สวีนนีย์ ท็อดด์ บาร์เบอร์หฤโหดแห่งฟลีทสตรีท

สวีนนีย์ ท็อดด์ บาร์เบอร์หฤโหดแห่งฟลีทสตรีท (อังกฤษ : Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street) คือ ภาพยนตร์เพลงอังกฤษอเมริกันนแนวเขย่าขวัญ ปี พ.ศ. 2550 ที่ได้รับการดัดแปลงจากละครเพลงชื่อเดียวกันของสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ และฮิวจ์ วีลเลอร์ เป็นเรื่องเล่าที่อ้างอิงตำนานประโลมโลกสมัยวิกตอเรีย โดยมีชายที่ชื่อว่าสวีนนีย์ ทอดด์ เป็นตัวเอก เขาคือช่างตัดผมชาวอังกฤษ ที่เกิดขาดสติหลังจากเสียภรรยาและบุตรสาวไปให้กับผู้พิพากษาฉ้อฉลนามว่าเทอร์พิน จนก่อการฆาตกรรมต่อเนื่องด้วยการใช้มีดโกนปาดคอลูกค้าของตัวเอง โดยร่วมมือกับนางเลิฟเวตต์ ผู้ที่คอยแปรรูปศพที่ถูกฆ่าทุกศพให้กลายเป็นพายเนื้อเพื่อใช้จำหน่ายในร้านของเธอที่กำลังประสบปัญหาด้านเงินทุน

สวีนนีย์ ท็อดด์ บาร์เบอร์หฤโหดแห่งฟลีทสตรีท
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับทิม เบอร์ตัน
เขียนบทเพลง :
สตีเฟน ซอนด์ไฮม์
ฮิวจ์ วีลเลอร์
การแสดง :
คริสโตเฟอร์ บอนด์
เนื้อเรื่อง :
จอห์น โลแกน
อำนวยการสร้างริชาร์ด ดี. แซนัคก์
จอห์น โลแกน
วอลเตอร์ เอฟ. พาร์กส์
นักแสดงนำจอห์นนี เดปป์
เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์
อลัน ริคแมน
ทิโมที สปอลล์
แซชา แบรอน โคเฮน
เจมี แคมป์เบลล์ โบเวอร์
ลอรา มิเชลล์ เคลลี
เจย์น ไวส์เนอร์
เอด แซนเดอร์ส
กำกับภาพดาริอุสซ์ วอลสกี
ตัดต่อคริสต์ เลเบนซอน
ดนตรีประกอบสตีเฟน ซอนด์ไฮม์
ผู้จัดจำหน่ายสหรัฐอเมริกา :
ดรีมเวิร์กพิคเจอร์
นานาชาติ :
วอร์เนอร์บราเธอร์ส
วันฉายสหรัฐ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550
ไทย 31 มกราคม พ.ศ. 2551
ความยาว116 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
สหราชอาณาจักร
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน152,520,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ทิม เบอร์ตัน ซึ่งเขาได้รับการมอบหมายจากบริษัท ดรีมเวิร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2549 ให้มากำกับแทนผู้กำกับภาพยนตร์ แซม เมนเดส เบอร์ตันได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้มาจากความประทับใจที่ได้ชมละครเวทีของซอนด์ไฮม์เรื่องเดียวกันนี้ ตอนที่ยังเป็นนักเรียน และเมื่อครั้งที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในเวอร์ชันต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ซึ่งในกระบวนการสร้าง ซอนด์ไฮม์ก็ได้มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการถ่ายทำด้วย

ในส่วนของนักแสดงนำ ผู้ที่รับบทเป็นสวีนนีย์ ทอดด์ คือ จอห์นนี เดปป์ และนางเลิฟเลตต์รับบทโดย เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ โดยก่อนการแสดง เดปป์ ซึ่งเป็นผู้ที่ร้องเพลงไม่เป็น ต้องไปฝึกการร้องเพลงเพื่อเตรียมตัวในการสวมบทบาทนี้ โดยหลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย การร้องเพลงของเขาก็ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์ว่าเหมาะสมกับบท แต่ก็มีบางคำวิจารณ์ที่กล่าวว่ายังถือเป็นการร้องเพลงที่ขาดความมั่นคงด้านคุณภาพอยู่

สวีนนีย์ ท็อดด์ ออกฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551 (ส่วนในประเทศไทยออกฉายเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551) โดยได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตาม การที่วอร์เนอร์บราเธอร์สตัดสินใจไม่โฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นภาพยนตร์เพลง ก็ทำให้ผู้ชมบางคนไม่พอใจและวิจารณ์ว่า การโฆษณาเช่นนี้เป็นความตั้งใจที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดในประเภทของภาพยนตร์

ในด้านของความสำเร็จ ภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในสหรัฐอเมริกา แต่รายได้ที่ได้รับจากระดับนานาชาติถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งนอกจากรายได้หลักจากการฉายภาพยนตร์แล้ว ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย เช่น อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ หรือดีวีดีภาพยนตร์รูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนด้านรางวัลที่ได้รับก็ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้าง โดยได้รับจากทั้งเวทีประกวดหลากหลายระดับ เช่น รางวัลออสการ์ สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, รางวัลลูกโลกทองคำ (สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์เพลงหรือตลก) เป็นต้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการจัดระดับความเหมาะสมต่อผู้ชมจากสมาคมภาพยนตร์อเมริกันให้อยู่ในระดับอาร์ เนื่องจากมีการฉาย "ภาพความรุนแรงอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ" ในภาพยนตร์

