สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน
สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน (อังกฤษ: Everton Football Club) เป็นสโมสรฟุตบอลของประเทศอังกฤษ ตั้งอยู่ในเมืองลิเวอร์พูล ปัจจุบันเล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1878 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอิงกลิชฟุตบอลลีกใน ค.ศ.1888 รวมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งการแข่งขันพรีเมียร์ลีกใน ค.ศ. 1992 โดยถือเป็นหนึ่งในสามสโมสรที่เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งฟุตบอลลีกและพรีเมียร์ลีก เอฟเวอร์ตันถือเป็นสโมสรที่เก่าแก่ที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งของอังกฤษ โดยชนะเลิศถ้วยรางวัล 24 รายการ ประกอบไปด้วย ชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุด 9 สมัย, เอฟเอคัพ 5 สมัย, เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ 9 สมัย และ ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | The Toffees The Blues ทอฟฟีสีน้ำเงิน | |||
ก่อตั้ง | 1878 (ในชื่อ สโมสรฟุตบอลเซนต์โดมิงโก) | |||
สนาม | กูดิสันพาร์ก | |||
ความจุ | 39,572[1] | |||
เจ้าของ | ฟาร์ฮาด โมชีรี | |||
ประธาน | บิลล์ เคนไรต์ | |||
ผู้จัดการ | ชอน ไดช์ | |||
ลีก | พรีเมียร์ลีก | |||
2022–23 | อันดับที่ 17 จาก 20 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
เอฟเวอร์ตันเป็นสโมสรที่เล่นในลีกสูงสุดของอังกฤษมากที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวนกว่า 122 ฤดูกาล นับจนถึง ค.ศ. 2024[2][3] โดยพลาดการเล่นในลีกสูงสุดเพียง 4 ครั้ง (ฤดูกาล 1930–31, 1951–52, 1952–53 และ 1953–54) และยังเป็นสโมสรที่เล่นในลีกสูงสุดติดต่อกันยาวนานที่สุดเป็นอันดับสอง[4] รวมทั้งเป็นทีมที่เก็บคะแนนรวมจากการเล่นบนลีกสูงสุดของอังกฤษมากเป็นอันดับสาม
สโมสรชนะเลิศฟุตบอลดิวิชันหนึ่งครั้งแรกในฤดูกาล 1890–91 และภายหลังจากชนะเลิศดิวิชันหนึ่งเพิ่มอีก 4 สมัย และเอฟเอคัพอีก 2 สมัย สโมสรเข้าสู่ช่วงตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งในทศวรรษ 1960 และประสบความเร็จมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1980 โดยชนะเลิศดิวิชันหนึ่งอีก 2 สมัย, เอฟเอคัพ 1 สมัย และชนะเลิศถ้วยยุโรปรายการแรกในยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ค.ศ. 1985 ถ้วยรางวัลล่าสุดที่สโมสรชนะเลิศคือเอฟเอคัพ ค.ศ. 1995
สีประจำสโมรสรคือ เสื้อเชิ้ตสีน้ำเงิน กางเกงขาสั้นสีขาว และถุงเท้าสีขาว ผู้สนับสนุนของสโมสรมีชื่อเรียกว่า "เอฟเวอร์โตเนียน"[5] และ "บลูส์" เอฟเวอร์ตันมีสโมสรคู่อริคือ ลิเวอร์พูล ซึ่งสนามแอนฟีล์ดของลิเวอร์พูลอยู่ห่างจากสนามกูดิสันพาร์กของเอฟเวอร์ตันไม่ถึงหนึ่งไมล์ และการแข่งขันของทั้งสองทีมถูกเรียกว่าเมอร์ซีย์ไซด์ดาร์บี เอฟเวอร์ตันลงเล่นที่กูดิสันพาร์กมาตั้งแต่ ค.ศ. 1892 โดยย้ายจากแอนฟีลด์เนื่องจากเกิดข้อพิพาทเรื่องค่าเช่าระหว่างสโมสรและเจ้าของที่ดินแอนฟีลด์ สโมสรมีฟาร์ฮัด โมชิรี นักธุรกิจชาวอังกฤษเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ภายหลังเขาเข้าซื้อกิจการสโมสรและถือครองส่วนแบ่งจำนวน 49% ใน ค.ศ. 2016 โดยใน ค.ศ. 2023 สโมสรมีมูลค่าทีมจำนวน 744 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลประกอบการโดยรวมและรายรับของสโมสรเมื้อสิ้นสุดฤดูกาล 2022–23 อยู่ที่ 242 ล้านเหรียญ และ ติดลบจำนวน 23 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ต่อมาใน ค.ศ. 2024 แดน ฟรีดกิน นักธุรกิจชาวอเมริกันเจ้าของทีมและประธานสโมสรโรมาในเซเรียอา ประสบความสำเร็จในการซื้อหุ้นสโมสรจำนวน 94.1% จากโมชิรี[6]
ประวัติ
แก้เอฟเวอร์ตันเป็นหนึ่งในสโมสรที่เก่าแก่ของสหราชอาณาจักร[7] ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1878 ในชื่อ สโมสรฟุตบอลเซนต์โดมิงโก[8] ตามชื่อโบสถ์ในเมืองลิเวอร์พูล เพื่อให้สมาชิกของโบสถ์ได้เล่นกีฬาร่วมกัน โดยนอกจากฟุตบอลแล้วยังมีการเล่นคริกเกตในฤดูร้อน สโมสรลงแข่งขันนัดแรกพบสโมสรเอฟเวอร์ตันเชิร์ช โดย เซนต์โดมิงโก ชนะ 1–0 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น เอฟเวอร์ตัน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1879 ตามชื่อท้องถิ่นเนื่องจากผู้คนในชุมชนต้องการเข้าร่วมสโมสรเป็นจำนวนมาก[9]
