เอซี มิลาน
สโมสรฟุตบอล เอซี มิลาน (อิตาลี: Associazione Calcio Milan) หรือ เอซี มิลาน (A.C. Milan) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มิลาน จากประเทศอิตาลี ตั้งอยู่เมืองมิลานก่อตั้งใน ค.ศ. 1899[2][3] สโมสรลงเล่นบนลีกสูงสุดของฟุตบอลอิตาลีหรือเซเรียอาเกือบครบทุกฤดูกาลนับตั้งแต่ฤดูกาล 1929–30
![]() | ||||
ชื่อเต็ม | Associazione Calcio Milan | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | "รอสโซเนรี" (แดง-ดำ) "อิลเดียโวโล" (ปีศาจ) "ปีศาจแดง-ดำ" (ในภาษาไทย) | |||
ก่อตั้ง | 13 ธันวาคม ค.ศ.1899[1] | |||
สนาม | ซานซีโร | |||
ความจุ | 80,018 ที่นั่ง | |||
ประธาน | เปาโล สกาโรนี | |||
ผู้จัดการทีม | สเตฟาโน ปิโอลี | |||
ลีก | เซเรียอา | |||
2022–23 | อันดับที่ 4 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
|
เอซี มิลานชนะเลิศถ้วยรางวัลของฟีฟ่าและยูฟ่ารวม 18 ใบ นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดอันดับที่ 1 ในประเทศอิตาลีและเป็นสถิติสูงสุดในบรรดาสโมสรอิตาลี[4][5][6][7] ชนะเลิศอินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 3 สมัย (สถิติสูงสุดร่วม), ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกหนึ่งสมัย,[7] ยูโรเปียนคัพและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 7 สมัย (สถิติสูงสุดของอิตาลี),[7] ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 5 สมัย (สถิติสูงสุดร่วม) และยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 2 สมัย[7] ชนะเลิศเซเรียอา 19 สมัย เป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับที่ 2 ในเซเรียอา ร่วมกับคู่ปรับอย่างอินเตอร์มิลาน และรองจากยูเวนตุส [8] สำหรับการแข่งขันอื่น ๆ ในประเทศ สโมสรชนะเลิศโกปปาอีตาเลีย 5 สมัยและซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 7 สมัย[7]
สนามเหย้าของมิลานคือ ซานซีโร ซึ่งรู้จักกันในชื่อ สตาดีโอจูเซปเปเมอัซซา เป็นสนามเหย้าร่วมกับคู่ปรับร่วมเมืองอย่างอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน และเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี ความจุ 80,000 ที่นั่ง[9] สโมสรเป็นคู่ปรับร่วมเมืองกับอินเตอร์ ซึ่งการพบกันของทั้งคู่ถูกเรียกว่าแดร์บีเดลลามาดอนนีนา นับเป็นหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลดาร์บีที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในอิตาลี[10]
มิลานเป็นหนึ่งในสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในอิตาลี[11] สโมสรเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งจี-14 ซึ่งเป็นกลุ่มของสโมสรฟุตบอลชั้นนำของยุโรป แต่ต่อมาได้ยุบตัวและถูกแทนที่โดยสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป[12]
ประวัติ แก้ไข
AC Milan ย่อมาจาก Associazione Calcio Milan ได้ก่อตั้งสโมสรขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1899 โดยชาวอังกฤษสามคน ได้พูดคุยกันที่ห้องหนึ่งในโรงแรม โฮเตล ดู นอร์ และเกิดความคิดที่จะสร้างสโมสรคริกเกตและฟุตบอลชื่อ “Milan Football and Cricket Club” ซึ่งตอนเริ่มก่อตั้งใหม่ ๆ คลับแห่งนี้เน้นไปที่คริกเกตมากกว่า แต่เมื่อข่าวค่อย ๆแพร่กระจายออกไป ก็มีผู้คนให้การสนับสนุนฟุตบอลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีอัลเฟรด เอ็ดเวิร์ดส์ ทำหน้าที่ประธานสโมสรเป็นคนแรก โดยหลังจากที่ไปขึ้นทะเบียนกับสหภาพฟุตบอลอิตาเลียนแล้ว ทีมก็ได้เข้าร่วมชิงชัยในฟุตบอล รวมทั้งเริ่มสร้างสนามเพื่อใช้ในการเป็นเจ้าบ้าน โดยทำการสร้างสนามที่บริเวณทรอตเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันก็คือ สถานีรถไฟกลางนั่นเอง
