ลัทธิกะเหรี่ยงฤๅษี

ลัทธิกะเหรี่ยงฤๅษี บ้างเรียก นิกายตะละกู่[1][2] เป็นความเชื่ออิงศาสนาพุทธของชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า มีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านเลตองคุ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ในชุมชนของพวกเขามีลักษณะโดดเด่นคือไม่มีพระสงฆ์ หากแต่มีฤๅษีเป็นทั้งนักพรตและผู้นำทางจิตวิญญาณ ถือพรตรับประทานอาหารมังสวิรัติ รวมทั้งไม่นิยมฆ่าสัตว์ตัดชีวิต[3][4][5] มีลักษณะเป็นความเชื่อวิญญาณนิยมผนวกเข้ากับศาสนาพุทธ ทั้งยังมีความเชื่อแบบเอกเทวนิยมเพราะนับถือพระเป็นเจ้าหรือเทพยดาเรียกว่า เก่อจาเม เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งบนโลก[6] ถือเป็นความเชื่อและพิธีกรรมที่ขับเน้นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ให้ชัดเจน สำหรับการรวมชาวกะเหรี่ยงอย่างหลวม ๆ ในท้องถิ่น[7]

ใน พ.ศ. 2564 มีชาวกะเหรี่ยงเพียง 7 หมู่บ้านที่ยังนับถือลัทธิฤๅษี[5] ประชากรกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤๅษีกำลังลดจำนวนลง เพราะชาวกะเหรี่ยงรอบ ๆ เลตองคุจำนวนมากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์หรือพุทธ[8][9] รวมทั้งการแตกแยกของคนในลัทธิเอง ก่อให้เกิดการแยกลัทธิใหม่ของตนเองในแต่ละชุมชน[2]

ประวัติ แก้

การสร้างโลก แก้

เก่อจาเม หรือพระเป็นเจ้า (ตรงกับพระอินทร์)[2] ได้สร้างมนุษย์คู่แรกบนโลกมนุษย์ เป็นชายชื่อ เอท้อกะระ (ดั่งแผ่นฟ้า) และ เอท้อกะชิ (ดั่งแผ่นดิน) โดยส่งทั้งสองไปที่สวนอีเด้เพื่อสร้างมนุษยชาติ โดยให้ทำงานหกวันและหยุดงานหนึ่งวัน รวมทั้งอนุญาตให้กินไม้ผลในสวนได้ ยกเว้นไม้ผลต้นเดียวที่ห้ามกินเพราะจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น ทว่า มีก่อลี (ผู้มีจิตริษยา) ได้ล่อลวงให้ทั้งสองกินผลจากไม้นั้น ทั้งเอท้อกะระและเอท้อกะชิจึงมีสิ่งไม่ดีไม่งามในตัว เก่อจาเมจึงส่ง อิสิเปอะม้อโก (ผู้ควบคุมโลกจากเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุด) มาลงมาควบคุมเหล่ามนุษย์และลูกหลานที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต เอท้อกะระและเอท้อกะชิมีบุตรห้าคน คนแรกชื่อ เจอะกว่อ เป็นบรรพชนกะเหรี่ยง คนที่สองชื่อ เตอะเลอ เป็นบรรพชนมอญ คนที่สามชื่อ โหย่ เป็นบรรพชนไทย คนที่สี่ชื่อ เปอะเยอ เป็นบรรพชนพม่า และคนที่ห้าชื่อ ก่อลา เป็นบรรพชนของฝรั่ง[10]

ต่อมาคนไทยไปสู่ขอลูกสาวหัวหน้าเผ่ากะเหรี่ยงชื่อ มือแหย่แพ (แม่นางสายสร้อย) แต่กะเหรี่ยงไม่ยกให้ ชาวไทยจึงไม่ส่งเกลือให้กะเหรี่ยงยาวนานถึงสามปี ทำให้ชาวกะเหรี่ยงป่วยเป็นโรคเท้าบวม ชาวกะเหรี่ยงจึงยอมยกลูกสาวให้ แต่มีข้อแม้ว่าหากหญิงนางนี้มีบุตรเป็นชาย เมื่อมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์คนไทยต้องแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเผ่า เมื่อครบ 20 ปีแล้ว ชาวกะเหรี่ยงจึงจัดงานเลี้ยงฉลองด้วยสุราและอาหาร ชาวกะเหรี่ยงก็เมาหลับไหล กลางดึกคืนนั้นชาวไทยลอบสังหารผู้ชายกะเหรี่ยงจนตายหมดเหลือไว้แต่ผู้หญิง และคนไทยยังส่งกองกำลังมาโจมตีกะเหรี่ยงซ้ำอีก ชาวกะเหรี่ยงจำต้องลี้ภัยจนแตกฉานซ่านเซ็น พวกที่ลงมาทางใต้เรียก โปว์ ส่วนพวกที่หนีเข้าพม่าเรียก สกอว์[10]

แรกรับศีล แก้

มีหัวหน้ากะเหรี่ยงออกล่าสัตว์แล้วพบกับพระพุทธเจ้าและสาวก พระพุทธเจ้าขอบิณฑบาตอาหารจากเขา เขาซึ่งมีเพียงข้าวห่อเดียวก็ถวายให้พระพุทธเจ้าอย่างไม่เต็มใจนัก แต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าสามารถแบ่งข้าวห่อเดียวให้เพียงพอต่อสาวกทั้ง 500 คน รวมทั้งหัวหน้ากะเหรี่ยงและหมาล่าเนื้อของเขาด้วย หัวหน้ากะเหรี่ยงรู้สึกศรัทธาจึงขอรับการอบรมและรับศีล พระพุทธเจ้าจึงให้ชื่อแก่หัวหน้ากะเหรี่ยงคนนั้นว่า ย่อแฮ (ผู้ได้รับความดีงามแล้ว) ภายหลังย่อแฮได้ถวาย มานะชะ (ลูกสมอ) แก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้ารับไปแล้ว ก็กล่าวถึงชาวกะเหรี่ยงว่า หากเราเป็นผู้ที่รู้จักแบ่งปันอย่างที่แบ่งข้าวห่อนี้ ก็จะทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่ต่างคนต่างอยู่กลับมาเป็นพวกเดียวกันและรวมกันได้ ส่วนลูกสมอนี้เมื่อแรกลิ้มมีรสฝาดแต่เมื่อดื่มน้ำตามก็ได้รสหวานชุ่มคอ เปรียบได้ดั่งชาวกะเหรี่ยงที่ลำบาก ถ้าอดทนไปไม่ช้านานก็จะได้รับความสุข[10] ต่อมาเมื่อชาวบ้านทราบว่าย่อแฮเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็พากันรับศีลเพราะมองว่าการดื่มสุราเป็นเหตุให้เผ่าของตนแตกแยกไป และยกย่องให้ย่อแฮเป็น พือ (ปู่)[11]

