อีเอฟแอลคัพ

การแข่งขันฟุตบอล

อิงกลิชฟุตบอลลีกคัพ (อังกฤษ: English Football League Cup) มักเรียกกันว่า ลีกคัพ (อังกฤษ: League Cup) และปัจจุบันรู้จักในชื่อ คาราบาวคัพ (อังกฤษ: Carabao Cup) ด้วยเหตุผลด้านผู้สนับสนุน เป็นการแข่งขันฟุตบอลแบบแพ้คัดออกประจำปีของสโมสรฟุตบอลชายในอังกฤษ การแข่งขันจัดโดย อิงกลิชฟุตบอลลีก (อีเอฟแอล) เปิดให้สโมสรใดก็ตามที่อยู่ในสี่ระดับสูงสุดของระบบลีกฟุตบอลอังกฤษ รวมทั้งหมด 92 สโมสร ประกอบด้วย พรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นลีกสูงสุด และการแข่งขันลีกของอิงกลิชฟุตบอลลีกทั้ง 3 ดิวิชัน (แชมเปียนชิป, ลีกวัน และลีกทู)

อีเอฟแอลคัพ
โลโก้อีเอฟแอลคัพใช้ตั้งแต่ฤดูกาล 2017–18
ผู้จัดอิงกลิชฟุตบอลลีก
ก่อตั้ง
  • ค.ศ. 1960; 65 ปีที่แล้ว (1960) (ในชื่อ ฟุตบอลลีกคัพ)
  • ค.ศ. 2016; 9 ปีที่แล้ว (2016) (ในชื่อ อีเอฟแอลคัพ)
ภูมิภาค อังกฤษ
 เวลส์
จำนวนทีม92
ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าคอนเฟอเรนซ์ลีก รอบเพลย์ออฟ
ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (ผ่านการชนะเลิศพรีเมียร์ลีก)
ทีมชนะเลิศปัจจุบันลิเวอร์พูล (สมัยที่ 10)
ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดลิเวอร์พูล (10 สมัย)
ผู้แพร่ภาพโทรทัศน์สกายสปอร์ตส์
ไอทีวีสปอร์ต
ไทยรัฐทีวี
เว็บไซต์efl.com/competitions/carabao-cup
อีเอฟแอลคัพ ฤดูกาล 2024–25

การแข่งขันจัดขึ้นครั้งแรกในฤดูกาล 1960–61 ในชื่อ ฟุตบอลลีกคัพ เป็นหนึ่งในสามการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดในประเทศของอังกฤษ ร่วมกับ พรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ การแข่งขันจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนการแข่งขันสำคัญอีกสองรายการซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม การแข่งขันได้รับการเสนอโดยลีกเพื่อตอบสนองต่อความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของฟุตบอลยุโรป และเพื่อใช้พลังอำนาจเหนือเอฟเอ นอกจากนั้นยังใช้ประโยชน์จากการติดตั้งไฟสปอตไลท์ ทำให้สามารถจัดการแข่งขันได้เหมือนเกมในช่วงเย็นวันธรรมดา หลังฟุตบอลลีกเปลี่ยนชื่อเป็นอิงกลิชฟุตบอลลีกใน ค.ศ. 2016 การแข่งขันก็เปลี่ยนชื่อเป็น อีเอฟแอลคัพ ตั้งแต่ฤดูกาล 2016–17 เป็นต้นไป

การแข่งขันจะจัดขึ้นทั้งหมด 7 รอบ โดยจะแข่งขันแบบนัดเดียวตลอด ยกเว้นรอบรองชนะเลิศ นัดชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นที่สนามกีฬาเวมบลีย์ ซึ่งเป็นนัดเดียวของการแข่งขันที่จัดขึ้นที่สนามกลางและในช่วงสุดสัปดาห์ (วันอาทิตย์) สองรอบแรกจะถูกแบ่งเป็นโซนเหนือและใต้ และระบบบายตามระดับลีกจะช่วยให้ทีมที่มีอันดับสูงกว่า และทีมที่ยังแข่งขันอยู่ในระดับยุโรปเข้าแข่งขันในรอบถัด ๆ ไป ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลอีเอฟแอลคัพ[1] ซึ่งมีอยู่สามแบบ โดยแบบปัจจุบันเป็นแบบดั้งเดิม และผ่านเข้าไปแข่งขันในระดับยุโรป ได้แก่ ตั้งแต่ฤดูกาล 1966–67 จนถึง 1971–72 ผู้ชนะเลิศจะได้แข่งขันในอินเตอร์-ซิตีส์แฟส์คัพ, ตั้งแต่ฤดูกาล 1972–1973 จนถึง 2019–20 ได้แข่งขันในยูฟ่ายูโรปาลีก (อดีต ยูฟ่าคัพ) และตั้งแต่ฤดูกาล 2020–21 ได้แข่งขันในยูฟ่าคอนเฟอเรนซ์ลีก หากผู้ชนะเลิศผ่านเข้าไปแข่งขันในระดับยุโรปผ่านวิธีการอื่นเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ตำแหน่งจะถูกส่งต่อไปยังทีมที่อยู่ในอันดับสูงสุดของพรีเมียร์ลีกที่ยังไม่ได้ผ่านเข้าไปแข่งขันในระดับยุโรป สโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการแข่งขันคือแชมป์ปัจจุบัน ลิเวอร์พูล โดยชนะเชลซี 1–0 ในนัดชิงชนะเลิศ 2024 เป็นการชนะเลิศลีกคัพสมัยที่สิบของพวกเขา

