นักองค์วัตถา

(เปลี่ยนทางจาก พระองค์เจ้าวัตถา)

นักองค์วัตถา, พระองค์เจ้าวัตถา หรือ นักพระองค์วรรถา[1][a] (เขมร: វត្ថា; พ.ศ. 2385 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2434) บ้างออกพระนามว่า ศรีวัตถา (ស៊ីវត្ថា) หรือ ไวยวัตถา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ประสูตินักขำ (หรือ คำ) เป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร และพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ นักองค์วัตถาทรงมีความขัดแย้งกับพระเชษฐาทั้งสอง โดยมีเครือญาติร่วมในการก่อกบฏหวังชิงราชบัลลังก์[2] และได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็น พระบันทูลวิเสดสมเดจ์องค์วัตถาบรมบพิตรผูเปนเจ้า (พระบัณฑูรวิเศษสมเด็จองค์วัตถาบรมบพิตรผู้เป็นเจ้า) อ้างสิทธิในราชบัลลังก์กัมพูชา[3] ในเอกสารของกัมพูชามองว่าการกระทำของนักองค์วัตถาเป็นกบฏต่อราชสำนักเขมร และเอกสารกัมพูชาในยุคหลังมองว่าวัตถาได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายกษัตริย์สยามเพื่อก่อการกบฏ[4]

นักองค์วัตถา
ประสูติพ.ศ. 2385
กรุงเทพมหานคร หรือพระตะบอง อาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์30 ธันวาคม พ.ศ. 2434
จังหวัดกำปงธม กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
หม่อมแม่นางดอกบัว
พระบุตรประดิษฐวงษ (หรือ ดิศวงษ์)
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
  • ราชสกุลวัตถา
พระบิดาสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระมารดานักขำ (หรือ คำ)

พระประวัติ

แก้

ชีวิตช่วงต้นและการศึกษา

แก้

นักองค์วัตถา หรือ ศรีวัตถา ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2385 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ประสูตินักขำ (หรือ นักนางคำ)[5] ธิดาพระยาธรรมาเดโช[6] กับยายแก้ว[7] มีพระมาตุลาคนหนึ่งชื่อ สนองโสร์ (หรือ สนองโส)[8] ต่อมาเป็นที่ ออกญามหาฤทธิณรงค์ (ในเอกสารเขมร) หรือ พระยามหาฤทธิรงค์ชาญไชย (เอกสารไทย) เป็นกรมการในเขตเมืองบาพนม[9] (បាភ្នំ) ปัจจุบันเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดไพรแวง ประเทศกัมพูชา

ผังเครือญาติของนักองค์วัตถา
 
นักองค์ตน
 
นักองค์เอง
 
นักองค์จัน
 
นักองค์ด้วง
นักองค์แบน 
นักองค์เม็ญ
นักองค์เภานักองค์สงวน 
นักองค์ราชาวดี
 
นักองค์ศรีสวัสดิ
นักองค์วัตถา

ก่อนการประสูติกาล สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ทรงขัดแย้งกับสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จันทร์ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี และกลุ่มขุนนางเขมรที่ฝักใฝ่ฝ่ายญวน ทำให้สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีพร้อมด้วยเจ้านายและขุนนางที่ฝักใฝ่สยาม เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และหนึ่งปีก่อนนักองค์วัตถาประสูติกาล สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีถูกส่งตัวไปยังเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของสยาม จึงอาจเป็นไปได้ว่านักองค์วัตถาอาจประสูติที่พระตะบองหรือกรุงเทพมหานคร แต่เป็นที่แน่นอนว่ามีพระประสูติกาลในเขตอิทธิพลสยาม[10] ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม ทรงออกพระนามใหม่แก่นักองค์วัตถาว่า วัดถาลงกร เพราะนามเดิมเป็นอิตถีลึงค์[10] ขณะที่ นิราสนครวัด ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างคำอธิบายของออกญาพิพิธไอศูรย์ ข้าราชการเขมรรุ่นเก่าในพนมเปญว่าพระนามที่ถูกต้องคือ ไวยวัตถา เพื่อให้คล้องจองกับพระนามของพระเชษฐา คือ ราชาวดี ศรีสวัสดิ์ และไวยวัตถา[11]