เนื้อเรื่องย่อ

แก้

เรื่องเล่าถึงชีวิตของเบนจามิน บาร์กเกอร์ (จอห์นนี เดปป์) ช่างตัดผมชาวอังกฤษผู้มีทักษะความชำนาญสูง เขามีภรรยาชื่อว่าลูซี (ลอรา มิเชลล์ เคลลี) และบุตรสาวที่ชื่อโจฮันนา บาร์กเกอร์ วันหนึ่ง ทอดด์ถูกยัดเยียดข้อหาและรับโทษให้ไปใช้แรงงานในประเทศออสเตรเลีย โดยผู้พิพากษาฉ้อฉลที่ชื่อเทอร์พิน (อลัน ริคแมน) ผู้ที่ต้องการลูซีมาเป็นภรรยาของตัวเอง

15 ปีต่อมา บาร์กเกอร์กลับมาสู่กรุงลอนดอน อังกฤษ บ้านเกิดของเขาอีกครั้ง ภายใต้ชื่อปลอมว่า "สวีนนีย์ ทอดด์" โดยได้เดินทางมาพร้อมกับกะลาสีเรือผู้หนึ่งชื่อแอนโทนี โฮป (เจมี แคมป์เบลล์ โบเวอร์) เมื่อทอดด์เดินทางกลับไปที่ถนนฟลีต ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเก่าของเขา ซึ่งอยู่ชั้นบนเหนือร้านขายพายของนางเนลลี เลิฟเวตต์ (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) เขาก็ได้รับคำบอกเล่าจากเลิฟเวตต์ว่า ลูซีเสียชีวิตแล้วโดยการดื่มยาพิษฆ่าตัวตายหลังจากที่ถูกเทอร์พินหลอกไปข่มขืน ส่วนโจฮันนา (เจย์น ไวส์เนอร์) ก็โตเป็นวัยรุ่น และกำลังอยู่ในความดูแลของเทอร์พิน เมื่อได้ฟังดังนั้น ทอดด์จึงโมโหและปฏิญาณตนว่าจะแก้แค้นเทอร์พินให้ได้ พร้อมกับกลับมาเปิดร้านตัดผมใหม่อีกครั้งที่ที่พักของเขาเอง

ด้านของแอนโทนี ขณะที่เขาเดินทางไปทั่วกรุงลอนดอน เขาได้พบกับโจฮันนา ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านของผู้พิพากษาเทอร์พิน ทั้งสองตกหลุมรักซึ่งกันและกัน โดยแอนโทนีได้มาเฝ้ามองเธอจากทางเดินบนถนนอยู่เสมอ จนถูกเทอร์พินและบีเดิล แบมฟอร์ด (ทิโมที สปอลล์) ผู้ช่วยของเขา ทำร้ายร่างกายและขับไล่ออกมา จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะพาเธอหนีออกมาอยู่ด้วยกันให้ได้

วันหนึ่ง ขณะที่ทอดด์กำลังเดินอยู่ในตลาดสดพร้อมกับเลิฟเวตต์ เขาได้พบกับอาโดลโฟ ปีเรลลี (แซชา แบรอน โคเฮน) ช่างตัดผมที่อ้างตัวว่าเป็นชาวอิตาลี ที่กำลังเร่ขายยาบำรุงเส้นผมอยู่ ทอดด์จับได้ว่ายาบำรุงผมที่ขายนั้นเป็นของปลอมและได้ประณามปีเรลลี เมื่อได้ยินดังนั้น ปีเรลลีจึงท้าดวลแข่งขันการโกนหนวดกับเขา เพื่อดูว่าผู้ใดจะโกนได้เรียบและเร็วกว่ากัน ซึ่งผู้ชนะในการแข่งขันก็คือทอดด์

หลังจากความพ่ายแพ้ครั้งนั้น ปีเรลลี พร้อมกับโทบี (เอ็ด แซนเดอร์ส) เด็กชายผู้ช่วยของเขา ได้เดินทางมาที่ร้านตัดผมของทอดด์ และได้เปิดเผยตัวเองว่าที่จริงแล้วเขาคือแดเนียล โอ ฮิกกินส์ อดีตผู้ช่วยของทอดด์ พร้อมกับขู่ว่าจะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงว่าทอดด์ก็คือเบนจามิน บาร์กเกอร์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทอดด์จึงลงมือสังหารปีเรลลีเพื่อรักษาความลับเกี่ยวกับตัวตนของเขาเอาไว้

