อันเนอ ฟรังค์

(เปลี่ยนทางจาก แอนน์ แฟรงค์)

อันเนอลีส มารี "อันเนอ" ฟรังค์ (เยอรมัน: Annelies Marie "Anne" Frank [ˈanəˌliːs maˈʁiː ˈʔanə ˈfʁaŋk] ( ฟังเสียง); ภาษาดัตช์: [ˈɑnəˌlis maːˈri ˈʔɑnə ˈfrɑŋk]; 12 มิถุนายน 2472 – ป. มีนาคม 2488) หรือ แอนน์ แฟรงค์ เป็นเด็กหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เกิดที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เธอมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้เขียนบันทึกประจำวันซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ บรรยายเหตุการณ์ขณะหลบซ่อนตัวจากการล่าชาวยิวในประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างที่ถูกเยอรมนีเข้าครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

อันเนอ ฟรังค์
อันเนอ ฟรังค์ ใน พ.ศ. 2484
อันเนอ ฟรังค์ ใน พ.ศ. 2484
เกิดAnnelies Marie Frank
12 มิถุนายน พ.ศ. 2472
แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี
เสียชีวิตป. มีนาคม พ.ศ. 2488 (15 ปี)
ค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน นาซีเยอรมนี
ที่ฝังศพค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน ประเทศเยอรมนี
อาชีพ
  • นักจดไดอารี
  • พี่เลี้ยงเด็ก
  • นักเขียน
ภาษา
สัญชาติ
  • เยอรมัน
  • ไวมาร์
การศึกษา
แนว
  • ชีวประวัติ
  • อัตชีวประวัติ
บิดามารดา
ญาติ

ลายมือชื่อ

ครอบครัวของเธอได้ย้ายไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2476 หลังจากพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจ ต่อมาเมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับออกมาตรการควบคุมชาวยิวจำนวนมาก เธอและครอบครัวกับผู้อื่นอีก 4 คนจึงต้องไปหลบซ่อนตัวอยู่ในอาคารสำนักงานในกรุงอัมสเตอร์ดัมของออทโท ฟรังค์ ผู้เป็นบิดาในห้องลับบนหลังคาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 จนถูกหักหลังและถูกนาซีจับเข้าค่ายกักกันใน พ.ศ. 2487 อันเนอ ฟรังค์เสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ในเวลาใกล้เคียงกับพี่สาวในค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซินประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม พ.ศ. 2488 สมาชิกตระกูลฟรังค์มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว คือออทโทผู้เป็นพ่อ เขากลับมาอัมสเตอร์ดัมหลังสงครามสิ้นสุดและได้พบสมุดบันทึกของเธอที่เพื่อนเก็บรักษาไว้ให้ จึงพยายามนำออกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2490 ใช้ชื่อหนังสือว่า "Het Achterhuis" หลังจากนั้นมีการแปลจากต้นฉบับภาษาดัตช์ออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า "The Diary of a Young Girl" ส่วนฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า "บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์"

อันเนอ ฟรังค์ได้รับสมุดบันทึกเป็นของขวัญวันเกิดครบ 13 ขวบ เธอเริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2485 และสิ้นสุดในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 บันทึกได้รับการแปลจากภาษาดัตช์ออกเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายและกลายเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก นอกจากภาพยนตร์แล้วยังมีการนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ ละครเวที และแม้แต่อุปรากร งานบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ถือว่าเป็นการเขียนงานอย่างผู้ใหญ่เต็มตัวและเต็มไปด้วยความช่างคิด แสดงให้เห็นชีวิตประจำวันที่แท้จริงภายใต้อำนาจพวกนาซี เป็นการพรรณนาถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โด่งดังที่สุด อันเนอ ฟรังค์ ได้รับเลือกจากนิตยสารไทมส์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเกียรติภูมิของมนุษย์

วัยเด็ก

แก้

อันเนอลีส มารี "อันเนอ" ฟรังค์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เป็นบุตรีคนที่สองของออทโท ฟรังค์ (2432-2523) และเอดิท ฮอลเลนเดอร์ (2443-2488) มีพี่สาวชื่อ มาร์กอท ฟรังค์ (2469-2488) [1] ครอบครัวฟรังค์เป็นชาวยิวหัวก้าวหน้า อาศัยอยู่ในชุมชนผสมระหว่างชาวยิวกับพลเมืองอื่น ๆ ทำให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาในแวดล้อมของสหายกลุ่มต่าง ๆ ทั้งคาทอลิก, โปรเตสแตนต์ และชาวยิวเอง พวกเขาไม่ใคร่เคร่งครัดประเพณีในศาสนายูดายมากนัก เอดิทปกครองเด็ก ๆ อย่างเคร่งครัดมากกว่า ขณะที่ออทโทซึ่งเป็นนายทหารเยอรมันที่ได้รับเหรียญตราจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ให้ความสนใจกับความรู้วิชาการและมีห้องสมุดใหญ่เป็นของตัวเอง ทั้งพ่อและแม่ต่างสนับสนุนให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือ[2]

 
ห้องพักอาศัยที่จัตุรัสแมร์เวเดอซึ่งครอบครัวฟรังค์พำนักอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2477 - 2485

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2476 มีการเลือกตั้งในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต และพรรคนาซีของฮิตเลอร์เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง มีการออกกฎหมายต่อต้านชาวยิวแทบจะในทันที ทำให้ครอบครัวฟรังค์เริ่มวิตกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกตนหากยังคงอยู่ในเยอรมนีต่อไป ปีต่อมา เอดิทและเด็ก ๆ จึงเดินทางไปยังเมืองอาเคิน (Aachen) เพื่อพำนักอยู่กับมารดาของเอดิท คือนางโรซา ฮอลเลนเดอร์ ออทโท ฟรังค์ยังคงอยู่ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตต่อไป แต่ต่อมาเขาได้รับข้อเสนอให้ทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในอัมสเตอร์ดัมชื่อว่าโอเพคทา เขาจึงย้ายไปเริ่มต้นธุรกิจที่นั่นและพาครอบครัวไปด้วย[2] ครอบครัวฟรังค์เป็นหนึ่งในบรรดาชาวยิวกว่า 300,000 คนที่อพยพออกจากเยอรมนีระหว่างปี พ.ศ. 2476 ถึง 2482[3]

ออทโท ฟรังค์ เริ่มทำงานที่บริษัทโอเพคทาซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายผลไม้ เขามีห้องพักอาศัยแห่งหนึ่งบริเวณจัตุรัสแมร์เวเดอ (Merwedeplein) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เอดิทกับลูก ๆ มาถึงอัมสเตอร์ดัมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 จากนั้นเด็กหญิงทั้งสองจึงได้เข้าโรงเรียน มาร์กอทได้เข้าโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ส่วนอันเนอได้เข้าโรงเรียนแบบมอนเตสโซรี (Montessori) มาร์กอทมีความสามารถพิเศษด้านพีชคณิต ส่วนอันเนอชอบการอ่านและเขียนหนังสือ เพื่อนคนหนึ่งของเธอคือ ฮันเนอลี กอสลาร์ เล่าถึงเรื่องในวัยเด็กภายหลังว่า อันเนอมักเขียนหนังสืออยู่เสมอ เธอจะเอามือป้องบังงานของเธอเอาไว้และไม่ยอมพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับงานเขียนของเธอเลย มาร์กอทกับอันเนอมีบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด โดยที่มาร์กอทเป็นคนเรียบร้อย เก็บตัว ชอบศึกษาหาความรู้ ส่วนอันเนอเป็นคนช่างพูด กระตือรือร้น และชอบพบปะผู้คน[1]

ปี พ.ศ. 2481 ออทโท ฟรังค์ เริ่มต้นทำบริษัทเพคทาคอนเป็นบริษัทที่สอง โดยเป็นผู้แทนจำหน่ายสมุนไพร เกลือ และเครื่องเทศต่าง ๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไส้กรอก บริษัทได้ว่าจ้างแฮร์มันน์ ฟัน แป็ลส์ มาเป็นที่ปรึกษาทางด้านเครื่องเทศ เขาเป็นพ่อค้าสัตว์ชาวยิวที่พาครอบครัวหนีมาจากเมืองออสนาบรึค (Osnabrück) ในเยอรมนี[2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 แม่ของเอดิทก็มาอยู่กับครอบครัวฟรังค์ด้วย จนกระทั่งเสียชีวิตลงในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485[1]

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2483 เยอรมนีรุกรานเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลผู้คุกคามเริ่มราวีชาวยิวโดยบังคับใช้กฎหมายเหยียดชนชาติอย่างไม่เป็นธรรม มีการขึ้นทะเบียนและแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน มาร์กอทและอันเนอเป็นเด็กเรียนเก่งและมีเพื่อนมาก แต่ด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมบังคับให้เด็กชาวยิวต้องเรียนในโรงเรียนยิวเท่านั้น ทั้งสองจึงต้องย้ายไปอยู่ศูนย์ศึกษาของชาวยิวเท่านั้น เดือนเมษายน พ.ศ. 2484 ออทโท ฟรังค์ พยายามปกป้องบริษัทเพคทาคอนจากการถูกยึดกิจการเนื่องจากเป็นธุรกิจของชาวยิว เขาโอนหุ้นของเขาในเพคทาคอนไปให้แก่โยฮันเนิส ไกลมัน แล้วลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ทรัพย์สินของบริษัททั้งหมดถูกโอนไปยังบริษัทคีสและคณะ ซึ่งมียัน คีส เป็นเจ้าของ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ออทโททำอย่างเดียวกันกับบริษัทโอเพคทา ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ปรากฏพิรุธ ออทโท ฟรังค์สามารถมีรายได้บ้าง แม้จะน้อยลงกว่าเดิมแต่ก็เพียงพอจะช่วยยังชีพครอบครัวของเขาไว้ได้