สถานะ

แก้

แม้ว่าลีกคัพจะเป็นหนึ่งในสี่ถ้วยรางวัลภายในประเทศที่ทีมในลีกอังกฤษสามารถคว้าได้ แต่ก็ถือว่ามีเกียรติน้อยกว่าแชมป์ลีกสูงสุดหรือเอฟเอคัพ[2] ผู้ชนะเลิศลีกคัพจะได้รับเงินรางวัล 100,000 ปอนด์ (มอบโดยฟุตบอลลีก) ขณะที่รองชนะเลิศจะได้รับ 50,000 ปอนด์ ถือว่าไม่มีนัยสำคัญเท่าใดนักสำหรับทีมชั้นนำ เมื่อเทียบกับเงินรางวัล 2 ล้านปอนด์ของเอฟเอคัพ ซึ่งถูกบดบังด้วยรายได้จากโทรทัศน์ของพรีเมียร์ลีก (มอบให้ตามตำแหน่งสุดท้ายในลีกเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล) และการมีส่วนร่วมในรายการแชมเปียนส์ลีกที่ตามมา[3][4]

บางสโมสรส่งทีมที่อ่อนแอกว่าลงแข่งขันหลายครั้ง ทำให้โอกาสในการสังหารยักษ์ของสโมสรใหญ่มีมากขึ้น หลายสโมสรในพรีเมียร์ลีก โดยเฉพาะอาร์เซนอล และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ใช้การแข่งขันเพื่อมอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้กับผู้เล่นรุ่นเยาว์ในการแข่งขันเกมใหญ่[5] ด้วยเหตุนี้แฟน ๆ หลายคนจึงเริ่มเรียกการแข่งขันนี้อย่างเสียดสีว่า "ถ้วยมิกกีเมาส์"

อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้อธิบายเมื่อ ค.ศ. 2010 ว่าถ้วยรางวัลดังกล่าวคุ้มค่าที่จะคว้ามาครอง เป็นการตอบโต้ข้ออ้างของ อาร์แซน แวงแกร์ ที่ว่าการคว้าแชมป์ลีกคัพจะไม่ทำให้การรอคอยแชมป์ของเขาสิ้นสุดลง หลังจากช่วงเวลาแห่งความตกต่ำซึ่งอนาคตของการแข่งขันถูกตั้งคำถามอยู่เป็นประจำ ในปีที่ผ่านมามีการฟื้นคืนความเคารพต่อถ้วยรางวัล เนื่องจากสโมสรใหญ่ ๆ ในพรีเมียร์ลีกกลับมาครองการแข่งขันอีกครั้ง และธรรมชาติของการพัฒนาของการแข่งขันก็เริ่มถูกมองว่าเป็นผลดีสำหรับสโมสรที่เกี่ยวข้อง สโมสรใหญ่ในพรีเมียร์ลีก ได้แก่ แมนเชสเตอร์ซิตี (6), แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (5), ลิเวอร์พูล (5) และเชลซี (3) ชนะเลิศการแข่งขันรวมกัน 19 สมัย ตั้งแต่ ค.ศ. 2001 ถึง 2024[6]

ประวัติ

แก้
 
ออกซฟอร์ดยูไนเต็ดชนะเลิศฟุตบอลลีกคัพเมื่อ ค.ศ. 1986

แนวคิดเดิมของลีกคัพมาจาก สแตนลีย์ รูส์ ซึ่งมองว่าการแข่งขันเป็นการปลอบใจสำหรับสโมสรที่ตกรอบเอฟเอคัพ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่รูส์ที่เข้ามาดำเนินการ แต่เป็น แอลัน ฮาร์เดเกอร์ เลขาธิการฟุตบอลลีก ในตอนแรก ฮาร์ดาเกอร์เสนอให้มีการแข่งขันขึ้นเพื่อเป็นวิธีให้สโมสรสามารถชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปเนื่องจากจำนวนนัดการแข่งขันที่ลดลง ในขณะที่ลีกจะต้องมีการจัดโครงสร้างใหม่ การปรับโครงสร้างใหม่ของลีกไม่ได้เกิดขึ้นในทันที อย่างไรก็ตาม การแข่งขันชิงถ้วยก็ยังคงดำเนินต่อไป

ถ้วยรางวัลได้รับเงินสนับสนุนเป็นการส่วนตัวจาก โจ ริชาร์ดส์ ประธานฟุตบอลลีก เขารู้สึกภูมิใจกับการแข่งขัน และได้สลักชื่อของเขาเองไว้บนถ้วยรางวัล ริชาร์ดส์กล่าวถึงการก่อตั้งการแข่งขันครั้งนี้ว่าเป็น "ก้าวชั่วคราว" บนเส้นทางสู่การปรับโครงสร้างใหม่ของลีก[7] สิ่งสำคัญอันดับแรกของริชาร์ดส์คือการปรับโครงสร้างลีก "บางทีอาจจะลดจำนวนสโมสรในแต่ละดิวิชันลง ดังที่ได้เสนอไปแล้ว และอาจจะให้การพิจารณาถึงระบบขึ้นสี่และลงสี่มากขึ้นด้วย"

ฮาร์ดาเกอร์รู้สึกว่าฟุตบอลลีกจำเป็นต้องปรับตัวตามยุคสมัย เนื่องจากกีฬาอังกฤษกำลังสูญเสียชื่อเสียง เขาคิดว่าฟุตบอลลีกควรเป็นผู้นำในการฟื้นฟูวงการฟุตบอลในประเทศ: "ทุกคนคงทราบดีว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง และขึ้นอยู่กับฟุตบอลลีกที่จะเป็นผู้นำ ผมหวังว่าสื่อจะไม่สรุปทันทีว่าลีกจะพ่ายแพ้ให้กับเอฟเอหรือใครก็ตาม... ถึงเวลาแล้วที่เสียงของเราจะต้องได้รับการรับฟังในทุกปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเกมระดับมืออาชีพ"[7]

การแข่งขันลีกคัพจัดขึ้นในช่วงที่จำนวนผู้ชมในนัดการแข่งขันลดน้อยลง ลีกสูญเสียผู้ชมไปหนึ่งล้านคนเมื่อเทียบกับฤดูกาลก่อน ลีกคัพก่อตั้งขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่าง ฟุตบอลลีก และสมาคมฟุตบอลนั้นสูง ความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องการแบ่งรายได้ระหว่างสโมสร