เอฟเวอร์ตันเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง อิงกลิชฟุตบอลลีก ในฤดูกาล 1888–89 ก่อนจะประสบความสำเร็จครั้งแรกโดยคว้าแชมป์ฟุตบอลลีก ฤดูกาล 1890-91 ต่อมา สโมสรคว้าแชมป์เอฟเอคัพสมัยแรกใน ค.ศ. 1906 ตามด้วยแชมป์ดิวิชันหนึ่งสมัยที่สองในฤดูกาล 1914–15 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1914 ทำให้การแข่งขันฟุตบอลอังกฤษต้องยุติลงชั่วคราวซึ่งเป็นฤดูกาลที่เอฟเวอร์ตันคว้าแชมป์ได้ และเหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งหลังการคว้าแชมป์ดิวิชันหนึ่งในฤดูกาล 1938–39 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[10]
เอฟเวอร์ตันกลับมาประสบความสำเร็จหลังจากการมาถึงของดิ๊กซี่ ดีน ซึ่งย้ายมาจากแทรนเมียร์โรเวอส์ใน ค.ศ. 1925 โดยในฤดูกาล 1927–28 ดีนได้สร้างสถิติทำประตูในลีกถึง 60 ประตูจากการลงเล่น 39 นัด ถือเป็นสถิติการทำประตูในลีกสูงสุดในหนึ่งฤดูกาลมากที่สุดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งดีนพาทีมคว้าแชมป์ดิวิชันหนึ่งได้เป็นสมัยที่สามในฤดูกาลนั้น[11] อย่างไรก็ตาม สโมสรต้องตกชั้นลงไปในดิวิชันสองในอีกสองฤดูกาลต่อมาเนื่องจากปัญหาภายในแต่สามารถเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และทำสถิติเป็นทีมที่ทำประตูมากที่สุดในดิวิชันสอง เอฟเวอร์ตันคว้าแชมป์ดิวิชันหนึ่งสมัยที่สี่ในฤดูกาล 1931–32[12] ตามด้วยแชมป์เอฟเอคัพใน ค.ศ. 1933 เอาชนะแมนเชสเตอร์ซิตีในรอบชิงชนะเลิศ 3–0 และปิดท้ายความสำเร็จในทศวรรษนี้ด้วยแชมป์ดิวิชันหนึ่งสมัยที่ห้าในฤดูกาล 1938–39[13]
สงครามโลกครั้งที่สองทำให้การแข่งขันต้องหยุดชะงักอีกครั้งก่อนจะกลับมาแข่งขันใน ค.ศ. 1946 เอฟเวอร์ตันได้รับผลกระทบโดยเสียผู้เล่นหลายรายและทีมมีผลงานที่ย่ำแย่กว่าในช่วงก่อนสงคราม พวกเขาต้องตกชั้นอีกครั้งในฤดูกาล 1950–51 และเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาในฤดูกาล 1953–54 เมื่อพวกเขาจบอันดันสามในฟุตบอลดิวิชันสอง และสโมสรไม่ตกชั้นจากลีกสูงสุดอีกเลยนับแต่นั้น[14]
ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของสโมสรกลับมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1960 หลังการมาถึงของผู้จัดการทีมคนใหม่ แฮร์รี แคทเทอริก อดีตผู้เล่นของสโมสรซึ่งพาทีมคว้าแชมป์ดิวิชันหนึ่งได้อีกครั้งในฤดูกาล 1962–63[15] ตามด้วยแชมป์เอฟเอคัพใน ค.ศ. 1966 เอาชนะเชฟฟีลด์เวนส์เดย์ 3–2 และยังเข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งในสองปีถัดมาแต่แพ้เวสต์บรอมมิชอัลเบียน 0–1 แต่กลับไปคว้าแชมป์ดิวิชันหนึ่งได้อีกครั้งในฤดูกาล 1969–70 โดยมีคะแนนเหนือลีดส์ยูไนเต็ด 9 คะแนน[16] ในช่วงเวลานี้ เอฟเวอร์ตันยังถือเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่ได้ร่วมแข่งขันฟุตบอลยุโรป 5 ฤดูกาลติดต่อกัน (ค.ศ. 1962–67)[17] อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของสโมสรได้ตกลงไป เมื่อพวกเขาจบเพียงอันดับสิบสี่, สิบห้า, สิบเจ็ด และอันดับเจ็ดในอีกสี่ฤดูกาลต่อมา แคทเทอริก ประกาศเกษียณตนเอง และสโมสรไม่สามารถคว้าถ้วยรางวัลใดเพิ่มได้ในช่วงเวลาที่เหลือของทศวรรษ 1970 แม้จะจบอันดับสี่ในฤดูกาล 1974–75 ด้วยการคุมทีมของบิลลี บิงแฮม รวมทั้งอันดับสามและอันดับสี่ในฤดูกาล 1977–78 และ 1978–1979 ด้วยผลงานของกอร์ดอน ลีซึ่งถูกปลดใน ค.ศ. 1981[18]
ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ เข้ามาคุมทีมและถือเป็นช่วงเวลาที่สโมสรประสบความสำเร็จมากที่สุด เขาพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพใน ค.ศ. 1984 ตามด้วยแชมป์ดิวิชันหนึ่งในฤดูกาล 1984–85 และ 1986–87 และชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ค.ศ. 1985 ซึ่งถือเป็นถ้วยยุโรปรายการแรกและรายการเดียวมาถึงปัจจุบัน ความสำเร็จดังกล่าวเริ่มจากการชนะสโมสรยูซี ดับลิน, เอฟเค อินเตอร์ บราติสลาวา และ ฟอร์ตือนาซิตตาร์ด ตามด้วยการเอาชนะสโมสรใหญ่ของบุนเดิสลีกาอย่างไบเอิร์นมิวนิกในรอบรองชนะเลิศ 3–1 แม้จะตามหลังไปก่อนในครึ่งเวลาแรก ซึ่งนัดนั้นได้รับการโหวตจากแฟน ๆ ให้เป็นเกมที่สนุกที่สุดเท่าที่เคยแข่งขันกันในกูดิสันพาร์ก ปิดท้ายด้วยการชนะราพีทวีนในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 และในฤดูกาล 1984–85 นั้น เอฟเวอร์ตันเกือบจะคว้าสามถ้วยรางวัลได้ ภายหลังจากได้แชมป์ฟุตบอลลีก และถ้วยยุโรป แต่พวกเขาแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในรอบชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ 0–1 และในฤดูกาลต่อมา เอฟเวอร์ตันได้รองแชมป์สองรายการทั้งในฟุตบอลลีก และฟุตบอลเอฟเอคัพ โดยแพ้ลิเวอร์พูลทั้งสองรายการ ก่อนจะกลับมาคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาล 1986–87
ภัยพิบัติเฮย์เซลส่งผลให้สโมสรจากอังกฤษถูกห้ามลงแข่งขันฟุตบอลยุโรป เอฟเวอร์ตันพลาดโอกาสในการชนะเลิศถ้วยยุโรปเพิ่ม โดยผู้เล่นตัวหลักในทีมชุดที่ชนะยูฟ่าวินเนอร์สคัพ ค.ศ. 1985 หลายคนได้อำลาทีมรวมถึงผู้จัดการทีมอย่างเคนดัลล์ซึ่งย้ายไปคุมอัตเลติกเดบิลบาโอ ใน ค.ศ. 1987 และเขาถูกแทนที่โดยโคลิน ฮาร์วีย์ ผู้ช่วยของเขาซึ่งพาทีมเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ค.ศ. 1989 แต่แพ้ลิเวอร์พูลในช่วงต่อเวลา 2–3