ต่อมานักองค์วัตถาตามเสด็จบิดาไปกรุงอุดงฦๅไชย เมื่อเกศากันต์แล้ว นักองค์วัตถาผนวชเป็นสามเณรในสำนักสมเด็จพระมหาพิมลธรรม (เที่ยง) เมื่อผนวชได้สามพรรษาก็ลาผนวช ก่อนถูกส่งไปถวายตัวแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพมหานคร ด้วยกันกับนักองค์ศรีสวัสดิ์ พร้อมเครื่องบรรณาการ โดยมีขุนนางเขมร 5 นายตามเสด็จ คือ ออกญาเชษฐา (บา) ออกญาสุภาธิบดี (เม็ญ) ออกญาพิทักษ์มนตรี (กุย) ออกญาพิทักษ์อิศรา (เปรียบ) และออกญาวงษาธิราช (คง)[12] และทรงพระอักษรในกรุงเทพมหานครตามพระราชธรรมเนียมของเจ้านายฝ่ายหน้ากรุงกัมพูชา พร้อมกับพระเชษฐาต่างพระชนนี คือ พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร หรือนักองค์ราชาวดี และพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ หรือนักองค์ศรีสวัสดิ์[10] นอกจากทรงศึกษาด้านอักขระและศิลปวิทยาจากสำนักเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครแล้ว ยังทรงศึกษาวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันด้วยเวทมนตร์และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ อีกทั้งยังเคยเป็นอาจารย์สอนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งยังบวชเป็นสามเณร[13] คาดว่านักองค์วัตถาคงอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ด้วยพบว่าทรงมีความสนิทสนมกับเจ้านายและข้าราชการชาวสยามมากมายหลายคน หนึ่งในนั้นคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์เป็นอาจารย์-ศิษย์ และมีวังอยู่ตรงข้ามวังเจ้าเขมรที่พระองค์ประทับอยู่[14]

ความขัดแย้งและการก่อกบฏ

แก้

นักองค์วัตถาถูกส่งตัวกลับไปปฏิบัติราชการในกรุงกัมพูชาก่อน พ.ศ. 2400 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้ นักองค์ราชาวดี เป็นที่พระมหาอุปราช และนักองค์ศรีสวัสดิ เป็นที่สมเด็จพระแก้วฟ้า กลับไปปฏิบัติราชการกรุงกัมพูชา และทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองค์ราชาวดีขึ้นเป็นที่สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ มหาอุปราช และนักองค์ศรีสวัสดิเป็นที่พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า (เอกสารเขมรเรียก สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า)[15] สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีก็ส่งตัวนักองค์เจ้าวัตถาไปรับใช้ราชกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพมหานครแทน[16] โดยในหนังสือ ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร ระบุถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีกับนักองค์วัตถา เพราะทรงสั่งห้ามมิให้พระยาเขมรที่เข้ามาในกรุงเทพมหานครไปมาหาสู่กับนักองค์วัตถา[17] ส่วนสาเหตุที่ไม่โปรดพระโอรสพระองค์นี้ เพราะนักองค์วัตถาสูบฝิ่น และอีกกรณีคือทรงให้อดีตนางฟ้อนในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งคบชู้กับนายบัวมหาดเล็ก ไปหลบซ่อนภายในวังของพระองค์ ถือเป็นเรื่องอัปยศมากสำหรับสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ด้วยเหตุนี้ในพินัยกรรมจึงทรงเว้นการพระราชทานพระราชมรดกแก่พระโอรสพระองค์นี้[18]