สู่ดินแดนไทย แก้

ย่อแฮ ที่ได้รับการยกย่องเป็น พือ ปกครองชาวกะเหรี่ยงอย่างเป็นสุขและมั่นคงหลายชั่วอายุคน จนกระทั่ง เปอะเยอ (พม่า) เข้ามารุกรานจนชาวกะเหรี่ยงต้องอพยพไปทั่วดินแดนพม่า และสุดท้ายต้องหนีทหารพม่าไปอยู่ในถ้ำ ชาวกะเหรี่ยงในถ้ำได้พบกับเด็กผู้ชายชื่อ กว่อแว เขาขอขี้ผึ้งจากชาวบ้านโดยให้เหตุผลว่าจะไปทำเทียนและจุดเทียนเพื่อให้ปลอดภัยจากทหารพม่า การจุดเทียนนั้นทำให้ทหารพม่าหลับไหล เมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่พบชาวกะเหรี่ยงในถ้ำ ชาวกะเหรี่ยงจึงนับถือกว่อแวว่าเป็นผู้วิเศษและแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้นำ กว่อแวเป็นผู้นำชาวกะเหรี่ยงพาข้ามแดนสู่ประเทศไทยเพื่อหนีจากทหารพม่า กว่อแวใช้ ไม้เท้าวิเศษ ขับไล่ สิ่งไม่ดีไม่งาม ที่บรรพชนเคยกินไม้ผลในสวนอีเด้ ชาวกะเหรี่ยงจำต้องใช้สัตว์สี่เท้า คือ ช้าง วัว และควาย เป็นพาหนะในการเดินทางข้ามแดน เดิมไว้ใช้เลี้ยงผี แต่ในสภาวการณ์คับขันดังกล่าว พวกเขาได้ใช้ไก่และหมูสังเวยเลี้ยงผีแทน จากนั้นกว่อแวได้นำไม้เท้าวิเศษขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามไปใส่ในไก่และหมู เมื่อทหารพม่าตามมาก็เห็นแค่เพียงการจากไปของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น[11]

เมื่อเข้าสู่ดินแดนไทยแล้ว กว่อแว ไปนอนบนหน้าผาแล้วมีนิมิตว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง จึงสร้างหมู่บ้านชื่อ เลต่อโคะ (ใต้หน้าผาเหนือน้ำตก) หรือในไทยเรียกเลตองคุ และสร้างที่อยู่ของ อิสิ (ฤๅษี) ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ ตะหมุปูเยีย (ที่บูชาพ้นภัย) โดยกว่อแวเป็นฤๅษีตนแรก[11] หลังจากนั้นไม่นานทหารพม่าก็มาถึง โดยจับตัว บุ๊โคะ (เจ้าวัด) ให้ไปชี้ตัวกว่อแว เมื่อพบตัวจึงฆ่าตัวคอกว่อแวทันที วิญญาณของกว่อแวขึ้นไปเฝ้า เก่อจาเม (พระเจ้าพระบิดา) ว่าตนจะไม่กลับไปโลกมนุษย์อีก เพราะมนุษย์นั้นมีน้ำใจโหดร้ายทารุณนัก เก่อจาเม มีโองการว่ามนุษย์มีทั้งดีและไม่ดีปะปนระคนกันไป เราต้องส่งคนไปช่วยคนดีแก้ไขคนชั่ว แต่กว่อแวยืนกรานที่จะไม่กลับไปโลกมนุษย์อีก โดยขอให้ส่งเพื่อนของตนลงไปแทน[6]

เก่อจาเม ส่งเพื่อนของกว่อแวลงไป เขาได้สั่งสอนให้ชาวบ้านเลิกเลี้ยงผีเพราะเป็นภาระใหญ่ ทำให้ยักษ์ซึ่งเป็นหัวหน้ามวลผีไม่พอใจขึ้นไปฟ้องเก่อจาเมให้บุตรของท่านเลิกความคิดดังกล่าวเสีย เก่อจาเมกล่าวว่าเลี้ยงผีได้แต่ผีต้องรับผิดชอบล้างถ้วยชามเองด้วย ยักษ์บอกว่าจะทำตามเงื่อนไขนี้ก็ต่อเมื่อเพื่อนของกว่อแวกล้ากระโดดลงกองไฟเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำเพื่อมนุษย์มากกว่าผี เพื่อนของกว่อแวจึงตกลงใจกระโดดลงกองไฟเพื่อเสียสละแก่มนุษย์ ชาวกะเหรี่ยงพากันเรียกขานเพื่อนของกว่อแวว่า โจ่วยุ (เพื่อชาติ) นับถือเป็นฤๅษีตนที่ 2 ของหมู่บ้านเลตองคุ และเป็นที่มาของพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี[6]