ลำดับเหตุการณ์ตามบันทึก

แก้

ก่อนการซ่อนตัว

แก้
 
ลายมือของอันเนอ ฟรังค์ แปลได้ว่า "นี่คือรูปของฉันที่ฉันอธิษฐานให้ตัวฉันเป็นอย่างนี้ตลอดไป และหวังว่าจะได้มีโอกาสไปฮอลลีวุดกับเขาบ้าง" ลงชื่อ อันเนอ ฟรังค์ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2485

ในวันเกิดปีที่สิบสามของอันเนอ เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้รับของขวัญจากพ่อเป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเธอแสดงความประสงค์ต่อบิดาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มันเป็นสมุดวาดเขียนเปล่า ปกเป็นผ้าสีแดง-เขียว ผูกเงื่อนเล็ก ๆ ไว้ด้านหน้า อันเนอตัดสินใจว่าเธอจะใช้หนังสือนี้เป็นสมุดบันทึก[2] และเริ่มต้นเขียนลงในสมุดนับแต่บัดนั้น เนื้อหาในช่วงต้น ๆ โดยมากเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วไปในชีวิตของเธอ แต่เธอก็ได้บันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์หลังจากเยอรมนีเข้าครอบครองไว้ด้วย ในบันทึกของเธอที่ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้บันทึกรายการข้อห้ามต่าง ๆ ที่บังคับใช้กับพลเมืองชาวดัตช์ที่เป็นยิว และได้บันทึกความเศร้าโศกในการเสียชีวิตของยายของเธอเมื่อช่วงต้นปีนั้น[4] อันเนอใฝ่ฝันจะได้เป็นนักแสดง เธอชอบดูภาพยนตร์ แต่ชาวดัตช์เชื้อสายยิวถูกห้ามเข้าโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 8 มกราคม พ.ศ. 2484[1]

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 มาร์กอท ฟรังค์ ได้รับจดหมายเรียกให้ไปรายงานตัวยังศูนย์กลางชาวยิวอพยพ เพื่อให้ย้ายที่อยู่ไปยังค่ายทำงาน ก่อนหน้านี้พ่อของอันเนอบอกเธอว่าครอบครัวจะต้องขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนห้องใต้หลังคาของที่ทำการบริษัทบนถนนปรินเซินครัคต์ (Prinsengracht) ที่ซึ่งพนักงานของออทโทที่เชื่อถือได้จำนวนหนึ่งจะให้การช่วยเหลือพวกเขา จดหมายเรียกตัวทำให้พวกเขาต้องรีบเร่งการซ่อนตัวเร็วกว่าที่คาดไว้หลายสัปดาห์[1]

ชีวิตใน อัคเตอร์เฮอวส์

แก้

เช้าวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2485[1] ครอบครัวฟรังค์ได้ย้ายไปยังที่หลบซ่อนตัว ห้องพักอาศัยเดิมของพวกเขาถูกทิ้งไว้ในสภาพยุ่งเหยิง ให้ดูเหมือนว่าพวกเขารีบเร่งจากไปในทันที ออทโท ฟรังค์ ทิ้งข้อความไว้ฉบับหนึ่งบอกเป็นนัยว่าพวกเขาได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องทิ้งโมร์เจอ (แมวของอันเนอ) เอาไว้เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาความลับ พวกยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเดินจากบ้านเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แต่ละคนสวมเสื้อผ้าซ้อนกันหลายชั้นเพราะพวกเขาไม่กล้าถือกระเป๋าเดินทางไปด้วย ที่ซ่อนของพวกเขาคือ อัคเตอร์เฮอวส์ [Achterhuis; เป็นคำภาษาดัตช์ หมายถึงพื้นที่ส่วนด้านหลังของบ้าน ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกที่ซ่อนนี้ว่า "ห้องลับ" (Secret Annexe)] เป็นพื้นที่ว่างสามชั้น เข้าได้จากชั้นพื้นดินของสำนักงานบริษัทโอเพคทา ภายในมีห้องเล็ก ๆ สองห้องบนชั้นที่หนึ่ง มีห้องอาบน้ำและห้องส้วมในตัว ชั้นบนเป็นห้องโล่งที่ใหญ่กว่า และมีห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งอยู่ด้านข้าง จากห้องเล็ก ๆ นี้มีบันไดทอดออกไปยังห้องใต้หลังคา ในเวลาต่อมาประตูทางเข้า อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบังไว้ด้วยตู้หนังสือ เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ถูกค้นพบ ส่วนตัวอาคารหลักตั้งอยู่ห่างจากโบสถ์แว็สเตอร์แกร์ก (Westerkerk) หนึ่งบล็อก ไม่มีการบรรยายถึง

 
บ้านที่ปรินเซินครัคต์ กรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซ่อนตัวของครอบครัวฟรังค์

วิคทอร์ คูเกลอร์, โยฮันเนิส ไกลมัน, มีป คีส และแบ็ป โฟสเกยล์ เป็นบรรดาพนักงานที่ล่วงรู้ว่าครอบครัวฟรังค์หลบอยู่ที่นั่น ยัน คีส สามีของมีป และโยฮันเนิส แฮ็นดริก พ่อของโฟสเกยล์ เป็น "ผู้ให้ความช่วยเหลือ" ตลอดช่วงเวลาที่ครอบครัวฟรังค์ซ่อนตัว พวกเขานำข่าวจากนอกบ้านมาแจ้งให้ คอยรายงานสถานการณ์สงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ให้แน่ใจว่าครอบครัวฟรังค์สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีอาหารเพียงพอ ซึ่งนับวันจะยิ่งเสาะหาอาหารได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนอเขียนถึงความเสียสละและความพยายามของพวกเขาที่พยายามจรรโลงจิตใจของคนในบ้านตลอดช่วงระยะเวลาอันแสนอันตรายนั้น ทุกคนต่างตระหนักดีว่า หากถูกจับได้ พวกเขาจะต้องโทษถึงประหารฐานให้ที่พักพิงแก่ชาวยิว[2]

วันที่ 13 กรกฎาคม ครอบครัวฟัน แป็ลส์ ได้มาอาศัยร่วมกับครอบครัวฟรังค์ ได้แก่ แฮร์มันน์, เอากุสต์ และเปเตอร์ ลูกชายอายุ 16 ปี เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนพวกเขาก็ได้ต้อนรับฟริทซ์ พเฟฟเฟอร์ ทันตแพทย์และเพื่อนของครอบครัว อันเนอบันทึกว่าเธอดีใจที่มีเพื่อนคุยด้วย แต่การมีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกันในที่แคบ ๆ ทำให้เกิดความเครียด อันเนอใช้ห้องร่วมกับพเฟฟเฟอร์ เธอไม่สามารถทนเขาได้และรำคาญที่ต้องรับเขามาอยู่ด้วย เธอยังทะเลาะกับพเฟฟเฟอร์ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าโง่เง่า เธอระบุว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปริมาณอาหารที่ได้รับแบ่งปัน[2] ในเวลาต่อมา เธอเริ่มญาติดีกับเปเตอร์ผู้ขี้อายและเชื่องช้า แล้วทั้งสองก็เริ่มตกหลุมรักกัน อันเนอได้จูบเขาเป็นครั้งแรก ทว่าความรู้สึกหลงใหลดูดดื่มของอันเนอค่อย ๆ เจือจางลง เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่าความรู้สึกของเธอต่อเปเตอร์นั้นจริงแท้แค่ไหน หรือเป็นเพียงเพราะพวกเขาได้อยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันเท่านั้น อันเนอ ฟรังค์ สนิทสนมกับบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือพวกเขามาก ออทโท ฟรังค์ รำลึกเรื่องนี้ในภายหลังว่า เธอตื่นเต้นกระตือรือร้นที่จะได้พบพวกเขาทุก ๆ วัน เขายังสังเกตว่าเพื่อนสนิทที่สุดของอันเนอคือ แบ็ป โฟสเกยล์ "เลขานุการสาวผู้นั้น... พวกเธอทั้งสองมักยืนกระซิบกระซาบกันอยู่ตรงมุมห้อง"[2]

ในบันทึกของอันเนอ เธอบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ และความแตกต่างในบุคลิกภาพของพวกเขาทั้งหลาย เธอเห็นว่าตัวเองมีความรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อมากกว่าคนอื่น ๆ พ่อของเธอบอกภายหลังว่า "ผมเข้ากับอันเนอได้ดีกว่ามาร์กอทซึ่งมักจะติดแม่แจ อาจเป็นเพราะมาร์กอทไม่ค่อยแสดงความรู้สึกของเธอออกมาเท่าไรนัก และดูเหมือนไม่ต้องการการสนับสนุนมากนัก เธอไม่ค่อยหัวเสียกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาเหมือนอย่างที่อันเนอเป็น"[1] หลังจากมาซ่อนตัว อันเนอกับมาร์กอทก็สนิทกันยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้บางครั้งอันเนอจะรู้สึกอิจฉามาร์กอท เพราะสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านมักตำหนิเธอว่าไม่มีความอ่อนโยนสุภาพเหมือนอย่างพี่สาว แต่เมื่ออันเนอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สองสาวพี่น้องก็เข้ากันได้ดี ในบันทึกของเธอวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 อันเนอเขียนว่า "มาร์กอทดีขึ้นมาก พักหลังนี้เธอไม่ทำตัวเป็นแมวหง่าว และเริ่มเป็นเพื่อนจริง ๆ สักที เธอไม่มองฉันเป็นเด็กทารกอีกแล้ว"[4]