เอฟเวอร์ตันเป็นหนึงในสโมสรผู้ร่วมก่อตั้งพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 1992 แต่สโมสรประสบปัญหาในการหาผู้จัดการทีมที่เหมาะสม ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ กลับมารับตำแหน่งใน ค.ศ. 1990 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่เคยทำได้ เขาถูกแทนที่โดยไมค์ วอล์กเกอร์ ใน ค.ศ. 1994 แต่คุมทีมได้ไม่ถึงหนึ่งฤดูกาลก็ถูกปลด และเขาถือเป็นผู้จัดการทีมที่มีผลงานย่ำแย่ที่สุดของสโมสร โจ รอยล์ อดีตผู้เล่นของสโมสรเข้ารับตำแหน่งต่อ และสโมสรเริ่มมีผลงานที่ดีขึ้น รวมถึงการชนะอย่างลิเวอร์พูล 2–0 ในนัดแรกของฤดูกาล และยังคว้าแชมป์เอฟเอคัพเป็นสมัยที่ห้าในฤดูกาลนั้น โดยชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 1–0 ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลยุโรปครั้งแรกนับตั้งแต่ภัยพิบัติเฮย์เซล รอยล์พาเอฟเวอร์ตันจบอันดับหกในฤดูกาลต่อมา แต่จบเพียงอันดับสิบห้าในฤดูกาล 1996–97 ส่งผลให้รอยล์ลาออก เดวิด วัตสัน อดีตกองหลังคนสำคัญของทีมเข้ามารักษาการต่อ
ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ เข้ามารับตำแหน่งเป็นครั้งที่สาม แต่ล้มเหลวอีกครั้งโดยพาทีมจบเพียงอันดับ 17 และเอฟเวอร์ตันเกือบจะตกชั้นแต่รอดมาได้ด้วยผลประตูได้-เสียที่ดีกว่าโบลตันวอนเดอเรอส์ วอลเตอร์ สมิธ ผู้จัดการทีมชาวสกอตแลนด์เข้ามารับตำแหน่งแทน แต่ผลงานก็ย่ำแย่โดยจบเพียงกลางตารางสามฤดูกาลติดต่อกัน ก่อนจะถูกปลดใน ค.ศ. 2002 ซึ่งเอฟเวอร์ตันอยู่ในพื้นที่หนีตกชั้นในขณะนั้น และยังตกรอบเอฟเอคัพโดยแพ้มิดเดิลส์เบรอ สมิธถูกแทนที่โดยเดวิด มอยส์ซึ่งพาทีมจบอันดับ 15[20] และจบอันดับ 7 ในฤดูกาล 2002–03 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบเจ็ดปี เวย์น รูนีย์ ดาวรุ่งคนสำคัญเป็นผู้ทำผลงานโดดเด่นจนก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ก่อนจะย้ายร่วมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดใน ค.ศ. 2004 ด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 28 ล้านปอนด์[21] การจบอันดับ 4 ในฤดูกาล 2004–05 ทำให้สโมสรได้สิทธิ์แข่งขันรอบคัดเลือกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่พวกเขาไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่ม และยังตกรอบยูฟ่าคัพ แต่ยังได้กลับมาแข่งขันยูฟ่าคัพอีกสองฤดูกาลติตด่อกันในฤดูกาล 2007–08 และ 2008–09 และยังเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ค.ศ. 2009 ในช่วงเวลานี้ สโมสรได้ลงทุนซื้อผู้เล่นเป็นสถิติสโมสรถึงสี่ครั้งได้แก่: เจมส์ บีตตี้ ราคา 6 ล้านปอนด์ในเดือนมกราคม 2005[22], แอนดรูว์ จอห์นสัน 8.6 ล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2006, ยาคูบู ไอเยกเบนี 11.25 ล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2007[23] และ มารวน แฟลายนี 15 ล้านปอนด์ใน ค.ศ. 2008[24]
หลังสิ้นสุดฤดูกาล 2012–13 มอยส์อำลาเอฟเวอร์ตันเพื่อไปเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และได้นำทีมงานผู้ฝึกสอนทุกคนติดตามไปด้วย[25] รวมถึง ฟิล เนวิล และนักเตะอย่าง มารวน แฟลายนี โรเบร์โต มาร์ติเนซ[26] พาทีมจบอันดับ 5 ในพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลแรกที่คุมทีม และยังทำคะแนนได้มากที่สุดในรอบ 27 ปีด้วยคะแนนสูงถึง 72 คะแนน[27] ในฤดูกาลต่อมา มาร์ติเนซพาทีมเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่ายูโรปาลีก แต่แพ้ดือนามอกือยิว[28] และจบอันดับ 11 ในลีก
ต่อมาในฤดูกาล 2015–16 แม้เอฟเวอร์ตันเข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วยสองรายการทั้งเอฟเอคัพ และลีกคัพ แต่ผลงานในลีกย่ำแย่โดยจบเพียงอันดับ 12 มาร์ติเนซจึงถูกปลด[29] ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 สโมสรได้แถลงว่า ฟาฮัด โมชีรี นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่านได้เข้าซื้อกิจการสโมสรโดยถือหุ้นจำนวน 49.9% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