มีวันหนึ่ง ชาวบ้านทำวัวหายเข้าไปในป่า แต่พบเด็กชายคนหนึ่งบอกว่าอยากได้ขี้ผึ้งมาทำเทียน ถ้าชาวบ้านคนนั้นช่วยก็จะตามหาวัวให้ แต่ชาวบ้านคนนั้นไม่สนใจและตามหาวัวของตนต่อไป ผ่านมาหลายวันก็ยังไม่พบวัว แต่กลับเจอเด็กผู้ชายคนนี้ทุกหนแห่ง ชาวบ้านจึงนำเรื่องไปเล่าให้ภรรยาฟัง ฝ่ายภรรยาเองก็ให้เขานำขี้ผึ้งไปให้เด็กคนดังกล่าว เมื่อได้ขี้ผึ้งแล้ว เด็กชายบอกว่าจะจุดเทียนตรงนี้ แต่กลัวเทียนดับให้ตั้งศาลาให้ด้วย รวมทั้งขอยืมมีดของชาวบ้านไว้ ส่วนวัวนั้นจะเจอระหว่างกลับบ้านหรือที่บ้าน ปรากฏชาวบ้านพบวัวกลับมาบ้านของตนเองแล้ว จึงเล่าให้ภรรยาฟัง ทั้งสองเชื่อว่าเด็กคนดังกล่าวเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงช่วยกันสร้างศาลาให้ ชาวบ้านที่ทราบข่าวก็พากันกราบไหว้และเรียกขานเด็กคนนี้ว่า แจะเบอะ (ตั้งหลักได้มั่นคง) และยกย่องให้เป็นฤๅษีตนที่ 3 ของหมู่บ้าน[12] แจะเบอะเป็นผู้วางรากฐาน ตะหมุปูเบีย (ที่บูชาพ้นภัย)[13] ต่อมา เสาะเจี๊ยะ (สัจจะ) ได้เป็นฤๅษีตนที่ 4 หลังรับนิมิตจาก แจะเบอะ ฤๅษีตนที่ 3 ให้นุ่งขาวห่มขาว รุ่งเช้าเขาได้แจ้งนิมิตนั้นแก่ชาวบ้าน โดยนุ่งขาวห่มขาวตั้งแต่นั้น[13]

ในการปกครองของ แจะแป๊ะ ฤๅษีตนที่ 5 เคยส่งชาวบ้านสามคน ได้แก่ ผู้ชู ผู้ดู และผู้อ่องวะ ไปเรียนหนังสือไทย แต่กลับไม่สำเร็จเพราะถูกดูแคลนว่าเป็นคนป่าชาวดอย ท่านจึงสาบานว่า "เมื่อใดที่เราเรียนหนังสือไทยจะต้องเกิดภัยพิบัติกับพวกเราไม่เร็วก็ช้า"[13] ต่อมาได้ส่ง ย่อโท ย่อดะ และย่อแค่มะ ไปบวชเป็นพระในศาสนาพุทธที่พม่า เมื่อเห็นว่าศิษย์ของตนสามารถครองผ้าเหลืองได้ ก็เห็นว่าตนก็สามารถครองผ้าเหลืองได้เช่นกัน แต่จนสิ้นอายุขัยท่านก็ไม่ได้รับนิมิตให้ครองผ้าเหลือง ต้องครองผ้าขาวไปจนชั่วชีวิต[2] ในช่วงเวลานี้ มีช้างตกลูกที่สำนักฤๅษี แจะแป๊ะตั้งชื่อช้างนี้ว่า พะตะคอ ช้างแสนรู้ที่คอยรับใช้ฤๅษีในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เมื่อช้างนี้ล้มลง ฤๅษีจึงตัดงาไว้และให้ช่างชาวพม่าแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของช้าง ชาวบ้านนับถือเป็นคู่บ้านคู่เมืองและเคารพกราบไหว้กันทุกวันพระ[13][14] ต่อมา เก๊าะเคาะ (ขาเป๋) ขึ้นเป็นฤๅษีตนที่ 6 เป็นฤๅษีที่มีประวัติน้อย แต่เป็นฤๅษีตนแรกที่ห่มผ้าเหลือง[15] หลังฤๅษีที่ 6 ถึงแก่มรณกรรม จึงตั้ง เสาะเทียะ ที่บรรพชนอพยพมาจากบ้านแม่กลองคี เป็นฤๅษีตนที่ 7 ท่านมีนิมิตให้ปรับปรุงการแต่งกายของผู้นับถือฤๅษีเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบัน และก่อนท่านมรณภาพ ท่านให้ แจละยะ หรือ แจยะ เป็นฤๅษีตนที่ 8 สืบต่อตนเอง[15] ก่อนขึ้นตำแหน่ง มีเด็กในพื้นที่ตายลงเป็นจำนวนมาก แจละยะอ้างว่าตนทำความดีไม่เท่ากับฤๅษีตนก่อน ๆ จึงขอสร้างบารมีด้วยการแต่งงานกับ นางมะเนระ หญิงบ้านกุยละเติ่งในประเทศพม่า มีบุตรด้วยกันสองคนคือ นายตะอึและนางหน่อพอ เพื่อขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์[2] หลังดำรงตำแหน่งแจละยะต้องการแก้บาปให้พม่าที่สังหารฤๅษีตนที่ 1 โดยการนำชาวบ้านที่นับถือฤๅษีไปยังบ้านเจะโต่งอันเป็นที่ตั้งของกองกำลังพม่า โดยมีกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงสมทบไปด้วย แต่การสู้รบไม่เป็นผล ชาวกะเหรี่ยงล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้นำทหารกะเหรี่ยงไม่พอใจที่แจละยะพาคนของตนไปตาย จึงจับแจละยะไปขังและฆ่าตายในที่สุด[15]

