แพทย์ประจำบ้าน (อังกฤษ: residency) เป็นลำดับขั้นหนึ่งของการศึกษาหลังปริญญาของแพทยศาสตรศึกษา แพทย์ประจำบ้านเป็นผู้ที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตแล้วและกำลังปฏิบัติงานด้านการแพทย์เฉพาะทางภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์การศึกษาของแพทย์ประจำบ้านต่างๆ การศึกษาในระดับแพทย์ประจำบ้านมักต้องผ่านการเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์ใช้ทุน (internship) มาก่อน หรืออาจผนวกระยะของแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นชั้นปีแรกของการศึกษาระดับแพทย์ประจำบ้านก็ได้ หลังจากการศึกษาระดับนี้แล้วผู้เรียนมักศึกษาต่อเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (fellowship) เพื่อศึกษาการแพทย์เฉพาะทางย่อยต่อไป

แม้ว่าโรงเรียนแพทย์จะได้สอนแพทย์ให้รู้กว้างขวางเกี่ยวกับความรู้ทางการแพทย์ทั่วไป ทักษะทางคลินิกพื้นฐาน และประสบการณ์ทางการแพทย์ก็ตาม แต่การศึกษาของแพทย์ประจำบ้านนี้จะฝึกในเชิงลึกเกี่ยวกับการแพทย์เฉพาะทาง อันได้แก่ วิสัญญีวิทยา อายุรศาสตร์ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา กุมารเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู รังสีวิทยา ศัลยศาสตร์ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน นิติเวชศาสตร์ พยาธิวิทยา ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ เป็นต้น หลักสูตรในประเทศไทยของแพทย์ประจำบ้านนั้นโดยทั่วไปมักมีระยะเวลาประมาณ 3-5 ปีตามแต่ละสถาบันและแต่ละสาขาวิชา หลังจากนั้นต้องเข้าสอบเพื่อรับวุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากราชวิทยาลัยต่าง ๆ ตามสาขาของแพทย์เฉพาะทางนั้น

ที่มาของคำ

แก้

คำว่า แพทย์ประจำบ้าน แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า resident หรือ registrar มาจากการที่แพทย์ประจำบ้านโดยทั่วไปต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในโรงพยาบาลเพื่อปฏิบัติงานซึ่งมีสำนวนภาษาอังกฤษว่า in house โดยรวมแล้วแพทย์ประจำบ้านทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยภายใต้การควบคุมและรับผิดชอบของอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาล

แพทย์ประจำบ้านอาวุโส (senior residents หรือ chief residents) หมายถึงแพทย์ประจำบ้านที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านปีสุดท้าย หรืออาจหมายถึงแพทย์ประจำบ้านที่ทำหน้าที่ตรวจตรากิจกรรมต่าง ๆ บนหอผู้ป่วยหรือเป็นที่ปรึกษาและสอนแพทย์ประจำบ้านคนอื่น

สถาบันที่เปิดอบรมแพทย์ประจำบ้านในประเทศไทย

แก้

สถาบันที่เปิดอบรมแพทย์ประจำบ้านในประเทศไทยมีหลายแห่ง บางแห่งเปิดอบรมเฉพาะบางสาขาขึ้นอยู่กับขอบเขตงานบริการและศักยภาพของแต่ละสถาบัน