โรนัลด์ กุมัน อำลาเซาแทมป์ตันเพื่อเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในฤดูกาล 2016–17 ด้วยสัญญาสามปี[30] ในฤดูกาลแรก กุมันพาทีมจบอันดับ 7 ทำให้ได้สิทธิ์แข่งขันรอบคัดเลือกรอบที่สามของยูโรปาลีก โดยพาทีมผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่มในฤดูกาล 2017–18 แต่ก็ยุติเส้นทางเพียงแค่นั้น โดยจบในอันดับสามตามหลังอตาลันตา และออแล็งปิกลียอแน และยังทำผลงานในลีกย่ำแย่ โดยหล่นไปอยู่ในพื้นที่ตกชั้นหลังผ่านเก้านัดแรก กุมันถูกปลดในเดือนตุลาคม 2017 หลังจบเกมที่เอฟเวอร์ตันแพ้คาบ้านต่ออาร์เซนอล 2–5[31] เดวิด อันส์เวิร์ธ เข้ามารักษาการต่อก่อนที่ แซม อัลลาร์ไดซ์ เข้ามารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน แต่ลาออกเมื่อจบฤดูกาลเนื่องจากแฟน ๆ ไม่พอใจระบบการเล่นของเขา[32]
มาร์กู ซิลวา ได้รับการแต่งตั้งในเดือนพฤษภาคม 2018[33] และในเดือนพฤศจิกายน สโมสรถูกสั่งห้ามซื้อผู้เล่นเยาวชนเป็นเวลาสองปีจากการทำผิดกฎ[34] ซิลวาพาทีมจบอันดับ 8 ในฤดูกาล 2018–19 ก่อนจะถูกปลดในเดือนธันวาคม 2019 จากการเริ่มต้นฤดูกาล 2019–20 ได้อย่างย่ำแย่โดยอันดับลงไปอยู่ในพื้นที่ตกชั้นและมีเพียง 14 คะแนนในขณะนั้น[35] การคุมทีมนัดสุดท้ายของซิลวาคือการบุกไปแพ้ลิเวอร์พูล 2–5 ที่แอนฟีลด์ ดันแคน เฟอร์กูสัน อดีตผู้เล่นของสโมสรและหนึ่งในผู้ฝึกสอนของทีมเข้ามารักษาการต่อก่อนที่ การ์โล อันเชลอตตีจะเข้ามารับตำแหน่งโดยมีเฟอร์กูสันเป็นผู้ช่วย[36] อันเชลอตตีพาทีมจบอันดับสิบในฤดูกาล 2020–21 ก่อนจะลาทีมเพื่อกลับไปคุมเรอัลมาดริด[37]
อดีตผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ราฟาเอล เบนิเตซ เข้ามารับตำแหน่งในฤดูกาล 2021–22 โดยถือเป็นคนที่สองที่เคยเป็นทั้งผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลและเอฟเวอร์ตัน[38] แต่ก็ถูกปลดในเดือนมกราคม ค.ศ. 2022 จากผลงานอันย่ำแย่ โดยแพ้ไปถึง 9 จาก 13 นัดหลังสุด[39] เขาถูกแทนที่โดย แฟรงก์ แลมพาร์ด อดีตผู้จัดการทีมเชลซี[40] และสโมสรจบอันดับที่ 16 ในลีกซึ่งเป็นอันดับที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 18 ปี ก่อนที่จะถูกปลดในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 และถูกแทนที่โดย ชอน ไดช์ อดีตผู้จัดการทีมเบิร์นลีย์ ซึ่งพาทีมรอดตกชั้นอย่างหวุดหวิดในนัดสุดท้ายหลังจากเปิดบ้านเอาชนะบอร์นมัท โดยจบฤดูกาลในอันดับที่ 17
ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023 สโมสรถูกลงโทษจากพรีเมียร์ลีกด้วยการตัดสิบคะแนนเนื่องจากฝ่าฝืนกฏการเงิน โดยสาเหตุมาจากการที่สโมสรรายงานความสูญเสียทางการเงินจำนวนเกือบ 124.5 ล้านปอนด์ในช่วง 3 ปีซึ่งสูงกว่าที่แนวทางของพรีเมียร์ลีกอนุญาตได้สูงสุดที่ 105 ล้านปอนด์[41] นี่ถือเป็นการตัดคะแนนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก โดยก่อนหน้านี้พอร์ตสมัทถูกลงโทษตัดเก้าคะแนนจากการประสบปัญหาด้านการเงินใน ค.ศ. 2009[42] สโมสรยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2023 โดยมองว่าบทลงโทษดังกล่าวไม่ยุติธรรม[43] ต่อมา ในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2024 เอฟเวอร์ตันถูกตั้งข้อกล่าวหาในการละเมิดกฏการเงินเพิ่มเติม จากความผิดที่เกิดขึ้นในรอบการตรวจสอบรายจ่ายประจำฤดูกาล 2022–23 ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกตัดคะแนนเป็นครั้งที่สอง[44] ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 พรีเมียร์ลีกได้พิจารณาการอุทธรณ์ของสโมสร และมีมติลดบทลงโทษจากการตัดสิบคะแนนเป็นตัดหกคะแนน[45]
สี และ ตราสัญลักษณ์
แก้สีประจำทีมของเอฟเวอร์ตันคือเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงิน กางเกงขาสั้นสีขาว และถุงเท้าสีขาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษแรกของประวัติศาสตร์เอฟเวอร์ตัน พวกเขามีชุดแข่งขันหลายสี เดิมทีเคยสวมชุดสีขาว ตามด้วยเสื้อสีน้ำเงินและแถบสีขาว ต่อมา สโมสรสวมเสื้อสีดำล้วนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการย้อมสี และเพื่อให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่ไม่เป็นที่ยอมรับจึงมีการเพิ่มลายคาดสีแดงในเวลาต่อมา[46]
เมื่อสโมสรย้ายสู่สนามกูดิสันพาร์กใน ค.ศ. 1892 เริ่มมีการสวมชุดแข่งสีชมพูและสีน้ำเงินเข้ม พร้อมทั้งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินเข้ม ก่อนที่เสื้อสีน้ำเงินและกางเกงสีขาวจะถูกนำมาใช้ครั้งแรกในฤดูกาล 1901–02[47] และมีการเปลี่ยนไปสวมสีฟ้าแบบสกายบลูใน ค.ศ. 1906 แต่ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้สนับสนุน สโมสรจึงกลับใช้สีน้ำเงินตามเดิม ชุดเหย้าของสโมสรในปัจจุบันเป็นสีน้ำเงินเข้ม (รอยัลบลู) พร้อมกางเกงขาสั้นสีขาว และถุงเท้าสีขาว และสโมสรอาจสวมชุดแข่งสีน้ำเงินล้วนในบางครั้งเพื่อเลี่ยงการซ้ำกันของสีทีมคู่แข่ง
ชุดแข่งทีมเยือนของสโมสรมักเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงสีดำ ทว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 1968 เสื้อสีเหลืองและกางเกงสีน้ำเงินถูกใช้บ่อยขึ้น และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา สโมสรมีการใช้สีเสื้อทีมเยือนมากมายเช่น สีเหลือง, สีดำ, สีเทา และ สีขาว