ในการปกครองของ จำเลยช่วย หรือ จำเลอช่วย ฤๅษีตนที่ 9 ท่านเชื่อว่าฤๅษีตนก่อนทำเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับผู้หญิงและการนำชาวกะเหรี่ยงไปตาย ถือเป็นเรื่องไม่ดี ท่านจึงจัดพิธีเข้าลัทธิฤๅษีใหม่ให้กายและใจบริสุทธิ์อีกครั้ง[2] ในช่วงเวลานี้บ้านเลตองคุติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น รัฐบาลไทยจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นซึ่งขัดกับคำสั่งของ แจะแป๊ะ ฤๅษีตนที่ 5 ที่ห้ามเรียนหนังสือไทย จำเลยช่วยจึงจัดพิธีกรรมโดยเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาดื่มน้ำสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสำนักฤๅษี โดยให้สัญญาว่า "จะไม่ทำให้เป็นการผิดขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้าน และจะทำทุกอย่างที่จะช่วยเหลือชาวบ้านหากเกิดเภทภัยขึ้น" เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐของไทยกับชาวกะเหรี่ยงฤๅษี[15] จำเลยช่วยถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2532[2] ปัจจุบัน ม่อแน่ ชาวบ้านไกกว่า (หญ้าไม้กวาด) ในเขตประเทศพม่า ผู้เคยบวชเป็นพระภิกษุอย่างเคร่งครัดขึ้นเป็นฤๅษีตนที่ 10 ผ่านการนิมิตจากฤๅษีและนักบวชในสำนักถึงสามครั้ง[2] หลังเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของจำเลยช่วยมา 25 ปี โดยยังนุ่งขาวห่มขาวตามอย่างฤๅษีคนก่อน ๆ ดังเดิม[15]

ก่อน พ.ศ. 2400 ที่บ้านเลตองคุเคยมีวัดในศาสนาพุทธซึ่งเจ้าอาวาสชาวมอญปกครองอยู่ แต่ต่อมาวัดร้างลง ชาวบ้านเลตองคุจึงนำพระพุทธรูปพุทธศิลป์พม่า มอญ และไทยจำนวน 50 องค์ไปไว้ที่สำนักฤๅษี[14]

ความเชื่อ แก้

ลัทธิกะเหรี่ยงฤๅษีมีความเชื่อว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นเพียงผู้เข้ามาขอใช้ประโยชน์เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกเกิดจากอำนาจของ เก่อจาเม หรือ เตอะจาเม (ตรงกับพระอินทร์) เป็นพระผู้สร้าง โดยมี ยะหนู เป็นเทพที่คอยค้ำคูณพื้นพิภพให้สงบสุข เก่อจาเมส่ง อิสิเปอะม้อโก เป็นฤๅษีเป็นผู้ดูแลมนุษย์ มนุษย์ต้องถือศีลห้าอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตนตามข้อบัญญัติ 14 ข้อ[2] นอกจากนี้ยังความเชื่อเรื่องเทพอื่น ๆ ด้วย เช่น ซ่งทะรี เทพแห่งผืนดิน (ตรงกับพระธรณี) โพ่โดกุ๊ หรือ ทีเก่อจ่า เทพแห่งน้ำ (ตรงกับพระคงคา) รุกขะจือ เทพารักษ์ และ พิบุ๊โย เทพแห่งข้าว (ตรงกับนางโพสพ)[2] ซึ่งต้องให้ความเคารพยำเกรง หากไปกระทำความผิด เช่น การตัดไม้ทำลายป่าแบบไม่มีเหตุจำเป็น หรือการไปปัสสาวะไม่เป็นที่หรือไปปัสสาวะในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะเกิดอาเภทต่าง ๆ เช่น ห้วยไม่มีน้ำ เจ็บป่วย ไม่สบาย และถึงแก่ชีวิตได้[16]

นอกจากศีลห้าของศาสนาพุทธที่ต้องยึดถือกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังมีข้อบัญญัติ 14 ประการ หรือ ตาดี๊ ของลัทธิฤๅษี ที่ศาสนิกชนพึงปฏิบัติ มีดังนี้[2]

  1. ห้ามเลี้ยงสัตว์
  2. ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
  3. ห้ามเล่นการพนัน
  4. ต้องได้รับความเห็นชอบจากบิดา มารดา ผู้เฒ่าผู้แก่ ในการแต่งงาน
  5. ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
  6. ห้ามปฏิบัติข้อด้านบนทั้งในบ้านและนอกพื้นที่
  7. การประชุมจะต้องมีสมาชิก 1 ใน 3
  8. การตัดสินเรื่องใด ๆ ที่เห็นไม่ตรงกันให้ใช้วิธีลงบัตรโดยผู้ใหญ่บ้านลง 2 บัตร สมาชิกลง 1 บัตร
  9. การควบคุมกิจการในกลุ่มต้องมีที่ปรึกษา 1 คน รอง 1 คน กรรมการ 4 คน
  10. ประธานที่ปรึกษาเป็นผู้ตัดสินกรณีสมาชิกฝ่าฝืนกฏ
  11. ประธานมีอำนาจลงโทษและตักเตือนกรณีสมาชิกทำผิดข้อ 4
  12. ผู้ใดกล่าวล่วงเกินในข้อ 4 คณะผู้ใหญ่ให้ผู้ล่วงเกินนั้นไปกราบขอโทษได้
  13. ผู้ใดล่วงเกินข้อ 1 2 3 ลงโทษ 3 ครั้งไม่เข็ดหลาบ ให้กรรมการผู้ใหญ่ไล่ออกจากสมาชิกได้
  14. การกลับเข้ามาเป็นสมาชิกหลังถูกไล่ออกต้องมีสมาชิก 2 คนรับรอง