ต่อมา ผู้พิพากษาเทอร์พิน ซึ่งตั้งใจจะขอโจฮันนาแต่งงาน ได้ไปพบทอดด์ตามคำแนะนำของแบมฟอร์ดเพื่อไปให้เขาโกนหนวดให้ ทอดด์เห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้แก้แค้น เขาจึงเตรียมตัวสังหารเทอร์พินโดยพยายามทำให้เทอร์พินผ่อนคลายกับการโกนหนวดของเขาก่อนที่จะปาดคอ แต่ทันใดนั้น ความตั้งใจของเขาก็ถูกขัดขวาง เมื่อแอนโทนีได้เข้ามาหาเขาอย่างกะทันหันเพื่อบอกแผนการในการพาตัวโจฮันนาหนี โดยที่ไม่ทันสังเกตว่าเทอร์พินนั่งอยู่ในร้าน เมื่อเทอร์พินเห็นแอนโทนี เขาก็ออกไปจากร้านอย่างโมโห และได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าจะไม่กลับมาที่นี่อีก เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ทอดด์โกรธจนกล่าวโทษมนุษย์ทุกคนรวมทั้งตัวเขาเองว่าไม่สมควรที่จะดำรงอยู่ เขาจึงตัดสินใจระบายความเดือดดาลนี้ด้วยการฆาตกรรมลูกค้าของตัวเอง เพื่อรอวันที่จะได้มีโอกาสสังหารเทอร์พินอีกครั้ง โดยนางเลิฟเวตต์ที่รับรู้ความรู้สึกดังกล่าว ก็ได้กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในแผนการฆาตกรรมต่อเนื่องของเขาด้วย โดยได้แนะนำวิธีกำจัดศพลูกค้าที่จะถูกเขาฆ่า ว่าควรจะนำเนื้อศพมาประกอบเป็นไส้พายเพื่อเรียกลูกค้าเข้ามาอุดหนุนในร้านของเธอที่กำลังประสบปัญหาเรื่องเงินทุน ทอดด์เห็นด้วยกับความคิดนี้ และได้จัดการปรับปรุงเก้าอี้ตัดผมของเขาใหม่ ให้มีกลไกที่สามารถทิ้งศพเหยื่อที่ถูกเขาปาดคอจากบนร้านลงไปยังห้องอบพายใต้ดินของเลิฟเวตต์ได้

หลายสัปดาห์ผ่านไป แอนโทนีออกตามหาตัวโจฮันนา ซึ่งขณะนั้นถูกเทอร์พินส่งตัวไปกักขังในสถานพักฟื้นผู้ป่วยทางจิตของฟอกก์เพื่อเป็นการลงโทษที่เธอไม่รับคำขอแต่งงานจากเขา ขณะที่เหยื่อที่ทอดด์สังหารเริ่มเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับกิจการร้านตัดผมและร้านขายพายที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเลิฟเวตต์ยังได้รับโทบีมาเลี้ยงดูและเป็นลูกมือในร้านของเธอ

ต่อมาแอนโทนีก็รู้ว่าโจฮันนาอยู่ที่ไหนและได้เล่าเรื่องนี้ให้ทอดด์ฟัง ทอดด์คิดแผนการให้แอนโทนีปลอมตัวเป็นช่างทำผมปลอมฝึกหัดเพื่อเข้าไปหลอกเจ้าหน้าที่ในสถานพักฟื้นว่า จะเข้ามาหาผมของคนไข้หญิงไปทำผมปลอม และฉวยโอกาสช่วยโจฮันนาออกมา

หลังจากที่โจฮันนาถูกช่วยออกมาได้ ทอดด์ก็หลอกล่อเทอร์พินให้กลับมาที่ร้านตัดผมของเขาอีกครั้ง โดยเขาได้ฝากจดหมายที่เขียนในทำนองว่า เขารู้ว่าโจฮันนาหนีไปอยู่ที่ไหน ให้โทบีนำไปให้เทอร์พินที่ศาล ขณะนั้น โทบีเริ่มระแวงในตัวทอดด์ ซึ่งเมื่อเขากลับมาจากการส่งจดหมาย เขาจึงได้นำความไม่ไว้วางใจของเขามาเล่าให้กับเลิฟเวตต์ฟังและสัญญาว่าจะปกป้องเธอจากทอดด์ โดยไม่รู้ว่าเธอคือผู้สมรู้ร่วมคิดกันกับทอดด์ เมื่อเธอรับรู้ถึงความหวาดระแวงนั้น เธอจึงหลอกโทบีให้เข้าไปช่วยบดเนื้อในห้องอบพายและขังเขาไว้ และได้นำความสงสัยของโทบีไปเล่าให้ทอดด์ฟัง ต่อมา บีเดิล แบมฟอร์ด ก็เดินทางมาที่ร้านตัดผมของทอดด์และถูกทอดด์สังหาร ศพของบีเดิลที่ถูกทิ้งลงไปในห้องอบพาย รวมถึงซากชิ้นส่วนของมนุษย์ที่ถูกทิ้งอยู่ในนั้น ทำให้โทบีรู้ความจริงเกี่ยวกับการกระทำอันโหดร้ายของทอดด์และเลิฟเวตต์ ซึ่งในขณะนั้น ทั้งคู่ได้ลงมาตามหาโทบี แต่หาไม่พบ ขณะเดียวกัน แอนโทนีได้นำโจฮันนามาที่ร้านตัดผม แต่เมื่อไม่พบใคร เขาจึงให้เธอซ่อนตัวในลังเปล่าที่อยู่ในร้าน