 
การใช้ประโยชน์จากไฟสปอร์ตไลต์ในการแข่งขันฟุตบอลลีกคัพระหว่างเวสต์แฮมยูไนเต็ดกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่อัปตันพาร์กเมื่อ ค.ศ. 2010

ช่วงปลายทศวรรษ 1950 สโมสรระดับสูงของอังกฤษส่วนใหญ่ได้ติดตั้งไฟสปอร์ตไลต์ไว้ในสนามของตน เป็นการเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากช่วงเย็นวันธรรมดาตลอดฤดูหนาว ลีกคัพจัดขึ้นครั้งแรกในฤดูกาล 1960–61 เป็นการแข่งขันกลางสัปดาห์ที่ใช้ไฟสปอร์ตไลต์เพื่อแทนที่เซาเทิร์นโปรเฟสชันนัลฟลัดไลต์คัพโดยเฉพาะ[8]

ลีกคัพถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสโมสรที่มีฐานะดีกว่า ผู้สื่อข่าวของ เดอะไทมส์ ในขณะนั้นรู้สึกว่าลีกคัพเป็นการก้าวไปในทิศทางที่ผิด ยูโรเปียนคัพก่อตั้งขึ้นเมื่อห้าปีก่อนที่จะมีการแข่งขันลีกคัพ และผู้สื่อข่าวรู้สึกว่าการก่อตั้งการแข่งขันลีกคัพทำให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมเพิ่มมากขึ้น เดอะไทมส์ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1960: "เมื่อจำเป็นต้องลดขนาดลงอย่างมากเพื่อพยายามยกระดับคุณภาพ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปริมาณและการแพร่กระจายของความธรรมดาออกไปจะเป็นสาเหตุหลัก ในขณะที่ผู้ชายอย่าง เคานต์ เบอร์นาเบว ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กำลังคิดถึงลีกยุโรปในอนาคต ซึ่งผู้นำของเราน่าจะสามารถร่วมกันนำได้อย่างแน่นอน ฟุตบอลลีกเสนอให้ฤดูกาลหน้าจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกคัพซึ่งไร้ประโยชน์และแข่งขันกันในกลางสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ผู้เล่น สโมสร และสาธารณชนไม่ได้อะไรเลย"[9]

แอสตันวิลลา เป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันลีกคัพที่จัดขึ้นครั้งแรกในฤดูกาล 1960–61 โดยชนะรอเทอรัมยูไนเต็ด ด้วยผลประตูรวม 3–2 จากนัดชิงชนะเลิศสองนัด ฟุตบอลในอังกฤษถือว่ามีคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับการแข่งขันในทวีปยุโรป เนื่องจากในปีเดียวกัน เบิร์นลีย์ และวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ ซึ่งเป็นสโมสรที่ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก เป็นตัวแทนของอังกฤษในการแข่งขันฟุตบอลยุโรป โดยที่พวกเขาคว้าถ้วยรางวัลสำคัญก่อนสโมสรที่ใหญ่กว่ามากอย่าง อาร์เซนอล และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ริชาร์ดส์อ้างถึงความกระหายในการเล่นฟุตบอลยุโรปว่าเป็น 'ความเร่าร้อนระดับทวีป' เขาต้องการให้ลีกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง 'เราต้องเตรียมพร้อมที่จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของลีกและเกมมากกว่าสโมสรแต่ละแห่ง'[10] มีสิบหกสโมสรที่คัดค้านการจัดการแข่งขันลีกคัพ แต่มีสามสิบเอ็ดสโมสรที่เห็นชอบ[10] จำนวนผู้ชมการแข่งขันลีกคัพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10,556 คน สูงกว่ายอดผู้ชมเฉลี่ยในดิวิชัน 3 เล็กน้อย[11] จำนวนผู้ชมการแข่งขันฟุตบอลลีกลดลง 4 ล้านคนจากฤดูกาลก่อน ริชาร์ดส์กล่าวกับฮาร์ดาเกอร์ว่าเขาคาดการณ์ไว้ว่า 'นัดชิงชนะเลิศลีกคัพจะจัดขึ้นที่เวมบลีย์ แต่คงไม่ใช่ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่' นัดชิงชนะเลิศลีกคัพครั้งแรกที่จัดขึ้นที่เวมบลีย์คือนัดที่ ควีนส์พาร์กเรนเจอส์จากดิวิชัน 3 ชนะเวสต์บรอมมิชอัลเบียนจากดิวิชัน 1 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1967 ริชาร์ดส์เสียชีวิตใน ค.ศ. 1968

แอสตันวิลลา ผู้ชนะเลิศลีกคัพสมัยแรกในฤดูกาล 1960–61 ในขณะนั้นครองสถิติเป็นผู้คว้าถ้วยรางวัลสำคัญ ๆ ในอังกฤษได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในนัดชิงชนะเลิศอีกสามครั้งถัดมา ถ้วยรางวัลจะถูกมอบให้กับสโมสรที่ไม่เคยชนะเลิศในรายการสำคัญมาก่อน หนึ่งในนั้นคือ นอริชซิตี ซึ่งยังไม่เคยเล่นในดิวิชัน 1 ขณะที่คู่แข่งของพวกเขา รอชเดล เคยเล่นไม่สูงไปกว่าดิวิชัน 3[12]