หลังสิ้นสุดฤดูกาล 1937–38 ธีโอ เคลลี เลขาธิการของสโมสร (ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้จัดการทีมคนแรก) ต้องการออกแบบเน็กไทของสโมสร มีการตกลงกันว่าเน็กไทจะเป็นสีน้ำเงิน และเคลลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์บนเน็กไท เขาใช้เวลาออกแบบอยู่สี่เดือนและตัดสินใจจะออกแบบเป็นรูปสัญลักษณ์อาคาร ล็อกอัพเอฟเวอร์ตัน (Everton Lock-Up) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของอาคารเก่าแก่ที่ใช้เป็นที่กักขังอาชญากรและคนติดสุราในประเทศอังกฤษและเวลส์ อาคารดังกล่าวเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของย่านนั้นนับตั้งแต่มีการก่อสร้างใน ค.ศ. 1787 และเอฟเวอร์ตันได้ใช้มันเป็นสัญลักษณ์ประจำสโมสรมานับตั้งแต่นั้น พร้อมตั้งคำขวัญว่า "Nil satis nisi optimum" ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่า “ดีที่สุดเท่านั้นถึงจะพอ”[48]และเน็กไทดังกล่าวถูกสวมครั้งแรกโดยเคลลี่ และนายอี. กรีน ในวันแรกของฤดูกาล 1938–39 สโมสรมักไม่ค่อยใส่คำอธิบายหรือประโยคยาว ๆ ลงบนเสื้อแข่ง โดยจะปรากฏเพียงตัวอักษร "EFC" ซึ่งเป็นตัวย่อของชื่อสโมสรเท่านั้น โดยเริ่มใช้ครั้งแรกบนเสื้อใน ค.ศ. 1978[49]
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2013 สโมสรได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์แบบใหม่เพื่อเพิ่มความทันสมัย แต่ได้รับการตอบรับในเชิงลบจากผู้สนับสนุนสโมสร โดยผู้สนับสนุนกว่า 91% ได้ลงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของสโมสรว่าไม่พอใจในตราสโมสรแบบใหม่นี้ หัวหน้าฝ่ายการตลาดจึงประกาศว่าจะออกแบบตราใหม่อีกครั้ง และออกแบบตราใหม่มาทั้งสิ้น 3 แบบให้กลุ่มผู้สนับสนุนร่วมกันโหวตเลือก และตราสโมสรที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ เป็นตราที่ได้รับคะแนนโหวตถึง 80%[50]
ฉายา
แก้สโมสรเอฟเวอร์ตันมีชื่อเล่นว่า "The Toffees" และ "The Toffeemen" ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเอฟเวอร์ตันย้ายไปกูดิสันพาร์ก มีข้อสันนิษฐานสองประการถึงชื่อเรียกดังกล่าว ประการแรก เชื่อว่าน่าจะมาจากร้านขนมหวานซึ่งขายทอฟฟีในตำบลนั้น (everton brow) ซึ่งชื่อร้าน "Mother Noblett's" โดยเป็นร้านที่ได้รับความนิยม มีทอฟฟีที่ขายดีทีสุดคือ Everton Mint และร้านดังกล่าวยังตั้งอยู่ตรงข้ามล็อกอัพซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสโมสร และมีเรื่องเล่ากันว่าในสมัยนั้นจะมีสตรีคนหนึ่งโยนทอฟฟีเอฟเวอร์ตันมินต์ให้แฟนบอลข้างสนามก่อนเริ่มเกมเป็นประจำ
ข้อสันนิษฐานอีกประการคือมีบ้านหลังหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่า Ye Anciente Everton Toffee House ตั้งอยู่ในย่านเอฟเวอร์ตัน เมืองลิเวอร์พูล มีเจ้าของคือ มาร์ บูเชล ซึ่งบ้านหลังนั้นอยู่ใกล้กับโรงแรมควีนส์ซึ่งเป็นที่ประชุมของผู้บริหารสโมสร[51]
เอฟเวอร์ตันมีชื่อเล่นอื่น ๆ มากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการสวมชุดแข่งสีดำทำให้ทีมได้รับฉายาว่า "เดอะแบล็ควอตช์" ตั้งตามชื่อกองทหารที่มีชื่อเสียงของสกอตแลนด์ และนับตั้งแต่สวมชุดแข่งสีน้ำเงินใน ค.ศ. 1901 สโมสรจึงมีชื่อเรียกว่า "เดอะบลู" และด้วยรูปแบบการเล่นที่น่าตื่นเต้น เร้าใจ สตีฟ บลูเมอร์ อดีนนักฟุตบอลและผู้จัดการทีมชาติอังกฤษจึงเรียกสโมสรว่า "scientific" ใน ค.ศ. 1928 นำไปสู่ฉายา "The School of Science"[52] ทีมที่ชนะการแข่งขันเอฟเอคัพปี 1995 เป็นที่รู้จักในนาม "The Dogs of War" และเมื่อ เดวิด มอยส์ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีม เขาได้ประกาศให้เอฟเวอร์ตันเป็น "สโมสรประชาชน" (The People's Club) ซึ่งวลีนี้ได้รับการรับรองเป็นชื่อเล่นกึ่งทางการของสโมสร[53]
สนามแข่ง
แก้เดิมที เอฟเวอร์ตันลงเล่นบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสแตนลีย์พาร์ค สวนสาธารณะขนาดใหญ่ในเมืองลิเวอร์พูล การแข่งขันนัดแรกอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี 1879 ต่อมาในปี 1884 เอฟเวอร์ตันได้เป็นผู้เช่าสนามแอนฟีลด์ ซึ่งมีเจ้าของคือ จอห์น ออร์เรลล์ เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเพื่อนของสมาชิกสโมสรเอฟเวอร์ตัน จอห์น โฮลดิง ออร์เรลล์ให้เอฟเวอร์ตันเช่าแอนฟีลด์แลกกับค่าเช่าเล็กน้อย ต่อมา โฮลดิงซื้อที่ดินต่อจากออร์เรล์ในปี 1885 และถือกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสนามแอนฟีลด์ และทำการขึ้นค่าเช่าสนามจาก 100 ปอนด์ เป็น 240 ปอนด์ในปี 1888 และยังคงขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องกระทั่งปี 