ต่อมา หญิงขอทานผู้มีหน้าตาอัปลักษณ์ที่เคยพบกับแอนโทนีตอนต้นเรื่อง และคอยมารบกวนเลิฟเวตต์ตลอดทั้งเรื่องนั้น บัดนี้ได้เข้ามายืนอยู่ในร้านตัดผมเช่นกัน เมื่อทอดด์เข้ามาพบเข้า เขาก็ลงมือสังหารเธอและทิ้งศพเธอไปก่อนที่เทอร์พินจะเข้ามา เมื่อเขาพบเทอร์พินอีกครั้ง ทอดด์ได้บอกเบาะแสเกี่ยวกับโจฮันนาให้ฟัง และได้เชิญชวนให้มานั่งเก้าอี้ตัดผมเพื่อที่เขาจะได้โกนหนวดให้ และแล้วความแค้นของเขาก็ถูกชำระเมื่อเขาเปิดเผยตัวเองว่าเขาคือเบนจามิน บาร์กเกอร์ ก่อนที่จะลงมือสังหารเทอร์พินและทิ้งศพลงไปในห้องอบพาย ช่วงเวลานั้น โจฮันนาที่แอบดูการกระทำของทอดด์โดยตลอด ก็ถูกทอดด์จับได้และเกือบจะถูกปาดคออีกคน ซึ่งทอดด์ไม่ทราบว่านี่คือบุตรสาวของเขาเอง เสียงกรีดร้องของเลิฟเวตต์จากห้องอบพาย เนื่องจากเธอถูกเทอร์พินดึงกระโปรงของเธอเอาไว้ก่อนที่จะสิ้นใจ ทำให้เขาเปลี่ยนใจไม่ลงมือกับโจฮันนาและรีบลงไปหาเลิฟเวตต์ทันที เมื่อเขาลงมาถึง เขาได้สังเกตเห็นว่าศพของหญิงขอทานที่เขาเพิ่งสังหารนั้นก็คือลูซี ภรรยาของเขาที่เขาเชื่อว่าเธอเสียชีวิตไปแล้วตามที่เลิฟเวตต์เล่าให้ฟัง ทอดด์เสียใจมาก และรู้ตัวว่าเลิฟเวตต์ปิดบังเรื่องที่ลูซียังมีชีวิตอยู่จากเขามาตลอด ซึ่งเลิฟเวตต์ก็ได้สารภาพว่า ที่ต้องโกหกไปเช่นนั้นเนื่องจากเธอรักเขา และต้องการจะแต่งงานด้วยกัน ทอดด์ทำทีว่ามีความสุขกับคำพูดของเธอและจับเธอเต้นรำไปรอบ ๆ ห้องอบก่อนที่จะเหวี่ยงเธอเข้าไปในเตาอบพายที่เปิดอยู่ และมองดูเธอถูกเผาจนเสียชีวิต

ทอดด์กลับไปดูศพของลูซีอีกครั้งพร้อมกับยกร่างของเธอขึ้นมากอดอย่างระมัดระวัง ทันใดนั้น โทบีที่ซ่อนตัวอยู่ในรางระบายน้ำในห้อง ก็ปรากฏตัวขึ้นมาและเดินมาหยิบมีดโกนของทอดด์ที่ตกอยู่บนพื้น ก่อนที่จะใช้มันปาดคอของทอดด์ที่กำลังโศกเศร้ากับการกระทำของตัวเอง และโทบีก็ได้เดินจากไป ทิ้งศพของทอดด์ที่มีเลือดไหลชโลมร่างของลูซีไว้เพียงลำพัง