นัดเปิดสนามนัดแรกของสโมสรคือ การที่มิลานแข่งกับทีมเมดิโอลานุม ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1900 และมิลานเอาชนะไปได้ 3-0 ซึ่งผู้เล่น 11 คนแรกของสโมสรประกอบไปด้วย ฮู้ด ชิญญากี ตอร์เรตต้า ลีส์ คิลปิน วาเลริโอ ดูบินี เดวีส์ เนวิลล์ อัลลิสัน ฟอร์เมนติ โดยในขณะนั้น เฮอร์เบิร์ต คิลปิน เป็นทั้งหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรและเป็นกัปตันทีมฟุตบอล อีกทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดของทีมในขณะนั้น แต่ทว่าการแข่งขันอย่างเป็นทางการจริง ๆ มิลานกลับแพ้โตริโน 0-3 เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1900
ในปี ค.ศ. 1919 สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Milan Football Club” จากนั้นในปี ค.ศ. 1936 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Milan Associazione Sportiva” ต่อมาในปี ค.ศ. 1938 เปลี่ยนมาเป็น “Associazione Calcio Milano” สุดท้ายเปลี่ยนมาเป็น “Associazione Calcio Milan” ในปี ค.ศ. 1945 และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
เอซี มิลาน ใช้สีแดง-ดำ เป็นสีประจำทีม มีฉายาในภาษาอิตาเลียนว่า “รอสโซเนรี” หรือ “อิล ดิอาโวโล” ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า “ปีศาจแดง-ดำ” และเรียกเหล่ากองเชียร์ของสโมสรว่า “มิลานิสตา”
เอซี มิลาน ใช้สนาม “ซานซีโร” หรือ “สตาดีโอ จูเซ็ปเป เมอัซซา” ซึ่งเป็นสนามประจำเมืองมิลาน มีความจุโดยประมาณ 80,074 คน (ปัจจุบัน) เป็นสนามประจำทีม โดยสนามซานซีโร สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1926 ซึ่งผู้ที่ริเริ่มความคิดคือ ปิเอโร ปิเรลลี ประธานสโมสรของมิลานในขณะนั้น โดยเขาคิดที่จะมอบมันเป็นของขวัญให้กับสโมสร สนามซานซีโร ใช้เวลาในการสร้างทั้งหมด 1 ปี โดยสามารถจุผู้ชมได้ 10,000 ที่นั่ง ต่อมาในปี ค.ศ. 1939 ได้มีการปรับปรุงสนามซานซีโร เพื่อให้สามารถรองรับแฟนบอลที่มาเข้าชมการแข่งขันได้มากขึ้น โดยครั้งนี้ได้เพิ่มจำนวนที่นั่งขึ้นไปเป็น 55,000 ที่นั่ง
ในปี ค.ศ. 1986 ได้มีการปรับปรุงสนามซานซีโร อีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นสนามในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 1990 โดยครั้งนี้ได้มีการสร้างหลังคาที่ทำด้วยไฟเบอร์กลาส และสร้างหอคอยทางขึ้นอีก 11 ด้านเสียใหม่ รวมทั้งเพิ่มความจุของที่นั่ง จากเดิม 5 หมื่นกว่าที่นั่ง ไปเป็น 85,700 ที่นั่ง ซึ่งมีการคาดกันว่า ถ้านับกันจริง ๆแล้ว สนามซานซีโร น่าจะสามารถรองรับผู้ชมได้ถึง 150,000 คน แต่เนื่องจากติดปัญหาในด้านความปลอดภัย สภาเมืองมิลานจึงได้ออกกฎห้ามมิให้มีผู้ชมเกินกว่า 100,000 คน
ในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 บี เตชะอุบล นักธุรกิจชาวไทยได้ซื้อหุ้นของสโมสรบางส่วน โดยที่ประธานสโมสรยังคงเป็นซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี อยู่[13]
ยุคสมัยของสโมสร แก้ไข
ยุคเริ่มก่อตั้งถึงคริสต์ทศวรรษ 1940 แก้ไข
ยุคนี้ถือเป็นยุคมืดของมิลาน โดยตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษ มิลานได้แชมป์อิตาเลียน ฟุตบอล แชมเปียนส์ชิพ หรือกัลโช เซเรีย อา เพียงแค่ 3 สมัยเท่านั้น ในปี 1901, 1906 และ 1907 รองแชมป์ 2 ครั้ง ในปี 1902 และ 1948, รองแชมป์โกปปาอีตาเลีย 1 ครั้ง ในปี 1942 โดยแพ้ให้กับยูเวนตุส นอกจากนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ปล่อยให้เจนัว, โปร แวร์เชลลี, ยูเวนตุส, อินเตอร์, โตรีโน และโบโลญญา ผลัดกันขึ้นครองแชมป์อย่างสนุกมือ โดยนักเตะที่สำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ เฮอร์เบิร์ต คิลปิน, หลุยส์ ฟาน แฮช, อัลโด้ เคเวนินี, จูเซ็ปเป ซานตากอสติโน, อัลโด โบฟฟี, คาร์โล อันโนวาซซี, เรนโซ บูรินี และโอเมโร โตญญอน เป็นต้น
คริสต์ทศวรรษ 1950 แก้ไข
ยุคนี้ มิลานได้แชมป์กัลโช เซเรีย อา ถึง 4 สมัย ในปี 1951, 1955, 1957 และ 1959 รองแชมป์อีก 3 ครั้ง ในปี 1950, 1952 และ 1956 ส่วนในระดับทวีปนั้น มิลานได้เข้าชิงยูโรเปียน คัพ ในปี 1958 แต่แพ้ต่อเรอัลมาดริด ยอดทีมในยุคนั้นไป 2-3 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ โดยนักเตะที่สำคัญในยุคนี้ ได้แก่ สามทหารเสือสวีดิช เกร-โน-ลี อย่างกุนนาร์ เกร็น, กุนนาร์ นอร์ดาห์ล และนิลส์ ลีดโฮล์ม นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายคน เช่น เชซาเร มัลดินี, ฮวน เชียฟฟิโน, ฟรานเชสโก ซากัตติ, อาร์ตูโร ซิลเวสตรี และลอเรนโซ บุฟฟอน เป็นต้น