1892[54] สโมสรเอฟเวอร์ตันยอมรับไม่ได้กับการขึ้นค่าเช่าดังกล่าว ตามมาด้วยข้อพิพาทระหว่างโฮลดิงและคณะกรรมการที่เหลือของสโมสร โฮลดิงต้องการจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารทีม โดยต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งชื่อสโมสร, สี และการกำหนดการแข่งขัน แต่ถูกปฏิเสธโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษ สโมสรเอฟเวอร์ตันจึงยุติการใช้งานแอนฟีลด์ และย้ายไปสู่สนามแห่งใหม่อย่าง กูดิสันพาร์ก ในปี 1892 ในขณะที่ จอห์น โฮลดิง ได้ไปก่อตั้งสโมสรแห่งใหม่ในนาม สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล[55] และยังคงใช้สนามแอนฟีลด์มาถึงปัจจุบัน
สนามกูดิสันพาร์กถูกใข้งานในการแข่งขันลีกสูงสุดมากกว่าสนามอื่น ๆ ในสหราชอาณาจักร และเป็นสนามเดียวของสโมสรในอังกฤษที่ถูกใข้งานในรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1966 นอกจากนี้ยังเป็นสนามแห่งแรกของอังกฤษที่ติดตั้งระบบทำความร้อนใต้ดินและเป็นสนามแห่งแรกที่มีอัฒจันทร์สองชั้นทุกด้านของสนาม
สนามใหม่
แก้ในเดือนสิงหาคมปี 2021 เอฟเวอร์ตันได้รับการอนุญาตจากสภาเมืองลิเวอร์พูลในการก่อสร้างสนามแห่งใหม่มูลค่า 500 ล้านปอนด์[56] สนามใหม่นี้ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่อู่เรือ บรามลีย์-มัวร์ ด้วยความจุ 52,888 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่ากูดิสันพาร์กประมาณ 13,000 ที่นั่ง สนามใหม่นี้ยังจะช่วยสร้างงานให้คนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 15,000 ตำแหน่ง โดยคาดการณ์ว่าการก่อสร้างน่าจะแล้วเสร็จทันฤดูกาล 2024/25 โดยจะมีชื่อว่า "สนามฟุตบอลแบรมลีย์ มัวร์" (Bramley-Moore Dock Stadium) และหากสร้างเสร็จจะกลายเป็นหนึ่งในสนามที่มีทัศนียภาพสวยงามที่สุดในสหราชอาณาจักร และจะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่สนามอีกด้วย[57]
ผู้สนับสนุน และ สโมสรคู่อริ
แก้เอฟเวอร์ตันเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในอังกฤษ[58] พวกเขามียอดผู้ชมสูงสุดเป็นอันดับแปดในฤดูกาล 2008–09 กลุ่มผู้สนับสนุนส่วนใหญ่อยู่ในนอร์ทเวสต์อิงแลนด์ และ แมนเชสเตอร์ รวมทั้งได้รับความนิยมในประเทศไอร์แลนด์ และทางตอนเหนือของเวลส์ เอฟเวอร์ตันยังมีสโมสรผู้สนับสนุนมากมายทั่วโลกในประเทศต่าง ๆ[59] เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ[60], สิงคโปร์[61], อินโดนีเซีย, เลบานอน, มาเลเซีย[62], ไทย[63], อินเดีย และออสเตรเลีย พอล แม็กคาร์ตนีย์ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสโมสรที่มีชื่อเสียงมากที่สุด กลุ่มผู้สนับสนุนหลุกของสโมสรก่อตั้งกลุ่ม FOREVERTON และมีการออกแฟนซีนได้แก่ When Skies are Grey และ Speke from the Harbour ซึ่งวางจำหน่ายหน้าสนามในวันแข่ง
แฟนบอลของสโมสรมักจะเดินทางไปให้กำลังใจทีมในการแข่งขันต่างประเทศ ในรายการฟุตบอลยุโรป สโมสรใช้รูปแบบคะแนนสะสมที่เสนอโอกาสในการซื้อตั๋วสำหรับผู้ถือตั๋วฤดูกาลที่เข้าร่วมการแข่งขันนัดเยือนมากที่สุด และตั๋วชมเกมเยือนของสโมสรมักจะถูกขายหมดเสมอ ในเดือนตุลาคม 2009 มีกองเชียร์สโมสรกว่า 7,000 คน ไปให้กำลังใจทีมในการแข่งชันกับเบนฟิกา ของโปรตุเกส ซึ่งเป็นสถิติสูสุดของสโมสรยุโรปนับตั้งแต่รอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1985
เอฟเวอร์ตันเป็นสโมสรคู่อริของลิเวอร์พูล จากกรณีพิพาทในเรื่องการเช่าสนามแข่ง การพบกันของทั้งสองสโมสรเรียกว่า เมอร์ซีย์ไซด์ดาร์บี โดยชื่อนี้ถูกเรียกขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1955 ขณะที่บรรดาผู้สนับสนุนของสองสโมสรเรียกว่า ดาร์บีมิตรภาพ (The friendly derby) เพราะถือว่าในการแข่งขันผู้สนับสนุนไม่มีความขัดแย้งหรือแข่งขันกันดุเดือดเกินไป ทว่านับตั้งแต่ยุคพรีเมียร์ลีกเป็นต้นมา การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น และเมอร์ซีย์ไซด์ดาร์บีถือเป็นการแข่งขันดาร์บีที่มีจำนวนใบแดงมากที่สุดในฟุตบอลอังกฤษ[64]
ผู้เล่น
แก้- ณ วันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2024[65]
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
แก้หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นที่ถูกยืมตัว
แก้หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
อดีตผู้เล่นระดับตำนาน
แก้อันดับ | ชื่อ | ฤดูกาลที่ร่วมทีม | จำนวนเกม | ประตู |
---|---|---|---|---|
1 | ปีเตอร์ รีด | 1982 - 1989 | 234 | 13 |
2 | แกรม ชาร์ป | 1979 - 1991 | 447 | 159 |
3 | โจ รอยล์ | 1966 - 1974 | 275 | 119 |
4 | เควิน แรคคลิฟฟ์ | 1980 - 1991 | 461 | 2 |
5 | เรย์ วิลสัน | 1964 - 1969 | 116 | 0 |