ตัวละครและนักแสดงนำ

แก้
 
จอห์นนี เดปป์ (ซ้าย) และเฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (ขวา) ในบทบาทของสวีนนีย์ ทอดด์ และนางเนลลี เลิฟเวตต์
  • เบนจามิน บาร์กเกอร์/สวีนนีย์ ทอดด์ (Benjamin Barker/Sweeney Todd, แสดงโดย จอห์นนี เดปป์) ช่างตัดผมชาวอังกฤษและฆาตกรต่อเนื่อง ผู้ซึ่งมีความแค้นฝังใจจากการถูกผู้พิพากษาเทอร์พินยัดเยียดข้อหาให้เขาและแย่งภรรยาพร้อมบุตรสาวของเขาไป อาวุธประจำกายของเขาคือมีดโกนที่เขามักจะใช้ปาดคอเหยื่อซึ่งเป็นลูกค้าของเขาเอง ต้นแบบของตัวละครตัวนี้มาจากช่างตัดผมฆาตกรผู้หนึ่งที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งมักจะปรากฏตัวในผลงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลาย ๆ เรื่อง[1] และเป็นหนึ่งในตำนานเมืองสยองขวัญของชาวอังกฤษสมัยวิกตอเรีย สำหรับการสร้างตัวละครตัวนี้ จอห์นนี เดปป์ มีบทบาทอย่างมากในการคิดภาพลักษณ์ให้กับสวีนนีย์ ทอดด์ ในแบบของเขา โดยสิ่งหนึ่งที่เขาได้กำหนดคือขอบตาของสวีนนีย์ที่ต้องตกแต่งด้วยสีม่วงและสีน้ำตาลเข้ม เพื่อที่จะสื่อถึงความเหนื่อยล้า การอดหลับอดนอน เรื่อยไปถึงความเดือดดาลที่อยู่ในตัวของสวีนนีย์[2]
  • นางเนลลี เลิฟเวตต์ (Mrs. Nellie Lovett, แสดงโดย เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) เจ้าของร้านขายพายที่ใกล้จะปิดกิจการเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน เธอคือเพื่อนเพียงคนเดียวของสวีนนีย์ ทอดด์ และเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการฆาตกรรมต่อเนื่องของเขาโดยการนำเหยื่อที่ถูกสังหารมาแปรรูปเป็นไส้พาย
  • ผู้พิพากษาเทอร์พิน (Judge Turpin, แสดงโดย อลัน ริคแมน) ผู้พิพากษาฝ่ายปกครองประจำกรุงลอนดอนผู้ฉ้อฉลและคลั่งไคล้หญิงสาว เขาคือผู้ที่แย่งภรรยาของและบุตรสาวของบาร์กเกอร์มาเป็นของตัวเอง และยัดเยียดข้อหาให้บาร์กเกอร์ต้องไปใช้แรงงานอยู่ในเรือนจำที่ประเทศออสเตรเลีย เขาได้ล่อลวงและข่มขืนลูซีภรรยาเบนจามินจนสิ้นสติและเลี้ยงดูโจฮันนาลูกสาวของเบนจามินจนโตเป็นสาว ด้วยความสวยเหมือนแม่ของเธอทำให้เขาตกหลุมรักและอยากได้เธอไว้ในครอบครองไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และจะไม่ยอมให้ชายหนุ่มหน้าไหนมาแย่งไปจากเขา
  • บีเดิล แบมฟอร์ด (Beadle Bamford, แสดงโดย ทิโมที สปอลล์) ผู้ติดตามผู้ชั่วร้ายของผู้พิพากษาเทอร์พิน ที่มักจะถูกใช้ให้ทำงานสกปรกให้กับผู้พิพากษาเสมอ
  • ซินยอร์ อาโดลโฟ ปีเรลลี/แดเนียล โอ ฮิกกินส์ (Signor Adolfo Pirelli/Daniel 'O Higgins, แสดงโดย แซชา แบรอน โคเฮน) ช่างตัดผม/นักขายผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมจอมหลอกลวง และอดีตลูกศิษย์ของเบนจามิน บาร์กเกอร์ ในสมัยที่เป็นวัยรุ่น ก่อนที่บาร์กเกอร์จะถูกตัดสินให้เป็นนักโทษ
  • แอนโทนี โฮป (Anthony Hope, แสดงโดย เจมี แคมป์เบลล์ โบเวอร์) กะลาสีที่เดินทางมาที่กรุงลอนดอนร่วมกับสวีนนีย์ ทอดด์ เขาได้ตกหลุมรักโจฮันนา บุตรสาวของทอดด์ ที่ขณะนั้นอยู่ในการครอบครองของผู้พิพากษาเทอร์พิน และตั้งใจจะพาเธอหนีไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน
  • ลูซี บาร์กเกอร์ (Lucy Barker, แสดงโดย ลอรา มิเชลล์ เคลลี) ภรรยาของเบนจามิน บาร์กเกอร์ ที่เป็นที่หมายปองของผู้พิพากษาเทอร์พิน ซึ่งต่อมาได้ล่อลวงเธอไปกระทำชำเราจนทำให้เธอสิ้นสติ
  • โจฮันนา บาร์กเกอร์ (Johanna Barker, แสดงโดย เจย์น ไวส์เนอร์ รวมถึง แกรซี เมย์, แอวา เมย์ และแกเบรลลา ฟรีแมน ที่แสดงเป็นโจฮันนาวัยทารก) บุตรสาวของเบนจามิน บาร์กเกอร์ ผู้ซึ่งอยู่ในการดูแลของลูซี มารดาของเธอ หลังจากที่เบนจามินถูกพิพากษาให้ไปจำคุกที่ออสเตรเลีย แต่หลังจากที่ลูซีถูกเทอร์พินข่มขืน เธอก็ถูกเทอร์พินนำไปเลี้ยงดูในฐานะบุตรบุญธรรมโดยถูกขังอยู่แต่ในบ้าน ก่อนที่จะตกหลุมรักกับแอนโทนี โฮป และวางแผนจะหนีไปอยู่ด้วยกัน
  • โทเบียส แรกก์/โทบี (Tobias Ragg/Toby, แสดงโดย เอ็ด แซนเดอร์ส) เด็กกำพร้าผู้รับใช้ของอาโดลโฟ ปีเรลลี ที่ต่อมากลายมาเป็นลูกมือในร้านขายพายของนางเลิฟเวตต์

การผลิต

แก้

การพัฒนา

แก้
 
ละครเพลงเรื่อง สวีนนีย์ ทอดด์, เดอะเดมอนบาร์เบอร์ออฟฟลีตสตรีต ของสตีเฟน ซอนไฮม์ ต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในภาพ แองเจลา แลนส์บูรี (ซ้าย) รับบทเป็นนางเลิฟเวตต์ และลอง การีอู (ขวา) รับบทเป็นสวีนนีย์ ทอดด์

ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิตโดยพาร์กส์/แมคโดนัลด์โปรดักชันร่วมกับแซนัคก์คอมพานี และจัดจำหน่ายโดยดรีมเวิร์กส์พิคเจอร์และวอร์เนอร์บราเธอรส์พิคเจอร์[3] ใช้งบประมาณในการสร้างทั้งสิ้น 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดได้รับการดัดแปลงมาจากละครเพลงเรื่อง สวีนนีย์ ทอดด์, เดอะเดมอนบาร์เบอร์ออฟฟลีตสตรีต (Sweeney Todd, the Demon Barber of Fleet Street) ของสตีเฟน ซอนไฮม์

ในเบื้องต้น ผู้ที่ถูกวางตัวให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ แซม เมนเดส ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษเจ้าของรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง อเมริกันบิวตี้ (American Beauty, พ.ศ. 2542) ซึ่งเมนเดสได้ใช้เวลาหลายปีในการสร้างและดัดแปลงเนื้อเรื่องของละครเพลงข้างต้น[4] โดยได้เชิญซอนไฮม์มาประพันธ์บทภาพยนตร์ให้ด้วย[5] แต่ซอนไฮม์ปฏิเสธที่จะรับงานนี้ พร้อมกับแนะนำจอห์น โลแกน ให้มาทำหน้าที่นี้แทน ซึ่งเมนเดสและวัลเตอร์ พาร์กส์ โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเคยร่วมงานกับโลแกนมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง แกลดดิเอเตอร์ นักรบผู้กล้า ผ่าแผ่นดินทรราช (Gladiator, พ.ศ. 2543) ต่างก็เห็นด้วย[6]

