ศรีสุวรรณ จรรยา

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมชาวไทย

ศรีสุวรรณ จรรยา (เกิด 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511) เป็นนักเคลื่อนไหวชาวไทย ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และอดีตเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดยในนามสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เขาเคยจัดขบวนการประท้วงร่วมกับประชาชนและองค์กรอื่น ๆ เกี่ยวกับปัญหามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ในนามสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยนั้น เขาเป็นที่รู้จักจากการร้องเรียนนักการเมืองจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักร้องเรียนนักการเมืองจากฝ่ายต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอยู่หลายครั้ง

ศรีสุวรรณ จรรยา
เกิด25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 (55 ปี)
อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
สัญชาติไทย
การศึกษาปริญญาโท
ศิษย์เก่า

ศรีสุวรรณถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567 จากการร่วมมือกับพวกเพื่อข่มขู่รีดไถทรัพย์สินจากอธิบดีกรมการข้าว แลกกับการยุติการร้องเรียนโครงการที่เกี่ยวข้อง

ประวัติ แก้

ศรีสุวรรณ จรรยา เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวังทองพิทยาคม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านเกษตร จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก) ระดับปริญญาตรีจากคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และระดับปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเคลื่อนไหว แก้

สิ่งแวดล้อม แก้

นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2540 เขาได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาของเสีย ป่าไม้ และโรงไฟฟ้าในประเทศไทย และได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ก่อตั้งโดยพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง จากการปล่อยให้มีการปล่อยควันดำจากท่อรถโดยสารประจำทาง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ซึ่งถือเป็นคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่มีการดำเนินการไต่สวนในศาลปกครอง[1] และเมื่อปี พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ ขสมก. ตรวจสอบมลพิษจากรถโดยสารประจำทางทุก ๆ 3 เดือน[2]

ต่อมาศรีสุวรรณได้ร่วมก่อตั้ง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยตนดำรงตำแหน่งนายกสมาคม[3] และเป็นแกนหลักในการต่อสู้คดีเดิมที่ฟ้อง ขสมก. ซึ่ง ขสมก. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555[2] รวมถึงยังมีบทบาทในการฟ้องนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และคดีบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[1]

การเมือง แก้

ต่อมาศรีสุวรรณได้ร่วมก่อตั้ง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยตนดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคม[4] เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองเป็นหลัก[1] แต่ต่อมาทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ซึ่งได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 ได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อยื่นนายทะเบียนให้เพิกถอนชื่อสมาคมนี้ออก เนื่องจากเห็นว่าวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและการกระทำการของสมาคมฯ แห่งนี้ ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมของประชาชน โดยมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา[5]

ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ทนายอนันต์ชัยพบหลักฐานเรื่องที่ตั้งอาคารสำนักงานสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือ และการถูกแอบอ้างเป็นกรรมการและเหรัญญิกสมาคมฯ ของฐิติมา บุญประเสริฐ โดยที่เขาไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ ไม่เคยมีประวัติการจัดประชุม และเขาไม่เคยทำบัญชีงบดุล[6] ทนายอนันต์ชัยจึงนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นคำร้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ ต่ออธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร[7] และอธิบดีกรมการปกครองได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566[8][9] อย่างไรก็ตาม อีก 2 วันถัดมา ศรีสุวรรณได้ประกาศก่อตั้ง องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวในวัตถุประสงค์คล้ายกับสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยที่ถูกเพิกถอนไป[10]

ข้อวิจารณ์ แก้

ศรีสุวรรณถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากการร้องเรียนหน่วยงานต่าง ๆ ให้ตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นจำนวนมาก จนเกิดเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการยื่นร้องเรียนจำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล[11] และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยทศพล ธนานนท์โสภณกุล[12]

คดีความ แก้

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567 ศรีสุวรรณ จรรยา ถูกพลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำกำลังเจ้าหน้าที่และสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าจับกุมพร้อมกับคณะทำงานเขตราชการที่ 11 ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อีก 2 คน ได้แก่ ยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ และ พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต 1 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากได้รับแจ้งว่าทั้ง 3 คน ข่มขู่เรียกเงินจำนวน 3,000,000 บาท (ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือ 1,500,000 บาทในเวลาต่อมา) จากณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแลกกับการยุติเรื่องร้องเรียนในโครงการที่เกี่ยวข้อง[13] โดยศรีสุวรรณปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 400,000 บาท[14]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "ศรีสุวรรณ จรรยา กับ 5 เรื่องน่ารู้ของ "นักร้อง"". บีบีซีไทย. 18 เมษายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 "ศาลปกครองฟัน ขสมก.ผิดปล่อยควันดำ". ประชาไท. 30 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "ประกาศนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม "สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน"" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (112 ง): 150–152. 20 ธันวาคม 2007.
  4. "ประกาศนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม [สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 126 (84 ง). 30 กรกฎาคม 2009.
  5. "ทนายอนันต์ชัย กางข้อกฎหมาย เตรียมยื่นเพิกถอนสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยของศรีสุวรรณ ชี้ดำเนินการขัดวัตถุประสงค์". เดอะสแตนดาร์ด. 13 กันยายน 2021. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "ดร.ถูกอ้างชื่อ เป็นกก.สมาคมศรีสุวรรณ ส่งจม.ร้อง 'เสรีพิศุทธ์' ด้านทนายบี้ นักร้องชี้แจง". มติชน. 10 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. ""ทนายอนันต์ชัย" ยื่นถอนสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ของ "ศรีสุวรรณ"". สนุก.คอม. 5 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "อธิบดีกรมการปกครอง สั่งเพิกถอน 'สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย' ของ 'ศรีสุวรรณ'". สำนักข่าวทูเดย์. 9 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "ประกาศนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เรื่อง เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 140 (45 ง): 183. 15 มิถุนายน 2023.
  10. "ศรีสุวรรณประกาศจัดตั้ง 'องค์กรรักชาติรักแผ่นดิน' หลังเพิ่งโดนสั่งยุบสมาคม". เดอะ แมทเทอร์. 11 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "ตำรวจจับกุม "ลุงศักดิ์" ด้วยหมายจับเก่าปี 2564 หลังทำร้ายศรีสุวรรณ จรรยา". บีบีซีไทย. 19 ตุลาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "ชายปริศนาบุกต่อย "ศรีสุวรรณ" อ้างไม่พอใจร้องมั่ว-ขวางทางเลือกตั้ง". พีพีทีวี. 11 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ตำรวจซ้อนแผนจับกุม 'ศรีสุวรรณ จรรยา' หลังข่มขู่รีดเงินอธิบดีกรมการข้าว 3 ล้าน แลกไม่ยื่นเรื่องร้องเรียน". เดอะสแตนดาร์ด. 26 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. ""ศรีสุวรรณ" พร้อม "เจ๋ง ดอกจิก-พิมณัฏฐา" ได้ประกันตัว ยันไม่ได้รีดเงิน". ไทยพีบีเอส. 27 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้