โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี (อังกฤษ: Benjamarachutit Ratchaburi School; อักษรย่อ: บ.ช., B.J.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประจำจังหวัดราชบุรี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาโรงเรียนเปิดรับสหศึกษาเฉพาะนักเรียน มัธยมศึกษาตอนปลาย ในปีการศึกษา 2544 เริ่มเปิดรับสหศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นปีแรก
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี Benjamarachutit Ratchaburi School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
พิกัด | 13°32′18″N 99°49′32″E / 13.538304°N 99.825636°E |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | บ.ช. (B.J.) |
ประเภท | รัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คำขวัญ | บาลี: สจฺจํเว อมตา วาจา (วาจาจริงเป็นวาจาที่ไม่ตาย) |
สถาปนา | พ.ศ. 2429 (อายุ 138 ปี) |
ผู้ก่อตั้ง | ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ |
รหัส | 1070101001 (เก่า 1005700101) |
ผู้อำนวยการ | นายนิวัตร วงศ์วิลัย |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | ม.1-ม.6 |
เพลง | มาร์ชเบญจมราชูทิศ |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2429 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มจากใช้สถานที่ของวัดสัตตนารถปริวัตร (สร้างเมื่อ พ.ศ. 2414) เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมูลถึงชั้นประถมศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการศึกษา ให้มีระบบแบบแผนตามแบบตะวันตก จึงได้เปลี่ยนฐานะของโรงเรียนเป็นโรงเรียนตัวอย่างวัดสัตตนารถปริวัตร จัดการศึกษาตลอดมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 จึงได้มีอาคารเรียนถาวรเป็นตึก 2 ชั้นรูปทรงปั้นหยาขึ้น 1 หลังในที่ดินของวัดสัตตนารถปริวัตร โดยพ่อค้า ประชาชน และข้าราชการร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จฯมาทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “เบญจมราชูทิศ” แปลว่า อุทิศแด่พระราชาองค์ที่ 5 ซึ่งหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ทางราชการได้ขนานนามโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลราชบุรี
ต่อมาปี พ.ศ. 2459 ได้ขยายการสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2460 ได้สร้างอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง พ.ศ. 2462 นายแก้ว สุวรรณดิษ ได้บริจาค เงินสร้างอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ใต้ถุนสูง อีก 1 หลัง และโรงเรียนได้เปิดสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ 5 พ.ศ. 2469 ได้แยกนักเรียนหญิงทุกชั้นออกไปเรียนที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด และยุบเลิกการสอนชั้นมูลและชั้นประถมศึกษา เป็นการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 6
ปี พ.ศ. 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีการบูรณะโรงเรียน ซื้อที่ดินเพิ่มแล้วสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก จนถึง พ.ศ. 2497 จึงได้เปิดสอนถึงชั้นประโยคเตรียมอุดมศึกษา (ม.7 และ ม.8) พ.ศ. 2512 สร้างอาคารเรียน 4 ชั้น (อาคาร 1) พ.ศ. 2514 รื้ออาคารเรียนหลังแรก เพราะชำรุดทรุดโทรมมาก พ.ศ. 2515 สร้างโรงอาหาร พ.ศ. 2516 รื้อเรือนแก้ว สุวรรณดิษ และเรือนไม้สีเทาเพื่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น 2 หลัง (อาคาร 2 และ 3) พ.ศ. 2529 สร้างอาคารอเนกประสงค์ พ.ศ. 2530 สร้างอาคารสมาคมศิษย์เก่า
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ มีอาคารเรียน 3 หลัง อาคารฝึกงาน 2 หลัง จนถึง พ.ศ. 2540 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 7 ชั้น และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2542 อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ จึงได้รับพระราชทานนามอาคารว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา และได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2542 อันเป็นปีที่โรงเรียนจัดงานฉลองครบ 111 ปี แห่งการก่อตั้งโรงเรียน ต่อมาเรือนแก้วสุวรรณดิษได้ทรุดโทรมไปมาก ไม่สามารถจะบูรณะซ่อมแซมต่อไปได้อีก ดังนั้นปี พ.ศ. 2544 ทางโรงเรียนจึงขออนุญาตทำการรื้อถอน และนำชื่อ "เรือนแก้ว สุวรรณดิษ" ไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนเพื่อไว้เป็นอนุสรณ์ ส่วนพื้นที่ของเรือนแก้วสุวรรณดิษใช้เป็นโรงอาหารสำหรับนักเรียนต่อไป