แต่ในที่สุด เมนเดสก็มีอันต้องยุติการเป็นผู้กำกับให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อไปกำกับภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือเรื่อง จาร์เฮด พลระห่ำ สงครามนรก (Jarhead, พ.ศ. 2548) ทำให้ทางดรีมเวิร์กต้องประกาศแต่งตั้งทิม เบอร์ตัน ให้เข้ามารับหน้าที่นี้แทนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่โครงการภาพยนตร์เรื่อง ริปลีย์สบีลีฟอิตออร์นอต! (Ripley's Believe It or Not) ของเบอร์ตันไม่ได้รับการอนุมัติให้สร้าง เนื่องจากงบประมาณที่ตั้งไว้สูงเกินไป[4][7]

สำหรับเบอร์ตัน เขามีความหลงใหลใน สวีนนีย์ ทอดด์ อยู่แล้ว โดยเริ่มต้นมาจากการได้ไปชมละครเพลงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2523 ช่วงที่เขายังศึกษาอยู่ที่สถาบันศิลปะแคลิฟอร์เนีย[8] ซึ่งแม้ว่าเบอร์ตันจะไม่ใช่ผู้ที่ชอบละครเพลงเป็นชีวิตจิตใจ[4] แต่เขาก็ติดใจความเป็นภาพยนตร์ที่ปรากฏอยู่ในละครเพลงเรื่องนี้ จนทำให้เขาต้องมาชมซ้ำหลายรอบ[9] เขาได้อธิบายถึง สวีนนีย์ ทอดด์ ไว้ว่า นี่คือภาพยนตร์เงียบที่มาพร้อมกับเสียงเพลง[9] และ "ถูกทำให้พิศวงด้วยเพลงและความรู้สึกรับรู้ของความน่าขยะแขยง"[8] ต่อมา เมื่อเขาได้เริ่มงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1980 เขาก็เคยไปหาซอนไฮม์เพื่อจะนำ สวีนนีย์ ทอดด์ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่แล้ว ความคิดนี้ก็ถูกยกเลิกไป ซึ่งซอนไฮม์ได้ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ "(เบอร์ตัน) ได้ถอนตัวไปจากแผนการนี้ และไปสร้างผลงานอื่น ๆ แทน"[9]

ในการสร้างบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เบอร์ตันกับโลแกนได้ร่วมกันประพันธ์บทขึ้นมาใหม่[6] โดยได้เปลี่ยนแปลงบางส่วนจากบทละครเพลงต้นฉบับ เช่น (1) ตัดทอนเพลงบางเพลงให้สั้นลง หรือยกเลิกเพลงที่ไม่จำเป็นต้องใช้[10] (2) ยกเลิกบทของคริสโตเฟอร์ ลี, ปีเตอร์ โบวล์ส, แอนโทนี สจวต เฮด และนักแสดงอีก 5 คนที่ถูกวางตำแหน่งให้มาแสดงเป็นผู้เล่าเรื่อง เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลาในการถ่ายทำ ที่มีการพักกองถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 เพื่อให้จอห์นนี เดปป์ ผู้แสดงเป็นสวีนนีย์ ทอดด์ เดินทางกลับไปดูแลบุตรสาวที่กำลังพักพื้นจากอาการป่วยในขณะนั้น[11] และ (3) ลดบทบาท/ความสัมพันธ์ของตัวละครบางตัวลง เช่น ความรักระหว่างโจฮันนา บาร์กเกอร์ กับแอนโทนี โฮป แล้วมาเน้นหนักในบทบาทแบบสามเส้าระหว่างสวีนนีย์ นางเลิฟเวตต์ และโทบีแทน[10][12] เป็นต้น

การถ่ายทำ

แก้
 
ภาพการถ่ายทำภาพยนตร์

การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 และสิ้นสุดในวันที่ 11 พฤษภาคมของปีเดียวกัน โดยระหว่างการถ่ายทำได้มีการพักกองถ่ายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงเดือนมีนาคมเพื่อเปิดโอกาสให้จอห์นนี เดปป์ กลับไปเยี่ยมบุตรสาวของเขาที่กำลังป่วยหนักอยู่ในขณะนั้น[13][14] สำหรับสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำ ทิม เบอร์ตัน ได้ใช้โรงถ่ายภาพยนตร์ไพน์วูดสตูดิโอส์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งเขาเคยใช้ถ่ายทำภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องนับตั้งแต่ แบทแมน (Batman) เมื่อปี พ.ศ. 2532[8]

ฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือกรุงลอนดอนในสมัยวิกตอเรีย ที่ออกแบบโดยดันเต แฟร์เรตตี โปรดักชันดีไซเนอร์ เขาได้เติมความดำมืดและน่าสะพรึงกลัวให้กับกรุงลอนดอนในภาพยนตร์ และดัดแปลงถนนฟลีต ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านตัดผมของสวีนนีย์ ทอดด์ รวมถึงภูมิทัศน์แวดล้อมให้ต่างไปจากสถานที่จริง โดยในตอนแรก เบอร์ตันตั้งใจจะสร้างฉากทั้งหมดนี้ในคอมพิวเตอร์แล้วค่อยนำไปซ้อนกับภาพการแสดงของนักแสดงโดยใช้เทคนิคการถ่ายทำหน้ากรีนสกรีน แต่ต่อมา เขาก็เปลี่ยนใจ และหันมาใช้ฉากที่สร้างขึ้นจริงเพื่อจะช่วยให้นักแสดงเข้าถึงบทบาทมากขึ้น[9]