คริสต์ทศวรรษ 1960 แก้ไข
ยุคนี้ถือเป็นยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของมิลาน โดยมิลานได้แชมป์กัลโช เซเรีย อา 2 สมัย ในปี 1962 และ 1968 รองแชมป์อีก 3 ครั้ง ในปี 1961, 1965 และ 1969, แชมป์โกปปาอีตาเลีย 1 สมัย ในปี 1967 ที่เอาชนะปาโดวา รองแชมป์อีก 1 ครั้ง ในปี 1968 ที่แพ้ต่อโตรีโน, แชมป์ยูโรเปียน คัพ 2 สมัย ในปี 1963 ที่เอาชนะเบนฟิกา ของ"เสือดำแห่งโมซัมบิก" ยูเซบิโอ ไป 2-1 และปี 1969 ที่ถล่มอาแจ็กซ์ ของ"นักเตะเทวดา" โยฮัน ครัฟฟ์ ไปถึง 4-1, แชมป์ยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย ในปี 1968 ที่เอาชนะฮัมบวร์ค และได้แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย โดยเอาชนะเอสตูเดียนเตส ในปี 1969 รองแชมป์อีก 1 ครั้ง ในปี 1963 ที่พ่ายต่อซานโตส ของ"ไข่มุกดำ" เปเล โดยนักเตะที่สำคัญในยุคนี้ ได้แก่ จานนี ริเวรา, โฮเซ อัลตาฟินี, ปิเอริโน ปราติ, อันเจโล ซอร์มานี, จานคาร์โล ดาโนวา, คาร์ล-ไฮนซ์ ชเนลลิงเกอร์, มาริโอ เตรบบี, บรูโน โมรา, โจวานนี โลเดตติ, มาริโอ ดาวิด, โจวานนี ตราปัตโตนี, อันเจโล อันกวิลเลตติ, โรแบร์โต โรซาโต, ลุยจิ ราดิเซ, ดิโน ซานี, จอร์โจ เกซซี และฟาบิโอ คูดิชินี เป็นต้น โดยยอดผู้จัดการทีมของมิลานในยุคนี้คือ เนเรโอ ร็อคโค
คริสต์ทศวรรษ 1970 แก้ไข
ยุคนี้ถือเป็นยุคประคองตัว ความสำเร็จภายในประเทศตกไปเป็นของยูเวนตุสอีกครั้ง ส่วนในระดับยุโรป ก็ไม่สามารถที่จะขึ้นไปทาบรัศมีของอาแจ็กซ์, บาเยิร์น และลิเวอร์พูลได้เลย โดยมิลานได้แชมป์กัลโช เซเรีย อา เพียงแค่ 1 สมัย ในปี 1979 รองแชมป์ 3 ครั้งติดต่อกัน ในปี 1971, 1972 และ 1973, แชมป์โกปปาอีตาเลีย 3 สมัย ในปี 1972, 1973 และ 1977 ที่ชนะนาโปลี, ยูเวนตุส และอินเตอร์ ตามลำดับ รองแชมป์อีก 2 ครั้ง ในปี 1971 ที่แพ้ต่อโตรีโน และในปี 1975 ที่แพ้ต่อฟิออเรนตินา, แชมป์ยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย ในปี 1973 ที่เอาชนะลีดส์ และรองแชมป์ 1 ครั้ง ในปี 1974 ที่แพ้ต่อมักเดบวร์ก นอกจากนี้ ยังได้รองแชมป์ยูโรเปียน ซูเปอร์ คัพ 1 ครั้ง ในปี 1973 โดยที่นัดแรกเล่นในบ้าน เอาชนะอาแจ็กซ์ได้ 1-0 แต่พอไปเยือนกลับโดนอัดกลับมาถึง 6-0 ชวดแชมป์ไปอย่างเจ็บปวด โดยนักเตะที่สำคัญในยุคนี้ ได้แก่ อัลแบร์โต บิกอน, อัลโด มัลเดรา, จูเซ็ปเป ซาบาดินี, อัลโด เบท, เอกิดิโอ คัลโลนี, ฟูลวิโอ โคลโลวาติ, เอ็นริโก อัลแบร์โตซี, โรเมโอ เบเนตติ และรูเบน บูริอานี เป็นต้น
คริสต์ทศวรรษ 1980 แก้ไข
ในช่วงต้นทศวรรษถือเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของสโมสร เมื่อมิลานถูกปรับตกชั้นในปี 1980 จากข้อหาพัวพันกับคดีการล้มบอลของประธานสโมสร เฟลิเซ โคลอมโบ และผู้รักษาประตูของทีมอย่างเอ็นริโก อัลแบร์โตซี ทำให้ทีมต้องลงเล่นในศึกกัลโช เซเรีย บี เป็นครั้งแรก ซึ่งถึงแม้ว่าจะคว้าแชมป์เซเรีย บี ได้ในทันที แต่เมื่อกลับคืนสู่เซเรีย อา ได้เพียงฤดูกาลเดียวก็ต้องตกชั้นอีก อย่างไรก็ตาม มิลานก็สามารถกลับคืนสู่เซเรีย อา ในฐานะแชมป์เซเรีย บี อีกครั้ง ในปี 1983 แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ประธานสโมสร จูเซ็ปเป ฟารินา ได้พัวพันกับคดีทางกฎหมาย จนทำให้เขาตัดสินใจหนีไปอยู่ที่แอฟริกาใต้ พร้อมกับเอาเงินของสโมสรไปด้วย มิลานในขณะนั้นจึงอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย แต่เมื่อมีมหาเศรษฐีที่ชื่อ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการของสโมสรในปี 1986 มิลานก็เริ่มเข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง โดยมิลานได้แชมป์กัลโช เซเรีย อา 1 สมัย ในปี 1988, รองแชมป์โกปปาอีตาเลีย 1 ครั้ง ในปี 1985 ที่แพ้ต่อซามพ์โดเรีย, ได้แชมป์อิตาเลียน ซูเปอร์ คัพ 1 สมัย ในปี 1988 ที่ชนะซามพ์โดเรีย, แชมป์ยูโรเปียน คัพ 1 สมัย ในปี 1989 ที่ถล่มสเตอัว บูคาเรสต์ 4-0, แชมป์ยูโรเปียน ซูเปอร์ คัพ 1 สมัย ในปี 1989 