6 | อลัน บอล จูเนียร์ | 1966 - 1971 | 208 | 66 |
7 | ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ | 1967 - 1974 | 229 | 21 |
8 | เดวิด วัตสัน | 1990 - 1999 | 524 | 28 |
9 | เนวิลล์ เซาท์ธอลล์ | 1980 - 1989 | 751 | 0 |
10 | บ็อบ แลตช์ฟอร์ด | 1970 - 1979 | 289 | 138 |
11 | อเล็กซ์ ยัง | 1960 - 1969 | 273 | 87 |
12 | เดฟ ฮิคสัน | 1950 - 1959 | 243 | 111 |
13 | ที. จี. โจนส์ | 1940 - 1949 | 178 | 5 |
14 | เท็ด ซาการ์ | 1930 - 1939 | 499 | 0 |
15 | ดิ๊กซี่ ดีน | 1920 - 1929 | 433 | 383 |
16 | แซม เชดซอย | 1910 - 1919 | 300 | 36 |
17 | แจ็ค ชาร์ป | 1900 - 1909 | 342 | 80 |
18 | โคลิน ฮาร์วีย์ | 1963 - 1974 | 384 | 24 |
ทีมยอดเยี่ยมตลอดกาล
แก้- ผู้รักษาประตู - เนวิลล์ เซาท์ธอลล์ (1981-1997)
- แบ็กซ้าย - แกรี สตีเวนส์ (1982-1989)
- เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ - ไบรอัน ลาโบน (1958-1971)
- เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ - เควิน แรคคลิฟฟ์ (1980-1991)
- แบ็กขวา - เรย์ วิลสัน (1964-1969)
- ปีกขวา - เทรเวอร์ สตีเวน (1983-1990)
- มิดฟิลด์ - อลัน บอล จูเนียร์ (1966-1971)
- มิดฟิลด์ - ปีเตอร์ รีด (1982-1989)
- ปีกซ้าย - เควิน ชีดี้ (1982-1992)
- กองหน้า ดิ๊กซี่ ดีน (1925-1937)
- กองหน้า - แกรม ชาร์ป (1980-1991)
ชุดแข่งขันและสปอนเซอร์
แก้ปี | ชุดที่ใช้ | สปอนเซอร์ |
---|---|---|
1974–79 | อัมโบร | none |
1979–83 | Hafnia | |
1983–85 | เลอ คอก สปอร์ติฟ | |
1985–86 | NEC | |
1986–95 | อัมโบร | |
1995–97 | เดนคา | |
1997–2000 | One 2 One | |
2000–02 | พูม่า | |
2002–04 | เคอเจี้ยน | |
2004–09 | อัมโบร | เบียร์ช้าง |
2009–12 | เลอ คอก สปอร์ติฟ | |
2012–17 | ไนกี้[66] | |
2017– | อัมโบร | สปอตเปซ่า |
ทำเนียบผู้จัดการทีม
แก้อันดับ | ชื่อ | ปี | จำนวนเกม | เปอร์เซ็นต์คุมทีมชนะ |
---|---|---|---|---|
1 | ธีโอ เคลลี | 1939 – 1948 | 102 | 47 |
2 | คลิฟท์ บรีตัน | 1948 – 1956 | 339 | 50 |
3 | เอียน บุชา | 1956 – 1958 | 99 | 43 |
4 | จอห์นนี แคร์รี | 1958 – 1961 | 122 | 51 |
5 | แฮร์รี่ แคทเทอริก | 1961 – 1973 | 594 | 60 |
6 | บิลลี บิงแฮม | 1973 – 1977 | 172 | 53 |
7 | สตีฟ เบอร์เทินชอว์ | 1977 – 1977 | 1 | 50 |
8 | กอร์ดอน ลี | 1977 – 1981 | 234 | 55 |
9 | ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ | 1981 – 1987 | 338 | 66 |
10 | โคลิน ฮาร์วีย์ | 1987 – 1990 | 174 | 57 |
11 | ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ | 1990 – 1993 | 122 | 51 |
12 | ไมค์ วอล์กเกอร์ | 1994 – 1994 | 34 | 32 |
13 | โจ รอยล์ | 1994 – 1997 | 119 | 55 |
14 | ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์ | 1997 – 1998 | 42 | 42 |
15 | วอลเตอร์ สมิธ | 1998 – 2002 | 168 | 46 |
16 | เดวิด มอยส์ | 2002 – 2013 | 516 | 42 |
17 | โรเบร์โต มาร์ติเนซ | 2013 – 2016 | 140 | 43 |
18 | โรนัลด์ กุมัน | 2016 – 2017 | 58 | 41 |
19 | แซม อัลลาร์ไดซ์ | 2017 – 2018 | 26 | 39 |
20 | มาร์กู ซิลวา | 2018 | 42 | 41 |
21 | ดันแคน เฟอร์กูสัน | 2019 | 4 | 25 |
22 | การ์โล อันเชลอตตี | 2019 – 2021 | 67 | 46 |
23 | ราฟาเอล เบนิเตซ | 2021 – 2022 | 22 | 31 |
24 | ดันแคน เฟอร์กูสัน | 2022 | 1 | 0 |
25 | แฟรงก์ แลมพาร์ด | 2022 – 2023 | 43 | 28 |
26 | ชอน ไดช์ | 2023 – | 73 | 34 |
เกียรติประวัติ
แก้ระดับประเทศ
แก้- ดิวิชันสอง
- ชนะเลิศ (1): 1930–31
- ฟูลเม็มเบอร์คัพ
- รองชนะเลิศ (2): 1989, 1991
- ซูเปอร์คัพ (อังกฤษ)
- รองชนะเลิศ (1): 1985–86
ระดับทวีปยุโรป
แก้- ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ
- ชนะเลิศ (1): 1984–85
รายการอื่น ๆ
แก้- World Soccer Magazine World Team of the Year
- ชนะเลิศ (1): 1985
อ้างอิง
แก้- ↑ "Premier League Handbook Season 2015/16" (PDF). Premier League. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-06. สืบค้นเมื่อ 23 May 2016.
- ↑ "Everton FC - News, Transfers, Fixtures & Results - Express.co.uk | Express.co.uk". www.express.co.uk.
- ↑ Cup, Florida. "Everton Football Club - Florida Cup 2021". Florida Cup. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-09. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Seasons in the Top Flight of English Football by Clubs 1888-89 to 2021-22". My Football Facts (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "What does evertonian mean?". www.definitions.net.