การนำเสนอลีกคัพทำให้ฟุตบอลลีกมีอำนาจในการต่อรองกับเอฟเอและยูฟ่าเพิ่มมากขึ้น ฮาร์ดาเกอร์ขู่ยูฟ่าว่าจะคว่ำบาตรยูฟ่าคัพ หากยูฟ่าไม่ให้ผู้ชนะลีกคัพได้สิทธิ์ไปเล่นในระดับยุโรป ผลจากวิธีการเจรจาดังกล่าว ยูฟ่าจึงมอบตำแหน่งให้กับผู้ชนะลีกคัพในการแข่งขันระดับยุโรป โดยมีเงื่อนไขว่าทีมจะต้องอยู่ในดิวิชัน 1 แม้ว่าลีดส์ยูไนเต็ดจะชนะเลิศการแข่งขันก่อนทอตนัม แต่ลีดส์ก็ผ่านเข้าไปเล่นในยุโรปได้เพราะตำแหน่งในลีก ผู้ชนะเลิศในฤดูกาล 1966–67 และ 1968–69 คือ ควีนส์พาร์กเรนเจอส์ และสวินดันทาวน์ ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับยุโรป เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในดิวิชัน 1[13]

ก่อนข้อตกลงกับยูฟ่า การแข่งขันลีกคัพไม่ถือว่าคุ้มค่าต่อการให้ความสนใจของสโมสรใหญ่ ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเสนอตำแหน่งในยุโรป เช่นเดียวกันกับนัดชิงชนะเลิศที่สนามกีฬาเวมบลีย์ สถานะของการแข่งขันก็ดีขึ้นและในฤดูกาล 1968–69 มีเพียงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเท่านั้นที่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม[14] เอฟเวอร์ตันเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการแข่งขันในฤดูกาล 1970–71 เพื่อให้พวกเขาสามารถมุ่งความพยายามไปที่ยูโรเปียนคัพได้ ในปีถัดไป ทีมฟุตบอลลีกทุกทีมต้องเข้าร่วมการแข่งขัน

ลิเวอร์พูล เป็นผู้ชนะเลิศลีกคัพมากที่สุดที่สิบสมัย และชนะเลิศสี่ครั้งติดต่อกันร่วมกับแมนเชสเตอร์ซิตี ลิเวอร์พูลชนะเลิศสามรายการได้สองครั้ง โดยหนึ่งในสามรายการคือลีกคัพในฤดูกาล 1983–84 และ 2000–01[15][16]

สโมสรจากอังกฤษต้องสูญเสียตำแหน่งในการแข่งขันระดับยุโรปไปอย่างไม่มีกำหนดในปี ค.ศ. 1985 เนื่องจากภัยพิบัติเฮย์เซล ซึ่งแฟนบอลลิเวอร์พูลมีส่วนร่วมในการจลาจลนัดชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพ ส่งผลให้มีผู้ชมเสียชีวิต 39 ราย ผู้ชนะเลิศลีกคัพในปีดังกล่าวคือ นอริชซิตี มิฉะนั้นพวกเขาจะได้เล่นในรายการแข่งขันระดับยุโรปเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1985–86 ออกซฟอร์ดยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, ลูตันทาวน์ และนอตทิงแฮมฟอเรสต์ พลาดโอกาสลงแข่งขันในยูฟ่าคัพ ในฐานะผู้ชนะเลิศลีกคัพในอีกสี่ปีข้างหน้า แม้ว่าการแบนจะถูกยกเลิกใน ค.ศ. 1990 แต่ผู้ชนะเลิศลีกคัพก็ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับยุโรปอีกเป็นเวลา 2 ปี เมื่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศลีกคัพและผ่านเข้าไปเล่นยูฟ่าคัพได้สำเร็จ เนื่องจากพวกเขาจบอันดับที่สองของลีก ในสองฤดูกาลก่อนหน้านี้ นอตทิงแฮมฟอเรสต์ และเชฟฟีลด์เวนส์เดย์ ทั้งคู่ถูกขัดขวางไม่ให้ลงแข่งขันในรายการยูฟ่าคัพในฐานะผู้ชนะเลิศลีกคัพ เนื่องจากสโมสรจากอังกฤษเริ่มกลับมาเข้าร่วมแข่งขันในระดับยุโรปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การแข่งขันเปลี่ยนชื่อเป็นอีเอฟแอลคัพในฤดูกาล 2016–17 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ใหม่ของฟุตบอลลีกให้กลายเป็นอิงกลิชฟุตบอลลีก

การเปลี่ยนแปลงในยุคใหม่

แก้

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 หลังจากมีการปรับโครงสร้างฟุตบอลยุโรป โดยเฉพาะการแข่งขันสโมสรระหว่างประเทศ ได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่ายูโรปาลีก และยูฟ่าคอนเฟอเรนซ์ลีก มีการพิจารณาที่จะถอดรางวัลการเข้าไปแข่งขันระดับยุโรปออกจากผู้ชนะเลิศลีกคัพ อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นสมาชิกยูฟ่าเพียงสองประเทศเท่านั้นที่เสนอสิทธิ์ไปเล่นบอลยุโรปให้กับผู้ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลถ้วยรายการที่สองจนถึงปี 2020 เมื่อกุปเดอลาลีกถูกระงับอย่างไม่มีกำหนด หมายความว่าอังกฤษเป็นสมาชิกยูฟ่าเพียงประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิ์[17] ทำให้ลีกคัพยังคงได้รับความนิยม โดยเฉพาะกับแฟนบอลของสโมสรที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันฟุตบอลถ้วย เพราะเป็นโอกาสเดียวเท่านั้นในการผ่านเข้าไปเล่นในระดับยุโรป[18][19]

การสังหารยักษ์

แก้

การสังหารยักษ์ไม่ค่อยถูกจดจำเท่าไหร่ในลีกคัพ เมื่อเทียบกับในเอฟเอคัพ เนื่องจากไม่มีทีมนอกลีกและความจริงที่ว่าสโมสรใหญ่ ๆ มักจะส่งทีมที่ไม่มีประสบการณ์ลงสนามในรอบแรก ๆ อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์พลิกผันที่จดจำอยู่บ้าง เช่น นัดชิงชนะเลิศของฤดูกาล 1966–67 เมื่อควีนส์พาร์กเรนเจอส์จากดิวิชัน 3 กลับมาชนะเวสต์บรอมมิชอัลเบียนจากลีกสูงสุด 3–2 จากการตามหลัง 2-0 ในครึ่งเวลาแรก และยังเป็นนัดชิงชนะเลิศนัดแรกที่จัดขึ้นที่สนามกีฬาเวมบลีย์ สองปีต่อมาในฤดูกาล 1968–69 สวินดันทาวน์จากดิวิชัน 3 ชนะอาร์เซนอล 3–1 หลังต่อเวลาพิเศษในนัดชิงชนะเลิศ ขณะที่ในฤดูกาล 1974–75 เชสเตอร์จากดิวิชัน 4 ชนะแชมป์เก่าของลีก ลีดส์ยูไนเต็ด 3–0 ในรอบสี่ ก่อนที่พวกเขาจะตกรอบในรอบรองชนะเลิศ