ที่เอาชนะบาร์เซโลนา และได้แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย ในปี 1989 อีกเช่นกัน โดยเอาชนะแอตเลติโก นาซิอองนาล 1-0 ซึ่งนักเตะที่สำคัญในยุคนี้ ได้แก่ สามทหารเสือดัตช์อย่าง มาร์โก ฟาน บาสเทน, รืด คึลลิต และฟรังก์ ไรการ์ด นอกจากนั้นก็ยังมี เปาโล มัลดีนี, ฟรังโก้ บาเรซี, อเลสซานโดร คอสตาคูร์ตา, เมาโร ตัสซอตติ, ฟิลิปโป กัลลี, โจวานนี กัลลี, โรแบร์โต โดนาโดนี, อัลเบริโก เอวานี, คาร์โล อันเชลอตติ, ดานิเอเล มัสซาโร, ปิเอโตร วีร์ดิส และอันเจโล โคลอมโบ เป็นต้น โดยยอดผู้จัดการทีมของมิลานในยุคนี้คือ อาร์ริโก ซาคคี ปรมาจารย์ลูกหนัง ผู้ให้กำเนิดโซนเพรส (เพรสซิง ฟุตบอล)
คริสต์ทศวรรษ 1990 แก้ไข
ยุคนี้ถือเป็นยุคไร้เทียมทาน เป็นยุคทองของสโมสรอย่างแท้จริง โดยมิลานได้ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ไปทั่วโลก โดยได้แชมป์กัลโช เซเรีย อา ถึง 5 สมัย ซึ่งเป็น 3 สมัยติดต่อกันด้วย ในปี 1992, 1993 และ 1994 ซึ่งช่วงเวลานี้เอง ที่มิลานทำสถิติไร้พ่ายในลีกติดต่อกันถึง 58 นัด จากนั้นก็ยังได้แชมป์อีก 2 สมัย ในปี 1996 และ 1999 รองแชมป์ 2 ครั้งติดต่อกัน ในปี 1990 และ 1991, รองแชมป์โกปปาอีตาเลีย 2 ครั้ง ในปี 1990 ที่แพ้ยูเวนตุส และปี 1998 ที่แพ้ให้กับลาซีโอ, ได้แชมป์อิตาเลียน ซูเปอร์ คัพ 3 สมัยติดต่อกัน ในปี 1992, 1993 และ 1994 ที่ชนะปาร์มา, โตรีโน และซามพ์โดเรีย ตามลำดับ รองแชมป์อีก 2 ครั้ง ในปี 1996 ที่พ่ายให้กับฟิออเรนตีนา และปี 1999 ที่พ่ายต่อปาร์มา ส่วนในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก มิลานได้แชมป์ 3 สมัย จากการเข้าชิง 5 ครั้ง ในรอบ 7 ปี โดยนอกจากปี 1989 แล้ว ในปี 1990 เอาชนะเบนฟิกาได้ 1-0 และปี 1994 ที่ถล่มบาร์เซโลนา ซึ่งถือเป็นดรีมทีมในช่วงนั้นไปเละเทะถึง 4-0 รองแชมป์อีก 2 ครั้ง ในปี 1993 ที่พ่ายต่อมาร์กเซย และปี 1995 ที่พ่ายต่ออาแจ็กซ์, แชมป์ยูโรเปียน ซูเปอร์ คัพ 2 สมัย ในปี 1990 ที่ชนะซามพ์โดเรีย และปี 1994 ที่ชนะอาร์เซนอล รองแชมป์ 1 ครั้ง ในปี 1993 ที่พ่ายปาร์มา นอกจากนี้ ยังได้แชมป์สโมสรโลกอีก 1 สมัย ในปี 1990 ที่เอาชนะโอลิมเปีย 3-0 รองแชมป์อีก 2 ครั้ง ในปี 1993 ที่แพ้ต่อเซา เปาโล และปี 1994 ที่แพ้ต่อเบเลซ ซาร์สฟิลด์ โดยนักเตะที่สำคัญในยุคนี้ นอกเหนือจากผู้เล่นที่เหลืออยู่จากช่วงปลายทศวรรษที่ 80 แล้ว ก็ยังมีเพิ่มอีกหลายคน ได้แก่ เซบาสเตียโน รอสซี, เดยัน ซาวิเซวิช, เดเมตริโอ อัลแบร์ตินี, มาร์กแซล เดอไซญี, มาร์โก ซีโมเน, ซโวนีเมียร์ โบบัน, ฌอง-ปิแอร์ ปาแปง, จอร์จ เวอาห์, คริสเตียน ปานุชชี, สเตฟาโน เอรานิโอ, โรแบร์โต บัจโจ, เลโอนาร์โด และโอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ เป็นต้น โดยยอดผู้จัดการทีมของมิลานในยุคนี้ คือ ฟาบิโอ คาเปลโล
ยุคมิลเลนเนียมถึงปัจจุบัน แก้ไข
ยุคนี้ถือเป็นยุคฟื้นฟูความสำเร็จ หลังจากตกต่ำไประยะหนึ่ง
- ฤดูกาล 1999–00
มิลานได้อันดับที่ 3 ในกัลโช เซเรีย อา ในโกปปาอีตาเลีย ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยพ่ายให้กับอินเตอร์ ส่วนในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตกรอบแบ่งกลุ่มรอบแรก
- ฤดูกาล 2000–01
ได้อันดับที่ 6 ในกัลโช เซเรีย อา ในโกปปาอีตาเลีย ตกรอบรองชนะเลิศ โดยแพ้ฟิออเรนตีนา ส่วนในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตกรอบแบ่งกลุ่มรอบที่สอง
- ฤดูกาล 2001–02
มิลานได้แต่งตั้งคาร์โล อันเชลอตติ ขึ้นเป็นผู้จัดการทีม โดยฤดูกาลนี้ มิลานได้อันดับที่ 4 ในกัลโช เซเรีย อา ในโกปปาอีตาเลีย แพ้ยูเวนตุส ตกรอบรองชนะเลิศ ส่วนในยูฟ่า คัพ ก็ตกรอบรองชนะเลิศเช่นกัน โดยพ่ายให้กับดอร์ทมุนท์
- ฤดูกาล 2002–03
ได้อันดับที่ 3 ในกัลโช เซเรีย อา แต่ได้ดับเบิลแชมป์ คือ แชมป์โกปปาอีตาเลีย สมัยที่ 5 โดยเอาชนะโรมาได้ ส่วนในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เริ่มแข่งขันตั้งแต่รอบคัดเลือก รอบที่สาม และผ่านสโลวาน ริเบอเรช ไปได้อย่างหวุดหวิด ด้วยกฎการยิงประตูในฐานะทีมเยือน จากนั้นก็ผ่านได้ทั้งบาเยิร์น, ล็องส์, กอรุนญา, เรอัลมาดริด, ดอร์ทมุนท์, โลโกโมทีฟ มอสโก, อาแจ็กซ์ และอินเตอร์ ก่อนที่จะมาดวลจุดโทษเอาชนะยูเวนตุสได้ในนัดชิงชนะเลิศ คว้าแชมป์สมัยที่ 6 มาครองได้สำเร็จ
- ฤดูกาล 2003–04
เริ่มต้นด้วยการแพ้ในการดวลจุดโทษต่อยูเวนตุส และโบคา ในอิตาเลียน ซูเปอร์ คัพ และสโมสรโลก ตามลำดับ แต่ก็ยังได้แชมป์ยูโรเปียน ซูเปอร์ คัพ โดยเอาชนะปอร์โต คว้าแชมป์มาครองเป็นสมัยที่ 4 แถมยังคว้าแชมป์กัลโช เซเรีย อา มาครองได้เป็นสมัยที่ 17 ส่วนในโกปปาอีตาเลีย แพ้ลาซีโอ ตกรอบรองชนะเลิศ และในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายแบบช็อคโลก ในนัดที่ 2 ที่พ่ายต่อกอรุนญา
- ฤดูกาล 2004–05
ได้แชมป์อิตาเลียน ซูเปอร์ คัพ สมัยที่ 5 โดยเอาชนะลาซีโอ ในโกปปาอีตาเลีย ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย เมื่อแพ้ต่ออูดิเนเซ และได้ดับเบิ้ลรองแชมป์ ทั้งในเวทีกัลโช เซเรีย อา และเหตุการณ์ช็อคโลกอีกครั้ง ในนัดชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ที่อตาเติร์ก เมื่อ 3 ประตูที่นำอยู่ในครึ่งแรก ไม่สามารถที่จะทำให้มิลานคว้าแชมป์มาครองได้ โดยถูกลิเวอร์พูลยิง 3 ประตูตีเสมอ ด้วยเวลาเพียง 6 นาที และไปดวลจุดโทษเอาชนะมิลานได้ในที่สุด ทำให้มิลานต้องพลาดแชมป์ไปอย่างเจ็บปวด
- ฤดูกาล 2005–06
ได้รองแชมป์กัลโช เซเรีย อา อีกครั้ง (ตอนหลังโดนตัดแต้ม จากกรณีล็อกสเปคผู้ตัดสิน จนต้องหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 3) ในโกปปาอีตาเลีย ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยแพ้ให้กับปาแลร์โม ส่วนในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก พ่ายต่อบาร์เซโลนา ในรอบรองชนะเลิศ
- ฤดูกาล 2006–07
ในกัลโช เซเรีย อา มิลานเริ่มต้นด้วยการถูกตัด 8 คะแนน ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากกรณีล็อกสเปคผู้ตัดสิน แต่ก็ยังไต่ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 4 ได้ ขณะที่ในโกปปาอีตาเลีย แพ้โรมา ตกรอบรองชนะเลิศ ส่วนในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก มิลานต้องมาเริ่มต้นในรอบคัดเลือก รอบที่สาม และเอาชนะเคอร์เวนา ซเวซดาได้ ทำให้ผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่ม จากนั้นก็ผ่านได้ทั้งเออีเค เอเธนส์, อันเดอร์เลชท์, ลีลล์, เซลติค, บาเยิร์น และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ก่อนที่จะมาล้างแค้น เอาชนะลิเวอร์พูลได้ 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ คว้าแชมป์สมัยที่ 7 มาครองได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยฝีเท้าอันเอกอุของกาก้าและพรรคพวก จากนั้นก็สามารถเอาชนะเซบีญา คว้าแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ สมัยที่ 5 มาครอง และปิดท้ายปี 2007 ด้วยการคว้าแชมป์สโมสรโลก ได้เป็นสมัยที่ 4 โดยแก้แค้นโบคาได้สำเร็จในนัดชิงชนะเลิศ พร้อมกับส่งให้กาก้า คว้าตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปี 2007 ในทุกสถาบัน
- ฤดูกาล 2007–08
ในกัลโช เซเรีย อา มิลานได้แค่อันดับที่ 5 ส่วนในโกปปาอีตาเลียและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายทั้งสองรายการ โดยแพ้ต่อคาตาเนีย และอาร์เซนอล ตามลำดับ
- ฤดูกาล 2008-09
ในกัลโช เซเรีย อา มิลานได้อันดับที่ 3 ส่วนในโกปปาอีตาเลีย ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยแพ้ต่อลาซีโอ และในยูฟ่า คัพ ตกรอบ 32 ทีมสุดท้าย ด้วยน้ำมือของเบรเมน
- ฤดูกาล 2009–10
ในกัลโช เซเรีย อา มิลานได้อันดับที่ 3 อีกครั้ง ส่วนในโคปป้า อิตาเลีย ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยพ่ายต่ออูดิเนเซ และในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยถูกแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไล่ถลุงเละเทะ
- ฤดูกาล 2010-11
ในกัลโช เซเรีย อา มิลานคว้าแชมป์สมัยที่ 18 มาครองได้สำเร็จ ส่วนในโกปปาอีตาเลีย ตกรอบรองชนะเลิศ โดยพ่ายต่อปาแลร์โม่ และในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยแพ้ต่อสเปอร์ส