พ.ศ. 2546 โรงเรียนได้รับมอบที่ดินติดกับโรงเรียน ซึ่งเดิมเป็นเรือนจำกลางราชบุรี จากกรมราชทัณฑ์ จำนวน 9 ไร่ 98 ตารางวา และได้ทำพิธีวางหมุดเขตพื้นที่ส่วนขยายและบำเพ็ญกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2546 ทำให้พื้นที่ของโรงเรียนขยายเพิ่มออกไปทางด้านตะวันตก
ปี 2548 โรงเรียนได้ทำ การพัฒนาพื้นที่ ดังกล่าว โดยรื้อกำแพงค้านทิศตะวันตกออก ย้ายประตูรั้วพร้อมขยายรั้วด้านหน้าโรงเรียนออกไปจนสุดเขต ทำถนนต่อออกไปโดยรอบ ย้ายสถานที่เรียนวิชาเกษตรกรรม ไปอยู่ที่ว่างด้านหลัง ทำที่จอดรถชั่วคราว และปรับพื้นเพื่อทำสนามต่อไป
วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โรงเรียนได้จัดงานฉลองครบรอบ 120 ปี การก่อตั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี
ปัจจุบันโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี มีอาคารเรียน 4 ชั้น 4 หลัง อาคารเรียนแบบพิเศษ 7 ชั้น 1 หลัง อาคารฝึกงาน 2 หลัง อาคารคหกรรม 1 หลัง โรงอาหาร 1 หลัง อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง อาคารสมาคมศิษย์เก่าฯ 1 หลัง ลานอเนกประสงค์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 32 ไร่ 73 ตารางวา
รายนามผู้บริหาร
แก้ลำดับ | รายนาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | นายทองสุก รัตนครีพ | พ.ศ. 2450 - 2455 |
2 | ขุนสันพุทธพิสิษฐ์ ดิสสะมาน | พ.ศ. 2455 - 2456 |
3 | ขุนยุพานุศาสน์ (ตาด ดิสสะมาน) | พ.ศ. 2456 - 2467 |
4 | ขุนวิจัยยรรยา (วิฑู ตุลยานนท์) | พ.ศ. 2456 - 2467 |
5 | ขุนวิชากรพิ (โอ่ อรรณพเพ็ชร์) | พ.ศ. 2468 - 2477 |
6 | นายก้าน สภานนท์ | พ.ศ. 2477 - 2478 |
7 | นายเสถียร ประโมจนีย์ | พ.ศ. 2478 - 2481 |
8 | นายสวัสดิ์ ภูมิรัตน์ | พ.ศ. 2481 - 2484 |
9 | นายสังข์ อิศรากูร ณ อยุธยา | พ.ศ. 2484 - 2487 |
10 | นายผาด วัฒนพงศ์ | พ.ศ. 2487 - 2507 |
11 | นายบุญส่ง ทองประศรี | พ.ศ. 2507 - 2518 |
12 | นายอานนท์ นันทปรีชา | พ.ศ. 2518 - 2522 |
13 | นายเสรี ลาชโรจน์ | พ.ศ. 2522 - 2532 |
14 | นายธนิต คำศรี | พ.ศ. 2532 - 2539 |
15 | นายสัมพันธ์ บุญวานิช | พ.ศ. 2539 - 2541 |
16 | นายเสน่ห์ บุญญะหงษ์ | พ.ศ. 2541 - 2543 |
17 | นายสุวิทย์ พ่วงลาภ | พ.ศ. 2543 - 2544 |
18 | นายณรงค์ โพธิ์มี | พ.ศ. 2544 - 2546 |
19 | นายไพโรจน์ หนุนภักดี | พ.ศ. 2546 - 2551 |
20 | นายประพัฒน์ คหินทรพงศ์ | พ.ศ. 2551 - 2553 |
21 | นายอนันต์ บุญแต่ง | พ.ศ. 2554 - 2555 |
22 | นายสมศักดิ์ ฉันทานุรักษ์ | พ.ศ. 2555 - 2562 |
23 | นายนิวัตร วงศ์วิลัย | พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน |
หลักสูตรที่เปิดสอน
แก้ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
แก้- โครงการห้องเรียนพิเศษ
- ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์
- ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. (หลักสูตรคู่ขนาน) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 2 ห้อง (72 คน)
- ห้องเรียนพิเศษคอมพิวเตอร์ ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
- ห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
- ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์
- โครงการห้องเรียนปกติ
- ห้องเรียนปกติ ระดับชั้นละ 8 ห้อง (320 คน)
- ห้องเรียนปกติ (เพิ่มเติมภาษาจีน) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
แก้- โครงการห้องเรียนพิเศษ
- โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- โครงการห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
- โครงการห้องเรียนปกติ
- กลุ่มการเรียนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 5 ห้อง (200 คน)
- กลุ่มการเรียนภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)
- กลุ่มการเรียนภาษาไทย และสังคมศึกษา ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)
- กลุ่มการเรียนภาษาจีน และสังคมศึกษา ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
แก้- ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี
- ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- บุญมาก ศิริเนาวกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
- กรุณพล เทียนสุวรรณ นักแสดง
- สรารัตน์ แซ่จิ๋ว นักแสดง
- ทัศนัย กิตติรุ่งสุวรรณ เต๋า The voice นักร้อง
- พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี หรือ ฟาโรส คอนเทนต์ครีเอเตอร์และครูสอนภาษาชื่อดัง
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี
- โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ที่เฟซบุ๊ก
- ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรีในระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี