แองกวิลลา
18°13′14″N 63°4′7″W / 18.22056°N 63.06861°W แองกวิลลา (อังกฤษ: Anguilla, ออกเสียง: /æŋˈɡwɪlə/) เป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรในทะเลแคริบเบียน หนึ่งในกลุ่มเกาะที่อยู่ทางเหนือสุดของหมู่เกาะลีเวิร์ดในภูมิภาคเลสเซอร์แอนทิลลิส แองกวิลลาประกอบด้วยเกาะหลักแองกวิลลายาว 26 กิโลเมตร (16 ไมล์) กว้าง 5 กิโลเมตร (3 ไมล์) และกลุ่มเกาะเล็ก ๆ ซึ่งไม่มีคนอาศัยอย่างถาวร เมืองหลักของดินแดนแห่งนี้คือเดอะแวลลีย์ (The Valley) มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 102 ตารางกิโลเมตร (39.4 ตารางไมล์) และมีประชากรใน พ.ศ. 2560 ประมาณ 14,764 คน[1]
แองกวิลลา Anguilla (อังกฤษ) | |
---|---|
คำขวัญ: "Strength and Endurance" (ความเข้มแข็งและความอดทน) | |
เมืองหลวง | เดอะแวลลีย์ |
เมืองใหญ่สุด | เดอะแวลลีย์ |
ภาษาราชการ | ภาษาอังกฤษ |
การปกครอง | อาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร |
• ประมุข | สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 |
ดิเลนิ แดเนียล-เซลวาร์แนม | |
ออสบอร์น เฟลมมิง | |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภาแองกวิลลา |
ยังไม่ได้รับเอกราช | |
พ.ศ. 2523 | |
พื้นที่ | |
• รวม | 102 ตารางกิโลเมตร (39 ตารางไมล์) (220) |
น้อยมาก | |
ประชากร | |
• พ.ศ. 2560 ประมาณ | 14,764[1] |
• สำมะโนประชากร พ.ศ. 2554 | 13,452 |
132 ต่อตารางกิโลเมตร (341.9 ต่อตารางไมล์) (n/a) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | พ.ศ. 2547 (ประมาณ) |
• รวม | 108.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ |
• ต่อหัว | 8,800 ดอลลาร์สหรัฐ |
สกุลเงิน | ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (XCD) |
เขตเวลา | UTC-4 |
ขับรถด้าน | ซ้ายมือ |
รหัสโทรศัพท์ | 1 264 |
โดเมนบนสุด | .ai |
|
ภูมิศาสตร์
แก้แองกวิลลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเปอร์โตริโก เป็นเกาะปะการังและหินปูนที่มีลักษณะราบ ดินโดยทั่วไปไม่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับพืชพรรณเตี้ย ๆ เท่านั้น โดยนอกจากตัวเกาะแองกวิลลาเองแล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังมีเกาะและเกาะปริ่มน้ำ (cays) อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและไม่มีผู้อยู่อาศัย ตัวอย่างเช่น
- เกาะแองกวิลลิตา (Anguillita)
- เกาะด็อก (Dog Island)
- หมู่เกาะพริกลีแพร์ (Prickly Pear Cays)
- เกาะสกรับ (Scrub Island)
- เกาะซีล (Seal Island)
- เกาะซอมเบรโร (Sombrero) หรือเกาะแฮต (Hat Island)
- เกาะแซนดี (Sandy Island)
ภูมิอากาศ
แก้แองกวิลลามีภูมิอากาศเขตร้อน แม้ว่าจะมีอากาศค่อนข้างแห้งแต่ก็ไม่รุนแรงเกินไปเนื่องจากมีลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน อุณหภูมิตลอดทั้งปีมีความแตกต่างกันเล็กน้อย พิสัยอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันเฉลี่ยตั้งแต่ประมาณ 27 องศาเซลเซียส (80 องศาฟาเรนไฮต์) ในเดือนธันวาคม ถึง 30 องศาเซลเซียส (86 องศาฟาเรนไฮต์) ในเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนไม่คงที่ โดยเฉลี่ยประมาณ 90 เซนติเมตร (35 นิ้ว) ต่อปี เดือนที่ฝนชุกมากที่สุดได้แก่ เดือนกันยายนและเดือนตุลาคม ส่วนเดือนที่แห้งที่สุดได้แก่ เดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม นอกจากนี้ แองกวิลลายังได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน (โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคม)
ประวัติศาสตร์
