คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ: Faculty of Medicine, Khon Kaen University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชาลำดับที่ 6 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นโรงเรียนแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศไทย เป็นโรงแพทย์แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาและเป็นแห่งที่ 6 ของประเทศ[2]ถัดจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, คณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่, คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ สงขลานครินทร์ มีสถานที่ปฏิบัติการคือโรงพยาบาลศรีนครินทร์

คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Faculty of Medicine,
Khon Kaen University
ชื่อย่อพ. / MED
สถาปนา9 กันยายน พ.ศ. 2515 (52 ปี)[1]
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณบดีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภัทรพงษ์ มกรเวส
ที่อยู่
วารสารวารสารศรีนครินทร์เวชสาร
สี  สีเขียวใบไม้
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลศรีนครินทร์
เว็บไซต์www.md.kku.ac.th

ประวัติ

แก้

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มการพิจารณาจัดตั้งขึ้นเมื่อในปี พ.ศ. 2511 ศาสตราจารย์ พิมล กลกิจ ได้นำเสนอโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รับหลักการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณารายละเอียด วิธีการดำเนินงาน และได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอิสราเอล ส่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ รวม 5 คน มาจัดการทำ Master plan ของศูนย์แพทยศาสตร์

สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับหลักการ และแต่งตั้งกรรมการพิจารณารายละเอียดการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2514 และรับหลักการโครงร่างการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามที่เสนอกับให้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ซึ่งกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติได้เสนอไปแล้วจนได้บรรจุเข้าใน "แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 3" (พ.ศ. 2515 - 2519) [3]

คณะกรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติ อนุมัติการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2515 และประกาศจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์อย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2515 โดยมีนายแพทย์ กวี ทังสุบุตร รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์[4]

คณะแพทยศาสตร์ เริ่มรับนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 1 ในปี พ.ศ. 2517 โดยคัดจากคณะวิทยาศาสตร์ - อักษรศาสตร์ จำนวน 16 คน เพื่อมาเรียนปีที่สองในคณะแพทยศาสตร์ และเปิดรับสมัครรุ่นที่ 2 เป็นจำนวน 44 คน ในปี พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ ในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเริ่มเปิดบริการผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ อาคารชั่วคราวบริเวณสีฐาน โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นภดล ทองโสภิต ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก[5]

การก่อสร้างโรงพยาบาล

แก้

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518 โดยบริษัท Llewelyn-Davies Weeks Forester-Walkers and Bor. แห่งประเทศอังกฤษ เป็นผู้ออกแบบ และบริษัท Kingston Reynolds Thom & Allardice Limited (KRTA) แห่งประเทศนิวซีแลนด์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และเป็นที่ปรึกษาการวางแผนผังออกแบบสร้างคลังเลือดกลาง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์อาคารโรงพยาบาล ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ (SRINAGARIND HOSPITAL) โรงพยาบาลแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2521 และเริ่มเปิดบริการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ในปัจจุบัน[6]

งานวางศิลาฤกษ์

แก้

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเจิมและทรงพระสุหร่าย พระพุทธชินราชจำลอง ณ พระวิหาร โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์โดยเสด็จด้วย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จมาเบิกพระเนตร และทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระพุทธ ชินราชจำลอง และได้พระราชทานนามว่า "พระพุทธกวี กิตติวรรณ ทังสุบุตร นิมิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น" สถิตย์มังคลากรมุมินทร์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2523[7]

การเปิดโรงพยาบาล

แก้

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเททองหล่อพระรูปสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระศรีนครินทรา ณ บริเวณวัดเบญจมบพิตร โดยใช้เงินที่นักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาใน ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ร่วมกันออกรับบริจาคจากประชาชน โดยการออกขายธงวันมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ได้รวบรวมเงินได้ประมาณ 300,000 บาท เศษ และได้อัญเชิญพระรูปจำลองสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขึ้นพระดิษฐานบนแท่นหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2526[8]

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และได้ทรงแนะนำให้ก่อสร้างอาคารสูงขึ้นกว่าเดิม โดยนายประมวล สภาวสุ ได้สนองต่อพระราชกระแสได้แก้ไขแบบก่อสร้าง อาคารจาก 2 ชั้น เป็น 4 ชั้น และคณะแพทยศาสตร์ ได้ขอพระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่า "อาคาร 89 พรรษาสมเด็จย่า" และในอาคารหลังนี้ ทางคณะได้แบ่งหอผู้ป่วย จำนวน 1 หอ เป็นหอผู้ ป่วยสำหรับสงฆ์อาพาธโดยเฉพาะ โดยการประสานงานกับพระอาจารย์ทูล ขิปปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี และบรรดาศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันจัดหากองทุนถวายแก่หลวงปู่เทศก์ เทศรังสี ซึ่งได้บริจาคเงิน 9 ล้านบาท เป็นงบประมาณซื้อครุภัณฑ์ ส่วนเงินที่เหลือให้จัดเป็นกองทุนดำเนินการหอสงฆ์อาพาธต่อไป และหลวงปู่เทศก์ เทศรังสี ยังได้อนุญาตให้ใช้ชื่อหอ สงฆ์นี้ว่า หองสงฆ์อาพาธ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ (หลวงปู่เทศก์ เทศรังสี) นอกจากนี้ ฯพณฯ ประมวล สภาวสุ, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นี รักษ์พลเมือง, คุณวาริน พูนศิริวงศ์, คุณผานิต พูนศิริวงศ์ และคุณหญิง สุเนตร พงษ์โสภณ ได้จัดการแสดงคอนเสริตและหาเงินบริจาคเพื่อเป็นเงิน กองทุน จัดซื้อุปกรณ์และเครื่องมือ ผ่าตัดเป็นเงินอีก 50 ล้านบาท[9]

สัญลักษณ์

แก้
  • สีประจำคณะ

  สีเขียวใบไม้

ภาควิชา

แก้

หลักสูตร

แก้
หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น[10]
ระดับปริญญาบัณฑิต[11]
ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.)

  • สาขาวิชาแพทยศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
    • (สำหรับผู้ที่ประสงค์ไม่ศึกษาต่อในระดับชั้นปีที่ 4-6)
  • สาขาวิชาเวชนิทัศน์
  • สาขาวิชารังสีเทคนิค
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)
  • สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยาทางการแพทย์
  • สาขาวิชาชีวเคมีทางการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล
  • สาขาวิชาปรสิตวิทยา
  • สาขาวิชาเภสัชวิทยา
  • สาขาวิชาสรีรวิทยาทางการแพทย์
  • สาขาวิชาประสาทวิทยาศาสตร์
  • สาขาวิชาการพัฒนาสุขภาพชุมชน
  • สาขาวิชาอาชีวเวชศาสตร์และอาชีวอนามัย (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาพยาธิวิทยา
  • สาขาวิชารังสีเทคนิค

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ)

  • สาขาวิชาชีวเคมีทางการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล
  • สาขาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน
  • สาขาวิชาเภสัชวิทยา
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
  • สาขาวิชาชีวเคมีทางการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล
  • สาขาวิชาเภสัชวิทยา
  • สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์
  • สาขาวิชาปรสิตวิทยา
  • สาขาวิชาสรีรวิทยาทางการแพทย์
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยาทางการแพทย์
  • สาขาวิชาพยาธิชีววิทยา
  • สาขาวิชาประสาทวิทยาศาสตร์
  • สาขาวิชาการพัฒนาสุขภาพชุมชน

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (นานาชาติ)

  • สาขาวิชาชีวเคมีทางการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล
  • สาขาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน
  • สาขาวิชาเภสัชวิทยา
ระดับประกาศนียบัตร[12]
ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง
ไม่มีการเรียนการสอน หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก
  • สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์
  • สาขาวิชาจักษุวิทยา
  • สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์
  • สาขาวิชาวิสัญญีวิทยา
  • สาขาวิชาศัลยศาสตร์
  • สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
  • สาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
  • สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์
  • สาขาวิชาอายุรศาสตร์
  • สาขาวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • สาขาวิชารังสีวิทยา
  • สาขาวิชาพยาธิวิทยากายวิภาค
  • สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
  • สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

อันดับโลก

แก้

การจัดอันดับของ QS world university ranking by subject

ผลการจัดอันดับ ประจำปี 2021

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย และอันดับที่ 351 - 400 ของโลก[13]

- สาขา Medicine (แพทยศาสตร์)

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันร่วมผลิตแพทย์

แก้
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โรงพยาบาล จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โรงพยาบาล จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี กระทรวงสาธารณสุข

คณบดี

แก้
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กวี ทังสุบุตร

พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2517 (รักษาการแทนฯ)
พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2519
พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2523
พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2527 (รักษาการแทนฯ)

2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ พิสิฏฐ์ สัณฑ์พิทักษ์

พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2520 (รักษาการแทนฯ)
พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2528 (รักษาการแทนฯ)
พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2532
พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2536

3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมบัติ ชัยเพ็ชร พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2521 (รักษาการแทนฯ)
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง เนตรเฉลียว สัณฑ์พิทักษ์ พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2525
5. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วันชัย วัฒนศัพท์ พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2527
6. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นพดล ทองโสภิต พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2528 (รักษาการแทนฯ)
7. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชนินทร์ มหรรฆานุเคราะห์

พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2528 (รักษาการแทนฯ)
พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2528 (รักษาการแทนฯ)

8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อาคม สวัสดิพาณิชย์ พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2528 (รักษาการแทนฯ)
9. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมพร โพธินาม พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2540
10. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ พลศักดิ์ จีระวิพูลวรรณ พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2544
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชาติ อารีมิตร พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2548
12. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2552
13. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิเศก ลุมพิกานนท์ พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2556
14. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2563
15. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2567
16. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภัทรพงษ์ มกรเวส พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี และผู้รักษาการแทนคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

บุคคลที่มีชื่อเสียง

แก้

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ้างอิง

แก้
  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 89, ตอนที่ 144, 28 กันยายน พ.ศ. 2515, ฉบับพิเศษ หน้า 3
  2. แพทยสภา. โรงเรียนแพทย์ภายในประเทศ ที่แพทยสภารับรอง เรียงลำดับ. 18 กุมภาพันธ์ 2565
  3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะแพทยศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 122
  4. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะแพทยศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 122
  5. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะแพทยศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 123
  6. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีเปิด โรงพยาบาลศรีนครินทร์, 15 ธันวาคม 2526
  7. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีเปิด โรงพยาบาลศรีนครินทร์, 15 ธันวาคม 2526
  8. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีเปิด โรงพยาบาลศรีนครินทร์, 15 ธันวาคม 2526
  9. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดอาคาร 89 พรรษาสมเด็จย่า, 24 มกราคม 2537
  10. ระบบฐานข้อมูลหลักสูตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  11. ระบบฐานข้อมูลหลักสูตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  12. ระบบฐานข้อมูลหลักสูตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  13. "QS World University Rankings by Subject 2021: Medicine". Top Universities (ภาษาอังกฤษ).

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้