อันเนอเขียนเรื่องความขัดแย้งกับแม่เอาไว้บ่อย ๆ รวมถึงความขัดแย้งในใจของเธอเองเกี่ยวกับแม่ด้วย วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 เธอบรรยายถึง "ความเสื่อมศรัทธา" ที่มีต่อแม่ ทั้งยังไม่สามารถ "ประจันหน้ากับความสะเพร่า เย็นชา และหัวใจที่แข็งกระด้าง" ของแม่เธอได้ ก่อนจะสรุปว่า "เขาไม่ใช่แม่สำหรับฉัน"[4] ต่อมาเมื่อเธอทบทวนสมุดบันทึกของตัวเอง อันเนอรู้สึกละอายกับทัศนคติแย่ ๆ ของตัวเอง เธอบันทึกว่า "อันเนอ นั่นเธอหรือที่จงเกลียดจงชังขนาดนั้น โอ อันเนอ เธอทำได้อย่างไร?"[4] อันเนอเริ่มเข้าใจว่า ความแตกต่างของพวกเขาเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจกัน เป็นความผิดของเธอมากเท่า ๆ กับความผิดของแม่ อันเนอยังเห็นว่าเธอได้เพิ่มความทุกข์ใจให้แก่แม่อย่างไม่จำเป็นเลย เมื่อตระหนักดังนี้ อันเนอก็เริ่มปฏิบัติต่อมารดาด้วยความเคารพมากยิ่งขึ้น[1]

ทั้งมาร์กอทและอันเนอต่างหวังจะได้กลับไปโรงเรียนอีกครั้งทันทีที่ไปได้ เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนต่อ มาร์กอทมีสมุดบันทึกส่วนตัวของเธอเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าสูญหายไป อันเนอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านและเล่าเรียน โดยยังเขียนและแก้ไขบันทึกของเธออยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกเหนือจากการบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาประสบแล้ว เธอยังบรรยายถึงความรู้สึกของเธอ ความเชื่อ ความปรารถนา และเรื่องต่าง ๆ ที่เธอไม่กล้าปรึกษาหารือกับใคร เมื่อเธอมีความมั่นใจในการเขียนหนังสือมากขึ้น เธอก็เริ่มบรรยายถึงเรื่องราวเชิงนามธรรม เช่นความเชื่อของเธอต่อพระผู้เป็นเจ้า และเรื่องการจำกัดความธรรมชาติของมนุษย์ เธอเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอทุกวันจนกระทั่งถึงบันทึกครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

ถูกจับกุม

แก้
 
ค่ายที่สร้างขึ้นใหม่บนที่ตั้งของค่ายแว็สเตอร์บอร์ก ซึ่งอันเนอ ฟรังค์ พำนักอยู่ระหว่างสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2487

เช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2487 อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบุกค้นโดยตำรวจเยอรมนี (Grüne Polizei) เนื่องจากมีผู้แจ้งเบาะแสนิรนาม[5] ทีมจับกุมนำโดยคาร์ล ซิลเบอร์เบาเออร์ นายตำรวจซีแชร์ไฮท์สดีนสท์ (Sicherheitsdienst) พร้อมทั้งตำรวจอีกอย่างน้อย 3 นาย ครอบครัวฟรังค์ ครอบครัวฟัน แป็ลส์ และพเฟฟเฟอร์ ถูกนำตัวไปยังสำนักงานใหญ่เกสตาโป พวกเขาถูกไต่สวนและขังคุกไว้ที่นั่นหนึ่งคืน วันที่ 5 สิงหาคมพวกเขาถูกนำตัวไปยังเฮยส์ฟันเบวาริง (Huis van Bewaring) ซึ่งเป็นคุกแน่นขนัดที่เวเตอริงสคันส์ (Weteringschans) สองวันต่อมาพวกเขาถูกส่งไปยังแว็สเตอร์บอร์ก (Westerbork) ซึ่งเป็นค่ายส่งตัว มีชาวยิวนับแสนคนถูกส่งผ่านค่ายแห่งนี้ เนื่องจากพวกเขาถูกจับกุมได้ขณะหลบซ่อนตัว จึงโดนข้อหาเป็นอาชญากรและจะต้องถูกส่งไปยังค่ายลงทัณฑ์เพื่อเป็นแรงงานหนัก[1]

วิคทอร์ คูเกลอร์ และโยฮันเนิส ไกลมัน ถูกจับตัวและขังคุกอยู่ในค่ายลงโทษฝ่ายศัตรูที่เมืองอาเมอร์สโฟร์ต (Amersfoort) ไกลมันได้รับการปล่อยตัวใน 7 สัปดาห์ให้หลัง แต่คูกเลอร์ต้องอยู่ในค่ายแรงงานหลายแห่งจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด[1] มีป คีส กับแบ็ป โฟสเกยล์ ถูกไต่สวนและคุกคามจากตำรวจความมั่นคง ทว่าพวกเขาไม่โดนจำคุก เมื่อพวกเขากลับไปที่ อัคเตอร์เฮอวส์ ในวันรุ่งขึ้น ก็พบกระดาษบันทึกของอันเนอกระจัดกระจายเกลื่อนพื้น พวกเขาเก็บรักษาบันทึกทั้งหมดไว้ รวมถึงอัลบัมภาพถ่ายครอบครัวอีกหลายเล่ม คีสตัดสินใจจะเก็บไว้คืนให้อันเนอหลังสงครามสิ้นสุด วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2487 คีสพยายามจัดการให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยติดสินบนให้แก่ซิลเบอร์เบาเออร์ แต่เขาปฏิเสธ[1]

การกักกันและการเสียชีวิต

แก้

วันที่ 3 กันยายน[6] ทั้งกลุ่มถูกส่งตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายไปจากแว็สเตอร์บอร์ก มุ่งสู่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ใช้เวลาเดินทางถึง 3 วัน ในท่ามกลางความวุ่นวายขณะลงจากรถไฟ พวกผู้ชายก็พลัดจากกลุ่มผู้หญิงและเด็ก แล้วออทโท ฟรังค์ ก็ไม่ได้พบครอบครัวของเขาอีกเลย ในจำนวนผู้โดยสาร 1,019 คนที่มาถึง ถูกแยกส่งไปยังห้องรมแก๊สทันที 549 คน (รวมถึงเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี) อันเนอเพิ่งมีอายุครบ 15 ปีมาได้ 3 เดือน และเป็นหนึ่งในบรรดาผู้รอดชีวิตที่อายุน้อยที่สุด ไม่นานเธอก็เริ่มเข้าใจว่า นักโทษส่วนใหญ่ถูกส่งไปรมแก๊สทันทีที่เดินทางมาถึง เธอไม่ทราบเลยว่ากลุ่มที่มาจาก อัคเตอร์เฮอวส์ ทั้งหมดรอดชีวิต แต่คิดไปว่าพ่อของเธอซึ่งอายุกว่าห้าสิบปีแล้วและไม่ค่อยแข็งแรงนัก คงจะถูกฆ่าทันทีที่พวกเขาพลัดจากกัน[1]

อันเนอกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่รอดจากการสังหารหมู่ทันทีที่มาถึง ถูกบังคับให้เปลือยกายและฆ่าเชื้อ พวกเธอถูกจับโกนผมและสักหมายเลขประจำตัวไว้บนแขน ในเวลากลางวัน พวกผู้หญิงจะถูกใช้งานเป็นทาส อันเนอต้องทลายหินและขุดพื้น เมื่อตกกลางคืนพวกเขาต้องเบียดเสียดกันอยู่ในคุกแคบ ๆ พยานหลายคนให้ปากคำในภายหลังว่า อันเนอจะหวาดผวาและร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นเด็ก ๆ ถูกนำตัวไปยังห้องรมแก๊ส แต่ก็มีพยานอีกหลายคนบอกว่าบางครั้งเธอก็แสดงความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง ความอารีและธรรมชาติความเป็นผู้นำในตัวเธอทำให้เธอมักได้รับส่วนแบ่งขนมปังเพิ่มขึ้นสำหรับให้เอดิท มาร์กอท และตัวเธอเอง ในค่ายสกปรกมาก ไม่ช้าเชื้อโรคก็แพร่ระบาด ผิวของอันเนอติดเชื้อหิดอย่างรุนแรง เธอกับมาร์กอทถูกแยกไปห้องผู้ป่วย ที่ซึ่งมีแต่ความมืดสลัวตลอดเวลา และเป็นที่อยู่ของหนู เอดิท ฟรังค์ เลิกกินอาหารส่วนของตน แต่เก็บเอาไว้เพื่อส่งไปให้ลูกสาวทั้งสอง โดยส่งผ่านรูเล็ก ๆ ที่เธอแอบเจาะไว้ทางด้านหลังกำแพงห้องผู้ป่วย[1]

 
มรณานุสรณ์สำหรับมาร์กอท และอันเนอ ฟรังค์ ที่บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซินเดิม

เมื่อถึงวันที่ 28 ตุลาคมก็มีการคัดเลือกผู้หญิงที่จะย้ายไปยังค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน ผู้หญิงกว่า 8,000 คน รวมทั้งอันเนอและมาร์กอท ฟรังค์ และเอากุสต์ ฟัน แป็ลส์ ถูกย้ายไป แต่เอดิท ฟรังค์ไม่ได้ไปด้วย เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากอดอาหาร[1] นักโทษจำนวนมากหลั่งไหลไปที่เบลเซินจนต้องมีการตั้งเต็นท์ชั่วคราวสำหรับเป็นที่พักอาศัย ผลจากจำนวนผู้อาศัยที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดโรคระบาดและอัตราเสียชีวิตก็สูงขึ้นอย่างมาก อันเนอได้พบกับเพื่อนเก่าสองคนคือ ฮันเนอลี กอสลาร์ และนาเนตต์ บลิตซ์ เป็นเวลาสั้น ๆ พวกเธอถูกกักกันอยู่ในคนละพื้นที่ของค่าย กอสลาร์กับบลิตซ์มีชีวิตรอดจนสงครามสิ้นสุด ในภายหลังพวกเธอทั้งสองได้เล่าถึงบทสนทนากับอันเนอเมื่อทั้งหมดได้คุยกันชั่วขณะผ่านรั้วกั้นแดน บลิตซ์บอกว่าอันเนอดูผอมมาก ศีรษะล้าน ตัวสั่นเทา ส่วนกอสลาร์เล่าว่าเอากุสต์ ฟัน แป็ลส์ ได้อยู่กับอันเนอและมาร์กอทด้วย ดูเหมือนเธอจะคอยดูแลสองพี่น้องที่กำลังป่วยหนัก คนทั้งสองไม่ได้พบกับมาร์กอท เนื่องจากเธออ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากที่นอนได้ อันเนอบอกกับกอสลาร์และบลิตซ์ว่า เธอคิดว่าพ่อกับแม่คงจะตายไปแล้ว ด้วยเหตุนั้นเธอจึงไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป กอสลาร์คิดว่าช่วงที่พวกเขาได้พบกันน่าจะอยู่ในราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488[1]

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดในค่ายกักกัน ทำให้นักโทษเสียชีวิตไปประมาณ 17,000 คน[1] พยานบางคนเล่าในภายหลังว่า มาร์กอทร่วงตกจากที่นอนและเสียชีวิตจากอาการช็อก หลังจากนั้นไม่กี่วัน อันเนอก็เสียชีวิต ประมาณว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทหารอังกฤษจะสามารถเข้าปลดปล่อยค่ายกักกันได้ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2488 แต่ไม่สามารถระบุวันที่ที่แน่นอนได้[7][8] ค่ายทั้งค่ายถูกเผาหลังจากได้รับการปลดปล่อยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด อันเนอกับมาร์กอทจึงถูกฝังอยู่ใต้กองดินขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้

หลังจากสิ้นสุดสงคราม ประมาณว่ามีชาวยิวถูกเนรเทศจากเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี พ.ศ. 2485 – 2487 ประมาณ 107,000 คน ในจำนวนนี้รอดชีวิตมาได้เพียง 5,000 คน ส่วนชาวยิวที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีประมาณ 30,000 คน โดยความช่วยเหลือของขบวนการใต้ดินชาวดัตช์ และรอดชีวิตมาจนถึงหลังสงครามได้ประมาณสองในสามส่วน[9]

ออทโท ฟรังค์ รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ หลังสงคราม เขากลับไปยังอัมสเตอร์ดัมและได้อาศัยพำนักอยู่กับยันและมีป คีส เพื่อติดตามค้นหาครอบครัวของเขา เขาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาแล้วตั้งแต่อยู่ที่เอาชวิทซ์ แต่ก็ยังมีความหวังว่าลูกสาวทั้งสองน่าจะรอดชีวิต หลังจากค้นหาอยู่หลายสัปดาห์เขาจึงได้ทราบว่า มาร์กอทและอันเนอเสียชีวิตแล้ว เขาติดตามสอบถามข่าวชะตากรรมของบรรดาสหายของบุตรสาวด้วย และได้ทราบว่าพวกเขาถูกสังหารจนหมด ซูซันเนอ เลเดอร์มันน์ เป็นหนึ่งในชื่อสหายที่ปรากฏบ่อยครั้งอยู่ในสมุดบันทึกของอันเนอ เธอถูกรมแก๊สเสียชีวิตพร้อมกับพ่อแม่ แต่บาร์บารา พี่สาวของซูซันเนอและเพื่อนสนิทของมาร์กอท รอดชีวิต[2] ยังมีเพื่อนร่วมโรงเรียนของพี่น้องฟรังค์อีกหลายคนที่รอดชีวิต เช่นเดียวกับญาติ ๆ อีกหลายคนของทั้งออทโทและเอดิท ฟรังค์ ที่หนีออกจากเยอรมนีในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 บางคนไปตั้งรกรากอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

หนังสือ บันทึกของเด็กหญิง

แก้

การตีพิมพ์

แก้
 
ภาพปกหนังสือ Het Achterhuis ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2490 ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Diary of a Young Girl ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 หลังจากกาชาดสากลยืนยันการเสียชีวิตของอันเนอและมาร์กอทแล้ว มีป คีส จึงมอบสมุดบันทึกและเศษกระดาษบันทึกของอันเนอที่เธอเก็บรักษาไว้ด้วยความตั้งใจจะคืนให้แก่อันเนอ ให้แก่ออทโท ฟรังค์ ออทโทบอกในภายหลังว่า เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าอันเนอได้จดบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาระหว่างการซ่อนตัว ออทโทค่อย ๆ อ่านบันทึกด้วยความปวดร้าว ระลึกถึงแต่ละเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในบันทึก และนึกได้ว่าเขาเคยได้ยินเนื้อความบางส่วนที่ตลก ๆ ซึ่งบุตรสาวของเขาเคยอ่านให้ฟังมาก่อนแล้ว นอกจากนี้เขายังยอมรับว่า เพิ่งเคยได้ทราบความเป็นส่วนตัวบางอย่างของบุตรสาวเป็นครั้งแรก รวมถึงบางส่วนของบันทึกที่เธอไม่เคยพูดถึงกับใครมาก่อน ออทโทกล่าวว่า "สำหรับผม มันเป็นการเปิดดวงตาครั้งใหญ่... ผมไม่เคยล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูกมาก่อน... เธอเก็บความรู้สึกทั้งหมดนี้ไว้กับตัวเอง"[2] อันเนอบันทึกความปรารถนาไว้หลายครั้งว่าอยากเป็นนักเขียน ดังนั้น ออทโทจึงเริ่มคิดว่า น่าจะนำบันทึกนี้ไปตีพิมพ์

ช่วงต้นของบันทึกของอันเนอ บรรยายความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว และยังระบุหลายครั้งว่าเธอจะไม่ยอมให้ใครได้อ่านมันเลย เธอแอบเขียนบรรยายชีวิตของเธอ ของครอบครัว และเพื่อน ๆ ตลอดจนสถานะของพวกเขา ขณะเดียวกันเธอก็เริ่มมีความคาดหวังจะเขียนนิยายสำหรับพิมพ์เผยแพร่ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2487 อันเนอได้ยินประกาศทางวิทยุโดยแคร์ริต โบลเกอสไตน์ หนึ่งในคณะรัฐบาลพลัดถิ่นของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าหลังจากสงครามสิ้นสุด เขาจะจัดทำบันทึกสาธารณะขึ้นเพื่อรวบรวมสิ่งที่เกิดกับชาวดัตช์ระหว่างอยู่ภายใต้รัฐบาลเยอรมนี[4] เขาระบุถึงการเผยแพร่จดหมายและบันทึกต่าง ๆ ทำให้อันเนอตัดสินใจจะส่งงานเขียนของเธอไปร่วมด้วยเมื่อถึงเวลานั้น เธอเริ่มปรับปรุงแก้ไขงานเขียนของเธอ สลับ ย้ายเนื้อหา และเขียนขึ้นใหม่บางส่วน ด้วยมุมมองที่เหมาะสมสำหรับการตีพิมพ์ สมุดบันทึกเริ่มแรกของเธอสอดแทรกไว้ด้วยสมุดโน้ตเพิ่มเติมและกระดาษเป็นแผ่น ๆ อีกจำนวนมาก เธอคิดชื่อสมมุติขึ้นสำหรับสมาชิกในบ้านและบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยเปลี่ยนชื่อครอบครัวฟัน แป็ลส์เป็นแฮร์มันน์, เปโตรเนลลา และเปเตอร์ ฟัน ดาน และเปลี่ยนชื่อฟริทซ์ พเฟฟเฟอร์เป็นอัลแบร์ท ดึสเซิลล์ ในบันทึกฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่นี้ เธอเขียนถึง "คิตตี" ซึ่งเป็นตัวละครในนิยายเรื่อง โยปเตอร์เฮิล (Joop ter Heul) ของซิสซี ฟัน มากซ์เฟลต์ ซึ่งอันเนอชอบอ่านบ่อย ๆ ออทโท ฟรังค์ ใช้บันทึกฉบับดั้งเดิมของเธอซึ่งเรียกว่า "ฉบับเอ" รวมกับฉบับปรับปรุงแก้ไขที่เรียกว่า "ฉบับบี" มาเรียบเรียงใหม่เป็นฉบับตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เขาตัดเนื้อหาบางส่วนออก โดยเฉพาะส่วนที่อันเนอวิจารณ์พ่อแม่ของเธอ (โดยมากเป็นแม่) และส่วนที่บรรยายถึงการเติบโตทางเพศของอันเนอเอง ออทโทเปลี่ยนส่วนที่ระบุชื่อสมาชิกในครอบครัวของเขาเองให้เป็นชื่อจริง แต่ยังคงใช้ชื่อสมมุติสำหรับบุคคลอื่น ๆ เอาไว้