- ฤดูกาล 2011-12
เริ่มต้นฤดูกาล เอาชนะอินเตอร์ ได้แชมป์ซูเปอร์โคปป้า อิตาเลียน่า มาครองได้เป็นสมัยที่ 6 ในกัลโช เซเรีย อา มิลานได้รองแชมป์ ส่วนในโกปปาอีตาเลีย ตกรอบรองชนะเลิศ โดยพ่ายต่อยูเวนตุส และในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยแพ้ต่อบาร์เซโลนา
เกียรติประวัติ แก้ไข
มิลานเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอิตาลี พวกเขาชนะเลิศการแข่งขันในประเทศถึง 30 ครั้ง อีกทั้งยังเคยต่อยอดความสำเร็จในระดับทวีป มิลานได้รับสิทธิ์ในการติดดาวบนชุดแข่งขันเพื่อเป็นเกียรติแก่สโมสรที่ชนะเลิศสกูเดตโตมาแล้วอย่างน้อย 10 สมัย นอกจากนี้ สโมสรยังประดับตราแสดงจำนวนครั้งที่ชนะเลิศถ้วยระดับทวีปบนแขนเสื้อเนื่องจากพวกเขาชนะเลิศยูโรเปียนคัพมากกว่า 5 สมัย[14]
ประเภท | การแข่งขัน | ชนะเลิศ (สมัย) | ฤดูกาล |
---|---|---|---|
ระดับประเทศ | เซเรียอา | 19 | 1901, 1906, 1907, 1950–51, 1954–55, 1956–57, 1958–59, 1961–62, 1967–68, 1978–79, 1987–88, 1991–92, 1992–93, 1993–94, 1995–96, 1998–99, 2003–04, 2010–11, 2021–22 |
เซเรียบี | 2 | 1980–81, 1982–83 | |
โกปปาอีตาเลีย | 5 | 1966–67, 1971–72, 1972–73, 1976–77, 2002–03 | |
ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา | 7 | 1988, 1992, 1993, 1994, 2004, 2011, 2016 | |
ระดับทวีปยุโรป | ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก | 7 | 1962–63, 1968–69, 1988–89, 1989–90, 1993–94, 2002–03, 2006–07 |
ยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ | 2 | 1967–68, 1972–73 | |
ยูโรเปียนซูเปอร์คัพ / ยูฟ่าซูเปอร์คัพ | 5s | 1989, 1990, 1994, 2003, 2007 | |
ระดับโลก | อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ | 3s | 1969, 1989, 1990 |
ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก | 1 | 2007 |
- ชนะเลิศมากที่สุด
- s ชนะเลิศมากที่สุดร่วมกัน
นักเตะยอดเยี่ยมบาลงดอร์ แก้ไข
นักเตะทีมเอซี มิลาน เคยได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปยุโรปหรือบาลงดอร์มากที่สุด 8 ครั้ง ได้แก่
- จันนี รีเวรา ในปี 1969
- รืด คึลลิต ในปี 1987
- มาร์โก ฟัน บัสเติน ได้ 3 ครั้ง ในปี 1988, 1989 และ 1992
- จอร์จ เวอาห์ ในปี 1995
- อันดรีย์ เชฟเชนโค ในปี 2004
- กาก้า ในปี 2007
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน แก้ไข
- ณ วันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2023[15]
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ทำเนียบประธานสโมสร แก้ไข
|
|
ทำเนียบผู้จัดการทีม แก้ไข
|
ทำเนียบกัปตันทีม แก้ไข
ผู้สนับสนุนทีม แก้ไข
ผู้สนับสนุนหน้าอกเสื้อ แก้ไข
เอซี มิลาน เริ่มมีสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้ออย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ซึ่งรายชื่อสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อของมิลาน มีดังต่อไปนี้
|
ผู้สนับสนุนชุดแข่งขัน แก้ไข
เอซี มิลาน เริ่มมีผู้สนับสนุนชุดแข่งขันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 โดยรายชื่อดังต่อไปนี้
|
สถิติสโมสรที่น่าสนใจ แก้ไข
นักเตะที่ลงเล่นมากที่สุดตลอดกาล แก้ไข
อัปเดตล่าสุด 04/10/2555
อันดับ | ชื่อนักเตะ | จำนวนนัด |
---|---|---|
1. | เปาโล มัลดีนี | 902 |
2. | ฟรังโก บาเรซี | 719 |
3. | อเลสซานโดร คอสตาคูร์ตา | 663 |
4. | จานนี ริเวรา | 658 |
5. | เมาโร ตัสซอตติ | 583 |
6. | มัสซิโม อัมโบรซินี | 469 |
7. | เกนนาโร กัตตูโซ | 468 |
8. | คลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ | 432 |
9. | อันเจโล อันกวิลเลตติ | 418 |
10. | เชซาเร มัลดินี | 412 |
11. | เดเมตริโอ อัลแบร์ตินี | 406 |
12. | อันเดรีย ปีร์โล | 401 |
13. | นิลส์ ลีดโฮล์ม | 394 |
14. | อัลเบริโก เอวานี | 393 |
15. | โรแบร์โต โดนาโดนี | 390 |
16. | โจวานนี ตราปัตโตนี | 351 |
17. | โอเมโร โตญญอน | 342 |
18. | ลุยจิ แปร์แวร์ซี | 341 |
19. | คาร์ล-ไฮนซ์ ชเนลลิงเกอร์ | 334 |
