สุรินทร์ มาศดิตถ์

สุรินทร์ มาศดิตถ์ (4 มกราคม พ.ศ. 2470 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2521) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3 สมัย และเป็นบิดาของนายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สุรินทร์ มาศดิตถ์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
15 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม พ.ศ. 2518
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ดำรงตำแหน่ง
21 เมษายน – 23 กันยายน พ.ศ. 2519
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ดำรงตำแหน่ง
5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 มกราคม พ.ศ. 2470
อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
เสียชีวิต5 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 (51 ปี)
อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2509–2521)
คู่สมรสสุดา เทียบศรไชย
พิศมัย ไทยถาวร
ปราณี ขาวเนียม

ประวัติ

แก้

เกิดวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2470 ที่ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายรื่น นางกิมนัด มาศดิตถ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน นายสุรินทร์ เป็นบุตรคนโต เข้าศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนวัดพรหมโลก จบชั้นป.4 เมื่ออายุ 12 ปี เนื่องด้วยฐานะที่ยากจนทางบ้านนายสุรินทร์ได้รับจ้างทำงานมาตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งเก็บผักและผลไม้ และรับจ้างถ่อเรือแจวไปกลับระหว่างอำเภอพรหมคีรีและอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่งเมื่ออายุ 15 ปี ได้หยุดการรับจ้างทุกอย่างเข้าไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช เรียนชั้น ม.1-ม.3 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช) แต่ด้วยความยากจนจึงลาออกจากโรงเรียน ได้กลับไปช่วยทำสวนที่บ้านเดิมบ้าง และรับจ้างทำงานอยู่ในเมืองบ้างตามโอกาส ประมาณปีเศษได้กลับเข้าไปอยู่ในเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยสมัครเป็นพลตำรวจประจำอยู่ที่ สภ.อ.เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเวลาประมาณ 2 ปี ได้ลาออกเพื่อสมัครเข้าเป็นพนักงานภารโรงเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ประจำหน่วยดับเพลิง

แต่ทว่าการที่นายสุรินทร์เป็นผู้สนใจต่อการศึกษาด้วยตนเอง ชอบอ่านหนังสือและค้นคว้าอย่างจริงจังตลอดเวลา และมีความสามารถเป็นพิเศษในการพูด การเขียน การบันทึกรายงาน คณะเทศมนตรีเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้มอบหมายให้เป็นเลขานุการ บันทึกการประชุมเทศบาล ตลอดถึงการเตรียมการประชุม การจัดทำระเบียบวาระการประชุม จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งและการทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ผลปรากฏว่าได้รับเลือกตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2500 ในระหว่างนั้นได้สมัครเป็นสมาชิกร้านสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชควบคู่ไปด้วย และได้รับเลือกเป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่จนครบวาระ 4 ปี

การเมือง

แก้

ในช่วงเวลาเดียวกันได้จัดทำหนังสือพิมพ์ชื่อ "เสียงราษฎร์" โดยเป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ นับเป็นหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียวของจังหวัดนครศรีธรรมราช และมียอดพิมพ์สูงสุดในภาคใต้จึงทำให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปและมีชื่อเสียงกว้างขวาง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว ถึงสมัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ นายสุรินทร์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ในยุคนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค) ในครั้งนั้นนายสุรินทร์ช่วยหาเสียงให้นายไสว สวัสดิสาร ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคลงรับสมัครเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายไสว สวัสดิสาร ได้รับการเลือกตั้ง (คู่กับนายน้อม อุปรมัย และนายฉ่ำ จำรัสเนตร) ทำให้นายสุรินทร์พลอยเป็นที่รู้จักของประชาชนไปด้วย การเลือกตั้งในสมัยต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2509 นายสุรินทร์จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเองในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่าได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก พ.ศ. 2512 ได้รับเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1] และในปีเดียวกันนี้ คือปลายปี พ.ศ. 2518 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่งนายสุรินทร์ได้รับเลือกในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นสมัยที่ 3 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 35[2] แต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย[3] จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนี้อีกครั้ง ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 37[4] และ คณะรัฐมนตรี คณะที่ 38[5]

ชีวิตบั้นปลาย

แก้

ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นายสุรินทร์ถูกกล่าวหาจากฝ่ายขวาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ร่วมกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 คือ นายชวน หลีกภัย และ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ หลังเหตุการณ์ นายสุรินทร์ได้ยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมดและได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พร้อมกับได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งบรรยายความรู้สึกในใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

ชีวิตส่วนตัว นายสุรินทร์ มีภรรยา 3 คน คนแรกคือ นางสุดา (เทียบศรไชย) มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือ นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ (อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช) และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ (ได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 สมัยในเวลาต่อมา) ภรรยาคนที่ 2 คือนางพิศมัย (ไทยถาวร) มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน และภรรยาคนที่ 3 คือนางปราณี (ขาวเนียม) มีบุตรด้วยกัน 1 คน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๐ ราย)
  3. คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย โดน นรนิติ เศรษฐบุตร หน้า 8 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 22,506 ประจำวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
  4. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 35 ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2012-07-26.
  5. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๓ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2015-06-30.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๒๒๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๕๖, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๗
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๖๕, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้