สำหรับเลือด ซึ่งปรากฏตัวอย่างเด่นชัดในหลาย ๆ ฉากของภาพยนตร์ เช่น ฉากเปิด และฉากการฆาตกรรม นั้น เบอร์ตันกล่าวว่ามันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เขายืนยันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเต็มไปด้วยเลือด เพราะมันจะนำมาซึ่งพลังของเนื้อเรื่อง และเป็นสัญลักษณ์แทนการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงของสวีนนีย์ผ่านการฆาตกรรมที่โหดร้าย[4] เลือดในหนังเรื่องนี้ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นที่สุดในฉากที่สวีนนีย์ปาดคอเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งในการสร้างภาพเลือดที่กระฉูดมาจากคอของเหยื่อนั้น ทางผู้สร้างได้ใช้เลือดปลอมแทนการสร้างเลือดจากคอมพิวเตอร์ และมีการทดสอบอยู่หลายครั้งก่อนถ่ายทำจริง[9]

จากองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งฉากที่มืดมน และการนำเสนอภาพความรุนแรงอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ทำให้โทนของภาพยนตร์เรื่องนี้ “น่าขยะแขยง” จนส่งผลให้ทางสตูดิโอเริ่มกังวลใจก่อนการสร้างในช่วงแรก แต่หลังจากที่ทั้งวอร์เนอร์บราเธอร์ส ดรีมเวิร์กส์ และพาราเมาต์ เซ็นสัญญาให้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความกังวลต่าง ๆ ก็หมดไป และกระบวนการสร้างก็ดำเนินไปตามโทนหนังที่กำหนดไว้ โดยเบอร์ต้นได้กล่าวถึงการตัดสินใจของสตูดิโอที่อนุมัติให้เขาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ทางสตูดิโอยอมรับโทนหนังแบบนี้ เพราะเขารู้ว่าหนังเรื่องนี้มันก็ต้องเป็นอย่างนี้เอง"[15]

ดนตรีประกอบและเพลง

แก้
 
สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ ผู้ประพันธ์เพลง/ดนตรีประกอบของ สวีนนีย์ ทอดด์ ฉบับละครเพลง (ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1970)

ดนตรีประกอบ รวมไปถึงเพลงต่าง ๆ ที่ตัวละครใช้ร้องแทนบทพูด ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงยึดโยงอยู่กับลักษณะดนตรี/เพลงที่ใช้ในการแสดงละครเพลง สวีนนีย์ ทอดด์ ของซอนไฮม์แทบทั้งหมด โดยมีบางส่วนที่ได้รับการดัดแปลง เพิ่มเติม และตัดทอนลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น นั่นจึงทำให้ท่อนร้องบางท่อนและเพลงที่มีชื่อเสียงบางเพลงของละครเพลง สวีนนีย์ ทอดด์ ไม่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเพลง "The Ballad of Sweeney Todd" ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพลงเล่าเรื่องทั้งในส่วนนำ ระหว่างเรื่อง และส่งท้ายในฉบับละครเพลง ก็ถูกเบอร์ตันตัดทิ้งไป โดยที่เขาได้กล่าวถึงเพลงนี้ว่า "ทำไมบรรดาคอรัสต้องออกมาร้องว่า 'มาตั้งใจฟัง/ดูตำนานของสวีนนีย์ ทอดด์' (Attend the tale of Sweeney Todd[16]) อีก ทั้ง ๆ ที่คุณก็กำลังจะได้ฟังและดูมันอยู่แล้ว"[8]

ส่วนการบรรเลงดนตรีประกอบภาพยนตร์นั้น โจนาทาน ทูนิคก์ ผู้ประพันธ์ดนตรีให้กับ สวีนนีย์ ทอดด์ ฉบับละครเพลงดั้งเดิม ได้มาเป็นผู้ควบคุมในด้านนี้ โดยเขาได้นำเอาเพลงดั้งเดิมมาบรรเลงใหม่ทั้งหมดโดยวงออร์เคสตรา ที่เพิ่มจำนวนนักดนตรีจากเดิมเมื่อครั้งที่ใช้แสดงในละครเพลง 27 คนเป็น 78 คน เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ทั้งใหญ่และมากขึ้นกว่าเดิม[9]

ปฏิกิริยาตอบรับ

แก้

การเข้าฉายและรายได้

แก้

สวีนนีย์ ท็อดด์ บาร์เบอร์หฤโหดแห่งฟลีทสตรีท ออกฉายวันแรกอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยมีจำนวนโรงฉาย 1,249 โรง และได้รับรายได้ในสัปดาห์แรก 9,300,805 ดอลลาร์สหรัฐ และออกฉายทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยได้รับการตอบรับอย่างดีในสหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่น[17]