ในหนังสือ ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร ระบุว่า ทางการสยามได้ส่งนักองค์วัตถาออกจากกรุงเทพมหานครพร้อมข้าหลวง เพื่อให้ไปปรนนิบัติสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีในเบื้องปลายพระชนม์ชีพ โดยนักองค์วัตถาให้ปฏิญาณแก่พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ว่าหลังการพิราลัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ก็จะพานักมารดาและยายกลับไปอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครตามเดิม[17] กระทั่งหลังการพิราลัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีเมื่อ พ.ศ. 2403 ด้วยโรคริดสีดวงทวารที่ประชวรมานานหลายเดือน[19] นักองค์วัตถาได้เข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพด้วย สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ มหาอุปราช ทรงปลูกพระตำหนักทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวังในอุดงฦๅไชยแก่นักองค์วัตถา นักองค์วัตถาขอให้พระองค์เจ้าศิริวงษ์ พระอนุชาต่างพระชนนีไปประทับที่พระตำหนักด้วยกัน[20] ครั้น พ.ศ. 2404 สนองโสร์ กรมการของเมืองบาพนมซึ่งเป็นพระมาตุลาหรือน้าชายของวัตถา เกลี้ยกล่อมชาวเมืองบาพนมเป็นพวกจำนวนมาก โดยยุยงให้ชาวเมืองกระด้างกระเดื่องต่อพระยาธรรมเดโชซึ่งเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว[21] ในเอกสารไทยระบุว่า สนองโสร์เห็นว่าสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์นั้น "...ไม่โอบอ้อมอารีต่อพี่น้อง..." ก็คุมสมัครพรรคพวกก่อกบฏขึ้น[8] สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์จึงตรัสให้เอาตัวสนองโสร์ไปไต่สวน แต่สนองโสร์ไม่ยินยอม กลับไปพักพิงอยู่กับนักองค์วัตถาและศิริวงษ์แทน ซึ่งนักองค์วัตถาก็ออกตัวปกป้องสนองโสร์ พร้อมกับกล่าวว่า ตนรับใช้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มาดูแลน้ำใจของเหล่าเจ้านายเขมรและขุนนางเขมรมิให้เอาใจออกหาก หากใครประพฤติผิดไปจากนี้ ก็จะนำความกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความประพฤติของเจ้านายและขุนนางเขมรทุกประการ หลังจากเหตุการณ์นั้น ทั้งนักองค์วัตถาและศิริวงษ์ก็มิได้เฝ้าแหนสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์อย่างเคย[21] และทั้งสองพระองค์นี้ก็มิได้เสด็จออกไปร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของพระชนกเลย[22]

ใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่าพระยาราชประสิทธิไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) ที่วัดปราง เพื่อเชิญนักองค์วัตถาและศิริวงษ์เพื่อกราบทูลเจรจาเรื่องราวแต่ก็ล้มเหลว ในช่วงเวลาดังกล่าว นักองค์วัตถาได้แต่งตั้งให้สนองโสร์ ซึ่งเป็นพระมาตุลาขึ้นเป็นออกญามหาฤทธิรงค์ชาญไชย[7] ครั้นใน พ.ศ. 2404 นั้นเอง สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ ทรงให้ไพร่พลนำปืนไปยิงพระตำหนักนักองค์วัตถาและศิริวงษ์ เพื่อไล่ให้ตื่น จะได้หนีกลับไปยังกรุงเทพมหานครโดยเร็ว ฝ่ายออกญามหาฤทธิณรงค์ (โสร์) และออกญากำแหงโยธา (แก้ว) ก็พาสมัครพรรคพวกราว 40-50 คน ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กันไปมากับฝ่ายสมเด็จพระนโรดม จนฝ่ายของนักองค์วัตถาล้มตายไป 7-8 คน นักองค์วัตถาเห็นว่าสู้ไม่ได้จึงพาครอบครัว คือ นักขำ มารดา หม่อมดอกบัว ภรรยา และยายแก้ว พระอัยยิกา พร้อมด้วยบ่าวไพร่ ขี่ม้าหนีไปเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นเขตแดนของสยาม เพื่อมุ่งสู่กรุงเทพมหานครต่อไป พระบาทสมเด็จพระนโรดมตรัสให้ออกญาเสนาธิบดี (เล็ก) กับออกญาราชเดชะ (เอก) ยกไพร่พลไล่ตามพวกนักองค์วัตถาจนสุดเขตแดน แล้วให้จับพระแม่นางผลทิพย์สุวรรณ (เขียว) พระชนนีของพระองค์เจ้าศิริวงษ์ จำขังไว้ในพระราชวัง[7] แม้ตัววัตถาจะลี้ภัยไปกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ออกญามหาฤทธิณรงค์ (โสร์) และออกญากำแหงโยธา (แก้ว) ยังปฏิบัติการอยู่ในเขมรต่อไป ด้วยประสงค์จะให้นักองค์วัตถาเสวยราชสมบัติสืบต่อไป พวกเขาได้เกลี้ยกล่อมผู้คนตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้าฝ่ายวัตถาเพิ่มขึ้น[23] เมื่อมีทัพเป็นกระบวน ก็ก่อกำเริบลุกไปตีทัพของสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์แตกพ่าย กลุ่มกบฏยึดเมืองและตั้งทัพในพนมเปญและลาดปะเอียได้สำเร็จ[8] ตัวสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ซึ่งล่าถอยกลับไปอุดงฦๅไชยก่อนหน้า จำต้องลี้ภัยเข้าไปกำปงชนัง พระตะบอง และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ เป็นการชั่วคราว[24][25] ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 (ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2404) พระยาราชวรานุกูลมีหนังสือบอกแต่งให้พระอินทร์เดช จมื่นรักษพิมานพานักองค์วัตถาไปส่งที่กรุงเทพมหานคร[26] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริวงษ์กับจมื่นศรีสรรักษ์ คุมไพร่พลสยาม 1,000 นาย เรือกลไฟสองลำ นำส่งสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ที่เมืองกำปอด แล้วเดินทางต่อไปจนถึงพระราชวังสระสารพรรณยุคในกรุงอุดงฦๅไชย[27] ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช ซึ่งทรงสนิทสนมกัน ความว่า[28]

"...ราชการในกรุงเทพมหานครทุกวันนี้ มีแต่ด้วยเรื่องเมืองเขมร เกิดรบพุ่งยุ่งยิ่งกันมาก เปนเหตุด้วยบุตร์ชายหญิงขององค์สมเดจพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ที่ถึงแก่พิราลัยนั้นนั้นไม่มีความสมัคสโมสรแก่กัน ต่างคนต่างจะชิงกันเปนเจ้าเมืองเขมรต่อไป แต่งพวกพ้องออกไปหัวเมืองเกลี้ยกล่อมคนเปนกองทัพแล้ว รบกันหลายแห่งหลายตำบล นักองค์วัถา นักองค์ศิริวงษ์ ๆ เปนผู้ก่อเหตุเดิม แล้วบัดนี้หนีเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร องค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์ มหาอุปราช กับพระยาเขมรก็อพยพครอบครัวหนีเข้ามาอยู่ที่เมืองพัตบอง เมืองอุดงมีไชย ยังอยู่แต่องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้ากับเจ้าผู้หญิง บัดนี้ที่กรุงเทพมหานครได้แต่งให้พระยามุขมนตรี แลพระยาสีหราชฤทธิไกรยกออกไปทางบก โดยทางเมืองพัตบอง แลให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ กับพระ (ราช) เสนายกออกไปทางเรือ ขึ้นเมืองกำปอด เพื่อจะให้รงับการเมืองเขมรให้สงบ บัดนี้การเรื่องนั้นก็ยังไม่จบลง..."[28]