ทั้งนี้หากมีการละเมิดข้อบัญญัติ 14 ประการ ก็จะมีบทลงโทษแตกต่างกันออกไปทั้งนักบวชและศาสนิกชน[2] ทั้งนี้พวกเขายังนับถือคติหญิงเป็นใหญ่[2] มีความเชื่อในเรื่องโลกหน้า โดยเชื่อว่าชาตินี้เกิดเป็นกะเหรี่ยงเพราะมีบุญไม่พอ ต้องหมั่นทำบุญเพื่อนำไปสู่ภพภูมิที่ดี และเกิดในยุคพระศรีอาริย์[2] นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสัตว์ เช่น หาก เสือ (คี) เก้ง (ฉะคูบ่อง) และกวาง (ฉะโค่ง) เข้ามาในบ้าน แสดงว่ามีผู้ทำผิดกฎ นับถือนกเงือกกรามช้างหรือนกกกดำ (ทุกุ) เป็นสัจจะในการครองคู่ เพราะหากคู่ของมันตาย มันก็จะตรอมใจตายตาม และไม่ควรเลี้ยงหรือบริโภคหมูและไก่ เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงของผี[2] เป็นต้น

สังคม แก้

นักพรต แก้

ชาวกะเหรี่ยงฤๅษี มีผู้นำทางจิตวิญญาณคือฤๅษี (กะเหรี่ยงเรียก อิสิ) แบบสืบทอดตำแหน่งลงมาจนถึงฤๅษีตนที่ 10[17] ฤๅษีต้องนุ่งขาวห่มขาว นับถือเป็นต้นแบบของระบบศีลธรรมจรรยาในชุมชน[6] ฤๅษีจะอาศัยอยู่ในศาลาฤๅษีหรือสำนักฤๅษี (บุ) โดยการสืบทอดตำแหน่งของฤๅษีแต่ละตนจะเป็นการนิมิตเห็นฤๅษีจากรุ่นสู่รุ่น กล่าวคือฤๅษีตนปัจจุบันจะต้องนิมิตเห็นฤๅษีตนถัดไป ความแม่นยำของนิมิตจะอยู่ในช่วงระยะเวลาสามปี ปีละสามครั้งติดต่อกัน จึงจะเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวคือฤๅษีตนถัดไปตามวิถีความเชื่อ[15] โดยสมาชิกลัทธิฤๅษีทุกคนชื่อว่า ฤๅษีสามารถดลบันดาลให้เกิดทุกข์หรือสุขได้ และเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติจากผีดีและผีร้าย[2] เมื่อมีงานบุญหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ศาสนิกชนผู้มีศรัทธาจะไปขอพรและฟังธรรมเทศนาจากฤๅษีอย่างเนืองแน่น[18] ผู้นับถือฤๅษีจากหมู่บ้านอื่น ๆ จะต้องเดินทางไกลเพื่อแสวงบุญไปกราบไหว้ขอพรจากฤๅษี โดยเปรียบเปรยว่า ผู้ใดที่ไม่มีฤๅษีก็คือคนที่ไร้หัวใจ ดังนั้นการดำรงอยู่ของฤๅษี จึงเปรียบเสมือนการมีบุญ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสันติสุข[9]

ทั้งนี้ลัทธิฤๅษี มีโครงสร้างทางสังคมเป็นลำดับชั้น ตามข้อบังคับตามจารีตประเพณี แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้[2]

  1. อิสิ หรือ ฤๅษี เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของลัทธิ
  2. วาตาบุ หรือ นักบวช เป็นชายที่ผ่านพิธีบวชในสำนักของฤๅษี
  3. ตะวาโบ๊ะ หรือ ศาสนิกชน เป็นผู้ที่ยึดถือศีลห้า และปฏิบัติตนตามกฎ 14 ข้อ

ก่อนการทำสนธิสัญญาแบ่งพรมแดนไทย-พม่า บริเวณเลตองคุเคยมีการปกครองแบบสังฆารัฐขนาดน้อย โดยมีฤๅษีเป็นประมุข โดยแบ่งอำนาจบริหารให้แก่ บูโคะเก๊อะ เป็นผู้บริหารศาสนิกชน ให้ศาสนิกชนปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และ บูโค๊ะ เป็นผู้นำชุมชนและผู้นำการประกอบศาสนกิจ หลังการทำสนธิสัญญาแบ่งพรมแดน มีการแต่งตั้งผู้นำชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้าน (ในไทย) และโอกะทะ (ในพม่า) ทับซ้อนกับอำนาจปกครองเดิมของลัทธิฤๅษี แต่ก็มีบทบาทน้อยถ้าเทียบกับการปกครองเดิมของฤๅษี[2]