20. | เซบาสเตียโน รอสซี | 330 |
นักเตะที่ยิงประตูมากที่สุดตลอดกาล แก้ไข
อันดับ | ชื่อนักเตะ | จำนวนประตู |
---|---|---|
1. | กุนนาร์ นอร์ดาห์ล | 221 |
2. | อังเดร เชฟเชนโก | 175 |
3. | จานนี ริเวรา | 164 |
4. | โฮเซ อัลตาฟินี | 161 |
5. | อัลโด โบฟฟี | 136 |
6. | ฟิลิปโป อินซากี | 126 |
7. | มาร์โก ฟาน บาสเทน | 124 |
8. | จูเซ็ปเป ซานตากอสติโน | 106 |
9. | ปิเอริโน ปราติ | 102 |
10. | กาก้า | 100 |
11. | หลุยส์ ฟาน แฮช | 98 |
12. | อัลแบร์ติโน บิกอน | 90 |
13. | นิลส์ ลีดโฮล์ม | 89 |
14. | เรนโซ บูรินี | 88 |
15. | ปิเอโตร วีร์ดิส | 76 |
16. | มาร์โก ซิโมเน | 75 |
17. | อัลโด เคเวนินี | 73 |
18. | ปิเอโตร อาร์คารี | 70 |
19. | ดานิเอเล มัสซาโร | 70 |
20. | โจวานนี โมเรตติ | 68 |
การแข่งขันในกัลโช เซเรีย อา แก้ไข
- ชนะในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ ปาแลร์โม 9-0, 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951
- ชนะนอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ เจนัว 8-0, 5 มิถุนายน ค.ศ. 1955
- แพ้ในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ ยูเวนตุส 1-6, 6 เมษายน ค.ศ. 1997
- แพ้นอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด :แพ้ อเลสซานเดรีย 1-6, 26 มกราคม ค.ศ. 1936
- จำนวนคะแนนที่ได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 3 คะแนน) : 82 คะแนน (2003-04, 34 นัด)
- จำนวนคะแนนที่ได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 2 คะแนน) : 60 คะแนน (1950-51, 38 นัด)
- จำนวนคะแนนที่ได้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 3 คะแนน) : 43 คะแนน (1996-97, 34 นัด)
- จำนวนคะแนนที่ได้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ชนะได้ 2 คะแนน) : 24 คะแนน (1981-82, 30 นัด)
- จำนวนนัดที่ชนะมากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 28 นัด (2005-06, 38 นัด)
- จำนวนนัดที่ชนะน้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 5 นัด (1976-77, 30 นัด)
- จำนวนนัดที่แพ้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 0 นัด (1991-92, 34 นัด)
- จำนวนนัดที่แพ้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 15 นัด (1930-31, 30 นัด)
- จำนวนนัดที่เสมอมากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 17 นัด (1976-77, 30 นัด)
- จำนวนนัดที่เสมอน้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : 3 นัด (1949-50, 38 นัด)
- จำนวนประตูที่ทำได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม) : 118 ประตู (1949-50, 38 นัด)
- จำนวนประตูที่ทำได้น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม) : 21 ประตู (1981-82, 30 นัด)
- จำนวนประตูที่เสียน้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม) : 12 ประตู (1968-69, 30 นัด)
- จำนวนประตูที่เสียมากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (ทีม) : 62 ประตู (1932-33, 34 นัด)
- จำนวนผลต่างประตูที่มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : +73 ประตู (1949-50, 38 นัด)
- จำนวนผลต่างประตูที่น้อยที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล : -10 ประตู (1981-82, 30 นัด)
- จำนวนประตูที่ทำได้มากที่สุดภายใน 1 ฤดูกาล (นักเตะ) : 35 ประตู - กุนนาร์ นอร์ดาห์ล (1949-50, 38 นัด)
- ไม่เสียประตูนานที่สุด : 929 นาที ( เซบาสเตียโน รอสซี) เริ่มตั้งแต่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1993 (ชนะ กาญารี 2-1), จนถึง 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 (ชนะ ฟอจจา 2-1)
- ชนะติดต่อกันมากที่สุด : 10 นัด เริ่มตั้งแต่ 28 มกราคม ค.ศ. 1951 (ชนะ ซามพ์โดเรีย 2-0) จนถึง 1 เมษายน ค.ศ. 1951 (แพ้ ปาโดวา 1-2)
- ไม่แพ้ติดต่อกันมากที่สุด : 58 นัด เริ่มตั้งแต่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 (เสมอ ปาร์มา 0-0) จนถึง 21 มีนาคม ค.ศ. 1993 (แพ้ ปาร์มา 0-1)
