โรงพยาบาลพระปกเกล้า

โรงพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งบางครั้งเรียกว่า โรงพยาบาลประชาธิปกบรมราชานุสรณ์ เป็นโรงพยาบาลหลักของจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย และจัดอยู่ในประเภทโรงพยาบาลระดับภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทซึ่งจัดอบรมแพทย์ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[1][2]

โรงพยาบาลพระปกเกล้า
Prapokklao Hospital
กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6
แผนที่
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง38 ถนนเลียบเนิน ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 22000, ประเทศไทย
พิกัด12°36′15″N 102°06′08″E / 12.604293°N 102.102341°E / 12.604293; 102.102341
หน่วยงาน
ประเภทภูมิภาค
สังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บริการสุขภาพ
จำนวนเตียง716 เตียง
ประวัติ
ชื่อเดิมโรงพยาบาลจันทบุรี
เปิดให้บริการ24 มิถุนายน พ.ศ. 2483
ลิงก์
เว็บไซต์www.ppkhosp.go.th

ประวัติ แก้

การก่อสร้างโรงพยาบาลเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2480 โดยหลวงนิรนทร์ ประสาทเวชช์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดจันทบุรี อาคารโรงพยาบาลหลังแรกสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2482 โดยมีความจุ 50 เตียง โรงพยาบาลดังกล่าวเปิดเป็นโรงพยาบาลจันทบุรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามตลอดช่วงกรณีพิพาทอินโดจีน และดูแลคนบาดเจ็บกว่า 300 รายจากยุทธนาวีเกาะช้าง ครั้นใน พ.ศ. 2497 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียน และได้ริเริ่มการขยายโรงพยาบาลเพิ่มเติมผ่านกองทุนของราชวงศ์ กระทั่งใน พ.ศ. 2498 หลังจากสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่แล้วเสร็จ โรงพยาบาลนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระปกเกล้าเพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย (ปัจจุบันคือวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า) ได้เปิดดำเนินการที่โรงพยาบาลใน พ.ศ. 2509 และใน พ.ศ. 2519 ทางโรงพยาบาลได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่ออบรมแพทย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD)[3]

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก แก้

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกแห่งแรกของประเทศ โดยเป็นสถาบันสมทบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติ แก้

ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการเจรจากันระหว่างผู้อำนวยการกองฝึกอบรม กระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์กิติ ตยัคคานนท์) และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น (ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์) เรื่องการผลิตแพทย์เพื่อรับใช้ชาวชนบท โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์จะได้แพทย์ทำงานในชนบทมากขึ้นจึงได้มีหนังสือจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ) ขอความร่วมมือให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น โดยรับนิสิตเพื่อจะได้กลับไปทำงานในต่างจังหวัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว เห็นควรร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตแพทย์ดังกล่าว โดยอาศัยแนวคิด อยู่ 2 ประการ คือ

    • จะต้องจัดหลักสูตรเน้นหนักทางชนบท และเรียนในชนบทเพื่อแก้ปัญหาในชนบท ในกรณีนี้การเรียนชั้นคลินิกจำเป็นต้องจัดทำในโรงพยาบาลต่างจังหวัดโดยตลอด
    • ควรใช้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา โดยอาศัยแพทย์และบุคลากรอื่นของโรงพยาบาลเหล่านั้นเป็นผู้สอน ซึ่งจะเป็นวิธีที่มีความสิ้นเปลืองน้อย โดยใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์

กระทรวงสาธารณสุข และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2520และได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2521 [4] จากนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมีประธานร่วม ได้แก่ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ) และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์อมร นนทสุต) โดยมีกรรมการจากทั้งสองฝ่ายรวมอยู่ด้วย

คณะกรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการพิจารณาแผนงาน โดยเสนอชื่อโครงการว่า “โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข” (Medical Education for Students in Rural Area Project-MESRAP) ได้วางโครงร่างการดำเนินการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกนิสิต คณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตร คณะอนุกรรมการแลกเปลี่ยนบุคลากร และคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกสถานที่[5] ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะได้ดำเนินการพิจารณาโครงสร้างและเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีกองฝึกอบรม (สถาบันพระบรมราชชนก ในปัจจุบัน) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเลือกโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เป็นศูนย์การศึกษาภาคคลินิก ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีพิธีเปิด “ศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2525 โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีนายแพทย์ชัยสิทธิ์ ธารากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และเริ่มจัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (the Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor-CPIRD) [6] เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ โดยใน พ.ศ. 2540 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้ง สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เพื่อรับผิดชอบโครงการดังกล่าว สำนักงานนี้มีฐานะเทียบเท่ากองในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้ชื่อย่อว่า “สบพช.”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข คำสั่งที่ 1168/2541 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541ให้จัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ ศูนย์การศึกษาแพทย์ฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า” ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2542 โดยมีนายแพทย์ชัชวาล สมพีร์วงศ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรกจนถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบันศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ดูแลรับผิดชอบการผลิตแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โครงการทุนกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐด้านสาธารณสุข โดยนิสิตแพทย์ในโครงการต่าง ๆ จะศึกษาในชั้นปรีคลินิก ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกลับมาศึกษาในชั้นคลินิก ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ก่อนสำเร็จการศึกษานิสิตแพทย์ทุกคนจะต้องสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อสอบผ่านจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักสูตรระดับปริญญาตรี แก้

  • หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2560)[ต้องการอ้างอิง]

ระยะเวลาในการศึกษา แก้

ใช้ระยะเวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตรรวม 6 ปี ดังนี้

  • ระดับชั้นเตรียมแพทยศาสตร์และปรีคลินิก

นิสิตแพทย์ (ชั้นปี 1 - 3) จะศึกษา ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ระดับชั้นคลินิก

นิสิตแพทย์ (ชั้นปี 4 - 6) จะศึกษาและฝึกภาคปฏิบัติ ณ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า

การรับนิสิตแพทย์เข้าศึกษา แก้

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้านิสิตแพทย์เข้าศึกษาในหลักสูตร แพทยศาสตรบัณฑิต ผ่านโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทและโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน แก้

  • สาขากุมารเวชศาสตร์ โครงการร่วมจุฬาฯ-พระปกเกล้า
  • สาขาอายุรศาสตร์ โครงการร่วมจุฬาฯ-พระปกเกล้า
  • สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "CPIRD". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-02. สืบค้นเมื่อ 2019-09-22.
  2. "ข้อมูลพื้นฐานโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ณ กุมภาพันธ์ 2565". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-27. สืบค้นเมื่อ 2022-05-09.
  3. "ประวัติโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี" (PDF).{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. มติคณะรัฐมนตรี 21 มีนาคม 2521 เรื่อง โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท
  5. มติคณะรัฐมนตรี 18 ธันวาคม 2522 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและคณะอนุกรรมการโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท
  6. มติคณะรัฐมนตรี 7 มิถุนายน 2537 เรื่อง ขออนุมัติโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท

แหล่งข้อมูลอื่น แก้