ศาสนิกชน แก้

การที่จะเข้าสู่การเป็นศิษย์หรือสมาชิกลัทธิฤๅษีมีทั้งโดยกำเนิดตามบุพการี การสมรส การบวชในสำนักฤๅษี และการอพยพเข้าในหมู่บ้าน[2] ซึ่งเป็นไปตามความสะดวกใจและสมัครใจ ไม่มีการบังคับให้นับถือ[18] การนับถือจะต้องมีพิธีกรรมชำระล้างร่างกายและนำของไปถวายฤๅษี ได้แก่ มีด 3 เล่ม ขวาน 1 เล่ม เสื่อ 1 ผืน หมอน 1 ใบ มะพร้าว 1 ลูก กล้วย 3 หวี ขนม ข้าวต้ม และเทียนขี้ผึ้งบริสุทธิ์ 1 กิโลกรัม เมื่อทำพิธีปวารณาตนเป็นศิษย์แล้ว ก็จะต้องอยู่ภายในสำนักเป็นเวลาสามปี ห้ามไปข้องเกี่ยวกับกิจการใด ๆ ในหมู่บ้าน แต่สามารถออกเที่ยวตามป่าได้ รับประทานได้เพียงสัตว์เล็กสองเท้า เช่น นกและไก่ป่า และจะไม่บริโภคสัตว์ใหญ่สี่เท้าเด็ดขาด[19] ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤๅษีมีกฎระเบียบมากมาย เป็นต้นว่า ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ตนเองเลี้ยงไว้ เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย ห้ามดื่มสุราของมึนเมา ห้ามเล่นการพนัน ห้ามแต่งงานโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากบิดามารดา ห้ามลักขโมย ผู้ชายและผู้หญิงจะตัดผมเป็นทรงไม่ได้ยกเว้นโกนหรือปล่อยยาว โดยมุ่นมวยเป็นจุกไว้กลางกระหม่อม และห้ามสตรีเดินผ่าเรือนเก็บงาช้าง หากศาสนิกชนลัทธิฤๅษีฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษ แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 ตักเตือน ครั้งที่ 2 จับโกนผม แห่ประจาน และลงโบย และครั้งที่ 3 ขับจากการเป็นสมาชิกและไล่ออกจากหมู่บ้าน[20] วินัย ก้องชนะไพร หรือ หล่าเซ่อ ชาวกะเหรี่ยงบ้านเลตองคุ อธิบายถึงชุมชนตนเองว่า "หมู่บ้านเรานับถือฤๅษี ผู้ชายจะมีหัวจุก การแต่งกายก็ไม่เหมือนที่อื่น ต้องใส่เสื้อแขนยาวผ่าอก ไม่ใส่กางเกงใน เสื้อชั้นใน การอยู่การกินก็แตกต่าง เราไม่กินสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะหมูหรือไก่ แต่กินสัตว์ที่ล่า และต้องเป็นสัตว์เล็กอย่างกระรอก ไก่ป่า..."[21] พวกเขาถือศีลห้าของศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด[6] รวมทั้งไม่บริโภคสัตว์ป่าสงวน คือ สมเสร็จ นกเงือก ชะนี เลียงผา งูเหลือม นกแซงแซว และเก้งหม้อ[5] หากใครไม่สามารถปฏิบัติตนตามความเชื่อของลัทธิ ก็สามารถพิจารณาตนเองออกจากลัทธิได้[18]

อัตลักษณ์เด่นของผู้นับถือลัทธิฤๅษี คือ การไว้ผม ผู้ชายจะเริ่มไว้ผมยาวโดยไม่ตัดเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม บำรุงเส้นผมด้วยน้ำมันมะพร้าว เมื่อผมยาวพอก็จะมุ่นมวยไว้กลางกระหม่อม อาจประดับด้วยดอกไม้หรือใบไม้ ใช้ผ้าโพกหรือพันให้มีสีสันสวยงาม[22] ขณะที่ผู้หญิงจะมุ่นมวยผมไว้ตรงท้ายทอย[23] ส่วนการแต่งกายทั่วไปของเพศชายจะใส่โสร่งสีเขียวหรือน้ำเงิน (บ้านเลตองคุ) และสีแดง (บ้านมอทะ–หม่องกั๊วะ) สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ่าอกไม่มีลวดลาย ปัจจุบันนิยมสีขาว น้ำเงิน และฟ้า แต่หากจะไปทำบุญต้องสวมชุดคลุมสีขาวแถบแดงหรือบานเย็น และโพกศีรษะด้วยผ้า[24] การแต่งกายของชาวพรหมจรรย์จะสวมเสื้อ เชกอพะทอ สำหรับประกอบพิธีกรรมฤๅษี[25] และการแต่งกายของเพศหญิง หญิงโสดและหญิงพรหมจรรย์จะสวมผ้าคลุมสีขาว เรียกว่า เชวา สื่อถึงความบริสุทธิ์และพรหมจรรย์ หากแต่งงานแล้วจะสวมเสื้อสีดำหรือน้ำเงิน เรียกว่า เชซู สื่อความพร้อมที่จะทนทุกข์เพื่อลูกและสามี ส่วนซิ่นสีแดงเรียกว่า หนี่[25] และหญิงสูงอายุจะสวมเสื้อแขนสั้นและผ้าถุงสีแดงเลือดนก[23]

สำรับอาหารของชาวกะเหรี่ยงฤๅษีเป็นแบบมังสวิรัติอันเป็นผลิตผลที่ได้จากการเพาะปลูกในครัวเรือน ได้แก่ ข้าวและถั่วบด ส่วนของหวานง่าย ๆ อย่างเช่น น้ำตาลอ้อย[26] นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีพืชบางชนิดที่ไม่สามารถกินได้ เช่น ผักกูด ผักหนาม หน่อหวาย และปลีกล้วย เป็นต้น[18]

จากข้อมูลใน พ.ศ. 2556 ระบุว่าอำเภออุ้มผางมีชุมชนที่นับถือลัทธิฤๅษีจำนวน 8 หมู่บ้าน คือ[14]

  1. บ้านเลตองคุ
  2. บ้านมอตาลัว
  3. บ้านโกบอทะ
  4. บ้านทิบาเก
  5. บ้านข่องแปะ
  6. บ้านแม่จันทะเก่า
  7. บ้านพอกะทะ
  8. บ้านกุยเคลอะ

พ.ศ. 2548 ประชากรชาวกะเหรี่ยงที่บ้านกุยต๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระบุตัวตนว่านับถือศาสนาพุทธและฤๅษี เพราะมีบรรพบุรุษอพยพมาจากบ้านเลตองคุ[27]

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานว่า ใน พ.ศ. 2564 เหลือชาวกะเหรี่ยงเพียง 7 หมู่บ้านที่ยังนับถือลัทธิฤๅษี[5] ส่วนภาสกร ภูแต้มนิล (2549) รายงานว่ามีผู้นับถือลัทธิฤๅษีในประเทศพม่า 26 หมู่บ้าน[2] ประชากรกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤๅษีกำลังลดจำนวนลง เพราะชาวกะเหรี่ยงรอบ ๆ เลตองคุจำนวนมากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์กันมากขึ้น[8][9] รวมทั้งเกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้ที่นับถือลัทธิฤๅษีเอง บางบ้านตั้งฤๅษีประจำชุมชนของตนเอง เพราะบ้านเลตองคุอยู่ไกลยากต่อการเดินทาง หรือบ้างก็เชื่อว่าฤๅษีสิ้นสุดลงตั้งแต่ตนที่ 7 เพราะฤๅษีตนที่ 8 ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เช่น บ้านแม่จันทะเก่า มีผู้อ้างตนเป็นฤๅษีที่ 2 กลับชาติมาเกิด บ้านมอทะ มีคนตั้งตนเป็นกษัตริย์แทนเพราะเชื่อว่าฤๅษีสูญสิ้นแล้ว และบ้านกุยด๊ะ มีการตั้งตนเป็นฤๅษีตนใหม่[2] ส่วนบ้านมอตาลัว ไกบอทะ และซอแมะ เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธหรือคริสต์[2]