ภายหลังทัพของออกญามหาฤทธิณรงค์ (โสร์) ถูกตีจนแตกพ่ายไป ก่อนจะถูกจับกุมและเนรเทศไปเกาะโปโลกนโดร์ (มลายู: Pulo Condore ปูโล กนโดร์, เวียดนาม: Côn Đảo โกนด๋าว) ซึ่งเอกสารไทยเรียก เกาะขนุน ซึ่งเป็นเกาะกันดารกลางมหาสมุทร[29] ส่วนออกญากำแหงโยธา (แก้ว) ถูกตัดศีรษะเสียบประจานริมถนนเบื้องตะวันออกของพระราชวัง[30]

การต่อต้านอาณานิคมฝรั่งเศสและบั้นปลาย

แก้

สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ ทรงลงนามในอนุสัญญากับฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2406 ส่งผลให้กัมพูชาตกอยู่ในการอารักขาของฝรั่งเศส และได้จัดพิธีราชาภิเษกโดยความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายฝรั่งเศสและไทย ขณะนั้นวัตถายังคงอาศัยอยู่กรุงเทพมหานครนาน 20 ปี ก็ทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังในสยาม ก่อนหนีเข้ากัมพูชาเพื่อก่อการกบฏต่อต้านพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร นักองค์วัตถาไม่เห็นชอบที่จะให้ฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าอาณานิคมเพราะเห็นเป็นพวก มิจฉาทิฐิ เพราะเป็นคนนอกศาสนา และอ้างว่าฝรั่งเศสเป็นตัวบ่อนทำลายกัมพูชาอันเป็นแผ่นดินของบวรพุทธศาสนา[3] พระองค์ทิ้งหัตถเลขาที่เขียนด้วยภาษาไทยไว้สองฉบับ ความว่า "...คำนับกราบเท้ามายังพี่ท่านพระยาศรีสิงหเทพ ด้วยตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ ออกไปหาได้ ทำการด้วยฝีมือตนเองไม่ บัดนี้ข้าพเจ้าจะออกทำเองฉลองพระเดชพระคุณให้สำเรจ ในชาตินี้ที่จะอยุดเลิกเสียยอมประทาน แล้วนอนฟังเสียงนกเสียงกากลางป่ากลางดงนั้นไม่ยอมแล้ว ขอท่านโปรดนำประดิษฐวงษเข้าถวายตัวให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณแทนข้าพเจ้าด้วยเถิด...อ้ายประดิษฐวงษนั้นขอให้ท่านด่าว่าสั่งสอนเหมือนลูกในไส้ทีเดียว อย่าได้เกรงอกเกรงใจเลย ให้ท่านนึกว่าบุตรท่านเถิด แล้วกราบบังคมทูลให้จัดแจงบวชเสียด้วย..."[31] ส่วนอีกฉบับหนึ่งเขียนว่า "ประดิษฐวงษ, รวมถึงลูกของประดิษฐวงศ์, นั้นที่สุดแล้วจะไปอยู่ในอุปถัมภ์ของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย"[31]