ออทโท ฟรังค์ มอบสมุดบันทึกให้แก่อันนี โรไมน์-แฟร์สโคร์ (Annie Romein-Verschoor) นักประวัติศาสตร์ ซึ่งพยายามช่วยให้หนังสือได้ตีพิมพ์ แต่ไม่สำเร็จ เธอส่งหนังสือต่อไปให้ยัน โรไมน์ สามีของเธอ เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือนี้ ชื่อหัวข้อว่า "Kinderstem" (หมายถึง "เสียงของเด็กหญิง") พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Het Parool ฉบับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2489 เขาเขียนว่าสมุดบันทึกนี้ "สะท้อนเสียงคร่ำครวญของเด็กน้อย แสดงให้เห็นความน่าขยะแขยงของลัทธิฟาสซิสต์ โหดร้ายยิ่งกว่าเหตุการณ์ทั้งมวลที่เนือร์นแบร์กรวมกันเสียอีก"[10] บทความของเขาทำให้บรรดาสำนักพิมพ์สนใจขึ้นมา แล้วสมุดบันทึกเล่มนั้นจึงได้ตีพิมพ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ในชื่อ Het Achterhuis เมื่อปี พ.ศ. 2490[2] และได้พิมพ์ซ้ำในปี พ.ศ. 2493

หนังสือได้ตีพิมพ์ในเยอรมนีและฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2493 ส่วนในประเทศอังกฤษได้พิมพ์ในปี พ.ศ. 2495 หลังจากถูกสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ปฏิเสธหลายครั้ง ฉบับพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2495 ในชื่อว่า Anne Frank: The Diary of a Young Girl โดยได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี หนังสือประสบความสำเร็จในฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา แต่ที่อังกฤษไม่ค่อยเป็นที่ดึงดูดใจนักอ่านนัก ไม่มีการพิมพ์ซ้ำอีกหลังจากปี พ.ศ. 2496 หนังสือประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นที่สุดที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นที่ชื่นชอบอย่างสูงและจำหน่ายได้มากกว่า 100,000 เล่มในฉบับพิมพ์ครั้งแรก อันเนอ ฟรังค์ กลายเป็นผู้แทนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างยิ่งในญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว เธอเป็นตัวแทนถึงวัยเยาว์ที่ถูกทำลายลงในระหว่างสงคราม[2]

หนังสือได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวที โดยแฟรนซิส กู๊ดริช และแอลเบิร์ต แฮกเกตต์ แสดงรอบปฐมทัศน์ในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับประเภทละครชีวิต ในปี 2502 ได้สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Diary of Anne Frank ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งเงินและชื่อเสียง นักบันทึกชีวประวัติ เมลิสซา มึลเลอร์ เขียนถึงการดัดแปลงบทประพันธ์เป็นการแสดงเหล่านี้ว่า "แสดงให้เห็นความรักใคร่ ความอ่อนไหว และความเป็นสากลในเรื่องของอันเนอได้อย่างดีที่สุด"[1] ยิ่งเวลาผ่านไป ความนิยมในงานเขียนก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ในโรงเรียนหลายแห่งโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานำหนังสือนี้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย ทำให้อันเนอ ฟรังค์ เป็นที่รู้จักดีของนักอ่านรุ่นใหม่ ๆ

ปี พ.ศ. 2529 สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามแห่งรัฐเนเธอร์แลนด์ (Netherlands State Institute for War Documentation) ได้จัดพิมพ์บันทึก "ฉบับชำระใหม่" (Critical Edition) แสดงเนื้อหาเปรียบเทียบฉบับต่าง ๆ ที่เคยปรากฏทั้งหมด ทั้งที่ผ่านการเรียบเรียงแล้วและที่ยังไม่ได้เรียบเรียง รวมถึงรายละเอียดการสืบสวนความเป็นจริงและความเป็นเจ้าของของบันทึกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับครอบครัวของฟรังค์และเกี่ยวกับตัวบันทึก[11]

กอร์เนลิส เซยก์ อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ และประธานศูนย์สหรัฐอเมริกาของมูลนิธิการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประกาศในปี พ.ศ. 2542 ว่า เขาเป็นเจ้าของกระดาษบันทึก 5 แผ่น ซึ่งออทโท ฟรังค์ ดึงออกจากสมุดบันทึกก่อนจะนำไปตีพิมพ์ เซยก์อ้างว่าออทโท ฟรังค์ มอบกระดาษบันทึกเหล่านั้นให้เขาเอง ไม่นานก่อนที่ออทโทจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2523 เนื้อหาบันทึกส่วนที่หายไปเกี่ยวข้องกับการที่อันเนอ ฟรังค์ วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตแต่งงานของพ่อแม่ของเธอ และยังพรรณนาความรู้สึกไม่พอใจต่อแม่ของเธอด้วย[12] ในเวลาต่อมาเรื่องนี้ก็กลายเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะเซยก์เรียกร้องสิทธิ์ในการตีพิมพ์บันทึก 5 แผ่นนี้ และคิดจะนำไปขายเพื่อระดมทุนให้แก่ศูนย์สหรัฐอเมริกาของเขา สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามแห่งเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของต้นฉบับ เรียกร้องให้เขาคืนบันทึกทั้ง 5 แผ่นนี้ ในปี พ.ศ. 2543 กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์แห่งเนเธอร์แลนด์ ยินยอมบริจาคเงินจำนวน 300,000 เหรียญสหรัฐให้แก่มูลนิธิของเซยก์ แล้วบันทึกทั้ง 5 แผ่นจึงได้ส่งคืนในปี พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นจึงได้นำบันทึกทั้ง 5 แผ่นผนวกรวมเข้าไปในหนังสือบันทึกฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ ๆ ด้วย

การตอบรับ

แก้

บันทึกของอันเนอได้รับคำยกย่องชมเชยในฐานะวรรณกรรมที่ดี ไมเยอร์ เลวิน ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการเขียนของอันเนอว่า "รักษาความตึงเครียดของนวนิยายซึ่งเขียนโดยมีโครงสร้างอย่างดี"[13] เขาประทับใจกับผลงานของเธอมากจนต้องร่วมงานกับออทโท ฟรังค์ ในการดัดแปลงบทประพันธ์เป็นบทละคร หลังจากหนังสือได้รับการตีพิมพ์ไม่นานนัก[14] จอห์น เบร์รีแมน กวีชาวอเมริกันเขียนถึงหนังสือนี้ว่า มีถ้อยความพรรณนาที่โดดเด่นมาก มิใช่เพียงแค่เรื่องราวของเด็กสาว แต่เป็น "การก้าวย่างจากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากความแม่นยำ ความเชื่อมั่น เป็นรูปแบบที่ชวนให้พรึงเพริดกับความสัตย์ซื่อของตัวอักษร"[15]

เอลินอร์ โรเซเวลต์ เขียนคำนำให้แก่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เธอบรรยายว่าหนังสือนี้เป็น "หนึ่งในหนังสือซึ่งบรรยายถึงสงครามกับผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาและเฉลียวฉลาดที่สุดเท่าที่ดิฉันเคยอ่าน" จอห์น เอฟ. เคนเนดี เอ่ยถึงอันเนอ ฟรังค์ ในสุนทรพจน์เมื่อปี พ.ศ. 2504 ว่า "ในบรรดาผู้คนมากมายตลอดห้วงประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์ ในช่วงเวลาอันแสนขมขื่นและการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดพรรณนาได้จับใจเท่าอันเนอ ฟรังค์"[6] ในปีเดียวกันนั้น นักเขียนชาวโซเวียต อิลยา เอเรนบูร์ก เขียนถึงอันเนอว่า "เสียงเสียงหนึ่งที่เอ่ยแทนผู้คนอีกหกล้าน - เสียงที่มิได้มาจากปราชญ์หรือกวี แต่มาจากเด็กหญิงธรรมดาตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง"[16]

อันเนอ ฟรังค์ เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นทั้งในฐานะที่เป็นนักเขียนและนักมนุษยนิยม มีการพูดถึงเธอทั่วไป โดยเฉพาะการเป็นสัญลักษณ์ของการถูกทำลายและเป็นตัวแทนของการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฮิลลารี คลินตัน อ่านบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีมอบรางวัล Elie Wiesel Humanitarian Award เมื่อปี พ.ศ. 2537 ว่า "เธอได้ปลุกพวกเราขึ้นจากความเขลา ให้แลเห็นความตายอันโหดร้ายที่พรากความเยาว์ของเราไปเสีย" คลินตันเปรียบเทียบเรื่องของอันเนอกับเหตุการณ์ร่วมสมัยในเวลานั้น คือสงครามในซาราเยโว, โซมาเลีย และรวันดา[17] หลังจากที่เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลจากมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ เมื่อปี พ.ศ. 2537 เขาเอ่ยกับฝูงชนในเมืองโจฮันเนสเบิร์กว่า เขาอ่านบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ ขณะที่อยู่ในคุก และ "รู้สึกกล้าหาญขึ้นอย่างมาก" เขาเปรียบเทียบการต่อสู้ของอันเนอกับพวกนาซี กับการต่อสู้ของเขาเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ และว่าปรัชญาทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ขนานกัน "เพราะความเชื่อพื้นฐานของมันผิดพลาด มันเคยผิดพลาดและยังคงผิดพลาดต่อไป ทว่าด้วยตัวอย่างจากอันเนอ ฟรังค์ การเหยียดผิวจักต้องพ่ายแพ้"[18]