สถานที่สำคัญทางศาสนา แก้

สำนักฤๅษี แก้

สำนักฤๅษี (บุ๊ หรือ ตาม่าบุ๊ล่อ) เป็นที่อยู่ของฤๅษี ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นจุดที่สามารถสื่อสารกับเทวดาบนฟ้า บนดิน และใต้ดินได้[28] ภายในศาลาฤๅษีของบ้านเลตองคุ ประดิษฐานสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ 7 อย่าง อยู่ภายใน ได้แก่ 1. สถานที่เกิด (ตะละเอหมุ) เป็นเสาไม้ประดับเครื่องจักสานล้อมรอบด้วยหิน เชื่อว่าสถานที่นี้เป็นวันแรกของโลกคือวันอาทิตย์ 2. บ้านบริสุทธิ์ (บุ๊) เป็นที่พำนักของฤๅษี ภายในมีแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมเป็นตัวแทนของเก่อจาเม 3. หลักธรรม (ตะแล) ไม้ไผ่ประดับเครื่องจักสาน ฤๅษีประดิษฐ์เอง 4 ต้น และนักบวช ประดิษฐ์เองอีก 3 ต้น 4. เสารัตนตรัย (จ๊ะโทซ่อง) 5. งานช้างแกะสลักรูปพระพุทธเจ้า (รูเจ๊ะ) 6. พระไตรปิฎก (ตะละโป๊ะ) 7. สะพานไม้ (ตู) ทำจากไม้ยาวสองต้น เสมือนทางเชื่อมแผ่นดินกับท้องฟ้า และสวรรค์กับนรก[2] โดยเฉพาะงาช้างแกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางสมาธิโดยรอบตั้งแต่โคนถึงปลายงา ซึ่งอ้างว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี[29] ถือเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านจะใช้ในการทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา[28]

ศาลาเจ้าวัด แก้

ศาลาเจ้าวัด เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมทางศาสนาในหมู่บ้านที่ไม่มีฤๅษีพำนักอยู่ โดยมี บูโคะ (เจ้าวัด) ซึ่งผู้นำชุมชนและผู้นำการประกอบศาสนกิจ ซึ่งเจ้าวัดเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียน มากราบไหว้บูชาทุกวันพระ ซ่งเป็นวัดที่ศาสนิกชนฤๅษีทุกคนจะหยุดงานทั้งหมดเพื่อประกอบศาสนกิจสวดมนต์กันที่ศาลาและเจดีย์[30]

พิธีกรรมและวันสำคัญ แก้

เทศกาล แก้

พะชาลอ เป็นประเพณีทำบุญข้าวเปลือก กระทำในเดือนเมษายนของทุกปี[2]

ประเพณีจุดไฟบูชาฤๅษี เป็นประเพณีที่ระลึกถึงพืออิสีโจ่วยุ ฤๅษีตนที่ 2 ผู้สละชีพกระโจนเข้ากองไฟ กระทำในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี[31]

พิธีทำบุญโพ่โดกุ๊ กระทำพิธีลอยแพปอเดอกูเพื่อบูชาเทพีโพ่โดกุ๊ คล้ายกับประเพณีลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคาของไทย[2]

พิธีบวชในลัทธิฤๅษี ภาษากะเหรี่ยงเรียก ตะวาบุ มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นชายอายุ 10 ปีขึ้นไป และได้รับการอนุญาตจากบิดามารดา ส่วนมากเป็นชาวกะเหรี่ยงจากฝั่งประเทศพม่า[2]

พิธีเข้าฤๅษีใหม่ ภาษากะเหรี่ยงเรียก ออตะแลเนอ จะกระทำเมื่อมีผู้กระทำผิด หรือออกไปทำงานอยู่ต่างถิ่นเกิน 15 วัน ศาสนิกชนจะกระทำพิธีกรรมนี้ได้ไม่เกินสามครั้ง[2]

การทำบุญไหว้เจดีย์ ภาษากะเหรี่ยงเรียก บาโค หรือ มาบุ๊โคะ เป็นการทำบุญให้กับธรรมชาติ จะจัดขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำ ถึง 14 ค่ำของเดือนมีนาคมทุกปีปฏิทิน ซึ่งตรงกับเดือนเมษายนของฤๅษี คนในหมู่บ้านจะต้องมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรม โดยมีเจดีย์อยู่สามรูปแบบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกในขณะนั้น ได้แก่[11]

  1. เจดีย์ทราย หรือ โคะแหม่ สร้างขึ้นเพื่อบูชาหากมีคนตาย สัตว์ตาย มีสิ่งไม่ดีในหมู่บ้าน หรือโรคระบาด
  2. เจดีย์ดิน หรือ โคะเหอะโคะ สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนบนโลกให้พ้นจากความกลัวสามประการ คือ กลัวป่วย กลัวอด และกลัวโดนปล้น (หรือ กลัวสงคราม) เพราะเชื่อว่าดินเป็นดังพ่อแม่ที่จะเปลี่ยนร้ายให้เป็นดี
  3. เจดีย์ข้าว หรือ โคะบึ สร้างในยุคข้าวยากหมากแพง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือผลิตผลไม่เพียงพอต่อการบริโภค