การแข่งขันในโกปปาอีตาเลีย แก้ไข
- ชนะในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ ปาโดวา 8-1, 13 กันยายน ค.ศ. 1958
- ชนะนอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ โคโม 5-0, 8 มิถุนายน ค.ศ. 1958
- แพ้ในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ โรมา 0-4, 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1979
- แพ้นอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ ฟิออเรนตินา 0-5, 13 เมษายน ค.ศ. 1940
การแข่งขันในฟุตบอลสโมสรยุโรป แก้ไข
- ชนะในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ ยูเนียน ลักเซมเบิร์ก 8-0, 12 กันยายน ค.ศ. 1962 (ยูโรเปียน คัพ)
- ชนะนอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : ชนะ ยูเนียน ลักเซมเบิร์ก 6-0, 19 กันยายน ค.ศ. 1962 (ยูโรเปียน คัพ)
- แพ้ในบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ บาร์เซโลนา 0-2, 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 (ยูโรเปียน คัพ)
- แพ้นอกบ้านที่สกอร์มากที่สุด : แพ้ อาแจ็กซ์ 0-6, 16 มกราคม ค.ศ. 1974 (ยูโรเปียน ซูเปอร์ คัพ)
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ "A.C. Milan - History". A.C. Milan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-15. สืบค้นเมื่อ 2010-01-11.
- ↑ "History". acmilan.com. Associazione Calcio Milan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 October 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
- ↑ Neil Heath (17 November 2009). "AC Milan's Nottingham-born hero". BBC. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
- ↑ "International Cups Trivia". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 18 December 2016.
- ↑ Conn, Tom (21 ธันวาคม 2014). "Real Madrid match A.C. Milan and Boca Juniors with 18 international titles". Inside Spanish Football. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2014.
- ↑ "Milan loses the throne. Al Ahly is the most successful club in the world". Football Magazine. 22 February 2014. สืบค้นเมื่อ 22 December 2014.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 "Honours". acmilan.com. Associazione Calcio Milan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 October 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
- ↑ "Albo d'oro". legaseriea.it (ภาษาอิตาลี). Lega Nazionale Professionisti Serie A. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
- ↑ "Struttura". sansirostadium.com (ภาษาอิตาลี). San Siro. สืบค้นเมื่อ 22 January 2021.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Is this the greatest derby in world sports?". Theroar.com.au. 26 January 2010. สืบค้นเมื่อ 28 September 2011.
- ↑ "Soccer Team Valuations". forbes.com. Forbes. 30 April 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
- ↑ "ECA Members". ecaeurope.com. European Club Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 June 2010. สืบค้นเมื่อ 4 October 2010.
- ↑ "ยิ่งใหญ่! "บี เตชะอุบล" ปิดดีลเทกโอเวอร์ "มิลาน" จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-04. สืบค้นเมื่อ 2015-05-03.
- ↑ "Top 5 UEFA's Badge of Honour Winners". About.com. 25 July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2006.
- ↑ "Men's First Team". acmilan.com. Associazione Calcio Milan. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 June 2016. สืบค้นเมื่อ 4 July 2023.
แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข
- เว็บไซต์ทางการ
- เอซี มิลาน เก็บถาวร 2022-08-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่เซเรียอา
- เอซี มิลาน ที่ยูฟ่า