ออทโท ฟรังค์ ใช้เวลาที่เหลือในชีวิตคอยดูแลอารักขาเกียรติยศชื่อเสียงของบุตรสาว เขากล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่แปลก สำหรับครอบครัวทั่วไป ผู้เป็นลูกจะเป็นฝ่ายได้รับเกียรติยศจากการกระทำของพ่อแม่ และคอยรักษาเกียรติยศนั้นให้สืบต่อไป แต่สำหรับผมมันกลับตรงกันข้าม" เขายังนึกถึงคำกล่าวของผู้จัดพิมพ์ที่อธิบายให้เขาฟังว่า เหตุใดบันทึกจึงเป็นที่นิยมอ่านโดยกว้างขวาง "เขาบอกว่าบันทึกได้รวบรวมด้านต่าง ๆ ของชีวิตเอาไว้ ผู้อ่านแต่ละคนสามารถค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ตรงกับใจของตนเอง"[2] ต่อมาภายหลัง ซีมอน วีเซินทัล ได้อธิบายแนวคิดคล้ายกันนี้ เขากล่าวว่าบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ ทำให้เกิดความตื่นตัวทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยโดดเด่นยิ่งกว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เนือร์นแบร์กเสียอีก ทั้งนี้เนื่องจาก "เด็กคนนี้เป็นตัวตนที่เห็นได้เด่นชัดจากหมู่คนจำนวนมาก เป็นผลกระทบจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยตรง เธอมีครอบครัว เหมือนอย่างครอบครัวของผม เหมือนอย่างครอบครัวของคุณ คุณจึงเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ง่าย"[19]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 นิตยสารไทมส์ตีพิมพ์หนังสือฉบับพิเศษ ใช้ชื่อว่า "Time 100: The Most Important People of the Century" (100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษ) อันเนอ ฟรังค์ ได้รับเลือกเป็นผู้หนึ่งในหมวด "วีรบุรุษและสัญลักษณ์" รอเจอร์ โรเซนแบลตต์ บรรยายถึงความเป็นตำนานของเธอว่า "หนังสือเล่มนี้ส่งแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกผู้คนรู้สึกเป็นเจ้าของอันเนอ ฟรังค์ เธอโดดเด่นขึ้นมาเหนือเหล่าผู้ถูกทำร้าย เหนือเหล่าชาวยิว เหนือความเยาว์วัย และอาจจะเหนือความดีงาม เธอกลายเป็นสัญลักษณ์บูชาในโลกยุคใหม่ ที่ซึ่งหัวใจแห่งศีลธรรมแต่ละดวงถูกรุมล้อมด้วยการทำลายล้างของเครื่องจักร เธอต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะมีชีวิต ที่จะถาม และที่จะหวังถึงอนาคตแห่งมนุษยชาติทั้งปวง" เขายังให้ความเห็นอีกว่า แม้ความกล้าหาญและการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเธอจะเป็นที่นิยมชมชอบ ทว่าแท้จริงแล้วปัจจัยที่ทำให้เธอน่าหลงใหล คือความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเอง ประกอบกับทักษะการเขียนอันดียิ่ง เขาเขียนว่า "ความเป็นอมตะของเธอเนื่องมาจากวรรณศิลป์อย่างแท้จริง เธอเป็นนักเขียนที่มีคุณวิเศษตลอดทุกยุคสมัย คุณภาพแห่งผลงานของเธอเป็นผลโดยตรงจากหัวใจอันซื่อตรงอย่างที่สุด"[20]

การต่อต้านและผลกระทบทางกฎหมาย

แก้

หลังจากบันทึกเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ก็มีการตีพิมพ์ข้อกล่าวหามากมายต่อต้านบันทึกนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงแรกเกิดขึ้นที่ประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ คำกล่าวหาข้อหนึ่งกล่าวว่า ผู้เขียนบันทึกนี้คือ ไมเยอร์ เลวิน ส่วนอันเนอ ฟรังค์ ไม่มีตัวตนจริง[21]

ปี พ.ศ. 2501 ซีมอน วีเซินทัล ถูกท้าทายจากกลุ่มผู้ต่อต้านขณะแสดงละคร The Diary of Anne Frank ที่กรุงเวียนนา พวกเขากล่าวหาว่า อันเนอ ฟรังค์ ไม่มีตัวตนจริง และท้าให้วีเซินทัลพิสูจน์ตัวตนของเธอโดยหาตัวคนที่จับกุมเธอ วีเซินทัลจึงเริ่มออกติดตามหาคาร์ล ซิลเบอร์เบาเออร์ ตำรวจในคณะจับกุม และพบตัวเขาในปี พ.ศ. 2506 จากการสัมภาษณ์ ซิลเบอร์เบาเออร์ยอมรับบทบาทของเขา และระบุตัวอันเนอ ฟรังค์ ได้จากภาพถ่ายว่าเป็นหนึ่งในคนที่เขาจับกุม เขาให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้น และเล่าถึงการค้นกระเป๋าใบหนึ่งที่เต็มไปด้วยกระดาษโดยการเทลงบนพื้น คำให้การของเขาสนับสนุนเรื่องราวลำดับเหตุการณ์ที่เล่าโดยพยานคนอื่นมาก่อนหน้านี้ เช่น ออทโท ฟรังค์[2]

การต่อต้านหนังสือนี้ยังมีประเด็นอื่นอีกคือ ผู้เขียนบันทึกไม่ใช่เด็ก แต่น่าจะถูกสร้างขึ้นเป็นวาทกรรมที่โอนเอียงเข้าข้างชาวยิว ออทโท ฟรังค์ ถูกกล่าวหาว่าหลอกลวง ปี พ.ศ. 2502 ที่เมืองลือเบค ฟรังค์ฟ้องร้องต่อ โลทาร์ ชตีเลา ครูสอนหนังสือคนหนึ่งที่เคยเป็นสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ ในการตีพิมพ์บทความในโรงเรียนโจมตีว่าหนังสือบันทึกนี้สร้างเรื่องขึ้นมาเอง คดียังครอบคลุมถึงไฮน์ริช บุดเดอแกร์ก ซึ่งเขียนจดหมายไปสนับสนุนชตีเลาและได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ลือเบคด้วย ศาลได้ตรวจสอบหนังสือบันทึก และพิสูจน์ได้ว่าลายมือในบันทึกตรงกันกับจดหมายซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเขียนขึ้นโดยอันเนอ ฟรังค์ ปี พ.ศ. 2503 จึงมีการประกาศว่าบันทึกเป็นของจริง ชตีเลาต้องถอนบทความที่เคยเขียนไปทั้งหมด และออทโท ฟรังค์ ก็ไม่ได้ฟ้องร้องเขาต่อไปอีก[21]

ปี พ.ศ. 2519 ออทโท ฟรังค์ ฟ้องร้องไฮนซ์ รอท ชาวเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ผู้ซึ่งเขียนหนังสือโจมตีว่าบันทึกเป็นเรื่องหลอกลวงสร้างขึ้นเอง ศาลตัดสินว่า หากรอทยังเขียนเช่นนั้นอีก เขาจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 500,000 มาร์คเยอรมันและจำคุก 6 เดือน รอทยื่นอุทธรณ์คัดค้าน แต่เขาเสียชีวิตเสียก่อนในปี พ.ศ. 2521 หนึ่งปีก่อนศาลจะตัดสินไม่รับอุทธรณ์[21]

ออทโท ฟรังค์ ยังยื่นฟ้องแอนสท์ เรอเมอร์ ในปี พ.ศ. 2519 เช่นกัน เขาเขียนหนังสือต่อต้านบันทึกใช้ชื่อว่า "The Diary of Anne Frank, Bestseller, A Lie" เมื่อชายอีกคนหนึ่งชื่อ เอดการ์ ไกสส์ นำหนังสือต่อต้านมาแจกจ่ายในห้องพิจารณาคดี เขาก็ถูกออทโทฟ้องร้องด้วย เรอเมอร์ถูกปรับเป็นเงิน 1,500 ดอยช์มาร์ค[21] ส่วนไกสส์ถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือน เมื่อมีการอุทธรณ์จึงได้ลดโทษลง

หลังจากออทโท ฟรังค์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2523 เขาแสดงความจำนงที่จะมอบต้นฉบับสมุดบันทึกรวมถึงจดหมายและกระดาษบันทึกทั้งหมดให้แก่สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามของเนเธอร์แลนด์[2] ซึ่งเป็นผู้จัดให้มีการตรวจสอบและศึกษาบันทึกในเวลาต่อมาโดยกระทรวงยุติธรรมแห่งเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2529 มีการตรวจสอบลายมือเปรียบเทียบกับตัวอย่างต่าง ๆ ที่ทราบตัวเจ้าของ และพบว่าถูกต้องตรงกัน ผลตรวจกระดาษ กาว และหมึก พบว่าเป็นสิ่งซึ่งใช้สอยอยู่แล้วในยุคที่เชื่อกันว่าได้เขียนบันทึกขึ้น ผลสรุปจากการตรวจสอบยืนยันว่า บันทึกนี้เป็นของจริง และได้จัดพิมพ์สมุดบันทึกนี้ขึ้นเป็นการพิเศษ รู้จักกันต่อมาว่าเป็น "ฉบับชำระใหม่" ศาลแขวงฮัมบวร์คก็ได้ประกาศยืนยันความเป็นตัวจริงของบันทึกนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2533[11]

ปี พ.ศ. 2534 รอแบร์ โฟรีซง และซีคฟรีด แฟร์เบเกอ ผู้ปฏิเสธไม่เชื่อเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เขียนหนังสือเล็ก ๆ ขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ The Diary of Anne Frank: A Critical Approach โดยกล่าวหาว่า ออทโท ฟรังค์ เป็นผู้เขียนบันทึกนั้นขึ้นเอง เนื่องจากรายละเอียดหลายอย่างในบันทึกขัดแย้งกันเอง การซ่อนตัวใน อัคเตอร์เฮอวส์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และว่าวิธีการเขียนร้อยแก้วกับลายมือของอันเนอ ฟรังค์ ไม่น่าที่เด็กวัยรุ่นจะทำได้[22]