สการ์โบโร อดีตสโมสรจากลีกดิวิชัน 4 และตอนนี้ยุบไปแล้ว ชนะเชลซี ด้วยผลประตูรวม 4–3 เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1989 สการ์โบโรยังชนะคอเวนทรีซิตี (จากลีกสูงสุดในเวลานั้น) ในรอบสองของฤดูกาล 1992–93 ด้วยผลประตูรวม 3–2 ก่อนที่พวกเขาจะตกรอบในรอบสี่ โดยแพ้ให้กับอาร์เซนอล 1–0

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แพ้ในบ้าน 3–0 ให้กับยอร์กซิตีในนัดแรก แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกลับมาชนะในนัดที่สองด้วยผลประตู 1–3 แต่พวกเขาก็ตกรอบด้วยผลประตูรวม 4–3 ในรอบสองของฤดูกาล 1995–96 (ยอร์กซิตีได้ทำความสำเร็จนี้ซ้ำอีกครั้งเมื่อพบกับเอฟเวอร์ตันในฤดูกาลถัดไป) แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะเลิศเอฟเอพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ และไม่แพ้เกมเหย้าอีกเลยในฤดูกาลนั้น ในขณะที่ยอร์กเลี่ยงการตกชั้นไปยังดิวิชัน 3 (ระดับสี่) ได้อย่างหวุดหวิด

รูปแบบ

แก้

ลีกคัพเปิดให้สมาชิกทั้ง 92 สโมสรของพรีเมียร์ลีก และอิงกลิชฟุตบอลลีกเข้าร่วมได้ โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 7 รอบ เพื่อให้เหลือ 32 สโมสรเมื่อถึงรอบสาม (ยกเว้นฤดูกาล 1961–62)[20] การแข่งขันในทุก ๆ รอบ ยกเว้นนัดชิงชนะเลิศ จะมีการจับฉลากแบบสุ่ม ตั้งแต่ฤดูกาล 1996–97 สโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันระดับยุโรปในระหว่างฤดูกาลได้รับสิทธิ์บายเข้าสู่รอบสาม สโมสรที่เหลือในพรีเมียร์ลีกจะเข้าสู่รอบสอง และสโมสรในฟุตบอลลีกที่เหลือจะเข้าสู่รอบแรก[20] หากจำนวนบายทำให้มีจำนวนสโมสรที่เข้ารอบเป็นเลขคี่ สโมสรอื่นอาจได้รับบาย (โดยปกติจะเป็นสโมสรที่มีอันดับสูงสุดของสโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลก่อน) หรืออาจมีการแข่งขันรอบเบื้องต้นระหว่างสองสโมสรที่เลื่อนชั้นมาจากเนชันนัลลีกในฤดูกาลก่อนหน้า (หรือหากมีเพียงสโมสรเดียวที่ได้รับการเลื่อนชั้น สโมสรนั้นจะต้องแข่งขันกับสโมสรที่อยู่ในอันดับต่ำที่สุดที่ไม่ตกชั้นจากฟุตบอลลีกในฤดูกาลก่อน) มีความจำเป็นที่ต้องมีรอบเบื้องต้นในการแข่งขันฤดูกาล 2002–03 และ 2011–12[20][21] ตั้งแต่ฤดูกาล 1995–96 สโมสรทั้งหมดได้เข้าสู่รอบสอง แม้ว่าบางสโมสรจะได้บายเข้าสู่รอบนั้นก็ตาม[20]

การแข่งขันในทุกรอบจะเป็นแบบนัดเดียว ยกเว้นรอบรองชนะเลิศซึ่งเป็นแบบสองนัดนับตั้งแต่การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น[20] นัดชิงชนะเลิศเป็นแบบสองนัดตั้งแต่ปี 1961 ถึง 1966 และเปลี่ยนเป็นแบบนัดเดียวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[20] รอบแรกแข่งขันแบบสองนัดตั้งแต่ฤดูกาล 1975–76 ถึง 2000–01, และรอบสองแข่งขันแบบสองนัดตั้งแต่ฤดูกาล 1979–80 ถึง 2000–01[20] การแข่งขันแบบนัดเดียวจะมีการแข่งใหม่ตามความจำเป็นจนถึงฤดูกาล 1993–94 เมื่อมีการนำการดวลจุดโทษมาใช้เพื่อตัดสินนัดแข่งใหม่นัดแรก โดยการแข่งขันแบบนัดเดียวสุดท้ายที่ต้องแข่งใหม่เกิดขึ้นในฤดูกาล 1996–97