ช่วงเวลาหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระนโรดมถูกฝรั่งเศสบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2427 ที่กำหนดให้อำนาจทั้งหมดของกัมพูชาตกเป็นของฝรั่งเศส ทำให้เจ้านายและขุนนางในระบอบเก่าต่อต้านอย่างหนัก[31] เพราะมองว่าการปกครองของฝรั่งเศสนั้นกดขี่ ข่มเหง และเลวร้ายกว่าการปกครองของสยาม ซึ่งสยามปกครองกัมพูชาด้วยจารีตโบราณและระบบอุปถัมภ์พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่ราชสำนักกัมพูชามาโดยตลอด แต่การมาของฝรั่งเศสได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองกัมพูชาเสียใหม่ คือ ยกเลิกจารีตเก่าด้วยส่งข้าหลวงฝรั่งเศสไปประจำการตามหัวเมือง ยกเลิกการถือที่ดินของผู้มีบรรดาศักดิ์ และเก็บภาษีตรงกับพ่อค้าและราษฎร แต่ผลเสียไปเกิดกับขุนนางที่ต้องส่งส่วยแก่กษัตริย์กัมพูชาอีกต่อหนึ่ง[32] โดยนักองค์วัตถามีส่วนร่วมในการต่อต้านนี้อย่างยิ่งยวดและเริ่มก่อการกระด้างกระเดื่อง จนฝ่ายฝรั่งเศสยอมผ่อนปรนการปฏิรูปบางมาตราที่ส่งผลกระทบต่อเจ้านายและขุนนางระบอบเก่าออกไปก่อน[31] ในการปฏิบัติการของนักองค์วัตถาช่วง พ.ศ. 2428–2429 ทรงตั้งตนเองเป็นกษัตริย์ ออกพระนามตนเองว่า พระบันทูลวิเสดสมเดจ์องค์วัตถาบรมบพิตรผูเปนเจ้า (พระบัณฑูรวิเศษสมเด็จองค์วัตถาบรมบพิตรผู้เป็นเจ้า) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2404 และทรงแต่งตั้งสมณศักดิ์พระและขุนนางเขมรเมื่อคราวเสด็จไปเมืองพนมสารคามใน พ.ศ. 2408 เป็นอาทิ[3] พระองค์มีอิทธิพลเหนือพื้นที่ของกลุ่มกบฏ คือบริเวณรอยต่อพรมแดนสยามกับฝรั่งเศส ได้แก่ เมืองสตึงแตรง (ស្ទឹងត្រែង) สันทุก (សន្ធុក) กระพงสวาย (កំពង់ស្វាយ) สะโทง (ស្ទោង) ชีแครง (ជីក្រែង) และเสียมราฐ (សៀមរាប) ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเมืองในเขตอาณานิคมของฝรั่งเศส ยกเว้นเมืองเสียมราฐที่ขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับอาณาจักรสยาม พระองค์เคยใช้เมืองสตึงแตรงเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ก่อนย้ายไปเมืองสันทุก และกระพงธมหรือกำปงธม (កំពង់ធំ) ใกล้เมืองเสียมราฐตามลำดับ[3] ดังปรากฏใน คำประกาศของวัตถา ลงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2428 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารไม่มีชื่อที่กระทรวงการต่างประเทศเตรียมส่งไปยังสถานทูตสยามในปารีส ถูกเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ธิบดี บัวคำศรีเรียกสำเนาเอกสารนี้ว่า คำประกาศของวัตถา ภายในบันทึกเนื้อหาไว้ ความว่า[3]

"นักองค์วัตถาอยู่บ้านโสนแขวงสันทุก ณ วัน 5 7 3 ค่ำจุลศักราช 1246 ปีวอกฉศก นักองค์วัตถาประกาศบอก พระยา พระ ขุน หลวง แขวงกำนัน กับบรรดาราษฎรเขมรจินยวนแขกชวาตพุ่นในแขวงเมืองกระพงสวาย เมืองสะโทง เมืองชีแครง ไปจนถึงแขวงกำนันทุกกันในแดนเมืองเสิยมราฐเท่าใด ๆ ให้รู้ด้วย


นักองค์วัตถาคิดถึงแผ่นดินแต่บูราณมา คงอยู่เปนแผ่นดินเมืองเขมรในบวรพุทธศาสนาบัดนี้ไม่ได้อยู่ เปนแผ่นดินเมืองเขมร แปลเปนแผ่นดินพวกมิศฉาทิฐิเหมือนบรรดาราษฎรได้รู้เหนแล้วว่า ดูไปบรรดาขุนนางกับบรรดาราษฎรต่างคนก็มีใจซื่อตรงต่อพุทธสาสนา ต่างคนก็หลงด้วยมิจฉาทิฐิโลภ อยากได้อาณาประโยชน์บังเกิดลาภ ไม่มีนักปราชกับขุนนางราษฎรเวทนาถึงสาสนาพระพุทธเจ้าช่วยทำนุบำรุงให้คงแผ่นดินในบวรพุทธศาสนาขึ้นอย่าให้สาปสูญต่อไปข้างน่า...นักองค์วัตถาคิดเอาแต่คุณบุญพระศรีรัตนไตรเปนที่พึ่ง แต่ไม่ได้ไปรวบรวมกับพี่กับน้อง ได้คิดกำจัดมิจฉาทิฐิออกจากนคร อย่านึกว่าแผ่นดินเมืองเขมรในบวรพุทธศาสนาจะสูญนั้นเลย"