แก้ผู้เข้ามาตั้งรกรากในแองกวิลลากลุ่มแรกเป็นชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันที่เดินทางมาจากทวีปอเมริกาใต้ (เช่น เผ่าอาราวัก) สิ่งประดิษฐ์ของชนพื้นเมืองในยุคแรกสุดนั้นมีอายุย้อนไปได้ประมาณ 1,300 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนร่องรอยการตั้งถิ่นฐานมีอายุย้อนไปถึงปี ค.ศ. 600[2] วันที่ที่ชาวยุโรปค้นพบแองกวิลลานั้นยังไม่ทราบแน่ชัด บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าโคลัมบัสเห็นเกาะแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1493 ในขณะที่บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าเกาะแห่งนี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดยชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1564 หรือ 1565[3] ชื่อแองกวิลลา (Anguilla) มาจากคำที่แปลว่า "ปลาไหล" ในภาษาโรมานซ์หลายภาษา [ภาษาสเปน: "อังกีลา" (anguila) ; ภาษาฝรั่งเศส: "อองกีย์" (anguille) ; ภาษาอิตาลี: "อังกวิลลา" (anguilla)] และที่เรียกเช่นนี้อาจจะมาจากรูปร่างของเกาะที่คล้ายปลาไหลก็เป็นได้
แองกวิลลาถูกยึดครองเป็นอาณานิคมครั้งแรกโดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษจากเกาะเซนต์คิตส์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1650 ผู้ที่เข้ามาถึงเกาะนี้ในเวลาเดียวกันกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ชาวยุโรปจากเกาะแอนติกาและเกาะบาร์เบโดส เป็นไปได้ว่าบางคนได้นำทาสจากแอฟริกาเข้าไปด้วย นักประวัติศาสตร์ยืนยันว่าทาสชาวแอฟริกาอาศัยในภูมิภาคแคริบเบียนแห่งนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เช่น ชาวแอฟริกาจากเซเนกัลอาศัยอยู่ในเกาะเซนต์คริสโตเฟอร์ (ปัจจุบันคือเกาะเซนต์คิตส์) ในปี ค.ศ. 1626 และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1672 มีสถานีทาสตั้งอยู่บนเกาะเนวิสแล้ว โดยจะส่งไปยังเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะลีเวิร์ด และแม้ว่าช่วงเวลาที่ชาวแอฟริกาเข้ามาที่แองกวิลลานั้นจะยากต่อการระบุลงไปอย่างแน่นอน แต่ก็มีหลักฐานบ่งชี้ถึงการปรากฏตัวของชาวแอฟริกากลุ่มหนึ่ง (อย่างน้อย 100 คน) บนเกาะเมื่อถึงปี ค.ศ. 1683
ดินแดนแห่งนี้ปกครองโดยอังกฤษ (ซึ่งต่อมาคือสหราชอาณาจักร) จนกระทั่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดินแดนแห่งนี้ก็ถูกรวมเข้ากับเกาะเซนต์คิตส์และเกาะเนวิสเป็นเขตสังกัดของอังกฤษเพียงเขตเดียวโดยขัดกับความต้องการของคนในท้องถิ่น หลังจากเกิดการกบฏสองครั้งในปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) และ ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) รวมทั้งการประกาศตนเป็นสาธารณรัฐเอกราชในช่วงสั้น ๆ ซึ่งนำโดยโรนัลด์ เว็บสเตอร์ การปกครองจากอังกฤษจึงได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่เมื่อปี ค.ศ. 1969 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) แองกวิลลาจึงมีฐานะเป็นเขตสังกัดของอังกฤษแยกต่างหาก (ปัจจุบันเรียกว่า ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร)
การเมือง
แก้นิติบัญญัติ
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
บริหาร
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ตุลาการ
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อำนาจในการพิจารณาไต่สวน อยู่ภายใต้อำนาจของศาลสูงสุดแคริบเบียนตะวันออก ("en:Eastern Caribbean Supreme Court") โดยมีผู้พิพากษา 1 คน ประจำอยู่ในแองกวิลลา
เศรษฐกิจ
แก้ชั้นดินที่บางและแห้งแล้งของเกาะแองกวิลลาไม่เหมาะสมต่อการเกษตร และตัวเกาะก็มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยมาก อุตสาหกรรมหลักได้แก่ การท่องเที่ยว การจัดการและการตั้งบรรษัทข้ามชาติ การธนาคารข้ามชาติ และการประมง ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจการเงินหลายแห่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในแองกวิลลา เศรษฐกิจของแองกวิลลาขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวซึ่งกลายเป็นการพัฒนาหลักด้วยความร่วมมือจากบริษัทระหว่างชาติหลายแห่ง การเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวนี้เริ่มขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2548-2549 โดยได้รับการกระตุ้นตลอดปี พ.ศ. 2550 และมีการคาดหวังให้ดำเนินอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี
หน่วยเงินของแองกวิลลาคือ ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (East Caribbean dollar) แต่ก็มีการใช้หน่วยเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างกว้างขวางเช่นกัน
ประชากรศาสตร์
แก้เชื้อชาติ
แก้ประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90.08) เป็นคนผิวดำ ซึ่งเป็นลูกหลานของทาสที่ถูกส่งมาจากแอฟริกา ชนกลุ่มน้อยที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นได้แก่ คนผิวขาว (ร้อยละ 3.74) และประชากรผสม (ร้อยละ 4.65) (ตัวเลขจากการสำรวจสำมะโนประชากร พ.ศ. 2544)
ร้อยละ 72 ของประชากรเป็นชาวแองกวิลลา ในขณะที่ร้อยละ 28 ไม่ใช่ชาวแองกวิลลา โดยส่วนใหญ่เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เซนต์คิตส์และเนวิส สาธารณรัฐโดมินิกัน จาเมกา และไนจีเรียอีกเล็กน้อย
ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550 มีแรงงานชาวจีน ชาวอินเดีย และชาวเม็กซิโกเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยทำงานในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากประชากรท้องถิ่นมีจำนวนไม่มากพอต่อความต้องการแรงงาน
ภาษา
แก้ทุกวันนี้ประชากรส่วนใหญ่ของแองกวิลลาพูดภาษาอังกฤษที่ได้รับอิทธิพลจากสำเนียงบริติช ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธภาษา (การแปร) ของภาษาอังกฤษ "มาตรฐาน" นอกจากนี้ภาษาอื่น ๆ ก็พูดกันในดินแดนนี้เช่นกัน ได้แก่ วิธภาษาของภาษาสเปน ภาษาจีน และภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ภาษาที่ใช้มากที่สุดนอกจากภาษาอังกฤษแล้วก็ได้แก่ ภาษาครีโอลที่เป็นของเกาะนี้เอง (คนละภาษากับภาษาครีโอลที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาฝรั่งเศสซึ่งใช้พูดกันในเฮติและเซนต์ลูเชีย) ภาษานี้มีชื่อเรียกในท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น "dialect" (ออกเสียง "dialec") หรือ "Anguillian" โดยมีรากศัพท์หลัก ๆ มาจากภาษาอังกฤษและภาษาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกหลายภาษา รวมทั้งมีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นในเกาะต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษทั่วภูมิภาคแคริบเบียนตะวันออก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "การประเมินประชากรโลก พ.ศ. 2560". ESA.UN.org (custom data acquired via website). United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division. สืบค้นเมื่อ 10 September 2017.
- ↑ Caribbean Islands, Sarah Cameron (Footprint Travel Guides) , p. 466 (Google Books)
- ↑ Anguilla's History เก็บถาวร 2007-09-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Government of Anguilla website
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้เว็บไซต์ทางการ
- Government of Anguilla - เว็บไซต์ทางการรัฐบาลแองกวิลลา
- The Anguilla Experience - สิ่งพิมพ์เผยแพร่ทางการของคณะกรรมการการท่องเที่ยวแองกวิลลา
- The Anguilla Hotel and Tourism Association เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - เว็บไซต์ทางการสมาคมการท่องเที่ยวและการโรงแรมแองกวิลลา
- Anguilla Guide เก็บถาวร 2008-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - สิ่งพิมพ์เผยแพร่ทางการของสมาคมการท่องเที่ยวและการโรงแรมแองกวิลลา
ข่าวและสื่อมวลชน
- The Anguillian - หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของแองกวิลลา
- Anguilla Life News Talk - แหล่งข่าวออนไลน์ในแองกวิลลา
เว็บศูนย์รวม
- Anguilla - เว็บศูนย์รวมว่าด้วยเรื่องโลกของหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน
- Anguilla เก็บถาวร 2016-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - ข้อมูลเกี่ยวกับแองกวิลลา จากเว็บไซต์ CIA