จนถึงฤดูกาล 1974–75 การแข่งขันแบบสองนัดที่ยังคงเสมอกันหลังจบการต่อเวลาพิเศษในนัดที่สองจะต้องแข่งใหม่ มีสามครั้งที่เสมอจนถึงการแข่งใหม่ในนัดที่สาม[20] ระหว่างฤดูกาล 1975–76 และ 1979–80 หากเสมอกันก็ยังคงต้องแข่งใหม่ แต่จะใช้การดวลจุดโทษเพื่อตัดสินผลเสมอที่ไม่สามารถตัดสินได้หลังจากการแข่งใหม่ การแข่งใหม่หลังจากแข่งขันสองนัดในที่สุดก็ถูกยกเลิกในฤดูกาล 1980–81 โดยนำเอากฎประตูทีมเยือน และการดวลจุดโทษมาใช้แทน[20] รอบรองชนะเลิศเป็นข้อยกเว้น โดยหากเสมอจะแข่งใหม่จนถึงฤดูกาล 1986–87 หลังจากนั้นจึงมีการนำกฎประตูทีมเยือนและการดวลจุดโทษมาใช้[20] รอบรองชนะเลิศจะแข่งขันแบบสองนัด จะใช้กฎประตูทีมเยือนหลังจากการต่อเวลาพิเศษเท่านั้น จนกระทั่งในฤดูกาล 2018–19 การต่อเวลาพิเศษถูกยกเลิกในทุกรอบยกเว้นนัดชิงชนะเลิศ และกฎประตูทีมเยือนถูกยกเลิกสำหรับรอบรองชนะเลิศ โดยผลเสมอกันจะต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ[22][23]

นัดชิงชนะเลิศ

แก้
 
การนำเสนอก่อนการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ 2007 ระหว่างเชลซี และอาร์เซนอล ที่มิลเลนเนียมสเตเดียมในคาร์ดิฟฟ์

การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลลีกคัพในหกฤดูกาลแรกจะแข่งขันแบบสองนัด โดยแข่งขันในแต่ละสนามเหย้าของผู้เข้าชิงชนะเลิศ ตั้งแต่ปี 1967 นัดชิงชนะเลิศจะแข่งขันแบบนัดเดียวที่สนามกีฬาเวมบลีย์ แม้ว่าจะมีการแข่งขันที่มิลเลนเนียมสเตเดียมในคาร์ดิฟฟ์ระหว่างปี 2001 ถึง 2007 หลังจากการรื้อถอนสนามกีฬาเวมบลีย์เก่า ระหว่างปี 1967 ถึง 1997 นัดชิงชนะเลิศที่จบลงด้วยผลเสมอหลังการต่อเวลาพิเศษจะแข่งขันใหม่อีกครั้งในสถานที่อื่นจนกว่าจะมีการตัดสินผู้ชนะ[20] สถานที่ที่เคยจัดการแข่งใหม่ ได้แก่ สนามกีฬาฮิลส์โบโรในเชฟฟิลด์, โอลด์แทรฟฟอร์ด และเมนโรดในแมนเชสเตอร์ และวิลลาพาร์กในเบอร์มิงแฮม นัดชิงชนะเลิศที่ต้องแข่งใหม่สองครั้งคือปี 1977 ระหว่างแอสตันวิลลา และเอฟเวอร์ตัน[20]

ตั้งแต่ปี 1998 นัดชิงชนะเลิศที่จบลงด้วยผลเสมอหลังการต่อเวลาพิเศษจะต้องตัดสินด้วยการดวลลูกโทษ[20] นัดชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน จนกระทั่งฤดูกาล 1999–2000 นัดชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม

ตั้งแต่ฤดูกาล 1989–90 ผู้เล่นยอดเยี่ยมในนัดชิงชนะเลิศลีกคัพจะได้รับรางวัลแอลัน ฮาร์เดเกอร์ ตั้งชื่อตาม แอลัน ฮาร์เดเกอร์ อดีตเลขาธิการฟุตบอลลีกผู้คิดริเริ่มฟุตบอลลีกคัพ จอห์น เทร์รี, เบน ฟอสเตอร์, แว็งซ็อง กงปานี และเฟอร์จิล ฟัน ไดก์ เป็นผู้เล่นเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับรางวัลมากกว่าหนึ่งครั้ง[24]

ถ้วยรางวัล

แก้
 
ถ้วยรางวัลลีกคัพจัดแสดงที่เบอร์มิงแฮม

ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลอีเอฟแอลคัพ[1] ซึ่งมีอยู่สามแบบ โดยแบบปัจจุบันเป็นแบบดั้งเดิม มีลักษณะเป็นแจกันสไตล์จอร์เจียนที่มีด้ามจับสามข้างพร้อมฐานรองแยกต่างหาก (เพิ่มในภายหลัง) ออกแบบและผลิตโดย แมปปินแอนด์เวบบ์ มีน้ำหนัก 2.976 กิโลกรัม และมีขนาด 27 เซนติเมตร ต่อ 20.5 เซนติเมตร มีมูลค่าประมาณ 20,000 ปอนด์[1] ถ้วยรางวัลถูกนำมาใช้จนถึงฤดูกาล 1980–81 ก่อนจะกลับมาใช้อีกครั้งนับตั้งแต่ฤดูกาล 1990–91[25] เหตุผลที่หยุดใช้คือการแนะนำผู้สนับสนุนการแข่งขันรายแรก ซึ่งก็คือ คณะกรรมการตลาดนม ที่เลือกมอบถ้วยรางวัลของตนเองในช่วงฤดูกาล 1981–82 ถึง 1985–86[26] ผู้สนับสนุนรายต่อไปคือ ลิตเติลวูดส์ เลือกที่จะมอบถ้วยรางวัลของตนเองตั้งแต่ฤดูกาล 1986–87 จนถึง 1989–90[27] ผู้สนับสนุนรายต่อมาก็กลับมาใช้ถ้วยรางวัลแบบดั้งเดิม

ผู้สนับสนุน

แก้

ตั้งแต่ ค.ศ. 1981 จนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ถึง 1981 และฤดูกาล 2016–17) ลีกคัพตั้งชื่อการแข่งขันตามชื่อผู้สนับสนุน โดยให้มีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:

ช่วงเวลา ผู้สนับสนุน ชื่อการแข่งขัน ถ้วยรางวัล
1960–1981 ฟุตบอลลีกคัพ ดั้งเดิม
1981–1986 คณะกรรมการตลาดนม มิลค์คัพ ออกแบบโดยผู้สนับสนุน
1986–1990 ลิตเติลวูดส์ ลิตเติลวูดส์ชาเลนจ์คัพ
1990–1992 รัมเบโลวส์ รัมเบโลวส์คัพ ดั้งเดิม
1992–1998 โคคา-โคล่า[28] โคคา-โคล่าคัพ
1998–2003 เวอร์ทิงตันส์[29] เวอร์ทิงตันคัพ
2003–2012 คาร์ลิง[30] คาร์ลิงคัพ
2012–2016 แคปิตอลวัน[31] แคปิตอลวันคัพ
2016–2017 อีเอฟแอลคัพ
2017–2027[32] คาราบาวแดง[33] คาราบาวคัพ

การถ่ายทอดสด

แก้

สกายสปอร์ตส์ เป็นผู้ถ่ายทอดสดอีเอฟแอลคัพในสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์จำนวน 15 นัดตลอด ค.ศ. 2024[34] พร้อมไฮไลต์จากหลายนัดทางช่อง ไอทีวีสปอร์ต เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2022–23[35] การแข่งขันนี้รวมอยู่ในแพ็คเกจออกอากาศอีเอฟแอล ตั้งแต่ฤดูกาล 2024–25 ทุกนัดจะถ่ายทอดสดทางสกายสปอร์ตส์ และไอทีวีจะถ่ายทอดสดรอบรองชนะเลิศหนึ่งนัดและนัดชิงชนะเลิศ

สำหรับประเทศไทย พีพีทีวี เป็นผู้ถ่ายทอดสดอีเอฟแอลคัพตั้งแต่ฤดูกาล 2019–20 จนถึง 2021–22[36][37][38] ทรูไอดีในฤดูกาล 2022–23[39] และไทยรัฐทีวีตั้งแต่ฤดูกาล 2023–24[40]

ผลงานแบ่งตามสโมสร

แก้
ลีกคัพ
สโมสร ชนะเลิศ รองชนะเลิศ ฤดูกาลที่ชนะเลิศ ฤดูกาลที่ได้รองชนะเลิศ
ลิเวอร์พูล 10 4 1980–81, 1981–82, 1982–83, 1983–84, 1994–95, 2000–01, 2002–03, 2011–12, 2021–22, 2023–24 1977–78, 1986–87, 2004–05, 2015–16
แมนเชสเตอร์ซิตี 8 1 1969–70, 1975–76, 2013–14, 2015–16, 2017–18, 2018–19, 2019–20, 2020–21 1973–74
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 6 4 1991–92, 2005–06, 2008–09, 2009–10, 2016–17, 2022–23 1982–83, 1990–91, 1993–94, 2002–03
เชลซี 5 5 1964–65, 1997–98, 2004–05, 2006–07, 2014–15 1971–72, 2007–08, 2018–19, 2021–22, 2023–24
แอสตันวิลลา 5 4 1960–61, 1974–75, 1976–77, 1993–94, 1995–96 1962–63, 1970–71, 2009–10, 2019–20
ทอตนัมฮอตสเปอร์ 4 5 1970–71, 1972–73, 1998–99, 2007–08 1981–82, 2001–02, 2008–09, 2014–15, 2020–21
นอตทิงแฮมฟอเรสต์ 4 2 1977–78, 1978–79, 1988–89, 1989–90 1979–80, 1991–92
เลสเตอร์ซิตี 3 2 1963–64, 1996–97, 1999–2000 1964–65, 1998–99
อาร์เซนอล 2 6 1986–87, 1992–93 1967–68, 1968–69, 1987–88, 2006–07, 2010–11, 2017–18
นอริชซิตี 2 2 1961–62, 1984–85 1972–73, 1974–75
เบอร์มิงแฮมซิตี 2 1 1962–63, 2010–11 2000–01
วุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ 2 0 1973–74, 1979–80
เวสต์บรอมมิชอัลเบียน 1 2 1965–66 1966–67, 1969–70
มิดเดิลส์เบรอ 1 2 2003–04 1996–97, 1997–98
ควีนส์พาร์กเรนเจอส์ 1 1 1966–67 1985–86
ลีดส์ยูไนเต็ด 1 1 1967–68 1995–96
สโตกซิตี 1 1 1971–72 1963–64
ลูตันทาวน์ 1 1 1987–88 1988–89
เชฟฟีลด์เวนส์เดย์ 1 1 1990–91 1992–93
สวินดอนทาวน์ 1 0 1968–69
ออกซฟอร์ดยูไนเต็ด 1 0 1985–86
แบล็กเบิร์นโรเวอส์ 1 0 2001–02
สวอนซีซิตี 1 0 2012–13
เวสต์แฮมยูไนเต็ด 0 2 1965–66, 1980–81
นิวคาสเซิลยูไนเต็ด 0 2 1975–76, 2022–23
เอฟเวอร์ตัน 0 2 1976–77, 1983–84
เซาแทมป์ตัน 0 2 1978–79, 2016–17
ซันเดอร์แลนด์ 0 2 1984–85, 2013–14
โบลตันวอนเดอเรอส์ 0 2 1994–95, 2003–04
รอเทอรัมยูไนเต็ด 0 1 1960–61
รอชเดล 0 1 1961–62
โอลดัมแอทเลติก 0 1 1989–90
แทรนเมียร์โรเวอส์ 0 1 1999–2000
วีแกนแอทเลติก 0 1 2005–06
คาร์ดิฟฟ์ซิตี 0 1 2011–12
แบรดฟอร์ดซิตี 0 1 2012–13