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 อันเนอร์ ฟรังค์ เฮาส์ ที่อัมสเตอร์ดัม ร่วมกับมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ ในเมืองบาเซิล ได้ร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายห้ามการเผยแพร่หนังสือ The Diary of Anne Frank: A Critical Approach ในประเทศเนเธอร์แลนด์ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ศาลประจำกรุงอัมสเตอร์ดัมได้มีประกาศห้ามการต่อต้านความเป็นตัวจริงและความเป็นเจ้าของของหนังสือบันทึกนี้อีก รวมถึงห้ามการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่ทำให้เกิดผลดังกล่าว ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 25,000 กิลเดอร์ต่อหนึ่งกรณี[23]

อนุสรณ์

แก้
 
ผู้เยี่ยมชมเข้าแถวรอเข้าพิพิธภัณฑ์ อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมทั้งออทโท ฟรังค์ ได้ก่อตั้งกลุ่ม คนรักอันเนอ ฟรังค์ ขึ้น เพื่อพยายามป้องกันมิให้อาคารปรินเซินครัคต์ถูกทุบทิ้ง และพยายามให้อาคารแห่งนั้นเปิดต่อสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ จึงได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ประกอบด้วยพื้นที่คลังสินค้าของบริษัทโอเพคทา ส่วนสำนักงาน และส่วน อัคเตอร์เฮอวส์ ไม่มีการตกแต่งภายใน เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเดินผ่านห้องต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ของส่วนตัวบางอย่างของผู้อยู่อาศัยเดิมยังคงประดับอยู่เช่นเดิม เช่นรูปภาพดารานักแสดงซึ่งอันเนอทากาวปิดไว้บนผนัง ขีดบนผนังที่ออทโทบันทึกส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นของลูกสาวทั้งสอง และแผนที่บนผนังที่เขาบันทึกการเคลื่อนที่คืบหน้าของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ปัจจุบันทั้งหมดมีกระดาษใสเคลือบเอาไว้เพื่อรักษาสภาพ จากห้องเล็ก ๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของเปเตอร์ ฟัน แป็ลส์ มีทางเดินเชื่อมต่อกับอาคารข้างเคียง มูลนิธิได้ซื้ออาคารนั้นไว้ด้วย ปัจจุบันใช้เก็บรักษาหนังสือบันทึก และจัดนิทรรศการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงความโหดร้ายทารุณในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงอัมสเตอร์ดัม ในปี พ.ศ. 2548 จำนวนผู้เยี่ยมชมก็สูงกว่า 965,000 คน อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ ยังเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมที่ไม่สะดวกจะเดินทางมายังอัมสเตอร์ดัม ในปี พ.ศ. 2548 มีการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ในประเทศต่าง ๆ 32 ประเทศ ทั้งในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้[24]

 
รูปปั้นของอันเนอ ฟรังค์ สร้างโดยมารี แอนดรีสเซน ที่แว็สเตอร์แกร์ก กรุงอัมสเตอร์ดัม

ปี พ.ศ. 2506 ออทโท ฟรังค์ กับภรรยาคนที่สองคือ เอลฟรีเดอ ไกริงเงอร์-มาร์โควิทส์ ได้ก่อตั้ง มูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ ขึ้นในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มูลนิธิจัดหาเงินทุนเพื่อบริจาคแก่การกุศล "ตามที่เห็นว่าเหมาะสม" หลังจากออทโทเสียชีวิต เขาแสดงความจำนงจะยกลิขสิทธิ์ในหนังสือบันทึกให้แก่มูลนิธิ โดยที่เงินส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ส่วนแรกจำนวน 80,000 ฟรังก์สวิสจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทของเขาก่อนในทุก ๆ ปี เงินส่วนที่เหลือให้มูลนิธินำไปช่วยเหลือโครงการการกุศลต่าง ๆ ได้ตามที่ผู้บริหารมูลนิธิเห็นว่าสมควร มูลนิธินำเงินไปช่วยเหลือโครงการทางการแพทย์ของสหประชาชาติเป็นประจำทุกปี ทั้งยังให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ ต่อต้านการทารุณกรรม และยังให้ยืมเอกสารต้นฉบับบางส่วนไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การล้างเผ่าพันธุ์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2546 รายงานประจำปีในปีนั้นยังแสดงให้เห็นความพยายามของมูลนิธิที่จะกระตุ้นจิตสำนึกโดยรวมของทั้งโลก โดยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี อิสราเอล อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา[25]

สำหรับห้องพักอาศัยเดิมที่จัตุรัสแมร์เวเดอซึ่งครอบครัวฟรังค์เคยอาศัยอยู่ระหว่างปี 2476 ถึง 2485 ยังคงอยู่โดยมีเจ้าของครอบครอง จนกระทั่งถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 สารคดีทางโทรทัศน์รายการหนึ่งจับประเด็นที่อาคารแห่งนี้ว่าสมควรได้รับการเอาใจใส่จากสาธารณะ เนื่องจากชำรุดทรุดโทรมไปมาก องค์กรบ้านอยู่อาศัยของเนเธอร์แลนด์แห่งหนึ่งได้ซื้อห้องพักอาศัยนี้ไปในเวลาต่อมา แล้วปรับปรุงให้กลับคืนสภาพเดิมโดยอาศัยภาพถ่ายเก่าแก่ของครอบครัวฟรังค์ ประกอบกับคำบอกเล่าถึงลักษณะภายในห้องพักที่ปรากฏในจดหมายจำนวนหนึ่งซึ่งเขียนโดยอันเนอ ฟรังค์ ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์อันเนอ ฟรังค์ คือ เตเรซีน ดา ซิลวา กับญาติของครอบครัวฟรังค์คือ แบร์นฮาร์ด "บัดดี" เอลิยัส ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูห้องพักในครั้งนี้ด้วย ห้องพักอาศัยเปิดขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่อันปลอดภัยสำหรับนักเขียนที่ไม่สามารถเขียนเรื่องราวได้อย่างปลอดภัยที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเอง นักเขียนที่ผ่านการคัดสรรแล้วสามารถมาพำนักที่ห้องพักนี้เป็นเวลา 1 ปีเพื่อสร้างงานของเขา นักเขียนคนแรกที่ได้รับเลือกให้มาพำนักคือกวีและนักประพันธ์ชาวแอลจีเรีย ชื่อ El-Mahdi Acherchour[24]

 
ต้นไม้ของอันเนอ ฟรังค์ ในสวนด้านหลังพิพิธภัณฑ์ อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 "บัดดี" เอลิยัส บริจาคเอกสารของตระกูลกว่า 25,000 ชิ้นให้แก่พิพิธภัณฑ์อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ ในเอกสารเก่าแก่เหล่านั้นมีภาพถ่ายของครอบครัวฟรังค์ทั้งในเยอรมนีและในฮอลแลนด์ รวมถึงจดหมายที่ออทโท ฟรังค์ เขียนไปถึงมารดาในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแจ้งข่าวว่าภรรยาและลูก ๆ ของเขาเสียชีวิตแล้วในค่ายกักกันของนาซี[26]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 มีการตกลงกันให้ตัดต้นไม้ของอันเนอ ฟรังค์ เพื่อป้องกันการโค่นลงทับอาคารข้างเคียง เนื่องจากรากต้นไม้ติดเชื้อราอย่างหนักและอาจล้มได้ทุกเมื่อ อาร์โนลด์ เฮร์เจอ นักเศรษฐศาสตร์ชาวดัตช์ซึ่งต้องหลบซ่อนตัวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน[27] กล่าวถึงต้นไม้นี้ว่า "มันไม่ใช่เพียงต้นไม้ธรรมดา ต้นไม้ของอันเนอ ฟรังค์ เป็นศูนย์รวมการถูกทรมานของชาวยิว"[28] มูลนิธิต้นไม้ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อนุรักษ์ต้นไม้พยายามรณรงค์เพื่อป้องกันมิให้โค่นต้นเกาลัดต้นนี้ มีสื่อสากลให้ความสนใจเป็นอันมาก ศาลแห่งเนเธอร์แลนด์สั่งให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้อนุรักษ์หาข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ มาเสนอเพื่อหาข้อยุติ[29] ในที่สุดทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยสร้างโครงสร้างเหล็กประคองต้นไม้ไว้ ซึ่งจะช่วยยืดอายุไปได้อีกอย่างน้อย 15 ปี[28]

ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์เกี่ยวกับอันเนอ ฟรังค์ มากมาย ชีวิตและงานเขียนของเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มศิลปินและนักวิจารณ์สังคม มีการอ้างถึงเธอในแวดวงวรรณกรรม ดนตรี โทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ มากมาย ปี พ.ศ. 2542 นิตยสารไทมส์ ยกย่องอันเนอ ฟรังค์ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ในหมวดวีรบุรุษและสัญลักษณ์ โดยระบุว่า "แม้หนังสือจะเก็บไว้เป็นความลับ แต่เธอมิได้หวาดเกรงพวกนาซีเลย กลับส่งเสียงอันอ่อนล้าออกไปก่อแรงใจให้ต่อสู้เพื่อเกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์"[30]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