วันสำคัญ แก้

วันสงกรานต์ ภาษากะเหรี่ยงเรียก อัตตารอ ชาวบ้านจะรวมตัวกันที่สำนักฤๅษี พร้อมกับนำอาหารมังสวิรัติและขนมหวานเทินศีรษะไปถวายฤๅษีและสามเณร จะมีการรดสรงน้ำฤๅษีที่รางน้ำไม้ไผ่ หลังจากนั้นก็จะรดน้ำดำหัวขอพรกันตามธรรมเนียม[32]

วันพระพุทธเจ้า หรือ วันพระ ภาษากะเหรี่ยงเรียก ลาเผาะ เป็นวันที่ชาวกะเหรี่ยงถือศีลห้า และกำหนดให้วันหนึ่งในสัปดาห์เป็นวันหยุดคือวันพระ เพื่อให้ผู้คนในชุมชนรวมตัวกันเพื่อกราบไหว้พระและบูชาพระเจดีย์ โดยมีตำนานผูกกับพุทธประวัติว่า มีหัวหน้ากะเหรี่ยงออกล่าสัตว์แล้วพบกับพระพุทธเจ้าและสาวก พระพุทธเจ้าขอบิณฑบาตอาหารจากเขา เขาซึ่งมีเพียงข้าวห่อเดียวก็ถวายให้พระพุทธเจ้าอย่างไม่เต็มใจนัก แต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าสามารถแบ่งข้าวห่อเดียวให้เพียงพอต่อสาวกทั้ง 500 คน รวมทั้งหัวหน้ากะเหรี่ยงและหมาล่าเนื้อของเขาด้วย หัวหน้ากะเหรี่ยงจึงรู้สึกศรัทธาจึงขอรับการอบรมและรับศีล พระพุทธเจ้าจึงให้ชื่อแก่หัวหน้ากะเหรี่ยงคนนั้นว่า ย่อแฮ แปลว่า ผู้ได้รับความดีงามแล้ว[10]

วันเข้าพรรษา ภาษากะเหรี่ยงเรียก ตะกึนึ จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี[2]

วันออกพรรษา ภาษากะเหรี่ยงเรียก ตะกึเปาะ จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี[2]

อ้างอิง แก้

  1. สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1092.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 2.24 2.25 2.26 2.27 2.28 ภาสกร ภูแต้มนิล (2549). "กระบวนการปรับตัวของพลังอำนาจกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงลัทธิฤๅษีบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า". ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ""เลตองคุ" หมู่บ้านชายขอบสุดเขตแดนสยาม ในวิกฤติโควิดก็ยังไม่ถูกลืม". ไทยรัฐออนไลน์. 1 กันยายน 2564. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ฤๅษีก็ไม่รอด จนท.ลุยพื้นที่สุดโหด เข้าบ้านเลตองคุ หลังมีรายงาน "ฤๅษีติดโควิด"". มติชนออนไลน์. 8 สิงหาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย งานวิจัยและความท้าทาย. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.). 28 เมษายน 2564. p. 57.[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1095.
  7. ขวัญชีวัน บัวแดง (5 กันยายน 2555). "ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ศึกษากรณีกลุ่มชนกะเหรี่ยง ในประเทศไทย และประเทศพม่า". ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 CitizenThaiPBS (5 มีนาคม 2557). "นักข่าวพลเมือง ตอน พิธีฤๅษี เลตองคุ". ยูทูบ. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 222.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1093.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 สุขเกษม ขุนทอง (29 มีนาคม 2561). ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของระบบสังคมในพิธีจุดไฟบูชาฤๅษี ชุมชนกะเหรี่ยง (โปว์และสกอว์) ลัทธิฤๅษี ผ่าน "ตำนาน" บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 1094.
  12. สุขเกษม ขุนทอง (22 ธันวาคม 2560). รูปแบบการพึ่งตนเองของชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง (โปว์และสะกอว์) ลัทธิฤๅษี นิกายตะละกู่ บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 98.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 สุขเกษม ขุนทอง (22 ธันวาคม 2560). รูปแบบการพึ่งตนเองของชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง (โปว์และสะกอว์) ลัทธิฤๅษี นิกายตะละกู่ บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 99.
  14. 14.0 14.1 14.2 วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 18.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 สุขเกษม ขุนทอง (22 ธันวาคม 2560). รูปแบบการพึ่งตนเองของชุมชนบนฐานประวัติศาสตร์วิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง (โปว์และสะกอว์) ลัทธิฤๅษี นิกายตะละกู่ บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (PDF). สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. p. 100.
  16. สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 224.
  17. "หมู่บ้านฤๅษีกะเหรี่ยงเลตองคุ จังหวัดตาก". เทศบาลตำบลแม่จัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-03. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 202.
  19. วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 45.
  20. วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 16.
  21. ชุติมา ซุ้นเจริญ (11 เมษายน 2562). "'กะเหรี่ยงฤๅษี 4.0' ไอซีทีเพื่อชุมชนชายขอบ". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 17.
  23. 23.0 23.1 วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 25.
  24. วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 24.
  25. 25.0 25.1 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 230.
  26. "เลตองคุ ตอน หมู่บ้านสุดชายแดน". คมชัดลึก. 31 มีนาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. "กุยต๊ะ เรื่องเล่าจากขุนเขา". ประชาไท. 24 เมษายน 2548. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. 28.0 28.1 สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (มกราคม–มิถุนายน 2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษชุมชนปกาเกอะญอฤๅษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องกว๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตรศิลป์ (9:1). p. 230.
  29. "ไล่ล่ามือโจรกรรมงาช้างเก่าแก่ สิ่งสำคัญคู่หมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีเลตองคุ". ไทยรัฐออนไลน์. 9 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  30. สรวัช หนูพินิตร์ และคณะ (มิถุนายน 2563). โครงการการจัดการขอบเขตที่ทำกินชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกอย่างมีส่วนร่วม. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.). p. 20.
  31. วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 39.
  32. วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดตาก (PDF). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. p. 40.