พ.ศ. 2434 นักองค์วัตถาทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างกึ่งคนเถื่อนในป่านานถึง 15 ปีแล้ว พระองค์ขอเจรจายอมจำนนต่อทางการฝรั่งเศสแต่ไม่เป็นผล นักองค์วัตถาสิ้นพระชนม์กลางป่าในจังหวัดกำปงธม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2434[33] อย่างไรก็ตามการก่อกำเริบของนักองค์วัตถาถูกมองว่าเป็นการกบฏและอ้างสิทธิธรรมเพื่อชิงราชบัลลังก์มากกว่าการต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส ขณะที่เอกสารเขมรที่ถูกสร้างขึ้นในชั้นหลัง คือ บ็อณฎำตาเมียะฮ์ ("คำสั่งตามาส") ที่มักถูกใช้อ้างอิงในการเรียนประวัติศาสตร์ ระบุว่าวัตถาได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายกษัตริย์สยามเพื่อก่อการกบฏ[4][34]

ขณะที่เจ้านายกัมพูชาบางพระองค์ที่กระทำการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านอาณานิคมฝรั่งเศสเช่นเดียวกันกับวัตถา ก็ถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดินกัมพูชา เช่น พระองค์เจ้าดวงจักรถูกเนรเทศไปประเทศแอลจีเรียใน พ.ศ. 2436 ด้วยข้อหาพยายามลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร[35] พระองค์เจ้ามยุราถูกเนรเทศไปเมืองไซ่ง่อนเมื่อ พ.ศ. 2440 ด้วยถูกกล่าวหาว่าสมคบพระยาคทาธรธรนินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ขุนนางสยามในพระตะบอง[35] และพระองค์เจ้ายุคันธรถูกสั่งห้ามมิให้กลับกรุงพนมเปญใน พ.ศ. 2443 หลังมีพระนิพนธ์บทความ Deux civilisations ("สองวัฒนธรรม") ลงหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสซึ่งเนื้อหาได้วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของข้าราชการอาณานิคมฝรั่งเศส[36]

ทายาท

แก้

นักองค์วัตถา มีพระโอรสหนึ่งองค์หนึ่ง ชื่อองค์ประดิษฐวงษ บ้างออกพระนามว่า องค์ดิศวงษ์ หรือ แป๊ะ (ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2446) ซึ่งนักองค์วัตถาได้ทำการฝากฝังให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลี้ยงดูประดุจลูกในไส้ โดยนักองค์วัตถามีพระหัตถเลขาไว้ ความว่า "ประดิษฐวงษ, รวมถึงลูกของประดิษฐวงศ์, นั้นที่สุดแล้วจะไปอยู่ในอุปถัมภ์ของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย"[31] ประดิษฐวงษ หรือดิศวงษ์ อาศัยอยู่ในวังเจ้าเขมร กรุงเทพมหานคร มีภรรยาสองคน ภรรยาคนแรกชื่อ เผื่อน มีธิดาสองคน คือ ถวิล และวิลาศ ส่วนภรรยาอีกคนชื่อจันทร์ มีธิดาสองคนและบุตรหนึ่งคน คือ พุมเรียง สังเวียน และพระอินทเบญญา (นักสะราคำ วัตถา)[37] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีรับสั่งให้พระอินทเบญญาซึ่งขณะนั้นยังไม่มีนามสกุล ใช้นามสกุลว่า "วัตถา" ตามชื่อของปู่ จะได้ไม่ต้องทูลขอพระราชทานนามสกุล[38]

