์. 8 October 2020. สืบค้นเมื่อ 8 October 2020.
  5. "ศิษย์เก่า ร.ร.ดัง จ.จันทบุรี ยื่นจม.เปิดผนึก หนุนให้นร.มีสิทธิแสดงออก". ไทยรัฐ. 28 August 2020. สืบค้นเมื่อ 8 October 2020.
  • หนังสือรุ่น 94 ปีการศึกษา 2548
  • หนังสือครบรอบ 90 ปี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี
  • คู่มือนักเรียน และผู้ปกครอง โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ปีการศึกษา 2551

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้