หมายเหตุ

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 เมลิสซา มึลเลอร์. Anne Frank: The Biography Macmillan, 1998. ISBN 0-8050-5996-2
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 แครอล แอนน์ ลี (2000). The Biography of Anne Frank - Roses from the Earth. Viking. ISBN 0-7089-9174-2.
  3. van der Rol, Ruud; Verhoeven, Rian (for the Anne Frank House) ; Quindlen, Anna (Introduction) ; Langham, Tony & Peters, Plym (translation) (1995). Anne Frank - Beyond the Diary - A Photographic Remembrance. Puffin. ISBN 0-14-036926-0.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 อันเนอ ฟรังค์; ซูซัน แมสซอตตี (แปล) ; เรียบเรียงโดยออทโท ฮา. ฟรังค์ และเมียร์ยัม เพรสเลอร์ (1995). The Diary of a Young Girl - The Definitive Edition. Doubleday. ISBN 0-553-29698-1. (ฉบับแปลใหม่ซึ่งรวบรวมข้อมูลเพิ่มขึ้นจากฉบับพิมพ์ก่อนหน้า)
  5. ดาฟิด บาร์เนา และแคร์โรลด์ ฟัน เดอร์สโตรม (2003-04-25). "ใครหักหลังอันเนอ ฟรังค์? เก็บถาวร 2007-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" (PDF). Netherlands Institute for War Documentation, Amsterdam. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-12. (อังกฤษ)
  6. 6.0 6.1 ฮันส์ แว็สตรา; แม็นโน แม็ตเซอลาร์; รืด ฟัน เดอร์โรล; ดีเนเกอ สตัม (2004). Inside Anne Frank's House: An Illustrated Journey Through Anne's World. Overlook Duckworth. ISBN 1-58567-628-4.
  7. "Anne Frank Life & Times เก็บถาวร 2008-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Anne Frank Center (2003). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-02-02.
  8. "Typhus". Betrayed 5. Anne Frank Stichting. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-02-02.
  9. "Holocaust Encyclopedia - The Netherlands". The United States Holocaust Memorial Museum. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-27.
  10. ยัน โรไมน์. "The publication of the diary: reproduction of Jan Romein's Het Parool article Kinderstem". พิพิธภัณฑ์อันเนอ ฟรังค์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-25.
  11. 11.0 11.1 Frank, Anne and Netherlands State Institute for War Documentation, น. 102
  12. ราล์ฟ บลูเมนทัล (1998-09-10). "Five precious pages renew wrangling over Anne Frank.", นิวยอร์กไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-25.
  13. ไมเยอร์ เลวิน (1952-06-15). "The child behind the secret door; An Adolescent Girl's Own Story of How She Hid for Two Years During the Nazi Terror[ลิงก์เสีย]", บทวิจารณ์หนังสือ จากนิวยอร์กไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-19.
  14. เจค็อบ บี. มิคาเอลเซน. "Remembering Anne Frank เก็บถาวร 2005-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Judaism (ฉบับฤดูใบไม้ผลิ 1997). เก็บข้อมูลเมื่อ 17 มีนาคม 2006.
  15. จอห์น เบอร์รีแมน. "The Development of Anne Frank" ใน Solotaroff-Enzer, Sandra and Hyman Aaron Enzer (2000). Anne Frank: Reflections on her life and legacy. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอิลลินอย, p. 78.
  16. ลอเรนซ์ เกรเวอร์. "One Voice Speaks for Six Million: The uses and abuses of Anne Frank's diary เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Yale Holocaust Encyclopedia. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-19.
  17. ความเห็นของสตรีหมายเลขหนึ่ง, Elie Wiesel Humanitarian Awards, New York City เก็บถาวร 2011-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. จากเว็บไซต์ Clinton4.nara.gov, 14 เมษายน 1994. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-02.
  18. ปาฐกถาโดยประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ในพิธีเปิดงานนิทรรศการอันเนอ ฟรังค์ ที่พิพิธภัณฑ์แอฟริกา เก็บถาวร 2007-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. African National Congress, 15 สิงหาคม 1994. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-02.
  19. "Reaction decease Simon Wiesenthal". Anne Frank House (20 กันยายน 2005). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  20. รอเจอร์ โรเซนแบลตต์ (14 มิถุนายน 1999). "TIME 100: Heroes & Icons of the 20th century, Anne Frank เก็บถาวร 2009-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", นิตยสารไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-01.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 "What did Otto Frank do to counter the attacks on the authenticity of the diary? Question 7 on the authenticity of the diary of Anne Frank". Anne Frank House. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  22. รอแบร์ โฟรีซง (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2000). "The Diary of Anne Frank: is it genuine?". Journal of Historical Review. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-13.
  23. "Publicity about Anne Frank and her Diary: Ten questions on the authenticity of the diary of Anne Frank". Anne Frank House. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-01.
  24. 24.0 24.1 "Anne Frank House, รายงานประจำปี 2005 เก็บถาวร 2008-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" (PDF). Anne Frank House (มีนาคม 2006). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  25. "Anne Frank-Fonds: รายงานประจำปี 2003 เก็บถาวร 2012-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Anne Frank House (1 กรกฎาคม 2004). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  26. อาร์เทอร์ แมกซ์ (2007-06-25). "Anne Frank's cousin donates family files", วอชิงตันโพสต์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-02.
  27. ฟิลิป เดอ วิตต์ วิเนน (2008-07-03). "Arnold Heertje-Echte economie". nrc•next. PCM Uitgevers. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.
  28. 28.0 28.1 เอมมา โทมัสสัน; ริชาร์ด บาล์มฟอร์ธ (2008-01-23). "Plan agreed to save Anne Frank tree from the axe", www.reuters.com, สำนักข่าวรอยเตอร์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.
  29. กิลเบิร์ต ครีเจอร์ (2007-11-20). "Dutch court saves Anne Frank tree from the chop", www.reuters.com, สำนักข่าวรอยเตอร์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.
  30. รอเจอร์ โรเซนแบลตต์ (1999-06-14). "Anne Frank เก็บถาวร 2009-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Time 100 เก็บถาวร 2013-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. นิตยสารไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.

บรรณานุกรม

แก้
หนังสือ
  • Barnouw, David; Van Der Stroom, Gerrold, บ.ก. (2003). The Diary of Anne Frank: The Revised Critical Edition. New York: Doubleday. ISBN 0-385-50847-6.
  • Berryman, John (2000) [1999]. "The Development of Anne Frank". ใน Enzer, Hyman Aaron; Solotaroff-Enzer, Sandra (บ.ก.). Anne Frank: Reflections on her life and legacy. Urbana: University of Illinois Press. ISBN 978-0-252-06823-2.
  • Bigsby, Christopher (2006). Remembering and Imagining the Holocaust: The Chain of Memory. New York: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-86934-8.
  • Enzer, Hyman Aaron; Solotaroff-Enzer, Sandra, บ.ก. (20 December 1999). Anne Frank: Reflections on Her Life and Legacy. Urbana: University of Illinois Press. ISBN 978-0-252-06823-2.
  • Frank, Anne (1995) [1947]. Frank, Otto H.; Pressler, Mirjam (บ.ก.). Het Achterhuis [The Diary of a Young Girl – The Definitive Edition] (ภาษาดัตช์). Massotty, Susan (translation). Doubleday. ISBN 0-553-29698-1.; This edition, a new translation, includes material excluded from the earlier edition.
  • Frank, Anne (1989). The Diary of Anne Frank, The Critical Edition. Netherlands State Institute for War Documentation. New York: Doubleday. ISBN 978-0-385-24023-9.
  • Frank, Anne; Holmer, Per (2005). Anne Franks dagbok : den oavkortade originalutgåvan : anteckningar från gömstället 12 juni 1942 – 1 augusti 1944 [Anne Frank's Diary: The Unabridged Original Edition: Notes From the Hiding Place] (ภาษาสวีเดน). Stockholm: Norstedt. ISBN 978-91-1-301402-9.
  • Konig, Nanette (2018). Holocaust Memoirs of a Bergen-Belsen Survivor, Classmate of Anne Frank. Amsterdam Publishers. ISBN 9789492371614.
  • Lee, Carol Ann (2000). The Biography of Anne Frank – Roses from the Earth. London: Viking Press. ISBN 978-0-7089-9174-9.
  • Lindwer, Willy (1988). The Last Seven Months of Anne Frank. Netherlands: Gooi & Sticht.
  • Müller, Melissa (1999) [1998]. Das Mädchen Anne Frank [Anne Frank: The Biography] (ภาษาเยอรมัน). Kimber, Rita and Robert (translators). New York: Henry Holt and Company. ISBN 978-0-7475-4523-1. OCLC 42369449.; With a note from Miep Gies
  • Müller, Melissa (2013) [1998]. Anne Frank: The Biography (ภาษาเยอรมัน). New York: Henry Holt and Company. ISBN 978-0-8050-8731-4.
  • Prose, Francine (2009). Anne Frank: The Book, the Life, the Afterlife. New York: HarperCollins. ISBN 978-0-06-143079-4.
  • Rosow, La Vergne (1996). Light 'n Lively Reads for ESL, Adult, and Teen Readers: A Thematic Bibliography. Englewood, Colo: Libraries Unlimited. p. 156. ISBN 978-1-56308-365-5.
  • van der Rol, Ruud; Verhoeven, Rian (1995). Anne Frank – Beyond the Diary – A Photographic Remembrance. Langham, Tony & Peters, Plym (translation). New York: Puffin. ISBN 978-0-14-036926-7.
  • Verhoeven, Rian (2019). Anne Frank was niet alleen. Het Merwedeplein 1933–1945. Amsterdam: Prometheus. ISBN 9789044630411.
  • Westra, Hans; Metselaar, Menno; Van Der Rol, Ruud; Stam, Dineke (2004). Inside Anne Frank's House: An Illustrated Journey Through Anne's World. Woodstock: Overlook Duckworth. ISBN 978-1-58567-628-6.
ออนไลน์

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้