ในช่วงแรกก่อนการฉายในสหรัฐอเมริกา บริษัท มาร์คัสเธียร์เตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของโรงภาพยนตร์จำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ได้ปฏิเสธการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ในเครือของบริษัท เนื่องจากข้อตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการฉายที่ได้ทำกับพาราเมาต์ บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ลงรอยกัน แต่ในท้ายที่สุด ความขัดแย้งก็ยุติลง และมาร์คัสเธียร์เตอร์ก็อนุมัติให้ฉาย สวีนนีย์ ทอดด์ ในโรงภาพยนตร์ของตนทันกำหนดการการออกฉายพอดี[18]

สำหรับรายได้รวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 52.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในตลาดอื่นทั่วโลกอยู่ที่ 99.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมรายได้ทั้งหมดเท่ากับ 152.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[17]

ในประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551 ในโรงภาพยนตร์ 60 โรง ได้รับรายได้รวมในสัปดาห์แรกที่ประมาณ 4.4 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 3 ในตารางจัดอันดับรายได้ภาพยนตร์ของไทยประจำสัปดาห์นั้น รองจากภาพยนตร์เรื่อง มหัศจรรย์รักข้ามภพ (Enchanted, อันดับที่ 1) และ โคตรคน ตัดคมมาเฟีย (American Gangster, อันดับที่ 2) โดยอันดับที่ 3 ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับ ถือเป็นอันดับรายได้ประจำสัปดาห์ที่สูงที่สุดที่สามารถทำได้ในประเทศไทย[19]

อ้างอิง

แก้
  1. "Biography for Sweeney Todd (Character) from Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street (2007)," www.imdb.com. เรียกข้อมูล 28 พฤศจิกายน 2551 (อังกฤษ)
  2. Steve Daly. "Johnny Depp: Cutting Loose in 'Sweeney Todd' เก็บถาวร 2007-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.ew.com (October 31, 2007.) เรียกข้อมูล 7 มกราคม 2552 (อังกฤษ)
  3. "Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street[ลิงก์เสีย]," www.allmovie.com. เรียกข้อมูล 2 มกราคม 2552 (อังกฤษ)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Steve Daly. "'Sweeney Todd': A Musical on the Cutting Edge เก็บถาวร 2012-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.ew.com (October 31, 2007.) เรียกข้อมูล 30 พฤศจิกายน 2551 (อังกฤษ)
  5. Gary Susman. "Tuning Up[ลิงก์เสีย]," www.ew.com (June 26, 2003.) เรียกข้อมูล 1 ธันวาคม 2551 (อังกฤษ)
  6. 6.0 6.1 Michael Buckley. "STAGE TO SCREENS: Logan, Zanuck and Parkes of "Sweeney Todd," Plus "Atonement" Writer Hampton," www.playbill.com (December 16, 2007.) เรียกข้อมูล 9 ธันวาคม 2551 (อังกฤษ)
  7. Stax. "Believe It Not: Sweeney before Ripley," movies.ign.com (June 13, 2006.) เรียกข้อมูล 9 ธันวาคม 2551 (อังกฤษ)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Paul Brownfield. "Tim Burton's slasher film," articles.latimes.com (November 25, 2007.) เรียกข้อมูล 30 พฤศจิกายน 2551 (อังกฤษ)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 Sylviane Gold. "Demon Barber, Meat Pies and All, Sings on Screen," www.nytimes.com (November 4, 2007.) เรียกข้อมูล 30 พฤศจิกายน 2551 (อังกฤษ)
  10. 10.0 10.1 Emanuel Levy. "Sweeney Todd: The Making of a Musical Movie," www.emanuellevy.com. เรียกข้อมูล 9 ธันวาคม 2551 (อังกฤษ)
  11. "A ghost is exorcised เก็บถาวร 2007-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.telegraph.co.uk (May 13, 2007.) เรียกข้อมูล 9 ธันวาคม 2551 (อังกฤษ)
  12. Seán Martinfield. "Depp cleaves a wedge into Broadway Musical เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.sanfranciscosentinel.com (December 24, 2007.) เรียกข้อมูล 9 ธันวาคม 2551 (อังกฤษ)
  13. Olly Richards. "Sweeney Todd," Empire (October 2007.) P. 100 (อังกฤษ)
  14. Martyn Palmer. "Johnny’s Treasure Chest," interview.johnnydepp-zone2.com (May 20, 2007.) เรียกข้อมูล 7 มกราคม 2552 (อังกฤษ)
  15. Heather Newgen. "[Burton, Depp on the Making of Sweeney Todd http://www.shocktillyoudrop.com/news/topnews.php?id=4044]," www.shocktillyoudrop.com (December 17, 2007.) เรียกข้อมูล 26 มกราคม 2552 (อังกฤษ)
  16. เป็นเนื้อเพลงท่อนแรกของเพลง "The Ballad of Sweeney Todd (Prologue)" ดู "Sweeny Todd Cast - The Ballad of Sweeney Todd (Prologue) Lyrics เก็บถาวร 2008-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.stlyrics.com. เรียกข้อมูล 7 มกราคม 2552 (อังกฤษ)
  17. 17.0 17.1 "SWEENEY TODD: THE DEMON BARBER OF FLEET STREET," www.boxofficemojo.com. เรียกข้อมูล 8 มกราคม 2552 (อังกฤษ)
  18. "Marcus Theatres not running 'Cloverfield'," www.bizjournals.com (January 14, 2008.) เรียกข้อมูล 27 มกราคม 2552 (อังกฤษ)
  19. "Thailand Box Office: January 31–February 3, 2008," www.boxofficemojo.com. เรียกข้อมูล 27 มกราคม 2552 (อังกฤษ)

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้