- ↑ "Subscribe to read". www.ft.com.
{{cite web}}
: Cite ใช้ชื่อทั่วไป (help) - ↑ "Everton FC history, facts and stats". www.footballhistory.org.
- ↑ "Soccer Teams, Scores, Stats, News, Fixtures, Results, Tables - ESPN". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "St Domingo's - 53.425799°N, 2.964903°W | Everton Football Club". web.archive.org. 2017-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "9 Facts About Football In The First World War". Imperial War Museums (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "EVERTONFC.COM: | History | The Everton Story | 1878 - 1930". web.archive.org. 2007-09-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "English Energy and Nordic Nonsense". www.rsssf.com.
- ↑ "Everton 1938-1939 Home - statto.com". web.archive.org. 2013-09-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-22. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "EVERTONFC.COM: | History | The Everton Story | 1931 - 1960". web.archive.org. 2006-11-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-13. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "1962/63 Season | Everton Football Club". web.archive.org. 2015-09-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-05. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "1969/70 Season | Everton Football Club". web.archive.org. 2015-06-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-28. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "1969/70 Season / Championship Wins / The Everton Story / History / evertonfc.com - The Official Website of Everton Football Club". web.archive.org. 2013-10-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "EVERTONFC.COM: | History | The Everton Story | 1961 - 1980". web.archive.org. 2007-02-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-16. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Everton FC Season History | Premier League". www.premierleague.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Summary - Premier League - England - Results, fixtures, tables and news - Soccerway". uk.soccerway.com.
- ↑ "Rooney deal explained" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2004-09-01. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Everton complete Johnson capture" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2006-05-30. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Yakubu joins Everton for £11.25m" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2007-08-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Everton smash record for Fellaini" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-09-02. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Round appointed Man Utd assistant". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Roberto Martínez says his aim is to take Everton into the Champions League". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2013-06-05.
- ↑ "Hull City 0-2 Everton". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ UEFA.com. "Dynamo Kyiv-Everton 2015 History | UEFA Europa League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Roberto Martínez sacked by Everton after disappointing season". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-05-12.
- ↑ "Everton confirm Koeman appointment". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Koeman sacked as Everton manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Everton aiming to appoint Marco Silva after sacking Sam Allardyce". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-05-16.
- ↑ "Everton appoint Marco Silva and expect 'attractive, attacking football'". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-05-31.
- ↑ "Everton handed 2-year ban from signing academy players". FOX Sports (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Club Statement". www.evertonfc.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "'The perfect appointment': Everton name Carlo Ancelotti as manager". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2019-12-21.
- ↑ "'Ancelotti exit a cold shower on Everton ambitions'". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Benitez Appointed Everton Manager". www.evertonfc.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Rafael Benitez: Everton sack manager after just six-and-a-half months in charge following Norwich defeat". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Frank Lampard: Everton appoint former Chelsea boss as new manager to replace Rafael Benitez". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Everton receive immediate 10-point deduction". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-11-26.
- ↑ "What other big points deductions have there been?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2023-11-26.
- ↑ Hunter, Andy (2023-12-01). "Everton lodge appeal and hint at tension over commission's independence". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-12-16.
- ↑ "Everton and Forest charged with financial breaches". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-01-29.
- ↑ Boyland, David Ornstein and Patrick. "Everton's 10-point penalty reduced to six". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ToffeeWeb: Everton History - Part II". web.archive.org. 2011-06-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "ToffeeWeb: Everton History - Part II". web.archive.org. 2011-06-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Everton motto to return after fans condemn badge redesign". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2013-09-19. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
- ↑ "Everton History | ToffeeWeb". www.toffeeweb.com.
- ↑ "Next Crest Revealed / Latest News / News / evertonfc.com - The Official Website of Everton Football Club". web.archive.org. 2014-07-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "ToffeeWeb - The Club - Folklore - Origins". web.archive.org. 2006-08-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-09. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "ToffeeWeb - The Club - Folklore - Origins". web.archive.org. 2006-08-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-09. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Football". mirror (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Groom, Andy (2014). The Illustrated Everton Story. Andrews UK Limited.
- ↑ "Liverpool Football Club is formed - Liverpool FC". web.archive.org. 2012-09-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-07. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Everton Breaks Ground On New Stadium". www.evertonfc.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "WATCH: Key Milestone For Everton's New Stadium". www.evertonfc.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Everton Football Club". www.evertonfc.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "bluekipper.com - Everton Supporters Clubs". web.archive.org. 2006-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-20. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Usa, Everton (2013-01-05). "Everton USA: US Everton FC Supporters Clubs". Everton USA.
- ↑ "Everton Supporters Club (SINGAPORE) | ABOUT SESC". web.archive.org. 2006-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-20. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Malaysia Toffees". malaysiantoffees.blogspot.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "thai.evertonfc.com | เว็บไซด์สโมสรเอฟเวอร์ตันภาคภาษาไทยอย่างเป็นทางการ". web.archive.org. 2006-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-20. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Telegraph | Sport | Gerrard off as Reds take derby honours". web.archive.org. 2006-04-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-24. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Everton 2024/25 Squad Numbers Confirmed". Everton FC. สืบค้นเมื่อ 31 August 2024.
- ↑ O'Keeffe, Greg (8 March 2012). "Everton FC agree three-year kit deal with US sportswear giant Nike". Liverpool Echo. สืบค้นเมื่อ 8 June 2012.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- www.evertonfc.com (อังกฤษ) Official Website
- สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน ที่เฟซบุ๊ก
- th.evertonfc.com เก็บถาวร 2013-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสโมสรเอฟเวอร์ตัน ภาคภาษาไทย
- www.facebook.com/evertonfcthailand แฟนเพจอย่างเป็นทางการของสโมสรเอฟเวอร์ตัน ภาคภาษาไทย
- www.toffeweb.com
- www.bluesblood.com Evertonians Thailand Fan Club ได้รับการรับรองให้เป็นแฟนคลับอย่างเป็นทางการจากสโมสรเอฟเวอร์ตัน
- www.evertonthailand.com เก็บถาวร 2013-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Everton Thailand Website เว็บไซต์แฟนเอฟเวอร์ตัน ภาคภาษาไทย
- www.facebook.com/Everton.Thailand Facebook Everton Thailand แฟนเพจ ภาคภาษาไทย