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "The Trophy". capitalonecup.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2016. สืบค้นเมื่อ 28 February 2016.
  2. DeBruler, Paul (28 October 2015). "Let's Remove the Premier League from the League Cup". SB Nation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2016. สืบค้นเมื่อ 17 July 2016.
  3. "Frequently asked questions about the F.A. Premier League, (How are television revenues distributed to Premier League clubs?)". Premier League. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 November 2007. สืบค้นเมื่อ 11 December 2007.
  4. Harris, Nick (23 March 2010). "Premier League nets £1.4bn TV rights bonanza". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 March 2010. สืบค้นเมื่อ 12 September 2010.
  5. "MU boss vows to field young guns in the League Cup final". The Star. 28 February 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 March 2009. สืบค้นเมื่อ 27 February 2011.
  6. "Carling Cup worth winning says Manchester United manager Sir Alex Ferguson". Daily Post. 26 February 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 December 2015. สืบค้นเมื่อ 27 February 2010.
  7. 7.0 7.1 Inglis, Simon (1988). Football League and the men who made it. Harper Collins. p. 215. ISBN 978-0002182423.
  8. "The Southern Professional Floodlit Cup 1955–1960". Footysphere. 22 September 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2018. สืบค้นเมื่อ 11 November 2012.
  9. "Nothing new in League Cup: Football innovation gets us nowhere". The Times. 30 May 1960. สืบค้นเมื่อ 26 October 2013.(ต้องรับบริการ)
  10. 10.0 10.1 Inglis, Simon (1988). Football League and the men who made it. Harper Collins. p. 216. ISBN 978-0002182423.
  11. Inglis, Simon (1988). Football League and the men who made it. Harper Collins. p. 228. ISBN 978-0002182423.
  12. Inglis, Simon (1988). Football League and the men who made it. Harper Collins. p. 205. ISBN 978-0002182423.
  13. "Club History". swindontownfc.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2017. สืบค้นเมื่อ 2023-11-05.
  14. Inglis, Simon (1988). League football and the men who made it. London: Harper Collins. pp. 242. ISBN 978-0002182423.
  15. Mannion, Danny (30 May 2014). "Flashback: Liverpool win treble 15 years before Man United". talkSport. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 February 2023. สืบค้นเมื่อ 13 February 2023.
  16. Smith, Emma (12 April 2020). "Liverpool's 2001 team was better than the miracle of Istanbul squad – Hamann". Goal. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 February 2023. สืบค้นเมื่อ 13 February 2023.
  17. "French League Cup suspended from 2020". BBC Sport. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 December 2021. สืบค้นเมื่อ 9 September 2021.
  18. "European qualification for UEFA competitions explained". Premier League. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 May 2017. สืบค้นเมื่อ 7 November 2018.
  19. "The Competition – EFL". efl.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2018. สืบค้นเมื่อ 7 November 2018.
  20. 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 20.10 20.11 20.12 "The Football League Cup". soccer.mistral.co.uk. SoccerData. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2018. สืบค้นเมื่อ 29 August 2012.
  21. "Carling Cup set for preliminary round". The Football League. 13 June 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 December 2013. สืบค้นเมื่อ 29 August 2012.
  22. "Carabao Cup: Extra time scrapped & VAR to be used at Premier League grounds". BBC Sport. 8 June 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 9 June 2018.
  23. "2018/19: Carabao Cup rule changes". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 June 2018. สืบค้นเมื่อ 7 November 2018.
  24. "Alan Hardaker Trophy". EFL. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2018. สืบค้นเมื่อ 27 July 2018.
  25. "Liverpool v Tottenham Hotspur Match Programme cover 1982 final". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 21 April 2009.
  26. "Man United v Liverpool programme 1983".[ลิงก์เสีย]
  27. "From Luton Town Official website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2012. สืบค้นเมื่อ 21 April 2009.
  28. "Football: Coca-Cola sign Cup deal". The Independent. London. 1 August 1992. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 November 2012. สืบค้นเมื่อ 21 September 2011.
  29. Bond, David (3 April 2002). "Worthington to end Cup sponsorship". Evening Standard. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 September 2012. สืบค้นเมื่อ 5 September 2011.
  30. "Carling Cup sponsorship extended". BBC Sport. 18 December 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2023. สืบค้นเมื่อ 21 September 2011.
  31. "Capital One sponsorship agreed". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2012.
  32. "Carabao extends its title sponsorship of the Carabao Cup until 2026/27 season". EFL. 17 October 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 November 2023. สืบค้นเมื่อ 17 October 2023.
  33. "Carabao 'bring it on' and become new sponsor of EFL Cup". efl.com. English Football League. 4 November 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 January 2017. สืบค้นเมื่อ 4 November 2016.
  34. "Sky Sports extends EFL contract until 2024, broadcasting 138 live games per season". Sky Sports. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2023. สืบค้นเมื่อ 8 January 2019.
  35. Brown, Graeme; Johnson, Greg (1 September 2018). "What is Quest TV? Everything you need to know". footballlondon. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2023. สืบค้นเมื่อ 8 January 2019.
  36. ""พีพีทีวี" คว้าสิทธิ์ยิงสด "คาราบาว คัพ" จนถึงรอบชิงฯ ประเดิมถ่าย หงส์-ผี รอบ 8 ทีมสุดท้าย". mgronline.com. 2019-12-11. สืบค้นเมื่อ 2025-02-17.
  37. "ของขวัญกล่องใหญ่! พีพีทีวี ยิงสด ศึกคาราบาว คัพ 2020/21 บิ๊กแมตช์ผีชนเรือ". pptvhd36.com. 2020-12-30. สืบค้นเมื่อ 2025-02-17.
  38. "พีพีทีวี ยิงสด "เชลซี" ตัด "ลิเวอร์พูล" เดิมพันแชมป์ คาราบาวคัพ". mgronline.com. 2022-02-24. สืบค้นเมื่อ 2025-02-17.
  39. "เริ่ม9ต.ค.นี้! 'ทรูไอดี (TrueID)' ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล คาราบาวคัพ-แชมเปี้ยนชิพ 2022-23". www.tnnthailand.com. 2025-01-17. สืบค้นเมื่อ 2025-02-17.
  40. ""ไทยรัฐทีวี" ยิงสด "คาราบาว คัพ" ซีซั่น 2023-24 เริ่มคู่แรกพรุ่งนี้ "ลิเวอร์พูล-เลสเตอร์"". www.thairath.co.th. 2023-09-26. สืบค้นเมื่อ 2025-02-17.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้