พระอินทเบญญา (สะราคำ วัตถา) สมรสกับภักดิ์ ปิ่นทัษเฐียร มีบุตรด้วยกันสามคน เป็นชายสองคนและเป็นหญิงอีกหนึ่งคน คือ ธม วัตถา เธียด วัตถา และโอปอ วัตถา[39] โดยโอปอบุตรสาวคนเล็ก สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[40] และมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิชาวิจัยการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ต่อมาคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)[41]

พงศาวลี

แก้

เชิงอรรถ

แก้
  1. เอกสารบางแห่งสะกดว่า วัดถา, วัถา หรือ วัฐา

อ้างอิง

แก้
  1. รำไพพรรณี พระบรมราชินี, สมเด็จพระนางเจ้า (2481). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 71. พระนคร: กรุงเทพบรรณาคาร. p. 102.
  2. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "นิราสนครวัด (3. อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งแรก)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 158-160.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 ศานติ ภักดีคำ. เขมร "ถกสยาม". กรุงเทพฯ : มติชน, 2552, หน้า 121
  5. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 237
  6. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 255
  7. 7.0 7.1 7.2 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 304-305
  8. 8.0 8.1 8.2 ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 249
  9. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 301
  10. 10.0 10.1 10.2 ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 150.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  11. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "นิราสนครวัด (8. อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งหลัง)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 282
  13. ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 161.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  14. ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 151.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  15. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 291-292
  16. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 294
  17. 17.0 17.1 สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (2505). ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร (PDF). พระนคร: ธนะการพิมพ์จำกัด. p. 24.
  18. สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (2505). ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร (PDF). พระนคร: ธนะการพิมพ์จำกัด. p. 84-85.
  19. สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (2505). ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร (PDF). พระนคร: ธนะการพิมพ์จำกัด. p. 49.
  20. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 300
  21. 21.0 21.1 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 301-302
  22. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 303
  23. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 306
  24. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 250
  25. ไกรฤกษ์ นานา. สยามรัฐท่ามกลางจักรวรรดินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563, หน้า 57-58
  26. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 251
  27. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 318
  28. 28.0 28.1 เทวะวงศ์วโรปการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (2465). พระราชหัดถเลขาในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ 3 (PDF). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. p. 28.
  29. เติม สิงหัษฐิต. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง. พระนคร : คลังวิทยา, 2490, หน้า 242
  30. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 319-320
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 152.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  32. ไกรฤกษ์ นานา (4 มีนาคม 2565). "สายลับเขมร ช่วงวิกฤติ ร.ศ.112 คือใคร? มีบทบาทอย่างไรท่ามกลางความแตกแยกในราชสำนักเขมร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  33. ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 153.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  34. ศานติ ภักดีคำ (15 มิถุนายน 2564). "เปิดวรรณกรรมชวนเชื่อ "บ็อณฎำตาเมียะฮ์" เล่าสภาพกัมพูชา หลังเป็นพื้นที่ไทยรบเวียดนาม". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  35. 35.0 35.1 ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 154-155.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  36. ธิบดี บัวคำศรี (มกราคม–มิถุนายน 2557). "ประเทศ" กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (10:1). p. 156.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  37. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แล หอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร : อักษรเจริญทัศน์, 2512, หน้า ก
  38. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แล หอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร : อักษรเจริญทัศน์, 2512, หน้า ค
  39. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แล หอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร : อักษรเจริญทัศน์, 2512, หน้า ง
  40. "รายชื่อสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์". สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  41. "ไหว้ครูและรับนิสิตใหม่ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร" (PDF). สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยวิชาการศึกษา. 2511. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)